LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
เริ่มต้นด้วย Zero Style ของลี่แห่ง Life and Kustom กับ Zero Engineering Type 5 สีดำรุ่นออริจินอล “Type 5 เป็นมอเตอร์ไซค์โปรดักชั่นรุ่นแรกของ Zero Engineering มาพร้อมเครื่องยนต์ S&S Evolution ที่มีเอกลักษณ์ด้วยป้ายโลหะโลโก้ของ Zero Engineering ด้วยความเป็นรถรุ่นแสตนดาร์ดตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของ Zero Engineering ทำให้เป็นรถที่ค่อนข้างหายากแล้ว อย่างรุ่นนี้ยังเป็นท่อแบบ 2 ออก 1 อยู่ ในขณะที่รุ่นถัดมาอย่าง Type 6 เป็นท่อคู่แล้ว”
ส่วน Zero Engineering ของพี่ใหญ่สุดอย่างพี่เคน เป็น Zero Engineering Type 9 ซามูไรช้อปเปอร์ที่นำมาคัสตอมใหม่หมด ตั้งแต่สี จนถึงเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนเป็น Knucklehead แบบที่พบเห็นได้ยาก “จากรถที่คัสตอมมาแล้ว ผมก็เอามาคัสตอมใหม่อีกทีให้เป็นสไตล์เรา อย่างของแต่งก็สร้างขึ้นใหม่ให้ดูเป็นงานศิลปะ ตอนนี้ก็มีแต่เฟรมที่เป็นของเดิมครับ (หัวเราะ)”
ทางด้านมอเตอร์ไซค์คู่กายของจอม เป็น Zero Engineering Type 9 สีแดงที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์รอยสักญี่ปุ่น หรือ Red Irezumi ซึ่งเป็นลวดลายลิขสิทธิ์ของโคบู สตูดิโอ ประเทศญี่ปุ่น “ลายนี้เดิมเป็นสีเทา แต่ผมสั่งทางโรงงานไปว่าอยากได้สีอื่น ปรากฏว่าเขาผลิตขึ้นให้พิเศษเป็นสีแดง Limited ครับ”
อีกคันที่เป็นรถคัสตอมพิเศษจากโรงงานเหมือนกันคือ Zero Engineering Type 9 ของอ้อ ที่นอกจากจะสีพิเศษ Silver Pearl แล้ว ตัวเครื่องยนต์ยังเป็น Shovelhead ด้วย “ทั้งตัวเครื่องและสีพิเศษแบบนี้ในตลาดเมืองไทยเข้ามาไม่กี่คัน เพราะเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วนี่เอง ที่ Type 9 ถูกใส่เครื่องยนต์เป็น Shovelhead แทนที่จะเป็นเครื่อง Evolution ทำให้รถคันนี้จะเป็นรถพิเศษที่มาจากโรงงานเลย” ตบท้ายด้วย Zero Engineering Type 9 Japan Version ของโชว์ ที่มาพร้อมเครื่องยนต์แบบ Evolution กับดีไซน์ที่ผสมผสานงานทองเหลืองให้มีเอกลักษ์เฉพาะตัว
ในฐานะที่เป็นเจ้าของ Life and Kustom ที่นำเข้ารถ Zero Engineering ในประเทศด้วย ลี่จึงเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวความเป็น Zero Engineering ตั้งแต่ยุคกำเนิดช่วงปี 1992 ในเมืองโอกาซากิ (Okazaki) ประเทศญี่ปุ่น ที่นายชินยะ คิมูระ (Shinya Kimura) นักออกแบบ นายช่าง และผู้ก่อตั้ง Zero Style เริ่มต้นจากนำโครงรถฮาร์ลีย์ เดวิดสันยุคเก่าตั้งแต่รุ่นก่อนเครื่องยนต์ Evolution อย่าง Shovelhead, Panhead และ Knucklehead มาออกแบบเฟรมใหม่เป็นลักษณะของรถฮาร์ดเทล ที่มีเอกลักษณ์ด้วยลักษณะเตี้ย ยืด และระบบช่วงหน้าแบบสปริงเกอร์ จนดีไซน์นี้ได้เข้าตานักขี่หลายๆ คน
“แต่ความสามารถในการผลิตรถโปรดักชั่นตอนนั้นยังทำได้แค่ปีละ 3-4 คันเท่านั้น จนมาช่วงปี 2000-2001 ถึงได้กำเนิดดีไซน์ Type 5 เฟรมฮาร์ดเทลแบบที่เรียกว่า Gooseneck ด้วยช่วงคอยืดออก (เหมือนห่าน) รูปทรงของรถมีลักษณะเตี้ย ยืด และระบบช่วงหน้าแบบสปริงเกอร์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ Zero Engineering มาถึงยุคปัจจุบันนี้ด้วย จากจุดเริ่มต้นของ Type 5 ก็พัฒนาต่อมาอีกเรื่อยๆ เป็น Type 6 ซึ่งใช้เฟรมเดียวกัน แต่เครื่องยนต์เป็น Shovelhead ถังน้ำมันเปลี่ยนจากถังเหมือน พีนัทของสปอร์ตเตอร์ เป็นถังกลมขนาดเล็กแทน”
จนถึงยุคที่ Zero Engineering เริ่มทำตลาดในอเมริกา จึงต้องเริ่มปรับดีไซน์ใหม่ให้เหมาะกับขนาดตัวของผู้ขับขี่ชาวอเมริกัน เป็นที่มาของ Type 9 “พอมาเจอตัวเฟรมแบบฮาร์ดเทลของ Type 5 ทำให้รู้สึกว่ารถเล็กไปสำหรับพวกเขา ทาง Zero Engineering เลยเริ่มดีไซน์เฟรมใหม่ที่เรียกว่า Dragon Neck แบบซอฟท์เทลที่มีโช้คหลัง แต่ว่ากลไกของ Type 9 จะไม่ใช่แค่กระเดื่องหรือสวิงอาร์มธรรมดา แต่แนวคิดของช่วงล่างรุ่นนี้คล้ายกับรถฟอร์มูล่า 1 ที่สามารถขับขี่ไปได้ไกลขึ้น และคันใหญ่ขึ้น เป็นสไตล์ของ Zero ที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
“Zero Engineering นอกจากจะมีประวัติน่าสนใจแล้ว ลักษณะของเครื่องยนต์ วิธีการตกแต่งต่างๆ ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากรถแบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาดด้วย เป็น Zero Style ที่ไม่เหมือนใคร และมีนิยามของตัวเอง คือเหมือนดาบซามูไรช้อปเปอร์”
นอกจากนี้พวกเขายังมองว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร รูปทรงสวย และดุดัน ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าไบเกอร์ทั้งหลายจะรู้สึกตกหลุมรัก Zero Engineering ตั้งแต่แรกพบเหมือนจอม “ตอนผมเจอ Zero Engineering ครั้งแรกเหมือน Love at first sight เลยครับ หลังจากขับฮาร์ลีย์มาสักพัก เราก็อยากลองความท้าทายใหม่ๆ อยากกลับไปเป็น Minimalist กับโปรดักชั่นคัสตอมไบค์ที่ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีมาก แต่ขับขี่สนุก ดังนั้น Long Term เราสามารถดูแลเขาได้ เพราะไม่มีอิเล็กทรอนิกส์พาร์ท ไม่ต้องจูนเครื่องอะไรที่ยุ่งยาก ยิ่งได้ขี่ไปสักพักแล้วจะรู้ว่าเสน่ห์ของรถคาร์บูเรเตอร์มันน่าสนใจ”
“เมื่อก่อนเราจะเห็นเหล่าคนขี่ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน ที่ดัดแปลงเฟรมซอฟท์เทลให้เป็นคัสตอมไบค์ตามสไตล์ที่ชอบ แต่ว่า Zero Engineering เป็นรถคัสตอมที่ออกมาจากโรงงานหน้าตาอย่างนั้นเลย เรียกว่าเป็น Production Custom Bike ที่ผ่านการคิดมาแล้วครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วงล่าง ระบบเครื่องยนต์ รวมถึงดีไซน์ด้วย ให้การทรงตัวที่ดีและขี่ได้จริง (ถึงแม้เป็นฮาร์ดเทลก็เถอะ) จนมาถึง Type 9 ซึ่งเป็นรถคัสตอมแบบซอฟท์เทลที่สามารถขับขี่ระยะทางไกลขึ้น ใช้งานได้สะดวกขึ้น ถึงแม้จะเป็นรถที่แต่งมาจากโรงงานแล้ว เราก็สามารถแต่งได้อีกครับ” เหมือนอย่างพี่เคนที่แปลงโฉม Zero Engineering ใหม่หมดทั้งสีและเครื่องยนต์ “ผมเป็นคนชอบแต่งรถ และอยากให้รถเป็นสไตล์ของตัวเอง ก็เลยคิดคอนเซ็ปต์ว่าอยากแต่งแบบไหน แล้วก็สะสมอะไหล่ และชิ้นส่วนต่างๆ ไว้มาประกอบใหม่ ซึ่งก็จะมีงานจิเวลรีสวยๆ และงานหนัง ซึ่งเป็นฝีมือคนไทยมาแต่งรถด้วย”
“นิยามของ Zero Engineering เป็น Production Custom Bike ก็จริง แต่ว่าข้อจำกัดในการผลิตค่อนข้างเยอะ ทำให้ยอดผลิตของ Zero Engineering ไม่ถึง 100 คันต่อปีด้วยซ้ำ อย่างในอเมริกาปีหนึ่งมีแค่ 24 คัน (ซึ่งเยอะที่สุดแล้ว) ในขณะที่บางประเทศได้โควต้าเพียง 10 - 20 คัน ส่วนประเทศไทยมีรถรุ่นใหม่เข้ามาแค่ประมาณ 2-3 คันต่อปีเท่านั้น ทำให้ดังนั้นกว่าจะได้ครอบครอง Zero บางทีอาจต้องรอ เช่น รถรุ่นนี้ยังไม่มี หรือไม่มีสีที่เราต้องการ หรือถ้าอยากจะได้เครื่อง Shovelhead หรือ Knucklehead แทน Evolution แบบเดิม ก็ต้องสั่งพิเศษขึ้นมา เพราะฉะนั้น Zero Engineering จึงเป็นรถที่ค่อนข้าง Limited มีความเฉพาะตัว ต้องใช้ความพยายามและตั้งใจกว่าจะได้รถมาครอบครอง อีกอย่าง Zero Engineering ยิ่งเก่ายิ่งหายาก ราคายิ่งสูงขึ้น”
สำหรับเหล่านักขี่ Zero Engineering ในประเทศไทย มีรวมกลุ่มกันในชื่อ “Zero Old Friends” (Z.O.F.) มาพร้อมสัญลักษณ์หน้ากากซามูไรสวมหมวกกันน็อค ซึ่งจอม ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกด้วย “เราเป็นกลุ่มที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ชอบรถที่ขี่แล้วลำบาก (หัวเราะ) ต้องใช้ความพยายามสูง แต่ก็เป็นรถที่มีเสน่ห์ในตัวเอง โดยเราเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นมาได้ 5 ปีแล้ว มีสมาชิกไม่กี่คัน และนานๆ เจอกันทีนึง ความหมายของชื่อ Zero Old Friends คือแม้จะเพิ่งรู้จักกัน แต่ก็เหมือนเป็นเพื่อนกันมานาน คุยเรื่องเดียวกันได้โดยไม่ต้องรู้จักกันมานาน หรือเป็นเพื่อนเก่ากันครับ ดังนั้นใครที่มีข้อสงสัย อยากปรึกษา หรืออยากพูดคุยก็สามารถแอดเฟรนด์ในเฟซบุ๊ก อินบ็อกซ์ หรือสอบถามผ่านทางกลุ่มได้ พร้อมให้คำแนะนำตลอดครับ”
“ทุกคนจะถามว่าขี่ยากมั้ย แข็งมั้ย ผมก็จะบอกตลอดว่าไม่ได้ขี่ยากอย่างที่คิด แต่อุปสรรคที่เจอน่าจะเป็นตัวรถค่อนข้างเตี้ยหน่อย แต่ก็ให้อรรถรสในการขับขี่อีกแบบ และเราจะเป็นเป้าสายตาตลอดไม่ว่าจะไปที่ไหน ด้วยรูปทรงของรถที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นครับ” แม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการได้ไม่นาน แต่โชว์ก็พบว่าการทะยานไปกับ Zero Engineering นั้นไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนเคยคิด “หลายๆ คนจะมองว่า Zero Engineering น่าจะขี่ยาก ปวดหลัง ขับขี่ระยะไกลไม่ได้หรอก เหมาะสำหรับขี่ในเมือง แต่เรามีตัวอย่างพี่จอมที่เคยเดินทางไปไกลเลย” ลี่เสริม
“ก่อนจะมีการรวมกลุ่มกัน ผมก็เคยขี่ไปต่างจังหวัดคนเดียวเลย ไม่ว่าจะเป็น ปราณบุรี หัวหิน กาญจนบุรี เขาใหญ่ สายซอฟท์เทลออกทริปไปกับรถสายอื่นๆ ได้อย่างแน่นอน ถ้าไม่ได้ขี่แบบลุยทุกหลุมนะ ผมว่าไปได้ แต่ด้วยผมเป็นคนไม่ขี่เร็ว เพราะทรงการขี่ของ Zero ไม่ได้ขี่คร่อมถัง แค่ท่าขี่เหมือนนั่งโซฟา เพราะฉะนั้นก็จะรับลมเต็มๆ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องขี่เร็ว ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขี่ชิลชมธรรมชาติไปเรื่อยๆ มากกว่า” จอมเล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเดินทางไกลไปกับ Zero Engineering
“จริงๆ แล้ว Zero Engineering เป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ของฮาร์ลีย์ เดวิดสัน เพราะว่าเครื่อง V-Twin มันมีจุดเริ่มต้นมาจากฮาร์ลีย์ แต่ปัจจุบัน Zero Engineering ใช้เครื่องยนต์ของ S&S ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ในอเมริกาที่มีชื่อเสียงมากที่สุด การผลิตเครื่องยนต์ของ S&S เขาสร้างชิ้นส่วนภายในใหม่ ซึ่งอัพเกรดขึ้นจากของฮาร์ลีย์ด้วยซ้ำ ดังนั้นการดูแลรักษาไม่ต่างอะไรกับฮาร์ลีย์เลย เพราะฉะนั้นเวลาเจอปัญหาระหว่างการเดินทาง ส่วนใหญ่คือยางแบน โซ่มีปัญหา แต่เครื่องยนต์ไม่ค่อยเป็นอะไร เพราะใช้เครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ เหมือนรถยุคเก่า ที่ไม่ใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อะไร ดังนั้นการดูแลรักษาก็จะง่าย แล้วเครื่องยนต์ของ S&S ยังได้ชื่อว่ามีความอึดและความทนมากด้วย”
อนาคตของ Zero Engineering
“ตอนนี้ Zero Engineering ในประเทศไทยมี Type 5, Type 6, Type 8 และ Type 9 ถามว่าในอนาคตจะมีรถรุ่นใหม่ออกมามั้ย ทางญี่ปุ่นเคยบอกว่าอยากทำรถไซส์เล็กลงมา แต่เราก็คอยต้องติดตามกันต่อไป อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในขณะที่รถผลิตสู่ตลาดโลกส่วนใหญ่ในอนาคตเป็นแบบหัวฉีดกันหมดแล้ว รถที่เป็นคาร์บูเรเตอร์แบบ Zero Engineering จึงค่อนข้างหาได้น้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นใครที่มีรถ Zero Engineering ก็ถือว่าได้ครอบครองรถที่มีความ Limited และส่วนใหญ่จะเก็บสะสมไว้ ไม่ค่อยปล่อยไปไหน”
ZERO ENGINEERING
/
ขอบคุณแม่ที่ปล่อยให้ลูกสาวออกเดินทางตามความฝัน ในขณะที่เราขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยหัวใจออกไปสู่โลกใบใหม่ เรากำลังหล่อเลี้ยงหัวใจด้วยความรักและความฝัน และพร้อมเผชิญกับความตายด้วยความว่างเปล่า ความตายไม่ได้น่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือการปล่อยให้ความฝันตายไปจากใจเรา
/
การเดินทาง ไม่ว่าจะแบ็คแพ็คหรือขี่มอเตอร์ไซค์ บางครั้งจุดหมายไม่ใช่ ‘สถานที่’ ที่เราจะไป แต่เป็น ‘ใครสักคน’ ที่เราคิดถึงและทำให้การเดินทางนั้นเริ่มต้นขึ้น
/
งานฉลองครบรอบ 3 ปีของ Mooneyes Thailand ในประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นไป โดยได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ร่วมงานทั้งวงการมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ แต่ที่จริงแล้วนั้น Mooneyes มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 60 ปี
/
Photographer : Fevvvvaa Lanakila MacNaughton Special Thanks : Elder Helmet Custom x Doghead Helmet / Apinan Pinratsuwan
/
Check this out
/
Check this out
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )