Crispy and Tender I รูปทรงโฉบเฉี่ยวที่อาจดูไม่ตรงปก กับบ้านที่กรอบนอกนุ่มในตรงกับใจเจ้าของบ้านอย่างลงตัว | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Greenbox Design ออกแบบ Pie House
บ้านที่กรอบนอกแต่นุ่มในเหมือนขนมพายที่กรุบกรอบกลมกล่อม ลงตัวกับรสชาติชีวิตของสมาชิกทุกคนในบ้านอย่างพอเหมาะพอดี

รสชาติที่ถูกลิ้นของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับบ้านแต่ละหลังที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่รูปแบบการใช้ชีวิตเฉพาะตัวของผู้อยู่อาศัย เพื่อออกแบบบ้านสำหรับผู้หญิงสองคนซึ่งตัดสินใจจะใช้ชีวิตและเลี้ยงดูลูกตัวน้อยร่วมกัน ทีมสถาปนิกจาก Greenbox Design ศึกษารูปแบบการใช้ชีวิตของสมาชิกในบ้านและออกแบบ Pie House บ้านที่มีรูปทรงภายนอกโฉบเฉี่ยวน่าสนใจ และสร้างบรรยากาศอบอุ่นนุ่มละมุนแบบผู้หญิงเอาไว้ภายในได้อย่างลงตัว

"ที่เราตั้งชื่อว่า Pie House ก็เพราะว่าพายมันคือขนมพาย ฟอร์มเราตัดมาเป็นรูปสามเหลี่ยม (เหมือนรูปทรงขนมพายที่หั่นเป็นชิ้น)" สุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenbox Studio กล่าว "และเราก็มีการตีความเขา (เจ้าของบ้าน) ในหลายๆ ด้านด้วย เขามีความเป็นผู้หญิงอยู่สูง แต่คาแรคเตอร์ก็มีความเป็นผู้ชายอยู่ เราก็ลยมองว่าบ้านแบบนี้น่าจะเข้ากับความเป็นเขา Texture ข้างนอกก็จะมีความกรอบจากการอบ (ขนมพาย) แต่ข้างในก็จะมีความนุ่มนวลของมันอยู่ เราก็เลยเอาตรงนี้มาใช้ในพื้นที่ของบ้านด้วย ซ้อนเข้าไปในคาเรคเตอร์ของเจ้าของบ้าน"

Pie House คือบ้านสีขาวความสูงหนึ่งชั้นครึ่งซึ่งวางผังอาคารเป็นรูปตัวยูล้อมรอบสระว่ายน้ำ ทุกองค์ประกอบของบ้านล้วนได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านหลังนี้โดยไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ของบ้านทั่วๆ ไป "เราตีความคำว่าบ้านเสียใหม่ ทำไมบ้านต้องเป็นสองชั้น ห้องนอนทำไมต้องอยู่ชั้นสอง ทำไมเซอร์วิสต้องอยู่ข้างล่าง เรารื้อทุกอย่างแล้วเรียบเรียงใหม่ โดยใช้ชีวิตของเขาเองในการจัดการทั้งหมด" สุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenbox Studio กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้ "ด้วยเหตุผลการใช้ชีวิตต่างๆ เราวิเคราะห์กันว่าบ้านหลังนี้ควรจะเป็นบ้านแค่ชั้นครึ่ง ไม่ควรเป็นบ้านสองชั้น แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ คลี่คลายออกมาจนเป็นฟอร์มบ้านแบบที่มันเป็น"

ที่ Pie House พื้นที่ใช้งานหลักจัดเรียงตัวอยู่ที่ชั้นล่างของบ้าน ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องครัว พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องทำงาน หรือแม้แต่ห้องนอน "ทำไมเราจะต้องเดินขึ้นชั้นสองตลอดสิบปีเพื่อที่จะ Keep ฟังก์ชันของบ้านทั่วไปด้วย ในเมื่อด้านล่างมันดีที่สุดแล้ว" สุรัตน์อธิบาย "หนึ่งคือมีความเป็นส่วนตัว สองมันได้มุมมองที่ดี และบ้านชั้นเดียวก็เอื้อต่อการเลี้ยงเด็กอีกด้วย ฉะนั้นในช่วงสิบปีนี้เราก็เลยให้ทุกคนอยู่ข้างล่าง"

มุมมองที่ดีของพื้นที่ชั้นล่างในบ้าน Pie House ก็คิือสวนส่วนตัวที่อยู่รอบบ้านและสระว่ายน้ำกลางแจ้งที่สามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนใดของบ้าน สระว่ายน้ำได้รับการออกแบบโดยแบ่งเป็นหลายส่วนโดยมีลักษณะการใช้งานและความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกัน "สระส่วนที่เชื่อมต่อกับ Common Room (ห้องนั่งเล่น) ก็จะเป็นแค่บ่อตื้นๆ เราแค่ต้องการได้ยินเสียงน้ำ เห็นผิวน้ำ" สุรัตน์กล่าว "ส่วน Lap Pool ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องการความเป็นส่วนตัว จะอยู่ตรงหน้าห้องนอน" ด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ของสระและใช้หญ้าถอดปล้องเป็นเสมือนฉากบังสายตา สระว่ายน้ำที่ตั้งอยู่กลางบ้านจึงมีความเป็นสัดเป็นส่วนมากพอที่จะลงไปว่ายน้ำได้อย่างไม่เคอะเขินแม้ในยามที่มีแขกมาบ้าน

การออกแบบบ้านให้มีลักษณะเป็นชั้นครึ่งแทนที่จะเป็นสองชั้น ทำให้พื้นที่ชั้นล่างและชั้นบนไม่แบ่งแยกตัดขาดจากกัน เกิดความรู้สึกเชื่อมต่อในระนาบแนวตั้ง ในขณะที่พื้นที่ใช้งานหลักของบ้านอยู่ที่ชั้นล่าง พื้นที่ชั้นลอยนั้นเตรียมไว้เพื่อเป็นห้องนอนในอนาคตของลูก และห้องซักล้างพร้อมด้วยลานตากผ้า "ผมคิดว่าการที่เอาฟังก์ชันในอนาคตทั้งหมดไปอยู่ข้างบน มันจะทำให้ชั้นบนมันร้าง เราก็เลยเอาฟังก์ชันบางอย่างขึ้นไปอยู่ชั้นสองด้วย" สุรัตน์กล่าว "ผมเอาฟังก์ชัน Service เช่นห้องซักรีด ไปซ่อนไว้ฝั่งด้านทิศใต้ที่แดดเข้าทั้งวันแต่ว่ามีกำแพงกันไว้ ไม่มีใครเห็นว่าเราตากผ้าอยู่ มันเป็นโซนซึ่งใช้ซ่อน Condenser แอร์ด้วย"

ในขณะที่ตำแหน่งของพื้นที่แต่ละส่วนในบ้านมีความเชื่อมต่อกัน การวางตำแหน่งของหน้าต่างและช่องเปิดก็ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในและบริบทภายนอก "ช่องเปิดเราทำตามเหตุและผลทั้งหมดเลย ด้านทิศใต้เราจะทำหน้าต่างเล็กๆ เพื่อที่จะเอาลมเฉยๆ ด้านทิศเหนือมันเปิดได้เต็มที่ก็เพราะแดดไม่เข้าเลย บ้านจะเย็นมากและลมก็เข้าทางทิศใต้จริงๆ" สุรัตน์กล่าว

เนื่องเจ้าของบ้านมีโครงการที่จะทำร้านเบเกอรี่ในอนาคต การออกแบบบ้าน Pie House จึงได้วางแผนไว้สำหรับรองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ที่ตั้งของร้านได้รับการจัดวางให้อยู่บริเวณด้านทิศใต้ของห้องนั่งเล่น โดยมีสวนเล็กๆ พร้อมด้วยต้นหว้าน้ำโขงทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งคั่นกลางระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ เกิดเป็นช่่องว่าระหว่างตัวร้านและบ้าน "การแยก Mass ออกทำให้ลมทางทิศใต้ยังเข้าไปในบ้านได้ และร้านจะสร้าง Shading (ร่มเงา) ให้บ้านด้วย" สุรัตน์กล่าว "มีการสร้างความเป็นส่วนตัวและส่วนรวม ช่องเปิดทางด้านทิศใต้ของบ้านจะอยู่ต่ำ เพราะเราต้องการลมแต่เราไม่ต้องการแดด ในขณะที่ฝั่งร้าน เราเจาะช่องเปิดให้สูงขึ้นเพื่อที่จะแชร์ Landscape กันได้ จากบ้านจะมองเห็นโคนต้นไม้ในส่วนของร้านก็จะมองเห็นยอดต้นไม้ ก็แชร์ๆ กันไป"

รั้วบ้านด้านทิศตะวันตกซึ่งมีลักษณะเป็นกำแพงรูปสามเหลี่ยมสองชิ้นเสียบไขว้กันโดยมีแนวต้นไม้คั่นอยู่ตรงกลางเกิดจากการเปลี่ยนจุดบกพร่องของที่ดินให้กลายเป็นจุดเด่นของบ้านด้วยการใช้แนวคิดทางการออกแบบที่สร้างสรรค์ "ด้วยความไม่สมบูรณ์ของพื้นที่ซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูแล้วมีแง่งยื่นออกมา เจ้าของก็บอกให้ตัดที่ดินตรงนี้ออกไปเลย ซึ่งผมมองว่าไม่ควรทิ้งที่ดินสี่ตารางวานี้ไป ผมก็กลับไปดีไซน์รั้วให้ใหม่" สุรัตน์กล่าว "นอกจากจะดึงพื้นที่กลับเข้ามาแล้ว รั้วนี้ยังทำให้เกิดสวนส่วนตัวของห้องนอนอีกด้วย"

รูปทรงสามเหลี่ยมทำให้แนวกำแพงมีระดับความสูงต่ำไม่เท่ากัน ปลายของกำแพงด้านที่มีความสูงมากกว่าทั้งสองฝั่งตั้งอยู่ตรงกับพื้นที่ห้องนั่งเล่นและห้องนอนซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวจากพื้นที่ภายนอก ในขณะกำแพงด้านที่สูงน้อยกว่าหันเข้าหากันตรงกลางซึ่งตรงกับตำแหน่งของสระว่ายน้ำซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้รั้วที่สูงนักในการสร้างความเป็นส่วนตัว การใช้แนวต้นไทรเกาหลีแทรกเข้าไปตรงกลางระหว่างกำแพงทั้งสองชิ้นไม่เพียงบังสายตาจากผู้คนภายนอก หากยังเพิ่มบรรยากาศที่ร่มรื่นและปลอดโปร่งให้กับพื้นที่ส่วนนี้ได้อย่างลงตัวด้วย

การออกแบบบ้านก็ไม่ต่างอะไรกับการอบพาย รสชาติที่ถูกลิ้นของคนแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน เส้นสายอันโฉบเฉี่ยวของบ้านสีขาวความสูงหนึ่งชั้นครึ่งที่โอบกอดสระว่ายน้ำกลางแจ้งเอาไว้อย่างอบอุ่นและนุ่มนวลในบ้าน Pie House เกิดจากแนวคิดที่จะออกแบบบ้านให้สะท้อนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตและตัวตนที่กรอบนอกนุ่มในของผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนี้โดยเฉพาะ "ในอาคารทั่วไป บางทีคนจะต้องเข้าไปปรับตัวเข้ากับสถาปัตยกรรม แต่อันนี้เขาเห็นชีวิตของเขาก่อนว่าชีวิตของเขามันจะเปลี่ยนไปยังไงก่อนที่แบบบ้านจะตามมาด้วยซ้ำ" สุรัตน์ กล่าว "หน้าตาของบ้าน มันไม่ได้ตรงกับภาพแรกที่เขาเคยมาคุยกับเราเลย เขาเคยมาดูงานอื่นของเราแล้วเขาชอบ แต่การที่เอาชีวิตคนอื่นไปไว้เพื่อชีวิตของตนเองมันคงไม่ตอบโจทย์ อันนี้ต้องขอบคุณเจ้าของบ้านที่เขาเข้าใจ และยอมที่จะลืมทุกสิ่งทุกอย่างในภาพที่เขาเคยจำมา จนได้บ้านที่ประหลาดสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่พอบ้านมันเสร็จเขาก็ประหลาดใจในตัวเองเหมือนกันว่าบ้านนี้คือชีวิตเขา มันตอบโจทย์ทุกอย่างของชีวิตเขาได้ แล้วเขาก็ลืมบ้านที่เขาเคยดูมาเลย"

floor_plan
elevation
    TAG
  • Greenbox Design
  • Pie House
  • design
  • architecture

Crispy and Tender I รูปทรงโฉบเฉี่ยวที่อาจดูไม่ตรงปก กับบ้านที่กรอบนอกนุ่มในตรงกับใจเจ้าของบ้านอย่างลงตัว

ARCHITECTURE/HOUSE
March 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/HOUSE

    “Pong House” เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติผ่านคอร์ต พร้อมตอบโจทย์ความ Privacy

    “Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน

    EVERYTHING TEAMSeptember 2022
  • DESIGN/HOUSE

    ICE.SU HOUSE BY JUNSEKINO A+D บทสนทนาระหว่างการสร้างบ้านที่ย้อนแย้งแต่ชัดเจนบนสเกล 1:1

    “One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว

    Nada InthaphuntMay 2022
  • DESIGN/HOUSE

    HOUSE 362 บ้านที่เปิด “ช่อง” เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับธรรมชาติ

    HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAMOctober 2021
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN VIPHA 41 BY ANONYM บทสนทนาของตัวตนและประสบการณ์อย่างที่ใจตามหา

    บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน

    Nada InthaphuntMay 2021
  • DESIGN/HOUSE

    House COVE(R) by TOUCH Architect ต่อเติมบ้านหัวมุมให้ต่อเนื่องกับบ้านหลังเก่า

    เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น

    Nada InthaphuntApril 2021
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN SAILOM BY ANONYM บ้านที่สายลมมีร่างกายให้จับต้อง

    เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น

    Nada InthaphuntMarch 2021
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )