‘Snappy Studio’ จากคลับเฮ้าส์ร้างอายุกว่า 30 ปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์ของคนมันๆ ใจกลางหมู่บ้าน | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

‘Snappy Studio’
จากคลับเฮ้าส์ร้างอายุกว่า 30 ปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์ของคนมันๆ ใจกลางหมู่บ้าน
Writer : Nat Lelaputra
Photographer: Suppha-riksh Phattrasitthichoke
ห้องแล็บลับใต้ดิน
ศูนย์บัญชาการอวกาศในหนัง Space Age
  ลานโรลเลอร์สเก็ตยุค 80s...

  นี่คือสิ่งที่กำลังตีกันยุ่งเหยิงในหัวเราเมื่อเห็นอาคารหน้าตาแปลกประหลาดลักษณะเป็นโดมกระจกครอบไว้ด้านนอกผุดขึ้นมากลางลานสโมสรของหมู่บ้าน แต่เมื่อเดินลงบันไดที่ซ่อนอยู่ตรงนั้น ทอดยาวไปสู่ชั้นใต้ดินด้านล่าง เรากลับพบความรู้สึกประหลาดยิ่งกว่า! 

   จริงๆ แล้วชื่ออย่างเป็นทางการของสถานที่ที่เรายืนอยู่ตรงนี้คือ ‘สโมสรธารารมณ์’ ส่วนกลางหรือ Club House ของหมู่บ้านธารารมณ์ ย่านรามคำแหง ซึ่งจากคำบอกเล่า อายุอานามของมันก็น่าจะราวๆ 30 ปีได้ อาคารลับใต้ดินที่เราเรียกนี้เคยเป็นมาแล้วตั้งแต่โฮมเธียเตอร์ ฟิตเนส เปลี่ยนผ่านตามยุคสมัยมาเป็นร้านโชว์ห่วย ร้านซักอบรีด จนถึงสำนักงานบัญชี จนกระทั่งวนกลับมาเป็นฟิตเนสอีกรอบ ด้วยพื้นที่กลางแจ้งภายในหมู่บ้านที่ค่อนข้างกว้างขวางอยู่แล้ว ลูกบ้านส่วนใหญ่จึงมักมาออกกำลังกาย เดินวิ่งกันข้างนอก ไม่ค่อยมีใครเข้ามาใช้บริการที่นี่มากนัก จนกระทั่งฟิตเนสและบรรดาร้านอาหารที่แวะเวียนมาเช่าต่างก็เปิดแล้วปิดตัวตามๆ กันไป พื้นที่ตรงนี้เลยถูกทิ้งรกร้างมานานหลายปี

  ในฐานะลูกบ้านที่นี่ ‘โอ้ต - ณัฐพร โสดาบรรลุ’ และ ‘ฝน - จามิญช์ญา สินธนากานต์’ แห่งโปรดักชั่นเฮ้าส์ Snappy Studio เห็นความเป็นไปได้และมีความฝันอยากจะพัฒนาสเปซที่รกร้างตรงนี้ตั้งแต่แรกเห็น จนกระทั่งช่วงโควิดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นเทรนด์เซิร์ฟสเก็ตกำลังบูมอย่างมากในเมืองไทย เขาแอบคิดในใจเล่นๆ ว่า ‘ตรงนี้มันสวยว่ะ น่าทำอะไรสักอย่าง’ หลับตามองเห็นลานเซิร์ฟสเก็ต พื้นเทปูนเรียบๆ มีแรมป์ มีสระว่ายน้ำอยู่ด้านบน ไม่ได้แค่ฝัน เขาลงมือ หาพาร์ตเนอร์ และลงทุนทำมันจริงๆ แต่พอลงทุนไปได้ไม่มาก กระแสเซิร์ฟสเก็ตบ้านเราก็เริ่มซา จนเขาคิดว่าหากดื้อดึงทำต่อไปก็ไม่น่าจะรอด บวกกับเงินทุนที่ลงไปเริ่มร่อยหรอ ทำให้เขาต้องพักความฝันในการทำลานสเก็ตเอาไว้ก่อน แต่ด้วยเสน่ห์บางอย่างของสโมสรธารารมย์นี้เองที่ยังทำให้เขาหลงใหลมันไม่เลิก กระทั่งตัดสินใจย้ายออฟฟิศโปรดักชั่นเฮ้าส์เดิมของตัวเองจากทาวน์อินทาวน์มาไว้ที่นี่ เพื่ออย่างน้อยๆ ใช้เป็นที่สำหรับถ่ายงาน ใช้เป็นห้องโพสต์โปรดักชั่น และใช้เป็นพื้นที่รับรองลูกค้าไปก่อน 

  “ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านเดินลงมาที่นี่ก็ตกใจเหมือนกันว่าทำไมมันเปลี่ยนไปขนาดนี้ บางคนบอกผมว่าอยู่หมู่บ้านนี้มา 30 ปี ไม่เคยกล้าลงมาเลย เพราะบรรยากาศมันน่าอึดอัด น่ากลัว” โอ้ตชี้ให้เราดูเพดานอาคารซึ่งเดิมเคยเป็นลักษณะเตี้ย บรรยากาศภายในค่อนข้างปิดทึบ ให้ความรู้สึกแคบและอึดอัด ไม่ได้เปิดโล่งให้แสงธรรมชาติเข้ามาอย่างที่เห็นในตอนนี้

  “ตอนเข้าไปคุยกับทางหมู่บ้านว่าอยากพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ อาจเพราะลุคพวกเราค่อนข้างดูเด็กๆ กันด้วย พอไปคุยกับผู้ใหญ่ เขามองว่าจะทำกันได้เหรอ ทำออกมาเป็นอะไร เป็นที่มั่วสุมหรือเปล่า แต่ด้วยความที่เราเป็นคนขายงานลูกค้ากันอยู่แล้ว ก็พยายามหา Reference มาให้เขาดูว่าเวย์ที่เราทำ ภาพสุดท้ายน่าจะออกมาประมาณนี้นะ ซึ่งเขาก็โอเค”

  “จนวันหนึ่งที่พี่เทพ (ธัญญเทพ สุวรรณมงคล เจ้าของเพจ ‘Theplocation’) มาสำรวจโลเคชั่นที่นี่ เเกเป็นคนทำงานสายโปรดักชั่นอยู่แล้ว พอแกถ่ายรูปไปลงเพจ ปรากฏว่าคนติดต่อมาขอเช่าถ่ายหนังเยอะเลย แต่เอาเข้าจริงก็ทำงานลำบากเหมือนกันครับ เพราะความเป็นหมู่บ้าน เลยค่อนข้างต้องรักษา Privacy ของลูกบ้าน อีกอย่างปัญหาใหญ่คือบริเวณสะพานเล็กๆ ในหมู่บ้านไม่สามารถรองรับรถไฟกองถ่ายใหญ่ๆ น้ำหนักมากๆ ได้ แถมรถกองก็มักจะเข้ามาตอนเช้ามืด ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คนตื่นมาวิ่ง มาออกกำลังกายกัน”
  โอ้ตพาเราเดินสำรวจพร้อมกับให้ดูภาพพื้นที่ดั้งเดิมก่อนหน้าจะเข้ามารีโนเวท เขาเล่าว่า ด้วยความที่ไม่ได้มีทุนเยอะจึงไม่ได้มีทั้งสถาปนิก ไม่มีผู้รับเหมา เน้นคุมเองทั้งก่อสร้างและงานออกแบบทั้งหมด เลือกวัสดุเอง เก็บงานเอง ถ้าโครงสร้างเดิมอันไหนไม่โอเคค่อยรื้อใหม่

  พื้นยางขรุขระถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นปูนเรียบ สีเดิมของฐานอาคารรูปทรงยานอวกาศที่เคยเป็นสีเขียวอมฟ้าหม่นๆ ถูกเปลี่ยนเป็นสีขาวที่ทำให้ห้องดูสว่างขึ้น ฝ้าเพดานเดิมที่เคยเตี้ยอึดอัดถูกรื้อออก ปรับบรรยากาศให้ภายในดูโล่งกว้างขึ้น พื้นที่ใช้สอยถูกแบ่งใหม่ด้วยการกั้นห้องโดยเลือกใช้วัสดุอย่างกระจกและโครงเหล็กสีดำ ราคาย่อมเยา แต่คงกลิ่นอายดิบๆ เดิมๆ เอาไว้ 

  โอ้ตสารภาพกับเราว่างานรีโนเวทเป็นไปด้วยความยาก เหนื่อย ทุลักทุเล และหมดเงินไปกับมันไม่น้อย เขาค่อยๆ เก็บเงินทำทีละส่วนไปเรื่อยๆ จนทั้งหมดใช้เวลาร่วม 2 ปี กว่าทุกอย่างจะเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เขาตั้งใจไว้

  “ถ้าวันหนึ่งมีเงินพอ ผมก็เคยคิดเหมือนกันนะว่าอยากเติมน้ำเข้าไปด้านบน คืนชีพความเป็นอควาเรียมให้มันหน่อย” โอ้ตบอกกับเราด้วยแววตาเป็นประกาย ตามคำบอกเล่าของเขา อาคารรูปยานอวกาศตรงนั้นเคยมีน้ำพุขนาดใหญ่อยู่ด้านบนมาก่อน คาดเดาว่าน่าจะเคยบรรจุน้ำเอาไว้ในลักษณะอควาเรียม และอาจถึงกับมีปลาเคยว่ายน้ำต๋อมแต๋มอยู่ในนั้นด้วย ก่อนที่เวลาผ่านไปจะถูกสร้างโดมกระจกครอบน้ำพุไว้แทน ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามาจากปัญหาน้ำที่รั่วซึมลงมายังชั้นใต้ดิน หรืออาจเพราะปัญหาเรื่องการรับน้ำหนักของตัวฐานอาคาร น่าเสียดายว่าตอนที่ทำการรีโนเวทครั้งล่าสุด สถาปนิกเข้ามาดูและพบว่าโครงสร้างด้านบนชำรุดตามกาลเวลาหมดแล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่มันจะฟื้นกลับมาเป็นอควาเรียมเหมือนอย่างในอดีต แต่สิ่งที่เราและโอ้ตเห็นตรงกันคือคนออกแบบสถาปัตยกรรมยุคนั้นต้องทั้ง ‘กล้า’ และ ‘บ้า’ แค่ไหนถึงได้สร้างอาคารทรง Space Age หน้าตาล้ำๆ ไว้ใต้ดินใจกลางหมู่บ้านแบบนี้ได้

   “ผมว่าคนออกแบบที่นี่เขาต้องมีความบ้ามาก สุดโต่งมากๆ อยากรู้จริงๆ ว่าใครกันนะเป็นคนออกแบบ แล้วมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร” เราคิดเหมือนเขา ยืนมองมันด้วยความทึ่ง

  “ปกติแล้วส่วนกลางหมู่บ้านจะใช้เป็นจุดขายใช่ไหมครับ แต่ส่วนใหญ่หมู่บ้านจะเจอปัญหาเรื่องพื้นที่ส่วนกลางถูกปล่อยรกร้างกันเยอะมาก สิ่งที่เราทำช่วยหมู่บ้านได้จริงๆ อย่างน้อยเขาสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น เวลาพาคนเข้ามาดูก็สามารถโชว์พื้นที่ตรงนี้ได้ เขารู้สึกว่ามันแปลกตาดี ไม่ใช่สิ่งที่คิดไว้ในหัวตั้งแต่แรกเลย เขาบอกว่า ‘ไอ้พวกนี้มันก็มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้เหมือนกันเว้ย’ (หัวเราะ)”
  “ผมว่าข้อดีหลักๆ ของที่นี่คือมันเหมาะกับธุรกิจผมด้วย ผมทำโปรดักชั่น ทำห้องโพสต์ฯ ซึ่งต้องต้อนรับลูกค้าอยู่ตลอด ลูกค้ามาอยู่ทั้งวันก็รู้สึกไพรเวท ผ่อนคลาย ไม่วุ่นวาย มานั่งทำงานหรือมานั่งเล่นได้สบายๆ เป็นพื้นที่สันทนาการของคนทำงานอย่างเรารวมถึงลูกค้าเราด้วย พอเขามาแล้วรู้สึกรีแลกซ์ ทำงานไป แว้บไปเล่นพูล ไปนั่งฟังเพลงเงียบๆ หรือบางครั้งมีเวลาเราก็นั่งดื่มกันเพลินๆ มันก็ช่วยให้จบงานง่าย ทุกคนแฮปปี้”  

  ยิ่งคุยกับเขา เรายิ่งเห็นความตั้งใจที่อยากให้สเปซแห่งนี้อยู่รอดต่อไปได้จริงๆ ทั้งในแง่แพชชั่นของคนที่ทำมัน และในแง่ธุรกิจที่ตอบโจทย์กับคนทั่วไปด้วย ซึ่งข้อดีอย่างแรกคืออยู่ใกล้ทาวน์อินทาวน์ ย่านที่ธุรกิจโปรดักชั่นรวมตัวกันหนาแน่น Snappy Studio เลยกลายเป็น Creative Space กึ่งไพรเวทของคนโปรดักชั่นเหมือนๆ กัน นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ Co-working Space กึ่งพับลิคไปในตัว 

  “คนที่จะซื้อบ้านในหมู่บ้านประมาณนี้ได้ก็ต้องเป็นคนอายุประมาณ 40 ขึ้นไปใช่ไหมครับ พอผ่านมา 30 ปี คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่บางบ้านก็ย้ายออกไปสร้างครอบครัวข้างนอก บางบ้านก็ยังอยู่เป็น Big Family คนที่เข้ามา Snappy Studio ส่วนใหญ่เลยจะมีตั้งแต่ ผู้ใหญ่ จนเด็กๆ 4 ขวบ 5 ขวบ มาใช้พื้นที่กัน รวมถึงชาวต่างชาติในส่วนคอนโดฯ ไม่ก็เป็นคนในย่านนี้ หรือเป็นคนจากที่อื่นที่รู้ว่าข้างในมีร้านอะไรบ้างแล้วตั้งใจมาเลยมากกว่า” 

  ความโชคดีต่อมาของโอ้ตและฝนคือพวกเขาเจอพาร์ทเนอร์ที่ ‘แมทช์’ กัน เข้ามาร่วมแชร์สเปซแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น คุณเบิร์ด - ธนวุฒิ งามวุฒิวงศ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการกล้องและภาพถ่าย กับคุณอีริค แลม - หุ้นส่วน กับการเปิดร้าน Hot Pot โอมากาเสะสไตล์ฮ่องกงชื่อ Lok Toi พร้อมเป็นทั้งแกลเลอรี่แสดงงานภาพถ่ายจากช่างภาพมากหน้าหลายตาที่จะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจัดแสดงให้เราชมระหว่างซดน้ำซุปร้อนๆ ส่วนเพื่อนบ้านข้างๆ กันยังมี คุณตือ - ศิวกร จารุพงศา หรือ ‘ดีเจ Happy Meal’ และคุณออย - จิตรพล แสนรุ่งเมือง เจ้าของร้านแผ่นเสียง Fat Black Record มาอยู่ด้วยกัน รวมถึงคุณกวาง - ผกามาศ แย้มสกุล กับคุณหลิว - วรรณรัตน์ มีกุล ผู้รักการถ่ายภาพและกล้อง Leica วินเทจพอๆ กับกลิ่นอายของกาแฟจนกระทั่งเปิด House of Hobby ร้านกาแฟกึ่งแกลเลอรี่ไว้เป็นคอมมูฯ เล็กๆ ต้อนรับคนรักงานอดิเรกเช่นเดียวกับพวกเขา และห้องสุดท้ายของวงกลมนี้ก็คือร้านล้างฟิล์ม Snap Lab จนอาจเรียกได้ว่าทุกคนที่นี่เป็นทั้งพาร์ทเนอร์ เป็นทั้งเพื่อน ทั้งคนที่มาร่วมหัวจมท้าย เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาคือกลุ่มคนที่เชื่อมั่นเหมือนกันว่า Snappy Studio สามารถ ‘เป็น’ อะไรก็ได้… 

และวันหนึ่งมันอาจจะเป็นอควาเรียม!
https://www.facebook.com/snappyspacebkk
    TAG
  • design
  • culture
  • lifestyle
  • studio visit
  • studio
  • Snappy Space

‘Snappy Studio’ จากคลับเฮ้าส์ร้างอายุกว่า 30 ปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์ของคนมันๆ ใจกลางหมู่บ้าน

PEOPLE/STUDIO VISIT
January 2024
CONTRIBUTORS
Nat Lelaputra
RECOMMEND
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เช็คอินสตูดิโอดีไซน์ระดับตำนานสัญชาติดัตช์ droog

    ในครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้เดินทางไปยังเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากความตั้งใจในการชมงานศิลปะชั้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกที่นี่แล้ว ความหวังอีกอย่างคือการได้เยี่ยมเยือนสตูดิโอดีไซน์ในดวงใจของเรามาเนิ่นนาน สตูดิโอแห่งนี้มีชื่อว่า droog นั่นเอง

    Panu BoonpipattanapongAugust 2023
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    ‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอที่ออกแบบ ‘บ้าน’ บนความหลากหลาย และเป็นอะไรก็ได้ตามใจผู้อยู่ 

    ‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอ การรวมตัวกันของคนเจนฯ ใหม่ที่ทำงานบนความหลากหลาย ลื่นไหล และพร้อมปรับตัวไปกับทุกภารกิจที่ถาโถมเข้ามา เพื่อจัดการความชอบของผู้คนให้เข้าที่เข้าทาง 

    Nat LelaputraFebruary 2023
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เยือนแหล่งกำเนิด “King of Watch” ของญี่ปุ่น ก้าวสู่นาฬิกาเรือนหรูระดับโลกในนาม “Grand Seiko”

    ก่อนที่ทุกคนจะได้สัมผัสนาฬิกาชั้นสูงเรือนจริงที่บูทีคของ Grand Seiko แห่งแรกในประเทศไทย ที่เกษรวิลเลจ เราจะพาเจาะลึกไปยังเบื้องหลังแหล่งกำเนิดที่จะตอบคำถามได้ว่าทำไมนาฬิกา Grand Seiko จึงได้รับการยกย่องให้เป็นหัตถศิลป์แห่งเครื่องบอกเวลาระดับโลกที่คู่ควรแก่การสะสมและครอบครอง

    EVERYTHING TEAMSeptember 2019
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    ตุ่ย - ขวัญชัย แห่งแผลงฤทธิ์ กับความอยู่รอดของอาชีพสถาปนิกในต่างจังหวัด

    ครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่คุณตุ่ย - ขวัญชัย สุธรรมซาว ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกแผลงฤทธิ์ ปรากฏตัวในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากหมกมุ่นอยู่กับการทดลองเพื่อค้นหามุมมองใหม่ๆ ที่ลงลึกไปมากความงามภายนอกของงานสถาปัตยกรรม เพื่อความยืนหยัดอยู่รอดของอาชีพสถาปนิกในต่างจังหวัด

    EVERYTHING TEAMJune 2019
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    STUDIO VISIT JUNSEKINO A+D

    ภายใต้บรรยากาศบ้านๆ สถาปนิกและนักออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่มีมากกว่าบ้าน ภายใต้ชื่อสำนักงานจูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ บ้านเก่าที่ยังคงเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม Post Modern ซึ่งมักจะเห็นในบ้านจัดสรรยุค 60-70

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เมื่อออฟฟิศ คาเฟ่ โชว์รูม รวมอยู่ใน Creative Flow Space แห่งใหม่ของ Trimode

    เยือนสตูดิโอใหม่ของ Trimode ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ พร้อมแนวคิดการทำงานของพวกเขากับก้าวสู่ปีที่ 13 ในวงการออกแบบ

    EVERYTHING TEAM6 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )