LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
Prim House
Studio Locomotive ออกแบบบ้านสองชั้นสีขาวที่เรียบง่ายให้กับเจ้าของผู้รักต้นไม้ ชอบสัตว์ และไม่ประสงค์ จะสร้างหนี้จากการสร้างบ้าน
แดดอ่อนๆ ส่องลงมาผ่านหลังคาโปร่งแสง เจ้าของบ้านนั่งแกว่งขานอนไกวเปล สุนัขตัวน้อยสองตัววิ่งเล่นไล่กวดกันไปมาในสวนเล็กๆ กลางบ้าน ที่นี่คือ Prim House บ้านสีขาวหลังน้อยที่ออกแบบมาให้คนรักสัตว์ได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติภายใต้บรรยากาศที่ไม่มีอะไรมากเกินหรือน้อยไป ทุกอย่างพอดิบพอดีกับการรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตพื้นฐานของเจ้าของบ้านได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ
บนที่ดิน 100 ตารางเมตร Studio Locomotive สำนักงานสถาปนิกในภูเก็ต ออกแบบบ้านสองชั้นสีขาวที่ดูเรียบง่ายและใช้ประโยชน์จากความน้อยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด “บ้านหลังนี้เริ่มต้นจากความรักต้นไม้ ชอบสัตว์ และมีเป้าหมายที่จะสร้างบ้านแบบไม่มีหนี้ ในจังหวัดภูเก็ตบ้านเกิด” ทีมสถาปนิกเล่าถึงที่มาของการออกแบบบ้าน Prim House บ้านซึ่งใช้ชื่อเดียวกับชื่อเจ้าของบ้านที่มีความหมายว่า “วางท่าทีเหมาะสม”
การวางผังในลักษณะเดียวกับอาคารพาณิชย์ซึ่งสร้างชิดติดขอบที่ดิน ช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องการรับแสงธรรมชาติและการถ่ายเทอากาศ เนื่องจากไม่สามารถเจาะหน้าต่างบนผนังทั้งสองข้างได้ เกิดเป็นอาคารที่มีหน้าแคบและมีความลึกคล้ายตึกแถว แต่ด้วยการออกแบบขนาดและวางตำแหน่งของช่องเปิดด้านหน้า ด้านหลัง และกลางบ้านให้มีความสัมพันธ์กันอย่างลงตัว บ้าน Prim House กลายเป็นบ้านที่หายใจได้สบายอีกทั้งยังระบายความร้อนได้สะดวก “ช่องเปิดด้านหน้ามาจากประตูกระจกแผงใหญ่ ช่องเปิดด้านหลังมาจากช่องลมเต็มความกว้างของบ้านและช่องเปิดกลางบ้านมาจากหลังคาที่เป็นส่วนยกสูงขึ้น เปิดให้ความร้อนลอยตัวออก” ทีมสถาปนิกอธิบาย “ช่องกลางบ้านยังใช้หลังคาใสเพื่อให้มีแสงธรรมชาติเข้าถึงพื้นที่บ้านได้เกือบทุกส่วน เข้าได้ทั้งวัน โดยบันไดและทางเชื่อมห้องนอนยังทำมาจากเหล็กรูและตะแกรงเหล็ก เพื่อให้ทางเดินสองส่วนนี้ ปล่อยให้แสงลอดลงมาถึงชั้นล่างได้ทั้งแนว ไม่เป็นปัญหากับต้นไม้ที่ปลูกไว้ข้างใต้”
นอกจากจะเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ส่วนกลางของบ้านแล้ว ช่องแสงและช่องลมบนหลังคาใสนี้ยังเชื่อมต่อไปยังบริเวณเหนือห้องน้ำชั้นสอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอากาศได้โดยไม่ต้องติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ทำให้ห้องน้ำแห้งไวไม่อับชื้น ปลอดกลิ่นไม่พึงประสงค์
เพื่อให้ทุกพื้นที่ในบ้านเปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ จึงมีการใช้ผนังเพียงเท่าที่จำเป็น โดยพื้นที่ชั้นล่างเปิดโล่งเชื่อมต่อถึงกันตั้งแต่บริเวณด้านหน้าจนถึงด้านหลัง ในขณะที่พื้นที่ซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวและจำเป็นต้องมีผนังกั้น เช่น ห้องนอน และห้องน้ำ ได้รับการจัดวางไว้บนชั้นสองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ห้องที่มีผนังกั้นเหล่านี้ก็ยังมีช่องหน้าต่างที่สามารถเปิดรับมุมมองของสวนไม้เลื้อยกลางบ้านได้ด้วยเช่นกัน
เพื่อออกแบบบ้านที่น่าอยู่ตรงใจเจ้าของโดยไม่ก่อให้เกิดหนี้สินในการก่อสร้าง การควบคุมงบประมาณกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบ ทีมสถาปนิกจึงเลือกที่จะสร้างสรรค์องค์ประกอบที่ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตพื้นฐานเป็นหลัก ทั้งเรื่องความปลอดภัย พื้นที่เพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน และคุณภาพความเป็นอยู่ในบ้าน “ความสวยงามที่เกิดจากการตกแต่งทั้งหมดถูกยกให้เป็นเรื่องรอง แล้วค่อยๆ ถูกแต่งเติมในภายหลังจากความชอบและความสนใจของเจ้าของบ้าน” ทีมสถาปนิกกล่าว “ทั้งต้นไม้ประดับ งานคราฟท์ และงานศิลปะ ให้บ้านค่อยๆ เติบโต และเพิ่มเรื่องราวไปพร้อมกับการใช้ชีวิตและประสบการณ์ของเจ้าของบ้าน”
การประหยัดพลังงานเป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ ด้วยการวางผังอาคารซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดี และมีแสงธรรมชาติเข้าไปในทุกส่วนอย่างทั่วถึง ทำให้บรรยากาศภายในบ้าน Prim House ร่มเย็นน่าอยู่และมีแสงสว่างเพียงพอตลอดช่วงเวลากลางวันโดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า
จากรูปทรงที่ดูเรียบง่ายไม่มากไม่น้อยเกินไป บ้านสองชั้นสีขาวหลังนี้เลือกเฟ้นที่จะบรรจุเฉพาะองค์ประกอบซึ่งสร้างสรรค์มาเพื่อตอบสนองความพึงพอใจในการใช้ชีวิตสงบสุขของผู้เป็นเจ้าของได้อย่างพอดิบพอดี ทั้งพื้นที่สีเขียวของคนรักต้นไม้ ลานวิ่งเล่นของสัตว์เลี้ยงตัวโปรด และบรรยากาศน่าอยู่ในบ้านหลังเล็กที่เป็นเจ้าของได้โดยไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิน
ที่ตั้ง: ภูเก็ต
สร้างเสร็จ: 2019
พื้นที่ใช้สอย: 140 ตารางเมตร
สถาปนิก: Studio Locomotive
https://www.facebook.com/studiolocomotivedesign/
https://www.instagram.com/studiolocomotive/ (@studiolocomotive)
Prim House I บ้านหลังเล็ก อยู่สบาย ใกล้ชิดธรรมชาติ โดย Studio Locomotive
/
“Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน
/
“One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว
/
HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน
By TOSTEM/
บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน
/
เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น
/
เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )