LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
Project: Pong_House
Location: Soi Ekachai 16, Bang Khun Thian, Chom Thong, Bangkok
Architect: message design studio
Engineer: Chakrapan Yuchat
Constructor: message construction
Area: 260 sqm.
Project Year: 2021
Writer: Rujira Jaisak
Photographer: Beer Singnoi
“Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ด’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน
จากภายนอกเมื่อมองเข้ามายังบ้านหลังนี้ อาจเห็นเพียงแค่อาคารทรงกล่องสีขาวที่ถูกตัดเฉือนแมสรูปทรงสี่เหลี่ยมออกเป็นฟังก์ชั่นที่จอดรถ และคอร์ตเล็ก ๆ ที่พอมองเห็นยอดไม้ลอดขึ้นมาจากช่องเท่านั้น การปิดทึบด้านหน้าเพื่อซ่อนเร้นจากสายตาคนนอก ทำให้พื้นที่ภายในสามารถเปิดเผยได้เต็มที่สู่ธรรมชาติ ดังนั้นการรับรู้ถึงความพิเศษของพื้นที่เบื้องหลังกำแพงสีขาว จึงมีแต่ผู้อยู่อาศัยเท่านั้นที่จะได้สัมผัสและเข้าถึง
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ทาง message design studio เคยออกแบบ “บ้าน - ช่อง” บ้านหลังน่ารัก ที่มีคอร์ตเล็ก ๆ กลางบ้าน ผสานกับผนังบล็อค ทำให้การอยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดไม่รู้สึกอึดอัด พร้อมคงความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นชั้นเชิงเรียบง่ายแต่ตอบโจทย์สำหรับคุณวัชรชัย สินวัฒนาพานิช ด้วยเช่นกัน จนมอบหมายให้ทาง message design studio ออกแบบบ้านสำหรับครอบครัวที่ “พื้นที่ความเป็นส่วนตัว” ผสานกับ “พื้นที่ธรรมชาติ”
ภายใต้พื้นที่ใช้สอยประมาณ 260 ตารางเมตร ของ Pong House ทาง message design studio ได้สอดแทรกพื้นที่คอร์ตในบ้าน (Internal Courtyard) มีสัดส่วนอยู่ราว 30% ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้การเชื่อมปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สีเขียวของคอร์ตยาร์ด สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ฟังก์ชั่นในบ้าน
“ในกระบวนการออกแบบต้องคำนึงถึงทั้งในส่วนของ Positive Space หรือพื้นที่ใช้งานหลัก ควบคู่กับ Negative Space หรือพื้นที่สีเขียว ร่วมกับเรื่องของ Privacy อีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดรูปแบบของอาคาร โดยเฉพาะการออกแบบส่วนเปิด (Void) และส่วนปิด (Solid) ของอาคาร” คุณจีรศักดิ์ เกื้อสมบัติ ผู้ก่อตั้ง message design studio และหัวหน้าทีมสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้อธิบาย
จากแมสรูปทรงกล่องที่แสนเรียบง่าย จึงถูกคว้านให้เป็นคอร์ตใหญ่ 1 คอร์ต และคอร์ตเล็กอีก 2 คอร์ต ซึ่งตำแหน่งของแต่ละคอร์ตจะถูกกำหนดโดยคำนึงถึงทั้งเรื่องของแดด ลม ฝน และความร้อน ทำให้พื้นที่สีเขียวถูกสอดแทรกเข้าไปอย่างเหมาะสม และลงตัวกับสเปซต่าง ๆ โดยคอร์ตยาร์ดแต่ละจุดถูกออกแบบให้ผู้อยู่อาศัยเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับธรรมชาติในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกได้รับการโอบล้อมโดยธรรมชาติ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันระหว่างพื้นที่สีเขียวและตัวบ้าน จนถึงเปิดรับทิวทัศน์ธรรมชาติจากรอบนอกสู่ภายใน กล่าวคือระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นของการออกแบบแปลน และฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของบ้าน (Program Organizaion)
โดยก้าวแรกเข้าสู่ตัวบ้าน เราจะพบกับโถงทางเดิน และบันไดทางขึ้นที่ได้อิงแอบกับพื้นที่สีเขียวของคอร์ตเล็ก ๆ แม้จะกั้นด้วยกระจกใสแต่ให้มุมมองใกล้ชิดเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เดียวกัน จนถึงอาจให้ความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่าง Indoor - Outdoor Green Space
ต่อยอดมาจนถึงห้องนั่งเล่น ที่เป็นเสมือนพื้นที่ศูนย์รวมกิจกรรมของครอบครัว ถูกออกแบบเป็น Double Volume พร้อมเปิด Void ฝั่งทิศเหนือเป็นกระจกใสทั้งบาน เพื่อให้เชื่อมมุมมองและฟังก์ชั่นสู่ธรรมชาติภายนอกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเวลาเปิดประตูบานเฟี้ยมกระจกจนสุด เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในสู่คอร์ตหลักใจกลางบ้านโดยทันที และจากนั้นจะเปลี่ยนฟังก์ชั่นคอร์ตให้กลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมเอาท์ดอร์ของบ้านก็ย่อมได้ หรือขณะอยู่ภายในบ้านก็สามารถเปิดรับวิวท้องฟ้าและต้นไม้ข้างนอกผ่านช่องกระจกได้ทุกเมื่อ
จุดเด่นสำคัญ คือ ทางสถาปนิกพยายามออกแบบให้หนึ่งคอร์ต สามารถถูกใช้งานร่วมจากหลายพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เช่น คอร์ตเล็กหน้าบ้าน ที่เชื่อมมุมมองตั้งแต่โถงทางเข้าบ้าน บันได ไปจนถึงพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ และห้องน้ำชั้นสอง ในขณะที่คอร์ตเล็กหลังบ้าน สามารถมองเห็นผ่านเฟรมกระจกได้ตั้งแต่ห้องซักรีด โถงทางเดิน ห้อง Guest Room บริเวณชั้นล่าง จนถึงห้องนอนชั้นบน
แต่ละพื้นที่ของบ้านให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง และเปิดรับธรรมชาติรอบตัวเข้ามาร่วมสู่พื้นที่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นวิวจากต้นไม้ ท้องฟ้า แสงธรรมชาติ จนถึงอากาศที่สามารถหมุนเวียนทุกห้องในบ้าน (Cross Ventilation) ให้การอยู่อาศัยในบ้านเสมือนได้รับการโอบล้อมด้วยธรรมชาติอยู่เสมอ ภายใต้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่าย ผ่านเส้นสายที่ตรงไปตรงมาเพื่อมุ่งเน้นตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยให้มากที่สุด
“สถาปัตยกรรมสำหรับเรา มุ่งเน้นตอบสนองต่อวัตถุประสงค์เป็นหลัก ผ่านภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย และพยายามไม่เติมแต่ง หรือสื่อสารอะไรที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์การใช้งาน เป็นแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับชื่อบริษัทของเราด้วย คือ message design studio ที่เชื่อว่างานสถาปัตยกรรมที่ดีต้องสามารถถ่ายทอดตัวตน (ของผู้ใช้งาน) ออกมาได้อย่างชัดเจน และเรียบง่ายที่สุด สำหรับ Pong House เจ้าของบ้านต้องการเลือกปิดในบางทิศ เพื่อตอบโจทย์ความรู้สึกเป็นส่วนตัวและปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดมุมมองอย่างเต็มที่สำหรับทิศที่เปิดรับความสัมพันธ์สู่บรรยากาศธรรมชาติรอบนอก” สถาปนิกทิ้งท้าย
สุดท้ายจึงเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เข้ากันระหว่าง คน พื้นที่สีเขียว และพื้นที่แห่งการอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้
message design studio
Facebook: message
IG: messagedesignstudio
[email protected]
TAG
“Pong House” เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติผ่านคอร์ต พร้อมตอบโจทย์ความ Privacy
/
CONTRIBUTORS
RECOMMEND
/
“One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว
/
HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน
By TOSTEM/
บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน
/
เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น
/
เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น
/
แม้ตอนนี้ ศบค. ยังไม่ประกาศล็อคดาวน์ครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ แต่จากแนวโน้มของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ครั้งที่ 2 นี้ก็ส่อเค้าว่าพวกเราอาจต้องกลับไป work from home อยู่กับบ้านให้มากขึ้นกันอีกครั้ง ถ้าหากเกิดขึ้นจริง ทุกคนน่าจะรับมือและปรับตัวให้เข้ากับการทำงานที่บ้านได้ดีขึ้น และกิจกรรมที่เริ่มซาลงไปอย่างการปลูกต้นไม้ การหัดทำอาหาร หรือการออกกำลังกายในบ้านก็จะกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นเหมือนเมื่อกลางปีที่แล้ว เช่นเดียวกับการรีโนเวทบ้าน
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )