ศิลปินผู้ใช้กระทะสร้างงานศิลปะวิพากษ์สังคม Martha Rosler | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Semiotics of the Kitchen (1974/75),
ภาพจาก https://zkm.de/en/martha-rosler-semiotics-of-the-kitchen-1975
ศิลปินผู้ใช้กระทะสร้างงานศิลปะวิพากษ์สังคม
“Martha Rosler”

Writer: Panu Boonpipattanapong

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์ที่ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องอาหารเตาถ่าน/เตาแก๊ส ผนวกกับภาพยนตร์ไทยยอดฮิตทางช่อง Netflix อย่าง Hunger ที่ปลุกกระแสอาหารเอเชียอย่าง ก๋วยเตี๋ยวผัด ให้โดดเด่นเป็นที่สนใจไปทั่วโลก ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินที่หยิบเอาอุปกรณ์การทำครัวมาทำงานศิลปะ เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกได้อย่างน่าสนใจ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานสั่นสะเทือนวงการศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

House Beautiful: Bringing the War Home, New Series (2004-2008),
ภาพจาก https://www.martharosler.net/

มาร์ธา รอสเลอร์ (Martha Rosler)

มาร์ธา รอสเลอร์ เป็นศิลปินอเมริกัน ผู้ทำงานศิลปะในสื่อวิดีโอ, ภาพถ่าย, ศิลปะจัดวาง, ศิลปะแสดงสด และการใช้ข้อความในงานศิลปะ ผลงานของเธอมุ่งเน้นไปที่การสำรวจพื้นที่สาธารณะและประเด็นเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวัน  ตลอดจนการสำรวจสื่อต่าง ๆ ไปจนถึงพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม ระบบการสื่อสารและคมนาคม สภาพแวดล้อมของเมือง บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย สภาวะการเร่ร่อนของผู้คน โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง

House Beautiful: Bringing the War Home (1967-1972),
ภาพจาก https://www.martharosler.net/
House Beautiful: Bringing the War Home (1967-1972),
ภาพจาก https://www.martharosler.net/

ผลงานของรอสเลอร์มักจะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เช่น สงคราม ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ความไม่เป็นธรรมในสังคม และถ่ายทอดออกมาในแง่มุมที่ท้าทายผู้ชม ด้วยการดึงเอาประเด็นเหล่านั้นให้เข้ามาใกล้ตัวพวกเขามากขึ้น รอสเลอร์ใช้งานศิลปะแบบป๊อปอาร์ต เป็นสื่อในการนำเสนอประเด็นที่เธอต้องการจะสำรวจ ด้วยการตัดต่อหรือคอลลาจภาพจากสงครามเข้ากับภาพแคตตาล็อกโฆษณาสินค้าในบ้านอันเก๋ไก๋ อบอุ่นชวนฝัน เพื่อย้ำเตือนให้ผู้ชมหันไปสนใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ถึงแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมใกล้ ๆ ตัว และกระตุ้นให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสื่อที่ควบคุมการรับรู้ของผู้คนต่อเหตุการณ์ในโลกใบนี้

House Beautiful: Bringing the War Home (1967-1972),
ภาพจาก https://www.martharosler.net/

รอสเลอร์ใช้งานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อโฆษณาอย่างป๊อปอาร์ต เพื่อเปิดโปงให้เห็นถึงความตลบตะแลงของสื่อต่าง ๆ ที่ล่อลวงผู้คนให้หมกมุ่นไปกับวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงการปกปิดข้อเท็จจริงอันเลวร้ายในสังคมด้วยความบันเทิงชวนฝันของสื่อต่าง ๆ อย่างรายการโทรทัศน์ เรียลลิติี้ และโฆษณาชวนเชื่อ/ชวนซื้อต่าง ๆ เธอแสดงให้เห็นถึงด้านมืดของอุตสาหกรรมบันเทิงและระบอบทุนนิยมอย่างแนบเนียน หากแต่ก็จะแจ้ง ตรงไปตรงมา

House Beautiful: Bringing the War Home (1967-1972),
ภาพจาก https://www.martharosler.net/

เธอยังเป็นศิลปินที่มีบทบาทอย่างมากต่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบสตรีนิยม (Feminist art) ในช่วงปี 1970 ด้วยการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับการถูกกดขี่ข่มเหงและความอยุติธรรมที่มีต่อเพศหญิง และตีแผ่ความรู้สึกของผู้หญิงที่ต้องถูกจำกัดบทบาทภายใต้กรอบของสังคมอย่าง การแต่งงาน ความเป็นแม่คนและแม่บ้าน หรือแม้แต่การถูกจำกัดบทบาทและพื้นที่ภายในบ้านให้อยู่แต่ในห้องครัว เธอยังนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ (ในยุคนั้น) อย่าง วิดีโอ มาใช้ทำงานศิลปะ เพื่อขับเน้นความแตกต่างจากศิลปินเพศชายที่มักจะภาคภูมิใจในการใช้สื่อแบบประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม

Semiotics of the Kitchen (1974/75),
ภาพจาก https://zkm.de/en/martha-rosler-semiotics-of-the-kitchen-1975

ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของรอสเลอร์คือ Semiotics of the Kitchen (1974/75) (สัญศาสตร์แห่งห้องครัว) ที่เป็นการบุกเบิกศิลปะวิดีโออาร์ต สื่อทางศิลปะชนิดใหม่ในยุคสมัยนั้น ผลงานวิดีโอขาวดำความยาว 6.09 นาที ชิ้นนี้ แสดงภาพรอสเลอร์เดินเข้ามาในครัว สวมผ้ากันเปื้อน และสวมบทบาทล้อเลียนรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ชื่อดังของยุค 1960 และ 1970 อย่าง The French Chef ของ จูเลีย ไชลด์ (Julia Child) แต่แทนที่จะสาธิตการทำอาหารแบบรายการทำอาหารตามปกติ เธอกลับทำการแสดงด้วยการหยิบอุปกรณ์ครัวขึ้นมาและส่งเสียงขานอุปกรณ์เหล่านั้นโดยเรียงตามตัวอักษร อย่างเช่น “a” apron (ผ้ากันเปื้อน), “b” bowl (ชาม), “c” chopper (เครื่องหั่น) และแสดงท่าทางการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นราวกับกำลังสาธิตการใช้งานเบื้องต้น แต่ในขณะเดียวกันเธอก็แสดงท่าทางใช้งานอุปกรณ์ครัวด้วยท่วงท่าขึงขัง ดุดัน รุนแรง ภายใต้น้ำเสียงกระด้างเย็นชา ใบหน้าไร้อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกระแทกกระทั้นเครื่องหั่นลงในชาม, ทิ่มที่เจาะน้ำแข็งลงโต๊ะ, เขย่าขวดและกระทะอย่างแรง, จ้วงแทง/ปาดเฉือนส้อมกับมีดในอากาศ ราวกับจะแสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวและความไม่พอใจออกมา ซึ่งอากัปกิริยาแบบนี้ช่างดูขัดแย้งกับค่านิยมและภาพลักษณ์ของแม่บ้านอเมริกันในสื่อหรือโฆษณาต่าง ๆ หรือแม้แต่รายการทำอาหาร ที่มักจะยิ้มแย้มมีความสุขกับการทำงานบ้านงานครัวเสมอ

ผลงานชิ้นนี้มีความสำคัญในฐานะผลงานชิ้นแรก ๆ ของศิลปะสตรีนิยม และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะประเภทนี้ ด้วยการชี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า ผู้หญิงก็อาจจะไม่ได้พอใจกับบทบาทที่ได้รับมอบหมายในฐานะแม่บ้านเสมอไป และแสดงออกถึงความบีบคั้นกดดันที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกนอกของแม่บ้านแสนสุข เมื่อนั้น อุปกรณ์ครัวเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือที่กำลังกดขี่ผู้หญิงอยู่ รอสเลอร์ใช้ร่างกายของเธอและอุปกรณ์ครัวเหล่านี้เป็นเสมือนการส่งสัญญาณท้าทายค่านิยม และความคาดหวังของสังคมที่มองเพศหญิงเป็นเพียงแม่บ้าน หรือแรงงานผู้ผลิตอาหาร ผ่านผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันอันมืดหม่นและตลกร้ายชิ้นนี้

รอสเลอร์กล่าวว่าเธอต้องการสวมบทบาทผู้ต่อต้านการเป็นตัวแทนของแม่บ้านในอุดมคติของสังคมอเมริกันในแบบจูเลีย ไชลด์ (Julia Child) และต้องการแทนที่ความหมายของอุปกรณ์ในครัวเรือนที่กดทับผู้หญิง ด้วยถ้อยคำและภาษาร่างกายที่แสดงถึงความโกรธและความไม่พอใจออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสได้พูดด้วยสุ้มเสียงของตัวเอง

ผลงานวิดีโอชิ้นสำคัญอีกชิ้นของรอสเลอร์ คือ The East is Red, The West is Bending (1977) (ตะวันออกแดง, ตะวันตกดัด) ผลงานวิดีโอศิลป์ที่ล้อเลียนรายการทำอาหารทางโทรทัศน์เหมือนกัน แต่ในครั้งนี้รอสเลอร์แสดงการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ด้วยการแต่งตัวด้วยชุดจีนและอ่านคู่มือแนะนำการใช้กระทะไฟฟ้ายี่ห้อ West Bend อย่างไร้อารมณ์ เธอแสดงความเห็นในเชิงเสียดสีเกี่ยวกับความลึกลับจากวัฒนธรรมตะวันออกที่ถูก “พัฒนา” และ “ดัดแปลง” โดยเทคโนโลยีตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากการใช้ความร้อนจากเตาถ่านเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือการเคลือบผิวกระทะด้วยสารกันติด หรือ Non-Stick เพื่อให้อาหารไม่ติดกระทะและล้างทำความสะอาดได้ง่าย ไปจนถึงการเคลือบกระทะด้วยสีแดง ที่เชื่อมโยงถึงประเทศจีน กับภาพจำอันน่าหวาดกลัวของลัทธิเหมาและพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ในวิดีโอเธอยังชูหนังสือปกแดงของ เหมา เจ๋อตง แล้วถามผู้ชมว่า “จำผู้ชายคนนี้ได้ไหม?”)

ผลงานชิ้นนี้ของรอสเลอร์ล้อเลียนเสียดสีการที่ชาวตะวันตกไล่ล่าสร้างอาณานิคมและการครอบงำวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วยความต้องการที่จะลิ้มลองความแปลกแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ แต่ก็ไม่วายที่จะสอดแทรกความสะดวกสบายและความเคยชินในแบบของตัวเองเข้าไปอยู่ดี

ผลงานของรอสเลอร์ชิ้นนี้ยังส่งอิทธิพลทางความคิดให้กับศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากลอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ในผลงานสร้างชื่อของเขาอย่าง “ผัดไทย” หรือ Untitled (Free) (1992/1995/2007/2011) โดยฤกษ์ฤทธิ์เลือกใช้กะทะไฟฟ้ายี่ห้อ West Bend ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่รอสเลอร์ใช้ในงาน The East is Red, The West is Bending มาทำผัดไทยให้ผู้ชมกินกันในหอศิลป์ เพื่อเป็นการแสดงคารวะและอ้างอิงไปถึงงานของรอสเลอร์นั่นเอง (ฤกษ์ฤทธิ์ยังกล่าวในภายหลังว่ากระทะไฟฟ้าของตะวันตกนั้นให้ความร้อนน้อยกว่ากระทะเหล็กที่ใช้เตาถ่าน (หรือเตาแก๊ส) ของตะวันออก ทำให้ต้องใช้เวลาผัดนานกว่า และทำให้อาหารรสชาติอร่อยน้อยกว่าอีกด้วย)

ผัดไทย Untitled (Free) (1992/1995/2007/2011),
ภาพจาก https://ferri500.wordpress.com/2010/09/20/rirkrit-tiravanija/?fbclid=IwAR3VpqhY9QIzI5Axrffrk4LJnDp3d8qXyqsDYCcvOXEek7Pie3CrNilUjqM
มาร์ธา รอสเลอร์ เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการศิลปะและเทศกาลศิลปะมากมายหลายแห่ง รวมถึงมีผลงานสะสมและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก เธอยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนและนักวิชาการทางศิลปะผู้เลื่องชื่อ ที่เขียนทฤษฎีเกี่ยวกับบทบาทของภาพถ่ายในโลกศิลปะ และงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ผลงานของเธอได้รับการตีพิมพ์และแปลในหลายภาษาทั่วโลก รวมถึงได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ มากมายหลายเล่ม ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตและทำงานในเมืองบรูคลิน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา.
ข้อมูล
http://www.martharosler.net/
https://www.theartstory.org/artist/rosler-martha/
https://en.wikipedia.org/wiki/Martha_Rosler
https://zkm.de/en/martha-rosler-semiotics-of-the-kitchen-1975
https://www.vdb.org/titles/east-red-west-bending
    TAG
  • art
  • exhibition
  • photo
  • Martha Rosler

ศิลปินผู้ใช้กระทะสร้างงานศิลปะวิพากษ์สังคม Martha Rosler

DESIGN/ARTIST
2 years ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • PEOPLE/ARTIST

    “Gangster All Star” จักรวาลใบใหม่ในรูปแบบ Comic Series ของ เดอะดวง วีระชัย ดวงพลา

    หากจักรวาลคือสิ่งที่กว้างใหญ่ไพศาลของสรรพสิ่งทั้งมวล และยังลึกซึ้งเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจกันได้อย่างแท้จริง จักรวาลแบบนั้นก็คงจะแตกต่างจากจักรวาลใบใหม่อันแสนสนุกและเท่จัด ๆ ที่มีชื่อว่า “Gangster All Star”

    EVERYTHING TEAMa year ago
  • DESIGN/ARTIST

    ผลงานศิลปะสุดฉาวของ Paul McCarthy ที่กลายเป็นเครื่องราง ปลุกเซ็กส์ประจําเมืองรอตเตอร์ดัม

    ในจัตุรัส Eendrachtsplein ของเมืองรอตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ มีผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่กลายเป็น เหมือนแลนด์มาร์คของเมือง ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่าจนใครผ่านไปผ่านมาเป็นมองต้องเห็น และใช้เป็นที่หมายตาหรือปักหมุดการเดินทาง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นของศิลปินที่ วิตถารที่สุดในโลกศิลปะ ผู้มีชื่อว่า พอลแมคคาร์ธี (Paul McCarthy) (อย่าจําสับสนกับ พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) แห่ง The Beatles ล่ะ!) ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน ผู้สร้างผล งานศิลปะที่เต็มไปความตลกโปกฮา บ้าบอ ไปจนถึงวิปริต วิตถาร ลามกจกเปรต ไร้ยางอาย และ น่าหวาดผวาราวกับฝันร้าย เพื่อโจมตีค่านิยมและคุณค่าทางจริยธรรมในสังคมอเมริกัน

    Panu Boonpipattanaponga year ago
  • DESIGN/ARTIST

    ศิลปินผู้วาดก้อนหินให้กลายเป็นมนุษย์ Antoni Pitxot

    นับแต่โบราณนานมา งานจิตรกรรมถูกใช้ในการบันทึกสิ่งที่ตามนุษย์มองเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกใช้แทนเครื่องมือบันทึกภาพของบุคคลก่อนที่กล้องถ่ายภาพจะถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แต่ในบางครั้งบางครา ศิลปินบางคนก็เล่นแร่แปรธาตุด้วยการใช้สิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์มาประกอบสร้างเป็นใบหน้าหรือร่างกายของมนุษย์ได้อย่างน่าสนเท่ห์

    Panu Boonpipattanapong2 years ago
  • DESIGN/EVENT

    TOSTEM ส่งต่อความสุข ผ่านแคมเปญ “The Sensory Symphony” เติมเต็มความประทับใจผ่านบทเพลงและงานศิลปะ

    TOSTEM ฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 102 พร้อมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ร่วมส่งต่อความทรงจำสวยงามให้กับลูกค้า ภายใต้เคมเปญ “The Sensory Symphony” ถ่ายทอดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมสร้างความสุขยั่งยืนให้กับทุกคน เริ่มต้นจากที่ TOSTEM Showroom สาขา Crystal Design Center ที่เนรมิตบรรยากาศใหม่ให้เสมือนบ้านหลังอบอุ่นที่สดชื่นสวยงาม พร้อมเปิดประตูต้อนรับทุกคนให้มีช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกัน

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAM2 months ago
  • DESIGN/AWARD

    ที่สุดของความภาคภูมิใจ! DUCTSTORE the design guru คว้ารางวัล Grand Prix – Best of The Best – Winner รวม 5 รางวัล! จากเวทีระดับโลก Red Dot Award : Brands & Communication Design 2024

    จาก 762 ผลงานที่ได้รับรางวัล "Red Dot Award: Brands and Communication Design 2024" มีทั้งหมด 59 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น "Best of the Best" จากนั้นจะมีเพียง 6 ผลงานเท่านั้นที่สามารถคว้ารางวัลทรงเกียรติสูงสุด “𝗥𝗲𝗱 𝗗𝗼𝘁: 𝗚𝗿𝗮𝗻𝗱 𝗣𝗿𝗶𝘅” ที่น่ายกย่องด้วยความเหนือชั้นทั้งความคิดสร้างสรรค์และคุณภาพการออกแบบที่ยอดเยี่ยม โดยปีนี้สร้างความฮือฮา เพราะเป็นปีแรกที่มีผลงานจากประเทศไทย 1 รางวัลที่สามารถผงาดคว้ารางวัลสูงสุด และได้บันทึกเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของ Grand Prix ระดับโลกเรียบร้อยแล้ว นั่นคือผลงาน JORAKAY PAVILION 2024 ออกแบบโดย DUCTSTORE the design guru

    EVERYTHING TEAM2 months ago
  • DESIGN/AWARD

    6 ผลงานระดับโลกที่คว้ารางวัลทรงเกียรติสูงสุด “Red Dot: Grand Prix” จาก Red Dot Award: Brands and Communication Design 2024

    จาก 762 ผลงานได้รับรางวัล Red Dot Award: Brands and Communication Design 2024 มี 59 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น Best of the Best แต่เพียง 6 ผลงานเท่านั้นที่สามารถคว้ารางวัลทรงเกียรติสูงสุด “Red Dot: Grand Prix” ในปีนี้ ทำให้ใคร ๆ ต่างจับจ้องไปยังทั้ง 6 ผลงานที่ได้รับยกย่องและการันตีความเหนือชั้นจาก Red Dot เวทีด้านการออกแบบระดับโลกที่มีชื่อเสียงหลายทศวรรษ

    EVERYTHING TEAM3 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )