Strangers from Hell เมื่อนรกคือคนอื่นที่เราต่างหยิบยื่นให้คนมาใหม่ | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

  “Strangers from Hell” เป็นซีรี่ส์ที่เดิมออกอากาศในช่อง OCN (Orion Cinema Network) ของเกาหลีใต้ในชื่อ “Hell is Other People” ก่อนที่ Netflix จะซื้อลิขสิทธิ์มาฉายออนไลน์และเปลี่ยนชื่อ อันที่จริงวลี “Hell is Other People” หรือ “นรกคือคนอื่น” นั้นก็ไม่ใช่ศัพท์แสงใหม่ เพราะมันคือ "L'enfer, c'est les autres" วลีคลาสสิคที่อยู่ในบทละครเวทีในปี 1944 เรื่อง “No Exit” (“Huis Clos”) ของ ฌอง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสและนักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี 1964 ผู้มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอแนวคิดแบบอัตถิภาวนิยม หรือ “Existentialism” ที่เชื่อว่าทุกคนมีอิสระและรับผิดชอบในการกระทำของตน ใน “No Exit” ซาทร์ นำเสนอว่าบางทีสิ่งที่เรียกว่านรกหรือสภาวะที่เหมือนตกนรกทั้งเป็นนั้นก็หาใช่มาจากการลงทัณฑ์ทรมานใดๆ ไม่ แต่มาจากมนุษย์ด้วยกันเองต่างหากที่คอยหยิบยื่นถ้อยคำอันเปรียบเสมือนคมหอกคมหลาวทิ่มแทงมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งนี่คือแก่นแกนสำคัญของซีรี่ส์สยองขวัญที่จะพาผู้ชมดำดิ่งลึกลงไปยังส่วนที่ลึกสุดในจิตใจของมนุษย์

  ก่อนจะมาเป็นซีรี่ส์ “Strangers from Hell” เป็นคอมมิคที่ลงในรูปแบบเว็บตูนโดย คิมยงกี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงจนถูกนำมาทำเป็นซีรี่ส์ คิมยงกี เล่าว่าเขานำประสบการณ์ครั้งที่ตนเดินทางเข้ามาในกรุงโซลและต้องพักอาศัยที่หอพักเล็กๆ ซอมซ่อแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่ดูแปลกประหลาดและไม่น่าไว้วางใจมาเขียนเป็นการ์ตูนที่ผสมผสานทั้งความน่าสะพรึงกลัวแบบทริลเลอร์ที่เขย่าขวัญผู้ชม ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมอันโหดร้ายของเมืองใหญ่ไปพร้อมกัน

  “Strangers from Hell” เริ่มต้นเล่าเรื่องที่ ยุนจงอู (อิมชีวาน) หนุ่มน้อยที่เพิ่งปลดประจำการและเดินทางเข้ากรุงโซลเพื่อมาทำงานหาเงินตามคำชักชวนของรุ่นพี่มหาวิทยาลัย นอกจากสร้างเนื้อสร้างตัวแล้ว จงอู เข้าเมืองด้วยความฝันสองประการนั่นคือการได้อยู่ใกล้ชิดกับ จีอึน (คิมจีอึน) แฟนสาวที่เข้ามาอยู่ที่โซลก่อนแล้วและสานต่อความฝันในการเป็นนักเขียนแนวอาชญกรรมสืบสวนตามที่เขาตั้งใจใฝ่ฝัน ยุนจงอู ก็เหมือนกับอีกหลายร้อยหลายพันคนที่เดินทางเข้าเมืองมาด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า ลืมต้าอ้าปากหรือแม้กระทั่งสานความฝันของตัวเองได้ และก็เหมือนกับอีกหลายร้อยหลายพันคนที่โดนเมืองใหญ่กลืนกินความฝันนั้นไปต่อหน้า กลืนกินแม้กระทั่งตัวเองและกลายเป็นอื่นเหมือนชะตากรรมของ จงอู

  ชะตากรรมดังว่านั้นเริ่มต้นที่ จงอู ไปเช่าห้องพักราคาถูกมากแห่งหนึ่ง เพราะไม่มีปัญญาสู้ราคาหอพักที่ดีกว่านี้และสะดวกกว่านี้ได้ หอพักที่ว่านั้นชื่อ “เอเดน” บริหารงานโดย ออม บ็อกซุน (อีจองอึน จาก “Parasite”) ซึ่งดูภายนอกก็เป็นคุณป้าที่มีอัธยาศัยดีคนหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจอาศัยที่นี่ แต่เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงแรกของการอยู่ที่ เอเดน จงอูก็สัมผัสถึงความไม่ชอบมาพากลของที่นี่ หรือพูดให้ถูกก็คือสัมผัสได้ถึงความวิกลลักลั่นบิดเบี้ยวของผู้คนที่อยู่อาศัยที่นี่ ทั้งตัวป้าเจ้าของหอพักเอง และคณะบุคคลวิกลจริตกลุ่มหนึ่งซึ่งมีทั้งฝาแฝดที่ดูยังไงก็ผิดปกติ และชายหนุ่มที่ใส่เครื่องติดตามตัวที่ข้อเท้า (อันเป็นเครื่องหมายบอกว่าไม่น่าจะใช่คนที่พึงไว้วางใจได้) ผู้เสพติดหนังโป๊ตลอดเวลา อีกทั้งยั่วโมโห แสดงอาฆาตมาดร้าย จงอู ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เขาเข้ามาอยู่ในหอพักแห่งนี้ และผู้คนทั้งหมดนั้นก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ใต้อาณัติของ ซอมุนโจ (อีดงอุก) ทันตแพทย์หนุ่มรูปงามที่บงการให้คนเหล่านั้นทำอะไรสักอย่าง แม้ จงอู นั้นจะสัมผัสความไม่ชอบมาพากลนี้ได้ตั้งแต่แรก แต่เขาก็จำเป็นต้องอยู่ในหอพักนี้ต่อไป เนื่องจากไม่สามารถขยับขยายไปที่อื่นได้

  ภาวะ “ไร้ทางเลือก” จึงเป็นสิ่งที่ จงอู ต้องก้มหน้ารับมันไปพร้อมๆ กับภาวะของการเป็น “คนมาใหม่” ในสังคมเมืองหลวงในแทบจะทันทีที่เขาตกลงใจเลือก เอเดน เป็นที่อยู่อาศัย การเป็นผู้มาใหม่ที่ไร้แต้มต่อใดๆ ทำให้ จงอู เข้าใจวลีทองของ ฌอง-ปอล ซาทร์ ที่บอกว่า “นรกคือคนอื่น” อย่างแท้จริง

  เพราะนอกจากต้องเผชิญหน้ากับความน่าสะพรึงกลัวของบรรยากาศและผู้คนในหอพักเอเดนแล้ว โลกนอกหอพัก โลกการทำงานของเขาก็น่าสะพรึงกลัวไม่แพ้กัน เมื่อเขาพบว่าบรรยากาศในที่ทำงานนั้นไม่เป็นมิตรกับเขาเลย จงอู ถูกฝากฝังไว้กับพี่เลี้ยงหัวหน้างานคนหนึ่งที่แสดงท่าทีรังเกียจเขาตั้งแต่แรก นอกจากไม่สอนงานให้แล้ว ยังคอยดุด่าต่อว่าลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ จงอู อยู่เสมอ แต่นั่นอาจเลวร้ายไม่เท่ากับความจริงที่เขาพบว่า รุ่นพี่มหาวิทยาลัยที่ชวนเขามาทำงานด้วยนั้น เลือกเขาเพียงเพราะต้องการจ่ายค่าจ้างถูกๆ ต่างหาก และยังมีความเป็นไปได้ว่ากำลังให้ความสนใจในจีอึน แฟนสาวของ จงอู เช่นกัน

“Strangers from Hell” นำเสนอภาพตัวแทนของโครงสร้างในงสังคมใหญ่ที่มนุษย์กัดกิน บ่อนทำลายกันและกันตามสัญชาติญาณ โดยไม่สนใจเรื่องความดีหรือน้ำใจไมตรีที่ควรหยิบยื่นให้ต่อกัน และมันบิดเบี้ยวถึงขั้นที่ว่า มนุษย์นั้นพร้อมจะเขียนสมการแห่งความดีในแบบที่ตนเข้าใจและเชื่อไปเองได้เสมอ

  แม้กระทั่งตัวละครอย่าง จีอึน เองก็ตาม แม้ซีรี่ส์จะทำให้ผู้ชมเห็นว่าเธอเข้ามาทำงานในกรุงโซลก่อนหน้า จงอู ได้ระยะหนึ่ง แต่เธอเองก็ยังหนีสภาวะตกนรกจากการเป็นคนใหม่ เป็นน้องใหม่ไปไม่พ้น เพราะถูกหัวหน้างานกดขี่ดูถูกถากถางสารพัด ในแง่นี้ “Strangers from Hell” ทำให้เราเห็นภาพสังคมการทำงานอันโหดหินและการกดขี่กันอย่างเป็นรูปธรรมในเมืองใหญ่อย่างโซล (และอาจรวมถึงหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก) ได้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นคนมาใหม่ นรกจากผู้มาก่อนก็พร้อมจะกัดกินนิวคัมเมอร์ให้สูญสิ้นไปได้ไม่ยาก ถ้าไม่ต่อสู้แบบถึงพริกถึงขิงเหมือน พัคแซรอย ในซีรี่ส์ “Itaewon Class” พวกเขาเหล่านั้นก็อาจเปลี่ยนไป หรือสูญเสียตัวตนไม่ต่างจาก จงอู การสูญเสียตัวตนและเปลี่ยนผ่านจากตัวตนหนึ่งไปสู่อีกตัวตนหนึ่ง ซึ่งเป็นชะตากรรมที่จงอูประสบนั้น ดูจะเป็นทางเลือกทางรอดที่ไม่ว่าใครก็ตามจำต้องถูกบังคับให้ทำหากต้องการอยู่รอด ซึ่งว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว มันก็คือนรกในใจอีกมิติหนึ่งนั่นเอง เป็นความจริงที่น่าเศร้าและเจ็บปวดไปพร้อมกัน

  ใน “Strangers from Hell” นำเสนอภาพตัวแทนของโครงสร้างในงสังคมใหญ่ที่มนุษย์กัดกิน บ่อนทำลายกันและกันตามสัญชาติญาณ โดยไม่สนใจเรื่องความดีหรือน้ำใจไมตรีที่ควรหยิบยื่นให้ต่อกัน และมันบิดเบี้ยวถึงขั้นที่ว่า มนุษย์นั้นพร้อมจะเขียนสมการแห่งความดีในแบบที่ตนเข้าใจและเชื่อไปเองได้เสมอ โดยไม่สนใจความเป็นจริง เหมือนที่ผู้คนในหอพัก เอเดนมีนิยามความดีในแบบของพวกตน ซึ่งแนวคิดว่ามนุษย์นั้นพร้อมโบยตีกันเอง ประหัตถ์ประหารกันเองนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “นรกคือคนอื่น” ของ ซาทร์ นั่นเอง หากไม่เชื่อ ลองชวนเพื่อนมาสัก 3-4 คน แล้วนั่งคุยกัน จากนั้นให้ขอตัวไปเข้าห้องน้ำแล้วแอบฟังคนที่เหลือคุยกัน ถ้าคุณไม่ถูกนินทาหรือแม้แต่กล่าวถึงเลย ก็อาจโต้แย้งว่า บางที สวรรค์ก็อาจเกิดขึ้นจากคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน

  เมื่อพูดถึงวลี “นรกคือคนอื่น” ของ ซาทร์ นั้น ใน “Strangers from Hell” ก็ล้วนสอดแทรกแนวคิดเชิงวรรณกรรมที่บอกใบ้แนวทางของตัวซีรี่ส์ได้เป็นอย่างดี ทั้งการพูดถึงงานเขียนแนวสืบสวนอาชญากรรมของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ นักเขียนชาวอเมริกันแนวสืบสวนอาชญากรรม (งานของเขาสร้างอิทธิพลให้กับงานเขียนประเภท hard-boiled crime fiction ที่นอกจากสะท้อนภาพความโสมมของเมืองใหญ่แล้ว ยังบู๊ดุเดือดล้างผลาญอีกด้วย) ซึ่งบอกเป็นนัยของเรื่องราวใน “Strangers from Hell” ได้เป็นอย่างดีว่ามันจะชวนให้สะอิดสะเอียดและถึงเลือดถึงเนื้อได้เพียงไหน ทั้งการใช้นิยายเรื่อง “The Metamorphosis” ของ ฟรานซ์ คาฟคา ในปี 1915 เป็นสัญลักษณ์บอกถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวละครหลักอย่าง ยุนจงอู และ ซอมุนโจ ได้เป็นอย่างดี

  นอกเหนือจากตีแผ่สังคมมนุษย์ที่กัดกินกันและกันแล้ว ใน “Strangers from Hell” ยังมีการใช้งานศิลปกรรมออกแบบการสร้างที่สะท้อนภาวะจิตใจของตัวละครได้เป็นอย่างดี ภาพทางเดินแคบๆ มืดทึบทึม วนเวียนไปไร้ทางออก ไร้จุดเริ่มต้น ไร้จุดสิ้นสุด สะท้อนถึงภาวะจิตใจของตัวละครได้เป็นอย่างดี และชวนให้นึกถึงการออกแบบโรงแรมโอเวอร์ลุคใน “The Shining” (1980) หนังทริลเลอร์คลาสสิคของ สแตนลีย์ คูบริค เช่นเดียวกับการกำหนดให้ หอพัก เอเดน อยู่ชั้นบนคริสต์ศาสนาสถาน ซึ่งบนอาคารมีการติดตั้งไม้กางเขนเพื่อบ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้คือโบสถ์ หรือแม้แต่การตั้งชื่อว่า “เอเดน” ยั่วล้อสวนอีเดน ในตำนานคริสต์ศาสนาก็ล้วนเป็นการใช้สัญลักษณ์เพื่อตั้งคำถามกับผู้ชมเรื่อง “ความดี” ได้เป็นอย่างดี

  กล่าวโดยสรุป “Strangers from Hell” จึงเป็นซีรี่ส์ที่แม้จะมีความน่าสะพรึงกลัว สยองขวัญและเต็มไปด้วยบรรยากาศหวาดระแวงไม่เป็นมิตรมากแค่ไหนก็ตาม แต่หากมองให้ลึกลงไปใต้บรรยากาศเหล่านั้น เราอาจพบความจริงที่น่าสยดสยองกว่านั่นคือ สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่เราต่างทำลาย หรือลงโทษกันและกันในแบบที่ ซาทร์ ว่าไว้โดยไม่รู้ตัวและเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วันหนึ่งเราอาจเป็นคนมาใหม่และถูกกัดกินบ่อนเซาะสารพัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในอีกวันหนึ่งเราอาจค้นพบว่าเราได้กลายเป็นหนึ่งในผู้กัดกินเหล่านั้น เป็นคนที่เราเคยปฏิญาณว่าจะไม่มีวันเป็น

นี่คือการเปลี่ยนผ่านกลับกลายอันน่าสยดสยองกว่าเรื่องสยดสยองใดๆ ทั้งปวง

    TAG
  • movie
  • culture
  • lifestyle
  • Strangers from Hell

Strangers from Hell เมื่อนรกคือคนอื่นที่เราต่างหยิบยื่นให้คนมาใหม่

CULTURE/MOVIE
5 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    งานศิลปะที่หลอมรวมอยู่ในเนื้อกายภาพยนตร์ The Room Next Door ของ Pedro Almodóvar

    ถ้าเอ่ยชื่อของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้กํากับเจ้าของ ฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” ที่นอกจากหนังของเขาจะเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย และถึง พร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่อัลโมโดวาร์หลงใหลในศิลปะอย่างลึก ซึ้ง ทําให้มักจะมีงานศิลปะปรากฏให้เห็นในหนังของเขาอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากเขาจะหยิบงาน ศิลปะเหล่านั้นมาใช้ในหนังเพราะความหลงใหลและรสนิยมส่วนตัวอันวิไลของตัวเองแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผลงานศิลปะเหล่านั้นยังทําหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบเนียน

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Love Lies เรื่องรักจากคำหลอกของหญิงหม่ายและมิชฉาชีพ ผลงานการกำกับครั้งแรกของ Ho Miu Ki

    ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร

    EVERYTHING TEAM5 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Nick Cheuk ผู้กำกับและนักเขียนบท Time Still Turn The Page ภาพยนตร์ทรงพลังที่ท่วมท้นด้วยคำชื่นชมจากทั้งในและนอกฮ่องกง

    ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    บทสนทนาเชิงลึกกับสองผู้กำกับหนังสารคดี Breaking The Cycle

    ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สามารถเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกเล่าแก่คนรุ่นหลังได้ว่าพวกเราซึ่งเป็นประชาชนภายในประเทศนี้ผ่านอะไรกันมา กำกับโดย “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” (เอก) ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจากสงขลา เอกเริ่มกำกับสารคดีสั้นเกี่ยวกับความตายของ กฤษณ์ สราญเศรษฐ์ ลุงของเขาในชื่อเรื่อง “คลื่นทรงจำ” (2561) ซึ่งได้รับรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ DMZ ที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้เข้าฉายในเทศกาลต่างประเทศอีกหลายแห่ง และผู้กำกับอีกคน คือ “ธนกฤต ดวงมณีพร” (สนุ้ก) ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับภาพ ที่ได้เข้าชิงรางวัลช้างเผือกจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 จากเรื่อง “ทุกคนที่บ้านสบายดี” (2560) และได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติไห่ หนาน

    EVERYTHING TEAM7 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    งานศิลปะที่รายล้อมตัวละครในหนังทริลเลอร์จิตวิทยา Inside (2023)

    Inside (2023) หนังทริลเลอร์จิตวิทยาของผู้กำกับสัญชาติกรีซ วาซิลลิส แคตซูพิส (Vasilis Katsoupis) ที่เล่าเรื่องราวของของนีโม (วิลเลียม เดโฟ) หัวขโมยที่ลักลอบเข้าไปในเพนท์เฮ้าส์สุดหรูของสถาปนิกชื่อดัง เพื่อขโมยงานศิลปะราคาแพงที่สะสมอยู่ในนั้น แต่ดันบังเอิญโชคร้ายถูกระบบนิรภัยขังอยู่ภายในคนเดียว ท่ามกลางงานศิลปะที่อยู่รายรอบ จนเขาต้องหาทางเอาชีวิตรอดอยู่ข้างใน โดยอาศัยข้าวของรอบตัว หรือแม้แต่งานศิลปะที่อยู่ในนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือก็ตาม เรียกได้ว่าเป็น Cast Away เวอร์ชันอาชญากรก็ได้

    Panu Boonpipattanaponga year ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Exclusive Talk กับผู้กำกับและนักแสดงนำหญิงจาก “A Guilty Conscience” ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุร้อยล้านเหรียญฮ่องกง

    ฮ่องกง เมื่อราวสิบยี่สิบปีก่อน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองมาก ๆ ในฐานะประเทศที่ส่งออกภาพยนตร์ออกสู่สายตาของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ต่อสู้กำลังภายใน ภาพยนตร์มาเฟีย หรือแม้แต่ภาพยนตร์ชีวิตที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งของหว่องกาไว จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมฮ่องกง แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ความคึกคักของภาพยนตร์ฮ่องกงเริ่มเงียบเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ จนแฟนหนังฮ่องกงหลายคน ออกปากบ่นคิดถึงความรุ่งเรืองในอดีต ดังนั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ความนิยมระดับ 100 ล้านเหรียญฮ่องกง ของภาพยนตร์อาชญากรรมอย่าง A Guilty Conscience ขึ้นมาแล้ว แสงที่เคยริบหรี่ก็อาจจะกลับมาสว่างไสวขึ้นมาอีกครั้ง

    EVERYTHING TEAMa year ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )