ว่าด้วยเรื่อง Biennale แบบไทย และมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ว่าด้วยเรื่อง Biennale แบบไทย
และมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

  ในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดงานแสดงศิลปะขนาดใหญ่ระดับโลกขึ้น นั่นคือมหกรรมศิลปะในลักษณะที่เรียกว่า เบียนนาเล่ (Biennale) หรือมหกรรมศิลปะนานาชาติขนาดใหญ่ ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี (Biennial เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า ปีถัดไป หรือ ทุกๆ 2 ปี) ที่มีต้นกำเนิดในประเทศอิตาลี มีชื่อเรียกว่า มหกรรมศิลปะ เวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale หรือในชื่อภาษาอิตาเลียนว่า La Biennale di Venezia) จัดขึ้นในทุกๆ สองปี ซึ่งถือเป็นมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลก

ผลงานของ Ernesto Neto
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

   หลังจากเวนิสเบียนนาเล่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการเกิดขึ้นของเทศกาลศิลปะแบบเบียนนาเล่ หรือ ไบแอเนียล ไปทั่วโลก ในปี 2007 มีถึงห้าสิบเทศกาลในลักษณะนี้ ทั้ง Beijing Biennial, Liverpool Biennial, Prague Biennale, São Paulo Biennal และ Sharjah Biennale ฯลฯ ทุกวันนี้มีการจัดเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่มากกว่าสามร้อยเทศกาลทั่วโลก ในรูปแบบที่หลากหลาย และพื้นที่ที่หลายหลากรวมถึงในประเทศไทยเราด้วย

ผลงานของ Tobias Rehberger
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

  ด้วยเหตุที่คำว่า “Biennale” รวมถึงแนวคิดและรูปแบบการจัดนิทรรศการศิลปะ มหกรรมหรือเทศกาลศิลปะขนาดใหญ่ขึ้นทุกๆ สองปี นั้นเป็นสาธารณสมบัติ (Public domain) ที่ใครใคร่ใช้ก็ใช้ไป ใครใคร่ทำก็ทำไป ไม่มีใครหวงห้าม แม้แต่ประเทศที่เป็นผู้ริ่เริ่มก็ตาม
  ถึงแม้การจัดเทศกาลและมหกรรมศิลปะขนาดใหญ่ในประเทศไทยทั้งสองงานจะมีชื่อห้อยท้ายว่า เบียนนาเล่ และมีการจัดงานขึ้นในทุกๆ 2 ปีเหมือนกัน แต่ทั้งสองงานที่มีชื่ิอเรียกว่า Bangkok Art Biennale และ Thailand Biennale นั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ (นี่ยังไม่นับรวมเทศกาลศิลปะใต้ดินแซบตลาดแตกอีกงานที่เคยจัดคู่ขนานไปกับทั้งสองเทศกาลอย่าง Bangkok Biennial น่ะนะ)

   กล่าวคือ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale นั้นได้รับการริเริ่มและจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2018 โดยองค์กรเอกชนอย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในขณะที่มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale นั้นได้รับการริเริ่มและจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยองค์กรรัฐอย่าง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

ผลงานของ Almagul Menlibayeva
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

   ในแง่ของสถานที่แสดงงานของ Bangkok Art Biennale นั้นจัดขึ้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร ในขณะที่สถานที่แสดงงานของ Thailand Biennale นั้นจัดขึ้นที่จังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย (ที่ผ่านมามีการจัดงาน Thailand Biennale ไปแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัดอย่าง กระบี่, นครราชสีมา และ เชียงราย)

ผลงานของ Pierre Huyghe
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ผลงานของ Haegue Yang
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

  ด้วยความที่ Bangkok Art Biennale ถูกจัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย และเป็นมหานคร ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญทุกด้าน งานจึงมีลักษณะคล้ายกับ มหรสพ (spectacle) อันน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยการรวบรวมเอาเหล่าบรรดาศิลปินบิ๊กเนมและซูเปอร์สตาร์ในโลกศิลปะที่มิตรรักแฟนศิลปะได้ยินชื่อก็เป็นต้องรู้จัก มาสำแดงออร่าให้ผู้ชมงานศิลปะชาวไทยได้เห็นเป็นบุญตา ไม่ว่าจะเป็น มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović), อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor), ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama), แอนโตนี กอร์มลีย์ (Antony Gormley) และ ทอม แซ็คส์ (Tom Sachs) ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่งสำหรับผู้ชมงานศิลปะชาวไทยที่ไม่มีโอกาสบินไปดูเทศกาลศิลปะในต่างประเทศ จะได้ชมผลงานของศิลปินระดับโลกมารวมตัวกันคับคั่งเยี่ยงนี้ ส่วนพื้นที่แสดงงานของ Bangkok Art Biennale ก็มีลักษณะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่าง วัด(หลวง) ห้างสรรพสินค้า และสถาบันทางศิลปะต่างๆ

ผลงานของ Michael Lin
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

  ในขณะที่ Thailand Biennale นั้นถูกจัดขึ้นในต่างจังหวัด (ขอนุญาตใช้คำนี้เพื่อให้เห็นความแตกต่างชัดเจน) จึงมีลักษณะคล้ายกับ ปรากฏการณ์ (Phenomenon) ที่สำแดงตัวอย่างเป็นธรรมชาติ และหลอมรวมกลืนกลายตัวไปกับพื้นที่ตั้งอย่างกลมกลืน ศิลปินที่ถูกคัดสรรมาจึงหาใช่ศิลปินบิ๊กเนมและซูเปอร์สตาร์ในโลกศิลปะที่มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตา และมีชื่อคุ้นหูทันทีที่ได้ยิน หากแต่เป็นศิลปินที่มีเส้นทางการทำงานอันโดดเด่นเป็นที่น่าจับตาในโลกศิลปะร่วมสมัยอย่าง อราม บาร์ธอลล์ (Aram Bartholl), ไอเซ่ แอคมัน (Ayşe Erkmen) (ผู้อยู่ในรายชื่อของศิลปินและโปสเตอร์ของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ 2018 แต่ผลงานถูกแบนจนไม่ได้แสดงผลงาน), ฟีลิกซ์ บลูม (Félix Blume), โอลาฟัวร์ เอลีย์เออซัน (Olafur Eliasson) และ SUPERFLEX ส่วนพื้นที่แสดงงานของ Thailand Biennale ก็มักจะเป็นพื้นที่ในแหล่งชุมชน ทั้งวัด(ท้องถิ่น) สถาบันการศึกษา แหล่งการเรียนรู้ ศาลากลางจังหวัด พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โบราณสถาน ไปจนถึงพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง พื้นที่สาธารณะอย่าง สวนสาธารณะ ถนนหนทาง หรือพื้นที่ธรรมชาติอย่างชายทะเล ป่าเขา เกาะ หรือถ้ำต่างๆ

ผลงานของ Wang Wen-Chih
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ผลงานของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

   สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนอีกประการของ Bangkok Art Biennale และ Thailand Biennale ก็คือระบบและโครงสร้างการจัดงาน ด้วยความที่ Bangkok Art Biennale เป็นเทศกาลศิลปะที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานเอกชน จึงทำให้มีความคล่องตัว รวดเร็วในการบริหารจัดการ และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลงานมักเสร็จสมบูรณ์ลุล่วงทันเวลาได้ไม่ยาก ต่างกับ Thailand Biennale ที่เป็นมหกรรมศิลปะที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำงานภายใต้ระบบราชการที่ค่อนข้างมีความล่าช้า ยุ่งยาก และไร้ประสิทธิภาพ ทำให้มักจะมีปัญหาผลงานเสร็จไม่ทันเวลาอยู่เป็นเนือง
  ความแตกต่างอย่างชัดเจนอีกประการคือ ด้วยความที่ Thailand Biennale เป็นมหกรรมศิลปะที่จัดในพื้นที่แหล่งชุมชน จึงทำให้เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างและหลากชนชั้นมากกว่า ต่างกับ Bangkok Art Biennale ที่มักจัดขึ้นในพื้นที่ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนเมือง จึงทำให้ผู้เข้าชมเทศกาลส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเมืองหลวงและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเสียมากกว่า

  ในแง่ของเสรีภาพทางด้านการแสดงออกของศิลปิน ด้วยความที่ Thailand Biennale เป็นมหกรรมศิลปะที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐ จึงทำให้เป็นการยากที่ศิลปินที่เข้าร่วมในมหกรรมศิลปะนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินไทย) จะสร้างผลงานที่มีประเด็นหรือเนื้อหาทางการเมืองในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างจะแจ้ง ตรงไปตรงมา ผลงานส่วนใหญ่ในงานจึงมุ่งเน้นไปที่การสำรวจประเด็นเกี่ยวกับระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ุ การล้มล้างอำนาจอาณานิคม ถ้าจะมีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองก็น่าจะเป็นการสำรวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นของการรวมศูนย์อำนาจทางการปกครองมากกว่า (ซึ่งจะว่าไปก็เป็นหัวข้อที่เหมาะกับพื้นที่แสดงงานเอาการอยู่)

ผลงานของ อุบัติสัตย์
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ผลงานของ สนิทัศน์ ประดิษฐทัศนีย์
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ผลงานของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

  ในขณะที่ Bangkok Art Biennale นั้นเป็นเทศกาลศิลปะที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานเอกชน และอำนาจการตัดสินใจในการอนุมัติการสร้างผลงานนั้นขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเทศกาล (ซึ่งขึ้นชื่อในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐอยู่แล้ว) จึงทำให้เทศกาลศิลปะนี้ค่อนข้างมีพื้นที่เปิดกว้างทางการแสดงออกของศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นทางการเมือง สังเกตได้จากผลงานของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทย หรือผลงานของ วันมุฮัยมีน อีเตลา ที่สะท้อนให้เห็นถึงการแทรกแซงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมภายในชุมชนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการปลูกฝังค่านิยมจากรัฐส่วนกลาง และผลงานของ วสันต์ สิทธิเขตต์ ที่เสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยผลงานศิลปะหนังตะลึงของเขา
  แต่ในทางกลับกัน ศิลปินในเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale ก็อาจมีความเกรงอกเกรงใจในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่อาจระคายเคืองแหล่งทุนยักษ์ใหญ่ผู้สนับสนุนเทศกาล อย่างการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้อำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรมสุราของไทยด้วยเหมือนกัน

ผลงานของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

   เมื่อพูดถึงมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ในประเทศไทยในโมเมนต์นี้ ย่อมไม่อาจเลี่ยงที่จะพูดถึง มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) ที่เพิ่งจัดขึ้นไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อปลายปี 2023 และกำลังจัดแสดงอยู่จนถึงต้นปี 2024 นี้ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ที่ดีที่สุดที่เคยจัดขึ้นมาในประเทศไทย

ผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ผลงานของ กรกต อารมย์ดี
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

   ก่อนอื่นต้องขอสารภาพว่าในคราแรกที่เราได้ยินว่าจะมีการจัดมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ ที่จังหวัดเชียงรายนั้น เราจินตนาการอย่างตึ้นนเขินว่าน่าจะเป็น มหกรรมศิลปะที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมและเต็มไปด้วยงานศิลปะแบบประเพณีและงานพุทธศิลป์ เหตุเพราะเชียงรายเป็นเหมือนดินแดนถิ่นฐานของศิลปินไทยประเพณีและพุทธศิลป์จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินพุทธศิลป์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้าง วัดร่องขุ่น งานพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเชียงราย ซึ่งเราเดาเอาว่าเฉลิมชัยน่าจะรับบทผู้อำนวยการหอศิลป์และภัณฑารักษ์ในมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้ด้วย แต่กลับเป็นที่ผิดความคาดหมายของเราอย่างสิ้นเชิง ที่เฉลิมชัยกลับเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเชื้อเชิญภัณฑารักษ์และศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกอย่าง กฤติยา กาวีวงศ์ และ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช มารับบทบาท ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) แถมยังดึงเอาบุคลากรรุ่นใหม่ไฟแรงในวงการศิลปะอย่าง อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ และ มนุพร เหลืองอร่าม มารับบท ภัณฑารักษ์ ของมหกรรมศิลปะครั้งนี้ ซึ่งการที่หนึ่งในผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์อย่าง กฤติยา และ หนึ่งในภัณฑารักษ์อย่าง อังกฤษ มีพื้นเพเป็นชาวเชียงราย ก็ยิ่งทำให้ทิศทางของมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้มีความกลมกลืนเข้ากับบริบทของพื้นที่ในจังหวัดแห่งนี้ได้ลึกซึ้งอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผลงานของ ชาตะ ใหม่วงค์
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

   เฉลิมชัยยังมีบทบาทอย่างมากในการสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย หรือ Chiang Rai International Art Museum (CIAM) พื้นที่แสดงงานศิลปะขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผลงานของศิลปินระดับโลกหลากหลายคนที่เดินทางมาจัดแสดงผลงานศิลปะในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ได้อย่างไม่อายสากลโลก แถมเฉลิมชัยยังเปิดพื้นที่ของวัดร่องขุ่นให้ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่เข้าไปแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแปลกแหวกแนวสุดขั้วอีกด้วย
  อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า ศิลปินที่มาร่วมในมหกรรมศิลปะครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ศิลปินบิ๊กเนมและซูเปอร์สตาร์ในโลกศิลปะ ที่มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตา และมีชื่อคุ้นหูทันทีที่ได้ยิน หากแต่พวกเขาก็เป็นศิลปินที่มีเส้นทางการทำงานอันโดดเด่นเป็นที่น่าจับตาในโลกศิลปะร่วมสมัย หลายคนยังเคยเข้าร่วมเทศกาลและมหกรรมศิลปะชั้นนำของโลกอย่าง Documenta และ Venice Biennale และอื่นๆ อีกมาย มาแล้วทั้งสิ้น

ผลงานของ Ryusuke Kido
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

  ไม่ว่าจะเป็นศิลปินจากโลกตะวันตกอย่าง เออร์เนสโต เนโต (Ernesto Neto), โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger), โทมัส ซาราเซโน (Tomás Saraceno), ปิแยร์ ฮวีก (Pierre Huyghe), แฮกู ยาง (Haegue Yang), อัลมากุล เมนลิบาเยวา (Almagul Menlibayeva), ไมเคิล ลิน (Michael Lin), ซาราห์ ซี (Sarah Sze), ทาเร็ก อาทุย (Tarek Atoui) ฯลฯ
  หรือศิลปินร่วมสมัยจากภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เฉิน ซินเฮ่า (Chen Xinhao), สวี่ เจีย เหว่ย (Hsu Chia-Wei), หวัง เหวิน จื้อ (Wang Wen-Chih), ริวสุเกะ คิโดะ (Ryusuke Kido), โฮ ซู เหนียน (Ho Tzu Nyen), เหงียน ตรินห์ ตี (Nguyen Trinh Thi), โซ ยู นแว (Soe Yu Nwe), สว่างวงศ์ ยองห้วย (Sawangwongse Yawnghwe), จิตรา ซาสมิตา (Citra Sasmita) และ เซน เท (Zen Teh) ฯลฯ

ผลงานของ บู้ซือ อาจอ
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

  รวมถึงศิลปินร่วมสมัยชาวไทยอย่าง อริญชย์ รุ่งแจ้ง, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, จิตติ เกษมกิจวัฒนา, กมลลักษณ์ สุขชัย, กรกต อารมย์ดี, กรกฤต อรุณานนท์ชัย, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, สนิทัศน์ ประดิษฐทัศนีย์, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์, อุบัติสัตย์, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร, วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ หรือแม้แต่ศิลปินกลุ่มชาติพันธุ์อย่าง บู้ซือ อาจอ และกลุ่มศิลปินและนักสร้างสรรค์ชาวไทยอย่าง บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม และกลุ่มสถาปนิก/นักออกแบบ all(zone)
  ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ เหล่าบรรดาศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ทั้งศิลปินพุทธศิลป์, ศิลปินไทยประเพณี, จิตรกร, และศิลปินหัตถกรรมท้องถิ่นและร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง ชาตะ ใหม่วงค์, สมลักษณ์ ปันติบุญ, สมพงษ์ สารทรัพย์, ทรงเดช ทิพย์ทอง, ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ หรือแม้แต่จิตรกรผู้ล่วงลับในอดีตอย่าง จำรัส พรหมมินทร์ หรือ สล่าขิ่น ต่างก็ดำรงจิตวิญญาณแห่งความเป็นท้องถิ่นของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างบทสนทนา สื่อสาร และผสานตัวเองเข้ากับความเป็นศิลปะร่วมสมัยของสากลโลกได้อย่างแนบเนียนกลมกลืน

ผลงานของ all(zone)
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ผลงานของ บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม
ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย

  จึงทำให้มหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้มีบุคลิกอันโดดเด่นอย่างยิ่ง และไม่เป็นการเกินเลยที่จะพูดว่า เป็นมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ที่ดีที่สุดที่เคยจัดขึ้นมาในประเทศไทย ที่มีคุณภาพไม่แพ้เบียนนาเล่อื่นๆ ในโลกสากลเลยก็ว่าได้

ถ้ามีโอกาส ในตอนหน้าเราจะมาเล่าถึงผลงานชิ้นเด่นๆ ในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ให้อ่านกันอีกที
ตรวจสอบรายละเอียดการแสดงงานของ มหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย
ได้ที่นี่ https://www.thailandbiennale.org/en/
ข้อมูล
www.thailandbiennale.org
www.bkkartbiennale.com
    TAG
  • art
  • exhibition
  • Thailand Biennale
  • Biennale
  • Ernesto Neto

ว่าด้วยเรื่อง Biennale แบบไทย และมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
February 2024
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Re/Place การปิดทับอดีตเพื่อเปิดเผยความจริงทางการเมือง ของ วิทวัส ทองเขียว

    ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong4 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong6 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )