LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
บ้านที่เติบโตได้และเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการในแต่ละจังหวะชีวิตของผู้อยู่อาศัย
ประตูรั้วเปิดออก สุนัข French Bulldogจ้ำม่ำสองตัวพุ่งเข้ามาอย่างร่าเริง มันทำจมูกฟุดฟิดขณะเดินอุ้ยอ้ายสำรวจไปทั่วสนามหญ้า แมวสีส้มไม่ระบุสายพันธุ์ชายตาออกไปมองผู้มาเยือนเพียงแว่บหนึ่งก็หันกลับมานอนขดตัวสบายใจอยู่บนขั้นบันไดในบ้านที่ปิดประตูกระจกมิดชิด ภาพวาดสัตว์เลี้ยงสีอะครีลิกและสีน้ำที่เพิ่งลงสีเสร็จมาไม่นานวางตั้งอยู่ที่มุมหนึ่งของโต๊ะบนชั้นสอง แสงแดดส่องเป็นริ้วเข้ามาจากช่องบนผนัง ที่ระเบียงด้านนอก นกตัวน้อยโผออกไปกางปีกโฉบผ่านต้นโมกมันและต้นปีบก่อนที่จะแวะทักทายกระรอกที่วิ่งไปมาอยู่บนกิ่งไม้พะยูงสูงโปร่งซึ่งแผ่ร่มใบปกคลุมศาลาทรงกล่องที่ตั้งอยู่ริมรั้วด้านหน้า เมื่อมองย้อนกลับเข้ามา จึงพบว่าบ้านสี Midnight Blue หลังนี้แทรกตัวอยู่ท่ามกลางความเขียวชะอุ่มของแมกไม้หลากหลายสายพันธ์ุอย่างกลมกลืนจนแทบจะละลายหายไปเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
คำว่า “ปลูก” คงเป็นคำที่เหมาะกับบ้านหลังนี้มากกว่าคำว่า “สร้าง” เพราะบ้าน Mac and Ham หลังนี้ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ ตามธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงจังหวะชีวิตของผู้อยู่อาศัย การ “ปลูกบ้าน” เริ่มต้นจากความต้องการที่จะสร้างศาลาพักผ่อนในสวนบนที่ดินเปล่าใกล้บ้านหลังเดิมซึ่งตั้งอยู่กลางใจเมืิอง จากนั้น เมื่อลูกสาวแต่งงานจึงมีการปรับเปลี่ยนโจทย์ให้ที่นี่กลายเป็นบ้านพักอาศัยสำหรับการเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ โดยมีสตูดิโอสำหรับการทำงานวาดภาพ และมีพื้นที่ว่างๆ เตรียมไว้สำหรับรองรับความต้องการที่อาจจะปรับเปลี่ยนไปได้ในอนาคต
ที่นี่ การปลูกบ้านและการปลูกต้นไม้เริ่มต้นและเติบโตไปพร้อมๆ กัน สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ นำทีมสถาปนิกจาก Wallasia ออกแบบบ้านหลังนี้พร้อมกับจัดแต่งภูมิทัศน์ให้เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อาคารทรงกล่องแบ่งเป็นสามส่วนกระจายตัวอยู่ในสวนล้อมรอบด้วยต้นไม้หลากชนิดและเชื่อมต่อกันผ่านระเบียงภายนอก
อาคารส่วนแรกคือศาลาเล็กๆ ซึ่งตั้งสูงเด่นอยู่ด้านหน้า ศาลาหลังนี้เกิดจากการดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์เหล็กที่แข็งกระด้างให้ดูนุ่มนวลและอบอุ่นด้วยการเปิดช่องผนังให้ปลอดโปร่งโล่งสบายตาและตกแต่งพื้นผิวภายในด้วยไม้สีธรรมชาติ เมื่อบรรยากาศของแมกไม้ภายนอกลื่นไหลถ่ายเทเข้ามา ศาลาเหล็กหลังน้อยก็กลายเป็นมุมพักผ่อนที่คอยต้อนรับแขกด้วยความรู้สึกสบายและเป็นกันเอง สามารถนั่งเล่นบนโซฟานุ่มๆ หรือนั่งบนพื้นหย่อนขาแกว่งไปมาพร้อมกับสูดอากาศสดชื่นในสวนได้ตามใจต้องการ “ด้านหน้าเป็นเหมือนศาลา คุณพ่อคุณแม่มาก็นั่งอยู่ตรงนี้ได้โดยไม่ต้องรบกวนน้องเล็ก (ลูกสาว) ผมคิดว่ามันจะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างครอบครัวโดยที่ยังมีความเป็นส่วนตัวอยู่” สุริยะอธิบาย
ลานไม้สักหลากสีใต้่ร่มพะยูงเชื่อมต่อพื้นที่จากศาลาไปยังตัวอาคารสองชั้นซึ่งเป็นพื้นที่พักอาศัยหลักของบ้าน รูปทรงของอาคารได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมที่วางซ้อนทับกัน โดยกล่องชั้นล่างเป็นกระจกใสที่เปิดโล่งรับบรรยากาศสวนภายนอกเข้าไปในพื้นที่ห้องนั่งเล่นและห้องครัวด้านหลัง กล่องชั้นสองซึ่งเป็นห้องทำงานและห้องนอนมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าชั้นล่าง เมื่อวางซ้อนกันจึงเกิดเป็นชายคากันสาดที่ยื่นออกไปบริเวณระเบียงรอบห้องนั่งเล่นในชั้นล่างอย่างเรียบง่ายและลงตัว
ในขณะที่กล่องชั้นล่างดูโปร่งโล่งและบางเบาด้วยผนังกระจก กล่องชั้นบนได้รับการออกแบบให้เป็นผนังทึบที่เว้นช่องเปิดไว้เท่าที่จำเป็นเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายใน นอกจากผนังเรียบในพื้นที่ห้องนอนด้านหน้าแล้ว ในบริเวณห้องทำงานด้านหลังยังมีการนำเหล็กมาใช้เป็นวัสดุทำผนังซ้อนเกล็ดสร้างความเชื่อมโยงต่อเนื่องทางกายภาพระหว่างอาคารหลังนี้กับศาลาด้านหน้าและอาคารด้านหลังซึ่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ผนังเหล็กซ้อนเกล็ดนี้ไม่เพียงออกแบบมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น หากลักษณะของผนังที่ซ้อนกันยังทำหน้าที่เป็นช่องแสงที่ทำให้ห้องทำงานได้รับแสงสว่างจากทิศตะวันออกโดยที่ไม่ต้องโดนแดดส่องเข้าไปในบ้่านโดยตรงอีกด้วย
ในการวางตัวบ้านที่มีด้านยาวหันไปทางทิศตะวันตก ทีมสถาปนิกเลือกที่จะปิดผนังฝั่งที่ต้องโดดแดดช่วงบ่ายเป็นผนังทึบ แล้วทำรั้วเป็นแนวระแนงให้ต้นเหลืองชัชวาลเกาะเกี่ยวเลื้อยขึ้นไปคลุมผนังทั้งผืนจนถึงหลังคาเพื่อกันความร้อนและเพิ่มความเป็นส่วนตัวจากบ้านข้างเคียง "เหลืองชัชวาลเป็นไม้เลื้อยที่ใบไม่ร่วง ใบละเอียด ทนทาน และสามารถจับเกาะกับตะแกรงเหล็ก เราอยากมีความปลอดภัยจากภายนอกแต่ไม่ทึบตัน เราเลยทำตะแกรงสูงขึ้นไป แล้วให้เหลืองชัชวาลขึ้นคลุม" สุริยะอธิบาย
จากอาคารหลักของบ้าน มีทางเชื่อมต่อสู่อาคารตู้คอนเทนเนอร์ด้านหลังได้ทั้งจากชั้นล่างและชั้นสอง โดยในชั้นล่างจะเชื่อมต่อห้องครัวในบ้านสู่ครัวไทย ในขณะที่บนชั้นสอง ระเบียงจะเชื่อมห้องทำงานสู่ห้องว่างๆ สองห้องที่เปิดทะลุต่อถึงกัน ทั้งสองห้องสามารถใช้เป็นห้องวาดภาพหรือเป็นแกลเลอรี่จัดแสดงงานในอนาคตได้ พื้นที่ส่วนนี้สามารถเข้าถึงได้จากบันไดด้านนอกโดยไม่ต้องเดินผ่านบ้าน
แม้ว่าอาคารด้านหลังจะเป็นการนำตู้คอนเทนเนอร์เหล็กมาวางซ้อนกัน แต่ด้วยการแต่งเติมด้วยระเบียงโดยรอบและเว้นช่องว่างไว้ให้ต้นไม้ได้แทรกตัวเข้าไปในพื้นตามจุดต่างๆ ทั้งโมกมันและปีบต่างยืนต้นทะลุผ่านพื้นระเบียงเหล็กฉีกขึ้นไปแผ่กิ่งก้านปกคลุมอาคาร เปลี่ยนบรรยากาศของตู้คอนเทนเนอร์ที่แข็งกระด้างให้นุ่มนวลและร่มเย็นได้อย่างลงตัว “ด้วยความที่มันเป็นตู้ มันอาจจะดูแข็ง แต่พอเป็นบ้าน ก็ต้องมีอะไรที่ Soft นิดนึง” สริยะกล่าว “เราเก็เลยเว้นช่องว่างเอาไว้ให้ต้นไม้เป็นตัวกั้นกระหว่างของเแข็งกับของแข็ง”
Mac and Ham I บ้านที่เติบโตได้และเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการในแต่ละจังหวะชีวิตของผู้อยู่อาศัย
/
“Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน
/
“One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว
/
HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน
By TOSTEM/
บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน
/
เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น
/
เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )