กิจธเนศ ขจรรัตนเดช แห่ง Tastespace.co : Café Designer ผู้เดินทาง และผจญภัยไปกับเจ้าของร้าน | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Café designer ผู้เดินทาง
และผจญภัยไปกับเจ้าของร้าน


แม้นับเวลาจริงๆ Restaurant and café designer ที่มาแรงและโดดเด่นอย่าง Tastespace.co จะมีอายุแค่ก้าวเข้าปีที่สองเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฮิม – กิจธเนศ ขจรรัตนเดช ผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้หาใช่น้องใหม่ของวงการไม่ เพราะเขาคือหนึ่งในผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่มากว่า 10 ปี ด้วยประสบการณ์และความรักในการออกแบบร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านกาแฟ ได้ทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีไซน์ร้านกาแฟ ที่ทั้งมีเอกลักษณ์ ทั้งเคลื่อนไปตามเทรนต์ที่แปรผันอย่างรวดเร็ว ได้โดยไม่สูญเสียตัวตน ทั้งตัวตนของเจ้าของร้านและตัวคนของนักออกแบบ

  Everything นั่งคุยกับ ฮิม – กิจธเนศ ถึงเทรนด์ต่างๆ และไอเดียในการสร้างงานออกแบบที่ยั่วล้อไปบนเทรนด์ และก้าวไปไกลถึงการลืมเรื่องเทรนด์ เพื่อย้อนกลับไปสู่พื้นฐานแรกของงานออกแบบ นั่นคือ ความต้องการอันแท้จริงของผู้ออกแบบ

สู่ปีที่สองของ Tastespace.co
  “ปีครึ่งที่ผ่านมา ผมมองว่าธุรกิจออกแบบร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ หรือที่เกี่ยวกับการกินดื่มตรงนี้เนี่ยมันเติบโตนะครับ เราเองเพิ่งเริ่มทำสตูดิโอ ก็ไม่ได้มีพอร์ตมากนัก ฉะนั้นเราก็ต้องทำผลงานขึ้นมาเพื่อนำเสนอเยอะหน่อยเท่านั้นเองครับ ปีครึ่งที่ผ่านมาเราทำไปประมาณ 20 โปรเจกต์ครับ แต่ถ้ามองในแง่ภาพรวมนี่ดีนะครับ แล้วมันก็ได้เห็นว่ามุ่งเน้นรูปแบบอุตสาหกรรมการกินดื่มของเราไปในทิศทางไหนบ้าง ก็เห็นเลยว่ามันเติบโตขึ้นเยอะมาก ตั้งแต่มีมิชลิน (Michelin Star) เข้ามา ซึ่งเราก็เคยทำนายไว้ตั้งนานแล้วล่ะว่ามันต้องเข้ามา สิ่งที่มันเกิดขึ้นตอนนี้นี่มันก็ต้องบอกว่าเปลี่ยนไปเยอะมาก หลายๆ คนก็เริ่มอยากตกแต่งร้าน อยากรู้สึกว่าเราเป็นที่จุดสนใจที่ Tastespace เราก็ยังมองเรื่องที่สำคัญที่สุดเลยคือมองว่าลูกค้าขายดีไหม ทำแล้วเขาขายได้ไหม ไม่ใช่แค่ว่าเราดีไซน์ให้สวย ให้เลิศเลอมากๆ แล้วสุดท้ายลูกค้าของลูกค้าไม่มี แล้วถามว่าได้ประโยชน์อะไรกับลูกค้า แล้วสุดท้ายมันอาจจะได้แค่วงการดีไซน์ ในวงการอาหารมันไม่ได้เติบโต ฉะนั้นทุกครั้งเราก็จะคุยกันก่อนเสมอว่า ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็น Street food จนถึง Fine dining สุดท้ายตัวคุณ คุณต้องขายตัวคุณเองก่อน นั่นคือหัวข้อแรกที่เราจะพูดถึง ใครคือเชฟ ใครคือบาริสต้า ใครคือ mixologist เพราะว่าแต่ละคนก็จะมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน มีจุดที่นำเสนอไม่เหมือนกัน แล้วเราอยากเอาความเป็นตัวของเขาสร้างขึ้นมาเป็นร้านให้ได้มากที่สุด ในแต่ละเจ้าของ ในแต่ละรูปแบบของร้าน คือเรามองแบบนั้น” ฮิม เริ่มต้นพูดถึงภาพรวม ทั้งภาพรวมขององค์กรและของวงการ ก่อนที่หัวข้อสนทนาจะนำไปสู่เรื่องการทำงานดีไซน์

  “เวลามีลูกค้าเข้ามาผมก็จะแนะนำก่อนว่าคุณอยากเปิดร้านแล้วคุณดูร้านเองหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่ถ้ามาสเกลแบบนี้จะดูร้านเอง ถ้าดูร้านเอง ชงเอง ทำเอง ผมก็จะแนะนำว่าเอางี้ คือตัวผมก็กินดื่ม แต่ผมอาจจะไม่ใช่ถึงขนาดผู้เชี่ยวชาญที่จะรู้ร้อยเปอร์เซนต์ ผมก็จะดูความเหมาะสม ผมคุยกับลูกค้าว่าคุณลูกค้าชอบกินแบบนี้ เราชอบแบบ Australian style เราชอบแบบ filter ชอบแบบ specialty อืม โอเค ถ้าคุณชอบแบบ Australian คุณจะเริ่มแนวไหนที่มันเป็นร้านแบบ Australian style หรือว่าถ้าเกิดคุณเป็นอะไรที่ต้องการ specialty จ๋าๆ ผมว่าคุณลองไปเลือกกินตรงนี้ก่อนไหม ถ้าคนไหนที่เรารู้จัก เราก็จะคัดเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาให้เขาอีกที หลักๆ ผมจะช่วยเขาคัดเลือกสิ่งที่เหมาะกับเขาก่อน แล้วหลังจากนั้นเรารวบข้อมูลขึ้นมา ก็จะได้ดีไซน์ร่วมกัน พัฒนาร่วมกัน” ฮิม กล่าว

Instagramable – Pinterest design ใครๆ ก็ต้องการจริงหรือ
  เราชวน ฮิม คุยถึงกระแสนิยมในโซเชียลมีเดียที่ disrupt ทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่แนวคิดในการออกแบบ ซึ่ง ฮิม เองก็ยอมรับว่ามันมีผลในการทำงานอยู่บ้าง แต่เนื้อหาสาระสำคัญในการออกแบบไม่เคยเปลี่ยน “ต้องถามก่อนว่าคุณอยากเปิดร้านเพื่อให้คนมาถ่ายรูปหรืออยากเปิดร้านเพื่อให้คนมาดื่มกิน มันจะมีสองโจทย์นะครับ แล้วถาม Instagramable เนี่ยทำได้ไหม ไม่ต้องห่วง ยังไงมันก็ทำได้แน่ แต่ผมถามกลับว่าแล้วกาแฟคุณล่ะรสชาติดีไหม ถามกลับว่าแล้วทำยังไงให้ลูกค้าเขากลับมา คุณต้องรู้ว่าสุดท้ายมันไม่ใช่แค่เรื่องถ่ายแล้วภาพสวย แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่บริการ รสชาติ บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้นในร้าน

  “มันคือ total experience ไม่ใช่แค่ว่ามีมุมถ่ายรูปก็เสร็จแล้ว คนวิ่งกรูกันเข้ามา สั่งกันแค่คนละแก้ว แล้วก็อยู่ทั้งวัน จนกว่าจะหมด แล้วก็หายจากไป แต่ถ้าอย่างน้อยร้านอร่อย อย่างน้อยเขาก็จะคิดว่าเราอยากกลับไปว่ะ คุณก็จะได้ร้านที่สวยด้วย อยากกลับมาอีกด้วย

  “ทีนี้ความวุ่นวายซับซ้อนมันอยู่ตรงนี้ครับ บางทีทำจุดให้ถ่ายภาพลงอินสตาแกรม คนที่รักร้านคุณจริงๆ ก็ไม่ค่อยอยากมา เพราะสุดท้ายมันวุ่นวาย อันนี้อาจจะงง ย้อนแย้งกันนิดนึง คือเราก็มีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากทำร้านนะ แต่ว่าไม่อยากให้ cafe hopper มา ไม่อยากให้มีมุมถ่ายรูปเลย อันนี้ก็ว่ากันไป

  “ไอ้เรื่อง Instagramable นี่ทำได้ครับ สบายมาก แต่ผมก็จะบอกก่อนว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะไม่มีแก้วที่สองนะ จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ ถ้าคุณพร้อม เราก็พร้อมช่วย สมมติคุณจังหวะดี ทุกอย่างดี ธุรกิจคุณก็ไปได้ยาว แต่ถ้าไม่ ก็ต้องกลับมาคุยกันก่อนว่าเราอยากเปิดร้านเพื่อให้คนเข้ามาถ่ายรูป เป็น status ของตัวเอง หรือคุณอยากทำธุรกิจเพื่อค้าขาย หรือมันเป็นชีวิตของคุณ เราก็จะจัดการในเรื่องของการพูดคุยตรงนี้ให้เรียบร้อยก่อน ไม่งั้นมันไม่ตอบโจทย์ลูกค้า แต่ละร้านเราก็เลยพยายามคุย จนสุดท้ายหลายๆ ร้านพอจบงานก็กลายเป็นเพื่อนกัน เพราะเราคิดว่าเราอยากกลับไปในแต่ละร้านที่เราทำ

  “ในการออกแบบ บางร้านคิดว่าเราอาจจะต้องตะโกนนะ หมายถึงทำให้ชัดๆ เห็นได้ง่าย แต่บางร้านก็ ‘เฮ้ย คุณไม่ต้องตะโกนหรอก พื้นที่มันส่งคุณอยู่แล้ว’ อะไรอย่างนี้ เราก็จะคิดในเรื่องของธุรกิจช่วยเขา แต่สุดท้ายเขาจะเป็นผู้รับ เขาจะเป็นคนที่จะอยู่กับตรงนั้นตลอดไป เขาแฮปปี้ที่จะอยู่ในจุดไหน เราก็จะพูดคุยเพื่อดึงเขาออกมาให้มากที่สุดก่อน

  “โลกเรามันเปลี่ยนเร็วมาก เพราะ Instagram กับ Pinterest ที่เขาเรียกว่าตอนนี้เป็นยุค pinterest design ซึ่งทำให้คนแบบก็อปๆๆ เอ่อ ขอโทษนะครับ ถ้าคุณอยากสร้างคาแรกเตอร์ตัวคุณเอง เอามาใช้เป็นไกด์ไลน์ได้อย่างเช่น ‘อยากได้ฟังก์ชันประมาณนี้’ โอเค เราเข้าใจ แต่บอกอยากได้มู้ด เราก็จะพยายามดูและดึงตัวตนมันออกมาสวมทันที เพราะว่าไม่อย่างนั้นมันก็แค่ก็อปปี้เขามา ก็อปปี้มาแล้วมันจะเป็นคาแรกเตอร์คุณยังไงล่ะ มันไม่ใช่ มันแค่สิ่งที่คุณชอบ แต่มันไม่ใช่ตัวตนคุณร้อยเปอร์เซนต์น่ะ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือเราก็จะเอาตัวตนนั้นออกมา”

Loft ที่ไม่ได้แปลว่าถูก สู่เทรนด์การมองลอฟต์ในแบบใหม่
  ต้องยอมรับว่าเทรนด์การดีไซน์แบบ Loft เป็นหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมมานานร่วมสิบกว่าปี กระแสนิยมใน loft เป็นที่แพร่หลายเพราะง่าย ถูก และออกมาดูดี นานวันเข้า ความหมายที่แท้จริงของ loft design เริ่มพร่าเลือนไป หลายคนก็คิดว่า loft ตายแล้ว ฮิม กิจธเนศ มองเรื่องนี้ว่ามันคือความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง

  “เท่าที่ผมคุยๆ มา ความเข้าใจของคนมองว่า loft มันถูกไง ทั้งๆ ที่จริงมันไม่ถูกนะครับ เพราะ loft จริงๆ มันต้องไปสู้ ไปวัดกันที่ดีเทล เราดูที่ดีเทลอย่างเช่นที่ร่องต่างๆ ที่สายไฟ คุณเดินสายไฟยังไง เดินสายไฟชุ่ยที loft ของคุณมันก็ไม่ต่างจากชุ่ยเลยนะ จนที่สุดมันแยก loft กับชุ่ยไม่ออก มันเริ่มแยกไม่ออกว่าร้านอะไรเป็นร้านอะไร ก็อาจจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่า ‘เออ ฉันมีงบเท่านี้ แต่ฉันอยากเปิดร้าน’ แล้วมันก็ง่ายดี เพราะมันก็มีมาหมดแล้ว แบบนั้นก็ได้ครับ ไม่มีปัญหา แต่คุณก็ต้องแข่งกันที่รสชาติ แข่งกันที่บริการ แข่งกันที่พาร์ทอื่นๆ ที่การตกแต่งอื่นๆ ที่คุณจะเอามาสู้ แต่ถ้าถาม ผม loft ยังไม่ตาย (หัวเราะ) ดีไม่ดีเนี่ย loft จริงๆ ก็จะกลับมาอีก นี่เทรนด์ loft ที่เกาหลีใต้ก็มได้สักพักแล้ว

  “เท่าที่ผมสังเกตคนเดียวแล้วกัน ผมมองว่าจริงๆ ตอนนี้เทรนด์การดีไซน์แบบเกาหลีก็อาจจะมา มันคือการเอาพื้นที่เดิมๆ หรือโครงสร้างที่มันถูกทิ้งร้างมาทำ ยกตัวอย่างที่ Onion Café ที่เกาหลีใต้ เป็นตึกเก่า ที่พอเติมสแตนเลส เติมอะไรบางอย่างเข้าไป โอ้โห Millenium ชิบหายเลย แต่บรรยากาศโคตรเก่าเลยนะ อยู่ในปูนแตกๆ เสาหักๆ เหมือนเดิม ซึ่งมันคือการเติมวัสดุที่ไม่แพงเข้าไป แต่ใช้ไอเดีย เพื่อสร้าง Identity หรือ Signature ของร้าน และไม่ทำให้ข่มอาหาร หรือ เครื่องดื่มจนเกินไป ต้องทำให้อาหารหรือเครื่องดื่มเป็นพระเอก เป็นการออกแบบที่เข้าใจผู้ลงทุน ให้อยู่ได้ในระยะยาว และผู้บริโภคได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

  “จะเห็นว่ามันไม่ใช่ loft เพียวแล้ว ถ้า loft เพียวเมื่อก่อนเรานึกถึงปูน เหล็ก อิฐ แต่ ลอฟต์แบบใหม่ก็จะทำเป็นอีกแบบ ด้วยงบประมาณของเขาด้วยแหละ แต่ต้องบอกก่อนว่าโครงสร้างอาคารต่างๆ ของเขาสวยไง พื้นที่เขาสวยอยู่แล้ว เขาทำได้ เราพออยากได้ปุ๊บ มันต้องไปจัดการตรงนี้แหละว่าเราจะสร้างพื้นที่แบบนั้นยังไง ซึ่งมันก็ยาก เพราะโครงสร้างเรามันไม่ได้เป็นโครงสร้างแบบเมืองเก่าแบบนั้นร้อยเปอร์เซนต์ได้ ยกตัวอย่างงานของเรา เหมือน Tai Soon Bar เราพยายามรักษาโครงสร้างเก่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่เราต้องเปลี่ยนภายในบางอย่าง เพื่อให้มันตอบกับฟังก์ชัน”

Tai Soon Bar

Green trend หรือ มินิมอล เทรนด์
  นอกจากลอฟต์ในความหมายที่อธิบายการสร้างสิ่งใหม่ สตอรี่ใหม่ ทาบทับไปบนอาคารเก่าแล้ว อีกหนึ่งเทรนด์ที่ ฮิม มองเห็นเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อม คาเฟ่ ที่ให้ความสำคัญกับต้นไม้ และแนวคิดมินิมอลแบบญี่ปุ่น “ไม้ ญี่ปุ่น ป่า ผมคิดว่าความเป็นญี่ปุ่นยังมีความน่าสนใจนะ แต่ว่าญี่ปุ่นพอมันมาก็คู่กับความเป็นมินิมอลจ๋าๆ เมื่อไหร่เนี่ย สุดท้ายทุกร้านมันจะซ้ำกันหมด จนเริ่มแยกไม่ออกว่าร้านไหนเป็นร้านไหน (หัวเราะ) จำเป็นต้องหาตัวตนเฉพาะเข้าไป อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มเห็นก็คือความกรีน ความกรีนมันเริ่มเข้ามาเพราะคนเริ่มหันมาสนใจต้นไม้เยอะขึ้น เราพยายามสนับสนุนให้เจ้าของร้านทุกท่าน ใช้ต้นไม้จริง ถึงแม้ว่าหลายคนจะไม่ชอบ เพราะยุ่งยาก ไม่อยากคอยมาดูแล รดน้ำ เอาไปโดนแดด แต่เราก็คอยโน้มน้าว เพราะถ้าเราให้ใจ หรือเติมจิตวิญญาณให้กับพื้นที่ สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนกลับไปยังลูกค้าของที่ร้าน ให้รู้สึกชุ่มชื่น มีชีวิตชีวา

  “แต่ถ้าเราใส่ต้นไม้ปลอมให้กับร้าน เราก็จะได้อะไรที่ฉาบฉวยกลับมาเช่นกัน สุดท้ายการโน้มน้าวของเรา อาจจะไม่ได้ผลกับทุกร้าน แต่ครึ่งหนึ่งนั้นก็เริ่มสนใจและหันมาใช้ต้นไม้จริงด้วย และเริ่มสร้างบรรยากาศแบบ real ให้กับร้าน เรื่องต้นไม้ถึงแม้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันคือการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ทุกอย่างเพื่อให้ร้านออกมาดีสุด เราใส่ใจลงไปในงาน เราก็จะได้ใจจากลูกค้าที่มากินดื่มที่ร้านเช่นกัน” ฮิม กล่าว

วันที่เราทำอะไรได้มากที่สุดก็คือวันที่เขาเปิดร้าน แล้วนับไปสามเดือนแรก ทุกอย่างดี หลังจากนั้นปุ๊บ เจ้าของก็จะมีความรู้สึกว่าฉันอยากแต่งนู่นเพิ่ม แต่งนี่เพิ่ม

ดีไซน์แค่ไหน สุดท้ายทำได้แค่แนะนำ
   แม้จะมีประสบการณ์มากมาย มองเห็นภาพรวมของแต่ละร้านได้อย่างแม่นยำ แต่ ฮิม ก็ยอมรับว่าในฐานะนักออกแบบ เขาก็ทำได้แค่แนะนำ แต่คนที่ตัดสินใจยามร้านเกิดปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องของเจ้าของผู้ลงทุน หลายครั้งการเปลี่ยนแปลงเพื่อการอยู่รอดทางธุรกิจก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

  “เป็นธรรมชาติครับ พอถึงจุดหนึ่ง วันที่เราทำอะไรได้มากที่สุดก็คือวันที่เขาเปิดร้าน แล้วนับไปสามเดือนแรก ทุกอย่างดี หลังจากนั้นปุ๊บ เจ้าของก็จะมีความรู้สึกว่าฉันอยากแต่งนู่นเพิ่ม แต่งนี่เพิ่ม ตอบโจทย์ลูกค้าด้วย อยากจะขายข้าวด้วยอะไรอย่างนี้ เขาทำได้ เขาอยู่กับลูกค้าไม่ใช่เรา บางทีเขาอยากขายผัดกะเพราก็ต้องปล่อย เราทำอะไรไม่ได้ แม้จะงงว่าทำร้านกาแฟ แล้วคุณจะขายกะเพราให้กลิ่นมันฟุ้งขึ้นมาเลยเหรอ แต่เข้าใจนะเรื่องขายอาหารเพิ่ม เปิดไปสักพักแล้วรายได้ไม่ดี คิดว่าต้องเน้นข้าว อันนี้ผมเห็นด้วย

  “มีอยู่ร้านหนึ่งที่ทำแล้วประสบความสำเร็จนะ มีอยู่ร้านนึง สมัยก่อนขายกาแฟอย่างเดียว แล้วสักพักมีคนร้องขอว่าอยากให้มีอาหารด้วย แต่เขาไม่ใช่นึกอยากจะเปิดก็เปิด เขาก็เริ่มทำการศึกษา แล้วเจ้าของมีอินเนอร์ พอเจ้าของมีอินเนอร์ปุ๊บ ตอนนี้ทั้งคู่ดีมาก กาแฟก็ดี ข้าวก็ดี ซึ่ง เฮ้ย เราชอบว่ะ เจ๋งว่ะ เออๆ คุณทำได้ มันไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่แค่รับโจทย์จากลูกค้าแล้วคุณทำผัดข้าวเลยนะครับ แต่พอรับบรีฟเสร็จปุ๊บ คุณมีอินเนอร์อยู่แล้ว คุณต้องพัฒนาสูตรด้วย พัฒนาอย่างอื่นด้วย มีร้านขายข้าวที่ไหนใช้อุปกรณ์แบบเชฟ professional เลยนะ ซึ่งมันขัดแย้งมากๆ กับการที่คุณทำกาแฟที่มีทั้งแบบดริฟท์ สโลว์บาร์ ซึ่งอันนี้มันใช้ความเร็วในการผัดข้าว เออ สนุก อย่างนี้ผมชอบ มันดี” ฮิมปิดท้ายการสนทนาด้วยเสียงหัวเราะ

Fantastic Four: สี่ร้านเปลี่ยนชีวิตของ ฮิม Tastespace.co

1. Casa Lapin ที่ลาดพร้าวฮิลส์ ทำคีออสขึ้นมา มันเป็นบ้านกระต่ายที่ยกทาวเวอร์ขึ้นมา แล้วมีหญ้าอยู่ด้านบน อันนั้นเป็นงานแรกๆ ที่เราได้ทำให้ Casa แล้วเปลี่ยนทางเขาไปเลย เมื่อก่อนเขาจะเหมือนกันหมด จะเป็นแนว industrial loft แต่ว่าร้านกาแฟหลายๆ ร้านกาแฟก็ได้เขาเป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็สร้างเป็นindustrial loft ก็เยอะเหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งที่เรามองให้เขาใหม่ ลองกลับมาตั้งต้นใหม่ แล้วก็ลองเหมือนกับทำอะไรที่มันสามารถขยายเขาได้ในโมเดลคำว่าคีออส เริ่มจากเรากลับไปตั้งคำถามว่าเขาก็มีแบรนด์ โลโก้เดิมมันคล้ายๆ AutoCAD มาเขียนเป็นโลโก้เขา แต่ปัจจุบันเป็นรูปกระต่ายด้านข้าง เขาเพิ่งรีแบรนด์มา เราก็เลยจับตรงนี้ว่าแล้วทำไมเขาอยากให้กระต่ายมันชัด ซึ่งถ้ากระต่ายชัด สิ่งที่เราทำได้ก็คือลองมาตั้งคำถามว่าทำยังไงให้เป็นกระต่ายชัดขึ้น ก็เลยลองออกแบบเป็นบ้านกระต่าย แต่แทนที่เราจะขุดลงไปหากระต่าย เราตัดครอป แล้วยกขึ้นมาทั้งก้อนดีกว่า หน้าตาจะออกมาเป็นยังไง ก็ลองดีไซน์ดู แล้วปรับปรุงแก้ไขกันหลายเวอร์ชัน จนกลายเป็นเวอร์ชันนี้ มีหญ้าอยู่ข้างบน ยกเป็นบ้านทั้งหลัง ก็เลยเป็นหนึ่งในไฮไลท์ แล้วเราสนุกมากกับการที่คิด กับการรัน วัสดุหรืออะไรก็ตาม เราก็จะให้มันมีคาแรกเตอร์เป็นดิบๆ หินๆ อย่างนั้นแหละครับ

2. Brave Roasters สยามดิสคัฟเวอรี่ อันนี้เป็นการรีดีไซน์อีกแล้ว ภาพเก่าก็จะดำๆ เหล็กๆ อันนี้ก็ยังดำๆ เหล็กๆ อยู่ เพราะโจทย์เขาชัด แต่เขาอยากทำแบรนด์ให้มันเกิดความสดใหม่ในแบรนด์ด้วย หลังจากนั้นเราก็อยากเอาซิกเนเจอร์ไปใช้ ซึ่งไฮไลท์อย่างหนึ่งคือเรามองว่าทำยังไงให้ค่าใช้จ่ายถูกที่สุด แล้วใช้วัสดุที่ simple ที่สุด เราก็ใช้เหล็กฉากมาเรียง โจทย์เริ่มต้นมาจากที่โลโก้ของเขา ตัวโลโก้ข้างแก้วเขา จะมีมาสคอตลักษณะคล้ายหมาป่า ซึ่งจริงๆ มันคือมอนสเตอร์ มอนสเตอร์คือความมืด เขาชอบสีดำ ก็เลยเอาโจทย์ตรงนั้นมาตั้ง เพราะว่ามอนสเตอร์บางทีก็แสดงให้เห็นว่าฉันมีตัวตนนะ แต่ไม่โชว์ตัว แล้วคนคิดว่ามอนสเตอร์เกิดจากเงา เกิดจากรอยเขี้ยวเล็บอะไรต่างๆ ก็เลยเอาเหล็กฉากมาเล่น ให้มันเกิดเป็นคาแรกเตอร์ที่มันเป็นของรอยตะกุย ขาดๆ และด้วยพื้นที่ของสยามดิสคัฟเวอรี่ที่เขาวางผลิตภัณฑ์เต็มไปหมดเลย ร้านมันอยู่ชิดในสุด เราจะทำยังไงให้มันโดดขึ้นมาที่สุด ฉะนั้นเราก็เลยต้องเล่นกับพื้นผิวสัมผัสอะไรบางอย่างที่มันธรรมดา แล้วมันมีความเป็นเหล็ก มีความเป็น industrial อยู่ แล้วก็บวกกับไอคอนิกใหม่ เราคิดเรื่องป้ายที่อยู่ข้างบนใหม่ เป็นการสร้างซิกเนเจอร์ใหม่ให้เขา เหมือนเป็นสัตว์ประหลาดตัวนี้เดินทางมาถึงแล้ว

3. Tai Soon Bar ในแง่ดีไซน์ ถ้าพูดถึง Tai Soon ว่ามันเป็นซิกเนเจอร์เราว่าไหม ผมว่าใช่ โปรเจกต์นี้ปลุกปล้ำกันมานาน เจ้าของเขาขายเบียร์ เขาเป็นร้านโชห่วย แต่เขามีคราฟท์เบียร์เยอะมาก น่าจะเป็นหนึ่งในห้าของประเทศ แล้วเขาสามารถอิมพอร์ตรุ่นแปลกๆ เข้ามาได้ ทางเราก็เลยคิดว่าถ้าเขาอยากเปิดบาร์ จะเป็นบาร์ยังไงดีที่มันต่อกับพื้นที่ตรงนั้น เราก็เลยมองว่าถ้าเป็นผม ผมไม่ทำอะไรเลยนะ เก็บอันเก่าไว้ให้ได้มากที่สุด รื้ออะไรที่มันไม่ไหวแล้วออก เราอยากสร้างให้มันเกิด vibe เราเลยทำให้ชั้นหนึ่งกับชั้นสามทะลุถึงกันหมด เพราะเราอยากให้ vibe มันเชื่อมกัน เดินขึ้นไป เดินลงมา ให้มันมีเสียง มีบรรยากาศ ความสนุกต่างๆ แล้วก็โจทย์เราก็คือในเมื่อตรงนั้นคนจีนอยู่เยอะ ก็ทำเป็นจีนไปสิคุยไปคุยมาทราบว่ามีคนจีนอยู่ เป็นร้านขายยาจีนมาก่อน แล้วสุดท้ายเราก็เลยผูกเรื่องกันไปตั้งแต่ตอนที่สมัย ร.3-ร.4 เกิดโรคระบาด คนตายทั้งแถบ แล้วคนต้องขนศพผ่าน มันเลยเป็นประตูผี แล้วประตูผียังไงดีวะ ก็เลยคิดสตอรี่ว่ามันเหมือนเป็นร้านขายยาที่คอยรักษาคนเก่า เหมือนเป็นแหล่งหลบภัย ก็เลยเอาคาแรกเตอร์ตรงนั้นมา เช่นเหล็กข้ออ้อย เหมือนกับว่าสถานที่นี้มันถูกเก็บมานาน จนแบบพอเปิดมาปุ๊บ มันมีเหล็ก ยังมีโครงสร้างที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ แล้วกลับมาเจอ

4. Gradient-Toast Café จริงๆ เราเริ่มต้นมาจากเจ้าของที่ผลิตเหล็กข้ออ้อย ตอนแรกเราก็พยายามคุยกับเขาเพื่อสร้างคาแรกเตอร์อยู่นานเหมือนกัน เราก็เลยได้โจทย์ที่ว่าตอนแรกอยากทำเป็นคาเฟ่ แต่สักพักกลายเป็นคาเฟ่ที่เน้น Obanyaki toast เป็นขนมปังญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เราทำคือทำพื้นที่สนุกๆ ให้เขา เอ๊ะ ทำยังไงให้ร้านเขามีคาแรกเตอร์ความเป็นเหล็กข้ออ้อยของเขามากที่สุด แต่เราไม่อยากเอาแต่เหล็กข้ออ้อยมาใช้ เพราะเราหาข้อมูลระหว่างทางแล้วเราก็ค้นพบว่าระหว่างเหล็กที่รีดหรือว่าปั๊มออกมาเสร็จแล้วเนี่ย มันจะมีช่วงเย็นตัว แล้วช่วงเย็นตัวของเขาจะเริ่มจากสีแดงไล่ไปสีดำ เราเลยเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง ก็เลยเห็นว่าสนุกจัง ถ้างั้นร้านนี้จะต้องไม่ใช่สีโทนเย็น ไม่ใช่ earth tone จะต้องเป็นสีโทนร้อน เป็นเหล็กที่ยังไม่ได้เย็นตัว เราไปเล่นกับโซฟาที่ไล่จากเหลืองไปแดง เราเล่น lighting ตั้งแต่สีขาวที่ใช้ทำงานได้ ขาวที่เราโอเค ไล่มาจนถึงสีแดง เล่นกับ lighting เหมือนกับเป็นเตาอบ เพราะขนมเขาก็อบเหมือนกัน เราก็เล่นสเต็ป แอบใส่เหล็กของเขาเข้าไปนิดนึง แล้วก็เล่นกับพื้นที่ กับงบประมาณที่เขาไหว เราก็เลยต้องแปลงบางอย่าง เช่น เบาะไล่จากสีแดง มีแสงธรรมชาติเข้า โซฟาเป็นที่นั่งแบบสเต็ปไล่ลงมาเป็นสีแดง ส้มแดง ส้มเหลือง อะไรแบบนี้ครับ เพื่อให้สะท้อนกลับไปที่คอนเซ็ปท์ที่ว่านี่คือร้านที่มาจากธุรกิจของเขาจริงๆ คือผลิตเหล็กข้ออ้อย

    TAG
  • Tastespace.co
  • กิจธเนศ ขจรรัตนเดช
  • CAFÉ DESIGNER
  • designer
  • coffee
  • culture

กิจธเนศ ขจรรัตนเดช แห่ง Tastespace.co : Café Designer ผู้เดินทาง และผจญภัยไปกับเจ้าของร้าน

PEOPLE/INTERVIEW
April 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • PEOPLE/INTERVIEW

    พูดคุยกับ “MAMIO” บนหน้ากระจกสะท้อนตัวตนที่ถูกซ่อนมาทั้งชีวิต “อาจใช้เวลานานถึง 30 ปี แต่ก็ดีกว่าไม่มีโอกาสได้รู้เลย”

    คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ

    EVERYTHING TEAM8 days ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    THE ROARING SOUND OF BANGKOK EVILCORE

    Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia

    EVERYTHING TEAMOctober 2024
  • PEOPLE/INTERVIEW

    Nat Inksmith (ชณัฏฐ์ หวังบุญเกิด) มากกว่าความสวยงามคือการนำเสนอผลงานที่เป็นตัวตนผ่านศิลปะลายสัก

    ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน

    EVERYTHING TEAMOctober 2024
  • PEOPLE/INTERVIEW

    KIKI กับการเดินทางก้าวต่อไปของความคิดสร้างสรรค์บนเส้นทางดนตรี

    ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน

    EVERYTHING TEAMSeptember 2024
  • PEOPLE/INTERVIEW

    “แมรี่ ปานสง่า” ผู้เปรียบงานภัณฑารักษ์เป็นเสมือนงานศิลปะ ที่นำพาผู้ชมเข้าร่วมตัดสินใจถึงความงามของมัน

    คำตอบที่ถูกต้องแน่แท้ของคำถามที่ว่า “ศิลปะแบบไหนที่เรียกว่าสวย” นั้น คงยากพอ ๆ กับความพยายามในการค้นหาทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่าพระอาทิตย์สามารถขึ้นทางทิศตะวันตกได้ เพราะศิลปะที่เป็นเหมือนโลกอีกใบที่อยู่คู่ขนานไปกับโลกจริง อันประกอบสร้างจากความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิหลังของศิลปิน มักถูกตัดสินจากรสนิยมส่วนตัวของผู้ชมแต่ละคน บางคนสนใจแค่ความเจริญตา แต่กลับบางคนอาจมองลึกลงไปยังเบื้องลึกของมัน แล้วตัดสินจากประสบการณ์และความรู้สึก ซึ่งไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานตายตัวที่บ่งบอกถึงรสนิยมโดยรวมของสังคมได้ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นผลงานศิลปะชิ้นเดิม แต่คุณค่าและนิยามความสวยงามของมัน ก็อาจสามารถแปรผันไปได้ตามช่วงวัยของเราที่เปลี่ยนแปลงไป

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
  • PEOPLE/INTERVIEW

    in warm conversation by the sundown light with #VAXMENN Max Jenmana & VENN

    ช่วงเวลาแค่ 5 นาทีก็เพียงพอแล้ว ที่เราจะได้ดำดิ่งเข้าสู่ห้วงความทรงจำและอารมณ์อันซับซ้อนไร้จุดสิ้นสุด ที่เกิดขึ้นจากการร้อยเรียงเรื่องราว ประสบการณ์ทางดนตรี บนเส้นทางชีวิตและมิตรภาพของพวกเขา “VAXMENN” (ที่มาจากการผวนคำว่า MAXVENN) ซึ่งเป็นการรวมตัวเพื่อทำงานดนตรีด้วยกันครั้งแรกของกลุ่มเพื่อนที่พบเจอและร่วมวงเฮฮาปาร์ตี้กันมานานหลายปี อย่าง แม็กซ์ - ณัฐวุฒิ เจนมานะ กับ VENN วงดนตรีสายอัลเทอร์เนทีฟโฟล์กที่ประกอบด้วย ว่าน - ปรีติ์ อัศวรักษ์, แอป - จิรกิตติ์ ท้าวติ, ปน - นริศ สโรบล และ ต๊อบ - ธัชพล ชีวะปริยางบูรณ์

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )