ผู้แพ้ เงามืด ด้านสว่าง และเวลาที่เหลือ : คุยกับ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

อาจไม่อยู่ในความสนใจของคุณ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องภาพยนตร์ คุณควรรู้ว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีนักทำหนังชาวไทยคนหนึ่งนำหนังไทยไปคว้ารางวัลใหญ่ “หนังยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์ “Doclisboa 2019” ที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส นักทำหนังคนนั้นชื่อ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล และหนังเรื่องนั้นชื่อ “Santikhiri Sonata” เป็นหนังสารคดีผสมฟิกชันที่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชื่อ “สันติคีรี”

และอาจฟังดูคุ้นหู คลับคล้ายคลับคลาว่าเหมือนจะเคยได้ยินชื่อจากที่ไหน ก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะชื่อของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ผู้กำกับไทยวัย 46 เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ในปี 2550 นั้นมักจะถูกกล่าวถึงวนเวียนอยู่กับเรื่องซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทำนองว่าแม้จะเป็นหนังไปฉายมาแล้วทั่วโลกกว่าร้อยเทศกาล แต่หนังของเขาก็ถูก “ห้ามฉาย” ในบ้านเรา ด้วยเหตุผลที่ฟังดูน่ากลัว ท้ายที่สุด ชื่อของเขาจึงกลายเป็น “บุคคลต้องห้าม” ในวงการภาพยนตร์ โดยที่ไม่มีใครคิดถาม ไม่มีใครตั้งคำถาม ไม่มีใครคิดสงสัย ว่าทั้งหมดนั้นจริงแท้เป็นอย่างไร และไม่ค่อยมีใครเปิดโอกาสให้เขาได้พูด

นานวันเข้า ธัญสก จึง “หมดเรื่องจะพูด” ไปโดยปริยาย

Everything ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการเอาชนะความบ่ายเบี่ยงปฏิเสธของเจ้าตัว ในที่สุดเราก็ชวน ปุ่น-ธัญสก มาพูดคุยกันได้สำเร็จตกลงกันแค่ว่าสนทนาในสิ่งที่พอพูดได้ หรือเล่าได้ อย่างน้อยก็ เกาะเกี่ยวไปกับหนังเรื่องล่าสุดของเขาที่คว้ารางวัลที่อันที่จริงเราควรจะภาคภูมิใจ ในฐานะ นักทำหนังไทยที่สร้างชื่อเสียงในเวทีโลก ที่คุณอาจจะยังไม่รู้ เพราะไม่มีใครบอก
มันมีคำหนึ่งที่เรารู้สึกสะกิดใจมาตลอดก็คือคำว่า “ประวัติศาสตร์มันเขียนโดยผู้ชนะ”
เราก็เลยคิดว่าถ้าสมมุติว่าผู้แพ้จะเขียนประวัติศาสตร์นี้ เขาจะเล่าเรื่องของตัวเองอย่างไร

ถ้าผู้แพ้จะเขียนเรื่องเล่า
“จุดกำเนิดของหนังเรื่อง “Santikhiri Sonata” คือเราทำหนังเรื่อง “ผู้ก่อการร้าย-The Terrorists” กับโปรดิวเซอร์เยอรมันชื่อ Jürgen Brüning เมื่อปี 2010 แล้วเราก็เลยทำกับโปรดิวเซอร์คนนี้มาตลอด แต่โปรเจคต์จริง ๆ ทำตั้งแต่ปี 2017 มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องอีกด้านของดอยแม่สะลอง ซึ่งตอนนี้มันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สันติคีรี’ แปลได้ว่าหมู่บ้านแห่งความสันติ แต่จากข้อมูลที่เรารับรู้มาในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นด้านที่ไม่เคยมีใครพูดกัน เราก็คิดว่ามันมีความน่าสนใจดี เรามีข้อสงสัยว่าทำไมมันถึงมีชื่อนี้ เมื่อค้นคว้าไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มีแค่หมู่บ้านนี้เท่านั้นที่ถูกเปลี่ยนชื่อ มันยังอีกหลายที่ นอกจากเล่าเรื่องหมู่บ้านบนดอยแม่สะลองที่ชื่อ ‘สันติคีรี’ แล้ว เราก็ยังเล่าเรื่องคู่ขนานของอีกหมู่บ้านหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์บางอย่างเมื่อปี พ.ศ. 2525 ซึ่งพอเรารู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งก็พบว่ามันน่าสนใจและน่าตกใจในเวลาเดียวกันเพราะ มันเป็นหมู่บ้านที่ถูกทำลายไปทั้งหมู่บ้าน นั่นคือหมู่บ้านหินแตก ซึ่งปัจจุบันก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น หมู่บ้านเทิดไท ซึ่งถูกจดจำมาตลอดว่าเป็นหมู่บ้านที่ค้ายาเสพติดแหล่งใหญ่ เพราะมีผู้นำของหมู่บ้านก็คือ ‘ขุนส่า’ ผู้ถูกตราหน้าว่าเป็นพ่อค้ายาเสพติด แต่นั่นก็เป็นข้อมูลด้านเดียว แต่เราไม่เคยรู้ว่าจริง ๆ แล้วมันมีที่อื่นที่หนักกว่าขุนส่าแต่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา

“สิ่งที่เราทำในหนังเรื่องนี้ คือเราทำด้วยความเชื่อว่ามนุษย์มันมีหลาย ๆ ด้าน มันไม่ได้มีแค่ด้านเลว ด้านเดียว หรือเราไม่สามารถไปตัดสินคนว่าเขาค้ายาแล้วเป็นคนผิดในทุกเรื่อง เพราะขณะเดียวเขาก็เป็นผู้นำชาวไทใหญ่ด้วย การที่หมู่บ้านหนึ่งที่เหมือนถูกลบอดีตไปเลยแล้วก็ถูกตราหน้าว่าเป็นหมู่บ้านที่อันตราย ขณะที่อีกหมู่บ้านหนึ่งที่ดอยแม่สะลองกลายเป็นว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีประเพณีอันดีงาม คือภาพบางอย่างถูกลบล้างและถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เรารู้สึกว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนรู้ ประกอบกับยิ่งเราศึกษาเรื่องนี้ เราก็ได้ฟุตเทจที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ จากคนที่เขายังเก็บไว้ เราก็ไม่รู้ว่าเขาเก็บไว้เพราะอะไรแต่เราก็ได้มา ใน “Santikhiri Sonata” เราพยายามเล่าอย่างเป็นกลาง จะไม่ชี้นำว่าใครคือคนผิด คนถูก เราพยายามจะมองและเล่าให้ครอบคลุมว่า ณ เวลานั้นนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่จะทำอะไรบางอย่าง ประมาณนี้แล้วกัน เราเล่าเท่าที่เล่าได้ แต่โดยไอเดียของหนังเราตั้งสมมุติฐานว่า มันมีคำหนึ่งที่เรารู้สึกสะกิดใจมาตลอดก็คือคำว่า “ประวัติศาสตร์มันเขียนโดยผู้ชนะ” เราก็เลยคิดว่าถ้าสมมุติว่าผู้แพ้จะเขียนประวัติศาสตร์นี้ เขาจะเล่าเรื่องของตัวเองอย่างไร เราก็เลยเล่าประวัติศาสตร์ในมุมของคนที่แพ้ ว่าเขาเจออะไรบ้างประมาณนั้นแหละครับ”

นักทำหนังในเงามืด
“เรารู้ว่า หนังเรามันไม่มีทางที่จะได้ฉายที่นี่แน่นอน เมื่อปี 2009 เราเคยถูกล่าแม่มด ถูกใส่ร้ายมาครั้งหนึ่งแล้ว มันทำให้เราไม่คิดที่จะฉายหนังในประเทศนี้อีกแล้ว คือแน่นอนว่าเราทำหนังในบริบทที่เชื่อว่าคนไทยเท่านั้นแหละที่จะเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งแต่...มันคงไม่เกิดขึ้นหรอก แต่ถ้าถามว่ามันจะมีโอกาสได้ฉายในประเทศไหม เราก็คิดว่าหนังหรือภาพยนตร์เนี่ย มันก็มีมาร้อยกว่าปีแล้ว ผ่านไปร้อยกว่าปีแต่คนก็ยังหาหนังในยุคแรกๆ ดูได้อยู่ เราก็เคยแอบหวังว่าสักวันหนี่งแต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้อาจจะเป็นร้อยปีข้างหน้า หนังของเราอาจจะได้กลับมาฉายในประเทศก็ได้ แต่เราคงตายก่อนแล้ว (หัวเราะ)
“ถามว่าเราโกรธหรือเสียใจไหม เราว่าเราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นดีกว่า โอเค ตอนแรกๆ ที่ยังเด็กกว่านี้เรารู้สึกโกรธมากๆ นะ ก็ช่วงปี 2009-2010 ที่เราโดนกล่าวหานี่แหละ แต่ขณะเดียวกัน...พูดยังไงดีล่ะ...ถ้าเราโกรธมันก็เท่ากับว่าเรากำลังโกรธอีกฝ่ายหนึ่งที่คิดไม่เหมือนกับเรา ซึ่งมันเท่ากับว่าเรากำลังตกอยู่ในบ่วงที่เขาต้องการจะให้เราเป็นเช่นนั้น เราเลยพยายามจะเข้าใจมันให้ได้มากกว่า”

สู่ด้านสว่างที่เข้าใจในทุกอย่าง
“โลกมีหลายศาสนานะ เราก็แค่เข้าใจว่าทุกคนเชื่อไม่เหมือนกัน แล้วเราก็ไม่ได้อยากจะมองว่าเขาเป็นศัตรู เหมือนที่เราก็ไม่ได้อยากถูกมองว่าเป็นศัตรูของเขา เราก็มองว่าแต่ละฝ่ายก็มี agenda ของตัวเอง พยายามจะไม่เป็นแบบนั้น เราก็แค่พยายามจะมองในฐานะมนุษย์ว่า...การที่สังคมเราถูกทำให้แบ่งแยกเป็นสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายจริง ๆ แล้วก็ต่างช่วงชิงเพี่อที่จะอยู่รอด ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของสิ่งมีชีวิต
“พอเราคิดได้อย่างนี้ ความคาดหวังของเรามันเลยเปลี่ยน เรารู้สึกว่าพยายามจะทำความเข้าใจมันว่า ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลแน่นอนว่า เหตุผลของเขาอาจฟังไม่ขึ้นสำหรับเรา หรือเหตุผลของเราเขาก็อาจฟังไม่ขึ้น เพราะบางทีเราก็เคยสงสัยว่า เฮ้ย ทำไมนะ เราก็คิดว่าเรามีเหตุผลมากพอแล้วทำไมอีกฝั่งหนึ่งก็ยังไม่มีเหตุผลขนาดนั้น แต่ขณะเดียวกันเราก็พอจะทำความเข้าใจได้ว่า อืม...ก็เพราะมันอย่างนั้น อย่างนี้ อะไรแบบนี้ นี่เอาเท่าที่พูดได้นะครับ”

"ตอนนี้เราเลยโฟกัสสิ่งที่เราอยากทำ เรารู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังวิ่งแข่งกับเวลา
เราไม่มีเวลาโศกเศร้า เราจะเศร้ากว่าถ้าเราทำไม่ทัน"

ผ้าที่ถักทอขึ้นด้วยสิ่งที่ถูกทำลาย
“ตอนที่ “Santikhiri Sonata” ได้รางวัล คำประกาศในเฟสติวัลเขาก็บอกว่า หนังมันทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์ แล้วก็เล่าในแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถักทอระหว่างร่างกายมนุษย์และประวัติศาสตร์ของสิ่งที่ถูกทำลายล้างโดยที่ไม่มีใครรู้ผสานเข้ากับพื้นที่และร่างกาย หนังพูดถึงการเมืองผ่านภาพที่ให้ความเข้าใจอันหลากหลาย- หมายถึงว่าในการตีความคำว่า ‘ความเป็นจริง’ เพราะสำหรับเราความจริงมันไม่ได้มีด้านเดียว มันอยู่ที่คนจะมองแล้วเราก็พยายามจะพูดเท่าที่เราพูดได้ พูดแบบนี้แล้วแต่คนจะตีความว่าพูดว่าอย่างไร แล้วแต่ความเชื่อของคนดูมากกว่า

“ในแง่หนึ่งเรื่องของเราเองก็คล้าย ๆ อย่างนั้น ตัวเราเกิดขึ้นใหม่ด้วยการถูกทำลาย เราเคยถูกทำลาย โดนล่าแม่มด มีคนเอาชื่อเราไปเขียนด่าคนอื่น แล้วก็ลงเบอร์โทรศัพท์ของเรา มันมีเรื่องวุ่นวายมาก ๆ เป็นเรื่องวุ่นวายที่เรารู้สึกว่าพอมันแก่ขึ้น เราก็รู้ว่าควรทำยังไงต่อไปกับชีวิต นั่นคือเราทำสิ่งที่เราอยากทำดีกว่า หมายถึงว่า ตอนนี้เราอายุ 46 แล้ว ถ้าสมมุติว่าคนเราอยู่ได้ 60 ปีอะไรอย่างนี้ เราว่าเราอาจมีเวลาอยู่อย่างมากก็ไม่เกิน 14 ปี ยังไม่รวมกับเวลาที่เราอาจจะเพ้อหรือหลง ๆ ลืม ๆ ไปแล้ว เป็นมะเร็งหรืออะไรสักอย่างต้องมาทรมานช่วงก่อนตายอะไรแบบนี้ เราคิดว่าถ้าเรามีเวลาสัก 14 เป็นอย่างมาก เราก็คิดในแง่ร้ายไว้ก่อนว่า เหลือแค่ 14 ปีนะเว้ย เราจะทำยังไงกับชีวิตที่เหลืออยู่

“เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามมนุษย์มันวุ่นวายเป็นปกติ แล้วทุกเรื่องมันก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้น เรื่องของเราไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ตอนนี้เราเลยโฟกัสสิ่งที่เราอยากทำ เรารู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังวิ่งแข่งกับเวลา เราไม่มีเวลาโศกเศร้า เราจะเศร้ากว่าถ้าเราทำไม่ทัน”

"เราผิดหวังมามากจนเรารู้แล้วว่าจะอยู่ท่ามกลางความผิดหวังได้ยังไง"

รางวัลที่แท้คือเวลาที่เหลือ
“เราไม่คิดว่าเราจะได้รางวัล ตอนที่เราได้รับรางวัลเนี่ย เราอยู่ในโรงแรมนะ นอนแช่น้ำร้อนอยู่เพราะว่าปวดหลัง ยังลังเลอยู่ว่าจะไปดีไหม แต่ด้วยความปวดหลังเราเลยไปแช่น้ำร้อนในโรงแรม แล้วอาการก็ทุเลาขึ้น เราคิดว่า เฮ้ย ขี้เกียจไปเว้ย เราคงไม่ได้อะไรแบบนี้ แต่เราดูเฟสบุ๊คมันก็อัพเดตเรื่อย ๆ แล้วมันก็มีรูปหนังเรา เราก็ เอ๊ะ ตอนนั้นมันยังเป็นภาษาโปรตุเกสอยู่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษเราก็เลยคิดว่า เอ๊ะ ทำไมนะ พูดถึงหนังเราว่ายังไงอะไรแบบนี้ เลยส่งข้อความไปถามเพื่อนอีกคนที่อยู่ตรงนั้นว่ายังไง พอเพื่อนบอกว่าหนังเราได้รับรางวัล ซึ่งตอนนั้นเรากำลังอาบน้ำอยู่ แล้วกำลังสระผมอยู่ก็แบบฉิบหายแล้วเอาไงดีวะ ก็รีบอาบเลย (หัวเราะ) แต่งตัว รีบเดินไปสิบนาที พอไปถึง ทุกอย่างมันก็เสร็จหมดแล้วล่ะ แล้วเขาก็เอารางวัลมาให้ทีหลัง นักข่าวก็ยังรออยู่อะไรแบบนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รางวัล เราแค่มีความรู้สึกอยากเล่าเรื่องนี้ ตอนที่เราได้รับรางวัลเรากำลังแพลนเรื่องต่อไปว่าเราจะทำเรื่องอะไรด้วยซ้ำ “คือตอนนี้เราไม่ได้แพลนแค่เรื่องเดียว ปีเดียว แต่เรายังแพลนต่อไปอีกประมาณสอง-สามปีว่า ปีนี้ทำอะไร ปีหน้าทำอะไรต่อ มันเหมือนกับตอนนี้สิ่งที่ดิ้นรนสุด ๆ ก็คือเรื่องเวลามากกว่า เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยไม่ได้ยินดียินร้าย เราก็โพสต์ตามปกติว่า เออได้รางวัลนะคนก็มาแห่ยินดีตามปกติ จบแค่นั้น มันไม่ใช่เรื่องอะไรใหม่แล้ว สำหรับเราในตอนนี้

“อย่างที่บอกไปว่าเราแข่งกับตัวเราเอง แข่งกับเวลาที่เหลือ เรื่องอื่นเราไม่อยากหวังอะไรแล้ว เราผิดหวังมามากจนเรารู้แล้วว่าจะอยู่ท่ามกลางความผิดหวังได้ยังไง อย่างไรแล้วกัน เราเห็นแก่ตัวมากขึ้น เราไม่ได้หวังอะไรอีกตอนนี้ ก่อนหน้าอาจจะหวังเพื่อนั่นเพื่อนี่ แต่อย่างที่เราบอก เราเห็นแก่ตัว เราหวังแค่ว่าเราจะทำหนังให้ทัน นั่นคือความหวังเดียวของเรา แข่งกับร่างกายที่ทรุดโทรมของเรา เราแย่ทุกอย่างเลย ความดันสูง โรคหัวใจ เบาหวาน หลักๆ ไม่นับไมเกรนที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก ถึงเวลาที่ต้องดูแลสุขภาพแล้วล่ะ เพราะสามโรคนี้ก็ค่อนข้าง consume ทุกอย่างในชีวิตเราไปเหมือนกัน

    TAG
  • film
  • interview
  • people
  • movie
  • director

ผู้แพ้ เงามืด ด้านสว่าง และเวลาที่เหลือ : คุยกับ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล

ENTERTAINMENT/FILM
January 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    แรงบันดาลใจจากภาพวาด สู่ภาพยนตร์ Barbie & Hockney

    เมื่อแรกเห็นฉากอันเปี่ยมสีสันฉูดฉาดจัดจ้านในหนัง Barbie (2023) ของผู้กํากับ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) สิ่งแรกที่เราอดนึกถึงไม่ได้เลยคือผลงานของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) หนึ่งในศิลปินคนสําคัญในกระแสศิลปะป๊อปอาร์ตในยุค 60s และเป็นหนึ่งในศิลปินอังกฤษที่ทรง อิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 จากผลงานภาพวาดสีสันสดใสฉูดฉาด จัดจ้าน เต็มไปด้วยความเก๋ ไก๋ เปี่ยมสไตล์ และความฉลาดหลักแหลม จนเป็นที่จดจําของคนรักศิลปะทั่วโลกอย่างยากจะลืมเลือน

    Panu Boonpipattanapong2 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    Art inside BEEF งานศิลปะที่แฝงกายในซีรีส์สุดร้อนแรงแห่งปี “คนหัวร้อน”

    ณ นาทีนี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนร้อนแรงไปกว่า “BEEF” ออริจินัลซีรีส์ของ Netflix ที่ผลิตโดยค่าย A24 จากฝีมือการสร้างสรรค์ของ อี ซองจิน (Lee Sung Jin) ผู้กำกับและเขียนบทซีรีส์ชาวเกาหลี ที่เล่าเรื่องราวของสอง “คนหัวร้อน” อย่าง แดนนี่ (สตีเว่น ยอน) ชายหนุ่มผู้รับเหมาชาวเกาหลี-อเมริกันอับโชค ผู้กำลังมีปัญหาทางการเงิน กับ เอมี่ (อาลี หว่อง) สาวนักธุรกิจชาวจีน-อเมริกัน เจ้าของกิจการร้านขายต้นไม้สุดหรู ผู้กำลังไต่เต้าจากการเป็นชนชั้นกลางระดับสูงไปเป็นเศรษฐีเงินล้าน โดยเริ่มต้นจากการสาดอารมณ์ใส่กันในเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบนท้องถนน (Road rage) ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องราวบานปลายฉิบหายวายป่วงกันถ้วนหน้าอย่างคาดไม่ถึง

    Panu Boonpipattanapong2 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    แรงบันดาลใจจากศิลปะแห่งความสยดสยองในซีรีส์เขย่าขวัญยอดฮิต Cabinet of Curiosities: Pickman's Model

    ในซีรีส์สุดสยองยอดฮิตของ Netflix อย่าง Guillermo del Toro's Cabinet of Curiosities (2022) ผลงานปลุกปั้นของ กิเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ผู้กำกับชาวเม็กซิกันเจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Shape of Water (2017) กับซีรีส์กระตุกขวัญสั่นประสาท จบในตอน จำนวน 8 ตอน จากฝีมือการกำกับของผู้กำกับ 8 คน ที่เดล โตโรเป็นผู้คัดสรรทั้งผู้กำกับ, นักเขียนบท และเรื่องราว (บ้างก็เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นมาใหม่ บ้างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นสยองขวัญสุดคลาสสิค) ด้วยตัวเอง ราวกับเป็นภัณฑารักษ์ที่เฟ้นหาผลงานศิลปะสุดสยองมาประดับในตู้แห่งความพิศวงของเขา

    Panu BoonpipattanapongMarch 2023
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    INTERVIEW PRABDA YOON : Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้

    หลังจากที่ฉายรอบปฐมทัศน์ในสายประกวด Asian Future ของเทศการ Tokyo International Film Festival 2017 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กับผลตอบรับจากคนดูและสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจ Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้ ภาพยนต์ลำดับที่ 2 ในบทบาทผู้กำกับของปราบดา หยุ่น

    Sirima Chaipreechawit7 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    แรงบันดาลใจแห่งศิลปะเบื้องหลังหนัง “Resemblance ปรากฏการณ์” ของนักธุรกิจผู้หลงใหลภาพยนตร์ ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์

    นักธุรกิจชั้นนำหลายคนใช้เวลาว่างจากการทำงานไปกับความหลงใหลที่แตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการท่องเที่ยวทั่วโลก บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการล่องเรือตกปลา ขับรถซูเปอร์คาร์ หรือปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แต่มีนักธุรกิจผู้หนึ่งที่มีความลุ่มหลงที่แปลกแตกต่างออกไป เขาผู้นี้คือนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ผู้บริหารรุ่นที่สองของ โก๋แก่ แบรนด์ถั่วอบกรอบระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ ผู้หลงใหลในการทำหนังอย่างเข้าเส้น ลงลึกถึงกระดูกดำจนลุกขึ้นมาตั้งค่ายหนังอิสระของตัวเองในนาม โก๋ฟิล์ม ฝากผลงานหนังมันส์ๆ ดิบๆ ห่ามๆ ไม่แคร์ตลาด ไม่แยแสรางวัล ประดับวงการมาแล้วหลากหลายเรื่อง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2023
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Collective ภาพสะท้อนหน้าที่ของสื่อในภาวะที่รัฐล้มเหลว

    มีไม่บ่อยครั้งนักที่ภาพยนตร์สารคดีจากยุโรปจะข้ามฟากมาเข้าชิงรางวัลออสการ์ ข้ามทั้งทวีป ข้ามทั้ง genre ของภาพยนตร์ แต่ “Collective” ภาพยนตร์สารคดีจากโรมาเนียของผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ นาเนา ก็ทำสิ่งนั้นได้ กล่าวคือมันคือเข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมพร้อมกับเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมไปพร้อมกัน ปรากฏการณ์นี้คงอธิบายความยอดเยี่ยมของตัวหนังเองได้โดยไม่จำเป็นต้องขยายความอะไรอีก

    EVERYTHING TEAM4 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )