WARP POP ผลงานศิลปะในรูปของหนังสืออันเปี่ยมสีสันสดใสของ “ตะวัน วัตุยา” | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

WARP POP
ผลงานศิลปะในรูปของหนังสือ
อันเปี่ยมสีสันสดใส ของ “ตะวัน วัตุยา”

Writer: Panu Boonpipattanapong
Photographer: Preecha Pattara

  นอกจากศิลปินจะนำเสนอผลงานของพวกเขาตามปกติทั่วไปอย่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่ออีกชนิดที่ศิลปินบางคนนิยมใช้คือ “หนังสือ” ที่เรียกกันว่า “หนังสือศิลปิน” (Artists' books) หนังสือศิลปินจึงเรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะที่ทำขึ้นในรูปของหนังสือนั่นเอง หนังสือชนิดนี้เป็นหนังสือที่ศิลปินมีการดูแลควบคุมกระบวนการในการสร้างสรรค์และผลิตให้มีคุณภาพไม่ต่างอะไรกับผลงานชิ้นหนึ่งเลยก็ว่าได้

  หนึ่งในศิลปินไทยที่หลงใหล มุ่งมั่นในการทำหนังสือศิลปินเป็นอย่างมากก็คือ ตะวัน วัตุยา จิตรกรชาวไทยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล ตะวันผลิตผลงานหนังสือศิลปินออกมาแล้วหลายต่อหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ TAWAN Wattuya Works 2009-2019 ที่รวบรวมผลงานในรอบ 10 ปี ของเขา หรือหนังสือ Money ที่รวบรวมผลงานของเขาที่จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 และหนังสือ KEEP IN THE DARK ที่รวบรวมผลงานของเขาที่จัดแสดงที่ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนังสือเหล่านี้ต่างถูกผลิตขึ้นมาอย่างประณีต พิถีพิถัน และเปี่ยมคุณภาพจนเป็นมากกว่าหนังสือสูจิบัตรประกอบนิทรรศการธรรมดา ๆ 

ล่าสุด ตะวันผลิตผลงานหนังสือศิลปินของเขาออกมาในชื่อว่า “WARP POP”
  WARP POP เป็นหนังสือศิลปินที่รวมผลงานปี 2021-2023 ของตะวัน ที่จัดแสดงทั้งในประเทศไทย, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยเป็นผลงานภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากการปะติดปะต่อภาพบุคคล ฉากหลัง จินตภาพ ข้อความ และสัญลักษณ์ที่เก็บเกี่ยวจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวัฒนธรรมป๊อบ และอุตสาหกรรมบันเทิงหลากหลายรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยการนำเสนอองค์ประกอบและระดับความคมชัดของภาพอันแตกต่างหลากหลาย ทั้งการใช้รูปแบบของพิกเซลที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เพื่อพาดพิงไปถึงวิดีโอเกมยุคเก่า และการเบลอเพื่อเซ็นเซอร์ฉากโป๊เปลือยในเคเบิลทีวี หรือในหนังเอวีญี่ปุ่นสมัยก่อน หรือการจัดองค์ประกอบที่หยิบยืมมาจากโปสเตอร์หนังและการ์ตูนอเมริกันยุคเก่า หรือปกแผ่นเสียงยุคก่อน ไปจนถึงสูตรสำเร็จของการโพสท่าถ่ายภาพ การจัดหน้านิตยสาร หรือโฆษณาทางโทรทัศน์ในอดีต

  โดยตะวันเปลี่ยนจากเทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำ อันเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา หันมาใช้เทคนิคสีอะครีลิก ที่ให้อารมณ์สนุกสนาน เปี่ยมสีสัน ฉูดฉาดบาดตา มีเสน่ห์เฉพาะตัวอันแปลกตา ดูคลับคล้ายคลับคลากับโปสเตอร์หนังในอดีต

ตะวันกล่าวถึงที่มาที่ไปของหนังสือศิลปินเล่มล่าสุดของเขาเล่มนี้ว่า
  “โครงการหนังสือ WARP POP เริ่มจากเมื่อปี 2021 อังกฤษ อัจฉริยโสภณ เขามาเชิญเราให้ไปดูสถานที่แสดงนิทรรศการใน เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ที่เจริญกรุง ตอนนั้น ที่นั่นมีนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติและผลิตภัณฑ์ของเซ็นทรัล เลยทำให้เรานึกถึงชีวิตเราตอนเด็ก ๆ ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในห้างเซ็นทรัล สีลม เพราะพ่อกับแม่ของเราเป็นพนักงานห้างเซ็นทรัล เขาเจอกันที่นั่น จีบกัน แล้วก็แต่งงานกัน พอเขาไปรับเราที่โรงเรียนเสร็จ เราก็ไปวิ่งเล่นอยู่ที่นั่น พอเราจะทำนิทรรศการในห้างนี้ (นิทรรศการชุด 1973 ในปี 2021) เราก็เลยคิดว่าเราอยากจะทำสิ่งที่เป็นเรื่องของตัวเรามาก ๆ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยทำเรื่องส่วนตัวมาก่อน ที่ผ่านมา ภาพวาดของเราจะเป็นเรื่องที่เราเห็น อย่างข่าวสาร การเมือง แฟชั่น หรือวัฒนธรรมรอบตัว จะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเลย แต่งานชุดนี้เราพูดถึงเรื่องความหลงใหล เรื่องสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเราตอนเด็ก ๆ เราก็นึกถึงสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าควรจะมี” 

  “ประกอบกับช่วงเวลาก่อนหน้า เราทำงานในซีรีส์ที่มีความเป็นการเมืองค่อนข้างสูง ในนิทรรศการที่แสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (นิทรรศการชุด Keep in the dark ในปี 2021) เราเลยอยากทำสิ่งที่ตรงข้ามกัน ก็เลยทำนิทรรศการชื่อ 1973 ขึ้นมา ซึ่งเป็นเลขของปี ค.ศ. ที่เราเกิด นิทรรศการนั้นเลยไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องการเมืองเลย เป็นเหมือนความฝันของเด็กผู้ชาย ทั้งการ์ตูน, หนัง, เพลง ความบันเทิงทั้งหมดที่เราชอบ ซึ่งเราคิดว่าเข้ากับห้างสรรพสินค้าด้วย”
  “หลังจากนิทรรศการชุด 1973 จัดแสดงไป ปรากฏว่าหอศิลป์ที่เราเคยทำงานด้วยทุกแห่งชอบงานชุดนี้กันหมด และอยากได้งานไปแสดง ทั้ง Nichido Contemporary Art ที่โตเกียว ญี่ปุ่น, Taipei Dangdai Exhibition Center ที่ไทเป ไต้หวัน, หอศิลป์ SFA Projects ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และนิทรรศการกลุ่มที่หอศิลป์ A+ WORKS of ART ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เราก็เลยพัฒนาคอนเซ็ปต์ของงานชุดนี้ขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้ยึดอยู่กับช่วงเวลาในยุค 70s อย่างเดียว แต่เป็น 60s, 70s, 80s ไปถึงยุค 90s นิด ๆ โดยยึดเอาไทม์ไลน์ของสงครามเย็นเป็นหลัก”

  “พอดีตอนที่เราทำนิทรรศการชุด 1973 ยังมีงานชิ้นที่เราทำไม่เสร็จอยู่ด้วย และตอนที่เราพัฒนาคอนเซ็ปต์งานขึ้นมาใหม่ ก็จะมีชิ้นที่ทำไม่เสร็จอีกเหมือนกัน เราคิดว่า ไหน ๆ ก็จะทำหนังสือรวมผลงานช่วงนี้ขึ้นมาแล้ว เราก็ควรเอางานชิ้นที่ยังไม่เสร็จมาทำต่อให้เสร็จ แล้วก็เอามารวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้เสียเลย”

  “ชื่อหนังสือ WARP POP เราได้มาจากชื่อบทความที่ พอล ดากอสติโน (Paul D’Agostino) เขียนให้นิทรรศการ Peep Show Arcade ที่จัดแสดงที่ SFA Projects ที่นิวยอร์ค ซึ่งเป็นคำใหม่ที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ป๊อบแปลงสาร” เราก็เลยเอาคำนี้มาเป็นชื่อหนังสือและชื่องานในซีรีส์นี้ไปเลย”

ที่น่าสนใจก็คือ หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เป็นแค่หนังสือรวบรวมผลงานธรรมดา ๆ หากแต่เต็มไปด้วยลูกเล่นอันเปี่ยมเสน่ห์ และฟังก์ชันสุดพิเศษ จนเรียกได้ว่าเป็นผลงานศิลปะในรูปของหนังสือเลยก็ว่าได้
  “ถึงแม้จะเป็นหนังสือรวมผลงาน แต่เราก็ไม่อยากทำให้ออกมาเป็นหนังสือ Art book ซะทีเดียว เราอยากให้มีความเป็นหนังสือการ์ตูนด้วย เราก็คุยกับดีไซเนอร์ และสรุปกันว่าจะทำออกมาเป็นหนังสือที่ฉีกแต่ละหน้า (ตามรอยปรุ) ออกมาเป็นโปสเตอร์ให้คนซื้อหนังสือเอาไปใส่กรอบได้ แล้วก็มีหน้าพิเศษ 3 หน้า ที่กางออกมาเป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ได้ เหมือนพวกนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่เราเคยอ่านสมัยก่อน นี่เป็นคอนเซ็ปต์ของหนังสือเล่มนี้”

  “ในหนังสือเล่มนี้ยังมีบทความของ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, โคลด แอสแบ์ (Claud Estèbe) และ พอล ดิอากอสติโน (Paul D’Agostino) ที่เคยเขียนบทความประกอบนิทรรศการแต่ละครั้งให้เรา (เนื้อหาในหนังสือมีสามภาษา โดยนักเขียน โช ฟุกุโตมิ และนักแปล ภัควดี วีระภาสพงษ์ อีกด้วย) ”

ในวันที่ 31 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา ตะวันยังจัดงานเปิดตัวหนังสือ WARP POP ขึ้นที่ DaVinci Museum ถนนเจริญกรุง โดยมีนิทรรศการแสดงผลงานภาพวาดที่ปรากฏในหนังสือ ให้ผู้ชมได้เข้าไปดูชมภาพจริง และพบปะพูดคุยศิลปินเจ้าของผลงานกันอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง
  “นิทรรศการนี้จัดให้ชมกันแค่วันเดียว งานที่จัดแสดงในนิทรรศการหลายชิ้นส่วนใหญ่เป็นงานที่มีเจ้าของเกือบหมดแล้ว แต่เรายืมมาจัดแสดง เพราะงานบางชิ้นก็เพิ่งทำเสร็จ ยังไม่เคยถูกแสดงที่ไหน เราก็เลยคิดว่า ไหน ๆ เราจะเปิดตัวหนังสือแล้ว เราก็เอางานจริงที่อยู่ในหนังสือมาให้คนที่ซื้อหนังสือได้เห็นไปด้วย”

ถึงแม้จะออกตัวว่างานชุดนี้ของเขาไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องการเมืองเลย แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดในผลงานเหล่านี้ เราก็พบว่ามันยังแฝงเร้นด้วยประเด็นทางการเมืองอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเมืองในยุคสงครามเย็นนั่นเอง ซึ่งตะวันเผยกับเราว่า
  “จะว่าไปก็จริงอยู่ เพราะในช่วงที่เราหาข้อมูลเพื่อทำงานชุดนี้ เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า พวกวิดีโอเกม, เกมคอมพิวเตอร์ หรือคาแรกเตอร์การ์ตูนบางอย่างนั้น มีประเด็นทางการเมืองแฝงอยู่ สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแฝงโฆษณาชวนเชื่อของอุดมการณ์ทางการเมือง เหมือนเราเพิ่งจะมาพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์กันในปัจจุบัน แต่เขาใช้ซอฟต์พาวเวอร์กันมาตั้งนานแล้ว ผ่านพวกหนัง, เกม, อนิเมะ, การ์ตูน อย่างวีดีโอเกมยุค 80s นี่ มันเป็นเกมเกี่ยวกับสงครามเย็นทั้งนั้นเลย ก็คือการสร้างพระเอก ผู้ร้าย ทั้งที่ประเทศมหาอำนาจไปรังแก รุกรานประเทศอื่น แต่กลายเป็นฮีโร่ไปได้ยังไง? จริง ๆ วัฒนธรรมป๊อปเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นการเมืองหรอก เพียงแต่เราพูดผ่านวิธีการวาดภาพด้วยการคอลลาจ (ปะติด) เพราะตอนสมัยที่เราเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร เราทำงานภาพประกอบด้วยการคอลลาจ เราก็เลยเอาวิธีการแบบนั้นมาใช้ในการวาดภาพของเรา”

  “จริง ๆ งานชุดนี้เราเริ่มทำเป็นขาวดำ เพราะตอนเราเด็ก ๆ ทุกอย่าง ในยุค 70s เป็นขาวดำหมด โทรทัศน์สีจะเริ่มมีในยุค 80s เราก็เลยเอาความเป็นขาวดำกับสีมาทับซ้อนกัน พอเราเล่นเกี่ยวกับยุคสมัยที่มีวิดีโอเกม เราก็เริ่มเล่นกับความเบลอ เล่นความเป็นพิกเซล เป็นเหมือนการพัฒนาแนวคิดในการทำงาน ที่ใช้ทั้งความชัด และความไม่ชัด บางครั้งเราเบลอภาพด้วยพิกเซล บางครั้งเราก็เบลอด้วยการใช้ฝีแปรง หรือถอดแว่นวาดภาพเพื่อให้มองเห็นภาพเบลอ ๆ ”
  “โดยปกติ เวลาวาดภาพ เราไม่ค่อยได้คิดเท่าไหร่ ว่าจะเหมือนแบบหรือไม่เหมือน จะสวยหรือไม่สวย แต่ในงานชุดนี้ เราค่อนข้างตั้งใจเน้นเกี่ยวกับเนื้อหา งานบางชิ้นก็เลยจะค่อนข้างมีความเนี๊ยบหรือความเหมือนต้นแบบอยู่ เวลาเราทำงานเราจะไม่ได้วางแผน แต่จะใช้วิธีด้นสด (Improvisation) งานทุกชิ้นเราวาดสดลงบนผ้าใบทั้งหมด โดยไม่ได้มีการออกแบบล่วงหน้าเลย”

ท้ายสุด ตะวันเผยถึงสาเหตุที่แท้จริงในการทำหนังสือศิลปินของเขาเล่มนี้ออกมาว่า
  “เหตุผลที่เราทำหนังสือเล่มนี้ออกมาก็เพื่อบอกว่า งานชุดนี้จบลงแล้ว เราจะไม่ทำต่อแล้ว เพราะเราไม่อินกับเรื่องนี้อีกต่อไป จริง ๆ เราคิดว่าจะจบงานชุดนี้ตั้งแต่นิทรรศการครั้งล่าสุดของเรา (นิทรรศการชั่วฟ้าดินสลาย ในปี 2022) แล้ว แต่เราเสียดายงานที่ยังทำไม่เสร็จ เราก็เลยคิดว่าจะทำให้เสร็จก่อนดีกว่า หลังจากนี้เรามีแผนจะเดินทางไปยุโรป ไปล้างหัว คลีนสมอง แล้วก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร เพราะเราเป็นศิลปินที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าเป็นปี ๆ เพราะชีวิตก็เจออะไรใหม่เรื่อย ๆ เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหน เราก็ไม่อยากจะวางแผนอะไรที่ไกลเกินไปนัก”

  WARP POP by Tawan Wattuya หนังสือรวมผลงานปี 2021-2023 ของ ตะวัน วัตุยา ที่จัดแสดงในไทย, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ผลิตในจำนวนจำกัด และไม่มีวางจำหน่ายในร้านหนังสือทั่วไป มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจจะเป็นเจ้าของ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่
Page Facebook: TAWAN Wattuya 2009-2019 Book https://www.facebook.com/tawan20092019
กันได้ตามอัธยาศัย

    TAG
  • art
  • exhibition
  • interview
  • WARP POP
  • ตะวัน วัตุยา

WARP POP ผลงานศิลปะในรูปของหนังสืออันเปี่ยมสีสันสดใสของ “ตะวัน วัตุยา”

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
2 years ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong2 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong2 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM3 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong4 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Out of Frame การล่องแพในแม่น้ำเพื่อสำรวจหาเส้นทางใหม่ๆ แห่งการทำงานจิตรกรรมของ Lee Joon-hyung

    เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึง เคป็อป หรือซีรีส์เกาหลี แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น หากแต่ เคอาร์ต หรือวงการศิลปะเกาหลีก็มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจเหมือนกัน ดังเช่นที่เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินเกาหลีใต้ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในบ้านเรา

    Panu Boonpipattanapong6 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )