Paris, Texas ชีวิตคือการเดินทางตามหาอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะทิ้งมันไป | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Paris, Texas
ชีวิตคือการเดินทางตามหาอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะทิ้งมันไป

หลายครั้งเราอาจเคยสงสัยว่า “ชีวิต” คืออะไรกันแน่ นักคิดหลายสำนักต่างให้นิยามคำว่า “ชีวิต” หลากหลายกันไป แต่แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยแต่ภาพรวมมักมีความเห็นไม่ต่างกันมากในแง่ที่ว่าชีวิตคือการเดินทาง เริ่มจากเกิดไปจนถึงตาย ตรงกลางระหว่างนั้น-อาจจะกินเวลากี่สิบปีก็ตาม-ล้วนคือการเดินทาง จากจุดหนึ่งเคลื่อนไปสู่อีกจุดหนึ่งเสมอ (และบางสำนักยังเชื่อด้วยว่าหลังการตายชีวิตก็ยังเดินทางต่อ) โดยสรุปก็คือส่วนใหญ่เชื่อว่าชีวิตนั้นคือการเคลื่อนที่ทั้งในแง่กายภาพและเคลื่อนไหวในจิตใจไม่รู้จบสิ้น แตกต่างแค่ในส่วนที่เป็นคำถามที่ว่าในการเดินทางใช้ชีวิตของคนเรานั้นจำเป็นต้องหาตามหาอะไรหรือไม่ และถ้าคำตอบคือใช่ ก็จะมีคำถามต่ออีกว่าสิ่งที่ชีวิตเสาะแสวงหานั้นคืออะไรกันแน่

“Paris, Texas” หนังในปี 1984 ของผู้กำกับชาวเยอรมัน วิม เวนเดอร์ส คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นหนังที่ตั้งคำถามกับผู้ชมแบบนั้นว่า ชีวิตคือการเดินทางตามหาอะไรกันแน่ ตามหาแล้วได้อะไร และหลังจากที่ตามหาจนเจอแล้วเอายังไงกับมันต่อ หรือแท้ที่จริงแล้ว ชีวิตก็มีสารัตถะอยู่แค่การเดินทางตามหาอะไรสักอย่างที่เมื่อหาเจอแล้วก็ทิ้งมันไปเพื่อให้ชีวิตได้ไปต่อ

คำถามที่ชวนให้ถกเถียงกันได้ไม่รู้จบสิ้นนี้ถูกนำเสนอผ่านหนัง Road Movie ที่เล่าเรื่องการเดินทางย้อนกลับมาหาความทรงจำของ ทราวิส เฮนเดอร์สัน (แฮร์รี่ ดีน สแตนตัน) ชายหนุ่มที่เปิดเรื่องด้วยการออกเดินไปบนทะเลทรายโมฮาเว่เพียงลำพัง โดยไม่อาจล่วงรู้ว่าเขาเดินไปไหน เดินตามหาอะไร ทราวิสเพียงแค่เดินไปอย่างแน่วแน่และมีจุดหมาย ก่อนจะหมดสติไปด้วยความเหนื่อยอ่อน และฟื้นขึ้นมาพร้อมกับเริ่มต้นเดินทางอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการเดินทางกลับไปหาที่มาของเรื่องราวทั้งหมด พร้อมกับพาผู้ชมเดินทางไปดูต้นสายปลายเหตุของการเตร่ทะเลทรายของ ทราวิส ด้วยเช่นกัน

หลังจากหมดสติ ทราวิส ถูกพาตัวไปพบแพทย์ แล้วแพทย์ก็สืบหาคนที่พอจะบอกได้ว่า เขาเป็นใคร มาทำอะไร (เพราะ ทราวิส ไม่ยอมปริปาก) คนคนนั้นคือ วอล์ต (ดีน สต๊อคเวลล์) ผู้เป็นน้องชาย วอล์ตเปิดเผยว่า ทราวิส หายสาบสูญไปนานสี่ปีโดยที่แม้แต่เขาเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาจึงหายไป หรือหายไปไหน และไปโผล่ที่ทะเลทรายในเท็กซัสได้อย่างไร วอล์ต เดินทางมารับตัว ทราวิส กลับ ลอส แองเจลลิส ที่ซึ่งเขาทำงาน มีครอบครัว และอุปการะลูกชายแท้ ๆ คนเดียวของ ทราวิส ไว้เหมือนเป็นลูกตนเองอยู่ที่นั่น

ทราวิส ปฏิเสธข้อเสนอขึ้นเครื่องบินกลับแอลเอของ วอล์ต นั่นทำให้ วอล์ต ยอมขับรถข้ามรัฐเพื่อพา ทราวิส กลับบ้าน ระหว่างทาง วอล์ต พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ ทราวิส เปิดปากเล่าอะไรให้เขาฟัง สุดท้ายคำแรกที่ ทราวิส ยอมพูดออกมาคือคำว่า “ปารีส” ทราวิส ขอให้ วอล์ต พาไปที่นั่น วอล์ต บอกว่าเขาไปยุโรปตอนนี้ไม่ได้ ก่อนที่ ทราวิส จะบอกว่า “ปารีส” ของเขาไม่ได้อยู่ในยุโรป แต่มันอยู่ในเท็กซัส มันเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในเท็กซัส ที่ซึ่งเขาเดินทางข้ามทะเลทรายเพื่อไปให้ถึง คล้ายว่าความทรงจำของ ทราวิส จะค่อย ๆ หวนคืนทีละนิด วอล์ต จึงถามต่อว่าจะไปทำอะไรที่นั่น ทราวิส ตอบว่าเขาไม่รู้ รู้แต่ว่าตนซื้อที่รกร้างว่างเปล่าอย่างนั้นไว้ด้วยความเชื่อที่ว่านั่นคือที่ที่เขาปฏิสนธิ-เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ในแง่ชีววิทยา-และเมื่อเขาเดินทางกลับไปยังที่ที่เขาถือกำเนิด เขาจะรู้เองว่าเขาไปที่นั่นทำไม แต่ลงท้ายแล้ว ทั้งคู่ก็ไม่ได้ไปที่นั่น

“Paris, Texas” เป็นหนังที่ตั้งคำถามกับผู้ชมว่าหรือแท้ที่จริงแล้ว ชีวิตก็มีสารัตถะอยู่แค่การเดินทางตามหาอะไรสักอย่างที่เมื่อหาเจอแล้วก็ทิ้งมันไป เพื่อให้ชีวิตได้ไปต่อ

หลังจากนั้น ทราวิส กลับสู่อารยธรรมที่มนุษยฺสร้างและสั่งสมขึ้นมาเป็นสังคมเมืองอีกครั้ง ที่ แอลเอ เขาได้พบกับ แอนน์ (ออรอเร เคลมงต์) ภรรยาของ วอล์ต และ ฮันเตอร์ (ฮันเตอร์ คาร์สัน) ลูกชายแท้ ๆ ของตนเองและค่อย ๆ ฟื้นความทรงจำอันสูญหาย กระจัดกระจายตกหล่นไปกลางทะเลทรายที่เขาร่อนเร่แรมปี ประกอบมันขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง พร้อม ๆ กับการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างตนและฮันเตอร์ในฐานะพ่อของลูกชายที่หายไปครึ่งค่อนชีวิต (ของลูก) แต่ความทรงจำและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้ ทราวิส ออกเดินทางนั้นไม่อาจสมบูรณ์ได้หากจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายไม่ถูกต่อให้ภาพใหญ่สมบูรณ์ จิ๊กซอว์นั้นคือ เจน (นาตาชา คินสกี) ผู้เป็นภรรยาของ ทราวิส และแม่แท้ ๆ ของฮันเตอร์

สองพ่อลูก (ที่ฟื้นความสัมพันธ์กันได้แล้ว) จึงออกเดินทางสู่ฮุสตัน ที่ซึ่ง ทราวิส สืบจนพบว่า เจนทำงานอยู่ที่นั่น เพื่อทำสิ่งสำคัญสองประการ คือหนึ่ง แก้ไขความผิดพลาดของตนอันเป็นเหตุผลสำคัญของเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต เหตุการณ์ที่พลิกผันและสร้างบาดแผลในใจเจียนบ้าให้ทั้งตัวเองและเจน กับสอง เพื่อให้ลูกได้เจอกับแม่

พร้อม ๆ กับการกลับมารวมกันเป็นหนึ่งของครอบครัว ทั้ง ทราวิส และ เจน ต่างค่อย ๆ ฟื้นความทรงจำอันเจ็บปวดที่เขาและเธอกระทำต่อกันและกันและส่งผลกระทบแตกต่างกันไป สำหรับ เจน บาดแผลนั้นร้าวลึกในใจจนเธอต้องหนีไป ขณะที่ ทราวิส มันทำให้คุ้มคลั่งจนในที่สุด เขาเลือกจัดการกับความทรงจำเลวร้ายนั้นด้วยการ “ลบทิ้ง” และออกเดินทางไป ปารีส, เท็กซัส อย่างที่ผู้ชมได้เห็นในตอนต้น

“Paris, Texas” เป็นหนัง Road Movie ทั้งในแง่รูปธรรมและนามธรรม ครึ่งเรื่องแรกคือการเดินทางรอนแรมพักนอนเพื่อพา ทราวิส กลับมา ครึ่งเรื่องหลังคือการเดินทางภายในของตัวละครอย่าง ทราวิส และ เจน ที่ลงท้ายแล้วก็หวนกลับมาสู่จุดเริ่มต้น เพื่อย้อนดูสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกันในนามของความรัก ความคาดหวัง ความหวงแหน และการสูญเสียอันไม่อาจลบเลือนได้ (นอกเสียจากลบทิ้งลงวินโดว์ล้างระบบทรงจำใหม่แบบที่ ทราวิส เลือกทำ) บาดแผลเหล่านั้นอาจเป็นคำตอบของคำถามนามธรรมว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อตามหาอะไร

ชีวิตของ ทราวิส ในยามว่างเปล่าไร้สิ่งใดในใจตามหาเพียงแค่สถานที่ปฏิสนธิ แต่เมื่อความทรงจำถูกกู้คืน เขาเดินทางตาม หาแม่ให้ลูกของตนเพื่อเติมคุณค่าและนิยามแห่งชีวิตให้ลูกและเพื่อไถ่ถอนความผิดบาปที่เขาทำไว้กับภรรยา และเมื่อชีวิตเดินทางไปจนถึงจุดที่ได้ในสิ่งที่ตามหา ทราวิส ก็เลือกทิ้งมันไป และเดินทางไปต่อในที่ที่เราไม่อาจล่วงรู้เช่นเคย อาจเป็น ปารีส, เท็กซัส ก็เป็นได้ หากว่ามันมีอยู่จริง หรือแม้แต่ที่ไหนสักที่ ตรงไหนสักแห่ง

วิม เวนเดอร์ส ผู้กำกับเยอรมันยุค New German Cinema รุ่นเดียวกับ แวร์เนอร์ แฮร์โซก และ โวลฟกัง ปีเตอร์เซ่น ถ่ายทอดเรื่องราวกึ่งนามธรรมผ่านการเดินทางในหนังเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ มีมิติ ละเอียดลออด้วยการเล่าเรื่องที่เงียบเชียบ และผ่านบทสนทนาอันแสนบอบบางและกระชับเท่าที่จำเป็น ผสมผสานไปได้ดีกับภาพความว่างเปล่าไร้จุดหมายที่แสนสวยงามของ ร็อบบี้ มุลเลอร์ ผู้กำกับภาพชาวเนเธอร์แลนด์ และสไลด์กีตาร์ของ ไร คูเดอร์ ที่สะท้อนภาพของความว่างเปล่าไร้จุดหมายและตอนจบที่ทั้งอาดูรและเปี่ยมด้วยความหวัง ผ่านนิ้วของเขาที่เดินทางไปบนสายกีตาร์

นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ อเมริกันชนไม่นิยมหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะมันสะท้อนภาพอัปลักษณ์บางอย่างของการมี “American’s Dreams” หรือภาพฝันสำเร็จรูปแบบอเมริกัน ตรงกันข้ามกับฝั่งยุโรปที่ยกย่องหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จน “Paris, Texas” คว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palm D’or) และ FIPRESCI Awards ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1984 และรางวัลอื่น ๆ อีกมาก “Paris, Texas” กลายเป็นหนังที่ติดอันดับท็อปของการจัดหมวดหมู่หนังในหลายสถาบันมาจนทุกวันนี้ สร้างแรงกระเพื่อมให้วัฒนธรรมพ็อพมากมาย อัลบั้ม “The Joshua Tree” ของวง U2 ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนี้ (หลังจากนั้น เวนเดอร์ส และ U2 ก็ทำงานร่วมกันอีกหลายครั้ง) เช่นเดียวกับวงดนตรีสกอตแลนด์อย่าง Travis และ Texas ก็นำชื่อวงมาจากตัวละคร และชื่อหนังเช่นกัน

คงไม่ผิดนักหากเราจะกล่าวว่า “Paris, Texas” คือหนังเรื่องสำคัญของยุคสมัยและตอบคำถามเรื่องการเดินทางหาความหมายของชีวิตได้อย่างว่างเปล่ามากที่สุดเรื่องหนึ่ง ในที่นี้หมายความว่าความว่างเปล่าไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ไม่ดี เพราะบางทีว่างเปล่าไว้ก็อาจจะดีกว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวแสนเจ็บปวด

ดู “Paris, Texas” แบบออนไลน์ได้ที่ https://vimeo.com/ondemand/paristexas

นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ อเมริกันชนไม่นิยมหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะมันสะท้อนภาพอัปลักษณ์บางอย่างของการมี “American’s Dreams” หรือภาพฝันสำเร็จรูปแบบอเมริกัน ตรงกันข้ามกับฝั่งยุโรปที่ยกย่องหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จน “Paris, Texas” คว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palm D’or) และ FIPRESCI Awards ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1984 และรางวัลอื่น ๆ อีกมาก “Paris, Texas” กลายเป็นหนังที่ติดอันดับท็อปของการจัดหมวดหมู่หนังในหลายสถาบันมาจนทุกวันนี้ สร้างแรงกระเพื่อมให้วัฒนธรรมพ็อพมากมาย อัลบั้ม “The Joshua Tree” ของวง U2 ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนี้ (หลังจากนั้น เวนเดอร์ส และ U2 ก็ทำงานร่วมกันอีกหลายครั้ง) เช่นเดียวกับวงดนตรีสกอตแลนด์อย่าง Travis และ Texas ก็นำชื่อวงมาจากตัวละคร และชื่อหนังเช่นกัน

คงไม่ผิดนักหากเราจะกล่าวว่า “Paris, Texas” คือหนังเรื่องสำคัญของยุคสมัยและตอบคำถามเรื่องการเดินทางหาความหมายของชีวิตได้อย่างว่างเปล่ามากที่สุดเรื่องหนึ่ง ในที่นี้หมายความว่าความว่างเปล่าไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ไม่ดี เพราะบางทีว่างเปล่าไว้ก็อาจจะดีกว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวแสนเจ็บปวด

ดู “Paris, Texas” แบบออนไลน์ได้ที่ https://vimeo.com/ondemand/paristexas

    TAG
  • culture
  • lifestyle
  • movie
  • Paris, Texas

Paris, Texas ชีวิตคือการเดินทางตามหาอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะทิ้งมันไป

CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE
April 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Love Lies เรื่องรักจากคำหลอกของหญิงหม่ายและมิชฉาชีพ ผลงานการกำกับครั้งแรกของ Ho Miu Ki

    ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Nick Cheuk ผู้กำกับและนักเขียนบท Time Still Turn The Page ภาพยนตร์ทรงพลังที่ท่วมท้นด้วยคำชื่นชมจากทั้งในและนอกฮ่องกง

    ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    บทสนทนาเชิงลึกกับสองผู้กำกับหนังสารคดี Breaking The Cycle

    ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สามารถเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกเล่าแก่คนรุ่นหลังได้ว่าพวกเราซึ่งเป็นประชาชนภายในประเทศนี้ผ่านอะไรกันมา กำกับโดย “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” (เอก) ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจากสงขลา เอกเริ่มกำกับสารคดีสั้นเกี่ยวกับความตายของ กฤษณ์ สราญเศรษฐ์ ลุงของเขาในชื่อเรื่อง “คลื่นทรงจำ” (2561) ซึ่งได้รับรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ DMZ ที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้เข้าฉายในเทศกาลต่างประเทศอีกหลายแห่ง และผู้กำกับอีกคน คือ “ธนกฤต ดวงมณีพร” (สนุ้ก) ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับภาพ ที่ได้เข้าชิงรางวัลช้างเผือกจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 จากเรื่อง “ทุกคนที่บ้านสบายดี” (2560) และได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติไห่ หนาน

    EVERYTHING TEAMJune 2024
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    งานศิลปะที่รายล้อมตัวละครในหนังทริลเลอร์จิตวิทยา Inside (2023)

    Inside (2023) หนังทริลเลอร์จิตวิทยาของผู้กำกับสัญชาติกรีซ วาซิลลิส แคตซูพิส (Vasilis Katsoupis) ที่เล่าเรื่องราวของของนีโม (วิลเลียม เดโฟ) หัวขโมยที่ลักลอบเข้าไปในเพนท์เฮ้าส์สุดหรูของสถาปนิกชื่อดัง เพื่อขโมยงานศิลปะราคาแพงที่สะสมอยู่ในนั้น แต่ดันบังเอิญโชคร้ายถูกระบบนิรภัยขังอยู่ภายในคนเดียว ท่ามกลางงานศิลปะที่อยู่รายรอบ จนเขาต้องหาทางเอาชีวิตรอดอยู่ข้างใน โดยอาศัยข้าวของรอบตัว หรือแม้แต่งานศิลปะที่อยู่ในนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือก็ตาม เรียกได้ว่าเป็น Cast Away เวอร์ชันอาชญากรก็ได้

    Panu Boonpipattanapong9 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Exclusive Talk กับผู้กำกับและนักแสดงนำหญิงจาก “A Guilty Conscience” ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุร้อยล้านเหรียญฮ่องกง

    ฮ่องกง เมื่อราวสิบยี่สิบปีก่อน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองมาก ๆ ในฐานะประเทศที่ส่งออกภาพยนตร์ออกสู่สายตาของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ต่อสู้กำลังภายใน ภาพยนตร์มาเฟีย หรือแม้แต่ภาพยนตร์ชีวิตที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งของหว่องกาไว จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมฮ่องกง แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ความคึกคักของภาพยนตร์ฮ่องกงเริ่มเงียบเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ จนแฟนหนังฮ่องกงหลายคน ออกปากบ่นคิดถึงความรุ่งเรืองในอดีต ดังนั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ความนิยมระดับ 100 ล้านเหรียญฮ่องกง ของภาพยนตร์อาชญากรรมอย่าง A Guilty Conscience ขึ้นมาแล้ว แสงที่เคยริบหรี่ก็อาจจะกลับมาสว่างไสวขึ้นมาอีกครั้ง

    EVERYTHING TEAM10 months ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    แรงบันดาลใจแห่งศิลปะเบื้องหลังหนัง “Resemblance ปรากฏการณ์” ของนักธุรกิจผู้หลงใหลภาพยนตร์ ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์

    นักธุรกิจชั้นนำหลายคนใช้เวลาว่างจากการทำงานไปกับความหลงใหลที่แตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการท่องเที่ยวทั่วโลก บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการล่องเรือตกปลา ขับรถซูเปอร์คาร์ หรือปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แต่มีนักธุรกิจผู้หนึ่งที่มีความลุ่มหลงที่แปลกแตกต่างออกไป เขาผู้นี้คือนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ผู้บริหารรุ่นที่สองของ โก๋แก่ แบรนด์ถั่วอบกรอบระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ ผู้หลงใหลในการทำหนังอย่างเข้าเส้น ลงลึกถึงกระดูกดำจนลุกขึ้นมาตั้งค่ายหนังอิสระของตัวเองในนาม โก๋ฟิล์ม ฝากผลงานหนังมันส์ๆ ดิบๆ ห่ามๆ ไม่แคร์ตลาด ไม่แยแสรางวัล ประดับวงการมาแล้วหลากหลายเรื่อง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2023
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )