Shabu Lab ห้องปฏิบัติการทางชาบูแห่งใหม่ กับการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการชิมขั้นสูงสุด | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

DESIGN:----

ARCHITECTURE / RESTAURANTS

Shabu Lab
ห้องปฏิบัติการทางชาบูแห่งใหม่ กับการออกแบบ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการชิมขั้นสูงสุด

  ป้ายไฟนีออนฉาบแสงสีแดงและสีฟ้าลงไปบนผนังอาคารสีขาว ข้อความบนป้ายเขียนคำว่า “Shabu Lab” ผนังกระจกผืนใหญ่บริเวณชั้นล่างเผยให้เห็นพื้นที่ภายในซึ่งเป็นห้องสีขาวสะอาดตา โต๊ะตัวใหญ่เรียงรายเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่นี่คือห้องทดลองแห่งที่สองในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมชาบูที่สดใหม่ ทั้งเรื่องรสชาติและบรรยากาศในการกิน

  ร้าน Shabu Lab สาขาใหม่นี้เปลี่ยนตึกแถวสองคูหาหน้าตาธรรมดาๆ ในย่านเกษตรให้กลายเป็นห้องปฏิบัติการทางชาบูที่ดูสนุกสนานและมีประสิทธิภาพในการกินสูงสุด ผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ออกแบบห้องทดลองแห่งนี้คือทีมงานจาก IF (Integrated Field) เหล่านักออกแบบที่อินกับการกินชาบูเป็นทุนเดิม “ผมและน้องๆ ในทีมชอบกินชาบู เวลาไปกินชาบูเราก็จะมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ร้านชาบูมันน่าจะมีอย่างนี้นะ มันน่าจะดีนะ...ถ้ากินชาบูแล้วมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้” คณิน มัณฆนะชาติ ผู้ออกแบบเล่า “พอมีโอกาสได้ทำร้านชาบูก็เลยเป็นความสนุกที่เราได้ทำอะไรกับสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว”

  แนวคิดในการใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างบรรยากาศในการทดลองคิดค้นปรุงรสชาติของน้ำซุปและน้ำจิ้มต่างๆ ซึ่งทำให้ Shabu Lab สาขาแรกประสบความสำเร็จได้รับการนำกลับมาขยายความในการออกแบบร้านใหม่แห่งนี้ โดยทีมนักออกแบบได้ตั้งสมมติฐานใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์ความอร่อยกับชาบูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวแปรที่สำคัญก็คือพื้นที่บนโต๊ะ “ปกติแล้วเวลากินชาบู ปัญหาที่เกิดขึ้นคือโต๊ะจะไม่ค่อยกว้างเท่าไร แล้วอุปกรณ์ก็เยอะ มีทั้งถ้วยน้ำจิ้ม จาน ถาดเนื้อ ถาดผัก ของจะเกะกะเต็มไปหมด” คณินอธิบาย “เราก็เลยลองเอาคอนเซ็ปต์ของห้องทดลองมาใช้ การทดลองทางวิทยาศาสตร์มันจะคล้ายกับการกินชาบู คืออุปกรณ์มันจะเยอะ เพราะฉะนั้นในห้องทดลองก็จะมีตู้ไว้เก็บอุปกรณ์ต่างๆ”

  จากตู้เก็บของเหนือโต๊ะทดลองในห้องแล็บกลายเป็นชั้นเก็บของเหนือโต๊ะชาบูในร้านแห่งนี้ ชั้นลอยที่เปิดโล่งออกแบบมาเพื่อวางภาชนะเปล่าหรือขวดน้ำซุปสำหรับเติม ชั้นลอยที่มีฝาปิดใช้เก็บกระเป๋า เสื้อคลุม หรือข้าวของส่วนตัวที่ไม่ต้องการให้กลิ่นอาหารติดออกไปจากร้าน ชั้นลอยนี้ทำให้แต่ละโต๊ะมีพื้นที่ว่างสำหรับการทดลองชิมได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังทำให้สามารถเพิ่มจำนวนโต๊ะและที่นั่งภายในร้านได้มากขึ้นอีกด้วย

  กลไกการทำงานในร้านมีส่วนสำคัญต่อผลการทดลองชิม ทีม IF จึงออกแบบ Experimental Station โดยรวมพื้นที่จัดเก็บ จัดเตรียม และวางอาหารไว้ในจุดเดียวกัน เพื่อให้พนักงานปฏิบัติการได้โดยสะดวก สามารถควบคุมความสดและความสะอาดของอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด “เราออกแบบให้ส่วนที่เป็นไลน์บุฟเฟต์กับส่วนที่พนักงานเตรียมของรวมถึงสต๊อกของซึ่งเป็นตู้เย็น อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน” คณินอธิบาย “เพราะฉะนั้น พนักงานก็แค่เปิดตู้เย็น เอาผักออกมาจากใต้โต๊ะ แล้วก็เอาขึ้นมาหั่นบนโต๊ะ หั่นเสร็จแล้วก็เอามาวางดิสเพลย์ที่ไลน์ได้เลย ง่ายต่อการทำงาน พนักงานไม่ต้องมาขวักไขว่แย่ง Circulation ของลูกค้าในร้าน”

  บรรยากาศภายในที่ดูสะอาดตาเกิดจากส่วนผสมของสีขาวบนผนัง สีคอนกรีตเปลือยบนพื้น และสีเงินของสแตนเลสบนโต๊ะกับเคาน์เตอร์ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้ห้องทดลองทางชาบูแห่งนี้ ทีม IF ได้ใช้ไฟนีออนสีแดงและสีฟ้าซึ่งเป็นสีประจำร้านมาแต่งแต้มความสดใสลงไปในจุดต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาเพิ่มความสนุกผ่านการออกแบบลวดลายกราฟิกในร้านอีกด้วย “กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะสื่อสารจะค่อนข้างเด็กหน่อย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเอาเข้ามาช่วยคือLayer ของงานกราฟิกที่ดูสนุกๆ น่ารักๆ” คณินเล่า “เราเอาพวก Content ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เช่นตารางธาตุ และ Quote ของนักวิทยาศาสตร์ดังๆ มาเล่นให้ร้านมันดู Friendly และเข้าถึงง่าย สื่อสารความเป็นวิทยาศาสตร์ได้แบบสนุก ชัดเจนขึ้น”

  ผนัง Aluminum Composite สีขาวที่หุ้มภายนอกอาคารไม่เพียงสื่อถึงภาพลักษณ์ขาวสะอาดของห้องทดลองทางชาบูแห่งนี้ หากยังได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพิ่มประสิทธิภาพทางการสื่อสารระหว่างทางร้านกับลูกค้าอีกด้วย “ลักษณะการใช้งาน Facade ของร้านอาหารมักจะต้องการพื้นที่สำหรับติดป้ายโฆษณาโปรโมชั่น” คณินกล่าว “เราก็เลยออกแบบ Facade สีขาวให้มันเรียบๆ และมีพื้นที่ด้านขวาไว้สำหรับห้อยป้ายไวนิล ด้านบนเราก็เตรียมที่สำหรับแขวนไว้ มีไฟไว้ส่องเวลากลางคืนด้วย”

  ในขณะที่บริบทรอบๆ อาคารเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทีม IF ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำปฏิกิริยาในการออกแบบเพื่อเปลี่ยนสายโทรศัพท์ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายด้านหน้าอาคารให้กลายเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งซึ่งเพิ่มลูกเล่นให้ห้องทดลองแห่งนี้ดูสนุกและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น “ตอนแรกมีสายโทรศัพท์วิ่งผ่านหน้าร้านเยอะมากและมันค่อนข้างรกรุงรัง ซึ่งเราไม่สามารถจะเอามันออกได้” คณินเล่า “เราก็เลยออกแบบให้ผนังอาคารมีช่องให้สายพวกนี้วิ่งเข้ามาในอาคารแล้วลอดผ่านหลัง Facade เราไปโดยทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าสายพวกนี้พุ่งเข้ามาในตึกแล้วชาร์จพลังให้ห้องแล็บ”

  ที่ Shabu Lab แห่งใหม่นี้ ทีมออกแบบจาก IF ได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้ผู้คนที่สนใจในวัฒนธรรมชาบูได้เข้ามาลองสร้างสมมติฐาน ใส่ตัวแปร คิดค้นรสชาติที่อร่อยเหาะถูกใจในบรรยากาศของห้องปฏิบัติการทางชาบูที่สนุก สะอาด และตอบโจทย์ทุกความต้องการในการทดลองชิมอย่างแท้จริง

Project: SHABU LAB
Building: Type Restaurant
Location: Bangkok, Thailand
Owner: Fooder Co., Ltd.
Architect: IF (Integrated Field Co.,Ltd.)
Interior architect: IF (Integrated Field Co.,Ltd.)
Landscape architect: IF (Integrated Field Co.,Ltd.)
Environmental graphic: IF (Integrated Field Co.,Ltd.)

Other collaborators
Lighting designer: Kullakaln Gururatana
Electrical engineer: Site 83
Sanitary engineer: Site 83
Main contractor: Kornkanok Engineering
Interior contractor: Kornkanok Engineering
Lighting contractor: Kornkanok Engineering
D&W contractor: Kornkanok Engineering
Signage contractor: D.R. Advertising

Area Interior: 150 sq.m.

Design: October 2019
Completed: August 2020

Photographer: Ketsiree Wongwan
    TAG
  • design
  • architecture
  • restaurant
  • Shabu Lab

Shabu Lab ห้องปฏิบัติการทางชาบูแห่งใหม่ กับการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการชิมขั้นสูงสุด

ARCHITECTURE/RESTAURANT
October 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/RESTAURANT

    VAREE VALLEY RESTAURANT BY NPDA STUDIO

    “น้ำ” และ “หุบเขา” องค์ประกอบของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งใช้เวลาสั่งสมหลายร้อยปีจนเป็นผืนป่า แม่น้ำ และที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด สิ่งเหล่านี้ล้วนกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต และภูมิปัญญาการพึ่งพิงธรรมชาติอันเรียบง่ายของชาวอีสาน ท่ามกลางบริบทที่รายล้อมอย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่อดีตนี้ จนทำให้ผู้ออกแบบไม่สามารถไม่หยิบยกเรื่องราวขึ้นมาสะท้อนความสมบูรณ์ผ่านร้านอาหาร “วารี วัลเล่ย์” จังหวัดขอนแก่น ที่รายล้อมไปด้วย แม่น้ำ ป่าไม้ และหุบเขาของตะวันออกเฉียงเหนือออกมาได้

    Nada InthaphuntMay 2023
  • DESIGN/RESTAURANT

    The Artisans Ayutthaya Private Cuisine แห่งใหม่โดย อ.บุญเสริม เปรมธาดา

    แหล่งรวบรวมเหล่าช่างฝีมือที่จะมาเพิ่ม Spotlight ให้ชุมชนบ้านรุน และประวัติศาสตร์แก่อยุธยา ใน Private Cuisine แห่งใหม่โดย อ.บุญเสริม เปรมธาดา โครงการอันดำเนินต่อเนื่องจาก The Wine Ayutthaya

    EVERYTHING TEAMJanuary 2020
  • CULTURE&LIFESTYLE/RESTAURANT

    CHILL INDA HOUSE ปาร์ตีให้สุด แล้วมาหยุดที่ “ข้าวสารแห่งย่านทองหล่อ”

    ปาร์ตีจบแล้วแต่ยังไม่อยากกลับบ้าน ต้องทำยังไง? สำหรับสายชิลล์ที่ชอบมีไนท์ไลฟ์ทุกวันก็คงรู้ดีว่า คืนนี้ต้องไปปิดจ็อบปาร์ตีที่ไหน

    EVERYTHING TEAMAugust 2019
  • DESIGN/RESTAURANT

    สถาปัตยกรรมเรียบง่ายที่ผสานตัวเข้ากับชุมชนของ Danich Villa

    หากว่าความโดดเด่นคือไวยากรณ์หนึ่งทางการออกแบบสถาปัตยกรรม มันจะเป็นไปได้หรือไม่หากว่าปัจจัยดังกล่าวจะสามารถผสานตัวเข้ากับบริบทของพื้นที่โดยไม่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชุมชนนั้นๆ มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาในเชิงศาสนาอย่างเข้มข้น?

    EVERYTHING TEAMJune 2019
  • CULTURE&LIFESTYLE/RESTAURANT

    9 สิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับผู้พัน และ KFC

    คุณรู้จักเขาแค่ไหน? คนที่เคยอยู่เคียงข้างเรายามหิว คนดีคนเดิมที่กลับไปกินเมื่อไหร่ก็อร่อยจนต้องเลียนิ้วทุกที! ไปทำความรู้จักเขาคนนี้ให้มากขึ้นกับ 9 สิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับผู้พัน Colonel Sanders และ KFC

    EVERYTHING TEAMMay 2019
  • CULTURE&LIFESTYLE/RESTAURANT

    Siamese Renaissance

    อาหารคือวัฒนธรรมมีชีวิตที่ต้องอาศัยศาสตร์ในการปรุง และศิลปะในการกำหนดรสชาติ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามรสนิยมและพฤติกรรมของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ทำให้เกิดนิยามแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกัน คุณค่าของอาหารแต่ละจานจึงไม่อาจตัดสินด้วยช่วงเวลาที่ต่างกัน สำหรับในช่วงทศวรรษใหม่นี้ เป็นช่วงเวลาที่น่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาหารไทย

    Ekarin YusuksomboonFebruary 2019
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )