LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
เพราะดีไซน์ และสไตล์ เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการออกแบบสินค้าให้ดึงดูดใจผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน แม้แต่ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ ECO-Design ก็ถูกอัพสไตล์ใหม่จนแทบดูไม่ออกว่าทำจากของที่ใช้แล้ว ทางด้าน GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) องค์กรใหญ่ที่ขับเคลื่อนเรื่อง “Circular Living” หรือการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผลักดันการนำขยะหรือวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านแนวคิด Upcycling มาโดยตลอด ล่าสุดก็ได้ต่อยอดสู่โครงการ “Upcycling Upstyling” ที่จับคู่ผู้ประกอบการ 19 ราย กับนักออกแบบแถวหน้าในสาขาต่างๆ ทั้ง 10 ท่าน เพื่อนำแนวคิดด้านการออกแบบมาผสานกับนวัตกรรมสู่การสร้างสรรค์ผลงานใหม่ที่รักษ์โลก ดีไซน์โดนใจ สามารถใช้งานได้จริง และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกทั้งแบบดั้งเดิม พลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastic) และพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ได้อย่างยั่งยืน และมีสไตล์ ภายใต้แนวคิด “Up Waste to Value with WOW! Style” จนได้ชิ้นงานทั้งหมด 19 ผลงาน ซึ่ง EVERYTHING คัดเลือกผลงานบางส่วนมานำเสนอให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ ECO-Design สามารถเพิ่มความมีสไตล์ให้กับการชีวิตประจำวันเราได้ลงตัวแค่ไหน
อัพลุคสตรีทแฟชั่น
ด้วยแจ็คเก็ต และกระเป๋าจากพลาสติกรีไซเคิล
เพิ่มความเท่ให้สไตล์การแต่งตัวของวันด้วยแจ็คแก็ตที่แมตช์กับกระเป๋า “Weaving The Forgotten Thread” ที่ออกแบบโดย คุณเอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ EK THONGPRASERT ซึ่งส่วนประกอบที่ทำให้เสื้อผ้าและกระเป๋ามีลวดลาย เท็กซ์เจอร์ และสีสันเตะตา มาจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเศษพลาสติกรีไซเคิลที่เหลือจากการตัดขอบม้วนฟิล์ม (เส้นสลิต) ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันตามการออกแบบของลูกค้าแต่ละรายที่สั่งผลิตถุงกับโรงงานของ บริษัท เทคนิค แพคเกจจิ้ง จำกัด โดยเศษพลาสติกจะถูกนำมาผสานกับเส้นไหม และเส้นฝ้าย ผ่านกระบวนการทอแบบพื้นถิ่นที่ช่างชาวบ้านก็สามารถผลิตตามได้ง่ายโดยใช้กี่ทอผ้าทั่วไป
ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ EK THONGPRASERT
อีกหนึ่งเสื้อแจ็คเก็ตดีไซน์เท่ที่ออกแบบโดยคุณเอก ทองประเสริฐ ยังมีชิ้นชื่อว่า “2nd Life 2nd Chance” ซึ่งเป็นการร่วมทำงานกับ Upcycling Shop By GC เพื่อถ่ายทอดแง่มุม “พลาสติกที่ถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย” กับนักโทษที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ ผ่านดีไซน์ลายสกรีนบนเสื้อที่เป็นรูปมือกำลังฉุดดึงอีกมือขึ้นมา สะท้อนถึงการให้โอกาสคนที่เคยล้มหรือเคยผิดพลาดไป ด้วยความเชื่อที่ว่า “Nobody Born Evil” หรือไม่มีใครที่เกิดมาแล้วชั่วร้าย หรือแปดเปื้อน เช่นเดียวกับขยะพลาสติกที่เราสามารถนำกลับมาสร้างคุณค่าใหม่หรือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้คือ นอกจากเสื้อจะผลิตจากเส้นใยรีไซเคิลแล้ว ยังส่งให้ทางนักโทษชายได้สร้างสรรค์ผลงานปักผ้าตามจินตนาการของตนลงไปบนเสื้อ ทำให้สีสันและลวดลายปักแต่ละตัวมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน พร้อมทั้งเขียนชื่อผู้ปักบนตัวเสื้อด้วย
ดังนั้นจึงเป็นชิ้นงานแฟชั่นที่นอกจากได้ลุคสวมใส่เท่แล้วนั้น เบื้องหลังยังเชื่อมอุตสาหกรรมเข้ากับหัตถกรรม และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เพราะช่วยจัดการกับเศษวัสดุเจ้าปัญหาที่มีลักษณะเป็นฟิล์มลามิเนตที่มีส่วนประกอบของกาว และพลาสติกหลายชนิดปนอยู่ ทำให้รีไซเคิลได้ยากและปกติจะถูกขายทิ้งเป็นขยะจำนวนมากนั้น สามารถแปลงเป็นสินค้าแฟชั่นที่โดดเด่นและมีมูลค่าขึ้นได้
อัพสีสันให้กับการดื่ม
ด้วยหลอดกระดาษเคลือบไบโอพลาสติกหลากลวดลาย ย่อยสลายได้ และไม่เปื่อยยุ่ย
ในระหว่างวันที่เติมความสดชื่นด้วยเครื่องดื่มเย็นสักแก้ว หากเราเลือกใช้หลอดไอเดียใหม่ของ “New Design of Bioplastic Straw” เราก็จะได้ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมตอบโจทย์ประสบการณ์การดื่มอย่างมีสไตล์ ที่ได้อรรถรสกว่าหลอดกระดาษแบบเดิมไปด้วยกัน โดยผลงานชิ้นนี้ร่วมสร้างสรรค์ขึ้นโดยคุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ดีไซน์ไดเร็กเตอร์และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ QUALY กับโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเคลือบพลาสติกอย่างบริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด ที่นำเศษกระดาษเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เคลือบด้วย Bio Plastic 2 ด้าน (วัสดุเดียวกับแก้วกระดาษสำหรับเครื่องดื่มเย็น) มาทำเป็นหลอดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่เปื่อยยุ่ยง่ายเมื่อโดนน้ำระหว่างดื่มและเป็น Food Grade ที่มีความปลอดภัย สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ อีกทั้งยังใส่ลูกเล่นพิมพ์ลายที่สร้างสีสันใหม่ให้หลอดกระดาษมีสไตล์ และสามารถใช้เป็นไอเทมตกแต่งแก้วให้สวยขึ้นได้ ตัวดีไซน์มีทั้งแบบหลอดดูดปกติ และหลอดที่มีช้อนตรงปลายสำหรับตักเครื่องดื่มปั่น ซึ่งรูปทรงหลอดไม่จำกัดว่าต้องเป็นทรงกลมเท่านั้น แต่ถูกออกแบบให้สามารถพับแบน (แบบโอริกามิ) เพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บได้ รวมทั้งช่วยลดพลังงานและมลพิษจากการขนส่งได้ด้วย
ดีไซน์ไดเร็กเตอร์และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ QUALY
นักออกแบบจาก The ReMaker
อัพสไตล์การแต่งบ้าน
ด้วยเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อได้เห็นผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และของตกแต่ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากโครงการนี้ ซึ่งผ่านการ Upcycling และ Upstyling มาแล้วนั้น ทำให้อยากเปลี่ยนสิ่งของภายในบ้านหรือออฟฟิศให้สวยเท่มีสไตล์อย่างยั่งยืนเคียงคู่กันกับโลกใบนี้ ด้วยชั้นวาง ม้านั่ง โคมไฟ จนถึงงาน Decorative Item ต่างๆ
เริ่มต้นด้วยโคมไฟ Work From Home (WFH) ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ที่สามารถ DIY ได้ และสร้างบรรยากาศให้การอยู่บ้านไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เป็นผลงานสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่าง บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารอย่าง เจ.ที.แพ็ค ออฟ ฟู้ดส์ จํากัด และคุณยุทธนา อโนทัยสินทวี นักออกแบบจาก The ReMaker ที่เกิดไอเดียนำถ้วยพลาสติกชนิดโพรลีโพรพิลีน (PP) ที่เสียหายระหว่างการพิมพ์ในโรงงาน แต่ไม่สามารถนำกลับไปหลอมและนำเม็ดกลับไปผลิตเป็นถ้วยใหม่ได้ เพราะถูกพิมพ์สีลงบนถ้วยแล้วจึงต้องขายเป็นพลาสติกรีไซเคิลเท่านั้น โดยเดือนหนึ่งเป็นขยะมากถึง 2,300 ตัน ดังนั้นทางนักออกแบบจึงนำพลาสติกเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการรีดเป็นม้วนแล้วดึงออกมาเป็นแผ่น (รูปทรงคล้ายหลังคาบ้านที่เป็นสัญลักษณ์ของ WFH) จากนั้นใช้เทคนิคการพับและการม้วนเพื่อสร้างรูปทรงใหม่ให้ชิ้นงานสามารถถอดประกอบ (Knock Down) ได้ โดยแต่ละชิ้นจะตอกกระดุมไว้ให้เราสามารถนำไป DIY หรือต่อยอดเป็นรูปทรงต่างๆ ได้เองตามจินตนาการ หรือการใช้งานเฉพาะได้เองด้วย ซึ่งชิ้นงานได้ถูกออกแบบมา 3 ทรง คือ ทรงดอกไม้ ทรงโคมไฟตั้งโต๊ะ และทรงมังกร เรียกได้ว่าเป็นไอเดียสร้างสรรค์ที่เรียบน้อยแต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุได้มากขึ้นทีเดียว
ต่อไปเป็นการเพิ่มความ Cozy ให้กับบ้าน ด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ดีไซน์สวยที่มีลวดลาย และสีสันอบอุ่นอย่างไม้จริงตามธรรมชาติได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตัดไม้ทำลายป่าเลยแม้สักต้น อย่าง Nakashima เฟอร์นิเจอร์ไม้เทียม (Wood Plastic Composite) ที่ผลิตจากขยะพลาสติก (ขยะถุงหิ้วพลาสติกจากกองขยะ) ซึ่งจะถูกนำมาคัดแยก ล้าง และบดเป็นเม็ดพลาสติก ก่อนผสมกับเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร จากนั้นจะผ่านกระบวนการวิจัยผลิตเป็นเม็ด Compound ก่อนขึ้นรูปเป็นไม้พลาสติกเพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรไม้ธรรมชาติ ที่มีจุดเด่นคือเนื้อวัสดุข้างในมีลวดลายเหมือนเนื้อไม้จริงตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้พื้นถิ่นเนื้อแข็งอย่าง สัก แดง มะค่า รกฟ้า มะริด หรือกลุ่มไม้นอก อย่าง บีช โอ๊ค วอลนัท ก็มี จึงสามารถใช้เครื่องมืองานช่างและทักษะช่างไม้ฝีมือในการสร้างรูปทรงใหม่ได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากบริษัท เบสท์ โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตไม้เทียม Wood Plastic Composite
นักออกแบบจาก Jird Design Gallery
ดังนั้นเมื่อมาจับคู่กับนักออกแบบผู้คร่ำหวอดด้านงานไม้อย่างคุณศุภพงศ์ สอนสังข์ แห่ง Jird Design Gallery จึงเกิดฟังก์ชั่นเป็นชั้นวางอเนกประสงค์ และม้านั่ง ที่ดีไซน์กลมกลืนเป็นธรรมชาติและมีคาแรคเตอร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก George Nakashima นักออกแบบและช่างไม้ระดับปรมาจารย์ของโลก ตามชื่อผลงาน ในขณะที่กระบวนการผลิตอยู่ภายใต้แนวคิดแบบ Upcycling อย่างแท้จริง โดยนักออกแบบพยายามออกแบบให้เหลือเศษน้อยที่สุดจากการตัดหรือไสแผ่นไม้เทียมออกมาประกอบเป็นรูปทรงใหม่ ทำให้เกิดม้านั่งที่เกิดจากการตัดไม้เป็นเส้นตัว S ในแผ่นไม้สี่เหลี่ยม ซึ่งเมื่อนำมากลับด้านแล้วชนกันใหม่จะประกอบเป็นรูปทรงม้านั่งที่มีเส้นโค้งมนสวยงาม ซึ่งเป็นเทคนิคแยบยลที่ทำให้ไม่ต้องมีเศษเหลือทิ้งจากกระบวนงานช่างไม้เลย ในขณะที่ชั้นวางอเนกประสงค์นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่เทคนิคการเข้าสลักไม้เทียมได้โดยไม่ใช้สกรูเลย
จากปีหนึ่งที่เรามีขยะตกค้างอยู่ประมาณ 3.4 ล้านตัน และเป็นขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 35% หรือราว 450,000 ตันนั้น ไอเดียนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดขยะพลาสติกจาก Post Consumer Waste ที่ถูกทิ้งสูงเป็นภูเขาในกองขยะ ให้เปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสวยที่อยู่ในบ้านหรือที่ทำงานของทุกคนได้
มาถึงชิ้นงานที่เปิดกว้างไอเดียต่อยอดทั้งด้านดีไซน์และฟังก์ชั่นหลากหลายได้อย่าง Black Diamond นั้นถูกคิดแบบระบบโมดูลาร์เพื่อให้สามารถประกอบเป็นชิ้นงานต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะงาน 2 มิติ หรือ 3 มิติ ตั้งแต่ โคมไฟ งานตกแต่งผนัง งานฟาซาด และของตกแต่งบ้านต่างๆ เป็นผลงานออกแบบโดย คุณศุภพงศ์ สอนสังข์ แห่ง Jird Design Gallery ร่วมกับ Vandapack บริษัททางด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติก และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรม Automotive ทำให้เกิดการนำเศษพลาสติก ABS ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตชิ้นส่วนประดับยนต์ ซึ่งใช้เทคนิคการขึ้นรูปแบบเทอร์โมฟอร์มมิ่ง (จุดเด่นคือสามารถผลิตชิ้นงานที่บาง ยืดหยุ่น และมีความคงทนแข็งแรงได้) และใช้รูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนช่วยให้วัสดุสีดำมีแสงเงาสะท้อนดูมีมิติขึ้น อีกทั้งยังสามารถต่อเรียงเป็นโมดูลาร์ได้ไม่จำกัด
อีกหนึ่งเทคนิคที่น่าสนใจของผลงานชิ้นนี้คือ การใช้วิธีจัดเรียงชิ้นงานเป็นชุดลวดลายที่ต้องการลงในแม่แบบพิมพ์ได้ก่อนนำไป Vacuum ทำให้สามารถเหลือเศษจากการผลิตน้อยที่สุด และช่วยลดต้นทุนในการสร้างแม่พิมพ์จำนวนมากได้ เพราะแม่พิมพ์เดียวสามารถเรียงลวดลายเพื่อขึ้นรูปเป็นชุดโมดูลาร์ได้หลายรูปแบบ
ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมายจากโครงการ Upcycling Upstyling นี้ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกรีไซเคิลดีไซน์เก๋ที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพการใช้งานได้เทียบเท่ากับกระเป๋าผ้าได้เลย ออกแบบโดย THINKK STUDIO หรือจะเป็นเก้าอี้ที่เกิดจากการ Upcycling เชือกอวน ผสานกับงานฝีมือหัตถกรรมของชาวบ้าน ออกแบบโดย KORAKOT อีกทั้งยังมีรองเท้าสุดคิวท์ที่ผลิตจากขยะ Film Wrap ก็มี และอีกมากมาย ที่เป็นตัวอย่างของการเพิ่มคุณค่า และให้โอกาสพลาสติกได้ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีสไตล์ และน่าใช้ขึ้น
อัพ Eco-Design ให้มีสไตล์! กับโครงการ “Upcycling Upstyling” โดย GC
/
คุณอาร์ต - อยุทธ์ มหาโสม สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง A A D Design - Ayutt and Associates Design คือหนึ่งในสถาปนิกแถวหน้าของไทยที่เลือกใช้กระเบื้องของ WDC ในงานออกแบบหลากหลายโปรเจกต์ ทั้งภายในและภายนอก สำหรับวันนี้ที่คุณอาร์ตได้มาเยือน WDC Flagship Showroom Ratchada อีกครั้ง จึงได้มาแชร์มุมมองการเลือกกระเบื้องที่ต้องคำนึงถึงหลากปัจจัยมากกว่าความสวยงาม พร้อมเปิดลิสต์นวัตกรรมกระเบื้องแห่งอนาคตของ WDC ที่ถูกพัฒนาให้สามารถยกระดับทั้งด้านดีไซน์, นวัตกรรม และความคุ้มค่า ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปใช้งานหรือต่อยอดไอเดียงานออกแบบต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ยังแชร์ความประทับใจที่ได้มาเปิดไอเดียการเลือกใช้วัสดุ และอัพเดทนวัตกรรมกระเบื้องที่เปิดโลกให้กับคุณอาร์ตได้มากกว่าเดิม
By WDC/
สัตว์เลี้ยงยุคใหม่ สำคัญไม่แพ้สมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน เพราะเป็นทั้งเพื่อนคู่ใจในยามเหงา เป็นลูกรักที่คอยหวงแหน เป็นกำลังใจในวันที่เหนื่อยล้า และสำหรับบางคนก็เป็นสัตว์บำบัดที่คอยช่วยบรรเทาอาการป่วยด้วยเหมือนกัน ในการดูแลให้เจ้าสมาชิกสี่ขาของครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดอายุขัย เหล่าคุณพ่อคุณน้องหมาและบรรดาทาสแมวจึงต้องเตรียมอาหารที่ดี ต้องเตรียมพื้นที่ภายในบ้านหรือคอนโดมิเนียมให้เหมาะสม นั้นคือ มีอากาศและแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในเพื่่อลดความชื้น ไม่มีมุมอับที่มักเป็นจุดสะสมฝุ่น ใช้กระเบื้องแบบไม่ลื่น ไปจนถึงการเลือกใช้วัสดุตกแต่งพื้นและผนังของห้องอย่าง กาวยาแนว ที่ดูผิวเผินอาจเป็นแค่สิ่งที่สร้างสีสันให้กับห้องจนไม่สำคัญ หรือมีโอกาสน้อยมากที่สัตว์จะไปสัมผัส แต่ความจริงแล้วกาวยาแนวก็อาจเป็นต้นตอที่ทำร้ายสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้เช่นเดียวกัน
By JORAKAY/
ก้าวแรกที่ดี จะส่งผลให้ก้าวต่อไปของลูกมีความมั่นคงและปลอดภัย เหล่าคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จึงต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญกับสุขภาพในช่วงปีแรก ๆ ของลูก แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าเราเตรียมพร้อมมาอย่างดีแล้ว เพราะทุก ๆ รายละเอียดในชีวิตของลูก ต้องถูกรีเช็คอีกครั้งจนมั่นใจว่าปลอดภัยจริง ๆ และจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือระบบภายในร่างกายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น อาหาร สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู วัสดุก่อสร้างที่ใช้ในการรีโนเวทห้องใหม่ให้เหมาะกับการเลี้ยงเด็ก อย่างกาวยาแนวเองก็เช่นกัน เพราะแม้จะดูเล็กจนอาจเผลอมองข้ามไปได้ แต่กาวยาแนวเองก็ควรถูกเลือกให้เหมาะกับห้องนอนและห้องเลี้ยงเด็กเพื่อความปลอดภัยของลูก ทำให้การดูแลลูกน้อยดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
By JORAKAY/
โซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์ทำให้เราใช้ชีวิต รวมถึงทำงานได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็วมากจริง ๆ แต่บางครั้งมันก็ทำให้เราเผลอลืมใช้เวลาในโลกชีวิตจริงไป คนรุ่นใหม่ และผู้ใหญ่บางกลุ่มจึงเลือกถอยห่างออกจากโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และเร่ิมต้นเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ใหม่ ลดการใช้โซเชียลมีเดียให้เหลือแค่พอจำเป็น หรือทำ Social Detox มากยิ่งขึ้น แล้วหันไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้านมากยิ่งขึ้น เพื่อเริ่มปรับสมดุลทางอารมณ์ด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติ สายลม และแสงแดด
By JORAKAY/
แม้จะผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว แต่ผลกระทบของโรคระบาดในปี 2019 ก็ยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม รวมถึงไลฟ์สไตล์ของเรามาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกับเรื่อง Health and Wellness Living ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจเท่านั้น แต่ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ในชีวิต อย่างการมีสุขภาพแข็งแรง การอยู่อาศัยที่ดี และมีความปลอดภัยในชีวิต เมื่อเกิดมลภาวะที่เป็นอันตรายหรือสถานการณ์โรคติดต่อ ผู้คนในสังคมจึงติดตามข่าวสารกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางรับมือและป้องกัน และมีการวางแผนถึงแนวทางการดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายอย่างจริงจังในระยะยาว
By JORAKAY/
คราบราดำ เป็นหนึ่งในปัญหากวนใจที่สุดสำหรับคนรักบ้าน เพราะนอกจากจะทำให้งานปูกระเบื้องของเราหมดสวย และดูไม่สะอาดตาแล้ว ยังอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ระคายเคือง และส่งผลเสียต่อระบบหายใจได้ด้วย โดยสาเหตุของคราบราดำเกิดได้ทั้งจากความชื้น การสะสมของสิ่งสกปรก จนถึงการเลือกใช้กาวยาแนวคุณภาพต่ำที่เสื่อมสภาพได้ง่ายด้วย ดังนั้นจากนี้ต้องไม่ใช่ “กาวยาแนวยี่ห้ออะไรก็ได้” อีกต่อไป
By COTTO
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )