LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
และนักธุรกิจ ชีวิตไฮบริด 5 in 1 “ปูม ปิยสุ โกมารทัต”

ในยุคที่การผสมผสานบทบาทต่าง ๆ ได้กลายเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานและการใช้ชีวิต “ปูม ปิยสุ โกมารทัต” เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สามารถทำให้การดำเนินชีวิตในแบบไฮบริดประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมุมของนักดนตรีที่สร้างสรรค์เสียงเพลง เจ้าของค่ายเพลงที่สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ผู้จัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีที่นำศิลปินระดับโลกมาสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำให้แก่ผู้ชม และนักธุรกิจที่มองเห็นโอกาสและสร้างธุรกิจของตนเองให้เติบโต วันนี้ #IAMEVERYTHING จะพาไปสำรวจเส้นทางจังหวะก้าวเดินของปูม ปิยสุ โกมารทัต และวิธีการที่เขาสามารถผสมผสานบทบาทที่หลากหลายเหล่านี้ให้กลายเป็น “ความสนุกที่สร้างความสำเร็จ”
พาร์ทนักดนตรี
(เส้นทางสายดนตรีที่เริ่มต้นจากความหลงใหล)
สมัยตอนเด็ก ๆ ชอบขโมยกีต้าร์พี่ชายคนโตมาเล่น พี่เขาก็เล่น “คาราบาว อัสนี-วสันต์” ตามแนวดนตรีในยุคนั้น พอเวลาที่พี่ไม่อยู่ ก็ชอบจิ๊กกีตาร์เขามาดีดเล่นมั่วซั่ว (หัวเราะ) พอเรียนอยู่ประมาณ ม.ต้น พี่ชายก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ เราก็ยังเอากีตาร์เขามาเล่นมั่ว ๆ อยู่เหมือนเดิม จนพ่อเห็นก็คงแบบรําคาญที่เล่นไม่เป็นเพลงซักที ก็เลยให้ช่างไฟของบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง (ตอนนั้นแม่ทำงานอยู่ที่บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง) มาสอน ซึ่งถือเป็นครูคนแรกที่สอนดนตรีให้ พี่เขาก็สอนจริงจัง แบบว่าทุกเย็นต้องแบกกีต้าร์จากบ้านเดินไปที่บริษัทอมรินทร์เพราะว่าบ้านใกล้อยู่ซอยเดียวกัน พี่เขาก็สอนจับคอร์ด ตีคอร์ด สอนเรื่องโน้ตว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ในตอนนั้น (ช่วงม. 2-3) ก็เป็นช่วงเดียวที่เริ่มมีเพื่อนที่โรงเรียน (ทวีธาภิเศก) ชวนไปห้องซ้อมดนตรี โดยที่ยังเล่นดนตรีไม่ค่อยเป็น เพราะเพิ่งเรียนกับพี่ช่างไฟไปแค่ 2-3 ครั้งเอง ก็เล่นได้แค่ 4 คอร์ด พอไปถึงห้องซ้อมไอ้เพื่อนคนที่ชวนมันก็เล่นกีตาร์ไง อีกคนตีกลอง เพื่อนมันก็เลยให้ไปเล่นเบส ก็เลย ได้ดิ ทั้งที่ไม่เคยจับเบส แต่ก็พอจำโน๊ตจากที่พี่ช่างไฟสอนมาพวกโน๊ตสามเฟรตแรกที่ง่าย ๆ มันก็เลยพอที่จะไปเล่นเบสได้ เพลงแรกที่เล่นในชีวิตก็คือเพลง “บุษบา” ของโมเดิร์นด็อก พอไปซ้อมกับไอ้เพื่อนคนเนี่ยสักสองครั้งมันก็ไม่เอาล่ะ เพราะรู้แล้วว่าทุกคนห่วยแตก หลังจากนั้นก็ยังไปเรียนกีตาร์กับพี่คนนี้ถึงม. 4 จนเล่นเป็น แล้วก็เริ่มตั้งวงจริงจังกับเพื่อน แต่ก็ต้องไปเล่นเบสอีกล่ะ เพราะเพื่อนคนอื่น ๆ มันก็อยากเล่นกีตาร์เล่นกลอง เบสไม่มีใครเล่น ก็เลยต้องเล่นให้ครบวง เพลงตอนนั้นที่เล่นส่วนใหญ่ก็มาจากการแนะนำของเพื่อนนักร้องที่ชื่อกบ ก็จะเป็นพวกวง Oasis, Blur, Nirvana ซึ่งมันทำให้เปิดโลกมาก ๆ ก็เลยเปลี่ยนจากเล่นเพลงไทยไปเล่นเพลงต่างประเทศแทน

จนมีประกวด Hotwave Music Awards ครั้งที่ 1 ก็ส่งเพลง “เธอคือความฝัน” ของวงพราวเข้าไปประกวด ก็ไม่ได้เข้ารอบอะไร มีแค่ดีเจพูดชื่อวง “No Nationality” ก็ดีใจแล้ว สุดท้ายปีนั้นวงละอ่อนก็ชนะที่ 1 (วงเก่าของตูน Bodyslam) ซักพักหลังจานั้นนักร้องนำก็ลาออก ก็เลยหานักร้องขึ้นมาใหม่ ทีนี้ก็เล่นมั่วซั่วละ ซึ่งเราเป็นประเภทที่ได้เข้าไปห้องซ้อมเมื่อไร ก็อยากเล่นเครื่องดนตรีมันทุกอย่าง แบบอยู่ ๆ ก็เฮ้ย บอกมือกลอง บอกมือกีตาร์ ว่าสลับกันเล่นมั่งเว้ยกูเบื่อ บางวันนักร้องไม่มาก็ร้องอย่างเดียว แล้วหาคนอื่นมาเล่นเบสแทน อย่างคีย์บอร์ดก็พอมีพื้นฐานจากที่แม่ส่งไปเรียนอิเล็กโทนตอนเด็ก ๆ ก็จะเข้าไปกดเล่น บางวันไปถึงห้องซ้อมก่อนก็จะไปนั่งรอที่กลอง หรือบางทีก็สะพายกีตาร์รอก่อนเลย พอเพื่อนคนอื่น ๆ มาถึง ก็ไล่บอกมึงไปเล่นเบสเลยอะไรงี้ มันเลยกลายเป็นเหมือนปูพื้นฐานที่ทำให้เล่นเครื่องดนตรีหลาย ๆ ชนิดได้หมด เพราะว่าสนุกดี สนุกกับการเล่นทุกสิ่งทุกอย่าง ในเรื่องของเพลงตอนนั้นส่วนใหญ่ก็จะเล่นเพลงในยุค Alternative อย่าง Loso, Blackhead, The must, ป้าง นครินทร์ ก็เล่นกันหมดเลย จนคล้าย ๆ จะเป็นวงประจำโรงเรียนไป ซึ่งไม่ได้เก่งนะมีวงเก่ง ๆ ในโรงเรียนอีกเยอะ แต่แค่วงเราให้ความร่วมมือกับอาจารย์มากกว่าวงอื่น เรียกว่าเล่นทุกงานตลอด จนจบ ม.6 ทางโรงเรียนก็ให้เหรียญเชิดชูอารมณ์แบบนักเรียนดีเด่นทางด้านดนตรี แล้วพอจะต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็เลยบอกแม่ว่าขอเรียนดนตรี ด้วยตอนนั้นอินแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว ก็เลยไปดูคณะดุริยางคศิลป์ของทั้งศิลปากรและมหิดล ปรากฏว่าตอนนั้นมีแต่สอนคลาสสิคอย่างเดียว ซึ่งมันต้องมีพื้นฐานเรื่องทฤษฎีดนตรีอย่างพวกโน๊ต แต่เราไม่ได้เรียนมาโดยตรงแต่แรก ก็เลยนั่งคิดกันใหม่งั้นเรียนนิเทศละกัน เพราะว่านิเทศมันก็เป็นประตูสู่สิ่งอื่น อย่างน้อยไอ้ดนตรีเดี๋ยวเราก็ไปฝึกเองไปซ้อมเองไปเรียนเองก็ได้ ในช่วงแรกที่เข้าไปเรียนนิเทศที่ม.กรุงเทพ ก็ไม่ค่อยได้เล่นดนตรีอะไรเท่าไหร่ เพราะเพื่อนก็แยกย้ายเรียนคนละมหาลัยกันหมด แต่ก็พอมีฟอร์มวงขึ้นมาเล่นประกวดงานของมหาลัยบ้าง ตอนนั้นก็เล่นกีตาร์กับร้องนำ พอขึ้นปี 3 ปี 4 เพื่อนที่ชื่อนาทก็มาชวนทำละครเวทีนิเทศ ก็เลยเลือกไปอยู่ฝ่ายเสียงที่ต้องทําเพลง บวกกับช่วงนั้นเริ่มอินกับการทําเพลง ซึ่งเป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์มิวสิคกำลังเริ่มมาและด้วยก่อนหน้านี้ตอนปี 2 ได้ไปเรียนการทำเพลงที่สถาบันสอนดนตรีชื่อว่า “Gen X Academy” ก็เลยทำเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ได้ โดยมีเป้าหมายคือทําเพลงประกอบละครเวที เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทําเพลงแล้วก็เริ่มแต่งเพลง โดยในระหว่างทางนี้ก็ได้ไปเจอเพื่อนเล่นบาสสมัยม.ต้น คนหนึ่งแต่เรียนคนละมหาลัยกันนะชื่อคุณเอส ก็เลยไปตั้งวงสองคน อารมณ์เพื่อนมันบอกว่า เฮ้ย ยุคนี้ไม่ต้องไปหาคนเยอะหรอกเราใช้คอมพิวเตอร์ทําเพลงอิเล็กทรอนิกส์เลย แล้วร้องแบบอาร์แอนด์บีกัน ซึ่งพอได้คุยมันก็คลิกในเรื่องดนตรีที่ชอบเหมือนกัน ก็เลยมาทำเป็นวงชื่อ “TWICE A DAY”

(ผลงานในฐานะศิลปินนักดนตรี)
ในช่วงแรกก่อนเรียนจบก็ทำเพลงกันก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ไม่ได้สําเร็จอะไรมากเท่าไหร่ ก็มีส่งเพลงไปช่วง Bedroom Studio ของแฟต เรดิโอ บ้าง ก็ได้เปิดในช่วงเบดรูมบ่อย ๆ พอเรียนจบก็ไปเรียนต่ออเมริกาด้าน Recording Art Production เป็นคณะดนตรีที่เกี่ยวกับการทําเพลง เรียนคอมพิวเตอร์มิวสิกแบบเจาะลึก เรียนทําเพลงแต่งเนื้อภาษาอังกฤษ มีสอนจัดคอนเสิร์ต เรียน Lighting Design สำหรับคอนเสิร์ต คือเรียนทุกด้าน ประมาณ 3 ปีครึ่งก็เรียนจบ โดยช่วงระหว่างเรียนที่อเมริกาตอนนั้นค่าย Black Sheep ของ Sony Music Thailand ก็มีโปรเจคท์ Compilation ชื่อว่า Black In USA เป็นอัลบั้มที่รวมคนไทยทำเพลงในอเมริกา ก็มีเพลงของวง TWICE A DAY รวมอยู่ในนั้นชื่อเพลงว่า “Cause Of Monday” ซึ่งทางค่ายเขาชอบเพลงนี้มากเลยให้เป็นเพลงแรกของอัลบั้ม และก็เป็นแทรคโปรโมทของอัลบั้มด้วย จนได้ขึ้นอันดับหนึ่งชาร์ตเพลงของแฟต เรดิโอ ในยุคนั้น โดยในอัลบั้มก็จะมีเพลงเด่น ๆ ของวงอื่นอีกอย่างเพลง Yak Lai (ยักไหล่) ของ Thaitanium ซึ่งช่วงตอนที่เพลง Cause of Monday มันประสบความสำเร็จ หัวหน้าค่าย Black Sheep เขาก็แบบ เฮ้ย พวกมึงไปทําอัลบั้มเต็มกันมาเลยถ้ากลับมาไทยเดี๋ยวเรามาออกอัลบั้มกัน เพราะว่าตอนนั้นก็บอกทางค่ายไปว่าอีก 1 ปี จะเรียนจบแล้วกลับเมืองไทย ก็เลยตะลุยทำเพลงกัน
พอกลับมาไทยก็เป็นขั้นตอนเก็บงานทําให้เรียบร้อยอีกสองเดือน พอเสร็จก็เอาอัลบั้มเต็มไปยื่นเขาปรากฏว่าพี่หัวหน้าค่ายที่บอกให้เราทำเขาลาออกพอดี แล้วก็เปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่เข้ามา ซึ่งเขาก็ไม่อินด้วยแล้วแบบ “พวกมึงคือใครเพลงก็ประหลาด” เขาก็ไม่เอา ก็เลย อ้าวชิบหาย เพื่อนที่ทำวงด้วยกันก็เลยเชียร์ว่า เฮ้ย “ทําไมมึงไม่ทําค่ายเองวะ” ซึ่งตอนนั้นเราก็จะทำห้องอัดเสียงเพื่อจะรับงานด้านบันทึกเสียงต่าง ๆ อยู่แล้วด้วย ก็เลยโอเคจัดไป ปล่อยเองเลยเป็นอัลบั้มแรกของค่าย “Parinam Music”
พาร์ทเจ้าของค่ายเพลง
(สร้างโอกาสให้กับศิลปินรุ่นใหม่)
ชื่อค่ายมาจากการเปิด “พจณานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เพื่อหาคำแปลก ๆ กับพี่ชาย ซึ่งโดยปกติเขาจะเปิดดิกชันนารีภาษาอังกฤษหาคำแปลก ๆ กัน แต่เราเปิดพจณานุกรมไทยเลย แล้วก็เอานิ้วจิ้มลงไปมั่ว ๆ จนเจอคำว่า “ปริณาม” ที่แปลว่า “การแปรผัน” ซึ่งความหมายมันเท่มาก มันลงล็อคความรู้สึกเราพอดี โดยตอนนั้นตั้งใจใช้ชื่อนี้กับธุรกิจสำนักพิมพ์ของพี่ชายด้วยกับค่ายเพลงด้วย คือภายใต้บริษัทเดียวกัน ซึ่งพี่ชายก็เริ่มทำสำนักพิมพ์ไปก่อน พอเราเริ่มทำค่าย พี่ชายก็เลิกทำสำนักพิมพ์เพราะว่าเขาเจ๊ง (หัวเราะ) ก็เลยเหลือแต่ค่ายเพลง โดยในยุคแรกการเลือกศิลปินเข้าค่ายจะกระจอกมาก (หัวเราะ) เพราะว่าไม่ค่อยรู้จักใครในวงการใด ๆ ทั้งสิ้น วิธีก็คือ “ชวนเพื่อนกันอย่างเดียว” ก็เน้นชวนเพื่อน ๆ ที่รู้จักกัน ที่มันเล่นดนตรีที่มันแต่งเพลงได้ มาทําเพลงกัน แล้วก็มีไปโพสต์ในเว็บบอร์ดกีต้าร์ไทยว่าเป็น “ค่ายเพลงหน้าใหม่ครับกําลังหาศิลปิน” ก็มีคนส่งเดโมเพลงมาให้ฟัง ซึ่งก็ผ่านวงเดียว คือวง “Three Saturday” ที่เลือกก็เพราะคิดว่าถ้าค่ายแม่งเริ่มต้นจากวงวัยรุ่นแล้วโตไปด้วยกันก็น่าสนุกดี และอีกอย่างเราก็เป็นค่ายใหม่ จะไปชวนใครที่ดังอยู่แล้วเขาก็คงไม่อยากมา จะไปชวนพวกนักดนตรีเก่ง ๆ เขาคงแบบมึงคือใครก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะก็ยังมีวงเพื่อน ๆ อยู่ด้วยไง อย่างวง Happy January, Stay Go Day Day, Twice A Day แล้วพอผ่านไปสักพักช่วงระหว่างรับทำงานในส่วนของห้องอัดบันทึกเสียงเนี่ย ก็มีลูกค้าวงหนึ่งเข้ามาในปีที่ 2 ของการทําค่าย ชื่อวงว่า “ปลานิลเต็มบ้าน” น้องมันมาเช่าห้องอัดทําอัลบั้มของวงจนเริ่มสนิทสนมจากการพูดคุยและการทำงานร่วมกัน ก็เลยได้เข้ามาอยู่ในค่ายอีกหนึ่งวง ซึ่งวงนี้จะอยู่ในยุคแรกจนถึงปัจจุบันก็ยังทำเพลงทำอัลบั้มกันมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนวงอื่น ๆ ก็แยกย้ายกันไป พอหลังจากนั้นก็เริ่มยุคที่สอง ก็มีวงต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ในแบบเน้นคนรู้จักกับลูกค้าห้องอัด อย่าง Anything Else (วงของพีท The Peach Band), Aplin, Overhear, SomeMary และก็วง Seal Pillow ซึ่งวงนี้จะเริ่มจากเหลิมรุ่นน้องที่มหาลัย (เฉลิมพล สูงศักดิ์) เข้ามาเป็นผู้กํากับเอ็มวีประจําค่ายก่อน อยู่มาวันนึงมันก็แบบพี่ปูมผมแต่งเพลงอยากทําเพลง มันก็ไปขนเพื่อนที่เคยตั้งวงตอนเรียนมาแล้วก็ทำเพลง “Polaroid” กับ “รองเท้าผ้าใบ” ออกมาเป็นซิงเกิลแรก ๆ ในตอนนั้น ซึ่งก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่ดี ก็นำพาให้ทั้งวงและค่ายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ยุคต่อไปก็จะเป็นวง Nipat Newwave, Evil Dude, Wave And So และ Gym & Swim มาจนถึงยุคปัจจุบันก็จะเป็นวง FOLK9, VVAS และ KIKI








(การผลักดันศิลปินให้เติบโตเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ)
อันนี้เป็นเรื่องที่เด็ก ๆ น้อง ๆ วงอื่นชอบมาปรึกษาว่าทํายังไงให้พวกผมได้ไปเล่นต่างประเทศบ้างครับพี่ จริง ๆ แล้วหลาย ๆ วงในค่ายที่ได้ไปเล่นในต่างประเทศเนี่ยมันเริ่มตั้งแต่ Day One เลย ยกตัวอย่างกรณีศึกษาอย่างวง Gym & Swim กับ KIKI สองวงนี้เขาตั้งใจจะทําเพลงภาษาอังกฤษแล้วก็ไม่ได้มองแค่ตลาดไทย Goal เขาคือทำเพลงให้คนทั้งโลกฟัง ฉะนั้นเลยทําทุกอย่างเพื่อมองตลาดโลกไปแล้ว มันไม่เหมือนกับหลาย ๆ วง ที่แบบฉันทําเพลงมาก่อนให้คนไทยฟัง อยู่มาวันหนึ่งคนไทยฟังโอเคแล้วขอไปเมืองนอกบ้างเถอะอะไรอย่างเงี้ย แต่คือตลาดไทยก็ไม่ได้ทิ้งนะก็ยังอยากให้คนไทยชอบอยู่ ต่อไปก็คือเรื่องการส่งข่าว PR หรือการติดต่อหาคอนเนคชั่น มันก็ไม่ใช่แค่ในไทยแล้วไง มันก็มีต่างประเทศด้วย ซึ่งจุดเปลี่ยนมันจะสอดคล้องไปกับช่วงที่เริ่มเปิด Seen Scene Space ที่ต้องติดต่อ Import วงต่างประเทศเข้ามาเล่น มันก็เริ่มมีคอนเนคชั่นต่างประเทศมากขึ้น ก็เลยง่ายต่อการที่เราจะ Export วงในค่าย สมมุติว่าเราต้องการติดต่อวงนี้มาเล่น แล้วได้คุยกับทางค่ายเขา เราก็อาจจะบอกเขาว่า “ค่ายไอเนี่ยก็มีวงที่เหมาะจะไปเล่นประเทศยูเหมือนกันนะ” ยูอยากเอาไปเล่นไหมอะไรอย่างงี้ ซึ่งมันช่วยเสริมให้ไปด้วยกันได้ทั้งสองธุรกิจโดยที่ไม่ได้ตั้งใจนะ ในช่วงแรกก็แค่อยากจะสนุกอย่างเดียว และวิธีสนับสนุนให้ศิลปินเติบโตอีกหนึ่งอย่างก็คือ พอเราทำค่ายมานาน ๆ มันก็รู้ตลาดว่า สื่อไม่ต้องไปหว่านละ เรารู้ว่าค่ายเราคือวงอินดี้เป็นวงที่ทําเพลงไม่เหมือนชาวบ้าน ฉะนั้นมันก็มุ่งไปสู่สื่อที่มันเฉพาะทางมากขึ้นหา Target Group เรา หา Community ให้เจอ



พาร์ทผู้จัดงานคอนเสิร์ต
(ความสนุกอีกหนึ่งเส้นทางของชีวิต)
มันเริ่มต้นตั้งแต่ตอนทําค่าย ซึ่งเราก็มีจัดงานเองเพื่อให้วงในค่ายมีที่เล่น ในสมัยที่วงเรายังไม่ดัง เพราะก็ไม่รู้จะไปขายงานที่ไหนและก็ไม่มีใครชวนเล่น (หัวเราะ) งั้นเราจัดเองละกัน ก็จัดตามร้านเหล้าเนี่ยให้คนได้เห็นค่ายเห็นศิลปิน มันเลยเกิดความสนุกกับความอินเวลาออแกไนซ์งาน ซึ่งมันอาจจะลาม ๆ มาตั้งแต่สมัยเด็กที่ทําละครเวทีได้จัดโน่นจัดนี้ จนอยู่มาวันหนึ่งช่วงปี 2013 ได้ไปทำร้านเหล้าชื่อ ณ นครมินิบาร์ ที่มีสโลแกนว่า “ไม่มาเที่ยว มาเยี่ยวก็ยังดี” เป็นแนว Live House อยู่ 1 ปี ซึ่งโคตรมันส์เลย จัดคอนเสิร์ตยับ คอนเสิร์ตอินดี้อย่างเดียวเลย อย่างวง Cocktail ก็เอาเพลง B-Side ที่อินดี้มาเล่นให้แฟน ๆ ฟัง วง The Whitest Crow, Part Time Musicians, Brown Flying, Electric Neon Lamp, Stylish Nonsense, Safe Planet, Hariguem Zaboy, Summer Dress, JPBS, Monomania, Zweed n’ roll, Inspirative, Somkiat เป็นต้น ซึ่งน่าจะรวม ๆ แล้วเกินร้อยกว่าวงใน Scene ของวงอินดี้นะที่ได้จัดมาภายในปีเดียว เรียกว่ากวาดวงอินดี้ในยุคนั้นมาเกือบหมด ซึ่งสนุกมาก ได้คอนเนคชั่นเพิ่ม ได้รู้จักศิลปินเพิ่ม มันคือจุดสตาร์ทแรกของการเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตเลย แล้วพอร้านต้องปิดเพราะม็อบ กปปส ที่ปักหลักอยู่ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ร้านอยู่ตรงแถวแยกคอกวัว) ทำให้ไม่มีสถานที่จัดงานของเราละ แต่ความมันส์จากการจัดงานมันยังอินอยู่ ก็เลยเอางี้ตั้งเป็นทีมจัดคอนเสิร์ตเลยละกันจึงเกิดเป็น “Seen Scene Space” เมื่อปี 2014 ขึ้นมา โดยตอนแรก ๆ ก็จัดแค่วงไทยนี่แหละก็ดูสนุกแต่มันสนุกไม่สุด


จนได้มาทํามิวสิคเฟสติวัลของตัวเองครั้งแรก ที่ชื่อ “POW! FEST” ก็ได้วงต่างประเทศมาครั้งแรก คือวง The Fin จากญี่ปุ่น ซึ่งการเอาวงต่างประเทศมามันมี Process ที่ต่างจากการจัดแต่วงไทยอย่างเดียวก็เริ่มสนุกมากขึ้น เพราะมันมีฟีดแบคจากคนดูว่า เฮ้ย เอามาได้ไงทำไมมาได้อะไรงี้ มันก็กลายเป็นประตูสู่วงอื่น ๆ ที่ตามมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนวิธีการเลือกศิลปินมาเล่นส่วนใหญ่จะใช้วิธีคิดที่อยากจะนําเสนอในสิ่งที่เราชอบ แล้วก็ต้องคิดว่าคนอื่นก็น่าจะชอบเหมือนเรา ไม่ใช่เลือกจากความชอบของเราอย่างเดียว แม้จะป็นวงอินดี้ก็ตามเถอะ ฉะนั้น Seen Scene Space จะเลือกศิลปินในซีน Independent Artist กับ Alternative Artist แล้วทําไมต้องเป็นฝั่งเอเชีย ก็เพราะว่าจากการที่ได้เอาวง The Fin แล้วหลังจากนั้นก็เป็นวง MONO มันก็สร้างการพูดถึงได้ในระดับที่ดีเลย ว่าไปเอามาได้ไง มันเลยทำให้รู้ว่าในไทยก็มีแฟน ๆ อินดี้เอเชียอยู่ แล้ววงเอเชียก็เชิญมาง่าย เพราะอยู่ใกล้กันมาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องรอช่วงเขาทัวร์เอเชีย มันก็เลยทำให้มาในทางนี้ซะส่วนใหญ่ แต่วงฝั่งยุโรปกับอเมริกาก็มีนะ ก็จะเอามาผสมเพื่อให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น บวกกับพอเริ่มมีฐานคนที่ติดตาม แฟน ๆ เขาก็จะแนะนำว่าพี่ทำไมไม่เอาวงนี้มาล่ะ วงโน้นมาล่ะ อย่างวง “Hyukoh” เนี่ย แฟน ๆ ก็บอกให้เราเอามาเราก็จัดให้เลย มันก็เลยกลายเป็น Community ย่อม ๆ ขึ้นมา แม้กระทั่งปัจจุบัน Seen Scene Space ผ่านมา 10 ปีแล้ว ก็ยังคอนเน็กกับคนฟังในแบบนี้กันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งงานคอนเสิร์ตมันทำให้เราได้อยู่กับดนตรีในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่แค่งานค่ายเพลงกับงานห้องอัด แล้วยิ่งเวลาเราทำมากขึ้น มันก็เริ่มเก่งขึ้น เริ่มมีสกิลมากขึ้น เริ่มมีความรู้ เริ่มมีคอนเนคชั่น บวกกับวงในค่ายพอได้ไปเล่นเมืองนอก ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตของผู้จัดต่างประเทศคนอื่น ๆ ก็ยิ่งได้เห็นว่าเขาทำงานเป็นยังไง ได้ไปเดินในหลังเวที ได้เจอศิลปินระดับโลก มันก็ยิ่งเพิ่มความสนุกให้กับชีวิตมากขึ้น
พาร์ทผู้จัดเทศกาลดนตรี
(เวทีแห่งความสนุกและการเชื่อมโยงผู้คน)
คือคนที่จัดคอนเสิร์ตมันก็จะมีความฝันอยู่แล้วว่ากูต้องมี “Festival เป็นของตัวเองเว้ย” เราเห็น Fuji Rock เราเห็น Clockenflap เราเห็น Laneway ก็มานั่งคิดว่า “ทําไมเมืองไทยแม่งไม่มีอะไรแบบนี้วะ” หรือถ้ามี ก็มีปีเดียวแล้วก็ล้มหายตายไปอยู่ได้ไม่นาน เราอยากจะทำอะไรซักอย่างที่มันเป็น “แลนด์มาร์คของประเทศเราอะไรอย่างเงี้ย” ทีนี้ทีม Fungjai เขาก็มาชวนว่ามีไอเดียแบบนี้ก็เข้าไปคุยกัน ก็ได้เจอทีม HAVE YOU HEARD? ปรากฏว่า 3 เจ้าเนี่ยมีความฝันแบบเดียวกันเป๊ะ อยากให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นเหมือนกันแล้วไอ้ซีนดนตรีที่เราทําของแต่ละคน มันก็แตกต่างกันหมดเลย ทีม Fungjai เขาก็เน้นวงไทย ทีม HAVE YOU HEARD? ก็เน้นฝั่งเวสเทิร์นยุโรปอเมริกา Seen Scene Space ก็เน้นเอเชียเฉยเลย มีญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน อินโด สิงคโปร์ มันเลยเป็น 3 ตลาดมาอยู่ร่างเดียวกัน ก็เลยไม่ทะเลาะกัน แล้วก็มีความฝันเดียวกันที่อยากจะทําอะไรแบบนี้อีก ก็เลยกลายเป็นขนาดที่มันใหญ่ขึ้นจากคอนเสิร์ตวงเดียว ซึ่งถ้าเราทำกันเจ้าเดียวก็อาจจะทําไม่ได้ก็ได้ อาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอหรือพลังไม่เพียงพอ แต่พอเรารวมร่างกัน 3 เจ้าเนี่ย มันพร้อมเลยมันลุยได้เลย ก็เลยเกิด “Maho Rasop Festival” ขึ้นมา ซึ่งมันก็เหนื่อยเหมือนกันนะ แต่มันเหนื่อยแล้วสนุกก็โอเค แล้วพอยิ่งจัดไปเรื่อย ๆ ทุกปี มันก็เริ่มเกิดความเป็น Brand DNA ของงานขึ้นมา โดยคนมาจะรู้ว่านี่มันคือ “Community ของเขา” ที่แข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ แบบกูต้องไป กูอยากไปงานนี้โดยที่ไม่ได้สนใจว่า Line Up มันคืออะไรด้วยซ้ำ แต่เขามั่นใจใน Branding ตัวอย่างเช่น การขายบัตร Blind Tickets ซึ่งเมืองนอกเขาไม่มีนะ พวกเราน่าจะเป็นที่แรกที่ทำ ด้วยการขายบัตรแบบไม่มี Line Up ให้เห็น แต่คนก็ซื้อบัตรกันเป็นพัน ๆ คน มันก็เลยทำให้ยิ่งจัดก็ยิ่งสนุกขึ้นทุกปี แล้วเราก็ได้ดูวงระดับโลกซึ่งถ้าเราเอามาเล่นเดี่ยว ๆ เอง ก็อาจจะไม่ไหว แต่พอรวม 3 ทีมเราทำได้ ทุกคนมีโอกาสได้ดูวงดนตรีระดับโลกดี ๆ ในประเทศไทย

พาร์ทนักธุรกิจดนตรี
(แนวโน้มตลาดดนตรีของผู้บริโภคชาวไทย)
ก็จะเป็นเรื่อง Streaming กับโซเชียล Network ที่มันแข็งแรงสุด ๆ และยิ่งตอนนี้ก็มี Tiktok Platform ซึ่งมาในช่วง 3 - 4 ปีหลัง ก็ถือว่ามาแรงมาก คือพฤติกรรมผู้บริโภคเนี่ยจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เลยในแต่ละปี อย่างที่ทําค่ายเพลงมา 17 ปี มันก็เริ่มตั้งแต่ยุค MP3 จนแบบซีดีก็ค่อย ๆ ตายจากไป สักพักคนชอบสะสมเทปกลับมาไวนิลกลับมา คือเราต้องเดาทางคนฟังแล้วก็ปรับตาม เพราะแนวโน้มตลาดจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี อย่างตอนนี้ยุค AI เข้ามาละก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้อีก ในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่งก็ต้องเปิดใจกับหลาย ๆ อย่างที่มันเข้ามา คืออย่างช่วงก่อนโควิดเนี่ยก็เป็นแบบหนึ่ง พอหลังโควิดปุ๊บคนเปลี่ยนอีกล่ะ แต่ก็ยังมีอยู่สิ่งหนึ่งในตลาดดนตรีที่แอบรู้สึกว่าตอนนี้ก็ยังแข็งแรงอยู่ก็คือ “คอนเสิร์ต” เพราะไอ้สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ AI ทดแทนไม่ได้ ซึ่งเวลาเราชอบเพลงนี้สุด ๆ ชอบศิลปินคนนี้สุด ๆ ถึงจะใช้ AI ทํามาก็ตามเถอะ แต่ว่าคุณต้องเล่นสดให้เราดูให้ได้เพราะการดูสดมันคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของดนตรี
(ความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมดนตรีภาคอื่นๆ)
ก็มีช่วงหลัง ๆ ที่เริ่มกลับมาบุกตลาดแผ่นเสียงเพราะผู้บริโภคเริ่มกลับมา ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็จะมีร้านแผ่นเสียงเกิดขึ้นมามากมาย เช่น Cd Cosmos, Earthtone เราก็จะสร้างกิจกรรมร่วมกับร้านพวกนี้ ทั้งกิจกรรมดนตรีในรูปแบบ Live Session Music หรือการแจกลายเซ็น อย่างเมื่อก่อนเราอาจจะไปนั่งแจกลายเซ็นที่ร้านขายซีดีขายเทป แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นไปนั่งแจกลายเซ็นที่ร้านขายแผ่นเสียง แล้วก็มีอีกอย่างคือการ Collab กับอุตสาหกรรมดนตรีต่างประเทศ อย่างวงในค่าย FOLK9 ก็ไป Collab กับวงญี่ปุ่นที่ชื่อ “Luby Sparks” เมื่อปีที่แล้ว มันเหมือนว่าภาคอุตสาหกรรมดนตรีหลากหลายด้านจะเปิดใจกันมากขึ้น ยอมที่จะจอยธุรกิจมากกว่าแค่ธุรกิจใคร ธุรกิจมัน แม้กระทั่งค่ายอินดี้ที่เมื่อก่อนต่างคนต่างอยู่กว่านี้ แต่ตอนนี้มีความเปิดใจให้กัน มีติดต่อหากัน มีพูดคุยกัน และแม้กระทั่งตัวศิลปินเองก็ยังสนิทกันมากขึ้น ทุกคนดูเป็นเพื่อนกันมากขึ้น


(ความภาคภูมิใจและความสำเร็จที่ได้รับจากการทำธุรกิจดนตรี)
มันคือการเอาสิ่งที่เราอิน สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารัก มาเป็นอาชีพได้ โดยที่ไม่ต้องไปทําอย่างอื่นเลยตั้งแต่เรียนจบทุกอย่างแล้วกลับมาไทย ก็ทําทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับดนตรีทั้งหมด มันไม่ต้องคิดเรื่องอื่นเลยคิดแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว แม้กระทั่งไปเที่ยวต่างประเทศก็ต้องไป Live House ไปดูคอนเสิร์ต ไปดูเฟสติวัล มันกลายเป็นดนตรีนําพาชีวิตจนถึงทุกวันนี้ เพื่อน ๆ 70-80% ในทุกวันนี้ก็เกี่ยวกับดนตรีหมดเลย แล้วมันก็ทำให้ชีวิตอยู่สบายมากขึ้น สามารถเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวได้ มันก็เหมือนที่เขาเคยพูดกันนั่นแหละ ว่าการนำสิ่งที่รักแล้วเอามาประกอบอาชีพได้ ยังไงมันก็มีความสุขที่สุด ภูมิใจมากที่สุด แล้วก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีกเมื่อมีคนที่ชอบในสิ่งที่เราทำ
https://www.facebook.com/SeenSceneSpace
https://www.facebook.com/MahoRasopFestival
https://www.facebook.com/ParinamMusic.Fanpage
Photographer : Mc Suppha-riksh Phattrasitthichoke
นักดนตรี เจ้าของค่ายเพลง ผู้จัดคอนเสิร์ต ผู้จัดเทศกาลดนตรี และนักธุรกิจ ชีวิตไฮบริด 5 in 1 “ปูม ปิยสุ โกมารทัต”
/
ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ
/
วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว
/
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ
/
Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia
/
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน
/
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )