LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

ศิลปะการแสดงหลากศาสตร์สาขา สะพานเชื่อมทางศิลปวัฒนธรรมหลากประเทศ
โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น
ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมศิลปะการแสดงชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟัง การแสดงที่ว่านี้มีชื่อว่า The Rite of Spring Concert and Dance ที่กำกับโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปะการแสดงชั้นนำของไทยและเอเชีย โดยเป็นการร่วมงานกับสองนักดนตรีระดับโลกอย่าง ทามาโยะ อิเคดะ (Tamayo Ikeda) นักเปียโนชาวญี่ปุ่น และ เกวนดัล กิเกอร์เลย์ (Gwendal Giguelay) นักเปียโนชาวฝรั่งเศส ร่วมกับเหล่าบรรดานักเต้นมากฝีมือจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพะนี และกลุ่มนักแสดงนาฏศิลป์ไทยประเพณีหลากที่มาจากศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะนักเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง
การแสดงครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของ พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพะนี สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และการร่วมสนับสนุนขององค์กรเอกชนอย่าง สยามดนตรียามาฮ่า, แม่โขง, โก๋แก่ และ บ้านและสวน (พันธมิตรสื่อ)

หลังจากที่ได้ชมการแสดงครั้งนี้แล้ว เราขอนิยามว่าเป็นศิลปะการแสดงหลากศาสตร์สาขา (Multidisciplinary Performance) ด้วยความที่เป็นการแสดงที่ผสมศาสตร์การแสดงหลากศาสตร์สาขา ทั้งโขน, หนังใหญ่, โนรา (หรือ มโนราห์), ศิลปะการเต้นร่วมสมัย, ดนตรีคลาสสิค ผสมผสานกับประวัติศาสตร์ของบัลเลต์ที่ได้แรงบันดาลใจจากคณะละครไทยที่ไปแสดงในยุโรปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินผู้ริเริ่มโครงการและผู้กำกับการแสดงกล่าวถึงที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจเบื้องหลังการแสดงชุดนี้ของเขาว่า
“การแสดงชุดนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่ ในปี 1900 คณะละครนายบุศย์ มหินทร์ เป็นชาวสยามกลุ่มแรกที่ได้เดินทางไปเปิดการแสดงในต่างประเทศ โดยมีการบันทึกเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ ว่าไปเปิดการแสดงในสวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และเดินทางไปในอีกหลายประเทศในยุโรป จน มิคาอิล โฟคิน (Mikhail Fokin) (นักออกแบบท่าเต้นชื่อดังของโลกชาวรัสเซีย) ซึ่งเป็นอาจารย์ของ วาสลาฟ นิจินสกี้ (Vaslav Nijinsky) (นักเต้นผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย) ได้ไปชม แล้วเอาไปเล่าให้นิจินสกี้ฟัง หลังจากนั้นก็ออกแบบท่าเต้นที่ได้อิทธิพลมาจากท่ารำของไทยให้นิจินสกี้ หลังจากนั้นนิจินสกี้ก็ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ฝรั่งเศส และทำการแสดงสั้นๆ ขึ้นมาในปี 1910 ในชื่อ La Danse Siamoise หรือ Siamese Dance ซึ่งเป็นการแสดงที่ใช้การรำแบบไทย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็มีรูปแบบคล้ายชุดรำไทย หลังจากนั้นในปี 1913 นิจินสกี้ก็ไปออกแบบท่าเต้นให้กับการแสดงบัลเลต์ของ อีกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky) (คีตกวีคนสำคัญของรัสเซีย) ที่มีชื่อว่า The Rite of Spring ซึ่งท่าเต้นที่ว่านี้แตกต่างกับบัลเลต์คลาสสิคอย่างมาก คือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีท่าทางแบบสองมิติ ที่ดูคล้ายกับงานศิลปกรรมของเอเชีย อย่างงานจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ไทย หรือลวดลายปูนปั้นในปราสาทหินโบราณของไทยและกัมพูชา”
“ผมคิดว่าลักษณะการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นการได้รับอิทธิพลจากนาฎศิลป์ไทย หรือวิธีการเคลื่อนไหวโครงสร้างของร่างกายแบบเอเชีย ด้วยความที่ยุโรปอยู่ในช่วงเวลาที่มีความเป็น Orientalism (ความนิยมสนใจศึกษาในความเป็นตะวันออกของชาวตะวันตกในยุคศตวรรษที่ 18) ที่หยิบเอาความงามแบบเอเชีย(ในมุมมองของชาวยุโรป)มาใช้ในงานศิลปะ แต่ในด้านของศิลปะการแสดง ไม่มีใครกล้าหยิบมาทำนอกจากนิจินสกี้ เขาถือว่าเป็นบุคคลที่หัวก้าวหน้าสุดๆ ในยุคนั้น ด้วยการทำงานร่วมกันกับสตราวินสกี ซึ่งเป็นนักดนตรีหัวก้าวหน้าในยุคนั้นเช่นเดียวกัน ทำให้ผลงาน The Rite of Spring เป็นเหมือนกับผลงานชิ้นเอกในโลกศิลปะการแสดง ที่นักออกแบบท่าเต้นระดับโลกทุกคนอยากลองทำการแสดงชุดนี้สักครั้ง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือนักเต้น/นักออกแบบท่าเต้นระดับบรมครูชาวเยอรมัน พีน่า เบาช์ (Pina Bausch) ที่หยิบเอางาน The Rite of Spring มาตีความเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ”


“ผมเองก็เป็นหนึ่งในนักออกแบบท่าเต้นที่หยิบเอา The Rite of Spring มาลองตีความดู โดยผมพยายามมองในเนื้อหาของความเป็นเอเชีย ความเป็นเรา ว่าเรื่องราวแบบนี้คือเรื่องราวของอะไร ผมมองว่าเป็นเรื่องราวของแผ่นดิน จิตวิญญาณ และธรรมชาติ ผมก็หยิบจับบทละครรามเกียรติ์ในตอน “สีดาลุยไฟ” เอามาผสมเข้ากับเรื่องนี้ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบูชายัญหญิงสาว เพื่อเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของฤดูใบไม้ผลิ”
“ในผลงานชิ้นนี้ ผมสร้าง The Rite of Spring ด้วยความทับซ้อนกันในมิติทั้งหมดสามมิติ คือมิติความเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ คือผมเอาเรื่องรามเกียรติ์มาวางเป็นโครงสร้าง เปิดฉากด้วยหนังใหญ่ เป็นฉากตอน “ทศกัณฐ์ล้ม” ก็คือทศกัณฐ์ตาย หลังจากนั้น นางสีดาก็ถูกพาตัวกลับกรุงอโยธยา และเข้าพิธีลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ พอทำแบบนี้ ผู้ชมที่รู้จักเรื่องรามเกียรติ์ก็จะรู้ว่าเราหยิบมาใช้ ส่วนคนดูการแสดงในฝั่งตะวันตกที่รู้จักงาน The Rite of Spring ก็จะรู้ว่าเราเอาเรื่องนี้มาตีความใหม่โดยใช้วัตถุดิบจากวัฒนธรรมไทย เช่น หนังใหญ่, โนรา หรือถ้าใครอยู่ในฝั่งศิลปะสมัยใหม่ ที่ดูงานจิตรกรรม ประติมากรรม ก็จะเห็นว่าฉากการแสดงของเราออกแบบด้วยสีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานของ พีท มองเดรียน (Piet Mondrian) ซึ่งเป็นคนในยุคสมัยเดียวกับนิจินสกี้และสตราวินสกี ซึ่งผมมองว่ายุคนี้เป็นยุคของคนเพี้ยน เป็นคนที่คิดอะไรไม่เหมือนคนอื่น เป็นคนหัวก้าวหน้า (Avant-garde) และที่สำคัญ ที่ผมสนใจมากๆ คือคนเหล่านี้ต่างเป็นผู้อพยพพลัดถิ่นทั้งหมด นิจินสกี้และสตราวินสกีก็อพยพจากรัสเซียไปอยู่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ส่วนมองเดรียนก็อพยพจากเนเธอร์แลนด์ไปอยู่สหรัฐอเมริกา โทมาโยะ นักเปียโนของเราก็เป็นคนญี่ปุ่นที่ไปอยู่ฝรั่งเศส หรือแม้แต่คณะละครนายบุศย์ มหินทร์ ก็เป็นคนไทยที่เดินทางร่อนเร่ไปแสดงในต่างแดน ไม่ต่างอะไรกับตัวผมเอง ที่ต้องเร่ร่อนเดินทางไปทำการแสดงในต่างประเทศเช่นเดียวกัน”
“นอกจากนี้ การแสดงของไทยที่เราเลือกมาก็ไม่ใช่การแสดงในกระแสหลัก อย่างโนรา ก็ไม่ถูกมองว่าเป็นศิลปะของราชสำนัก แต่เป็นศิลปะพื้นบ้าน หนังใหญ่ที่ผมเลือกมาก็ไม่ใช่หนังใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศอย่าง หนังใหญ่วัดขนอน แต่เป็นหนังใหญ่อันดับรองลงมาอย่าง หนังใหญ่วัดบ้านดอน ที่จังหวัดระยอง องค์ประกอบทุกสิ่งที่เลือกมาล้วนแล้วแต่เป็นการตั้งใจให้มีความสัมพันธ์กับบริบทของงานชิ้นนี้ทุกอย่าง”

“ส่วนตัวงาน The Rite of Spring เราหยิบมาใช้โดยเกาะโครงเรื่องเดิมเอาไว้ เพื่อไม่ให้มีความซับซ้อนเกินไป ดนตรีที่ใช้ก็เป็นดนตรีแบบเดิม แต่ถูกลดทอนลง จากปกติที่เล่นด้วยวงออร์เคสตราที่ใหญ่มาก เราก็เปลี่ยนเป็นการใช้นักเปียโนสองคน(สี่มือ)แทน”

ด้วยการแสดงอันแปลกแหวกแนว ที่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะการแสดงแบบประเพณีของไทย และศิลปะการแสดงคลาสสิคจากตะวันตก และศิลปะการแสดงแบบร่วมสมัย ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า พิเชษฐสื่อสารกับศิลปินนักเต้นต่างประเภทจากหลากแหล่งที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแสดงนาฏศิลป์ไทยแบบประเพณี ได้อย่างไร
“ในการทำงาน เวลาที่ผมสื่อสารกับคนที่มาร่วมงาน ผมจะเริ่มต้นด้วยวิธีการเล่าเรื่อง หรือพูดให้เขาฟังในสิ่งที่เขาคุ้นเคยกัน ว่าเรื่องนี้มีที่มาจากไหน สักสองสามครั้งก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มค่อยๆ เข้าไปในรายละเอียดของประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่าเราพยายามรวบรวม หรือทำให้เรื่องถูกร้อยเรียงเข้าหากันได้อย่างไร เพื่อเป็นการสื่อสารก่อน พอหลังจากนั้นผมจะเริ่มการซ้อมโดยแยกเป็นส่วนๆ ผมจะซ้อมกับนักเต้นจากแต่ละแหล่งที่มา โดยแยกเป็นส่วนๆ เพื่อทำให้พวกเขามีความคุ้นชินกับผม และวิธีการที่เรากำลังสร้างรูปแบบใหม่ขึ้นมา อย่างเช่น นักแสดงหนังใหญ่ที่วัดบ้านดอน ผมจะไปที่ระยองทุกอาทิตย์ เพื่อพูดคุยกับเขา และดูว่าเขาทำอะไรกันอยู่ และสามารถทำอะไรได้บ้าง หรืออย่างนักแสดงโนรา ผมก็ต้องนั่งคุยกันไปทีละขั้นตอนว่าเราจะเลือกภาษา เราจะเลือกวิธีการที่เขาใช้ร่างกายอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกันกับการแสดง The Rite of Spring แบบดั้งเดิม หลังจากนั้นก็ค่อยๆ นัดมารวมกันที่กรุงเทพฯ มานั่งพูดคุยกัน เวลาผมทำงาน ผมจะนั่งคุยกับคนที่มาทำงานตลอดเวลา ว่าเราจะไปในทิศทางไหน เรากำลังจะสร้างอะไรขึ้นมา พอพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว เราก็ค่อยมาซ้อมรวมกันทีเดียว พอมาซ้อมกัน เราก็ดูว่าอะไรคือจุดที่ยากที่สุด พอแสดงร่วมกับนักดนตรีจริงๆ เราก็รู้ว่าการเต้นคู่กับดนตรีนี่ยากที่สุดแล้ว เพราะว่าเสียงที่บันทึกมากับเสียงที่เล่นจริงไม่เหมือนกัน ผมก็จะปล่อยเวลาให้นักเต้นอยู่กับนักดนตรีให้มากที่สุด ตรงไหนไม่เข้าใจก็เล่นใหม่ นักดนตรีอย่างโทมาโยะเขาก็ดีมาก คอยช่วยปรับการเล่นของเขาเพื่อให้เชื่อมโยงกับนักเต้นให้ได้”
“การหยิบเอางานศิลปะการเต้นแบบประเพณีมาทำเป็นงานร่วมสมัยนั้นทำได้หลายวิธีมาก วิธีที่หนึ่ง คือการมองกลับไปที่ตัวเทคนิคของการเคลื่อนไหวก่อน ว่าเราจะหยิบเทคนิคนี้มาใช้ใหม่ได้อย่างไร บางคนอาจจะพูดว่า ศิลปะการเต้นไทยแบบประเพณี หรือนาฎศิลป์ไทย เป็นภาษาสากล นั่นไม่จริง การเต้นไทยประเพณีไม่ใช่ภาษาสากล การเต้นแบบไทยมีภาษาที่ซ่อนเร้น อยู่ 2 สำรับ หนึ่งคือ ภาษาถิ่น สองคือ ภาษาสากล การหยิบเอามาใช้ คุณจะต้องคัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นภาษาสากลออกมาเท่านั้น คุณจะไปหยิบเอาภาษาถิ่นมาใช้ไม่ได้ ไม่มีวันเป็นไปได้เลย เหมือนคุณจะเอาแกงไตปลาทั้งดุ้นมาวาง แล้วบอกว่าเป็นเมนูร่วมสมัยเลยไม่ได้ อย่างแรก คุณต้องคัดกรองชุดภาษาของมันออกมาก่อน อย่างที่สอง พอคัดกรองชุดของภาษาออกมาแล้ว ต้องเข้าสู่กระบวนการทำให้ระบบของเทคนิคใหม่เกิดขึ้น แล้วใส่เข้าไปในร่างกายของนักเต้นอีกที หลังจากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการตีความภาษาหรือวัตถุดิบที่เราได้มาใหม่ เพื่อนำไปรวมเข้ากับเนื้อหาปัจจุบัน แล้วทำออกมาให้เป็นงานร่วมสมัย”

“อย่าง โนรา ที่อยู่ใน The Rite of Spring ผมหยิบเอาโครงสร้างที่เป็น Abstract (นามธรรม) ของโนราออกมา คือในการเต้นจะมีภาษาใหญ่ๆ อยู่สองชุด ชุดที่หนึ่งจะเป็นภาษาที่แทนกิริยา ไป, มา, กิน, เดิน, นั่ง, นอน, หยุด, ยืน อะไรทั้งหลายแหล่ เป็นภาษาแทนคำพูดง่ายๆ ชุดที่สองเป็น ภาษาที่เป็น Abstract ที่เอาไว้แทนสถานการณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นต้องเลือกว่าฉากนี้เราจะเอาภาษาแบบไหนมาใช้ ซึ่งเรามีสูตรที่สามารถให้นักเต้นแบบประเพณีฝึกฝนเพื่อทำความเข้าใจได้ โดยมีนักเต้นในคอมพะนีของผมทำงานเป็นเหมือนพี่เลี้ยง เป็นผู้นำของการแสดง หรือกำหนดฉาก และคอยจัดการระบบการแสดง โดยนักเต้นแต่ละคนจะรับผิดชอบนักเต้นท้องถิ่นแต่ละกลุ่มเพื่อคุมให้นักเต้นทั้งหมดอยู่ด้วยกันให้ได้”
องค์ประกอบอันโดดเด่นอีกประการของการแสดง The Rite of Spring ชุดนี้ คือเครื่องแต่งกายอันเปี่ยมสีสันที่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ของโหลดื่นดาษกลาดเกลื่อน และงานออกแบบร่วมสมัยเข้าไว้ด้วยกัน
“เครื่องแต่งกายของการแสดงชุดนี้มาจากการหยอกล้อทางวัฒนธรรมในช่วงที่บ้านเรากำลังพูดถึงเรื่อง ซอฟต์พาวเวอร์กันมาก เราก็เลยอาถุงกระสอบสายรุ้งของสำเพ็ง (ที่ Balenciaga หยิบฉวยแรงบันดาลใจเอาไปทำคอลเลคชันกระเป๋าของแบรนด์อย่างอื้อฉาว) มาตัดเย็บเป็นชุดนักแสดง ในขณะเดียวกัน ตัวรำโนราเองก็ทำงานกับสีสันและลายเส้น เราก็เอามาประยุกต์กับชุดลูกปัดโนรา จนกลายเป็นงานฝีมือที่ทำงานกับระบบลวดลายเส้นแถบสมมาตรของถุงสำเพ็ง ซึ่งก็สอดคล้องกับดีไซน์ของฉากที่เป็นตารางของสีแบบงานของมองเดรียน นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่า งานชุดนี้มีความซับซ้อนอยู่หลายมิติ ซึ่งผมทำแล้วผมก็เอ็นจอยมาก ในการหยิบเอาสิ่งละอันพันละน้อยแต่ละส่วนมาประกอบเข้าไว้ด้วยกัน ให้ดูแล้วมีความเป็นซอฟต์พาวเวอร์มากๆ”

พิเชษฐยังถ่ายทอดถึงปัญหาและความยากลำบากของศิลปินไทยอย่างเขา ในการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ (ที่กำลังชูนโยบายสนับสนุน ซอฟต์พาวเวอร์ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) ให้เราฟังว่า

“ในการทำผลงานครั้งนี้ ผมได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ถึงผมจะรับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้จัดแสดงในพื้นที่ของโรงละครเล็กโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า แต่เราก็ต้องรับผิดชอบค่าระเบียบการของหน่วยงาน คิดแล้วเป็นเงินประมาณครึ่งหนึ่งของทุนสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ในขณะเดียวกัน ผมกลับไม่มีทีมงานในการสนับสนุนในการทำงาน มีแต่พนักงานอำนวยความสะดวกให้ ศิลปินต้องจ้างช่างไฟช่างแสง คนดูแลเวทีไปเอง ไม่มีการโปรโมทหรือทำประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐให้ ศิลปินต้องโปรโมทงานเอง ที่สำคัญ ศิลปินห้ามจำหน่ายขายบัตรชมการแสดง (เหตุเพราะรัฐบาลให้ทุนสนับสนุนเงินแล้ว) แต่ศิลปินต้องทำรายงานนำเสนอรายละเอียดทุกอย่างส่งให้รัฐบาล และรัฐสามารถเอาผลงานที่เราทำไปเป็นข้อมูลในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผลงานหน่วยงานของรัฐได้, 20 ปีหลังจากที่ไม่ได้ทำงานในโรงละครของรัฐบาลไทยนี่คือสิ่งที่ผมเจอ นี่คือปัญหาของฝั่งศิลปะการแสดงที่มีความคาราคาซังมานาน”
“ผมมองว่าผลงานที่เกิดขึ้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลฝรั่งเศส และรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ใช่งานส่วนตัวของศิลปิน ผมพยายามจะสร้างสะพานเชื่อมทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ถ้ารัฐบาลกำลังผลักดันนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ อย่างที่พูดเอาไว้ ระเบียบข้อบังคับที่มีปัญหาเช่นนี้ต้องถูกแก้ไข ท่านต้องจริงใจในการสนับสนุนการทำงานของศิลปินมากกว่านี้”
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 24 - 25 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา
ขอบคุณภาพจาก Nikkasit พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพะนี
The Rite of Spring ศิลปะการแสดงหลากศาสตร์สาขา สะพานเชื่อมทางศิลปวัฒนธรรมหลากประเทศ โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )