LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
ทีมสถาปนิกจาก AAd Design ออกแบบบ้านให้เป็นผืนผ้าใบขาวสะอาดเตรียมไว้ให้แสงแดด และแมกไม้แต่งแต้มสีสันลงไป Shade House บ้านที่พร้อมจะละลายกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของธรรมชาติอย่างกลมกลืน
“เจ้าของบ้านชอบธรรมชาติมาก เขาอยากจะทำให้เกิดระบบนิเวศร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเลยสร้างระบบนิเวศกลับเข้าไปในบ้านเลย มีสวนผลไม้ มีข้าว มีผัก มีอะไรต่างๆ เราทำสถาปัตยกรรมที่พึ่งพาตัวเองได้โดยสมบูรณ์” อยุทธ์ มหาโสม ผู้ก่อตั้ง Ayutt and Associates Design (AAd Design) อธิบายถึงที่มาของการออกแบบ Shade House บ้านที่ขนาบด้วยสวนทั้งสองข้าง มีสวนผักปลอดสารพิษอยู่บนหลังคา และมีดาดฟ้าเป็นสวนผลไม้ เมื่อมองจากมุมสูงลงมาจะเห็นว่าบ้านหลังนี้มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเต็ม 100% ของพื้นที่ทั้งหมด
จากพื้นที่สีเขียวซึ่งปกคลุมเต็มพื้นที่ในแนวราบ ทีมสถาปนิกได้เตรียมระนาบแนวตั้งเพื่อให้ธรรมชาติได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้านในอนาคต โครงระแนงเหล็กสีขาวที่หุ้มตัวอาคารส่วนต่างๆ ได้รับการออกแบบมาให้สามารถรองรับการเติบโตของไม้เลื้อยได้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่มีชีวิตและค่อยๆ เติบโตเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับธรรมชาติ “คอนเซปต์ง่ายสุดของบ้าน Shade House ก็คือ ทำยังไงก็ได้ ให้สภาพแวดล้อมและธรรมชาติเป็นตัวกลืนงานสถาปัตยกรรม เราอยากให้งานมันเด่นในช่วงแรก แล้วหลังจากนั้น ธรรมชาติเป็นคนสร้างต่อ ดังนั้นสถาปัตยกรรมมันไม่หยุดอยู่กับที่” อยุทธ์กล่าว “เราพยายามดึงงาน Landscape (ภูมิสถาปัตยกรรม) เข้ามาช่วย เราอยากให้สีขาวของบ้านเป็น Canvas (ผืนผ้าใบ) แล้วธรรมชาติซึ่งเป็นสีเขียวจะค่อยๆ เข้ามาหุ้มสถาปัตยกรรมหมดเลย ระแนงพวกนี้จะมีไม้เลื้อยคลุมเป็นสีเขียวหมด ช่องที่เป็นรูแผงพวกนี้ ไม้เลื้อยก็เลื้อยได้ ท้ายที่สุด ฟอร์มทางสถาปัตยกรรมแทบจะหายไปทั้งหมด”
นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่พร้อมรับการแต่งแต้มสีสันจากธรรมชาติแล้ว ระแนงสีขาวยังมีหน้าที่สำคัญในการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายในบ้าน ด้วยการใช้เหล็กที่ขัดสานกันทั้งแนวตั้งและแนวนอนวางซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้นๆ ระแนงสีขาวบริเวณระเบียงทางเข้าหลักของบ้านกลายเป็นผนังสามมิติที่กรองสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมาภายนอก ในทางกลับกัน เมื่อมองจากภายในออกไปจะสามารถเห็นพื้นที่สวนที่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังแนวระแนงค่อยๆ เผยตัวออกมาช้าๆ “จริงๆ มันโปร่งมากเลยนะถ้ามองจากระยะตรง ก็จะเห็นข้างนอกโปร่งเลย แต่คนข้างนอกมองกลับเข้ามาจะไม่เห็นข้างใน อันนั้นเรื่องของการตอบโจทย์เรื่องของความเป็นส่วนตัว” อยุทธ์อธิบาย
จากระเบียงทางเดิน ระแนงสีขาวนี้ยังถูกนำไปใช้ล้อมรอบพื้นที่ห้องพระซึ่งเป็นห้องกระจกที่เปิดรับมุมมองสวนได้โดยรอบ สัดส่วนของช่องระแนงได้รับการออกแบบอย่างพอดิบพอดีให้มีความโปร่งเหมาะสำหรับการทอดสายตามองวิวและรับลมที่พัดพาไอเย็นจากสวนผ่านเข้ามาในห้อง แต่ในขณะเดียวกันก็เล็กเกินกว่าที่ใครจะนำพระพุทธรูปอันเป็นของมีค่าออกไปจากห้องนี้ ระแนงเหล็กสีขาวจึงกลายเป็นเหล็กดัดที่ได้รับการปรับโฉมเสียใหม่จนสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “บ้านทั่วไปทำเหล็กดัด เรารู้สึกว่าทำไมไม่มีใครเคยพัฒนาเหล็กดัดให้เป็น Facade อาคาร” อยุทธ์¬กล่าว “มันมีเรื่องความปลอดภัย คือการกันขโมย เนื่องจากบ้านไม่มีรั้วแล้วพื้นที่ชั้นหนึ่งเป็นกระจกเยอะ แล้วอันนี้เป็นห้องพระซึ่งมีพระพุทธรูปที่มีค่าอยู่ เราคำนวน Proportion ของพระที่องค์เล็กที่สุดที่อยู่ในห้องนี้ ต่อให้ขโมยเข้าไปที่ห้องนี้ได้ ก็ไม่สามารถดึงองค์พระออกจากระแนงตัวนี้ได้”
ลำดับการเข้าถึงและมุมมองของบ้าน Shade House ได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ทุกย่างก้าวมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามผ่านการบอกเล่าของหลากหลายองค์ประกอบที่ทำหน้าที่คล้ายตัวละครที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ทั้งแสงและเงาของแดดที่เคลื่อนองศาไปตามช่วงเวลาของวัน สีสันของธรรมชาติในสวนที่เปลี่ยนไปตามตำแหน่งของมุมมอง หรือแม้แต่เสียงน้ำปริศนาที่ทักทายมาจากสระโดยไม่ยอมเผยตัวออกมาให้เห็นจนกว่าจะได้ขึ้นไปถึงชั้นสอง “หลักการคล้ายๆ เวลาเราดูหนัง เวลาเราดูหนังมันต้องมี Story การที่เราดูหนังสักเรื่องหนึ่งแล้วเรารู้ Climax รู้ตอนจบ หนังก็ไม่สนุกแล้ว บ้านที่ดีต้องค่อยๆ ปล่อย Climax” อยุทธ์¬อธิบาย “คนเข้าบ้านไม่จำเป็นต้องเห็นสวนตู้มเดียวแล้วจบ ค่อยๆ เห็นมันแล้วระเบิด แล้วกลับมาเห็นน้อยๆ อีกที แล้วระเบิดอีกครั้ง Story มีเหมือนเดิมเลย...แต่สนุกขึ้น เพราะมันคือ Story ที่เราคิดเอาไว้”
ในบ้าน Shade House ตัวสถาปัตยกรรมและธรรมชาติมีความสัมพันธ์ส่งเสริมกันอย่างน่าสนใจ อาคารและสวนผลัดกันเป็นจุดเด่นและพื้นหลังให้กันและกันตามแต่มุมมอง ทำให้คนที่อยู่ในบ้านสามารถชมสุนทรียภาพของงานออกแบบสถาปัตยกรรมในบ้านตนเองได้ด้วยเช่นกัน “ทางเดินที่อยู่รอบๆ หรือมุมใดในบ้าน เราเห็นต้นไม้ก็จริง แต่เราก็อยากเห็นสถาปัตยกรรมของเราด้วย” อยุทธ์กล่าว “เจ้าของบ้านต้องได้เห็นบ้านของตัวเอง ไม่ใช่แค่คนข้างนอกเห็น เวลาเดินเข้าในสวนก็จะเห็นต้นไม้เด่นก่อน แล้วค่อยๆ เห็นตัวบ้าน มีการจัด Composition (ตำแหน่งขององค์ประกอบ) ทั้งส่วนที่เป็น Foreground และ Background”
จากชั้นหนึ่งขึ้นไปสู่ชั้นสองจะได้พบกับห้องโถงและสระว่ายน้ำซึ่งเป็น Infinity Edge Pool การยกสระว่ายน้ำขึ้นมาไว้ที่ชั้นสองก็เพื่อสร้างบรรยากาศของการว่ายน้ำที่ระดับเดียวกับยอดไม้ มีความเป็นส่วนตัว และเปิดรับมุมมองทะเลสาปในหมู่บ้านซึ่งอยู่อีกฟากของถนน “สิ่งที่น่าสนใจของสระว่ายน้ำที่อยู่ชั้นสองก็คือความ Privacy (ความเป็นส่วนตัว) สูงมาก ข้างบ้านไม่สามารถมองเห็น แล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสัตว์ร้าย เช่นกบหรืองูที่จะลงไปในสระว่ายน้ำ” อยุทธ์กล่าว “แล้วมันก็สร้าง Gimmick (ลูกเล่น) บางอย่าง คือเวลาเราว่ายน้ำในสระที่อยู่ชั้นหนึ่งเราจะเห็นแค่โคนต้นไม้ แต่ที่บ้านหลังนี้ เราเอียงฟอร์มของต้นไม้เพื่อให้พุ่มไม้แช่เข้าไปในผิวของน้ำ เวลาว่ายน้ำเราสามารถจับยอดไม้ได้ เหมือนว่ายอยู่ในระดับเดียวกับยอดไม้”
โถงชั้นสองนี้ทำหน้าที่เป็นห้องนั่งเล่น พื้นที่ทานข้าวและเคาน์เตอร์ครัว ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกัน แสงและเงาทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งที่แยกแต่ละส่วนออกจากกันโดยไม่ต้องใช้ผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ในการกั้น บริเวณห้องนั่งเล่นตั้งอยู่ชิดริมผนังได้รับแสงธรรมชาติจึงสว่างกว่าพื้นที่ทานอาหาร ส่วนพื้นที่ครัวซึ่งอยู่ด้านในสุดและมีฟ้าเพดานที่ต่ำกว่าก็จะได้รับแสงสว่างที่น้อยกว่าบริเวณอื่นๆ “Space (พื้นที่) โดนแบ่งด้วยแสงและเงา ซึ่งเกิดจากการใช้ฝ้าต่ำและสูง บังคับแสงให้เข้าในองศาต่างกัน อันนี้เรียกว่าการใช้แสงในการควบคุม Space แล้วเวลาคนใช้ห้องนี้ก็จะรู้ได้เลยว่าอันนี้เป็นคนละโซนกัน” อยุทธ์อธิบาย “เราถึงเรียกกว่า Shade House เราเข้าใจตรรกะของการมองเห็น เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เลย”
ห้องโถงในชั้นสองถูกล้อมด้วยระแนงเช่นเดียวกับพื้นที่ชั้นล่าง แต่ด้วยการใช้งานที่แตกต่างกัน ระแนงที่ล้อมรอบห้องโถงชั้นสองจึงมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป โดยมีลักษณะเป็นบานเฟี้ยมโลหะเจาะรูซึ่งสามารถเปิดปิดได้ ด้วยการใช้หลักการเดียวกับรูของป้ายโฆษณาบนกระจกรถสาธารณะและผนังอาคารสูง ระแนงบานเฟี้ยมนี้ทำหน้าที่กรองสายตาจากภายนอก ในขณะที่คนที่อยู่ภายในยังคงสามารถเพลิดเพลินกับวิวสวนและสระว่ายน้ำได้ “รูที่เห็นเป็นแถบกราฟิกมีขนาดไม่เท่ากัน เราอยากสร้าง Privacy ถ้ามองจากข้างนอกจะเห็นแค่รูเป็นภาพกราฟิก ในบางจุดรูจะแคบเพราะเราไม่ต้องการให้บ้านอื่นเห็นเจ้าของในระดับสายตา แต่ด้านบนในบางจุดรูจะใหญ่มาก หรือมุมที่ติด Setback ของบ้านแล้ว รูก็จะใหญ่ขึ้น” อยุทธ์อธิบาย “แต่จากข้างในมองออกไปจะเห็นวิวโล่ง”
ตำแหน่งและขนาดของรูบนระแนงบานเฟี้ยมที่ไม่เท่ากันไม่เพียงมีผลด้านความเป็นส่วนตัวภายในบ้านเท่านั้น หากยังช่วยนำแสงและเงาเข้ามาสร้างสุนทรียภาพให้กับพื้นที่ภายในห้องโถงได้อีกด้วย “เราอยากทำห้องนั่งเล่นที่เวลาเจ้าของบ้านนั่งแล้วเหมือนนั่งอยู่ในสวน เหมือนสมัยเด็กที่เราชอบนั่งเล่นใต้ต้นไม้” อยุทธ์เล่า “เวลาที่แสงตกผ่านรูนี้เข้าไปด้านใน ทำให้เกิดกราฟิกของแสงและเงาเลียนแบบใบไม้ที่มีการซ้อน Layer ของแต่ละใบ ให้ความรู้สึกเสมือนว่านั่งอยู่ใต้ต้นไม้ข้างล่าง”
ในแต่ละช่วงเวลาที่องศาของแดดเคลื่อนที่เปลี่ยนไป ผู้อยู่อาศัยสามารถเลือกเปิดหรือปิดบานเฟี้ยมในตำแหน่งต่างๆ เพื่อกันแดดได้ตามความเหมาะสม ลักษณะพิเศษของระแนงบานเฟี้ยมในบ้าน Shade House ก็คือกันความร้อนจากแดดโดยที่ยังเปิดรับความเย็นจากลมเข้าสู่ภายในบ้านได้ในเวลาเดียวกัน การเว้นระยะระหว่างระแนงกับผนังห้องทำให้เกิดช่องว่างซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนฉนวนกันความร้อนอีกชั้นด้วย “มันมี Air Gap อยู่ คือพื้นที่ของ Balcony ทำให้เกิดเป็น Buffer Zone ขึ้นมา เป็นฉนวนกันความร้อน กันไม่ให้ความร้อนแผ่เข้าไปด้านใน” อยุทธ์อธิบาย “เราใช้หลักทางพลศาสตร์คือความร้อนต้องวิ่งขึ้นที่สูง เราเลยทำ Air Gap ให้ด้านบนเป็นที่สูงด้วย ดังนั้น ความร้อนแทนที่จะอยู่ข้างล่างมันจะโดนบล๊อกขึ้นไปอยู่ที่สูง แต่อยู่นอกห้องนั่งเล่นนะ ดังนั้นลมที่พัดเข้าไปข้างในจะมีแต่ลมเย็น”
Shade House มีสามห้องนอน ซึ่งแต่ละห้องนอนล้วนมีจุดเด่นเป็นของตัวเองจนยากที่จะตัดสินว่าห้องใดคือ Master Bedroom ของบ้านหลังนี้ ในขณะที่ห้องนอนชั้นล่างสำหรับแขกนั้นอยู่ท่ามกลางสวนที่ร่มรื่นและเปิดรับวิวของน้ำตก ห้องนอนชั้นสองสามารถนอนมองเห็นวิวสวนและเป็น Pool Villa ที่เดินออกไปที่สระว่ายน้ำได้อย่างสะดวกสบาย ห้องนอนใหญ่ที่ชั้นสามกว้างขวาง มีความเป็นส่วนตัวและสามารถนอนมองวิวทะเลสาปและสระว่ายน้ำได้อย่างสบายใจ
ในบ้านสีขาวหลังนี้ ทุกมุมมองได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เงาสะท้อนของภายนอกและองศาของแดดถูกควบคุมและจัดวางอย่างพอเหมาะพอดี เพื่อมอบอิสระเสรีให้ต้นไม้ใบหญ้าได้เติบโตแต่งเติมสีสันตามอำเภอใจ จนสถาปัตยกรรมค่อยๆ เลือนหายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างกลมกลืน AAd Design ออกแบบ Shade House บ้านที่สร้างสรรค์โดยสถาปนิก แต่งเติมโดยธรรมชาติ และเพิ่มลมหายใจโดยผู้อยู่อาศัย “เราอยากทำสถาปัตยกรรมที่มีชีวิต บ้านหลังนี้ต้องเป็นของเจ้าของบ้าน เราทำทุกอย่างในเชิงสถาปัตยกรรมให้สมบูรณ์แล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของเจ้าของบ้านที่จะทำให้บ้านมีชีวิตขึ้นมา” อยุทธ์กล่าว “พันธุ์ไม้ก็ให้เขาเลือก ช่วงนี้เขาจะปลูกผักปรัง เป็นผักสมุนไพรลวกกินได้ บางทีเขาอาจจะปลูกไม้เลื้อยอื่นๆ ที่มีเถา มีผลไม้ก็ได้ ปลูกองุ่นก็ได้ Feeling ของแระแนงที่เราทำไว้ ฟังก์ชันมันอาจจะเปลี่ยน วันดีคืนดีอยากปลูกเฟื่องฟ้าซึ่งมีดอก ดังนั้นสีมันก็จะเปลี่ยน ตึกเราก็เป็นเหมือน Canvas แล้วมันจะเป็นฟอ์มไหนก็ขึ้นกับธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติจะเลื้อยไปทางไหนก็แล้วแต่เขา”
Project name : SHADE HOUSE
Year : 2020
Lead Designer : Ayutt Mahasom, Napatgarn Limwanuspong
Architect : Ayutt and Associates design (AAd)
Interior Designer : Ayutt and Associates design (AAd)
Landscape Designer : Ayutt and Associates design (AAd)
Lighting Designer: Ayutt and Associates design (AAd)
Client : Confidential
Site area : 1,000 sq.m.
Construction area : 950 sq.m.
Location : Bang Phli District, Samut Prakan province, Thailand
Photographer: Chalermwat Wongchompoo (Sofography)
Photoshoper: Ayutt and Associates design (AAd)
Website : www.aad-design.com
Facebook : www.facebook.com/AAgroup.design
Instagram : www.instagram.com/AAgroup.design
Email : [email protected]
Tel : +66 88 22 1 9999
TAG
Shade House I บ้านซึ่งเว้นที่ว่างไว้รอการเติมเต็มจากธรรมชาติ ผลงานการออกแบบของ AAd Design
/
CONTRIBUTORS
RECOMMEND
/
“Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน
/
“One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว
/
HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน
By TOSTEM/
บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน
/
เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น
/
เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )