LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING



ศุภรัตน์ ชินะถาวร (Party / Space / Design) นักออกแบบคาเฟ่ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนของร้านกาแฟ
เมื่อพูดถึงการออกแบบร้านกาแฟ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าแค่หาอินทีเรียดีไซเนอร์มาออกแบบให้สวย ซื้อหาเฟอร์นิเจอร์มาวาง เท่านั้นก็ได้คาเฟ่สวยๆ แล้ว แบบนั้นไม่ผิด แต่เราก็จะได้คาเฟ่ที่เหมือนกันหมดและไม่มีคอนเส็ปต์อันบ่งบอกตัวตนของเจ้าของคาเฟ่แห่งนั้น และเมื่อ identity ไม่ถูกนำเสนอออกมา ก็ยากที่จะทำให้ลูกค้าอยากแวะเวียนเข้ามาใช้บริการ ด้วยเหตุนี้ คาเฟ่ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการออกแบบที่นำเสนอตัวตนออกมาโดยเฉพาะ และนั่นคืองานของนักออกแบบคาเฟ่และร้านอาหาร


และเมื่อพูดถึงการออกแบบคาเฟ่และร้านอาหาร ชื่อแรกที่คนในวงการนึกถึงและแวะเวียนมาใช้บริการคือ Party / Space / Design (p.s.d.) สตูดิโอออกแบบ (และยังเป็นคาเฟ่ในตัวเองด้วย) ของ โต - ศุภรัตน์ ชินะถาวร restaurant and café designer ผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่ และก่อตั้ง p.s.d. มากว่า10 ปี มีร้านอาหารและคาเฟ่ชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศมากมายที่ใช้บริการการออกแบบของเขา
เพราะเชื่อว่าในการออกแบบของ ศุภรัตน์ เขาสามารถดึงตัวตนของเจ้าของคาเฟ่ และสร้างอัตลักษณ์ให้คาเฟ่แห่งนั้นดูโดดเด่นได้ในที่สุด
ถ้าเราไม่เก็ตเรื่องนี้แล้วเราวางเขาผิด เขาจะไม่มีความสุขเลย เขาจะไม่อยากมาทำร้าน ทั้งๆ ที่นั่นคือร้านของเขา

ตั้งสติก่อนมาให้ออกแบบ ต้องรู้ว่าเราอยากเป็นอะไร
“เอา ณ ตอนนี้ ผมมีโปรเจกต์ออกแบบอยู่ประมาณ 10 ร้านครับ นับรวมร้านเราเองด้วย มีทั้งที่กำลังจะเสร็จ ทั้งที่คุย ๆ เริ่มวางคอนเซ็ปท์ และเกินครึ่งเป็น specialty ที่คั่วด้วย บาริสต้าเก่งด้วยครับ” โต ศุภรัตน์ เริ่มต้นเล่าถึงงานของเขาเมื่อเราถามว่าช่วงนี้เขายุ่งไหม ตามด้วยคำถามที่ว่าในฐานะนักออกแบบ การออกแบบร้านกาแฟหรือคาเฟ่ของตนเองแตกต่างจากการออกแบบร้านอื่นๆ อย่างไร
“โอเค เราตอบคำถามนี้แต่ละปี ไม่เคยเหมือนกันเลย (หัวเราะ) เพราะมันมีอะไรอยู่ในหัวเต็มไปหมด ในแต่ละปี เรามีสิ่งที่ตื่นเต้นไปกับมัน สนุกไปกับมัน พยายามมองหาโจทย์ใหม่ๆ หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ อยู่เสมอจนหลายครั้งก็คิดว่าทำไมเราต้องหนีคนอื่นขนาดนี้วะ เคยมีน้องๆ แซว ‘พี่ก็เอาร้านที่ออกแบบแล้วไม่ได้สร้าง ก็เอาให้เจ้านี้ไปเลย เขาก็ไม่รู้อยู่ดี ทำไมพี่ไม่ทำอย่างนั้น?’” โต กล่าวพร้อมกับหัวเราะ
นั่นสิทำไมไม่ทำอย่างนั้น โต ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “เพราะมันไม่ใช่ตัวเขาไงครับ แต่ละร้านมันมีตัวตนไม่เหมือนกัน เราออกแบบให้ใครเราก็ดูเขาอย่างละเอียดน่ะ อย่างเช่นรสนิยมการทานกาแฟเขาเป็นแบบไหน เขาเป็นสายลาเต้อาร์ท เขาเป็นสายดริป หรือเขาเป็นสายคั่ว เราต้องรู้ให้ได้ว่าเขาเป็นแบบไหน เขาเองก็ต้องรู้มาก่อนว่าตัวเองเป็นแบบไหน
“ทั้งหมดมันเกี่ยวกับการออกแบบครับ ทุกครั้งเวลาทำร้านกาแฟ เราพยายามจะทำงานบนตัวตนของลูกค้า แล้วนำเสนอสิ่งที่มันใหม่ที่สุด ไม่ใช่ความเป็นเราเลย ไม่ใช่งานดีไซน์ ไม่ได้ทำตามเทรนด์ใดๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะเอางานที่ไม่ใช้ให้ใครไปไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ออกแบบบนตัวตนของเขา”

คุณกินกาแฟไหม? คำถามแรกที่พาไปสู่สิบทางเลือก
ในการออกแบบให้กับลูกค้า p.s.d. ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และความต้องการของเจ้าของร้าน ผ่านการพูดคุยนับสิบชั่วโมง เพื่อค้นหาว่าตัวตนนั้นสามารถนำไปออกแบบต่อได้กี่แบบบ้าง การพูดคุยนี้จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ซึ่งมันเริ่มจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า ‘คุณกินกาแฟไหม?’
“ผมถามลูกค้าคำแรกเลย กินกาแฟไหม? ถ้าไม่กินนี่ไม่ทำให้นะครับ (หัวเราะ) เพราะว่ามันทำไม่ได้ ไปจ้างคนอื่นดีกว่า คือถ้าไม่กินกาแฟ มันจะต้องตอบคำถามต่อมาว่าแล้วทำไมถึงอยากทำร้านกาแฟ อยากรวยเหรอ อยากเท่เหรอ แล้วใช้เครื่องอะไร พอไม่กินกาแฟ มันก็เลยไม่ใช่การทำงานในฐานะผู้บริโภคกับผู้บริโภคคุยกัน ทุกครั้งที่เริ่มโปรเจกต์ผมจะแชร์ในกลุ่มว่าผมเป็นคนกินกาแฟนะ ถ้าคุณเป็นคนกินกาแฟ เรามาช่วยกันออกแบบประสบการณ์การทานกาแฟกันดีกว่า เราจะเริ่มจากแบบนี้ อ๋อ นี่สายคั่ว อ๋อ นี่สายลาเต้อาร์ท อ๋อ นี่สายแบบ make money หาเงินอย่างเดียว เอาสวยเข้าว่า บางรายก็เน้นโซเชียลฯ ครับ ไม่เน้นขายดี ‘เน้นขอร้านพี่ดังแล้วกันนะ เอาให้ได้รางวัลทั่วโลกน่ะโต’ คือผมเคยได้โจทย์แบบนี้มาแล้วนะครับ แต่ไม่ว่าจะแบบไหน ทั้งหมดก็เป็นความต้องการที่ชัดเจนของคนจะลงทุนทำร้าน แล้วมาจ้างเราให้ออกแบบ ซึ่งออกแบบไม่เหมือนกันตามโจทย์อยู่แล้ว
“พูดแล้วเดี๋ยวหาว่าหยิ่ง (หัวเราะ) แต่ถ้าคนไม่กินกาแฟมาให้ผมทำ ถามว่ารับทำไหม ก็รับทำแหละครับ (หัวเราะ) แต่ผมก็จะมีกฎคร่าวๆ ว่าถ้าเรื่องกาแฟต้องเชื่อผมนะ ผมเป็นคนทำกาแฟ ผมไม่ใช่นักออกแบบอย่างเดียว ผมเป็นดีไซเนอร์ ผมเป็น coffee maker ผมเป็นนักเรียนกาแฟ เพราะฉะนั้นเวลาผมถามคุณว่าคุณใช้เมล็ดที่ไหน ถ้าคุณตอบไม่ได้เนี่ย เจ๊งนะ เพราะว่าค่าเมล็ดกาแฟเป็นต้นทุนที่เยอะที่สุดในร้าน สมมติว่าคุณใช้เมล็ดกาแฟเจ้าหนึ่งกิโลกรัมละ1,500 บาท แต่ร้านอื่นอาจจะหาได้ที่กิโลกรัมละ 400 บาท ต้นทุนคุณสูงกว่าเขาแล้ว แล้วพอต้นทุนคุณสูง คุณก็ขายแก้วละ 150 บาท แล้วพอมีคนด่าว่าคุณขายแพง ก็แสดงว่าเขาไม่กลับมาซ้ำร้านคุณแล้วนะ เพราะฉะนั้น มันต้องดู tier ก่อน ว่าคุณจะอยู่ tier ไหนกับธุรกิจร้านกาแฟนี้


“ทีนี้ต่อมาถ้าสมมติเขาเป็นคนกินกาแฟ ผมก็จะถามต่อว่าชอบกินกาแฟแบบไหน เพราะมันเหมือนรสนิยมการทานอาหาร คุณชอบทานอะไร ชอบ fine dinning โอ้โห ต้องมีเชฟ อะไรแบบนั้น ถ้ากินกาแฟอยู่บ้าง ผมจะถามว่าชอบกินแบบไหน คั่วเข้มคั่วอ่อน ถ้ามาแนวคั่วอ่อนชอบดริปเนี่ย เฮ้ย คุณมีแนวโน้มจะเป็น specialty ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเน้นเครื่อง เน้นเครื่องบด เครื่องบดต้องดี เพราะคุณต้องลองเมล็ดหลายตัว แต่ถ้าแบบขำๆ เลย ‘ผมไม่คิดมากครับ ผมกินเย็น’ งั้นต้องขอเครื่องดี เครื่องบดอะไรก็ได้ เพราะเครื่องดี ลูกค้าจะยอมจ่ายแก้วละ 100 บาทแล้วเขาไม่ตั้งคำถาม
“แล้วคำถามต่อมาคือคุณเอามู้ดโทนการชงแบบไหน เช่นไม่อยากให้เห็นบาร์กาแฟ ขอหลบๆ มันมีนะครับแบบนี้ มันเหมือนรสนิยมคนน่ะ ผมอยากหล่อ ผมไม่อยากซ่อน ผมอยากอยู่แบบหลบๆ ผมอยาให้เหมือน Starbuck ได้ไหม คือเดินเข้ามาเจอที่นั่งก่อน (หัวเราะ) เจอขายอาหารนู่นนั่นนี่ก่อน บางคนมาบอกว่า ‘ผมขออยู่กลางร้าน ผมขอบาร์เด่นสุดในร้านเลย เพราะบาริสต้านี่ได้แชมป์ประเทศไทยมา’ มันก็จะมีเรื่องแบบนี้อยู่ พอรู้มู้ดโทนแล้วทีนี้แปลนร้านก็จะมา วางแปลนร้านเสร็จ วางงานระบบน้ำไฟต่อ แล้วค่อยเป็นเรื่องที่นั่งอันนี้มาทีหลัง คือยิ่งซีเรียสเรื่องกาแฟมากเท่าไหร่ ตำแหน่งบาริสต้ากับเครื่องชง เครื่องบด จะต้องวางก่อนในร้านเสมอ แต่ถ้าเป็นประเภทที่ว่า ‘พี่เอาร้านดังอย่างเดียวเลยโต’ เพราะฉะนั้นไอ้บาร์นี่อยู่หลังสุดเลย ถ้าลูกค้าเข้ามา เราก็ต้องให้เขาเห็นอีเวนท์ก่อนดีไซน์ มาเห็นต้นไม้นี้ก่อน เห็นที่นั่งหรูๆ มุมนี้ถ่ายรูปสวย มุมนั้นมีเครื่องชงกาแฟอยู่ด้วยเว้ย เพราะคนกลุ่มนี้ไม่สนเมล็ด จะเปิดเมนู สั่งกาแฟผ่านเมนู เท่านี้ก็ flow ในร้านก็ต่างกันแล้วครับ การดีไซน์ต่างๆ ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ที่นั่ง seating ต่างๆ ก็ไม่เหมือนกันแล้ว มันมีผลชี้เป็นชี้ตายได้เลยนะครับ อย่างเช่นจำนวนที่นั่งเนี่ย ร้านกาแฟส่วนใหญ่ชอบลืมไปว่าคนไทยไม่นิยมกินร้อน คนไทยชอบกินกาแฟเย็น ก็อยากจะกินในร้าน อันนั้นก็มีผลต่อการออกแบบจำนวนที่นั่งในร้านแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นสาย specialty คนไทยจะกินสด กินร้อนเสมอ
“กาแฟร้อนมันเป็นเหมือนอาหาร ต้องทำสด ผิดพลาดไม่ได้เลยหรือต้องมีให้น้อยที่สุด แต่ถ้าเย็นนะ คุณผิดพลาดนิดหน่อย เช่น เทผิดอัตราส่วน น้ำแข็งไม่ได้ทรง น้ำหนักผิด แบบนั้นพอรับได้ เพราะมันจะโดนละลายไปหมดแต่ถ้ากินร้อน มันก็พร้อมที่จะผิดพลาด ดังนั้นร้อนยากกว่าเย็น แต่เย็นขายดีกว่าร้อน เราก็เลยต้องคุยกับบาริสต้าว่าบาริสต้าเป็นคนแบบไหน คาแรคเตอร์แบบไหน ก็ต้องคุยกันตั้งแต่ตอนต้นให้จบเลย



“เช่นเดียวกับ seating เรื่อง traffic นี่ก็ต้องคุยให้จบว่าเอาแบบไหน คุณเน้นขายดีใช่ไหม ขายดีก็ต้องนั่งนานๆ มีพื้นที่ในการนั่งมากหน่อย มี traffic แต่นั่งนานกับนั่งเยอะไม่เหมือนกันนะครับ นั่งนานเนี่ยคือนั่งสบาย คุณต้องได้พื้นที่ใหญ่ และต้องได้พื้นที่ตั้งฉากมาก แต่นั่งเยอะนี่คืออาจจะไม่ต้องนั่งนานก็ได้ แต่ถ้าเขามาเป็นกลุ่มต้องนั่งได้หมด เช่นคุณต้องวางแปลนให้มี communal table เป็นโต๊ะแบบนี้ไว้กลางร้าน เพื่อที่จะมาแล้วนั่งรุมกันได้ คนชอบอะไรแบบนี้ หรือโซฟาเป็นแพ็ค เข้าไปตรงนั้นตรงนี้” ศุภรัตน์ อธิบายถึงหลักการทำงานของเขาที่เริ่มต้อนด้วยคำถามง่ายๆ แต่คำถามเดียวก่อนที่จะพาไปสู่คำตอบของการออกแบบได้เป็นสิบเป็นร้อยแบบ ซึ่งเขาสรุปได้สั้นๆ ว่าบางทีก็เหมือนผู้กำกับภาพยนตร์
“เอาจริงๆ เหมือนทำหนังเรื่องหนึ่งเลย เราเลือกแล้วว่าหนังแอคชั่น แม่งฆ่ากันชิบหายแน่นอน บทบู๊มาแน่นอน เราจะวางบทบู๊ยังไง เริ่มมาแม่งฆ่ากันเลยแล้วค่อยไปเล่าเรื่องทีหลัง หรือว่าเล่าเรื่องก่อนแล้วพีคกลางเรื่อง เพราะฉะนั้นผมก็จะวางอย่างเช่น เจ้าของเป็นบาริสต้าทำกาแฟ จะดูอีกว่าเขาอยากทำร้านกาแฟทำไม ตรงนี้มีผลมาก เพราะเอาเข้าจริงๆ เรื่องกาแฟมันนิดเดียวครับ เรื่องกาแฟมันไม่เปลี่ยน คนน่ะเปลี่ยน เครื่องบดก็มีไปสิ เม็ดก็เม็ด เอสเปรสโซ่ จะดงจะดำก็ว่าไป แต่คนที่มองเรื่องนั้นเรื่องนี้นี่แหละสำคัญ เพราะถ้าเราไม่เก็ตเรื่องนี้แล้วเราวางเขาผิด เขาจะไม่มีความสุขเลย เขาจะไม่อยากมาทำร้าน ทั้งๆ ที่นั่นคือร้านของเขา แล้วเขาลงเงินไปแล้วจะทำยังไง ถ้าเราเป็นลูกค้า เราโกรธนะ คนที่เอาเงินเราไปสิบกว่าล้านสร้างร้าน แล้วไม่สนว่าคุณจะอยู่ร้านหรือไม่อยู่ร้าน ดีไซเนอร์ที่มีอีโก้จะเอาร้านสวยอย่างเดียวเลย แบบว่า...ลูกค้าห้ามเข้าตรงนี้ ไปเข้าหลังร้านโน่น เป็นผม ผมจะไม่โอเคเลย”

อีโก้เป็นเหมือนไฟ ใช้แค่ตอนปรุง
เมื่อพูดถึงอีโก้ของนักออกแบบ ศุภรัตน์ ยืนยันว่า อย่างไรก็ต้องมี แต่ประเด็นก็คือนักออกแบบที่ดี ต้องรู้ว่าจะใช้อีโก้นั้นในขั้นตอนไหน “ดีไซเนอร์ก็จะมีอีโก้ทั้งนั้นแหละครับ แต่อย่างผม ผมใช้อีโก้หลังสุดครับ ใช้หลังจากข้อมูลครบแล้ว บทภาพยนตร์มาแล้ว แนวหนังได้แล้ว ที่เหลือคือมองอีโก้เหมือนไฟ ใช้ตอนเราปรุงอาหารอย่างเดียวเพื่อทำให้มันสุก แต่การตระเตรียม เลือกเฟ้นวัสดุในการทำ อันนี้สำคัญกว่า ถ้าเตรียมตรงนี้มาดี การปรุงจะใช้เวลาน้อย แล้วพอดี ไม่มากเกินไป
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเตรียมข้อมูลมาดี ครบแล้ว ในการออกแบบ อาจจะไม่มีมีอะไรมาก ผมอาจจะวางบาร์ธรรมดาๆ ตัวหนึ่ง โต๊ะเก่าหนึ่งตัว วางเครื่องบด วางอะไรต่างๆ บอกลูกค้าว่า ‘พี่ทำให้จบในโต๊ะเลยนะ แล้วที่เหลือพี่วางรกๆ ได้ครับ บาร์ริสต้าเขาจะหล่อ ทุกคนชื่นชม เพราะนั่นคือตัวเขา’ แล้วทุกคนมาก็เสพได้จริงๆ ว่า ‘เออ มันเป็นคนแบบนี้แหละ ถึงว่ามันเลยทำร้านแบบนี้’ นี่คือคำชมที่ผมอยากได้ที่สุดแล้วหลังจากทำร้านเสร็จ คนมาแล้วสัมผัสได้ว่าเจ้าของร้านต้องการเล่าประสบการณ์ด้านไหน แบบไหน แล้วเขาแฮปปี้ ลูกค้าแฮปปี้ ได้เงิน เพราะหลักสำคัญก็คือ ถ้ามีคนแฮปปี้มากกว่าหนึ่งคน ธุรกิจแบบนี้มักจะได้เงิน ถ้าลูกค้าแฮปปี้ เจ้าของร้านไม่แฮปปี้ แม่งมาถ่ายรูปอย่างเดียวเลย ไม่สั่งแก้วที่สอง เจ๊งไปเยอะแล้ว หรือเจ้าของร้านแฮปปี้นะ แต่ลูกค้าเข้ามาแม่งกลัวว่ะ แม่งเจ้าของมันติสท์เกิน กูไม่กล้ากินแล้ว มาถาม มาคุยเยอะจังว่าเม็ดอะไร (หัวเราะ) ก็จะสั่งเย็นน่ะ โอ้โห ทำไมถามเยอะจัง แค่อเมริกาโน่เย็นน่ะ เขาจะเซ็งทันที” ศุภรัตน์ แห่ง p.s.d. สรุป

5 ร้านกาแฟอันโดดเด่นของ โต p.s.d.

(1) Nana Coffee Roaster ร้านของพี่กุ้ง (กุ้ง-วรงค์ ชลานุชพงศ์ กับ กุ้ง-กานดา โทจำปา) เป็นอาจารย์คนแรกของผม ผมไปกินกาแฟแล้วชอบ เลยไปฝึกแคมป์กาแฟกับแก แล้วก็แกสอนทุกศาสตร์ให้ผม ก็เลยกลับมาทำร้านกาแฟด้วยกันหนึ่งร้านคือ Nana Coffee Roaster ตรงเลียบทางด่วน หลังจากนั้นผมก็มีร้านที่กำลังทำกับแกอีกร้านหนึ่ง กำลังทำอยู่ครับ ร้านแรกที่ชอบเพราะว่าพี่กุ้งคือคนนอกวงการกาแฟ ที่กระโดดมาทำกาแฟตอนอายุ 40 ผมว่า เฮ้ย เหมือนผมเลยส่ะ ผมอยากทำกาแฟนะ แต่ผมอายเด็ก แบบเวลาเริ่มต้นแล้วเจอกระแนกระแหนว่า “แหมพี่ ไม่รู้เหรอเอธิโอเปียคืออะไร” “เออ ก็ไม่รู้ แล้วจะทำไมล่ะ ก็กินแต่กาแฟ Starbuck มันพูดไหมล่ะ มันก็พูดอะไรของมันก็ไม่รู้” เลยรู้สึกว่าพี่กุ้งเป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์ที่ดี เขาสอนพอดีคำ เขาสอนตามความชอบของเรา ที่ชอบเพราะผมคุยกับแกรู้เรื่อง เหมือนคนแก่คุยกัน



(2) WWA ผมไปเจอบาริสต้าเขาในกลุ่มนักทานกาแฟ แล้วเขาจะทำร้าน ผมเองก็จะซื้อเครื่องพอดี ก็เลยซื้อ Spirit สามหัวพร้อมกัน “เฮ้ย โต ใช้ Spirit เหรอ? ใช้เหมือนกันเลย มาทำร้านให้หน่อย” ก็เลยได้ทำร้านให้แกสองสาขา ที่ Central World (WWA Cafe) กับที่WWA Portal อันนี้เราชอบตรงที่เราคุยในฐานะคนทำเหมือนกัน เราไม่คุยเรื่องดีไซน์เลย ดีไซน์นี่ผมครึ่งหนึ่ง เขาครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ คุยเรื่องวัสดุ เรื่องจะทำยังไงให้วงการกาแฟมันพูดเรื่องที่นอกเหนือจากเครื่องกาแฟได้ไหมวะ นอกเหนือจากร้านสวยได้ไหมวะ เราหยิบอะไรใหม่ให้คนดีกว่า เช่น คนไม่เคยเห็นอลูมิเนียมที่มันหนาเกิน 5 เซนติเมตร อิมพอร์ตเข้ามาดีกว่า มาทำเป็นร้านที่เกิดจากอลูมิเนียม เป็นท็อปโต๊ะ เป็นเก้าอี้ตันๆ อลูมิเนียม เอาอะไรไรแบบนี้ดีกว่า ให้มันเหมือนห้องแลปไปเลย อันนี้ผมคุยแล้วผมถูกคอมาก


(3) Red Diamond เราทำสาขาใหม่ของเขา ที่เลียบทางด่วนครับ ยังไม่เปิดตัวครับ สาขาที่ผมทำจะเป็นฟาร์ม เขาจะทำให้เป็นโกดัง ออกแบบให้เป็นคอนทัวร์รูปภูเขา ที่ปลูกกาแฟ แล้ว wrap มาเป็นตัวอาคาร หมู่บ้าน ทำให้เหมือนเดินเล่นอยู่บนดอย สร้างเป็นประสบการณ์ใหม่ในการที่ไม่ต้องขึ้นไปบนดอย กาแฟที่ดีที่สุดเขาว่าต้องขึ้นไปบนดอย ไปคั่ว ไปเจอคนปลูก ไม่ต้อง เอาบนนั้นลงมา


(4) Pacamara ที่เราไปทำให้ เป็นสาขาพิเศษ (Pacamara X SB Design Square Crystal Design Center) เขาร่วมทุนกับ SB ครับ เปิดอยู่ในSB Design Square ที่ CDC ครับ อันนี้มันเป็นสาขาพิเศษ ส่วนใหญ่พวกนี้เขาจะมี in house ของเขาอยู่แล้ว แต่เวลาที่เขาต้องการอะไรแปลกๆ เขาจะหาคนที่เข้าใจเขา แล้วก็ใส่สิ่งใหม่เข้าไปได้ด้วย ที่ชอบเพราะมันเป็นร่วมกันระหว่างขายเฟอร์นิเจอร์กับขายกาแฟ ก็เลยออกแบบมาเป็นแมชชีนสำหรับประชุม คุยงาน ที่เป็นบันไดเยอะๆ น่ะครับ ได้แรงบันดาลใจมาจากระบบกาแฟ ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของการชง สัดส่วนสูตรต่างๆ


(5) Bottomless ในความคิดผม Bottomless นี่แหละแหละครับที่ผมว่ามันเป็นบาลานซ์ระหว่างคนที่บ้ากาแฟมากๆ กับคนที่รู้ว่า showcase สำคัญ การสร้างประสบการณ์สำคัญ เราทำกาแฟให้อยู่ในระดับเดียวกับคำว่าเวที มันเป็นคำแซวของพวกวงการบาริสต้าว่าบางคนทำบาร์เหมือนตัวเองไปอยู่หลังกองขยะ ขยะกาแฟ เม็ดนู่นนั่นนี่ บางคนก็บอกว่าขอบาร์โล่งๆ ให้ตัวเองได้อยู่เหมือนท่ามกลางเวทีโล่งๆ แล้วเหมือนเต้นบัลเลต์อ่ะ มันเป็นสองสายสุดโต่ง Bottomless บอกไม่ได้ ต้องเอาอุปกรณ์กาแฟเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เลยทำเวทีเป็นวงกลม คือเข้ามาจะช็อคแบบ... ทั้งร้านมีแค่ที่นั่งคล้ายอัฒจันทร์ในสนามกีฬากับวงกลมตรงกลางอันนี้ มันเหมือนดูมวยนะ ใช้คำนี้ดีกว่า (หัวเราะ) คุณคือเดี่ยวไมโครโฟนน่ะ ต้องใช้คำนี้ คือถ้าคุณเอาคนไม่อยู่ ตาย! เมล็ดมี 7 ตัว เครื่องกาแฟ 2 เครื่อง ต้องเก่งมากๆ เลยนะ ซึ่งถ้าไม่ใช่ Bottomless ทำไม่ได้ เขาคือสายลาเต้อาร์ท สายแข่ง สายไซฟ่อน สายคั่วด้วย ทำทุกอย่างเองหมดเลย เพราะฉะนั้นการออกแบบ ออกแบบเป็นสเต็ปนี้ก็ถูกแล้ว เลยเป็นเหมือนดูหนังไปด้วย เป็น Game of Throne เป็นเวทีที่มีท่อลงมา เหมือนเป็นอัฒจันทร์ที่บาร์ริสต้ายืนตรงกลางหล่อๆ
ศุภรัตน์ ชินะถาวร (Party / Space / Design) นักออกแบบคาเฟ่ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนของร้านกาแฟ
/
ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ
/
วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว
/
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ
/
Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia
/
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน
/
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )