“สำนักงานสถาปนิก Office AT กับการออกแบบ Community Mall ให้เป็นทางผ่าน เป็นที่พักผ่อน เป็นศูนย์รวมของผู้คนและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง”
เส้นสายฉวัดเฉวียนบนอาคารรูปทรงโฉบเฉี่ยวดึงดูดสายตาเมื่อแรกเห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่จะดึงดูดความสนใจให้ผู้คนแวะเวียนเข้ามาและต้อนรับสถานที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาก็คือพื้นที่ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแต่ละวัน สุรชัย เอกภพโยธิน และ จุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ นำทีมสถาปนิกจาก Office AT ออกแบบ SAIMA Park Avenue โครงการ Community Mall ภายใต้แนวคิดการสร้าง Mall ให้เป็นส่วนหนึ่งของ Community อย่างกลมกลืน
ด้วยที่ตั้งซึ่งอยู่ระหว่างถนนใหญ่และถนนในชุมชนที่แวดล้อมด้วยบ้านพักอาศัยมากมาย ทีมสถาปนิกออกแบบให้โครงการนี้เป็นสะพานเชื่อมต่อการเข้าถึงให้ผู้คนในท้องที่สามารถสัญจรเข้าออกบ้านของตนเองได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยเส้นทางลัดที่ตัดผ่านเข้าไปในเนื้อที่ของ Community Mall “เราออกแบบให้โครงการนี้เป็นทางผ่าน” สุรชัย กล่าว “เราทำทางเชื่อมต่อจากถนนด้านหน้าทะลุไปยังถนนด้านหลัง เพื่อให้คนในหมู่บ้านบริเวณนี้ใช้เป็นทางลัด ไม่ต้องขับรถไปติดไฟแดง สามารถขับผ่านทะลุโครงการไปยังหมู่บ้านด้านหลังได้เลย”
เส้นทางลัดในโครงการได้รับการออกแบบโดยนำลักษณะของที่ตั้งซึ่งมีระดับพื้นต่ำกว่าถนนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ เกิดเป็นเส้นทางสัญจรและพื้นที่สวนที่ค่อยๆ ไล่ระดับจากถนนใหญ่ด้านหน้าจนเชื่อมออกไปสู่ถนนด้านหลังซึ่งอยู่ต่ำลงไปถึงสองเมตรได้อย่างลื่นไหลและเกิดเป็นภูมิทัศน์ที่น่าสนใจ “ตอนที่เรามาสำรวจพื้นที่ ระดับพื้นที่เดิมบริเวณนี้จะต่ำกว่าถนนใหญ่ประมาณสองเมตร เราก็เลยคิดว่าเราน่าจะใช้พื้นที่สภาพเดิมให้เป็นประโยชน์กับโครงการ มากที่สุดโดยไม่ได้ถมที่เพิ่ม” สุรชัยเล่า
“เราใช้วิธีการไล่ระดับจากถนนภายนอกปรับระดับภายในให้มีความลื่นไหลไปยังถนนด้านหลังซึ่งก็มีระดับต่ำกว่าถนนใหญ่ แล้วสามารถใช้บริเวณนี้เป็นสวน เป็นเนินเล็กๆ ค่อยๆ ปรับระดับเหมือนเป็นกำแพงกันดินกั้นระหว่างถนนสองส่วนด้วย”
สวนคือองค์ประกอบสำคัญในการเชื่อมต่อให้ชุมชนกับโครงการนี้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น พื้นที่สวนสามส่วนกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งภายนอกและภายในอาคาร แต่ละสวนเชื่อมถึงกันได้อย่างต่อเนื่อง จากสวนภายนอกด้านหน้าสู่สวนต่างระดับภายในโถงของอาคาร และทอดตัวผ่านสะพานต่อเนื่องไปยังพื้นที่สวนกลางแจ้งด้านหลัง สวนแต่ละจุดได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายของผู้คน “เราออกแบบพื้นที่สวนให้เป็นที่สำหรับทำกิจกรรมของคนในชุมชนรอบๆ ทั้งออกกำลังกาย พบปะสังสรรค์หรือใช้งานตลาดนัด” จุฑาทิพย์อธิบาย “เราอยากให้ Community Mall นี้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างชุมชนจริงๆ “
ความเชื่อมต่อพื้นที่สวนจากด้านหน้าสู่ด้านหลังทำให้สถานะการเป็นทางผ่านยิ่งชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่ถนนในโครงการเป็นเส้นทางลัดสำหรับรถ สวนในอาคารทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงการสัญจรทางเท้าให้คนในชุมชนสามารถเดินเข้าออกบ้านของตนเองผ่านบรรยากาศสวนที่ร่มรื่นสวยงาม
ความต่อเนื่องของระดับพื้นได้รับการถ่ายทอดจากภายนอกสู่ภายในอาคาร พื้นที่แต่ละชั้นของ Community Mall แห่งนี้ค่อยๆ ไล่ระดับขยับความสูงขึ้นไปอย่างลื่นไหล กลายเป็นพื้นที่โถงภายในที่เปิดโล่งเชื่อมต่อถึงกันทั้งด้านการเดินและการมองเห็น “มันเป็น Concept โดยรวมของโครงการนี้คือเราอยากให้โครงการนี้มี Dynamic พอเข้ามาในโครงการ จะมองเห็นความลื่นไหล ความต่อเนื่องของพื้นแต่ละชั้น สามารถมองทะลุถึงกันได้หมด” สุรชัย อธิบาย “แล้วก็มีความต่อเนื่องไหลลื่นระหว่างพื้นขึ้นไปตั้งแต่ชั้นใต้ดินไปจนถึงชั้นสี่ด้านบนสุด รวมทั้งยังต่อเนื่องไปยังLandscape ด้วย”
อาคารที่เปิดโล่งเชื่อมต่อถึงกันในทุกชั้นไม่เพียงสร้างความน่าสนใจให้กับบรรยากาศของสวนภายในที่ร่มรื่น หากยังคำนึงถึงประโยชน์ในการแบ่งพื้นที่ทางด้านการค้า ทำให้ทุกตารางนิ้วในอาคารสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีจุดอับ ”Planning ของเรามีการวาง Flow ของคนเดิน จากชั้นหนึ่งมีบันไดเข้ามาในโครงการได้เป็น Loop เชื่อมต่อไปยังชั้นสองจากด้านหน้าได้เลย” จุฑาทิพย์กล่าว “Flow ของคนจะต่อเนื่องไหลลื่นไปทั้งตึกเราวาง Planning ของร้านค้า ให้ไม่มี Dead-End Corridor เลย เพื่อไม่ให้มีร้านค้าไหน ได้เปรียบเสียเปรียบกัน”
แนวคิดความลื่นไหลภายในพื้นที่ได้รับการสะท้อนออกมา ผ่านการออกแบบเส้นสายในองค์ประกอบต่างๆ ทั่วทั้งโครงการ ตั้งแต่ผนังภายนอกของอาคาร ภูมิทัศน์ สะพาน ไปจนถึงบันได “ตัวบันไดต่างๆ มีเส้นสายที่บิดนำสายตา เส้นสายใน Facade ของอาคารก็ล้วนแต่เป็นเส้นสายที่สร้าง Dynamic ให้กับโครงการ ไม่ใช่เส้นตรงแต่เป็นเส้นเอียง ทั้งหมดนี้ประสานกันใน Space เพื่อให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว” สุรชัยกล่าว
รูปทรงอาคารที่โฉบเฉี่ยวเกิดจากการใช้โครงสร้างที่ท้าทายและมีการผสมผสานเทคนิคทางวิศวกรรมหลากหลายรูปแบบ พื้นซึ่งมีลักษณะยื่นยาวโดยไม่มีคานรองรับเป็นการใช้พื้นระบบ Post-Tension ตำแหน่งเสาได้รับการวางในลักษณะ Off-Grid ซึ่งเสาแต่ละต้นไม่ได้เรียงแถวอยู่ในแนวเดียวกัน แต่มีตำแหน่งที่สลับสับไปมา เกิดความ Dynamic คล้ายกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ หลังคาและบันไดบางส่วนใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อให้มีระยะพาดที่ยาวเป็นโครงสร้างลอยตัว “โครงสร้างสำหรับโครงการนี้เป็นเรื่องท้าทายมาก มีการผสมผสานของโครงสร้างหลายๆ แบบเพื่อให้เกิดเป็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด” สุรชัยกล่าว “ตอนออกแบบเราก็ทำงานร่วมกับทีมวิศวกร โดยเราเองก็ทำโมเดลโครงสร้าง เพื่อ Study กัน เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างสนุกสนานในการดีไซน์” จุฑาทิพย์เสริม
จากแนวคิดทางการออกแบบสู่ความท้าทายในการก่อสร้าง จินตนาการเริ่มปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่างอย่างช้าๆ ที่ SAIMA Park Avenue การสร้างเส้นทางสัญจรใหม่ให้ชุมชน ไม่เพียงทำให้โครงการนี้กลายเป็นทางผ่านที่เชื่อมถนนใหญ่ด้านหน้าสู่ถนนในชุมชนด้านหลังเท่านั้น หากยังเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับโครงการแห่งนี้ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ทุกเช้า ที่นี่จะเป็นที่ซึ่งผู้คนสามารถแวะจิบกาแฟ ซื้ออาหารที่จำเป็นก่อนที่จะไปทำงาน และในตอนเย็นคนในท้องที่สามารถแวะมาออกกำลังกาย พักผ่อน ซื้อข้าวของที่นี่ก่อนกลับเข้าบ้าน ทำให้ Community Mall แห่งนี้กลายเป็น Mall สำหรับ Community อย่างแท้จริง