กิจกรรมหลากหลายใต้ชายคาเดียวกันในบ้าน The Roof House โดย ลูกเล่นสถาปนิก | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Under my roof
กิจกรรมหลากหลาย เกิดขึ้นได้ภายใต้ชายคาเดียวกันที่ 'The Roof House' ผลงานออกแบบโดย 'ลูกเล่นสถาปนิก'

  ก๊วนสุภาพบุรุษตั้งวงสนทนาอย่างครื้นเครงอยู่ที่ลานด้านหน้า เสียงเปียโนดังแว่วมาจากมุมห้องด้านใน สุนัขตัวใหญ่วิ่งมาวิ่งไปอยู่ในสวนนอกชาน ทุกเหตุการณ์ดำเนินไปโดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน ภายใต้หลังคาทรงปั้นหยาของบ้าน The Roof House บ้านซึ่งเป็นส่วนต่อขยายที่ออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับรองรับกิจกรรมหลากหลายของสมาชิกทุกคนในครอบครัว

    เมื่อบ้านเดิมมีพื้นที่ส่วนกลางไม่เพียงพอต่อการรองรับกิจกรรมที่แตกต่างกันของคนในบ้าน การออกแบบก่อสร้างส่วนต่อขยายบนที่ดินข้างเคียงจึงเริ่มต้นขึ้น "บ้านเก่าก็ใหญ่อยู่ แต่พื้นที่ส่วนกลางจะเล็กมาก เวลาเพื่อนพ่อมาสังสรร 6-7 คนก็จะคับแคบมากๆ และเวลาที่ลูกจะสอนเปียโนในวันเสาร์อาทิตย์ก็จะรบกวนกัน" ณัฐพล เตโชพิชญ์ ผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบ ลูกเล่นสถาปนิก เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการออกแบบบ้านหลังนี้ "บ้านนี้จึงเป็น Space ที่กว้างและใหญ่ สามารถทำกิจกรรมได้หลายกิจกรรม"

  ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงนัก ประกอบกับทำเลซึ่งเป็นที่ดินขนาดย่อมห้อมล้อมด้วยบ้านทรงสูงสามด้าน ทีมสถาปนิกเสนอแนวคิดที่จะสร้างบ้านชั้นเดียวซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินขนาดจำกัดได้อย่างเต็มที่ โดยสร้างความเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกทำให้บ้านปลอดโปร่งโล่งสบาย เกิดเป็นบ้านที่มีผังอาคารลักษณะตัว "U” ซึ่งอยู่ภายใต้หลังคาทรงปั้นหยาผืนใหญ่ "ผมเริ่มจากหาข้อจำกัดของโครงการ ข้อจำกัดแรกที่เจอก็คือสภาพของพื้นที่ที่เล็กขนาด 16x16 เมตรซึ่งขนาบด้วยบ้านสูงๆ ทั้งสามด้าน และอีกข้อจำกัดคืองบประมาณที่ไม่สูงนัก" ณัฐพลกล่าว "ผมเลยเสนอไอเดียว่าไม่ต้องสร้างบ้านใหญ่ ทำบ้านชั้นเดียวโดยเริ่มจากขอบเขตของสี่เหลี่ยมจตุรัส แล้วสร้าง Boundary ให้มี Courtyard ตรงกลางเป็นจุด Focus ของคนในบ้าน แล้วเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถเปิดเชื่อมต่อกับ Outdoor ได้"

  การเชื่อมต่อพื้นที่ภายในสู่ภายนอกของบ้านหลังนี้เกิดจากการใช้ประโยชน์ของหลังคาทรงปั้นหยาผืนใหญ่ซึ่งสามารถรับมือกับภูมิอากาศของเมืองไทยได้ในทุกสภาวะ ทั้งแดดร้อนและลมฝน การยื่นชายคารอบตัวบ้านทำให้ผนังภายนอกทุกด้านมีหน้าต่างซึ่งสามารถเปิดออกรับลมได้อย่างเต็มที่ โดยที่ชายคาทำหน้าที่ป้องกันไอร้อนในวันแดดจัดและละอองน้ำในวันฝนตกไม่ให้เข้ามารบกวนการใช้งานพื้นที่ภายใน

  ขนาดของที่ดินไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์รูปทรงที่น่าสนใจให้กับพื้นที่ภายในบ้านหลังนี้ ในขณะที่พื้นที่แนวราบถูกล้อมด้วยกรอบรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างเพียงด้านละ 16 เมตร ทีมสถาปนิกเลือกใช้พื้นที่ทางตั้งอันไร้ขอบเขตให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรูปทรงของห้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา "เราอยากให้ Space มี Character ที่โดดเด่นแตกต่างจากบ้านเดิม ก็เลยทำให้มันเป็น Space เฉียงฟอร์มเดียวกับหลังคา ทำให้มันโปร่งโล่งที่สุด" ณัฐพลกล่าว "ทำให้ Space ภายในบ้านลืมความเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสของบ้านไป ด้วยเส้นสายของแกนที่เฉียงและแกนของหลังคาที่เฉียงเข้าไปสู่ Courtyard”

  ฝ้าเพดานไม้ที่ลาดเอียงตามความชันของโครงสร้างหลังคาทำให้พื้นที่ภายในดูน่าสนใจและมีบรรยากาศโล่งสบาย เพดานฝั่งที่สูงกว่าหันเข้าหาพื้นที่สวนกลางบ้าน ทำให้สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติและมุมมองที่ร่มรื่นจากสวนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น การออกแบบระบบไฟที่ส่องขึ้นไปบริเวณขอบของฝ้าเพดานยังทำให้หลังคาของบ้านดูเบาและคล้ายกับลอยอยู่โดยไม่ได้สัมผัสกับตัวบ้าน

  ในความธรรมดาของหลังคาทรงปั้นหยาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ทีมสถาปนิกสอดแทรกความแปลกใหม่เข้าไปในหลังคาของบ้านหลังนี้ด้วยการเว้นที่ว่างไว้ตรงกลาง แล้วเปิดหลังคาฝั่งหนึ่งออกเป็นช่องแสง ทำให้เกิดพื้นที่สวนกลางแจ้งที่เปิดให้ผู้อยู่อาศัยสามารถแหงนหน้ามองวิวท้องฟ้าได้จากในบ้าน "เราเจาะ Void ตรงกลางให้หลังคาปั้นหยาเปลี่ยน Character และเปลี่ยนหน้าที่การทำงานไป กลายเป็นช่องระบายอากาศที่อยู่กลางอาคารเลย" ณัฐพลอธิบาย "หลังคาที่มีสี่ด้าน เราเลือกที่จะดึงด้านทิศเหนือออกไป เนื่องจากเป็นด้านที่ได้รับแสงช่วงเช้าที่ไม่ร้อน และเราต้องการเพิ่มพื้นที่ในการระบายอากาศเพิ่มขึ้นในแนวนอน"

  ด้วยช่องเปิดกลางหลังคาและการยกแผงหลังคาฝั่งเหนือของบ้านออก ทำให้สวนกลางบ้านเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับสมาชิกในบ้าน แผงระแนงไม้ถูกนำมาใช้แทนที่ผืนหลังคาฝั่งทิศเหนือซึ่งเปิดออก ทำให้คนภายนอกไม่สามารถมองเข้ามาเห็นกิจกรรมในสวนและพื้นที่ในบ้านได้

  สวนกลางบ้านตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ที่ดูแลง่าย ทั้งไม้คลุมดินและไม้ซึ่งอยู่ในแนวรั้ว โดยมีต้นแสงจันทร์เก่าแก่ซึ่งอยู่คู่กับที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่เป็นจุดศูนย์กลาง ทุกมุมในบ้านสามารถเปิดรับวิวสวนได้ผ่านผนังกระจกผืนใหญ่ หรือออกมาใช้พื้นที่บนระเบียงเพื่อสัมผัสกับธรรชาติอย่างใกล้ชิด
  การวางผังอาคารเป็นรูปตัว U ที่ล้อมรอบสวนทำให้ง่ายต่อการจัดระเบียบพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ ทั้งบริเวณนั่งเล่นที่อยู่ด้านหน้า มุมเปียโนซึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง ก่อนที่จะเข้าไปถึงบริเวณโต๊ะทานอาหารด้านใน โดยมีครัวและพื้นที่บริการอื่นๆ ตั้งอยู่ที่อีกฟากของอาคาร พื้นที่ทั้งหมดนี้เชื่อมต่อกันด้วยมุมมองผ่านสวน ในขณะเดียวกันก็มีสวนเป็นตัวแบ่งกั้นทางกายภาพที่ทำให้เกิดความเป็นสัดส่วนเอื้อต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกแต่ละคนได้โดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน

  พื้นที่ด้านหน้าเป็นลานโล่งขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากการออกแบบที่ต้องการให้บ้านหลังเล็กดูใหญ่และกว้างมากที่สุด ด้วยการใช้โครงสร้างเหล็กทำให้ทางเข้าด้านหน้าบ้านผายออกเกิดเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมูที่มีหน้ากว้าง 14 เมตรและมีผนังทำมุมเอียงพุ่งเข้าไปสู่สวนกลางบ้าน พื้นที่บริเวณนี้ทำหน้าที่เป็นลานอเนกประสงค์ ทั้งเป็นที่จอดรถ เป็นทางเข้าหลักของบ้านใหม่และบ้านเดิม เป็นลานให้สุนัขออกมาวิ่งเล่นได้ในวันที่ไม่มีแขก และกลายเป็นพื้นที่สังสรรค์เมื่อเพื่อนฝูงของคุณพ่อแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน
  ภายใต้หลังคาปั้นหยาผืนใหญ่ อาคารหลังใหม่เชื่อมต่อพื้นที่สวนภายนอกเข้าสู่พื้นที่ใช้สอยภายใน กลายเป็นบ้านที่สามารถรองรับกิจกรรมอันหลากหลายของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวได้อย่างครบถ้วนโดยไม่มีการรบกวนกันและกัน บนที่ดินผืนเล็ก The Roof House แบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ไว้สำหรับรองรับการพบปะสังสรรค์ของผองเพื่อน มีมุมดนตรีสำหรับศิลปินตัวน้อย และมีที่ให้เจ้าสี่ขาได้วิ่งเล่นอย่างเสรีได้ภายใต้ชายคาเดียวกัน

General Information
Project Name: The Roof House
Architecture Firm: Looklen Architects
Website: www.looklen.squarespace.com
Contact e-mail: [email protected]
Firm Location: 48 Soi Sathupradit 57, Sathupradit Road, Bang Pong Pang, Yannawa, Bangkok 10120 Thailand
-
Completion Year: 2019
Gross Built Area: 190 Sq.m.
Project location: 247 Soi Lat Phrao 34, Lat Phrao Road, Samsen Nok, Huai Khwang, Bangkok 10310 Thailand
-
Lead Architects: Nuttapol Techopitch
Lead Architects e-mail: [email protected]

Media Provider
Photo credits: Varp Studio

Additional Credits
Design Team: Pinyo Rungreungsamrith, Petch Panupattanapong, Chitsanupong Runglertnirund
Clients: Pacharanan Marittida
Structural Engineer: Worapoj Thamasungkeeti
System Information Engineer: Ummarin Jantaket, Sanwisit Sriboonpeng
Landscape: Looklen Architects
Interior : Looklen Architects
Lighting Design: Lundi Light Design Co.,Ltd. Constructor: 95 Engineering Co.,Ltd.
    TAG
  • design
  • architecture
  • house
  • The Roof House
  • ลูกเล่นสถาปนิก
  • Looklen Architects

กิจกรรมหลากหลายใต้ชายคาเดียวกันในบ้าน The Roof House โดย ลูกเล่นสถาปนิก

ARCHITECTURE/HOUSE
5 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/HOUSE

    “Pong House” เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติผ่านคอร์ต พร้อมตอบโจทย์ความ Privacy

    “Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน

    EVERYTHING TEAM3 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    ICE.SU HOUSE BY JUNSEKINO A+D บทสนทนาระหว่างการสร้างบ้านที่ย้อนแย้งแต่ชัดเจนบนสเกล 1:1

    “One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว

    Nada Inthaphunt3 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    HOUSE 362 บ้านที่เปิด “ช่อง” เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับธรรมชาติ

    HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAM3 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN VIPHA 41 BY ANONYM บทสนทนาของตัวตนและประสบการณ์อย่างที่ใจตามหา

    บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน

    Nada Inthaphunt4 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    House COVE(R) by TOUCH Architect ต่อเติมบ้านหัวมุมให้ต่อเนื่องกับบ้านหลังเก่า

    เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น

    Nada Inthaphunt4 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN SAILOM BY ANONYM บ้านที่สายลมมีร่างกายให้จับต้อง

    เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น

    Nada InthaphuntMarch 2021
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )