Safe Haven
ท่ามกลางความวุ่นวายของป่าคอนกรีต MIA Design Studio ออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ในมิติใหม่อัดแน่นไว้ใน Sky House
LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
“เมื่อใดที่เราหลงรักธรรมชาติจากใจจริง เมื่อนั้นเราจะเห็นความงามในทุกสิ่งรอบๆ ตัว” จากวลีอมตะของศิลปินชื่อก้องโลกอย่างวินเซนต์ แวนโก๊ะ ทีมสถาปนิกจาก MIA Design Studio ออกแบบบ้าน Sky House เพื่อให้คนได้ค้นพบความสงบสุขในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอันร่มรื่น จนเกือบลืมไปว่าพวกเขาอาศัยอยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในป่าคอนกรีตที่ไม่เคยหลับใหลของเมืองไซ่ง่อน
การก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันทำให้ไซ่ง่อนกลายเป็นเมืองที่เติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง ด้วยปริมาณรถราบนท้องถนนและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่สีเขียวค่อยๆ ลดลงจนกลายเป็นสิ่งหายากในเมืองแห่งนี้ การแสวงหาความสงบร่มเย็นและพื้นที่สำหรับผ่อนคลายเป็นเรื่องที่ท้าทายและทำได้ยากมากขึ้นทุกวัน เมื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงของเมืองภายนอกไม่ได้ การออกแบบพื้นที่แห่งความสงบสุขส่วนตัวสำหรับทุกคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านจึงเริ่มต้นขึ้น
บ้าน Sky House ตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของตึกสูงระฟ้ามากมายที่เรียงรายเบียดกันจนกลายเป็นป่าคอนกรีตที่หนาทึบ บนที่ว่างอันจำกัดซึ่งอยู่ในส่วนลึกของป่าคอนกรีตนี้ ทีมสถาปนิกจาก MIA Design Studio ออกแบบบ้านหลังนี้โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความรู้สึกเปิดโล่งต้อนรับลมและแสงธรรมชาติเข้ามาหล่อเลี้ยงบรรยากาศอันร่มรื่นภายใน แต่ปิดประตูไม่ต้อนรับความสับสนวุ่นวายจากเมืองใหญ่ภายนอก
ลักษณะนิสัยซึ่งรักความสงบและบุคลิกที่เป็นคนใจเย็นของเจ้าของบ้านได้รับการตีความและถ่ายทอดออกมาเป็นแนวคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้ผ่านการสร้างแผนผังทางสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งในระนาบแนวตั้งและทางนอนระหว่างผู้อยู่อาศัยด้วยกันเอง ผู้อยู่อาศัยกับธรรมชาติ หรือแม้แต่ระหว่างองค์ประกอบธรรมชาติด้วยกันเอง
แนวคิดนั้นได้รับการนำเสนอออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการสร้างสรรค์พื้นที่ภายในซึ่งเปิดโอกาสให้องค์ประกอบทางธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านในทุกๆ ตารางนิ้ว บ้านหลังนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยที่ส่วนแรกนั้นถูกจับจองโดยผืนน้ำ แสงแดด สายลม และต้นไม้ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือพื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมต่างๆ ของคนในบ้าน ด้วยการแบ่งบ้านออกเป็นสองส่วนซึ่งอัดแน่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทำให้บ้าน Sky House ไม่เหลือที่ว่างให้การรบกวนจากภายนอกเข้ามาสร้างความวุ่นวาย
เพื่อป้องกันมลภาวะจากป่าคอนกรีตรอบด้าน แนวคิดในการออกแบบช่องเปิดในบ้าน Sky House จึงแตกต่างจากบ้านทั่วๆ ไปซึ่งมักจะใช้หน้าต่างบนผนังทั้งสี่ด้านเป็นทางเข้าหลักของแสงและลม “เราสร้างช่องทางเชื่อมต่อระหว่างบ้านหลังนี้กับท้องฟ้า” ทีมสถาปนิกกล่าว “ด้วยการออกแบบลักษณะนี้ทำให้บ้านสามารถเปิดรับแสงธรรมชาติจากด้านบนและได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศและทิศทางของแสงในแต่ละช่วงเวลาของวัน”
ปล่องกลางบ้านเปิดโอกาสให้แสงธรรมาติได้สาดส่องเข้ามาในบ้านอย่างทั่วถึง พื้นที่ใช้งานแต่ละส่วนมีหน้าต่างภายในที่เปิดรับแสงให้กระจายเข้าไปได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว นอกจากนั้น การใช้ต้นไม้เข้าไปเติมเต็มช่องว่างในจุดต่างๆ ทำให้แสงสว่างได้รับการกลั่นกรองไม่ให้มีความร้อนอบอ้าวติดตัวเข้ามาสร้างความอึดอัดให้กับบรรยากาศภายใน
การเลือกใช้ต้นไม้กระจายตัวตามจุดต่างๆ ของบ้านซึ่งเว้นช่องเปิดภายในทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัยกับธรรมชาติน่าสนใจหลากหลายรูปแบบ เมื่ออยู่ในพื้นที่ชั้นล่าง การนอนเล่นที่บริเวณโคนต้นไม้ให้รู้สึกผ่อนคลายที่คุ้นเคย แต่เมื่อได้ตื่นขึ้นมาแล้วทอดสายตาไปมองเห็นในระดับเดียวกับยอดไม้ในบ้าน ความใกล้ชิดกับธรรมชาติย่อมให้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติที่ได้รับการออกแบบผ่านการใช้แสง ลม น้ำ และต้นไม้กระจายไปในส่วนต่างๆ ของบ้านแล้ว องค์ประกอบของทางธรรมชาติเองก็ได้รับการออกแบบให้มีความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันอย่างน่าสนใจ ทั้งริ้วแสงที่ส่องผ่านระแนงไม้ลงมากระทบผิวคลื่นของสระว่ายน้ำ หรือต้นไม้ที่แทงยอดทะลุช่องบนพื้นโผล่ขึ้นมากลางบ่อน้ำลอยฟ้า
ผนังอาคารภายนอกทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันการรบกวนจากเมืองใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นพื้นที่ภายในจนกลายเป็นพื้นที่ทึบตัน ช่องเปิดที่กระจายตัวอยู่ในจุดต่างๆ ของผนังด้านนอกนั้นถูกแต่งแต้มและต่อเติมเป็นสวนบนระเบียงที่อัดแน่นไปด้วยความเขียวชะอุ่มหลากเฉดสีของแมกไม้ เมื่อมองจากภายนอกจึงดูคล้ายกับว่าบ้านหลังนี้ถูดอัดแน่นไว้ด้วยความร่มรื่นของธรรมชาติจนล้นทะลักแตกกิ่งก้านออกมาภายนอก
ท่ามกลางความอึกทึกคึกโครมของป่าคอนกรีตใจกลางเมืองไซ่ง่อน บ้าน Sky House กลายเป็นป้อมปราการที่ป้องกันการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมอันไม่พึงประสงค์รอบด้าน ในขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นของตัวเองขึ้นมาภายใน ทำให้ผู้อยู่อาศัยกับธรรมชาติสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
Project: Sky House
Location: An Phu, District 2, HCMC, Vietnam
Completed in: 2019
Principal Architect: Nguyen Hoang Manh
Architecture Concept Design: Truong Nguyen Quoc Trung, Nguyen Tan Phat
Interior Design: Le Vu Hai Trieu
Technical Design: Bui Hoang Bao, Nguyen Quang Duy
Structural Design Consultant: AVDH
M&E Design Consultant: Boydens Engineering Vietnam
Photo: Oki Hiroyuki, Trieu Chien, Hoang Le
SKY House I บ้านซึ่งผลิดอกออกใบอวดความเขียวชะอุ่มกลางป่าคอนกรีตโดย MIA Design Studio
/
“Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน
/
“One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว
/
HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน
By TOSTEM/
บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน
/
เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น
/
เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )