Ode to my Family บ้านที่ออกแบบมาเพื่อเก็บภาพความทรงจำดีๆ จากบ้านคุณตาคุณยาย | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

เจ้าของ : ครอบครัวรอดสุด
ผู้ออกแบบ : ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ / อรวี เมธาวี
ผู้ก่อสร้าง : บุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต
ถ่ายภาพ : อรรคพล ธนารักษ์

ทุกครั้งที่หลับตา...ภาพวันเวลาดีๆ ยังคงชัดเจนอยู่ในใจ “ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ” ออกแบบบ้านที่ไม่เพียงบันทึกภาพในอดีตเอาไว้ หากยังสร้างพื้นที่ให้ครอบครัวหนึ่งสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความทรงจำที่สวยงามได้ตลอดไป

บ้านไม้หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผาไม่เพียงสะท้อนภาพของเรือนพื้นบ้านในภาคใต้ หากการออกแบบพื้นที่ภายในทั้งหมดไว้ภายใต้ชายคาเดียวกันยังสื่อถึงการผสมผสานระหว่างภาพความทรงจำในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน

บ้านไม้หลังคาปั้นหยาที่ปูด้วยกระเบื้องดินเผาอาจจะสะท้อนภาพของเรือนเก่าพื้นถิ่นภาคใต้ในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับหลานชายของคุณตารัตน์กับคุณยายพิน บ้านหลังนี้คือสถานที่พิเศษซึ่งมิติของเวลาพาอดีตกับปัจจุบันมาซ้อนทับกันอย่างแนบแน่นและอบอุ่น “บ้านพินรัตน์” คือผลงานการถ่ายทอดความทรงจำของหลานชายซึ่งมีต่อคุณตาคุณยายผู้ล่วงลับ ผ่านงานออกแบบที่ใช้ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมมาสร้างสรรค์สุนทรียภาพทางความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยได้อย่างลงตัว

ทีมสถาปนิก “ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ” (Awaken Design Studio) ถอดรหัสความทรงจำของชายคนหนึ่งเพื่อดึงองค์ประกอบในห้วงความคิดถึงมาตีความและประติดประต่อเสียใหม่จนกลายเป็นบ้านไม้สองชั้นท่ามกลางสวนในจังหวัดพัทลุง

ในขณะที่ลวดลายของราวกันตกและช่องคอสองคือองค์ประกอบที่เกิดจากภาพในความทรงจำ ประตูกระจกและโถงบันไดคือส่วนประกอบที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน

ลวดลายราวบันได ประตูไม้บานเฟี้ยม หรือช่องคอสองบนผนัง สิ่งเหล่านีิ้คือส่วนประกอบของบ้านที่ให้ความรู้สึกคุ้นชินและอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของบ้านคุณตาคุณยายในอดีต “ความคิดของเขา (หลานชาย) ค่อนข้างชัด เขาสเก็ตแปลนกับสิ่งที่เขาอยากจะให้มันเป็นออกมาได้เลย เรารู้สึกว่ามันมีความหมาย มันออกมาจากความทรงจำและตัวตนของเขา” ภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ หนึ่งในทีมสถาปนิกกล่าว “เราเอาสิ่งที่เขาเขียนกลับไปคุยกับเขานะ ว่าแต่ละอันเขานึกถึงอะไร มันสะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในเขาอย่างไรบ้าง อย่างประตูบานไม้พับ ประตูบานเฟี้ยม หรือแม้กระทั้งตัวคอสองที่เขาเขียน มันเป็นสิ่งที่เขาบอกว่าบ้านเก่าของคุณตาคุณยายเขามี แล้ว Element เหล่านี้แหละที่ทำให้เขารู้สึกถึงท่านได้ มันเป็น Sense ที่เขาระลึกถึง”

การวางตำแหน่งช่องเปิดและผนังทึบที่ได้รับการออกแบบและจัดวางอย่างเป็นระบบทำให้พื้นที่ภายในบ้านกับสวนด้านนอกมีความเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้น

แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต แต่การออกแบบบ้านหลังนี้ไม่ใช่การยกบ้านหลังเดิมมาสร้างใหม่ให้เหมือนของเก่า หากเป็นการดึงสิ่งที่มีคุณค่าทางความรู้สึกมาผนึกกำลังกับการจัดวางพื้นที่และองค์ประกอบต่างๆ ทางสถาปัตยกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด “เราไม่ได้มองว่่าบ้านนี้จะต้องเหมือนบ้านคุณตาคุณยาย เขาก็ชัดเจนว่านี่จะเป็นบ้านเขาเอง เขาอยากให้มันดูโมเดิร์นเหมาะกับเขา” ภัทราวุธ จันทรังษี หนึ่งในทีมสถาปนิกกล่าว “มันก็กลายเป็นโจทย์ที่ยากเหมือนกันเพราะมันซ้อนกันอยู่ คือต้องทำบ้านที่เหมาะกับวิถีชีวิตใหม่ของเขา แต่่่จะต้องให้ระลึึกถึงคุณตาคุณยาย”

ที่บ้านหลังนี้ ภาพความทรงจำกับวิถีชีวิตในปัจจุบันอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้อย่างสมดุล ไม้เก่าจากบ้านคุณตาคุณยายที่รื้อเก็บไว้ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทั้งโครงสร้างเสา คานและพื้น เมื่อผสมไม้ใหม่ที่ใช้ในผนังและส่วนตกแต่งต่างๆ สีสันและลวดลายของเนื้อไม้ที่อายุต่างกันกลับเกิดเป็นความแตกต่างที่ลงตัว ช่องหน้าต่างบานประตูของบ้านก็มีการผสมผสานทั้งรูปแบบโบราณและสมัยใหม่ตามความเหมาะสมในการใช้งาน “เราพยายามใส่ทุกอย่างเข้าไปใต้หลังคาผืนเดียว ไม่ได้พยายามจะออกแบบให้บ้านมีเลเยอร์หรือมีห้องเยอะๆ” ภคชาติกล่าว “เราอยากจะให้ทุกห้องอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน เพราะว่าหลังคามันก็บอกถึงเรื่องพวกนี้อยู่เหมือนกัน”

จากการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคใต้ ทีมสถาปนิกจากตื่นได้พบว่าเรือนของคุณตาคุณยายเป็นเรือนพื้นถิ่นในยุคประมาณร้อยปีที่ผ่านมา โดยเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของเรือนประเภทนี้ก็คือหลังคาทรงปั้นหยาที่ปูด้วยกระเบื้องดินเผาซึ่งเรียกว่ากระเบื้องเกาะยอตามชื่อของแหล่งผลิต เพื่อสะท้อนลักษณะเฉพาะทางสถปัตยกรรมออกมา การตามหากระเบื้องดินเผาแบบโบราณจึงเริ่มต้นขึ้น “สมัยก่อนแหล่งผลิตมีที่เดียวที่เกาะยอจังหวัดสงขลา แต่ปัญหาก็คือว่าแหล่งผลิตเหลือน้อยมากๆ และเขาก็ผลิตได้น้อยเพราะต้องรอฟ้ารอฝน ผลิตเป็นฤดูกาล” ภคชาติเล่า “แต่เราก็พยายามไปหาจนเจออีกที่หนึ่ง เป็นรุ่นทีี่สองรุ่นที่สามที่เขาพยายามปรับตััวแล้วทำให้กระเบื้องพวกนี้มันอยู่รอดได้้ สั่งไม่นานก็สามารถผลิตได้เลย แล้วคุณภาพก็โอเค ก็เลยสั่งกระเบื้องอันนี้มาใช้ เจ้าของบ้านเขาก็รู้สึกแฮ้ปปี้มากที่สามารถเอากระเบื้องเก่าที่มันเกือบจะหมดไปแล้วมาใช้ได้”

โถงสูงบริเวณทางเข้าคือหัวใจสำคัญ ของบ้านหลังนี้ ภาพคุณตาคุณยายบน ผนังสามารถมองเห็นได้จากทุกส่วนในบ้าน ทำให้รู้สึกถึงความผูกพันธ์ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดในบ้านหลังนี้

นอกจากการใช้ไม้จากบ้านเดิม เติมแต่งด้วยหลังคาทรงปั้นหยาปูกระเบื้องดินเผา และนำเอาองค์ประกอบต่างๆ ที่คล้ายคลึงกับบ้านคุณตาคุณยายในอดีตมาเป็นส่วนตกแต่งในบ้าน โถงสูงกลางบ้านที่เชื่อมต่อพื้นที่ทั้งสองชั้นก็คือพื้นที่สำคัญซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อการรำลึกถึงคุณตาคุณยายโดยเฉพาะ “เราคุยกันตั้งแต่แรกแล้วว่าพอมีโถงแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องมาอยู่ตรงนี้ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้จากทั้งบ้าน” ภคชาติเล่า “ก็คุยกันว่าตรงนี้ต้องตั้งรูปคุณตาคุณยายนะ เพราะเวลาใครเข้ามาหรือว่าอยู่ตรงไหนของบ้านก็จะได้ระลึกถึง”

เบื้องหลังการออกแบบบ้านที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าทางอารมณ์ ทีมสถาปนิกจากตื่นยังให้ความใส่ใจกับรายละเอียดและคุณสมบัติขั้นพื้นฐานสำหรับบ้านที่ดีอีกด้วย พื้นที่ใช้งานต่างๆ ภายในบ้านได้รับการจัดวางอย่างมีระบบเพื่อให้รองรับกับการใช้งานภายในและสอดคล้องกับบริบทภายนอก โถงบันไดตั้งอยู่ในทิศที่ต้องรับแดดเพื่อช่วยกรองความร้อนไม่ให้เข้ามาในบ้านโดยตรง การจัดวางตำแหน่งช่องเปิดต่างๆ และชานบ้านโดยรอบทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่าที่เคยเป็น "เจ้าของบ้านเขาบอกว่าบ้านนี้ทำให้เขาอยู่ใกล้สวนมากขึ้น" ภคชาติเล่า "ซึ่งมันเกิดจากการนำความรู้เรื่องการออกแบบมาใช้แหละ เรื่อง solid กับ void (ผนังทึบและช่องเปิด) เมื่อมันตรงกัน บ้านก็เหมือนเป็นเฟรมหรือเป็็นจุดที่ทำให้เขารู้สึกว่าได้เห็นสวนมากขึ้นกว่าเดิม เขาบอกว่าเขารู้สึกเหมือนโดนดึงออกไปข้างนอก"

เมื่อการออกแบบและก่อสร้างเสร็จสิ้น ขั้นตอนสุดท้ายที่จะทำให้บ้านหลังหนึ่งเสร็จสมบูรณ์ก็คือการเติมชีวิตเข้าไป “เขา (คุณพ่อของเจ้าของบ้าน) บอกว่าบ้านนี้เป็นบ้านที่มีชีวิต” ภัทราวุธกล่าว “เขาใช้บ้านหลังนี้เป็นที่รวมครอบครัว พอเขาบอกว่าบ้านนี้ลูกชายเขาทำให้คุณตาคุณยายนะ ญาติๆ ก็มารวมตัวแล้วก็ถ่ายรูปกับคุณตาคุณยายที่อยู่ตรงนั้น มันก็เกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา กลายเป็นบ้านที่สมบูรณ์ได้ด้วยคนที่เข้าไปอยู่”

เพราะใจยังคงรำลึกถึงจึงเกิดเป็นบ้านหลังหนึ่งซึ่งอัดแน่นไว้ด้วยเรื่องราวและความทรงจำ แค่เสาไม้จากบ้านเก่าต้นหนึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะสะกิดใจให้ภาพของเรื่องราวในอดีตกลับมาชัดเจนอีกครั้ง ที่บ้านพินรัตน์หลังนี้ ทุกบานประตูมีเรื่องราว ทุกผืนผนังเต็มไปด้วยเรื่องเล่า ทุกย่างก้าวจึงคล้ายกับบันทึกบทใหม่ที่ขีดเขียนเพิ่มลงไปให้บ้านหลังนี้มีชีวิตและเปี่ยมไปด้วยลมหายใจของสมาชิกทุกคนในครอบครัว

    TAG
  • Awaken Design Studio
  • ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ
  • บ้านพินรัตน์
  • pinrat house

Ode to my Family บ้านที่ออกแบบมาเพื่อเก็บภาพความทรงจำดีๆ จากบ้านคุณตาคุณยาย

ARCHITECTURE/HOUSE
March 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/HOUSE

    “Pong House” เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติผ่านคอร์ต พร้อมตอบโจทย์ความ Privacy

    “Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน

    EVERYTHING TEAMSeptember 2022
  • DESIGN/HOUSE

    ICE.SU HOUSE BY JUNSEKINO A+D บทสนทนาระหว่างการสร้างบ้านที่ย้อนแย้งแต่ชัดเจนบนสเกล 1:1

    “One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว

    Nada InthaphuntMay 2022
  • DESIGN/HOUSE

    HOUSE 362 บ้านที่เปิด “ช่อง” เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับธรรมชาติ

    HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAM3 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN VIPHA 41 BY ANONYM บทสนทนาของตัวตนและประสบการณ์อย่างที่ใจตามหา

    บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน

    Nada InthaphuntMay 2021
  • DESIGN/HOUSE

    House COVE(R) by TOUCH Architect ต่อเติมบ้านหัวมุมให้ต่อเนื่องกับบ้านหลังเก่า

    เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น

    Nada InthaphuntApril 2021
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN SAILOM BY ANONYM บ้านที่สายลมมีร่างกายให้จับต้อง

    เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น

    Nada InthaphuntMarch 2021
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )