สนทนากับนักรบหญิงแห่งศิลปะแสดงสด มารินา อบราโมวิช | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

สนทนากับนักรบหญิงแห่งศิลปะแสดงสด มารินา อบราโมวิช
Portrait of Marina Abramović, Photo by Marco Anelli, 2022, Courtesy of the Marina Abramović Archives.

   ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีศิลปินผู้หนึ่งได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามาร่วมแสดงผลงานในเทศกาลนี้อีกครั้ง ศิลปินผู้นั้นคือ มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวเซอร์เบียน ผู้มีฉายา “แม่ใหญ่แห่งศิลปะแสดงสด” (The Grandmother of Performance Art) (แต่ตอนนี้เธออยากให้เราเรียกเธอว่า “นักรบหญิงแห่งศิลปะแสดงสด” มากกว่าน่ะนะ) ศิลปินผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักมากที่สุดของโลกคนหนึ่ง ผลงานของเธอมักเกี่ยวข้องกับการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ มารินามองว่าการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ เธอมักทำลายระยะห่างระหว่างศิลปินและผู้ชมด้วยการใช้ร่างกายของตัวเองเป็นสื่อทางศิลปะ เป้าหมายในการทำงานศิลปะแสดงสดของเธอคือการเอาชนะความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ เธอใช้ศิลปะข้ามทุกขอบเขตจำกัด หลายครั้งที่เธอต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนักหรือแม้แต่เสี่ยงชีวิตในการทำการแสดงสด

Marina Abramović. Rhythm 0, 1974.
ภาพจาก https://tamuseum.org.il/en/exhibition/marina-abramovic-rhythm-0-1974/

   ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเธอคือ Rhythm 0 (1974) ศิลปะแสดงสด ที่เธอเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 72 ชิ้น อย่าง ดอกกุหลาบ, กรรไกร, ปากกา, ปืนพกบรรจุกระสุน และเชื้อเชิญผู้ชมให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรกับเธอก็ได้ตามใจเป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยที่เธอไม่ต่อต้านหรือป้องกันตัวแม้แต่น้อย ตอนแรกผู้ชมเริ่มต้นด้วยอะไรเบาๆ อย่างการจูบ หรือเอาขนนกแหย่เธอ ต่อมาก็เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บางคนเอาปากกาเขียนบนตัวเธอ บางคนใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าเธอ บางคนกรีดร่างเธอด้วยมีดแล้วดูดเลียเลือดของเธอ บางคนลวนลามเธอ หนักที่สุดคือบางคนเอาปืนจ่อหัวเธอ ผลงานชุดนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างง่ายดายแล้ว เธอยังต้องการให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของเธอ มากกว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อยู่เฉยๆ เท่านั้น

Marina Abramović. Balkan Baroque, 1997.
ภาพจาก https://arthive.com/artists/92199~Marina_Abramovich/works/635192~Balkan_Baroque

   อีกหนึ่งผลงานที่เลื่องชื่อของเธอคือ Balkan Baroque (1997) ที่เธอใช้แปรงขัดถูทำความสะอาดกระดูกวัวโชกเลือดจำนวน 2,500 ท่อน ในเวลาหกวัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเลวร้ายของสงครามที่เกิดขึ้นทุกๆ แห่งหนบนโลกใบนี้ ผลงานชิ้นนี้ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 47 ในปี 1997 และได้รับรางวัลสูงสุดของงานอย่างสิงโตทองคำ

Marina Abramović. The Artist is Present, 2010.
ภาพจาก https://www.dazeddigital.com

   หรือผลงาน The Artist is Present (2010) ที่เธอนั่งจ้องตากับผู้ชมเงียบๆ โดยไม่ทำอะไรเลย 8 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดระยะเวลาเกือบสามเดือน โดยมีผู้ชมเข้ามานั่งจ้องตากับเธอ 1,545 คน

   เธอยังก่อตั้งสถาบัน มารินา อบราโมวิช (Marina Ambramović Institute (MAI)) ที่สร้างศิลปินรุ่นใหม่หลากหลายแขนงให้เติบโตทางความคิดอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะเธอเชื่อว่า ศิลปะทุกแขนงสามารถหลอมรวมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ
   ล่าสุด เธอยังจัดการบรรยายในหัวข้อ “History of Long Durational Work and MAI” ให้มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยได้ชมกันอย่างเต็มอิ่มจุใจในวันที่ 25 มกราคม 2022 ที่ผ่านมาอีกด้วย
   ในครานี้ เรามีโอกาสได้นั่งสนทนากับเธอเกี่ยวกับตัวตน ความคิด และวิถีชีวิตของนักรบหญิงแห่งศิลปะแสดงสดผู้นี้ ขอเชิญล้อมวงเข้ามาร่วมรับฟังไปพร้อมๆ กัน ณ บัดนาว

แรกเลย ยินดีต้อนรับการกลับมาเยือนกรุงเทพฯ และร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ คุณรู้สึกอย่างไรบ้างกับการได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง

   แน่นอนฉันยินดีกลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพราะฉันมาแสดงในเบียนนาเล่ และศิลปินรุ่นเยาว์ที่อยู่ในสถาบัน MAI ของฉันก็มาแสดงงานที่นี่ จริงๆ แล้วฉันมากรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 1983 แล้ว ฉันเคยท่องเที่ยวไปทั่งกรุงเทพฯ ไปยังเกาะเล็กๆ และเที่ยวไปทั่วประเทศนี้ ที่นี่เป็นสถานที่ค่อนข้างโดดเด่นเปี่ยมเอกลักษณ์ เพราะกรุงเทพฯ ไม่เคยมีสงครามหนักๆ ในอดีตอาจจะมีบ้าง ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น แต่ก็ไม่เกิดความเสียหายหนักเท่าที่เกิดกับเกาหลีหรือญี่ปุ่่น ฉันคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนที่นี่ช่างอ่อนโยน ไม่ค่อยมีความก้าวร้าว พวกเขามักจะมีรอยย้ิมบนใบหน้า ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นๆ สิ่งนี้ทำให้ฉันมักจะมาที่นี่

  สำหรับเบียนนาเล่ครั้งนี้ที่จัดภายใต้ธีม CHAOS : CALM (โกลาหล : สงบสุข) นั้นเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก เพราะคำว่า โกลาหล : สงบสุข เป็นเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน และกรุงเทพฯ ก็เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบของสองคำนี้ เมื่อคุณอยู่ในกรุงเทพฯ คุณจะอยู่ใจกลางของมลภาวะทั้งมวล ทั้งมลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอากาศ ที่คุณสามารถมองเห็นและได้ยิน เมื่อคุณอยู่กลางถนน คุณแทบจะหายใจไม่ได้เลย เสียงก็ดังหนวกหู นี่คือด้านหนึ่งของเหรียญ แต่เมื่อคุณไปยังอีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ อยู่ในวัดวาอารามและโบสถ์ต่างๆ คุณจะสามารถหลีกหนีจากสิ่งเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง คุณจะได้จดจ่ออยู่กับความเงียบสงัด ความสันโดษ และการทำสมาธิ ช่างเป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณ ภาวะตรงกันข้ามนี้ช่างน่าหลงใหล เพราะคุณมีสองด้านที่แตกต่างกันอย่างทรงพลังจนน่าเหลือเชื่อ นี่เป็นสิ่งที่ฉันนำเสนอในเบียนนาเล่ครั้งนี้ แต่ไม่ใช่แค่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์อันยุ่งเหยิงของทั้งโลกตอนนี้ ที่อยู่ในสภาวะของสงครามทั่วโลก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฉันเป็นคนรุ่นหลังสงคราม ฉันจึงไม่เคยมีประสบการณ์กับสงครามโดยตรง ฉันได้รับรู้ว่าผู้คน 2 ล้านคนในลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโกเป็นคนไร้บ้าน ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีอาวุธมากกว่าคนทั้งโลก แต่พวกเขาก็ยังอดอยากหิวโหยกันอยู่ดี ฉันคิดว่ามนุษย์เราทั้งหมดไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้คนที่พยายามเชื่อมโยงกับความเป็นจิตวิญญาณเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันของเรา ฉันอยากให้พวกคุณได้เห็นภาพอันน่าทึ่งจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ขององค์การนาซา ที่ถ่ายภาพห้วงอวกาศ ที่ไม่ได้มีแค่ภาพดวงดาว หากแต่มีภาพของกาแล็กซี่ที่อยู่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา ในขณะที่เรากำลังวุ่นวายกับเรื่องราวไร้สาระในโลกของเรา เรากลับหลงลืมภาพใหญ่ของจักรวาล ที่โลกของเราเป็นแค่จุดสีน้ำเงินจางเล็กๆ ท่ามกลางอวกาศอันกว้างใหญ่ ซึ่งเราเองก็ไม่อาจตั้งสติกันได้ และเอาแต่ทำลายซึ่งกันและกัน นี่คือความวุ่นวาย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีมนุษย์ที่พยายามเสาะแสวงหาเส้นทางแห่งจิตวิญญาณและความเชื่อมโยงกัน คำว่า โกลาหล : สงบสุข จึงเป็นชื่อที่ดีมากสำหรับเบียนนาเล่ครั้งนี้ และสถานการณ์รอบๆ ตัวเราในยามนี้

The Scream, 2013-2015
© Marina Abramović. Courtesy of the Marina Abramović Archives
AAA-AAA, 1978.
© Marina Abramović
Sea Punishing, 2006
© Marina Abramović, Courtesy of Marina Abramović
The Kitchen V, Carrying the Milk, 2009
© Marina Abramović. Courtesy of the Marina Abramović Archives
The Current, 2017
© Marina Abramović, Courtesy of the Marina Abramović Archive

คุณมีเคล็ดลับในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานศิลปะแสดงสดอันยากลำบากและยาวนานของคุณได้อย่างไร

   ในการทำงานศิลปะแสดงสด คุณต้องเรียนรู้อย่างมากเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง เกี่ยวกับอำนาจจิต เกี่ยวกับความมุ่งมั่นจดจ่อ เกี่ยวกับวินัย การกำหนดจิตใจ และความสันโดษ เวลาทำศิลปะแสดงสด ฉันต้องเตรียมตัวแทบจะเหมือนนักบินอวกาศเลย ฉันต้องบังคับให้ร่างกายของฉันไม่ปล่อยน้ำย่อยออกมาเวลากลางวัน เพราะตอนกลางวันฉันไม่กินอาหารตลอดวันไปจนถึงกลางคืน ตอนกลางวันฉันไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่นอนหลับ ไม่เข้าห้องน้ำ ฉันจะทำทุกอย่างในเวลากลางคืนแทน

8 Lessons on Emptiness (Dangerous Games), 2018.
© Marina Abramović. Courtesy of the Marina Abramović Archives
City of Angels, 1983.
© Marina Abramović and Ulay. Courtesy of the Marina Abramović Archives

อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานศิลปะแสดงสดสำหรับคุณ

   สำหรับศิลปินแสดงสด ปัจจุบันขณะ นั้นสำคัญที่สุด เพราะเรามีชีวิตเฉพาะในเวลาปัจจุบันเท่านั้น อดีตและอนาคตนั้นไม่สำคัญเท่ากับนาทีนี้ นาทีนี้จึงสำคัญและจริงที่สุด ในขณะเดียวกัน ผลงานของฉันคือผู้ชม คือสาธารณชน ฉันไม่อาจทำงานได้โดยปราศจากผู้ชม ศิลปินแสดงสดและผู้ชมต่างทำงานร่วมกัน ถ้าไม่มีผู้ชม งานของฉันก็ไม่มีความหมายอะไรเลย

Marina Abramović, Dragon Heads,
© Marina Abramović. Courtesy of the Marina Abramović Archives
Boat Emptying, Stream Entering 2, 2001.
© Marina Abramović. Courtesy of the Marina Abramović Archives

ผลงานชิ้นเด่นของคุณอย่าง Rhythm 0 เป็นผลงานที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก จนคุณถึงกับเกือบเสียชีวิตได้ ในขณะที่ผลงาน The Artist is Present นั่นเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

   ระหว่างงาน Rhythm 0 กับ The Artist is Present เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบที่ดี ระหว่างงานสองชิ้นนี้ ซึ่งเป็นงานที่สำคัญสำหรับฉันมากๆ งานชิ้นแรกฉันทำตอนอายุ 28 ปี ตอนนั้นฉันทำด้วยความโกรธมาก เพราะทุกคนหัวเราะเยาะฉันและบอกว่ามันไม่ใช่ศิลปะ และฉันน่าจะถูกส่งไปโรงพยาบาลบ้า โอเค ฉันยืนอยู่ตรงนั้น มีวัตถุอยู่บนโต๊ะ 72 ชิ้น ที่ผู้ชมจะใช้ทำอะไรกับฉันก็ได้ ถ้าพวกเขาอยากฆ่าฉัน ก็ฆ่าได้เลย (โชคดีที่พวกเขาไม่ทำ) ฉันทำงานชิ้นนั้นด้วยความโกรธมากๆ ในช่วงอายุน้อยมาก และฉันมารู้ทีหลังว่า วัตถุที่ฉันวางอยู่บนโต๊ะเหล่านั้นกำลังดึงจิตวิญญาณมนุษย์ให้ต่ำลง ฉันต้องใช้เวลา 35 ปี ถึงจะเข้าใจสิ่งนี้ และเลือกที่จะทำผลงานที่สร้างสถานการณ์ที่ยกระดับจิตใจของมนุษย์ด้วยเก้าอี้สองตัวแทน

Marina Abramović. Rhythm 0, 1974
ภาพจาก https://tamuseum.org.il/en/exhibition/marina-abramovic-rhythm-0-1974/
Marina Abramović. The Artist is Present, 2009
ภาพจาก https://www.moma.org/audio/playlist/243/3133

คุณคิดว่า ศิลปะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกนี้อย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่

   ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายคนมักถามฉันว่า “ศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ไหม?” ไร้สาระ ศิลปะเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้หรอก และไม่มีวันที่จะเปลี่ยนได้ ศิลปะสามารถสร้างความตระหนักรู้ สามารถปลุกสติสัมปชัญญะ หรือสร้างอากาศบริสุทธิ์ได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็เป็นเรื่องจริง

Marina Abramović. Balkan Baroque, 1997.
ภาพจาก https://www.moma.org/audio/playlist/243/3126

แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานอันเลื่องชื่อของคุณอย่าง Balkan Baroque (1997) เองก็เป็นผลงานที่ทำให้คนตระหนักถึงความเลวร้ายของสงครามมิใช่หรือ

   ในผลงาน Balkan Baroque (1997) ฉันไม่ได้พยายามเปลี่ยนแปลงโลก แต่ฉันพยายามยามที่จะแสดงออกถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ เพราะมันง่ายมากที่จะดึงเอาจิตวิญญาณของมนุษย์ออกมา ยกตัวอย่างเช่นในช่วงสงครามโลก ทุกคนมักจะวาดภาพที่สะท้อนความเป็นจริงออกมา ความโหดร้ายของสงคราม บาดแผล ผู้คนที่ล้มตาย แต่ อองรี มาตีส จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่วิเศษมาก คุณรู้ไหมว่าเขาวาดภาพอะไรตลอดช่วงเวลาสี่ปีของสงคราม เขาวาดภาพดอกไม้ คนถามว่าทำไมเขาวาดภาพดอกไม้ เพราะมันง่ายที่จะแสดงออกถึงความเป็นจริง แต่เราต้องแสดงออกถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ไหนสักที่ นั่นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการหาหนทางเปลี่ยนแปลงตัวเอง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากตัวเราเท่านั้น หาใช่สิ่งอื่นใดไม่ มันง่ายมากที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ไอ้โน่นไม่ดี ไอ้นี่ก็ผิด แต่คุณไม่เคยหันกลับมามองตัวเองที่ไม่ทำอะไรเลย เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หน้าที่ของศิลปินคือการทำในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถจะทำได้ แต่นี่ไม่ใช่หน้าที่ของคนคนเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งโลก

   Balkan Baroque เกิดขึ้นจากความอับอายของฉันที่มีต่อสงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย เมื่อสงครามยูโกสลาเวียเริ่มต้นขึ้น ฉันจำได้ว่าศิลปินทุกคนต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้กันทันที แต่ฉันไม่อาจทำได้ เพราะฉันมาจากที่นั่น มันใกล้ตัวฉันเกินไป ฉันต้องการใช้เวลาครุ่นคิดและไตร่ตรองเกี่ยวกับมัน ต่อมา ฉันได้กลับไปที่กรุงเบลเกรด และได้พบกับผู้ชายคนหนึ่งที่ทำอาชีพจับหนูมาตลอด 36 ปี เขาเล่าให้ฉันฟังถึงเรื่องเกี่ยวกับการสร้างหนูนักล่า (Wolf rat) ซึ่งโดยปกติ หนูจะไม่ฆ่าหนูด้วยกันเอง แต่ถ้าคุณจับหนูหลายสิบตัวขังไว้ในกรงเดียวกันโดยไม่ให้อะไรกินนอกจากน้ำเป็นเวลาหลายอาทิตย์ จนหนูที่หิวโหยกัดกินกันเอง ท้ายที่สุด หนูที่เหลือรอดอยู่ตัวสุดท้ายจะกลายเป็นหนูนักล่าที่ไล่ล่าฆ่าหนูด้วยกันเอง ฉันใช้เรื่องนี้เป็นอุปมาอุปไมยถึงสงคราม นั่นเป็นวิธีที่คุณจะอธิบายให้ผู้คนฟังถึงสถานการณ์ที่ทำให้คนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันมา 20 ปี สามารถฆ่ากันเองภายในวันเดียวได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

Marina Abramović. Balkan Baroque, 1997.
ภาพจาก https://arthive.com/artists/92199~Marina_Abramovich/works/635192~Balkan_Baroque

  ฉันใช้เวลาทำงานชิ้นนี้หกวัน วันละแปดชั่วโมงที่เวนิส ใช้แปรงขัดถูทำความสะอาดกระดูกวัวโชกเลือดจำนวน 2,500 ท่อน อากาศที่นั่นกำลังอุ่นๆ ได้ที่เลย หลังจากทำงานชิ้นนี้ ฉันกลายเป็นมังสวิรัติไปห้าปี เพราะฉันทนได้กลิ่นเนื้อไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณได้กลิ่นเนื้อเน่ามา เพราะไม่มีทางเลยที่คุณจะขัดล้างเลือดออกจากกระดูกได้หมด

  Balkan Baroque ไม่ใช่งานที่ทำขึ้นเพื่อยูโกสลาเวียเท่านั้น เพราะข่าวสารในแต่ละวันผ่านไปเร็วมาก อีกไม่นานคนก็จะลืมเหตุการณ์นี้ไปในที่สุด คุณต้องคิดถึงผลงานที่เป็นสากล ผลงานที่สามารถคงอยู่ได้ยาวนานกว่าที่เป็น ยาวนานไปจนถึงแม้หลังจากช่วงเวลาที่คุณตายไปแล้วก็ตาม ดังนั้น ภาพของการล้างกระดูกที่ไม่มีวันล้างเลือดออกได้หมดภาพนี้ สามารถใช้ได้กับสงครามซีเรีย หรือแม้แต่สงครามยูเครน หรือทุกๆ สงครามที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เมื่อนั้น ผลงานชิ้นนี้ก็จะสามารถสร้างผลกระทบให้ผู้ชมได้มากกว่าข่าวในหนังสือพิมพ์ธรรมดาทั่วไป

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่มีผู้ประท้วงและเยาวชนผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ใช้ศิลปะแสดงสดเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมในสังคม คุณคิดว่าศิลปะสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองได้หรือไม่

   ถึงแม้ศิลปินเยอรมันอย่าง โจเซฟ บอยส์ จะเคยกล่าวว่า “ศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” แต่โดยส่วนตัว ฉันไม่คิดอย่างงั้น เพราะคนรุ่นของฉันไม่สามารถทำได้ ด้วยความที่มันเป็นอะไรที่ยากมากๆ ถึงแม้ศิลปะจะสามารถช่วยเปิดความตระหนักรู้ และสร้างความเข้าใจ แต่การเปลี่ยนแปลงโลกจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราทุกคนในโลกนี้ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยปกติ เรามักจะรอคนอื่นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เรา แต่ในความเป็นจริง เราต้องถามตัวเองด้วยว่า เราจะสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ เรายังไม่ได้ทำ นั่นคือปัญหา แต่ฉันหวังว่าคนรุ่นจะใหม่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ถึงแม้คนรุ่นฉันยังไม่สามารถทำได้ก็ตามที

Waiting for the Artist, 2019.
ภาพจาก https://www.imdb.com/

ถามคำถามเครียดๆ มาเยอะแล้ว ขอถามอะไรผ่อนคลายบ้าง คุณเคยดูสารคดี(เก๊)ชื่อ Waiting for the Artist ที่นักแสดงชื่อดัง เคต แบลนเชตต์ สวมบทบาทล้อเลียนคุณ (ได้อย่างโคตรเหมือนและโคตรฮา) หรือยัง ถ้าดูแล้วคุณรู้สึกยังไงบ้าง?

   แน่นอน ฉันดูแล้ว เคต แบลนเชตต์ เล่นเป็นฉัน พูดด้วยสำเนียงของฉัน มันสนุกมาก หลายคนคิดว่าฉันคงจะโกรธเคือง แต่ฉันรักมันมาก ฉันคิดว่ามันตลกมากจริงๆ แต่คนที่แสดงเป็นอูไลย์ คู่หูของฉันเนี่ย ฉันคิดว่า ถ้าฉันเป็นอูไลย์ ฉันจะฟ้องร้องพวกเขาแน่ๆ (หัวเราะลั่น) ฉันสนุกมากๆ ฉันรักที่เคตเล่นเป็นฉันในหนังได้เหมือนมากๆ เธอเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่มาก (ยิ้ม)

ผลงาน AAA-AAA, The Scream, 8 Lessons on Emptiness (Dangerous Games), Dragon Heads (1978, 2013/2015, 2008, 2018) ของ มารินา อบราโมวิช จัดแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้ - 23 กุมภาพันธ์ 2566

    TAG
  • Marina Abramović
  • performance art
  • มารินา อบราโมวิช
  • BAB
  • BANGKOK ART BIENNALE 2022
  • people
  • interview

สนทนากับนักรบหญิงแห่งศิลปะแสดงสด มารินา อบราโมวิช

PEOPLE/INTERVIEW
2 years ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • PEOPLE/INTERVIEW

    มองสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในฐานะวัฒนธรรมที่มีชีวิตผ่าน ART TOYS เจาะลึกแนวคิดความสนุกจาก DUCTSTORE the design guru Co.,Ltd.

    ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ

    EVERYTHING TEAM6 days ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    อุ้ม-วัลลภ รุ่งกำจัด นักแสดงภาพยนตร์อิสระ สู่เส้นทางของ Cannes Film

    วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว

    EVERYTHING TEAM2 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    พูดคุยกับ “MAMIO” บนหน้ากระจกสะท้อนตัวตนที่ถูกซ่อนมาทั้งชีวิต “อาจใช้เวลานานถึง 30 ปี แต่ก็ดีกว่าไม่มีโอกาสได้รู้เลย”

    คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ

    EVERYTHING TEAM3 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    THE ROARING SOUND OF BANGKOK EVILCORE

    Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia

    EVERYTHING TEAM3 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    Nat Inksmith (ชณัฏฐ์ หวังบุญเกิด) มากกว่าความสวยงามคือการนำเสนอผลงานที่เป็นตัวตนผ่านศิลปะลายสัก

    ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน

    EVERYTHING TEAM3 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    KIKI กับการเดินทางก้าวต่อไปของความคิดสร้างสรรค์บนเส้นทางดนตรี

    ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน

    EVERYTHING TEAM5 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )