LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING


The Artists Against The Dictatorship เมื่อศิลปินพูดเรื่องการเมือง สะท้อนปัญหาของมวลชนส่งตรงไปถึงผู้นำ!
ในเพลง “The Masses Against The Classes” ซิงเกิ้ลในปี 2000 ของวง Manic Street Preachers เริ่มต้นด้วยประโยคของ โนม ชอมสกี (Noam Chomsky) นักปรัชญา นักภาษาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญของอเมริกาที่บอกว่า “THE COUNTRY WAS FOUNDED ON THE PRINCIPLE THAT THE PRIMARY ROLE OF THE GOVERNMENT IS TO PROTECT PROPERTY FROM THE MAJORITY...AND SO IT REMAINS”
อย่างที่รู้กันว่าไม่มียุคไหนอีกแล้วในประวัติศาสตร์ที่ศิลปินถูกปิดปากโดยรัฐ ด้วยการทำทุกวิถีทางไม่ให้พวกเขาได้สะท้อนความคิดของผู้คนผ่านงานศิลปะมากที่สุด แต่ก็ไม่มียุคไหนอีกแล้วในประวัติศาสตร์ที่ศิลปินจำนวนมากออกมาทวงถามถึงเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุดเช่นกัน
IAMEVERYTHING ออกไปพบกับศิลปินหลากหลายแขนง ทั้งกราฟิกดีไซเนอร์, นักวาด, นักเขียน, ช่างภาพ, สตรีทอาร์ตติส, แร็พเพอร์, นักร้อง, นักดนตรี เพื่อคุยกับพวกเขาเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดและสะท้อนมุมมองทางการเมืองที่มีต่อผู้บริหารประเทศ
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งซึ่งพวกเขาอยากให้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้รับฟัง
ทำไมถึงคิดออกแบบฟอนต์ให้กับผู้ชุมนุม
มันเกิดจากว่าเราก็สนใจการเมืองมาพักหนึ่งแล้วแต่เราไม่รู้จะแสดงออกยังไง เพราะว่าสมาชิกในครอบครัวหลายคนก็คิดต่างจากเรา เราพูดเรื่องการเมืองกับครอบครัวไม่ได้ แม่เราเขาคิดไม่เหมือนเรา พ่อเราก็ไม่ค่อยแข็งแรง แถมยังมีญาติผู้ใหญ่ผู้ปรารถนาดีมาสอดส่องสิ่งที่เราโพสท์บนเฟสบุก แล้วก็ชอบโทรไปคุยกับพ่อเราว่า “เฮ้ย ระวังนะ เดี๋ยวลูกอาจจะไปม็อบ ดูจากลีลาการโพสท์เขาแล้ว” เราว่าเราก็ค่อนข้างสงบเสงี่ยมบนโซเชียลมีเดียแล้วนะ อย่างเวลามีข่าวม็อบทางทีวี พ่อจะโทรมาถามทันที ว่าตอนนี้เราอยู่ในม็อบหรือเปล่า คือเราว่าก็อายุเยอะแล้วนะ ดูแลตัวเองได้ ก็ควรจะมีอิสระ แต่ก็อยากจะถนอมน้ำใจพ่อเพราะว่าท่านป่วยอยู่ เออ ก็เลยไม่ค่อยได้ไปม็อบ ไม่ทำอะไรให้ครอบครัวรู้ เพื่อนๆ เราก็เป็นฝั่งสนับสนุนรัฐเกือบทั้งนั้น แต่เราไม่เคยอันเฟรนด์หรือเลิกคบพวกเขานะ เราเก็บเพื่อนทุกฝั่งไว้เสมอ ตั้งแต่ก่อนที่การเมืองจะเดือดแล้ว เพราะการที่เราไม่ห้อมล้อมด้วยเฉพาะคนที่คิดเหมือนเรา มันจะทำให้เราเข้าใจโลกตามความเป็นจริงมากกว่า แต่ทีนี้พอเราเริ่มเห็นทัศนคติของคนอีกฝั่งที่เชียร์ลุง เชียร์รัฐมากๆ เข้า เห็นความก้าวร้าวของพวกเขามากๆ เข้า เรายิ่งรู้สึกว่าเรายังไม่อยากเปิดเผยตัว แต่ก็คิดว่าแล้วเราจะแสดงออกทางการเมืองยังไงดี พอมาเจอกับ Headache Stencil แล้วก็คุยกันในความอึดอัดหลายๆ อย่าง เขาก็มีไอเดียที่เขาจะทำตัวหนังสือพอดี เพราะว่าเราเป็นคนชอบทำฟอนต์อยู่แล้ว มันเลยกลายเป็นงานที่โป๊ะเชะ คือผมก็ไม่กล้าออกไปพ่นอะไร ผมก็กลัวความเสี่ยงของผม ส่วนเขาก็รู้ทางหนีทีไล่ เขามีทีมทนายพร้อม (หัวเราะ) ผมก็เลยทำฟอนต์ แล้วคนจะเอาฟอนต์เราไปทำอะไรก็เรื่องของคนทำงาน



คุณออกแบบฟอนต์ชื่อ “ทางม้าลาย” กับ “หัวหาย” ในแง่ของการเป็น typography สองฟอนต์นี้มีแนวคิดในการออกแบบยังไง
ตอนแรกที่ทำฟอนต์ทางม้าลายที่เขาเอาไปพ่นคำว่าศักดินาบนพื้นถนนเนี่ย ตอนนั้นคือแค่รู้ว่าม็อบจะลงถนน แล้วเราก็อยากได้ตัวหนังสือที่มันใหญ่ๆ หนักๆ ทีนี้คือผมเคยทำฟอนต์ไว้อันนึง เพื่อรณรงค์เรื่อง ไม่เอาทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา หนึ่งใน argument ของมันคือการบดบังทัศนียภาพ ตอนนั้นเราออกแบบฟอนต์อันนึงที่แม่งตันมาก หนัก แน่นมาก ก็เลยไปเปิดๆ ดู โอเคเอาตัวนี้แหละ แต่ประเด็นคือจะทำยังไงให้มันมีรอยบากแบบ Stencil เขาจะได้ได้ทำงานง่ายขึ้น แล้วทีนี้พอไล่เช็คว่า เลนบนถนนเลนหนึ่งมันกว้างยาวเท่าไหร่ ไซส์ของงานมันจะประมาณกี่เมตร เราก็เลยเริ่มจากตัวหนังสือที่เอาไปพ่นตัวหนึ่งมันสูงเมตรครึ่ง ดังนั้นการที่มีรอยบากแบบบางมากๆ มันไม่สามารถใช้ในสเกลใหญ่อย่างนั้นได้ มันก็เลยกลายเป็น function นำดีไซน์มาก่อนว่า อันใหญ่ ตัดง่าย สะดวกในการพ่น แล้วพอเราจะเพิ่มรอยบากก็รู้สึกว่าถ้าเพิ่มรอยบากเป็นแนวตั้งเฉยๆ คาแรกเตอร์มันไม่ออก มันดูไม่ค่อยก้าวร้าว ยียวน กวนตีน เหมือนบุคลิกของHeadache Stencil เราก็เลยลองดูว่ารอยบากเราจะตัดเฉียงได้ไหม เราจะเพิ่มมุมตรงไหน มันก็...ตอนที่ทำไปพ่นจริงๆ มันจะต้องเป็นคำว่า “ศักดินาจงพินาศ” แต่รถเยอะ ฝนตก (หัวเราะ) พื้นเปียกไรงี้ มันก็เลยจบแค่ “ศักดินา” แต่บล็อกนี่มีมาครบ

ทีนี้ส่วนของหัวหายเนี่ย ตอนนั้นก็นั่งแชทกับน้องๆ ในทีมแล้วก็มีคนหนึ่งเขาก็โยนมา ภาพคำว่าประชาชนที่โดนตัดหัวออก เขาบอกว่าเขาชอบงานนี้แล้วเขาเซฟเก็บไว้ คือฟอนต์มันก็คือน้ำเสียงของนักออกแบบอย่างหนึ่ง ซึ่งน้ำเสียงของฟอนต์ “ทางม้าลาย” มันก็คือหนักแน่น กระแทกกระทั้น แต่นอกจากการเป็นน้ำเสียงแล้วเนี่ยมันก็มีอีกแนวคิดหนึ่งว่าถ้าในฟอร์มของตัวอักษรเองมันสะท้อนหรือสื่อสารอะไรบางอย่างได้ก็ดี ซึ่งผมว่าผมชอบไอ้คำว่าประชาชนที่ไม่มีหัวมาก พอดีช่วงนั้นมันมีเรื่อง สว.ไม่รับหลักการแก้รัฐธรรมนูญที่ iLaw รวบรวมรายชื่อมาได้กว่าแสนคน แล้วก็พฤติกรรมที่ออกมาหลายๆ อย่างมันก็ยิ่งตอกย้ำกับประชาชนมากขึ้นว่าเขาไม่เห็นหัวเรา เราก็เลยคิดว่า “เอ๊ะ คำว่าประชาชนมันมีความหมายกว้างมาก ประชาชนมันมีใครอยู่บ้าง” มันมีเยาวชน มีเกษตรกร มีผู้ประกอบการ มีเยอะแยะเลย เราก็เลยคิดว่าแล้วทำไมไม่ทำเป็นฟอนต์เลยล่ะ ทีนี้ถ้าจะให้ทำเป็นฟอนต์เลยมันก็กลับมาในเรื่อง function ว่าความคุ้นเคยของคนที่เคยเห็นฟอนต์ฟอนต์หนึ่งซ้ำเนี่ย เวลาเราบังหัวไป แล้วมันจะสามารถมีหัวในจินตนาการมันได้ เราก็เลยคิดว่าต้องเริ่มจากฟอนต์ที่มันมีหัวอยู่แล้ว แล้วเราก็คิดต่อว่าจะหยิบตัวไหนมา ก็เหตุที่เลือกหยิบ TH Sarabun มา เพราะ Sarabun มันเป็นฟอนต์ที่ภาษาราชการใช้กัน แล้วมันเปิดฟรี มันเปิดฟรี เข้าไปอ่าน license แล้วสามารถ modified ได้ ไม่มีใครมาจับ แล้วทีนี้เราก็ไปศึกษางานต่างประเทศพวกที่ใช้ typography ขับเคลื่อนทางการเมืองแล้วมันมีฝรั่งคนหนึ่งเขาทำฟอนต์มาเป็นซีรีส์ที่หน้าตาไม่เหมือนกัน แต่ว่าใช้ spacing เดียวกัน ก็คือสมมติคุณพิมพ์คำเดียวกัน แต่คุณเปลี่ยนฟอนต์เป็นตัว Stencil เปลี่ยนเป็นตัวเสียงเบา เปลี่ยนเป็นตัวกระโชกโฮกฮาก น้ำเสียงเปลี่ยนแต่เลย์เอาท์ไม่เปลี่ยน เราก็รู้สึกว่าถ้าเราทำอะแบบนี้บ้าง ก็คือแบบบางช่วงไม่เห็นหัวประชาชน บางช่วงเห็นอย่างนี้เป็นต้น

ดูเหมือนคุณพยายามจะรักษาสมดุลระหว่างสองขั้ว ชีวิตส่วนตัวกับการการแสดงออกทางการเมืองให้มันอยู่ด้วยกันได้
ครับ คือผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสังคมนี้ เราไม่สามารถไล่ใครออกนอกประเทศได้ ไม่สามารถเหยียบอีกฝั่งให้จมดินไปได้ มันต้องหาข้อตกลง หาฉันทามติร่วมกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้ยังไง คือมันต้องคุยกันได้ แล้วพอคุยจบแล้วคิดแตกต่างกันแต่ไม่เกลียดกันได้ไหม คือจริงๆ ตั้งแต่เด็กๆ ผมขัดแย้งกับที่บ้านมาเยอะอยู่แล้ว พ่ออยากให้เป็นนักธุรกิจ อยากให้เรียนวิศวะ เรามาเรียนศิลปะ จากเรื่องเล็กๆ ในหน่วยเล็กๆ อย่างบ้านเราที่ว่าลูกชายคนนี้จะเอายังไงกับชีวิต มันก็สอนเรามาหลายอย่างเหมือนกันว่า สุดท้ายเราเลือกที่จะอยู่ด้วยได้กันแม้ว่ามันจะแตกต่างกัน มันมีความเป็นไปได้เว้ย ดังนั้นในสเกลของสังคมเนี่ย มันอาจจะต้องการเวลาหรือต้องการตัวจุดประกายอะไรสักอย่าง คือผมทะเลาะกับพ่อผมมายี่สิบกว่าปีจนถึงช่วงอายุสามสิบได้มั้ง จนวันหนึ่งเขาป่วย ต้องนั่งรถเข็น จากที่เขาเคยเป็นคนแบบทุบโต๊ะ เกรี้ยวกราด เอาให้ได้ทุกอย่าง แล้วเขามาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้เราต้องมาเรียนรู้ในการอยู่ด้วยกันใหม่ แล้วมาคุยมันกลายเป็นว่าเฮ้ย สุดท้ายพอเขามีข้อแม้นี้แล้วเขาใจเย็นลง ส่วนเราก็ต้องใจเย็นกับเขามากขึ้น ปรากฏว่าที่เคยเถียงกันมาตั้งแต่เด็กๆ ค่อยๆ หายไป เกิดความเคารพในตัวตนของอีกฝ่าย และยอมรับกันมากขึ้น เราก็เลยเชื่อในเรื่องแบบนี้ว่าเราคุยกันได้
PrachathipaType ผู้ออกแบบตัวอักษรของมวลชนและการเชื่อมั่นว่าในความเห็นต่าง เรายังคุยกันได้
/
ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ
/
วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว
/
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ
/
Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia
/
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน
/
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )