LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
แรงบันดาลใจแห่งศิลปะเบื้องหลังหนัง “Resemblance ปรากฏการณ์” ของนักธุรกิจผู้หลงใหลภาพยนตร์ ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์
Writer: Panu Boonpipattanapong
นักธุรกิจชั้นนำหลายคนใช้เวลาว่างจากการทำงานไปกับความหลงใหลที่แตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการท่องเที่ยวทั่วโลก บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการล่องเรือตกปลา ขับรถซูเปอร์คาร์ หรือปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แต่มีนักธุรกิจผู้หนึ่งที่มีความลุ่มหลงที่แปลกแตกต่างออกไป เขาผู้นี้คือนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ผู้บริหารรุ่นที่สองของ โก๋แก่ แบรนด์ถั่วอบกรอบระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ ผู้หลงใหลในการทำหนังอย่างเข้าเส้น ลงลึกถึงกระดูกดำจนลุกขึ้นมาตั้งค่ายหนังอิสระของตัวเองในนาม โก๋ฟิล์ม ฝากผลงานหนังมันส์ ๆ ดิบ ๆ ห่าม ๆ ไม่แคร์ตลาด ไม่แยแสรางวัล ประดับวงการมาแล้วหลากหลายเรื่อง
ล่าสุด หลังจากห่างหายจากการทำหนังไปหลายปี เขากลับมาสวมบทบาทคนทำหนังอีกครั้งกับผลงานอย่าง "Resemblance ปรากฏการณ์” หนังอีโรติกไซไฟที่ดัดแปลงจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง นอนใต้ละอองหนาว โดย ปราบดา หยุ่น และ สนไซเปรส โดย จิรัฎฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ที่เล่าเรื่องราวปริศนาโรคระบาดจากเพศสัมพันธ์ ที่ทำให้หนุ่มสาวหน้าตาดีทยอยหายสาบสูญไปอย่างลึกลับทั่วโลก หนังเต็มไปด้วยฉากเซ็กส์อันโจ่งแจ้งร้อนแรง และบรรยากาศอันแปลกตาน่าพิศวง จนทำให้ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลหนังชั้นนำอย่าง International New York Film Festival และ Richmond International Film Festival
ต้น จุมภฏ เล่าถึงที่มาที่ไปของหนังเรื่องล่าสุดของเขาให้เราฟังว่า “ผมได้อ่านหนังสือ นอนใต้ละอองหนาว ของ ปราบดา หยุ่น แล้วผมรู้สึกว่าน่าสนใจ ด้วยความที่หนังสือเปิดด้วยฉากอีโรติก ซึ่งน่าติดตามมาก บวกกับแนวคิดในหนังสือเกี่ยวกับปรัชญา Transcendentalism ซึ่งผมมองว่าเป็นการสื่อสารระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ว่าทุกอย่างสามารถกลับคืนไปสู่ธรรมชาติได้หมด ผมเลยอยากดัดแปลงให้เป็นหนังที่มีความเป็นกึ่ง ๆ ไซไฟ เป็นเรื่องของเชื้อโรคระบาดประหลาดซึ่งมีที่มาจากธรรมชาติ เป็นหนังที่มีความอีโรติกและไซไฟอยู่ด้วยกัน ผมรู้สึกว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่บอกว่า “ฉันเสร็จธุระกับคุณแล้ว” ที่ตัวละครในหนังสือเล่มนี้พูด ซึ่งผมใช้เป็นคีย์เวิร์ดของหนังเลย หรือหลายบทพูดในหนังผมก็หยิบมาจากหนังสือโดยตรง โดยปรับแค่เพียงเล็กน้อยให้เข้าปากนักแสดง อย่างประโยค “อยากให้คุณได้ลิ้มรสการถูกเอาที่น่าประทับใจที่สุด” อนันดาเขาก็ขอเปลี่ยนเป็น “The fuck of your life” แทน”
“หรือหนังสืออีกเรื่องที่ผมชื่นชอบอย่าง สนไซเปรส ของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ซึ่งบทสนทนาในหนังสือมันพูดเรื่องเซ็กส์แบบตรงไปตรงมาดี ทำให้ผมนึกไปถึงหนัง Closer (2004) ของ ไมค์ นิโคลส์ ผมก็เลยหยิบมาใส่เข้าไว้ด้วยกันในหนัง”
“ผมรู้สึกว่าบ้านเราไม่ค่อยมีใครทำหนังอีโรติกไซไฟเท่าไหร่ หนังอีโรติกในบ้านเราเอง ก็มักถูกมองว่าเป็นหนังเกรดบี ไม่ได้ฉายในโรงใหญ่ ฉากเซ็กส์ก็กระมิดกระเมี้ยนยังไงก็ไม่รู้
อย่างฉากเลิฟซีนในหนังเรื่องนี้ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากหนังอย่าง Shame (2011) ของ สตีฟ แมคควีน ที่ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ แสดง ผมรู้สึกว่าแม่งถ่ายได้สะใจมาก ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดว่า ถ้ามึงทำแบบนี้ได้ กูก็ต้องทำได้สิวะ! ก็เลยคิดว่าจะมาแนวนี้ดีกว่า แต่ฉากเซ็กส์ในหนังเราก็ไม่ได้ใส่แบบพร่ำเพรื่อนะ ใส่แบบกำลังพอเหมาะ เฉพาะจุดที่จำเป็นต่อเนื้อหาเท่านั้น”
“ผมรู้สึกว่ามุมกล้องในหนัง Shame ถ่ายเหมือนหนังแอ็คชั่น คือตัดเป็นช็อตสั้น ๆ หลายช็อตเอามาต่อกัน และมักจะถ่ายโคลสอัพตัวละคร อย่างเช่นหนังชุดของ Bourne ที่ตัดเร็วจนแทบดูไม่ทันว่าเป็นอวัยวะส่วนไหนสู้กัน ในหนัง Shame ก็จะถ่ายด้วยกล้องแฮนด์เฮล โคลสอัพเยอะ ๆ ตัดเป็นช็อตสั้น ๆ เอามาร้อยกัน ยิงกล้องไปที่หน้า แล้วก็ตัดไปที่นม ที่ก้น เป็นช็อต ๆ ผมก็หยิบเอาลักษณะการถ่ายทำแบบนั้นมาใช้ในหนัง”
“หนังอีกเรื่องที่ผมได้แรงบันดาลใจคือ The Neon Demon (2016) ของ นิโคลัส วินดิ้ง เรเฟิน กับโทนสีม่วงนีออนในหนัง ผมหยิบมาใช้ในช่วงที่เชื้อโรคเริ่มคืบคลานเข้ามา โดยเฉพาะฉากในดิสโก้เธค หรือตอนที่ตัวละครเข้าป่าตอนที่รู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว ฉากก็จะถูกย้อมให้เป็นสีม่วง ผมคิดว่าสีม่วงนีออนทำให้รู้สึกถึงเชื้อโรค สีม่วงยังถูกใช้เป็นธีมของหนัง ทั้งโปสเตอร์ เสื้อและสินค้าต่าง ๆ ของหนังอีกด้วย สีม่วงที่ว่านี้ก็ยังเข้ากับดนตรีประกอบในสไตล์ คลิฟฟ์ มาร์ติเนซ คอมโพเซอร์คนโปรดของผม ที่ทำดนตรีประกอบให้หนังของ นิโคลัส วินดิ้ง เรเฟิน หลายเรื่อง อย่าง Drive (2011), Only God Forgives (2013) และ The Neon Demon ผมก็เลยให้นักดนตรีจากวง Desktop error มาทำดนตรีประกอบที่ได้แรงบันดาลใจจากงานของ คลิฟฟ์ มาร์ติเนซ ให้หนัง”
“หรือผู้กำกับอีกคนที่ผมโปรดปรานอย่าง เดวิด ลินช์ ที่มีตัวละครพูดจาพึลึก ๆ เหมือนเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ อย่างตัวละครในหนัง Blue Velvet (1986) ที่รับบทโดย เดนนิส ฮอปเปอร์ ผู้ต้องสูดแก๊สอะไรสักอย่างจากหน้ากากตลอดเวลาทำไมก็ไม่รู้ มันมีความเป็นเซอร์เรียลในคาแรกเตอร์อย่างมาก ผมก็เลยสร้างตัวละครตัวหนึ่งขึ้นมาให้ดมมือตัวเอง คุยไปดมไปตลอดเวลา”
“หรือผู้กำกับอีกคนอย่าง เดวิด โครเนนเบิร์ก ผมชอบหนังของเขามาก ตั้งแต่ Naked Lunch (1991) หรือ Dead Ringers (1988) ที่มีตัวละครแปลก ๆ อาร์ตไดเร็คชันพิสดารเหมือนสัตว์ประหลาด หรือ Crimes of the Future (2022) ผมก็ชอบมาก ฉากหนึ่งในหนังที่เป็นซีจีภาพต้นไม้ที่ดูคล้ายอวัยวะเพศชายหญิง จู๋กับจิ๋มกำลังสอดใส่กัน สื่อถึงการผสมพันธ์ุของมนุษย์ตรง ๆ เลย ผมก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังของโครเนนเบิร์กนี่แหละ แรงบันดาลใจอีกอย่างของฉากนี้ก็คือ แอนิเมชันในหนัง Pink Floyd: The Wall (1982) ของ อลัน ปาร์กเกอร์ ที่เป็นดอกไม้สองดอกกำลังผสมพันธุ์กันเหมือนคน ผมก็เลยนึกถึงตอไม้ที่แหวกเป็นร่องรูเหมือนช่องคลอด แถมยังมีคลิตอริสอีกด้วย”
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของหนังเรื่องนี้สำหรับคอศิลปะอย่างเราก็คือ ผู้กำกับอย่างต้น จุมภฏ หยิบเอาแรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินระดับตำนานของโลกอย่าง พอล เดลโวซ์ (Paul Delvaux) จิตรกรชาวเบลเยียม ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดอันประหลาดล้ำ ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมคลาสสิคเข้ากับทักษะการวาดภาพเหมือนจริงอันช่ำชอง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอันพิสดารในสไตล์เซอร์เรียลลิสม์ออกมา
“ทั้งภาพวาด The Break of Day (1937) ที่เป็นภาพเหล่าบรรดาผู้หญิงที่ขากลายเป็นลำต้นไม้และรากไม้ และภาพวาด The Call of the Night (1937) ที่เป็นภาพผู้หญิงมีผมเป็นไม้เลื้อย ซึ่งตรงกับภาพลักษณ์ในหนังสืออย่างมาก”
“หรือภาพวาด The Awakening of the Forest (1939) และภาพวาด The Village of the Mermaids (1942) ที่มีคนหน้าเหมือนกันซ้ำ ๆ กันอยู่หลายคน ซึ่งผมก็หยิบภาพนี้มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างวิช่วลในหนัง ที่ตัวมีตัวละครหน้าตาเหมือนกันเพิ่มจำนวนซ้ำ ๆ กันหลายคน ซึ่งมีที่มาจากประโยคในหนังสือที่บอกว่า ‘มีตัวละครที่มีพฤติกรรมแบบเดียวกันอยู่เต็มไปหมด’ ”
“หรือภาพวาด Solitude (1956) ที่เป็นภาพผู้หญิงชุดสีแดงเดินอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเมือง ผมก็หยิบมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในฉากสุดท้ายของ ปาณนา นางเอกของเรื่องที่สวมชุดแดงเดินอยู่ในความเงียบสงัดแบบเดียวกัน ความจริงผมอยากเอางานของ พอล เดลโวซ์ มาใส่ไว้ในหนังด้วย แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะติดลิขสิทธิ์หรือเปล่า ก็เลยไม่ได้เอามาใช้”
นอกจากแรงบันดาลใจจากงานศิลปะแล้ว โปสเตอร์ของหนังเรื่องนี้เองก็มีความเป็นศิลปะไม่แพ้กัน เพราะถูกออกแบบและวาดขึ้นโดยเหล่าศิลปินตัวจริงเสียงจริงนั่นเอง
“ผมว่าหนังบ้านเรามักจะมีเฉพาะ Official Poster แต่หนังต่างประเทศมักจะมี Art Poster ด้วย ซึ่งผมชอบมาก ผมก็เลยอยากทำโปสเตอร์หลายเวอร์ชัน โปสเตอร์เวอร์ชันแรกผมให้ พี่แมว (ประกิต กอบกิจวัฒนา) ออกแบบให้ ทั้งภาพและตัวหนังสือชื่อหนังที่มีความเป็นรากคล้ายต้นไม้ ก่อนที่จะมีโปสเตอร์แบบตลาด ๆ หน่อย ที่เปลี่ยนเป็นคอนเซ็ปต์เชื้อโรคแทน ส่วนเวอร์ชัน Art Poster ผมให้ แพร (พัชราภา อินทร์ช่าง) ศิลปินอิสระจากเชียงใหม่เป็นคนวาดให้ ผมเห็นงานของเธอจากโซเชียลมีเดีย (ผลงาน “กรุงเทพ... ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ของเธอ ถูกเผยแพร่และแชร์ต่อ ๆ กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ แต่ก็ถูกลบทิ้งอย่างรวดเร็วในข้อหาบั่นทอนและไม่ส่งต่อกำลังใจอันดีให้แก่สังคม) ผมเลยให้เธอวาดภาพสำหรับโปสเตอร์หนัง โดยเธอเลือกภาพในมุมมองของตัวละครปาณนาในชุดแดงกำลังเดินเข้าไปในป่า แต่ผมขอให้ใส่ต้นไม้รูปจู๋กับจิ๋มกำลังจะเอากันเข้าไปในเงาของปาณนาด้วย”
หรือแม้แต่ตัวผู้กำกับอย่าง ต้น จุมภฏ เอง ก็ยังทำงานศิลปะและลงมือวาดภาพต้นแบบสำหรับ Key visual ของหนังด้วยตัวเองอีกด้วย
“เวลาทำหนัง ผมวาดภาพเป็น Key visual สำหรับอาร์ตไดเร็คชันหรือทำซีจีด้วยตัวเองเลย ที่ผมวาดภาพก็เพราะช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีเวลาว่าง ๆ ก็เลยวาดรูปเล่น จริง ๆ ก็วาดมาหลายปีแล้ว แต่ก่อนก็วาดสีน้ำมัน สีอะคริลิคไปเรื่อยเปื่อย หัดวาดเอง ฝึกเอง จ้างครูมาสอนเทคนิคการใช้สีน้ำมัน ใช้น้ำมันลินสีดเท่านั้น วาดไปวาดมาก็รู้สึกว่าไม่ชอบอะไรที่มันซับซ้อน หลัง ๆ ก็มาจบที่สีไม้ พอมาทำหนังก็หยุดวาดไปหลายปี ช่วงโควิดก็เลยกลับมาวาดใหม่ มีเวลาก็มาวาดเล่น ๆ พอถ่ายหนังต้องทำสตอรีบอร์ด ก็เลยวาดเองด้วยบางรูป ไม่ได้วาดทั้งเรื่องแบบ อากิระ คูโรซาวะ นะ ไม่ถึงขนาดนั้น (หัวเราะ)”
“Resemblance ปรากฏการณ์” เข้าฉายตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ในโรงภาพยนตร์
แรงบันดาลใจแห่งศิลปะเบื้องหลังหนัง “Resemblance ปรากฏการณ์” ของนักธุรกิจผู้หลงใหลภาพยนตร์ ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์
/
ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร
/
ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง
/
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สามารถเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกเล่าแก่คนรุ่นหลังได้ว่าพวกเราซึ่งเป็นประชาชนภายในประเทศนี้ผ่านอะไรกันมา กำกับโดย “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” (เอก) ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจากสงขลา เอกเริ่มกำกับสารคดีสั้นเกี่ยวกับความตายของ กฤษณ์ สราญเศรษฐ์ ลุงของเขาในชื่อเรื่อง “คลื่นทรงจำ” (2561) ซึ่งได้รับรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ DMZ ที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้เข้าฉายในเทศกาลต่างประเทศอีกหลายแห่ง และผู้กำกับอีกคน คือ “ธนกฤต ดวงมณีพร” (สนุ้ก) ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับภาพ ที่ได้เข้าชิงรางวัลช้างเผือกจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 จากเรื่อง “ทุกคนที่บ้านสบายดี” (2560) และได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติไห่ หนาน
/
Inside (2023) หนังทริลเลอร์จิตวิทยาของผู้กำกับสัญชาติกรีซ วาซิลลิส แคตซูพิส (Vasilis Katsoupis) ที่เล่าเรื่องราวของของนีโม (วิลเลียม เดโฟ) หัวขโมยที่ลักลอบเข้าไปในเพนท์เฮ้าส์สุดหรูของสถาปนิกชื่อดัง เพื่อขโมยงานศิลปะราคาแพงที่สะสมอยู่ในนั้น แต่ดันบังเอิญโชคร้ายถูกระบบนิรภัยขังอยู่ภายในคนเดียว ท่ามกลางงานศิลปะที่อยู่รายรอบ จนเขาต้องหาทางเอาชีวิตรอดอยู่ข้างใน โดยอาศัยข้าวของรอบตัว หรือแม้แต่งานศิลปะที่อยู่ในนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือก็ตาม เรียกได้ว่าเป็น Cast Away เวอร์ชันอาชญากรก็ได้
/
ฮ่องกง เมื่อราวสิบยี่สิบปีก่อน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองมาก ๆ ในฐานะประเทศที่ส่งออกภาพยนตร์ออกสู่สายตาของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ต่อสู้กำลังภายใน ภาพยนตร์มาเฟีย หรือแม้แต่ภาพยนตร์ชีวิตที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งของหว่องกาไว จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมฮ่องกง แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ความคึกคักของภาพยนตร์ฮ่องกงเริ่มเงียบเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ จนแฟนหนังฮ่องกงหลายคน ออกปากบ่นคิดถึงความรุ่งเรืองในอดีต ดังนั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ความนิยมระดับ 100 ล้านเหรียญฮ่องกง ของภาพยนตร์อาชญากรรมอย่าง A Guilty Conscience ขึ้นมาแล้ว แสงที่เคยริบหรี่ก็อาจจะกลับมาสว่างไสวขึ้นมาอีกครั้ง
/
Doc Club & Pub. คอมมูนิตี้คนรักหนังกับโรงหนังแบบ Stand Alone แห่งใหม่ของคุณ หมู-สุภาพ หริมเทพาธิป และ คุณ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ สองผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังของเมืองไทยมาเป็นเวลานาน กับบทบาทบรรณาธิการและเจ้าของนิตยสารที่เรียกได้ว่าหากใครที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้วต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีกับ Bioscope นิตยสารสำหรับ Film lovers (and sick people) อีกทั้งยังเป็นผู้หยิบนำหนังสารคดีรวมไปถึงหนังคุณภาพมากมายเข้ามาให้เราได้รับชมกันกับ Documentary Club และวันนี้ทาง #Iameverything จึงได้มีโอกาสพูดคุยถึงเรื่องราวความเป็นมากับคุณ หมู-สุภาพ หริมเทพาธิป ในบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของคนรักหนังอย่างแท้จริงกับ Doc Club & Pub. แห่งนี้นั่นเอง
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )