The Platform เมื่อ ‘big brother is feeding you’ หนังสะท้อนรูปธรรมของสังคมมนุษย์ ความฝันใฝ่ไร้แก่นสาร และอะไรอะไรในชนชั้น | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

เมื่อ ‘big brother is feeding you’ หนังสะท้อนรูปธรรมของสังคมมนุษย์ ความฝันใฝ่ไร้แก่นสาร และอะไรอะไรในชนชั้น

แรกเริ่มเดิมที “The Platform” หนังสัญชาติสเปนของ กาลแดร์ กัซเตลู อูร์รุเตีย (Galder Gaztelu-Urrutia) นั้นออกฉายในสเปนเมื่อปีที่แล้วในชื่อ “El Hoyo” (หรือ “The Hole”) และประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ จนทำให้ อูร์รุเตีย ซึ่งแม้จะได้ทำหนังยาวเป็นเรื่องแรกแต่ก็คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์โฆษณามายาวนานมีชื่อเข้าชิง โกย่า อะวอร์ดส์ (รางวัลทางภาพยนตร์สถาบันหลักของประเทศสเปน) ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมทั้งรางวัลจากเวทีอื่น ๆ อีกพอสมควร อาทิ รางวัลขวัญใจผู้ชมในสาย Midnight Madness จากเทศกาล Toronto International Film Festival ประเทศแคนาดา, รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาล Sitges – Catalonian International Film Festival ประเทศสเปน เป็นต้น จากนั้นหนังเรื่องนี้ก็สร้างชื่อให้เขาจนค่ายสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ซื้อลิขสิทธิ์มาฉายออนไลน์เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งผลตอบรับก็เป็นไปในทางบวก มีการพูดถึงหนังเรื่องนี้กันแบบปากต่อปากในฐานะหนัง ดิสโทเปียน-ไซไฟ-ทริลเลอร์ ที่มีเรื่องจะพูดมากมายเหลือเกิน และ “เรื่องที่จะพูด” นั้นก็กินอาณาเขตกว้างขวางแตกประเด็นได้อย่างมากมาย แถมยังเป็นเรื่องแบบนามธรรมจับต้องไม่ได้เสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย

แต่หากมองให้ลึกลงไป หลักใหญ่ใจความของ “The Platform” นั้นก็คือการตั้งคำถาม-หรืออาจจะหมายถึงการตีแผ่ควบคู่ไปด้วย-ถึงความเป็นมนุษย์ ว่ามันประกอบสร้างขึ้นจากอะไรบ้าง ต้องการอะไรบ้าง และให้คุณค่าหรือนิยามความหมายในตัวมันเองอย่างไรบ้าง ทั้งหมดนั้นถูกทำให้เห็นเป็น “รูปธรรม” ผ่านการสร้างโลกสมมติอย่างศูนย์บำบัดตนแนวตั้งหรือ “The Hole”

ซึ่งนี่นับว่าเป็นความชาญฉลาดของอูร์รุเตีย ในการเล่าเรื่องที่ไม่ง่ายให้เป็นไปได้ เพราะโลกสมมตินั้นตัดขาดจากโลกภายนอกที่นิยามความหมายใด ๆ ล้วนถูกกำหนดไว้หมดแล้ว เมื่อเช็ตอัพโลกใหม่ขึ้นมาเอง ผู้กำกับในฐานะผู้ส่งข้อความที่อยากนำเสนอก็สามารถทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ชมได้รับมัน กลวิธีแบบนี้มักถูกนำมาใช้เวลาที่ต้องการเล่าเรื่องยาก ๆ หนังดิสโทเปียนหลายเรื่องก็นิยมใช้วิธีนี้อาทิ “Snowpiercer” (2013) ของ บง จุงโฮ ที่กำหนดทุกอย่างให้เกิดขึ้นในขบวนรถไฟ หรือ “Cube” (1997) ของ วินเซนโซ นาตาลี ที่เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในกล่องสี่เหลี่ยมที่ต่อซ้อนไปมาเป็นเขาวงกต หรือหนังคลาสสิคอย่าง “1984” (1984) ของ ไมเคิล แรดฟอร์ด (สร้างจากนิยายของ จอร์จ ออร์เวล) ที่อะไรอะไรก็ถูกพี่เบิ้มจับจ้องอยู่ตลอดเวลา

ใน “The Platform” ก็เช่นกัน โลกเซ็ตอัพที่ว่านั้นคือศูนย์บำบัดตนแนวตั้งซึ่งพูดให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือที่อยู่อาศัยที่เป็นหลุมแบ่งเป็นชั้น ๆ ลึกลงไปสุดประมาณ โกเรง (อีวาน มาสซากูเอ้) ตัวละครหลักของเรื่องซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งตัวแทนของผู้ชมในแง่ของการหาคำตอบว่าศูนย์หลุมลึกนี้คืออะไรกันแน่ (และยังมีบทบาทที่มากกว่านั้นเมื่อเรื่องราวดำเนินไป) ซึ่งไม่นานนัก โกเรง (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้ชม) ก็ค้นพบว่าที่นี่คือคุกแนวตั้งที่ผู้ที่เข้ามาอยู่จะได้รับอาหารผ่านแท่นวางอาหารที่จะเคลื่อนลงจากชั้นบนลงไปชั้นล่าง และอาหารบนแท่นสี่เหลี่ยมนั้นคืออาหารทั้งหมด ตอนนั้นเองที่ โกเรง เป็นมากกว่าตัวแทนของผู้ชม แต่เขยิบสถานะเป็นตัวแทนของมนุษย์ หรือเป็นตัวแทนของใด ๆ ก็ตามที่กระทำในนามของมนุษย์ ในนิยามของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ที่ตั้งคำถามถึงระบบการจัดการภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรซึ่งในที่นี้คืออาหาร

ประเด็นนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของมหาตมะ คานธี ที่เคยกล่าวไว้ว่า “โลกใบนี้มีทรัพยากรมากเพียงพอให้กับคนทุกคน แต่ไม่อาจพอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว” แต่อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคนโลภ (ซึ่งในที่นี้คือ “คนที่หิวกระหาย”) เข้ามาอยู่ในหลุมนี้และได้กินอาหารก่อนเพราะอยู่ชั้นบนของแท่นอาหาร นี่คือคำถามแรกสุดที่ “The Platform” นำเสนอกับผู้ชมผ่าน โกเรง ผู้ที่พยายามขายไอเดียเรื่อง “ระบบ” อันเท่าเทียมกัน ทำให้ทุกคนได้กินเท่า ๆ กัน จนถูกเพื่อนร่วมชั้นที่ชื่อ ตรีมากาซี (โซเรี่ยน เอกูเลียร์) ล้อเลียนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นนักฟุ้งฝันไม่ต่างอะไรกับ “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า” ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ตัวละครเอกในนิยายเรื่อง “Man of La Mancha” ซึ่งเป็นวรรณกรรมอมตะของสเปนเขียนโดย มิเกล เด เซร์บันเตส ซาอาเบดรา ซึ่งเขาเลือกหยิบติดตัวมาด้วยตามกฎที่อนุญาตให้แต่ละคนพกของติดตัวมาได้คนละหนึ่งอย่าง คำถามนั้นคือ “ระบบอะไรที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยในโลกหลุมลึกนี้” และ “ระบบอะไรที่มันดีไปกว่าระบบแบบชิมเป็นชนชั้น” อย่างที่เป็นนี้ 

เมื่อมุ่งหมายหาสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ จากคำถามเรื่องระบบ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามถึงผู้ดูแลระบบ ซึ่งหนังไม่บอกว่าเป็นใครหรือแม้แต่มีจริงหรือไม่ หนังเพียงแต่ฉายภาพของผู้ทำอาหารป้อนคนทั้งหลุมซึ่งนั่นไม่ใช่ผู้บงการระบบอยู่ดี เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกลไกของระบบเท่านั้น การที่รู้ว่าน่าจะมีผู้ดูแลระบบอยู่ในโลกสมมติปิดตาย คอยดูแลระบบอยู่อย่างนั้น อีกนัยหนึ่ง ก็คือการสร้างสถานะยกให้ผู้ดูแลระบบเป็นพระเจ้า สิ่งที่โกเรงทำก็คือการสื่อสารส่งสัญญาณกับพระเจ้า เพื่อบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบเล็กนี้นั้นไม่เคยยุติธรรม นั่นจึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่เพื่อนร่วมห้องของเขากล่าวอย่างขบขันว่าเขาทำตัวเป็นเหมือน “พระผู้ไถ่” ที่หมายจะพาทุกคนหลุดพ้นจากบาปและความเป็นอยู่แสนสาหัส

แต่ประเด็นเรื่องรูปแบบและการมีอยู่ของสังคมมนุษย์ คำถามที่ว่าใครสักคนกำลังเฝ้ามองเรา (และเลี้ยงดูเราให้อิ่มหนำและหิวกระหายด้วยในเวลาเดียวกัน) จากที่ไหนสักแห่ง รวมทั้งความมุ่งมาดปรารถนาที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่าจนในอีกด้านหนึ่งไม่ต่างอะไรกับความฝันใฝ่ที่ดูเหมือนไร้แก่นสาร เป็นไปไม่ได้ของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งอย่างโกเร็ง (และดอนกีโฆเต้) นั้นเป็นเพียงประเด็นหลักที่ “The Platform” นำเสนอเท่านั้น ลึกลงไปในรายละเอียดปลีกย่อย “The Platform” ยังนำเสนอปมประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ประกอบมัดรวมกันเป็นสังคมมนุษย์อีกมาก เช่นประเด็นเรื่องชนชั้น วรรณะ ความแตกต่างทางกายภาพ เพศสภาพ ประเด็นเรื่องความสูงส่งทางศีลธรรมภายใต้สถานการณ์อันท้าทายความเชื่ออันดีงามที่มนุษย์ยึดถือ

และแม้ว่าหนังจะเต็มไปด้วยความหดหู่ ดิ่งลึกลงไปในความสิ้นหวัง ลดทอนคุณค่าของมนุษย์จนกลายเป็นแค่สิ่งมีชีวิตที่กิน นอน ขับถ่าย สืบพันธ์ อย่างนั้น แต่ “The Platform” ก็ยังนำเสนอความหวังอันเป็นแสงสว่างเดียวของหนังเรื่องนี้ให้กับผู้ชม ทั้งหมดนั้นถูกนำเสนอผ่าน “สัญลักษณ์” ที่ชัดมาก ชัดน้อย แล้วแต่จะตีความกันไป (แม้ส่วนตัวคิดว่ามันชัดมากจนถึงระดับแทบจะป้อนเข้าปากกันเลยทีเดียว)

บทสรุปของ “The Platform” จึงเป็นหนังที่ท้าทายความเชื่อ ชวนให้ตั้งคำถาม ว่าอะไรบ้างที่ทำให้เราเป็นเรา อะไรบ้างที่ทำให้เราดำรงเผ่าพันธ์และรักษาคุณค่าบางอย่าง (หากมี) ไว้ได้ ผ่านการเล่าเรื่องอันเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ นานา เหมาะอย่างยิ่งที่จะดูเพื่อใคร่ครวญ และวางโปรแกรมหนังเรื่องนี้ไว้ให้ไกลมื้ออาหารของคุณเป็นดีที่สุด

ขอขอบคุณ NETFLIX

    TAG
  • The Platform
  • netflix
  • Galder Gaztelu-Urrutia
  • movie

The Platform เมื่อ ‘big brother is feeding you’ หนังสะท้อนรูปธรรมของสังคมมนุษย์ ความฝันใฝ่ไร้แก่นสาร และอะไรอะไรในชนชั้น

CULTURE/MOVIE
March 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    งานศิลปะที่หลอมรวมอยู่ในเนื้อกายภาพยนตร์ The Room Next Door ของ Pedro Almodóvar

    ถ้าเอ่ยชื่อของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้กํากับเจ้าของ ฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” ที่นอกจากหนังของเขาจะเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย และถึง พร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่อัลโมโดวาร์หลงใหลในศิลปะอย่างลึก ซึ้ง ทําให้มักจะมีงานศิลปะปรากฏให้เห็นในหนังของเขาอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากเขาจะหยิบงาน ศิลปะเหล่านั้นมาใช้ในหนังเพราะความหลงใหลและรสนิยมส่วนตัวอันวิไลของตัวเองแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผลงานศิลปะเหล่านั้นยังทําหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบเนียน

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Love Lies เรื่องรักจากคำหลอกของหญิงหม่ายและมิชฉาชีพ ผลงานการกำกับครั้งแรกของ Ho Miu Ki

    ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร

    EVERYTHING TEAM8 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Nick Cheuk ผู้กำกับและนักเขียนบท Time Still Turn The Page ภาพยนตร์ทรงพลังที่ท่วมท้นด้วยคำชื่นชมจากทั้งในและนอกฮ่องกง

    ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง

    EVERYTHING TEAM8 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    บทสนทนาเชิงลึกกับสองผู้กำกับหนังสารคดี Breaking The Cycle

    ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สามารถเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกเล่าแก่คนรุ่นหลังได้ว่าพวกเราซึ่งเป็นประชาชนภายในประเทศนี้ผ่านอะไรกันมา กำกับโดย “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” (เอก) ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจากสงขลา เอกเริ่มกำกับสารคดีสั้นเกี่ยวกับความตายของ กฤษณ์ สราญเศรษฐ์ ลุงของเขาในชื่อเรื่อง “คลื่นทรงจำ” (2561) ซึ่งได้รับรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ DMZ ที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้เข้าฉายในเทศกาลต่างประเทศอีกหลายแห่ง และผู้กำกับอีกคน คือ “ธนกฤต ดวงมณีพร” (สนุ้ก) ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับภาพ ที่ได้เข้าชิงรางวัลช้างเผือกจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 จากเรื่อง “ทุกคนที่บ้านสบายดี” (2560) และได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติไห่ หนาน

    EVERYTHING TEAM10 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    งานศิลปะที่รายล้อมตัวละครในหนังทริลเลอร์จิตวิทยา Inside (2023)

    Inside (2023) หนังทริลเลอร์จิตวิทยาของผู้กำกับสัญชาติกรีซ วาซิลลิส แคตซูพิส (Vasilis Katsoupis) ที่เล่าเรื่องราวของของนีโม (วิลเลียม เดโฟ) หัวขโมยที่ลักลอบเข้าไปในเพนท์เฮ้าส์สุดหรูของสถาปนิกชื่อดัง เพื่อขโมยงานศิลปะราคาแพงที่สะสมอยู่ในนั้น แต่ดันบังเอิญโชคร้ายถูกระบบนิรภัยขังอยู่ภายในคนเดียว ท่ามกลางงานศิลปะที่อยู่รายรอบ จนเขาต้องหาทางเอาชีวิตรอดอยู่ข้างใน โดยอาศัยข้าวของรอบตัว หรือแม้แต่งานศิลปะที่อยู่ในนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือก็ตาม เรียกได้ว่าเป็น Cast Away เวอร์ชันอาชญากรก็ได้

    Panu Boonpipattanaponga year ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Exclusive Talk กับผู้กำกับและนักแสดงนำหญิงจาก “A Guilty Conscience” ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุร้อยล้านเหรียญฮ่องกง

    ฮ่องกง เมื่อราวสิบยี่สิบปีก่อน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองมาก ๆ ในฐานะประเทศที่ส่งออกภาพยนตร์ออกสู่สายตาของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ต่อสู้กำลังภายใน ภาพยนตร์มาเฟีย หรือแม้แต่ภาพยนตร์ชีวิตที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งของหว่องกาไว จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมฮ่องกง แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ความคึกคักของภาพยนตร์ฮ่องกงเริ่มเงียบเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ จนแฟนหนังฮ่องกงหลายคน ออกปากบ่นคิดถึงความรุ่งเรืองในอดีต ดังนั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ความนิยมระดับ 100 ล้านเหรียญฮ่องกง ของภาพยนตร์อาชญากรรมอย่าง A Guilty Conscience ขึ้นมาแล้ว แสงที่เคยริบหรี่ก็อาจจะกลับมาสว่างไสวขึ้นมาอีกครั้ง

    EVERYTHING TEAM2 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )