LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

กำแพง ในความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง เครื่องกั้น เครื่องล้อม ที่ก่อด้วยอิฐ ดิน หรือ หิน เช่นเดียวกับคำว่า Wall ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง โครงสร้างอิฐหรือหินในแนวตั้งที่ทอดยาวต่อเนื่องเพื่อล้อมรอบหรือแบ่งแยกผืนแผ่นดินออกจากกัน
ภาพ: Mc Suppha-riksh Phattrasitthichoke

ในแง่หนึ่ง กำแพง ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองผู้คนหรือสิ่งของที่อยู่ภายใน ดังเช่นกำแพงบ้าน กำแพงเมือง แต่ในทางกลับกัน กำแพง ก็ทำหน้าที่คุมขัง กั้นขวาง ไม่ให้สิ่งที่อยู่ภายในสามารถออกไปข้างนอกได้เช่นกัน ดังเช่นกำแพงคุก หรือเรือนจำเป็นต้น และในแง่นี้ กำแพง ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมการเมือง ที่สื่อถึงการปิดกั้น ปิดบัง ไม่ให้คนภายนอกล่วงรู้ถึงสถานการณ์ภายในพื้นที่ หรือประเทศหนึ่งๆ หรือแม้แต่สื่อถึงการกักขังและริดรอนเสรีภาพของผู้คนได้ด้วยเช่นกัน
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรื่องราวของกำแพงถูกสำรวจและตีความผ่านงานศิลปะในหลายรูปแบบ ทั้งในงานวรรณกรรม ดนตรี หรือแม้แต่ทัศนศิลป์ ในตอนนี้เราจะขอพูดถึงนิทรรศการศิลปะนิทรรศการหนึ่งที่สำรวจนิยามของกำแพงในหลากแง่มุม นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า No Wall (ไร้กำแพง)
โดย เจมส์ วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล ศิลปินร่วมสมัยชาวกรุงเทพโดยกำเนิด ผู้อาศัยและทำงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงแม้เขาจะทำงานศิลปะแบบนามธรรม แต่ผลงานของเขาก็แตกต่างจากศิลปินนามธรรมทั่วๆ ไปที่เน้นในการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกภายในและการทำงานแบบด้นสด (Improvisation) หากแต่เป็นการทำงานที่ผ่านการวางแผน และการใช้กระบวนการคิดในเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว อย่างเรื่องของปัจจัยรายรอบที่ควบคุมชีวิตมนุษย์อย่าง ระบบทุนนิยม, วัฒนธรรม, ประเพณี และอำนาจทางสังคมการเมือง ผลงานของเขายังเป็นการทดลองกับธรรมชาติและปฏิกิริยาทางเคมีของสื่อทางศิลปะอย่าง สี และผลิตภัณฑ์ผสมสีชนิดต่างๆ เพื่อสร้างเป็นผลงานศิลปะนามธรรมอันมีเส้นสาย รูปทรง สีสัน ที่สื่อสารถึงประเด็นที่เขาต้องการจะนำเสนออย่างมีนัยยะสำคัญ


No Wall เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของวิสิทธิ์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากการได้เห็นกำแพงในรูปแบบต่างๆ ในประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งกำแพงที่ทำจากหิน อิฐ ดิน หรือกำแพงโลหะต่างๆ
“ผมมองว่ากำแพงเหล่านี้แสดงถึงนัยยะหลายอย่าง อาจจะเป็นความยิ่งใหญ่และการข่มขวัญคู่ต่อสู้ของอาณาจักรอันเกรียงไกรสักแห่ง หรือสร้างขึ้นเพื่อป้องกัน หรือแม้แต่ปกปิด ไม่ให้คนภายนอกเข้าถึงหรือรับรู้สิ่งที่อยู่ภายในได้ หรือแม้แต่ใช้ปกปิดความหวาดกลัวของผู้สร้าง หรือความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ทางศาสนา ในทางกลับกัน กำแพงเหล่านี้ก็สร้างขึ้นจากแรงงานของทาสจำนวนมหาศาลมาโดยตลอด

ยกตัวอย่างเช่น กำแพงเมืองจีน ที่ผมเคยได้ยินมาว่าแรงงานที่ตายในการสร้างกำแพง ก็ถูกฝังให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงไปด้วย นั่นหมายความว่าในเนื้อของกำแพงนั้นนอกจากจะมีหยาดเหงื่อแรงงานทาสแล้ว ยังมีเลือดเนื้อ ชีวิต และความตาย ของพวกเขารวมอยู่ด้วย”
“ผมยังมองว่าสัญชาตญาณในการสร้างกำแพงนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่ยังเด็ก โดยสังเกตจากเด็กเล็กๆ หรือแม้แต่ลูกของผมเอง เวลาเล่นตัวต่อเลโก้ เขามักจะประกอบตัวเลโก้ขึ้นเป็นโครงสร้างที่ดูคล้ายกำแพงอยู่บ่อยๆ ผมมองว่าในขณะที่เด็กๆ เล่นสร้างกำแพงตามสัญชาตญาณ หรือเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการก็แล้วแต่ แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้น จุดมุ่งหมายของการสร้างกำแพงก็เปลี่ยนแปลงไปตามความคิด ทัศนคติ หรือแม้แต่อุดมการณ์ของแต่ละคน”

ประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านผลงานภาพวาดหลากสีสันจำนวน 33 ชิ้น ในนิทรรศการครั้งนี้ เมื่อมองเผินๆ ผลงานเหล่านี้ดูคล้่ายกับภาพวาดนามธรรม แต่เมื่อพินิจพิจารณาให้ดีๆ แล้ว จะมองเห็นรูปแบบของเส้นสายและพื้นผิวที่มีโครงสร้างของลักษณะความเป็นกำแพงแฝงอยู่ด้วย ที่น่าสนใจก็คือ สีสันอันสดใสของภาพวาดเหล่านี้ ดูๆ ไป ก็คล้ายกับสีสันของตัวต่อเลโก้อยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

“ในการทำงานชุดนี้ ผมไม่ได้จงใจที่จะวาดภาพเหมือนของกำแพงออกมาอย่างชัดเจน หากแต่ความเป็นกำแพงนั้นอยู่ในกระบวนการคิดคำนวณ เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปทรง เส้นสาย สีสัน พื้นผิวของภาพ ถ้าสังเกตดูในภาพ จะดูคล้ายกับการเอารูปทรงต่างๆ มาเรียงต่อกันเป็นกลุ่มก้อนอะไรสักอย่าง เหมือนอย่างเวลาที่เด็กๆ เล่นเลโก้ เขามักจะเลือกตัวต่อที่มีสีสันหรือรูปทรงที่เขาชอบ บางคนอาจจะเลือกตัวต่อสีเดียวมาประกอบ แต่บางคนอาจจะชอบตัวต่อหลายสี บางคนอาจจะเลือกตัวต่อแบบสุ่มๆ เพื่อสร้างรูปทรงอะไรบางอย่างขึ้นมาตามความคิดของเขา เช่นเดียวกับภาพวาดของผม ที่ถึงแม้จะเป็นการประกอบกันของรูปทรงที่ไร้ความหมาย ดูไม่รู้เรื่อง แต่ในขณะเดียวกัน การประกอบกันนั้นก็มีกระบวนการทางโครงสร้างที่ผ่านการคิดคำนวณถึงแนวคิดหลักของนิทรรศการครั้งนี้แฝงอยู่ด้วย”


นั่นทำให้ผลงานชุดนี้ แม้จะมีเปลือกนอกดูเหมือนศิลปะนามธรรม (Abstract art) ที่ศิลปินมุ่งเน้นในการทำงานที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกโดยไม่ยึดติดกับความเป็นจริงหรือความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ หากแต่ผลงานของวิสิทธิ์มีความแตกต่างออกไปตรงที่ ถึงแม้จะเป็นการทำงานคล้ายกับรูปแบบของงานศิลปะนามธรรมที่เป็นการประกอบกันของรูปทรง เส้นสาย สีสัน และพื้นผิว โดยไม่เลียนแบบความเป็นจริง หากแต่ในกระบวนการทำงานของเขาก็มีโครงสร้างที่อ้างอิงและยึดโยงกับแนวคิดหลัก รวมถึงสะท้อนสภาวะทางสังคมร่วมสมัยอย่างแน่วแน่และชัดเจน ดังนั้น ถ้าเราจะนิยามประเภทหรือรูปแบบทางศิลปะของเขาในนิทรรศการครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นงานศิลปะแบบกึ่งนามธรรม (Semi-abstract art) หรืองานศิลปะนามธรรมแบบคอนเซ็ปชวล (Conceptual abstraction art) ก็น่าจะพอเข้าเค้าอยู่
แนวคิดแบบคอนเซ็ปชวลนี่เอง ที่ไปพ้องกับแรงบันดาลใจอีกประการในผลงานชุดนี้ของวิสิทธิ์ นั่นก็คืออัลบั้ม The Wall (1979) ของ Pink Floyd วงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกสัญชาติอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทเพลง Another Brick in the Wall ซึ่งสะท้อนถึงการที่อำนาจรัฐที่กดขี่และลดทอนความเป็นปัจเจกของประชาชน หรือแม้แต่เยาวชน ผ่านระบบการศึกษาอันเข้มงวดและไร้เสรีภาพ จนทำให้พวกเขาเป็นไม่ต่างอะไรกับแค่ก้อนอิฐก้อนหนึ่งบนกำแพงเท่านั้น

“ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบฟังเพลงร็อกอยู่แล้ว The Wall ก็เป็นอัลบั้มที่ผมชอบมากๆ โดยเฉพาะเพลง Another brick in the wall และผมพอจะเข้าใจความหมายและเนื้อหาของเพลงนี้ ซึ่งถ้าจะพูดง่ายๆ ก็เป็นเรื่องของการจำกัดขอบเขตของสิทธิ เสรีภาพ การสร้างกฎเกณฑ์บังคับให้เด็กๆ กลายเป็นเหมือนก้อนอิฐบนกำแพง บังคับให้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกำแพง ตอนแรกผมก็อยากจะเอาชื่อเพลงนี้มาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการ แต่เกรงว่าพอตั้งไป ประเด็นจะถูกเบี่ยงเบนไป ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ No wall แทน เพื่อเป็นการตั้งคำถามด้วยว่า มนุษย์เราจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “กำแพง” หรือไม่?”
แนวคิดของการมีหรือไม่มีกำแพงที่ว่านี้ ยังถูกนำเสนอผ่านการติดตั้งจัดวางภาพวาดในนิทรรศการนี้ ที่นอกจากจะแขวนให้ชมบนผนังกันตามปกติแล้ว ยังมีการแขวนภาพวาดจากเพดานให้ลอยดิ่งอยู่กลางห้องแสดงงาน ราวกับเป็นผลงานที่แขวนอยู่บนกำแพงล่องหนหรือกำแพงที่ไร้ตัวตน ให้ผู้ชมสามารถเดินข้ามฟากไปดูชมผลงานทั้งสองด้านได้อย่างเสรีอีกด้วย


“ผมมองว่ากำแพงนั้นเป็นสิ่งสมมติ เพราะผมมองว่าสิ่งก่อสร้างที่เราเรียกว่ากำแพงนั้นมีความย้อนแย้งกับความรู้สึกของผู้ที่ต้องการจะสร้างมัน คือในขณะที่บางคนพยายามสร้างกำแพงใหญ่ๆ หลายสิบหลายร้อยเมตรขึ้นมาเพื่อปกป้องความยิ่งใหญ่ของตน แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเขาเองก็ไม่อยากถูกขังอยู่ภายในกำแพงนั้นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การสร้างกำแพงก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างกรอบมาขังตัวเองเอาไว้ข้างใน เขาอาจจะรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย แต่ท้ายที่สุด ตัวเขาเองก็ถูกกักขังอยู่ภายในกำแพงนั้นเช่นกัน”

สิ่งที่น่าสนใจประการสุดท้ายในนิทรรศการครั้งนี้ของวิสิทธิ์ก็คือ เมื่อเราพิจารณาภาพวาดทุกภาพในนิทรรศการครั้งนี้ของเขา เราพบว่าภาพวาดเหล่านี้ไม่ปรากฏลายเซ็นบนภาพเลยแม้แต่ภาพเดียว ซึ่งผิดกับธรรมเนียมของศิลปินส่วนใหญ่ ที่มักจะแสดงตัวตนหรือความเป็นเจ้าของบนผลงานของตนเอง เรามาทราบในภายหลังว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เวลาทำงานวาดภาพ วิสิทธิ์ไม่ได้ทำงานวาดภาพบนแคนวาสที่วางในแนวตั้งบนขาหยั่งวาดภาพ หากแต่เขาทำงานด้วยการวางแคนวาสในแนวนอน แล้วเดินวนไปรอบๆ ภาพเพื่อวาดภาพแทน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาพวาดของเขาไม่มีหัวหรือท้าย ไม่มีด้านบนหรือด้านล่าง ไม่มีแนวตั้งหรือแนวนอน จึงสามารถดูภาพในแนวไหนก็ได้ ตามอัธยาศัยของผู้ชมนั่นเอง นับเป็นการทำงานแบบไร้กฎเกณฑ์และกระบวนท่า สมดังชื่อนิทรรศการ ไร้กำแพง จริงๆ อะไรจริง!

“ถึงแม้จะมีแนวคิดเบื้องหลังการทำงานที่ชัดเจน แต่ผมอยากให้ผู้ชมดูงานของผมแล้วสามารถตีความได้อย่างเสรี ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนผมก็ได้ ถ้าผู้ชมมองว่าภาพวาดของผมคือกำแพง มันก็คือกำแพง แต่ถ้ามองไม่เห็นเป็นกำแพง มันก็ไม่เป็น เพราะตัวผมเองก็ไม่อยากถูกขังอยู่ในกำแพงนี้เหมือนกัน”.
และภัณฑารักษ์ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 - 25 กุมภาพันธ์ 2567
ที่ RCB Photographers’ Gallery ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 11.00 น. – 20.00 น. (เข้าชมฟรี)
No Wall ศิลปะแห่งการสำรวจนิยามหลากแง่มุมของสิ่งที่เรียกว่า “กำแพง”
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )