ศิลปินผู้สำรวจตัวตนของตนเองผ่านตัวตนเสมือน Rook Floro | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ศิลปินผู้สำรวจตัวตนของตนเองผ่านตัวตนเสมือน Rook Floro
เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

  “ศิลปะ” นอกจากจะใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายและชุบชูจิตใจผู้คนด้วยสุนทรียะและความงามแล้ว ในหลายครั้ง ศิลปะยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ระบายสิ่งที่คั่งค้างอยู่ภายใน และสำรวจจิตใจและตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานได้อีกด้วย
  เช่นเดียวกับผลงานศิลปะของ รุกข์ โฟล์โร (Rook Floro) ศิลปินผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะหลากสื่อ โดยใช้เทคนิคปืนกาว และสื่อหลากแขนงสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม งานศิลปะจัดวาง งานวิดีโอ และศิลปะแสดงสด ที่สำรวจตัวตนในแง่มุมต่างๆ ของเขาในฐานะมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอันซับซ้อน ที่ในบางครั้ง ในตัวตนของมนุษย์คนหนึ่ง ก็เต็มไปด้วยความหลากหลายทางอารมณ์ ความรู้สึก บุคลิกภาพ และอัตลักษณ์ ที่กำหนดตัวตนของบุคคลผู้นั้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รุกข์ใช้ผลงานของเขาสำรวจความหลากหลายของอัตลักษณ์เหล่านั้นผ่าน Alter ego หรือ ตัวตนเสมือน ที่เขาสร้างขึ้นเป็นตัวละครขึ้นมา 4 ตัว

  “กระบวนการทำงานศิลปะของผมสื่อสารผ่านตัวละคร 4 ตัว ที่ผมเรียกว่า Flux, Corvus, Blastard, และ Alpha/Omega แต่ละตัวผมใช้เล่าเรื่องราวด้านต่างๆ ของตัวตนและชีวิตของผม แต่ละตัวจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีสุนทรียะทางศิลปะที่แตกต่างกัน เล่าเรื่องราวที่แตกต่างกัน มีบุคลิกที่แตกต่างกัน งานในแต่ละนิทรรศการที่ผมทำก็จะเกี่ยวกับตัวละครแต่ละตัวที่แตกต่างกันออกไป”

  ครั้งแรกที่เราได้ชมผลงานในลักษณะนี้ของเขาคือ นิทรรศการ Alpha/Omega - The one between fire and water ที่ WTF Gallery & Cafe ในปี 2020 ที่หยิบเอาตัวละคร Alpha/Omega มาใช้เป็นสื่อในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา
  ซึ่งตัวละคร Alpha/Omega เป็นภาพแทนตัวตนของรุกข์ ผู้มีพื้นเพเป็นชาวไทยเชื้อสายฟิลิปปินส์ที่เติบโตขึ้นระหว่างสองวัฒนธรรม แม้ว่ารุกข์จะเติบโตในประเทศไทย แต่ความเป็นฟิลิปปินส์ยังคงฝังแน่นอยู่ในตัวเขา และบังคับให้ตัวเขาต้องแสวงหาความสมดุล และใช้ชีวิตโดยโอบรับความซับซ้อนของพหุวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในตัวเอง และแสดงออกผ่านตัวละครตัวนี้ของเขา

  ชื่อ Alpha/Omega นั้นคือตัวอักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายของพยัญชนะกรีก ที่เป็นเหมือนตัวแทนของจุดเริ่มต้นและจุดจบ การเกิด และ การตาย ตัวอักษรทั้งสองอยู่ห่างกันที่สุด แต่ก็ทำหน้าที่เป็นขอบเขตให้กับตัวอักษรอื่นๆ ดังเช่นไฟกับน้ำ ที่เป็นพลังงานขั้วตรงข้าม เป็นตัวแทนของความเร่าร้อน รุนแรง กับ ความสงบ เยือกเย็น เมื่อทั้งสองพลังงานนี้ทำงานร่วมกัน ก็จะส่งผลกระทบต่อการถือกำเนิดชีวิตและจุดจบของทุกสรรพสิ่ง

  “ผมพยายามพูดถึงสองสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่าง น้ำกับไฟ, สีแดงกับสีน้ำเงิน ผมมองสีแดง (ไฟ) เป็นตัวแทนของพ่อของผม ที่เป็นคนอารมณ์ร้อน ส่วนสีน้ำเงิน (น้ำ) เป็นตัวแทนของแม่ของผม ที่เป็นคนอารมณ์เย็นกว่า ปกติสีแดงกับสีน้ำเงินจะเป็นสีคู่แข่งกัน เช่นในกีฬาอย่างมวย สำหรับผม สีแดงกับน้ำเงิน ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดและการตาย การสร้างสรรค์และการทำลาย พ่อกับแม่ของผมเองก็มีมุมมองเกี่ยวกับการเกิดและการตายที่แตกต่างกันตามศาสนาของพวกเขา แม่ของผมเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องชาตินี้ชาติหน้า แต่พ่อของผมไม่เชื่อ เขาเชื่อว่าเมื่อคนตายไปแล้วก็ตายไปเลย ไม่มีการกลับชาติมาเกิดใหม่"

  “ตั้งแต่เด็กๆ ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนของที่ไหนเลย ทั้งไทยหรือฟิลิปปินส์ เหมือนเราลอยอยู่ตรงกลางระหว่างอะไรก็ไม่รู้ ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นลูกครึ่ง เขาก็มีความคิดแบบนี้เหมือนกัน เวลาเราต้องใช้หลายภาษาสลับกันที่บ้าน เราจะมีความงุนงง เพราะเวลาเราเปลี่ยนภาษา ความคิดของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย
  อย่างตอนไปฟิลิปปินส์ครั้งแรก ผมไปงานวันเกิดของคุณย่าที่จัดในโบสถ์คริสต์ ในอาทิตย์เดียวกัน ผมต้องกลับมางานศพของคุณตาในวัดไทย เหตุการณ์นั้นทำให้ผมได้สัมผัสกับการเกิดและการตาย ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ ในเวลาใกล้เคียงกัน”

  ประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านผลงานวิดีโอจัดวางในนิทรรศการ ที่ประกอบด้วยเสียงสัมภาษณ์พ่อและแม่ของศิลปินคนละช่วงเวลา ถูกตัดต่อทับซ้อนจนเป็นเหมือนบทสนทนาโต้ตอบกันทางความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของทั้งคู่ คลอเคียงไปกับภาพที่บันทึกประสบการณ์ของศิลปินในพิธีกรรมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของสองเชื้อชาติ และภาพเคลื่อนไหวของศิลปะแสดงสด ที่ศิลปินสวมบทบาทเป็นตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์แทนสองสี, สองขั้วพลังงาน และสองจิตสำนึกที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน
  องค์ประกอบอีกอย่างที่น่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้คือผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมสื่อผสมที่ศิลปินใช้วัสดุที่เราไม่ค่อยพบเห็นใครเอามาทำงานศิลปะเท่าไหร่นักอย่าง ปืนกาว ที่ศิลปินใช้กาวร้อนสีแดงและน้ำเงิน สร้างเป็นผลงานศิลปะอันแปลกตา น่าพิศวงออกมา

  “ผมเลือกใช้ปืนกาวเพราะทำอะไรได้เยอะดี มีหลายสี แดง, น้ำเงิน, เหลือง, เขียว, ส้ม, ฟ้า, ม่วง สามารถยิงเข้ากับวัตถุอะไรก็ได้ และยังแกะออกมาได้ด้วย ตอนเด็กๆ เรามักจะเอาปืนกาวมายิ่งเล่นเป็นไยแมงมุม ผมก็เลยลองเอามาทำเป็นพื้นผิวของงานจิตรกรรมและประติมากรรม

  ด้วยความที่ปืนกาวเป็นวัสดุที่หลอมละลายเข้าหากัน เหมือนที่ผมรู้สึกว่าตัวเองมีจิตสำนึกซ้อนอยู่สองอัน ทั้ง Alpha กับ Omega หรือความเป็นพ่อกับแม่ในตัวของผมที่สลับกันไปมา บางครั้งก็หลอมรวมเข้าด้วยกัน และสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา ผมจึงใช้ปืนกาวเป็นวัสดุเพื่อที่จะสื่อมวลความรู้สึกเหล่านี้ออกมาในงานศิลปะของผม”

  ล่าสุด ในเดืิอนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รุกข์ โฟล์โร ก็จัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวของเขาในชื่อ Flux Forever ที่หยิบเอาตัวละคร Flux ที่เป็นภาพแทนของการยึดถือในอัตตา ตัวตน และความปรารถนาที่จะบรรลุความสมบูรณ์แบบ จากแรงผลักดันของคนรอบข้าง จนทำให้เขาก้าวออกมาจากคราบของความไม่มั่นใจและข้อจำกัด และกลายเป็นผู้ที่สามารถแสดงออกถึงความตั้งใจและความปรารถนาของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันในระหว่างกระบวนการนี้ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างตัวตนของเขาที่เป็นคนธรรมดากับตัวตนที่สมบูรณ์แบบ จนเกิดเป็นวงจรย้อนแย้งลักลั่นอันไม่มีที่สิ้นสุด

  “Flux เป็นละครตัวแรกที่ผมสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ14 ปีที่แล้ว ตอนผมเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ เป็นตัวตนในแง่มุมที่เต็มไปด้วยอีโก้ ชอบเอาชนะ อยากเก่ง อยากดี อยากยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น อยากอยู่เหนือคนอื่น เพราะตัวตนนี้ถือกำเนิดมาในช่วงที่ผมเป็นเด็ก ที่ผมรู้สึกอึดอัดจากแรงกดดันของพ่อแม่ เพื่อนๆ คนรอบตัว สังคม โซเชียลมีเดีย ทำให้ผมอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ทุกคนยอมรับ ให้สังคมยอมรับ ให้ตัวเองเป็นร่างที่สมบูรณ์แบบ แล้วก็ค่อยๆ เสียตัวตนของตัวเองไปเรื่อยๆ

  ผมก็เลยทำตัวละครนี้ให้มีีร่างเป็นสีทอง เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง การต้องพยายามทำให้ตัวเองดูดีขึ้น เพื่อให้เข้ากับบรรทัดฐานของสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยทำเป็นตัวละครนี้นั่งอยู่บนบัลลังก์ เหมือนเป็นผู้นำ เป็นราชา เป็นกษัตริย์ ผู้สูงส่งอยู่เหนือคนอื่น มีคนกราบไหว้บูชา”

  ก่อนหน้าที่จะทํางานศิลปะ รุกข์เคยทํางานเป็นครีเอทีฟไดเรคเตอร์ในเอเจนซี่โฆษณามาก่อน ในนิทรรศการครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยสื่อที่ดูคล้ายกับโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพถ่ายที่ดูเหมือนป้ายโฆษณา งานประติมากรรมที่ดูเหมือนพร็อพในงานโฆษณา และผลงานวิดีโอจัดวาง ที่เทคนิคการถ่ายทําและโปรดักชั่นดูอลังการงานสร้าง ไม่ผิดอะไรกับหนังโฆษณาเลยแม้แต่น้อย

  “ผมรู้สึกว่าทักษะที่ผมได้จากการทำงานโฆษณาทำให้ผมทำงานได้ดีขึ้น เพราะผมอยู่ในทุกกระบวนการทำงาน ได้เจอคนเก่งๆ เยอะมาก ทั้งผู้กำกับโฆษณา ช่างภาพ พอผมลาออกจากการทำงานโฆษณามาทำงานศิลปะ ผมจึงชวนคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วยหลายคน เพราะงานนี้เกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นการสร้างความเชื่ออะไรบางอย่าง ผมเลยอยากให้รสชาติของงานนิทรรศการนี้มีความเป็นโฆษณา ผมชวนผู้กำกับโฆษณา คนทำเพลงโฆษณา ช่างภาพโฆษณา คนทำพรอพโฆษณา คนออกแบบฉาก ฯลฯ มาร่วมงานในนิทรรศการครั้งนี้ เหมือนเป็นการทำแคมเปญโฆษณา เพราะแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ ก็คือเรื่องราวของตัวละคร Flux ที่สร้างลัทธิความเชื่อหนึ่งขึ้นมา ให้เป็นเหมือนองค์กร แบรนด์ หรือแม้แต่พรรคการเมือง และสร้างโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านเรื่องราวต่างๆ”

  ด้วยความที่เป็นคนทำงานโฆษณาที่ผันตัวมาทำงานศิลปะ จึงทำให้ผลงานของ รุกข์ โฟล์โร นั้นมีความเปี่ยมสไตล์ โดดเด่นจับตาจับใจผู้ชมแบบงานโฆษณา แต่ในขณะเดียวกันก็. มีแนวความคิดอันลุ่มลึก แยบคาย เช่นเดียวกับงานศิลปะ
  “ผมไม่เสียดายเวลาที่ทำงานเป็นครีเอทีฟโฆษณาเลย เพราะการทำงานโฆษณาทำให้มีความประณีต ละเอียดละออ และรู้ขั้นตอนการทำงานในหลากหลายสื่อ ทั้งการถ่ายหนัง ถ่ายภาพนิ่ง การดนตรีประกอบ ผมผ่านกระบวนการทำงานเหล่านี้มาหมดแล้วในการทำงานโฆษณา ผมก็พยายามที่จะเรียนรู้จากทุกอย่างในชีวิต มาถึงตอนนี้ ผมไม่ได้ต่อต้านงานโฆษณาแล้ว แต่รู้สึกว่ามันส่งเสริมซึ่งกันและกัน ศิลปะก็ช่วยในการทำโฆษณา และการทำโฆษณาก็ช่วยในการทำศิลปะ ทั้งงานโฆษณาและงานศิลปะคือการสื่อสารเหมือนกัน แต่ศิลปะทิ้งช่องว่างให้คนได้คิด ได้ตีความมากกว่า แต่การทำงานโฆษณาก็ทำให้วิธีการทำงานศิลปะของผมกลมขึ้น มีมิติมากขึ้น และชัดเจนมากขึ้น”

นิทรรศการ Flux Forever โดย รุกข์ โฟล์โร และ ภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์
จัดแสดงที่ 333 Gallery, Warehouse 30 ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2024
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Instagram: 333gallerygroup Facebook: 333Gallery

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 333 Gallery
    TAG
  • design
  • culture
  • lifestyle
  • art
  • exhibition
  • Solo Exhibition
  • Rook Floro

ศิลปินผู้สำรวจตัวตนของตนเองผ่านตัวตนเสมือน Rook Floro

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
March 2024
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM8 days ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu BoonpipattanapongOctober 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    Out of Frame การล่องแพในแม่น้ำเพื่อสำรวจหาเส้นทางใหม่ๆ แห่งการทำงานจิตรกรรมของ Lee Joon-hyung

    เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึง เคป็อป หรือซีรีส์เกาหลี แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น หากแต่ เคอาร์ต หรือวงการศิลปะเกาหลีก็มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจเหมือนกัน ดังเช่นที่เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินเกาหลีใต้ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในบ้านเรา

    Panu BoonpipattanapongAugust 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Rite of Spring ศิลปะการแสดงหลากศาสตร์สาขา สะพานเชื่อมทางศิลปวัฒนธรรมหลากประเทศ โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น

    ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมศิลปะการแสดงชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟัง การแสดงที่ว่านี้มีชื่อว่า The Rite of Spring Concert and Dance ที่กำกับโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปะการแสดงชั้นนำของไทยและเอเชีย โดยเป็นการร่วมงานกับสองนักดนตรีระดับโลกอย่าง ทามาโยะ อิเคดะ (Tamayo Ikeda) นักเปียโนชาวญี่ปุ่น และ เกวนดัล กิเกอร์เลย์ (Gwendal Giguelay) นักเปียโนชาวฝรั่งเศส ร่วมกับเหล่าบรรดานักเต้นมากฝีมือจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพะนี และกลุ่มนักแสดงนาฏศิลป์ไทยประเพณีหลากที่มาจาก ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะนักเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง

    Panu BoonpipattanapongJuly 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    Damnatio Memoriae ภาพยนตร์สารคดีอัน “ไม่พึงปรารถนา” ในประเทศไทย ที่ไปฉายในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale 2024 ของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล

    ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (Venice Biennale 2024) ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี คราวนี้ นอกจากจะมีศิลปินไทยร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เรากล่าวถึงไปในตอนที่ผ่านมาแล้ว ในขณะที่เราตระเวนชมงานตามพาวิลเลียนต่างๆ ในเวนิส เบียนนาเล่ เรายังพบว่ามีผลงานของศิลปินไทยอีกคนได้ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งนี้อีกด้วย

    Panu BoonpipattanapongJuly 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    Bourse de Commerce - Pinault Collection พื้นที่แสดงคอลเลคชันศิลปะร่วมสมัยระดับแนวหน้าของโลก

    หลังจากได้ไปชมนิทรรศการ Liminal ของ ปิแยร์ ฮวีก ที่ Punta della Dogana อดีตอาคารศุลกากรเก่าแก่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันงานศิลปะในการสะสมของ Pinault Collection ของนักสะสมชาวฝรั่งเศส ฟรองซัว ปิโนลต์ (François Pinaul) มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้ง Kering บริษัทจัดจําหน่ายสินค้าแฟชั่นและสินค้าแบรนด์ชั้นนำ อย่าง Gucci, Yves Saint Laurent, Balenciaga และ Alexander McQueen ฯลฯ ไปในคราวที่แล้ว

    Panu BoonpipattanapongJuly 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )