ณรงค์ โอถาวร (So Architect)
เอสเพรสโซ่ ดีไซน์ และหลากหลายของบริบทพื้นที่
ถึงแม้หากเทียบสัดส่วนผลงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของบริษัทสถาปนิก SO อาจเน้นหนักไปที่งานออกแบบออฟฟิศ โรงแรม และบ้าน อย่างงานรีโนเวทสำนักงานใหญ่ให้กับ DP Group และ Fuzzy House บ้านแนวคิดเชิงทดลองผ่านบริบทของพื้นที่และพฤติกรรมคนในชุมชนที่เราเคยหยิบยกพูดถึงแล้วนั้น แต่ผลงานออกแบบคาเฟ่ที่เป็นส่วนน้อยของ SO นั้นก็สร้างความน่าสนใจอยู่มากทีเดียว ในขณะที่ถ้าเป็นกาแฟ คุณตี๋ ณรงค์ โอถาวร สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง SO เขาจะเลือกดื่มแต่เอสเพรสโซอย่างเดียวเท่านั้น แต่สำหรับการออกแบบร้านกาแฟที่เกี่ยวพันกับพฤติกรรมของคอกาแฟที่ต่างรสนิยมความชอบนั้น เขาจะมีวิธีคิดออกแบบอย่างไรให้สเปซนั้นสามารถนำพาประสบการณ์และความประทับใจที่หลากหลายให้เกิดขึ้นได้
ว่าด้วยไอเดีย “เจ้าของร้าน ก็คือเจ้าบ้าน”
SO อยู่เบื้องหลังงานออกแบบ Thunder Bird จังหวัดเชียงใหม่ คาเฟ่ที่ไม่ใช่แค่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่โรงแรม แต่ยังดึงบรรยากาศของโรงแรมมาสร้างเป็นบรรยากาศของคาเฟ่ด้วย ส่วนอีกแห่งคือ OOObkk คาเฟ่ย่านทาวน์อินทาวน์ ที่สร้างลำดับการนำพาลูกค้าให้เข้าถึงพื้นที่ตั้งแต่ด้านหน้าสุดจนถึงด้านในสุด ผ่านเทคนิคปรับเปลี่ยนบริบทรูปทรงของพื้นที่เดิมให้เกิดมุมมองใหม่ได้อย่างแยบยล ทั้งสองแห่งนี้ทำให้เราไอเดียที่แตกต่างในการวิเคราะห์ และคลี่คลายออกมาเป็นคาเฟ่สุดเท่ที่มีลูกเล่นเทคนิคเกี่ยวพันกับบริบทพื้นที่ได้แตกต่างกัน
“ความแตกต่างระหว่างงานออกแบบที่เป็น Private อย่างบ้้าน กับงาน Public อย่างร้านกาแฟ คือ สำหรับบ้าน เราต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยเป็นอันดับต้น แต่เมื่อเป็นสถานที่เชิงพาณิชย์ เราก็ต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้าที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ มากกว่าเจ้าของ แต่ในขณะเดียวกัน การที่ใครเป็นเจ้าของร้านร้านหนึ่ง ที่ต้องต้อนรับลูกค้า เขาคนนั้นก็เหมือนเป็นเจ้าบ้าน ทำให้ร้านนั้นต้องมีความเป็นบ้านของเขาด้วย”
เขายกตัวอย่างโปรเจทก์ออกแบบร้านกาแฟ OOObkk ที่ด้วยรูปทรงพื้นที่เป็นคางหมูที่หน้ากว้างแต่ค่อยๆ สอบเข้าข้างใน ทำให้เขาต้องใช้เทคนิคการออกแบบที่ช่วยลบมุมมองรูปทรงของพื้นที่เดิม “คนส่วนใหญ่อาจมองว่า สำหรับพื้นที่แคบ หากยิ่งเปิดให้โล่งเท่าไร จะยิ่งทำให้พื้นที่ดูกว้างขึ้น แต่ผมมองว่าไม่เสมอไป โดยเฉพาะสำหรับลักษณะของพื้นที่ทรงคางหมูนั้น หากเสริมด้วยองค์ประกอบบางอย่าง จะทำสเปซให้เกิดความเคลื่อนไหว (Dynamic) และในขณะเดียวกันก็สามารถลบภาพความเป็นคางหมูออกไปได้ โดยไม่รู้สึกอึดอันและถูกบีบด้วยความสอบของพื้นที่ และยังช่วยนำพาคนให้เดินเข้าสู่สเปซข้างในด้วย แต่ถ้าในช่วงเสนอไอเดียการ Approach เชิงสถาปัตย์ที่ทำให้พื้นที่รูปทรงคางหมูนั้นหายไปโดยการสร้างผนังใหม่ขึ้นมา แล้วเจ้าของร้านมองว่ามันไม่ตอบโจทย์คนที่จะเข้ามาดื่มกาแฟ ลูกค้าอาจจะไม่อยากนั่งตรงนี้หรือพื้นที่แบบนี้ ผมก็ไม่กล้าดีไซน์ขึ้นมาครับ แต่โชคดีที่คุณฟ้า (นิโรธา วีรธรรมพูลสวัสดิ์) เห็นตรงกัน”
“ดังนั้นไม่ว่าจะออกแบบบ้าน หรือร้านกาแฟ ทั้งสถาปนิก และลูกค้า ก็ต้องพูดคุยและทำความเข้าใจให้เกิดการค่อยๆ ม้วนเกลียวเข้าหากันหรือหาจุดร่วมกันในหลายๆ ปัจจัย ทั้งด้านแนวทางความคิดในการออกแบบของเรา สิ่งที่ลูกค้าต้องการ และสิ่งที่เขาเป็น บางครั้งก็คาดเดาไม่ได้ว่าตอนท้ายจะจบลงอย่างไรครับ”
การออกแบบ ที่ยังไม่เปิดเผยตัวตนทั้งหมดในทีเดียว
“พอดีช่วงที่ผ่านมา ระบบพื้นที่แบบ Single Space ที่มันเปิดโล่งหมด (Expose) มีร้านกาแฟหลายร้านนำมาใช้ คือเข้าไปจะเห็นบาริสต้ายืนตรงกลางร้านเป็นพระเอก ซึ่งมันก็สวยดี แต่ผมอยากหาทางเลือกอื่น และมุมมองในอีกแง่มุมหนึ่งว่าเราสามารถสร้างลำดับการเดินเข้าไปจากด้านหน้า ไปจนถึงในสุดของร้านเพื่อประสบการณ์อื่นๆ ได้” เป็นที่มีของการออกแบบคาเฟ่ OOObkk ที่การเข้าถึงตัวอาคารยังไม่เปิดเผยให้เห็นทั้งหมดตั้งแต่แรก จนกว่าเราจะเดินเข้าไปถึงข้างในร้านจนสุด ด้วยเทคนิคการออกแบบจัดลำดับการเดินเข้าที่นำพาลูกค้าไปจนถึงปลายสุดส่วนที่มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามา ให้เหมือนกับเป็นโอเอซิสข้างใน โดยที่นี่แยกกันระหว่าง Espresso Bar สำหรับเครื่องดื่มที่ชงได้เร็ว กับ Slow Bar สำหรับเครื่องดื่มที่ต้องใช้เวลาในการทำ เช่น กาแฟดริป ฟิลเตอร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองบาร์คือจุดเซ็นเตอร์หลักของร้าน ส่วนวัสดุหลักที่เขาใช้สำหรับร้านนี้ก็งานปูนฉาบอย่างเดียวเท่านั้น “หลายคนที่เคยเห็นงานของ SO มักจะนึกถึงว่าเราใช้แต่ผนังปูนเปลือย แต่ไม่ใช่เสมอไปหรอกครับ เผอิญเพราะขนาดพื้นที่ที่เล็กและสอบแคบเข้าอีกของที่นี่ ทำให้ Single Material เหมาะที่จะทำให้บรรยากาศดูไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งเหยิงครับ และเราเลือกงานฉาบสีนี้เพราะมันเข้ากับแสงธรรมชาติ และไม่เทาเกินไปจนไม่รู้สึกแข็งกระด้าง”
หน้าร้านยังคงคาแรคเตอร์ความเป็นซอกตึก ที่แฝงตัวกลมกลืนอยู่กับบริบทสภาพแวดล้อมเดิม และหน้าร้านจงใจทำกลาสบล็อกที่ออกแบบให้คล้ายกับบานประตูเหล็กชัตเตอร์แบบเดิมของคูหาที่อยู่ระหว่างซอกตึกนี้ “ผมแค่รู้สึกว่ามันอยู่ในย่านชุมชนที่ผมไม่อยากให้ร้านโดดเด่นโจ่งแจ้งจนเกินไป และผมชอบคาแรคเตอร์ความเป็นซอกตึกเดิมๆ ที่คนอาจจะเดินผ่านก็ได้ แต่เมื่อรู้ว่าข้างในมีอะไรแล้วนั้น ก็จะจดจำได้ไม่ลืมเลย”
สถาปัตยกรรม กับมุมถ่ายรูป
“เรื่องมุมถ่ายรูป ตอนนี้กลายเป็นสิ่งต้องมาคู่กันสำหรับงานออกแบบเชิงธุรกิจในยุคนี้ไปแล้ว ไม่เฉพาะแค่คาเฟ่ แต่แม้แต่โรงแรม ก็ยังคำนึงถึงข้อนี้ด้วย เพราะถ้าโจทย์ของเราคือต้องการให้คนมาสนใจ มาใช้เวลาและมีกิจกรรมด้วยแล้วนั้น หนึ่งในนั้นก็คือการถ่ายภาพ ที่ปฏิเสธไม่ได้ครับ ประเด็นของผมไม่ได้อยู่ที่ว่า มี หรือไม่มี แต่ถ้ามีแล้วจะออกแบบอย่างไร และให้คนถ่ายรูปอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทางเจ้าของ กับนักออกแบบ จะต้องหาแนวทางร่วมกันครับ”
“แต่ถ้าให้ผมที่เป็นนักออกแบบมาเป็นเจ้าของร้านกาแฟสักร้านเอง ผมคงจะอยากทำคาเฟ่ที่ขายเอสเพรสโซ่เพียงอย่างเดียว ไม่มีกาแฟอย่างอื่นเลย เพราะเป็นคนชอบดื่มกาแฟมาก แต่ผมชอบดื่มเอสเพรสโซอย่างเดียว ซึ่งอาจจะเป็นแค่บูท เคาน์เตอร์ หรือ Kiosk ง่ายๆ แล้วให้ลูกค้านั่งข้างนอกร้าน ในสวน หรือ take away ไป เผอิญปกติผมไม่ค่อยได้ไปนั่งคาเฟ่ แต่ผมชอบนั่งที่ไหนก็ได้ที่ผมรู้สึกว่าสบาย และขอให้มีกาแฟที่นั่น”
“ดังนั้นความสบายของพื้นที่ จึงเป็นสิ่งที่ผมคำนึงถึงเป็นอันดับสอง รองจากกาแฟ”
สองคาเฟ่ที่อธิบายตัวตนของ So Architect
Thunder Bird คาเฟ่ที่ตั้งเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในโฮสเทล Thunder Bird จังหวัดเชียงใหม่ ที่จากประตูทางขึ้นด้านหน้าชั้นหนึ่งอาจมมองเห็นว่ามีแค่ 1 คูหานั้น แต่เมื่อเดินขึ้นบันไดชั้นบน จะพบกับสเปซกว้างขวางขนาด 5 คูหาให้เชื่อมถึงกันหมด ที่มีทั้งที่พักและโซน Common Area ผลงานโดย So Architect z^hรีโนเวทตึกแถวเก่าให้กลายเป็น Hostel สุดเท่แห่งนี้ ส่วนที่เราให้ความสนใจคือชั้น 2 ที่ออกแบบฟังก์ชั่นเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วยร้านอาหาร บาร์ คาเฟ ร้านเบเกอรี่ และมุมนั่งเล่น ที่สามารถสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ ให้เกิดขึ้นที่นี่ได้ ส่วนชั้น 3-4 เป็นโซนห้องพัก ด้วยแนวคิดในการออกแบบของ So Architect ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงตัวอาคารในเชิงลักษณะทางกายภาพของสถาปัตยกรรมตามด้วยโปรแกรมมิ่ง จึงเป็นที่มาของการเปิดสเปซที่เชื่อมมุมมองต่อเนื่องกันทั้งแนวนอนและแนวตั้ง อย่างการสร้างพื้นที่คอร์ตยาร์ดที่เป็นโถงเปิดโล่งจากชั้น 2 จรด Skylight ที่เปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาสู่ภายในอาคาร ทำให้ผู้เข้าพักจึงสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวบริเวณ Common Space ข้างล่างได้จากโซนห้องพักชั้นบน รวมถึงการออกแบบการใช้งานในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดเชื่อมถึงกันหมดทั้งชั้น ทำให้ไม่มีเส้นกันอาณาเขตหรือจำกัดว่านี่คือพื้นที่สำหรับนั่งทานอาหาร นั่งอ่านหนังสือ นั่งเล่น ดื่มเครื่องดื่ม หรือจิบกาแฟอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทำให้คาเฟ่ที่นี่นั้นมีขอบเขตพื้นที่เปิดกว้างให้เลือกที่นั่งได้อย่างอิสระในชั้นนี้ “ผมมองว่าถ้าพื้นที่มีความสบาย เดี๋ยวคุณก็หาที่นั่งดื่มกาแฟกันได้เอง ที่นี่จึงเป็นการนำบรรยากาศของโฮสเทลทั้งหมดมาผสมผสานกลายเป็นบรรยากาศของคาเฟ่เข้าด้วยกันเลย”
OOObkk คาเฟ่ย่านทาวน์อินทาวน์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อคุณฟ้า นิโรธา วีรธรรมพูลสวัสดิ์หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน One Ounce for Onion จับมือกับ Espressoman โดยที่ SO รับหน้าที่รีโนเวทร้านให้ส่งเสริมความเป็น Non-boundary Experience ของคาเฟ่ที่ไม่มีข้อจำกัดในการดื่มกาแฟทั้งกาแฟเบสิคและกาแฟพิเศษ โดยด้านหน้าจะพบกับ Espresso Bar หรือบาร์ที่ทำเครื่องดื่มที่รอรับได้รวดเร็วทันใจจากเครื่องชงเอสเพรสโซ่ เหมาะสำหรับสั่งกลับบ้านหรือจะนั่งดื่มที่ร้านก็ได้ แต่เมื่อเดินอ้อมไปด้านหลังผนังอีกด้านจึงจะกับ Slow Bar สำหรับคนชอบกาแฟดริป ที่มีเวลาให้กับการดื่มด่ำกาแฟมากขึ้น โดยเทคนิคการสร้างแนวผนังนั้นช่วยลบมุมมองการรับรู้รูปทรงคางหมูของลักษณะพื้นที่เดิมให้หายไป ส่วนวัสดุเลือกใช้เพียงวัสดุเดียวคืองานปูนฉาบ เพื่อให้เกิดความเรียบธรรมดาที่สุด ในขณะทีดีไซน์หน้าร้านนี้ยังคงคาแรคเตอร์ความเป็นซอกตึก ที่แฝงตัวกลมกลืนอยู่กับบริบทสภาพแวดล้อมเดิม โดยออกแบบกลาสบล็อกที่คล้ายกับบานประตูเหล็กชัตเตอร์แบบเดิมของคูหาที่อยู่ระหว่างซอกตึกนี้