LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING


ผืนป่าและสายน้ำ กับการออกแบบอาคารที่เชื่อมโยงธรรมชาติในเกาะพะงันเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ให้ผู้มาเยือนโดย "พอ สถาปัตย์"

เสียงยอดมะพร้าวเสียดสีกันตามแรงลมผสมกับเสียงคลื่นดังแว่วมา กลายเป็นท่วงทำนองที่ลงตัวใน "วารีวาน่า รีสอร์ต" (Varivana Resort) โรงแรมที่ซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาท่ามกลางสวนมะพร้าวในเกาะพะงัน ที่นี่ อาคารคอนกรีตเปลือยสามชั้นหันหน้าเปิดรับมุมมองเส้นขอบท้องฟ้าอันไกลโพ้น โรงแรมแห่งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อธรรมชาติของแมกไม้ในภูเขาเข้ากับผืนน้ำในท้องทะเลกว้างใหญ่ให้เกิดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับผู้มาเยือนโดยเฉพาะ
ทีมสถาปนิกจาก พอ สถาปัตย์ (Patchara + Ornnicha Architecture หรือ POAR) ออกแบบโรงแรมแห่งนี้โดยมีแนวคิดซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากความต้องการที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ขึ้นมาบนความเรียบง่าย (Simplicity and New Experience) "ประสบการณ์ของที่นี่คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ" พัชระ วงศ์บุญสิน สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง พอ สถาปัตย์อธิบาย "เรามีที่ตั้งซึ่งอยู่บนเนินเขาและใกล้ทะเล เราจึงทำส่วน Public ทั้งหมดเป็น Open Air”


พื้นที่ซึ่งเปิดโล่งเชื่อมต่อกับธรรมชาติของโรงแรมแห่งนี้เริ่มตั้งแต่โถงต้อนรับ ร้านอาหาร ระเบียงทางเดิน ไปจนถึงสระว่ายน้ำและลานเล่นโยคะบนดาดฟ้า อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พื้นที่ส่วนต่างๆ เปิดรับบรรยากาศของธรรมชาติรอบด้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารอย่างใกล้ชิด การรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้มาใช้บริการก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม

บนที่ตั้งซึ่งติดถนน อาคารทั้งสี่หลังของโรงแรมแห่งนี้ขยับเข้าไปอยู่ชิดพื้นที่ด้านในสุด เพื่อเว้นระยะห่างจากทางสัญจรด้านหน้า โดยมีแมกไม้หนาครึ้มทำหน้าที่เป็นกำแพงธรรมชาติคอยกลั่นกรองความวุ่นวายภายนอกไม่ให้เข้าไปรบกวนบรรยากาศความสงบภายในบริเวณที่พักและพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทางเข้าสู่อาคารจะค่อยๆ เลาะเลียบทางเนินจนอ้อมขึ้นไปถึงทางเข้าอาคารในด้านหลัง "เราวางอาคารชิดหลังสุดของที่ตั้ง เพื่อเว้นระยะจากถนนด้านหน้า ให้คนที่เข้ามาในโครงการค่อยๆ เห็นอาคารทีละนิด" พัชระกล่าว "อย่าง Lobby ตอนอยู่บนถนนจะไม่เห็นเลย แต่จะค่อยๆ เห็นเมื่อเข้ามาใกล้ เพื่อให้คนแปลกใจว่ามีสถานที่แบบนี้อยู่กลางป่าด้วย"

แสงแดด สายลม และปรอยฝน คือธรรมชาติในเกาะพะงันที่ทีมออกแบบตั้งใจนำมาสร้างสรรค์ประสบการณ์เฉพาะตัวให้กับแขกที่มาเยือนโรงแรมแห่งนี้ รูปทรงสะดุดตาของหลังคาเอียงในโถงทางเข้าเปิดรับลมทะเลที่พัดพาไอเย็นเข้ามาทักทายผู้ที่อยู่ใต้ชายคา ในขณะที่ผ้าใบและอาคารด้านข้างคอยช่วยกันละอองน้ำที่สาดเข้ามาในวันฝนพรำ
ทีมสถาปนิกออกแบบห้องพักทั้ง 40 ห้องของโรงแรมแห่งนี้วางตัวขนานไปตามแนวยาวของเนินเขา โดยสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยและกระตุ้นให้แขกทุกคนรู้สึกอยากสัมผัสกับประสบการณ์ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ ตั้งแต่วางผังอาคารแบบ Single Load Corridor ซึ่งระเบียงทางเข้ามีลักษณะเปิดโล่งและมีห้องพักตั้งอยู่เพียงด้านเดียว ไปจนถึงห้องพักที่แขกสามารถเปิดหน้าต่างรับลมเย็นๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ (แต่ทุกห้องก็เตรียมแอร์ไว้อำนวยความสะดวกด้วยเช่นกัน)
ในการเชื้อเชิญลมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร การเปิดหน้าต่างรับลมจากระเบียงเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทีมสถาปนิกจึงออกแบบระบบถ่ายเทอากาศให้กับห้องพักโดยทำให้ทุกห้องมีประตูทางเข้าสองชั้นและมีโถงเปิดโล่งขนาดย่อมตั้งอยู่ตรงกลางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหมุนเวียนของลม "เราทำประตูสองชั้นในทุกห้อง พอเปิดประตูบานแรกเข้าไป ก็จะพบคอร์ทเล็กๆ ในห้องที่เปิดถึงท้องฟ้า เป็นที่ให้คนถอดรองเท้าหรือวางของ แล้วค่อยเปิดประตูอีกบานเข้าไปในห้องนอน" พัชระกล่าว "ทำให้ลมทะลุผ่านห้องได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่เสีย Privacy เหมือนมีระเบียงอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง นอนเปิดหน้าต่างได้โดยที่ไม่มีคนเห็น"

ระเบียงของห้องพักที่โรงแรมแห่งนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อกันแดดกันฝน หากเป็นระเบียงที่ยื่นออกไปให้แขกสามารถเดินออกไปสวมกอดธรรมชาติได้อย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น ระเบียงของแต่ละห้องวางในตำแหน่งที่สลับไปมาเพื่อให้ทุกห้องพักมีหน้าต่างบานที่ไม่มีระเบียงมาบดบังสามารถเปิดรับวิวภายนอกได้อย่างเต็มที่จากภายในห้อง "เราออกแบบระเบียงให้เหมาะสมกับการนอนอาบแดด วิวที่สวยจะอยู่ทางตะวันตก และแดดที่เหมาะกับการอาบแดดคือแดดช่วงเช้ามาทางตะวันออก การที่ยื่นระเบียงไปทางทิศเหนือ ทำให้เหมาะกับการอาบแดดและดูวิวไปพร้อมๆ กันได้" พัชระกล่าว "อีกทั้งยังหันหน้าไปรับลมที่มาจากทางทิศเหนือตามลักษณะภูมิประเทศของเกาะอีกด้วย"

อาคารคอนกรีตเปลือยสีเทาตอบโจทย์การใช้งานของสภาพภูมิอากาศที่ชื้นแฉะของดินแดนกลางทะเลใต้ การใช้คอนกรีตแบบทนน้ำเค็มช่วยลดปัญหาความยุ่งยากในการดูแลรักษาอาคารที่ต้องเผชิญกับน้ำฝนและไอเค็มจากทะเล นอกจากนั้น ลวดลายของไม้ที่ปรากฏบนผิวคอนกรีตยังสะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ "เราเห็นว่าช่างใช้ไม้มะพร้าวมาทำแบบหล่อฐานราก เพราะไม้มะพร้าวเป็นไม้ที่มีเยอะในเกาะพะงัน ปกติชาวบ้านก็เอามาทำฝาบ้าน เราเลยต่อยอดเอามาทำแบบหล่ออาคาร" พัชระเล่า "ไม้มะพร้าวมีขน พอแกะแบบ ขนไม้มะพร้าวจะยังติดอยู่และมีร่องรอยทำให้ผิวคอนกรีตเปลือยมีขน พอดูระยะใกล้ระหว่างที่เดินผ่านจะสัมผัสได้ว่ามันต่างจากผิวคอนกรีตเปลือยทั่วไป"

บนเนินเขาท่ามกลางดงมะพร้าวและแมกไม้ อาคารคอนกรีตเปลือยแห่งนี้แทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งของเกาะพะงันอย่างลงตัว ที่โรงแรมแห่งนี้ ทุกองค์ประกอบของพื้นที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อชักชวนให้ผู้มาเยือนรู้สึกอยากออกไปสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ทั้งการรับแสงอ่อนๆ ในวันที่แดดออก เปิดหน้าต่างรับลมเย็นๆ เคล้ากลิ่นอายทะเลในวันอากาศดี และชุ่มชื่นกับละอองน้ำในวันฝนโปรย ท่ามกลางสถาปัตยกรรมที่เชื่อมผืนป่า ผิวน้ำ และสายลม ผสมกันเป็นประสบการณ์ใหม่ได้อย่างสมดุล
Varivana Resort I เชื่อมผืนป่า ผิวน้ำ และสายลม ผสมกันเป็นประสบการณ์ใหม่อย่างลงตัวโดย พอ สถาปัตย์
/
“ณ ตะนาว” ด้วยชื่อแล้ว สามารถบอกถึงตำแหน่งของโครงการซึ่งอยู่ริมถนนตะนาว ซึ่งตั้งทำมุมตรงกับซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์พอดิบพอดี ย่านการค้าที่เคยเฟื่องฟูแห่งหนึ่งของรัตนโกสินทร์ชั้นในได้เปลี่ยนไปตามการพัฒนาผังเมือง ทำให้การลงทุนและประกอบธุรกิจบริเวณนี้อาจมีนัยยะที่ลึกซึ้งมากกว่าการสร้างอาคารบนข้อจำกัดเพื่อพิสูจน์ความสำเร็จเชิงรูปธรรมอย่างแน่นอน
/
Uthai Heritage บูติกโฮเทลที่เกิดขึ้นมาจากการรีโนเวทอาคารเก่าของโรงเรียนอุทัยธานี สู่แลนด์มาร์กใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดอุทัยธานี
/
กูรูในวงการท่องเที่ยวเคยคาดการณ์ไว้ว่า สมุยจะเป็นที่สุดท้ายในเมืองไทยที่สามารถฟื้นตัวจากพิษโควิด สาเหตุหลักๆ เพราะสมุยนั้นเปรียบไปก็เหมือนของเล่นของฝรั่ง ค่าครองชีพโดยรวมจัดว่าสูงไม่แพ้ภูเก็ต แถมยังมี supply เหลือเฟือ ห้องเช่าโรงแรมเล็กโรงแรมน้อยไปจนถึงห้าดาวมีให้เห็นกันแทบจะทุกตารางนิ้ว ที่สำคัญ คนไทยไม่เที่ยวหรอกเพราะค่าตั๋วเครื่องบินที่ผูกขาดไว้โดยสายการบินเดียวนั้นแพงระยับ แต่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา โลกโซเชี่ยลกลับพบว่าเหล่า instagramer มากมายไปปรากฏกายอยู่ที่สมุย จนเกิดคำพูดที่น่าหมั่นไส้เบาๆ ว่า “ใครๆ ก็อยู่สมุย”
/
จากย่านการค้าที่เคยคึกคักในอดีต เมื่อเวลาผ่านไป สะพานควายกลายเป็นเพียงทางผ่านซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องสภาพการจราจรที่หนาแน่น เมื่อได้รับโจทย์ให้ออกแบบอาคารใหม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ ทีมสถาปนิก PHTAA Living Design ตั้งใจที่จะใช้งานออกแบบเป็นพลังผลักดันในการเปลี่ยนภาพจำของสะพานควายให้กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง "สะพานควายกลายเป็นย่านการค้าขนาดรอง จะเห็นว่าที่นี่มีแต่ร้านซ่อมรองเท้า ซ่อมนาฬิกา และร้านขายของเบ็ดเตล็ด เป็นที่ซึ่งคนไม่ได้ตั้งใจมาเหมือนแต่ก่อน เป็นแค่ย่านทางผ่าน" พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง PHTAA กล่าว "เราเลยอยากทำให้แถวนี้เป็นย่านทางผ่านที่มีประสิทธิภาพ แค่เราสร้างความน่าสนใจให้กับทางผ่านได้มากขึ้น มันก็ถือว่าเปลี่ยนแล้ว"
/
ซึมซับเสน่ห์เมืองเก่าผ่านสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่กระจายตัวอยู่ในเมืองภูเก็ตโดยรอบ จรดล้มหัวลงนอนบนเตียงในห้องพักดีไซน์คลาสสิกสุดไพรเวทของ 97 Yaowarat โรงแรมแห่งใหม่ ที่ความ “เก่า” กับความ “ใหม่” อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว
/
จากปรัชญาเต๋าที่ว่า ‘ภายนอกเราปั้นดินให้เป็นไห...แต่ที่ว่างข้างในต่างหากที่ใช้ใส่ของที่ต้องการ’ (我们将陶土捏成罐子,但是罐子中间的空间,让它成为有用的器皿。) สู่แนวคิดของสถาปนิกชั้นครู Frank Lloyd Wright ที่อธิบายมุมมองของเขาซึ่งมีต่อสถาปัตยกรรมว่า ‘สาระสำคัญของอาคารเกิดจากที่ว่างซึ่งอยู่ภายใน’ (The Space within become the reality of the building.) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘สถาปนิกไอดิน’ ออกแบบรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยคำนึงถึงการสร้างสรรค์ที่ว่าง/ระหว่างทาง/และสุนทรียภาพที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัส ก่อนที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นรูปทรงของอาคารริมแม่น้ำแคว
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )