A HOPE AND PEACE TO END ALL HOPE AND PEACE ศิลปะแห่งการสำรวจรากเหง้าแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงในตะวันออกกลาง | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

A HOPE AND PEACE TO END ALL HOPE AND PEACE
ศิลปะแห่งการสำรวจรากเหง้าแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงในตะวันออกกลาง ของ Rushdi Anwar
เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

  ท่ามกลางไฟสงครามจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน รวมถึงผู้บาดเจ็บหลายหมื่นคน และผู้พลัดฐิ่นฐานบ้านเกิดนับแสนคน และสงครามยังคงมีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งความขัดแย้งที่ว่านี้ไม่เพียงเกิดจากสาเหตุทางเชื้อชาติและความแตกต่างทางศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการแทรกแซงของชาติมหาอำนาจจากโลกตะวันตกอีกด้วย ​
  ในช่วงเวลาที่ว่านี้ มีงานศิลปะในนิทรรศการหนึ่ง ที่สำรวจหนึ่งในรากเหง้าต้นตอของสงครามและความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 100 ปี นิทรรศการนี้มีชื่ิิอว่า A HOPE AND PEACE TO END ALL HOPE AND PEACE โดย รัชดี อันวาร์ (Rushdi Anwar) ศิลปินชาวเคิร์ดจากเมืองฮาลับจา เขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก ผู้ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการเป็นผู้พลัดถิ่นฐานบ้านเกิด และผู้ประสบกับสถานการณ์ความขัดแย้งโดยตรง ในการสะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง ด้วยการสำรวจสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเส้นพรมแดนที่ถูกเขียนแบ่งตามใจชอบโดยเหล่ามหาอำนาจต่างชาติที่สู้รบกันเพื่อช่วงชิงอำนาจในการปกครองภูมิภาคแห่งนี้ ผ่านผลงานศิลปะที่ก่อร่างสร้างจากมุมมอง ประสบการณ์ และความทรงจำของเขา โดยนำเสนอผ่านผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย สื่อผสม ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ วิดีโอจัดวาง ภาพยนตร์สารดคี และเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่างๆ

รัชดี อันวาร์ กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
  “นิทรรศการนี้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของตะวันออกกลาง ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จากปี 1916 ถึงยุคปัจจุบัน ในช่วงเวลาหลังการถือกำเนิดของไอซิส (ISIS) และหันกลับไปสำรวจการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน หรือการที่พลังของโลกตะวันตกเข้ามาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง การที่อังกฤษและฝรั่งเศสยึดครอง และวาดแผนที่ใหม่ให้ตะวันออกกลาง ซึ่งยังคงถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้”
  “สิ่งเหล่านี้เกิดจากสนธิสัญญาไซเกส-ปิโกต์ (Sykes-Picot Agreement) ที่นักการทูตของอังกฤษและฝรั่งเศส มาร์ก ไซเกส (Mark Sykes) และ ฟรองซัวร์ ฌอร์ช ปิโกต์ (François Georges-Picot) ในบรรดาสองคนนี้ มาร์ก ไซเกส เคยมาที่ตะวันออกกลาง แต่ผมเชื่อว่า ฌอร์ช ปิโกต์ ไม่เคยเหยียบตะวันออกกลางเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งสองคนนั่งอยู่ในยุโรป คุยกันถึงดินแดนในตะวันออกกลางว่า ผมต้องการตรงนั้น คุณต้องการตรงนี้ ตรงนั้นของคุณ ตรงนี้ของผม แล้วก็วาดแผนที่ขึ้นมา น่าขันที่ตอนทำแผนที่ครั้งหนึ่ง ไซเกสเคยกล่าวว่า “เราต้องการลากเส้นจากตัวอักษร ‘e’ ใน เอเคอร์ (Acre) (ซึ่งปัจจุบันคือเมือง ไฮฟา (Haifa) ในอิสราเอล) ไปจนถึงตัวอักษร ‘k’ ตัวสุดท้ายใน คีร์คูก (Kirkuk) (เมืองในอิรักซึ่งเป็นเมืองที่มีน้ำมันมากที่สุดในตะวันออกกลาง) เส้นบนแผนที่ที่พวกเขาขีดขึ้นแยกตะวันออกกลางออกเป็นสองฝั่ง บางส่วนของเส้นที่พวกเขาขีดนั้นกลายเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่าง จอร์แดน, อิรัก และ เลบานอน จนถึงทุกวันนี้”

  “โครงการศิลปะครั้งนี้ของผม คือการมองความเพิกเฉยไร้สามัญสำนึกในความคิดของลัทธิล่าอาณานิคม ที่กลายเป็นอุดมการณ์ของโลกตะวันตก แน่นอนว่าหลังจากสนธิสัญญาไซเกส-ปิโกต์ ก็ยังมีอีกหลายสนธิสัญญาเกิดขึ้น เรามีสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne), เรามีสนธิสัญญาบัลฟอร์ (Balfour agreement) แต่ทุกอย่างเริ่มต้นจากสนธิสัญญาไซเกส-ปิโกต์ ที่เปลี่ยนแปลงตะวันออกกลางซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเราเป็นอย่างทุกวันนี้ นับตั้งแต่ครั้งนั้น ความไม่มั่นคงทางสังคม ความไม่มั่นคงการเมือง ความไม่มั่นคงของชาติพันธุ์ หลอมรวมเข้าด้วยกัน และความตึงเครียดก็เกิดขึ้น จนกระทั่งการมาถึงของลัทธิชาตินิยมอาหรับ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18”

  “การวาดแผนที่โดยไร้สามัญสำนึกและไร้การไตร่ตรองนี้ ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างยิ่งยวดต่อกลุ่มชาติพันธ์ุ ชนเผ่า และเหล่าบรรดาศาสนิกชนอันแตกต่างหลากหลายในตะวันออกกลางอย่างมาก และจบลงด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ การทารุณกรรม และความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาบัลฟอร์ ที่อังกฤษสัญญาจะมอบดินแดนของชาวปาเลสไตน์ให้ชาวอิสราเอล (ในขณะเดียวกันก็ไปสัญญาจะมอบเสรีภาพให้ชาวปาเลสไตน์ด้วย) จนทำให้เกิดความขัดแย้งจนถึงทุกวันนี้ หรือประเด็นเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์มีเนียโดยจักรวรรดิออตโตมัน หรือประเด็นเกี่ยวกับเคอร์ดิสถาน ประเทศของชาวเคิร์ดจำนวนสามสี่ล้านคน ที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนหนึ่งของหลายประเทศ อิรัก อิหร่าน ซีเรีย ตุรกี และบางส่วนของอาร์เมเนีย”

  “นี่เป็นการหวนกลับไปมองยังผลลัพธ์ว่าผู้คนในตะวันออกกลางถูกแบ่งแยก โดยคนขาวที่นั่งอยู่บนโต๊ะ และลากเส้นแบ่งบนแผนที่ในอีกซีกโลกหนึ่ง แบ่งสรรปันส่วนดินแดนในตะวันออกกลาง โดยไม่เคยถามความสมัครใจจากคนในพื้นที่เลยแม้แต่น้อย มันช่างเป็นความเพิกเฉยไร้สามัญสำนึกอย่างมาก แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตะวันออกกลางเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ในแอฟริกา ในละตินอเมริกา ที่ถูกผลกระทบจากอำนาจของลัทธิล่าอาณานิคมโดยมหาอำนาจตะวันตกในศตวรรษที่ผ่านมา น่าเศร้าที่สิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป และปรากฏตัวอย่างชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในตะวันออกกลางมานับศตวรรษ และเรายังคงไม่มีสันติภาพ เรายังคงมีความขัดแย้ง ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ความไม่มั่นคงทางการเมืองและสังคมเหล่านี้ เปิดโอกาสอันงดงามให้ระบอบเผด็จการเกิดขึ้นมาอย่างง่ายดาย เรามีคนอย่าง ซัดดัม ฮุสเซน และอีกมากมายหลายคน ตัวผมเองเกิดในปี 1971 ผมเห็นสงครามกับตามาแล้วอย่างน้อย 5 - 6 ครั้ง จนทุกวันนี้ เรามีสงครามอิรัก อิหร่าน สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 - 2 สงครามไอซิส และผมไม่รู้ว่่าจะเกิดสงครามอีกครั้งเมื่อไหร่ เรามีการสังหารหมู่อันฟาล หรือปฏิบัติการอย่างเป็นระบบตามคำสั่งของ ซัดดัม ฮุสเซน ในการสังหารหมู่ชาวเคิร์ด 182,000 คน และการทำลายล้างที่เกิดขึ้นตลอดมา”

  “การทำลายล้างที่ว่านี้สื่อผ่านผลงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า The kingdom of dust ruled by stones (2023) ที่ได้แรงบันดาลใจจากอนุสาวรีย์รูปคนขี่ม้าที่ผมเคยเห็นครั้งแรกที่เมืองบาซิกา ใกล้กับเมืองโมซุล ทางตอนเหนือของอิรัก ในปี 2016 ผมไปที่นั่นเพื่อทำโครงการศิลปะหนึ่งของผมในช่วงเวลาระหว่างสงครามไอซิส ซึ่งกองทัพไอซิส อยู่ห่างจากเมืองแค่ 4 กิโลเมตร เมื่อผมเห็นอนุสาวรีย์ที่ว่านี้ มันถูกทำลายไปแล้ว และมันเป็นอนุสาวรีย์ของ เอซิดี มีร์ซา (Ezidi Mirza) ผู้นำของชาวยาซิดี ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดที่นับถือศาสนายาซิดี ที่ชาวออตโตมันต้องการบังคับเปลี่ยนให้พวกเขานับถือศาสนาอิสลาม แต่ชาวยาซิดีต่อต้าน จึงถูกออตโตมันรุกราน ชายผู้นี้จึงจับอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้เพืิ่อปกป้องผู้คนของเขา แต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกสังหารโดยออตโตมัน สำหรับชาวยาซิดี เอซิดี มีร์ซา คือสัญลักษณ์ของวีรบุรุษแห่งชาติผู้ปกป้องพวกเขาในประวัติศาสตร์ ดังนั้น ในปี 1990 หลังจากการล่มสลายของ ซัดดัม ฮุสเซน ชนเผ่ายาซิดีและชาวเคิร์ดในอิรักจึงทำอนุสาวรีย์นี้ขึ้นมาให้เขาในฐานะผู้นำของชนชาติ แต่ในปี 2016 เมื่อไอซิส ยึดครองเมืองนี้ และทำลายอนุสาวรีย์นี้ลง เพราะอย่างที่หลายชาติในตะวันออกกลางทราบว่าตุรกีนั้นสนับสนุน ไอซิส ทางอ้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าย้อนแย้ง เพราะตุรกีเป็นส่วนหนึ่งของนาโต (Nato) น่าตลกที่ในขณะที่นาโตต่อสู้กับไอซิส แต่สมาชิกของนาโตก็สนับสนุนไอซิส อยู่ใต้โต๊ะอีกทีหนึ่ง นี่คือความย้อนแย้งและตลบแตลงของการเมือง”

   ผลงานประติมากรรมทองเหลืองชิ้นนี้ ถูกนำเสนอในรูปของเศษซากอนุสาวรีย์ที่มีร่องรอยแตกหักเสียหายจากการถูกทำลายจนมองไม่เห็นเค้าเดิม ตัวอนุสาวรีย์มีสีดำทะมึนราวกับถูกไฟเผาจนมอดไหม้กลายเป็นเถ้าถ่าน

   “สำหรับผม ประติมากรรมนี้สะท้อนแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ในสิ่งที่จักรวรรดิออตโตมันเคยทำกับชาวยาซิดี และหวนกลับมาทำเช่นเดิมอีกครั้งผ่านการสนับสนุนลับๆ ทางการเมือง นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของอนุสาวรีย์ที่ว่านี้ แต่สำหรับผม นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อนุสาวรีย์นี้ยังเป็นความภาคภูมิใจ ความเป็นวีรบุรุรษของชนชาติยาซิดี แต่เมื่อเราได้เห็นอนุสาวรีย์ คนที่อยู่บนหลังม้าถูกทำลายจนเหลือแต่ซาก สำหรับผม มันถูกทำให้กลายเป็นอนุสาวรีย์ของการทำลายล้าง ที่ซึ่งชาวตะวันออกกลางล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่ใช่แค่การทำลายทางกายภาพแบบที่คุณเห็นในฉนวนกาซ่า หรือในสงครามกลางเมืองในซีเรีย ลิเบีย หรือเยเมน แต่การทำลายล้างนี้ไปไกลกว่านั้น คือการทำลายในเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา การทำลายในเชิงคุณธรรม ค่านิยม และจริยธรรม จนภูมิภาคนี้เหลือแต่เศษซาก สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นตั้งแต่สนธิสัญญาไซเกส-ปิโกต์ จากยุคอาณานิคมที่ส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลง มีแต่จะเลวร้ายลงกว่าเดิม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”

  “ผลงานแต่ละชิ้นในโครงการนี้ เป็นการแสดงอย่างชัดแจ้งถึงสถานการณ์ที่ว่านี้ อย่างเช่นผลงาน They filled our world full of shadow, and then they tell us to seek the light (2023) ประติมากรรมจัดวางโต๊ะสีดำรูปแผนที่สองซีก ที่เกิดจากการแบ่งตะวันออกกลางเป็นสองฝั่งจากสนธิสัญญาไซเกส-ปิโกต์ ซึ่งตัวแผนที่นี้วางอยู่บนกระสุนทองเหลืองจำนวน 40 ลูก ซึ่งกระสุนที่ว่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนความขัดแย้งและสงครามที่กลายเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมทางการเมืองของตะวันออกกลาง เราไม่เคยมีการสนทนาอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ทุกอย่างต้องชุ่มโชกด้วยความขัดแย้งและสงคราม เราไม่มีการเจรจาทางการเมืองอย่างสงบ สันติ ทุกอย่างต้องตกลงกันด้วยสงครามและความขัดแย้ง อย่างที่เราเห็นกันมาในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา”

   “บนด้านหน้าของแผนที่ มีภาพถ่ายจำนวน 29 ภาพ ที่เกิดจากการตัดต่อภาพ (Photo montage) อันมีที่มาจากภาพถ่ายสถานการณ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลาง ทั้งเหตุการณ์ที่ทหารอังกฤษยาตราทัพสู่กรุงแบกแดดในปี 1917 ในการขยายอำนาจจักรวรรดินิยมใหม่ และภาพการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวอาร์มีเนีย ภาพการสังหารหมู่ชาวเคิร์ด หรือภาพสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 และ 2 และภาพสงครามปาเลสไตน์ เมื่อดูแต่ละภาพ เราจะเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดบนตำแหน่งจริงๆ บนแผนที่ของตะวันออกกลาง เหตุที่โต๊ะตัวนี้ถูกทำขึ้นเป็นสีดำ เพราะสีดำเป็นตัวแทนของความมืดมน และความจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้”

   “หรือในผลงาน Facing living, past in the present (2015) ผลงานวิดีโอที่ผมใช้ภาพถ่ายของ ซัดดัม ฮุสเซน ที่พิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษ มาฉีกเป็นชิ้นๆ แล้วใช้เทปแปะแต่ละชิ้นเข้าไปเหมือนเดิม แล้วฉีกซ้ำ และแปะเข้าไปใหม่อีกครั้งแล้วครั้งเล่า จนดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไรอีกต่อไป ผมทำงานชิ้นนี้โดยได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเดินทางกลับไปยังเคอร์ดิสสถานเป็นครั้งแรกในปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในอิรัก รวมถึงเคอร์ดิสสถาน ในฐานะส่วนหนึ่งของอิรัก หลังการลงจากอำนาจของ ซัดดัม ฮุสเซน ตอนนั้นชาวเคิร์ด ชาวชิอะห์ และชาวซุนนี เราหวังอย่างยิ่งว่า อิรักใหม่หลังการเลือกตั้งน่าจะมีความสงบสุข และสันติกับเขาเสียที เพราะในเวลาที่ซัดดัมอยู่ที่นั่น เขาเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ความไม่มั่นคง คนแตกต่างชาติพันธ์ุไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ตอนนี้เราสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของอิรัก เราเรียกมันว่า “ความหวังและสันติภาพ” (Hope and Peace) แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งคำคำนี้ก็เป็นแค่คำขวัญของพรรคการเมืองในการหาเสียง ที่ไม่มีวันทำได้จริงเท่านั้น”

   “เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในผลงานวิดีโอจัดวางอีกชิ้น ที่นำเสนอภาพมือของผมกำลังเขียนตัวหนังสือภาษาอารบิกเป็นคำว่า ‘الأملوالسلام’ (ความหวังและสันติภาพ) ทับกันไปมาเรื่อยๆ จนตัวกระดาษกลายเป็นสีดำทั้งแผ่น และไม่สามารถอ่านตัวหนังสืออะไรได้อีกต่อไป เหมือนกับที่เรายังคงต้องเผชิญกับการรบราฆ่าฟันกันระหว่างนิกายชิอะห์และซุนนี ความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับ ชาวเคิร์ด สงครามภายนอกภายใน กองทัพอเมริกันในตะวันออกกลาง ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบสิ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นความหวังและสันติภาพได้”
  “ทุกครั้งที่เรามีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในอิรัก คนในอิรักหวังว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นทางออกให้กับปัญหาที่เรามีอยู่ แต่หลังจากหนึ่งปีหรือหกเดือนผ่านไป เราก็พบกับความผิดหวังซ้ำๆ ซากๆ จนทุกวันนี้เราไม่มีความหวังอีกต่อไป ลองจินตนาการดูว่า ทุกวันนี้คนอิรักออกไปประท้วงบนท้องถนน พวกเขาไม่ได้ขอความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พวกเขายอมแพ้ต่อการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมือง พวกเขาแค่ขอระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พวกเขาเรียกร้องขอน้ำสะอาด ขอไฟฟ้าใช้ ขอถนนหนทาง ขอการศึกษาให้ลูกหลาน ซึ่งรัฐไม่อาจมอบให้พวกเขาได้ นั่นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ชื่อของงานชุดนี้อย่าง A Hope And Peace To End All Hope And Peace (2023) ได้กลายเป็นชื่อของนิทรรศการครั้งนี้ไปในที่สุด”

  ที่น่าสนใจก็คือ ผลงานวิดีโอจัดวาง Facing living, past in the present (2015) นั้นถูกจัดแสดงบนกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่มหึมา ราวกับยกเอากำแพงจากพื้นที่เกิดเหตุในตะวันออกกลาง มาตั้งเอาไว้ในห้องแสดงงานหลักของนิทรรศการก็ไม่ปาน
  “กำแพงคอนกรีตที่ว่านี้เป็นตัวแทนของสถานการณ์ทางการเมืองอันย่ำแย่มากๆ ในตะวันออกกลาง ในปี 2003 ช่วงเวลาที่กองทัพอเมริกันเดินทางมายังอิรัก และสร้างพื้นที่ที่เรียกว่า เขตกรีนโซน (Green Zone) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของสถานทูตอเมริกัน นักการทูต และสำนักข่าวอเมริกัน และสร้างกำแพงรอบๆ เขตกรีนโซน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างสองนิกายศาสนา ที่ไม่สามารถควบคุมได้ กองทัพอเมริกันและรัฐบาลอิรักจึงตัดสินใจสร้างกำแพงยาวหลายสิบกิโลเมตร เพื่อกั้นความขัดแย้งที่ว่านี้ และกำแพงที่ว่านี้ก็ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญ กำแพงที่ว่านี้ยังป้องกันรัฐบาลอิรักจากประชาชนนับแสนคนในกรุงแบกแดด ที่ลุกฮือขึ้นประท้วงบนท้องถนนต่อต้านรัฐลบาลทุจริตคอร์รัปชันในปี 2019 เป็นเวลานับเดือน จนกระทั่งรัฐบาลอิรักและกองทัพสลายการชุมนุมด้วยปืนและความรุนแรง และสังหารผู้ประท้วงไปหลายพันคน และมีผู้บาดเจ็บนับหมื่นคน หลายคนถูกลอบสังหาร ลักพาตัว และพบร่างไร้ชีวิตในแม่น้ำในกรุงแบกแดด นี่คือวิธีที่พวกเขาใช้ในการสลายการชุมนุมประชาชนมือเปล่า ผู้ออกมาประท้วงด้วยความสงบ กำแพงที่ว่านี้เป็นเพียงเครื่องมือในการปกป้องรัฐบาลอิรัก มันจึงเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมอันทรงพลังสำหรับการปกป้องอำนาจบางอย่าง เขาบอกว่า “ถ้าคุณต้องการสันติภาพ คุณต้องมีกำแพง” แล้วสันติภาพแบบไหนล่ะ ที่อยู่หลังกำแพง? สิ่งนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในกรุงแบกแดดหรืออิรัก เรายังมีกำแพงในเบอร์ลิน ในฉนวนกาซ่า อิสราเอล ในบอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา และอีกหลายแห่งในโลก กำแพงจึงเป็นตัวแทนของพลังอำนาจทางการทหารของลัทธิอาณานิคม ที่สร้างกำแพงขึ้นเพราะพวกเขารู้ว่าไม่มีวันมีสันติภาพในแผ่นดินที่พวกเขาเข้าไปครอบครอง กำแพงจึงเป็นหนทางเดียวในการปกป้องคุ้มครองตนเองของพวกเขา นั่นเป็นเหตุผลที่ผมสร้างกำแพงแบบเดียวกันในขนาดเดียวกันขึ้นในพื้นที่แสดงงาน เพื่อแสดงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแบกแดดและในทั่วโลก”

  ผลงานสำคัญอีกชิ้นในนิทรรศการครั้งนี้คือภาพยนตร์สารคดี A Man Stronger Than Mine (2023) ที่นำเสนอเรื่องราวของ โหชยาร์ ไบยาเวลาย (Hoshyar Byawelaiy) ชายชาวเคิร์ดผู้มุ่งมั่นในการผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดไปจากเคอร์ดิสถาน โดยปราศจากอุปกรณ์เทคโนโลยีใดๆ ยกเว้นพลังใจและสองมือของเขา
  “เมื่อ 4 - 5 ปีที่แล้ว ผมได้ยินเรื่องราวของโหชยาร์ จากโซเชียลมีเดียท้องถิ่น ว่ามีผู้ชายคนหนึ่งเก็บกู้ระเบิดสองหมื่นลูกในพื้นที่ในหมู่บ้านหนึ่ง ผมสนใจมากว่าผู้ชายคนนี้เป็นใคร? ต่อมาผมทราบว่าผู้ชายคนนี้อยู่ในหมู่บ้านที่ห่างจากบ้านเกิดของผมในเคอร์ดิสถานเพียงแค่ขับรถ 20 นาที ผมจึงเดินทางกลับบ้าน และผมสืบหาตัวเขา ผมไปยังหมู่บ้านของเขา เราพูดคุย และกลายเป็นเพื่อนกัน ผมจึงถามเขาว่า ผมอยากทำสารคดีเกี่ยวกับเขา เขาตกลง เราก็เลยถ่ายทำสารคดีขึ้นมา แต่ในคราวนั้นสิ่งที่บันทึกมายังไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ ในปีนี้ผมจึงกลับไปถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับเขาอีกครั้ง ดังที่เราเห็นในสารคดีเรื่องนี้ ผู้ชายคนนี้เป็นคนเข้มแข็งมากๆ เช่นเดียวกับชื่อที่ผมตั้งให้สารคดีคือ A Man Stronger Than Mine (ชายผู้เข้มแข็งกว่าทุ่นระเบิด) คุณจะเห็นว่าเขาเป็นคนพิการ ที่เสียขาทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งจากทุ่นระเบิดอเมริกัน อีกข้างจากทุ่นระเบิดอิตาลี เมื่อตอนอายุยังน้อย เขาร่วมรบในกองทัพปลดแอกชาวเคิร์ดเพื่อปลดปล่อยชาวเคิร์ดจากการปกครองอันโหดเหี้ยมของ ซัดดัม ฮุสเซน ในช่วงปี 1980 นั่นเป็นสาเหตุที่เขาเรียนรู้วิธีการเก็บกู้ทุ่นระเบิด เพราะซัดดัมมักจะวางทุ่นระเบิดในภูเขามากมายและหมู่บ้านในเคอร์ดิสถาน เพราะกองทัพปลดแอกมักจะซุ่มตัวอยู่ในภูเขาและหมู่บ้านชนบท หรือแม้แต่ทุ่นระเบิดของอเมริกันและอังกฤษ ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย และทุ่นระเบิดโฮมเมดของ ไอซิส ที่ถูกวางในหลายเมือง ในหลายหมู่บ้าน ผู้ชายคนนี้เก็บกู้ระเบิดเหล่านี้ทั้งหมด ที่ผ่านมา เขาเก็บกู้ทุ่นระเบิดไปแล้ว 2.5 ล้านลูก เขายังเก็บเอาทุ่นระเบิดเหล่านี้ที่ปลดชนวนแล้ว ไปสาธิตในโรงเรียนต่างๆ เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ให้เยาวชนเห็นถึงอันตรายของทุ่นระเบิดเหล่านี้ ว่าไม่ควรแตะต้อง และควรอยู่ให้ห่างไกล เขาทำสิ่งเหล่านี้ให้ทุกคนฟรีๆ โดยไม่ได้รับเงินจากใครเลยแม้แต่น้อย และสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องราวของเขาก็คือ ผืนแผ่นดินเหล่านั้นที่เขาเข้าไปเก็บกู้และเก็บกวาดระเบิดออกมา ชีวิตได้หวนคืนสู่ที่แห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือสัตว์ป่า เพราะสัตว์มีสัญชาตญาณถึงอันตรายและไม่ยอมเข้าใกล้ทุ่นระเบิด เมื่อเขาเก็บกู้ระเบิดออกจากพื้นที่ สัตว์ป่าจึงกลับคืนสู่พื้นที่แห่งนั้น ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่เหล่านั้นยังกลายเป็นชุมชน ศาสนสถาน โรงพยาบาล ตลาด หรือแม้แต่แหล่งท่องเที่ยว สำหรับผม เขาคือนักสิ่งแวดล้อมที่เก็บกวาดระเบิดและนำพาชีวิตกลับคืนสู่ผืนแผ่นดินเหล่านั้น”

   หรือผลงาน When you pray for black gold, you must deal with the burning smoke too (2023) ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่นำเสนอภาพของ มาร์ก ไซเกส และ ฟรองซัวร์ ฌอร์ช ปิโกต์ สองนักการทูตชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ผู้ริเริ่มสนธิสัญญาไซเกส-ปิโกต์ ที่ถูกพิมพ์ออกมาในโทนสีเอกรงค์ ด้วยสีแดง Colonial Red และสีน้ำเงิน Colonial Blue อันเป็นตัวแทนธงชาติจักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศส ตรงข้ามกับภาพทั้งสอง มีแผนที่ของดินแดนของชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากสนธิสัญญาที่ทั้งสองเขียนขึ้นปักอยู่บนพรมสำหรับละหมาดผืนหนึ่ง

  “ชื่อของงานชุดนี้มีความหมายว่า “เมื่อคุณสวดภาวนาขอทองคำสีดำ คุณต้องรับมือกับควันไฟด้วย” ซึ่งทองคำสีดำคือน้ำมันดิบนั่นเอง เพราะอังกฤษรู้ดีว่าการวาดเส้นแบ่งบนแผนที่นี้ทำให้ชาติตนเองได้สัมปทานน้ำมันไปสู่ประเทศของตน ซึ่งเส้นแบ่งที่ว่าก็คือเส้นทางของท่อส่งน้ำมันนั่นเอง ที่น่าสนใจก็คือ ตำแหน่งของพรมละหมาดนั้น หันหน้าไปยังทิศของเมืองมักกะฮ์ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นตำแหน่งของภาพบุคคลผู้เป็นตัวแทนของอำนาจอานานิคมของตะวันตกอีกด้วย”

  “อีกเหตุผลที่ผมใช้พรมละหมาดในงานชุดนี้ เป็นเพราะพรมละหมาดแบบนี้เป็นพรมที่บ้านของผมเคยใช้ตอนผมเป็นเด็กๆ และผมจำได้ว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ของผม เวลาพวกเขานมัสการพระเจ้าเสร็จ สิ่งที่พวกเขาอ้อนวอนขอต่อพระเจ้าเป็นสิ่งแรกและสิ่งเดียวคือ สันติภาพและความปลอดภัย เพราะพวกเขาไม่มีสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น ในงานชิ้นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราอ้อนวอนขอสันติภาพและความปลอดภัยจากผู้ชายสองคนนี้ที่เป็นผู้ริดรอนมันไปจากเรา”

  นอกจากนี้ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานส่วนต่อขยาย เกี่ยวกับสงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ประเทศลาว ซึ่งมีวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามอินโดจีน ที่สหรัฐอเมริกาทิ้งในประเทศลาวจำนวนหลายล้านตัน โดยองค์กรนานาชาติช่วยเหลือในการฝึกฝนคนท้องถิ่นให้เก็บกู้และทำลายระเบิด และนำโลหะที่เหลือจากวัตถุระเบิดมารีไซเคิลเป็นเครื่องประดับและภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งโลหะจากวัตถุระเบิดเหล่านี้ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะของรัชดี จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน นั่นเอง

  “ทั้งหมดทั้งมวลของโครงการศิลปะครั้งนี้ ที่ผมใช้เวลา 5 ปีในการค้นคว้าและเก็บข้อมูล คือการมองกลับไปยังความหน้าซื่อใจคดของระบอบการเมือง ความสับปลับของนักการเมือง และการปรากฏตัวของอำนาจอาณานิคม ที่กลายเป็นสูตรสำเร็จของการทำลายล้าง ความขัดแย้ง และสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด ผมหวังว่างานชุดนี้จะเป็นเครื่องมือกระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่ามันไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ในตะวันออกกลาง แต่ยังรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ในโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และที่อื่นๆ อีกมากมาย”

  “นิทรรศการครั้งนี้ไม่เพียงแสดงถึงเรื่องราวของความขัดแย้ง แต่ยังแสดงถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผู้คน สิ่งสำคัญในการทำนิทรรศการครั้งนี้คือการย้ำเตือนว่า ในฐานะมนุษย์ เราไม่แตกต่างกัน เราสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และถ้ามีเรื่องเลวร้ายหรือยากลำบากเกิดขึ้นที่แห่งใดในโลก เราไม่ได้เผชิญสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง หลายคนในโลกใบนี้ต่างเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้อยู่ไม่ต่างกัน”

  “สำหรับผม ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นพื้นที่อันยิ่งใหญ่ในการสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับความยากลำบาก และเมื่อเราเข้าใจความยากลำบากของกันและกัน เราก็จะเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ผมหวังว่านิทรรศการนี้จะเป็นการเปิดประตูและหน้าต่างไปสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อมองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างบทสนทนาระหว่างสองสถานที่ที่แตกต่างกัน เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และลดช่องว่างอันไกลห่างสุดขั้วของพวกเขาให้เข้าใกล้กันทีละน้อยๆ”

  นิทรรศการ A HOPE AND PEACE TO END ALL HOPE AND PEACE โดย รัชดี อันวาร์ และ
ภัณฑารักษ์ โซอี บัตต์ (Zoe Butt) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 - 10 มีนาคม 2567 ที่ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน แกลเลอรี่ 1-2 ชั้น 3 (และพื้นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน), เปิดทำการทุกวัน เวลา 10:00 - 18:00 น. ค่าเข้าชม: 50 บาท, สมาชิกและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย, สถาบันการศึกษาสามารถขอเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ติดต่อล่วงหน้า)

    TAG
  • art
  • exhibition
  • Solo Exhibition
  • people
  • Rushdi Anwar
  • hope
  • peace

A HOPE AND PEACE TO END ALL HOPE AND PEACE ศิลปะแห่งการสำรวจรากเหง้าแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงในตะวันออกกลาง

ART AND EXHIBITION/ART
January 2024
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/ART

    ROOM063 เปิดประตูสู่ห้วงจิตใต้สำนึก แสวงหาตัวตนเพื่อคงอยู่กับ ก้าม ธรรมธัช สายทอง

    หลังจากคลายล็อคดาวน์ให้ผู้คนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้นนิดหน่อย เราสามารถออกไปทานข้าว นั่งคาเฟ่ เดินห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งออกไปชื่นชมงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ที่เราต่างเคยทำมันในชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องปกติ กระทั่งเราได้รับรู้ว่าการขาดสิ่งเหล่านี้ไปเป็นระยะเวลานานในช่วงเวลาเช่นนี้ คงยิ่งทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกหดหู่หัวใจไม่มากก็น้อย เพราะการใช้ชีวิตทุกวันอยู่ให้ห้องสี่เหลี่ยม ขาดความหลากหลาย ขาดสีสัน ไร้ซึ่งการพบปะผู้คนมันช่างหมองหมน จึงขอพาทุกคนออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมของตนไปรับชมศิลปะพร้อมกับเปิดรับความรู้สึกใหม่ภายในตัวเรากับการแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ก้าม ธรรมธัช สายทอง ที่มีชื่อว่า ROOM063

    EVERYTHING TEAMSeptember 2021
  • DESIGN/ART

    มองลึกถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ของอาจารย์อนันต์ ปาณินท์ ในนิทรรศการ Rhythm of Heartbeat

    ในช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่ของปีที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราอย่างมากมายแล้ว ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของวงการศิลปะในเมืองไทย จะยังมีได้โอกาสชมผลงาน ของอาจารย์ อนันต์ ปาณินท์ ในนิทรรศการที่ชื่อว่า Rhythm of Heartbeat ซึ่งจะจัดที่ MOCA Bangkok ในระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564

    EVERYTHING TEAMJanuary 2021
  • DESIGN/ART

    Year of the Rat นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในไทยของ อ้าย เว่ยเว่ย

    นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ อ้าย เวยเวย (ai weiwei) ศิลปินชาวจีนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 63 ผู้มีผลงานด้านศิลปะหลากหลายรูปแบบ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรมจีน ได้เปิดนิทรรศการผลงานศิลปะของตัวเองที่ชื่อ "Year of the Rat" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Bangkok Art Biennale 2020 โดยนิทรรศการได้เปิดให้ชมแล้วที่ Tang Contemporary Art ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ถนนสี่พระยา

    EVERYTHING TEAM4 years ago
  • DESIGN/ART

    Die Schöne Heimat นิทรรศการผลงานศิลปะของ อ.สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ในวันที่คนไม่สามารถเดินเข้าหาศิลปะได้ในเวลานี้ ศิลปินควรทำอย่างไร?

    หากเป็นช่วงเวลาปกติ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจารย์ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง จะจัดแสดงนิทรรศการชุด “Die Schöne Heimat” (ดี-เชินเน-ไฮมัท) ซึ่งเปิดให้ชมทาง JWD Art Space (ซอยจุฬาลงกรณ์ 16) ไปจนถึงราวกลางเดือนมิถุนายน

    EVERYTHING TEAMApril 2020
  • DESIGN/ART

    “Pet Portrait Project by Crunchy M.” โครงการภาพวาดประกอบน่ารัก ให้พักเบรกจากสถานการณ์โรค

    “ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอะไรเพื่อช่วยส่วนรวมได้บ้าง” โบ - ณัฐชลัยย์ สุขะมงคล Copy Writer สาวที่ชอบวาดรูปเล่นเป็นงานอดิเรก นึกคิดขึ้นมาได้ในเย็นวันศุกร์วันหนึ่ง ระหว่างที่เธออยู่ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน และออฟฟิศมีนโยบายให้พนักงาน Work from home

    EVERYTHING TEAMApril 2020
  • DESIGN/ART

    Bed, Blade and Breakfast with Bua Smith

    เปิดโรงแรม จิบกาแฟ คุยเรื่องศิลปะตัดกระดาษผ่านใบมีดของ “บัว สมิต”

    EVERYTHING TEAM5 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )