LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
Pattani Decoded คืองานที่ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ความพยายามของผู้จัดไม่แวววาวเกินไปจนบดบังความงามของสถานที่จัด และงานก็ไม่ได้น้อยเกินไป ถ้อยคำเหล่านี้ร่วงหล่นจากปากคำของพี่แหม่ม วีรพร นิติประภา นักเขียนมือรางวัลที่เดินทางลงมาร่วมงาน ร่วมมาเป็นวิทยากร และ ร่วมจัดเวิร์คช็อปประมาณเวิร์คช็อปกับวีรพร และนั่นดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายผลตอบรับของงาน Pattani Decoded ที่จัดต่อเนื่องกันสี่วันเมื่อสักช่วงสองอาทิตย์ก่อนได้เป็นอย่างดี
งาน Pattani Decoded เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายนที่ผ่านมาด้วยแนวคิดเรื่องของความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 12 แขนง แม้อาจจะยังดูไม่สะเด็ดน้ำในแง่ของคำอธิบาย แต่รูปธรรมที่จับต้องได้คือ การจัดวางอันลงตัวพอเหมาะในแง่ของความพยายามเพาะเมล็ดพันธ์ของงานดีไซน์ นิทรรศการศิลปะ ตลาดนัดแนว Flea Market ดนตรี สไตล์ บนสามถนนคลาสสิคในย่านเมืองเก่าของปัตตานี นั่นคือ ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ ถนนฤาดี ที่เรียกกันในแบบสั้นๆว่าถนนอารมย์ดี และการที่ผู้คนจำนวนมากทั้งในและนอกพื้นที่ต่างคัดสรรตัวเอง เลือกเสื้อผ้าเก๋ๆมาสวมใส่เพื่อมาร่วมงานราวกับโรค FOMO กำลังระบาด คืออีกหนึ่งรูปธรรมที่บอกว่างานนี้เดินทางฝ่าดงความพยายามมาได้อย่างงดงามและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คน
วันแรกของงานเริ่มต้นขึ้นอย่างเอื่อยๆ สายฝนค่อยๆร่วงหล่นเป็นเม็ดจากฟากฟ้า เหล่าคนทำงานต่างมองหน้ากันและกัน แม้ไม่ต้องเอื้นเอ่ยก็รู้ได้ในทันทีว่ากำลังกังวลกับสภาวะอากาศ ข่าวฝนตกหนักในหลายพื้นที่ได้ยินอยู่เป็นระยะ จากช่วงสายจนกระทั่งเย็นย่ำที่ฝนตกลงมางานที่เป็นภาคสนามและพิธีการต่างๆถูกเลื่อนออกไป จนกระทั่งตะวันค่อยๆลาลับผืนดิน ท้องฟ้าก็เริ่มเป็นใจ นกนางแอ่นเริ่มบินวนรอบๆบ้านนกที่ดัดแปลงมาจาก Shop House อายุไล่เลี่ยกับอาคารประเภทเดียวกันในเมืองปีนังที่พวกมันอาศัยอยู่ มันคล้ายกับจะเป็นสัญญานบอกว่าฟ้าเริ่มเปิดแล้ว
บูดูลิตเติ้ล และ แบร์วอล์ก สองศิลปินพื้นที่มีคิวขึ้นแสดงในวันนี้ที่คลับ สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทฮุนไดการก่อสร้าง เมื่อหลายสิบปีที่แล้วโครงการก่อสร้างนอกประเทศที่บริษัทฮุนไดรับสัมปทานเป็นโครงการแรกคืองานก่อสร้างถนนเส้นปัตตานีนราธิวาส แม้ในระยะต่อมาถนนเส้นนี้จะถูกชาวบ้านขนานนามว่าถนนเกาหลีแต่อันที่จริงการก่อสร้างถนนเส้นนี้ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา มีวิศวกรหนุ่มที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการเจริญเติบโตจนกลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา
อากาศเย็นสบายหลังฝนตกของวันแรกเป็นสัญญานให้ทีมทำงานรู้ว่าหลังฟ้าฝนกระหน่ำเทลงมา ท้องฟ้านั้นมักจะแจ่มใสขึ้นเสมอ
วันที่สอง สาม สี่ ของงาน ท้องฟ้าเปิด อากาศแจ่มใส่ เหมาะเจาะกับช่วงที่เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ Pattani Decoded จัดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งที่ยังคงมีความรุนแรงปรากฎอยู่ขึ้นเป็นระยะ หลากหลายเหตุผลที่ทำให้ความรุนแรงนั้นปะทุ บรรดาเหตุผลในนั้นคือเรื่องอัตลักษณ์ ความยุติธรรม และความห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ ที่ทำให้ความงดงาม และ ความเป็นตัวเองถูกบดบังจากเรื่องเล่าจากศูนย์กลางของประเทศ แต่งาน Pattani Decoded ทำให้เราเห็นว่าทุกพื้นที่นั้นต่างมีเรื่องเล่าของตัวเอง คุณค่าของตัวเอง และความเป็นตัวของตัวเอง
สองนิทรรศการศิลปะถูกจัดขึ้นในบ้านเก่าบนนถนนปัตตานีภิรมย์ บ้านที่ถูกปิดตายมาหลายสิบปีกลับถูกเปิดตัวอีกครั้งเพื่อประดับประดางานศิลปะจากสองสำนักในพื้นที่คือ Patani Art Space และ De’Lapae Studio หลายคนอาจเซอร์ไพรส์ว่าภายใต้ความคุกรุ่นของพื้นที่กลับปรากฎขึ้นของพื้นที่ทางศิลปะที่นอกจากจำหน้าที่สำแดงความสุนทรีย์แล้วยังทำหน้าที่สำแดงเรื่องราวและแรงปราถนาของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย
Patani Art Space จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่ชื่อว่า Patani Ingredients ที่บอกเล่าเรื่องราวของงานผ่านความแตกต่างและความหลากหลายของส่วนผสมศิลปินและผลงานศิลปะ นิทรรศการ Patani Ingredients จึงเปรียบเสมือนส่วนผสมหรือวัตถุดิบอันหลากหลาย ที่มีรากทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา เพศวิถี หรือความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน มีรสชาติและคุณลักษณะเฉพาะตัว บ้างก็ออกรสหวาน บ้างก็ออกรสขม ผสมผสานปรุงแต่งด้วยดุลยภาพทางศิลปะ จัดวางรวมกันบนจานอาหารกลมๆ รีๆ ในพื้นที่สีแดง
ในขณะที่ De’Lapae Studio จากนราธิวาส จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่ชื่อว่า “UNDER THE LINE ภายใต้-เส้นขนาน” ที่เล่นกับภาพจำของผู้คนผ่านเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ ผ่านช่วงเวลา ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ผ่านเรื่องราวที่ประสบพบเจอ เส้นขนานจึงเป็นความรู้สึกอันหลากหลายที่ซ่อนอยู่ภายในของผู้คนที่ต้องการจะถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นออกมา ตีความผ่านการจดจำของเหล่าศิลปินที่มาร่วมแสดงผลงาน
นอกจากสองนิทรรศการศิลปะที่ว่าแล้ว ยังมีนิทรรศการภาพถ่าย “กลับบ้าน” จากอำพรรณี สะเตาะ ที่พูดถึงการเดินทางและการทดลองบนเส้นทางชีวิตของหญิงสาวจากหมู่บ้านเล็กๆ ผู้เลือกที่จะเดินทางศึกษา เพื่อค้นหาความหมาย และปลดล็อกพันธนาการ จากยะรังถึงกรุงเทพฯถึงปารีส นอกจากนี้ยังมีนักวาดภาพฝีมือดีนาม อับดุลการิม ยูโซ๊ะ มาตวัดเส้น ลงลวดลายดอกไม้มลายูให้ผู้ร่วมงานได้ชื่นชม เพราะดอกไม้คือสัญลักษณ์สำคัญของคาบสมุทรมลายู เรื่องราวของมวลดอกไม้ปรากฎอยู่ในหลายบริบท ทั้งความจรงจำ บทกวี ชื่อของผู้คน สัญลักษณ์ของพื้นที่
Pattani Decoded ไม่ได้มีเพียงงานที่ชมด้วยตาสัมผัสด้วยใจเท่านั้น แต่ยังมีหลากหลายเวิร์คช็อปที่เปิดให้ผู้คนได้ร่วมแชร์ประสบการณ์การลงมือทำ ทั้งกิจกรรมมัดย้อมจากทีม De’Lapae Studio การลงลายผ้าบาติกจากผู้ประกอบการท้องถิ่น การสอนการใช้งานผ้าเลอปัสจากคุณเอ็มโซเฟียน เบ็ญจเมธา หนึ่งในผู้พยายามจะปลุกวิถีแห่งผ้าเลอปัสให้กลับมาโลดแล่นและโดดเด่นร่วมสมัย ผ่านความพยายามที่ย้อมผ้าเลอปัสด้วยเทคนิคการย้อมแบบผ้าบาติค พร้อมลวดลายใหม่ๆที่สะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่น พร้อมกับการสาธิตการใช้ผ้าเลอปัสในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการโพกหัวด้วยผ้าเลอปัสในรูปแบบมลายู การสมานผ้าเลอปัสเข้ากับวัฒนธรรมการใช้ผ้าแบบ Furoshiki ในการดัดแปลงผ้าเลอปัสให้เป็นกระเป๋าอย่างสวยงามและเข้ากับเทรนด์การลดใช้ถุงพลาสติคที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ทีมรองเท้าทะเลจรก็เปิดให้ผู้คนได้ร่วมผลิตรองเท้าที่ทำมาจากขยะรีไซเคิลจากท้องทะเล แบรนด์รองเท้าทะเลจรเป็นที่พูดถึงอย่างมากในแวดวงคนตื่นตัวในประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะทะเลจรคือรองเท้าที่ผลิตมาจากขยะทะเลที่ถูกทิ้งไว้ตามชายหาด เก็บโดยกลุ่ม Trash Hero Pattani ร่วมมือกันผลิตโดยมหาวิทยาลัยและกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ทั้งในรูปแบบรองเท้าแตะและรองเท้าแฟชั่น ล่าสุดทะเลจรได้ Collab การทำงานกับนันยางและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนที่สั่งจองรองเท้าแตะรุ่นพิเศษมากกว่าสองหมื่นคู่
อีกสองกิจกรรมที่ถูกจัดหมวดเข้าไปอยู่ในส่วนของเวิร์คช็อปคือกิจกรรมเชฟเทเบิ้ล ที่จัดเป็นครั้งแรกในปัตตานี กับสองเชฟพื้นที่ที่พยายามใส่คอนเซ็ปต์ Gastronomy ของพื้นที่ ผ่านมรดกตกทอดในการปรุงอาหาร และ ที่มาของวัตถุดิบในการปรุงที่มาจากทั้งเขตภูเขาและท้องทะเลของพื้นที่ นอกจากนี้งาน Pattani Decoded ยังได้รับเกียรติจากนักเขียนรางวัลดับเบิ้ลซีไรต์สายพังค์ที่มาจัดเวิร์คช็อปการเขียนกับเหล่าผู้สนใจที่จะหล่นถ้อยคำและสรรพสำเนียงของความรู้สึกผ่านปากกาและแป้นพิมพ์
ในส่วนของกิจกรรม Talk และ การบรรยายนั้น งาน Pattani Decoded ได้รับเกียรติจาก เหล่าบุคคลสำคัญในวงการออกแบบไม่ว่าจะเป็น ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบที่สุดแสนจะ Juicy รวมทั้งคุณ พิชิต วีรังคบุตร และที่สำคัญคือการบรรยายจากนักออกแบบศิลปาธร คือ ดร.สิงห์ อินทรชูโต และ อาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา ในฐานะนักออกแบบ ทั้งคู่ต่างขับเน้นและตั้งคำถามมากกับการสำแดงความเป็นมนุษย์ผ่านงานออกแบบและการครุ่นคิดถึงอนาคตของผู้คน และผลกระทบต่อโลกใบนี้
การบรรยายในงาน Pattani Decoded เพิ่มอุณหภูมิความหนักหน่วงเมื่อ ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรท์แห่งขุนเขาบูโดนราธิวาส ขึ้นอ่านบทกวีชื่อ I See You เพื่อบอกกล่าวสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับชายหนุ่มจากสายบุรี รวมทั้งกวีคนอื่นๆที่สลับขึ้นมาอ่านกวีในเรื่องราวที่แตกต่างกันแต่เหมือนกันในความลุ่มลึกของเนื้อหาที่ได้อ่าน ก่อนที่ทั้งซะการีย์ยา อมตยา ณายิบ อาแวบือซา และ วีรพร นิติประภา จะขึ้นเวทีพูดถึงวารสารเล่มใหม่ของมลายูปริทัศน์ที่ทำขึ้นจากความพยายามของคนพื้นที่ที่จะสื่อสารความคิด ข้อสังเกตของเหล่านักเขียนที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มอันสวยงาม
ส่วนที่เป็นไฮไลท์ของงานและดึงดูดให้ผู้คนแต่งเนื้อแต่งตัวมาร่วมงานคือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในคลับของงานที่รวมเอา ดนตรี งานกราฟฟิตี้ Flea Market ดึงดูดผู้คนให้เดินเข้ามาในงาน Line Up นักดนตรีในแต่ละค่ำคืนนั้นน่าสนใจ ค่ำคืนแรกเริ่มด้วยศิลปินที่เติบโตและใช้ชีวิตในพื้นที่พร้อมกับความพยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของพื้นที่ ค่ำคืนที่สอง DJ Fee ผู้รับบทพระเอกในหนังกระเบนราหู คนสายบุรี มาคัดเพลงให้ผู้คนได้สดับรับฟังผ่านเทิร์นเทเบิ้ล ค่ำคืนที่สามนั้นน่าสนใจเมื่อ Stu Do Vol. Sound สองพี่น้องจากยะลาที่ร่ำเรียนวิชาทางดนตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาถอดรหัสทางดนตรีผ่านจินตนาการของพวกเขาในแนวเพลงแบบ DUB และค่ำคืนสุดท้ายกับเพลงแจ๊สของคุณอ๊อฟ แซ็กโซโฟน และคณะ Diary Jazz Band เพลงแจ๊สกำเนิดขึ้นจากการต่อสู้ ความพยายามที่จะบอกถึงการมีอยู่ของคนแอฟริกันอเมริกัน จนกลายเป็นแนวทางดนตรีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งประจวบเหมาะกับการจัดงาน Pattani Decoded ที่พยายามจะบอกว่าแม้ในเชิงโครงสร้างจะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลาง แต่ในแง่ตัวตนแล้ว กลับเต็มไปด้วย Dynamics เต็มไปด้วยความพยายามที่จะบอกว่า ต่อให้มืดมนอย่างไร แสงไฟ เรื่องราว ตัวตัน จะถูกสาดส่องจากความพยายาม
ในระหว่างที่การตีความทางดนตรีกำลังเกิดขึ้น สิ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปที่คลับของงานคือ Flea Market ปัตตานีได้ชื่อว่าเป็นที่สถิตของผู้คนที่หลงไหลในการแต่งกายและวิถีแห่งวินเทจ ด้วยโลกทัศน์ที่เชื่อมโยงกับแฟชั่นและการค้นหาสไตล์ที่ใช่ซึ่งส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่การไปบุกเบิกตลาดวินเทจที่ท้องสนามหลวง และสวนจตุจักร รวมทั้งเหล่าบรรดา Flea Market ที่เบ่งบานและกลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งอันสำคัญในพื้นที่ ซึ่งนั่นทำให้เหล่าผู้หลงไหลในวินเทจและสตรีทสไตล์ ต่างเดินเข้ามาประชันในวิถีแห่งแฟชั่น พาสชั่นในสไตล์ อย่างพร้อมเพรียง
ฉากหลังของพาวิลเลียนคอนเสิร์ตคือกำแพงบ้านเก่า ทีมงานได้ดัดแปลงให้เป็นผนังสำหรับฉาย Light Graffiti โดยทีม Pattani Landlord & Friends ที่ฉายงาน Computer Graphic จากลวดลายอัตลักษณ์พื้นถิ่นปัตตานีสู่การสร้างสื่อสมัยใหม่ และเป็นความพยายามที่จะนำเสนอปัญหาขยะด้วยสื่อสมัยใหม่ ที่ล้วนแล้วแต่ดึงดูดให้ผู้คนต่างยกมือถือขึ้นมาถ่ายภาพงาน Graffiti สุดล้ำ
นอกจากกิจกรรมที่กล่าวถึงทั้งหมดแล้ว งาน Pattani Decoded ยังนำหนังจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งหนังสั้นหลากหลายเรื่องมาฉายให้ผู้คนได้ร่วมชม และได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น เพราะในความเป็นจริงปัตตานีร้างราซึ่งโรงหนังมาหลายปีดีดัก นอกจากนี้งาน Pattani Decoded ยังได้จัดสถานที่ให้เหล่า Vendors งาน คราฟท์ในพื้นที่ได้มาร่วมจัดแสดงสินค้าที่พวกเขาผลิตขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น
มันยากที่จะนิยามว่า Pattani Decoded คืองานประเภทใดกันแน่ เพราะอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมจำนวนมากในย่านเก่าของเมือง หลายคนที่ไม่เคยเดินทางมาปัตตานีอาจมีภาพจำถึงความรุนแรง ความน่ากลัว และ ความมืดมนหม่นหมอง แต่งาน Pattani Decoded กลับเปลี่ยนภาพจำเหล่านั้นออกไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อพวกเขาพยายามสาดแสงส่องออกไปเพื่อบอกกับผู้คนว่า พวกเขามีอยู่ มีชีวิตอย่างมีสีสัน และมีชีวิตอยู่บนฐานของความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
ภาพโดย Faiz Phongprasert / Haneesah Sideh / Overlay / Bossakorn Buena / Charif Phorh
ถอดรหัสปัตตานี Pattani Decoded
/
ท่ามกลางไฟสงครามจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน รวมถึงผู้บาดเจ็บหลายหมื่นคน และผู้พลัดฐิ่นฐานบ้านเกิดนับแสนคน และสงครามยังคงมีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งความขัดแย้งที่ว่านี้ไม่เพียงเกิดจากสาเหตุทางเชื้อชาติและความแตกต่างทางศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการแทรกแซงของชาติมหาอำนาจจากโลกตะวันตกอีกด้วย
/
หลังจากคลายล็อคดาวน์ให้ผู้คนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้นนิดหน่อย เราสามารถออกไปทานข้าว นั่งคาเฟ่ เดินห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งออกไปชื่นชมงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ที่เราต่างเคยทำมันในชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องปกติ กระทั่งเราได้รับรู้ว่าการขาดสิ่งเหล่านี้ไปเป็นระยะเวลานานในช่วงเวลาเช่นนี้ คงยิ่งทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกหดหู่หัวใจไม่มากก็น้อย เพราะการใช้ชีวิตทุกวันอยู่ให้ห้องสี่เหลี่ยม ขาดความหลากหลาย ขาดสีสัน ไร้ซึ่งการพบปะผู้คนมันช่างหมองหมน จึงขอพาทุกคนออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมของตนไปรับชมศิลปะพร้อมกับเปิดรับความรู้สึกใหม่ภายในตัวเรากับการแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ก้าม ธรรมธัช สายทอง ที่มีชื่อว่า ROOM063
/
ในช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่ของปีที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราอย่างมากมายแล้ว ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของวงการศิลปะในเมืองไทย จะยังมีได้โอกาสชมผลงาน ของอาจารย์ อนันต์ ปาณินท์ ในนิทรรศการที่ชื่อว่า Rhythm of Heartbeat ซึ่งจะจัดที่ MOCA Bangkok ในระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564
/
นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ อ้าย เวยเวย (ai weiwei) ศิลปินชาวจีนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 63 ผู้มีผลงานด้านศิลปะหลากหลายรูปแบบ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรมจีน ได้เปิดนิทรรศการผลงานศิลปะของตัวเองที่ชื่อ "Year of the Rat" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Bangkok Art Biennale 2020 โดยนิทรรศการได้เปิดให้ชมแล้วที่ Tang Contemporary Art ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ถนนสี่พระยา
/
หากเป็นช่วงเวลาปกติ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจารย์ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง จะจัดแสดงนิทรรศการชุด “Die Schöne Heimat” (ดี-เชินเน-ไฮมัท) ซึ่งเปิดให้ชมทาง JWD Art Space (ซอยจุฬาลงกรณ์ 16) ไปจนถึงราวกลางเดือนมิถุนายน
/
“ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอะไรเพื่อช่วยส่วนรวมได้บ้าง” โบ - ณัฐชลัยย์ สุขะมงคล Copy Writer สาวที่ชอบวาดรูปเล่นเป็นงานอดิเรก นึกคิดขึ้นมาได้ในเย็นวันศุกร์วันหนึ่ง ระหว่างที่เธออยู่ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน และออฟฟิศมีนโยบายให้พนักงาน Work from home
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )