LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
ทริปนี้เป็นการรวมเพื่อนพี่น้องที่รักจากทุกสารทิศของไทยก็ว่าได้ ทั้งมาคนเดียว มาเป็นคู่ มาเป็นกลุ่ม เกือบทั้งหมดเป็นสายขี่ มีสายกล้องจากหาดใหญ่มาด้วย 1 คู่ พอพวกเรามาเจอกันความหรรษาบ้าบอก็เกิดขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งทริปที่ประทับใจที่สุดและยังคงคิดถึงอยู่เสมอ
เราเลือกเดินทางไปช่วงซัมเมอร์ เพราะอากาศเย็นสบาย ไม่หนาวจนเกินไป 29 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2018: Leh - Lamayuru - Alchi - Chang La - Pangong - Nubra Valley - Khardung La - Leh ขี่มอเตอร์ไซค์ 5 วัน เฉลี่ยวันละ 100-200 กม. สมาชิก 20 คน ขี่ 17 คัน + มาแชลท้องถิ่นอีก 2 คัน แม้จะเป็นทริปใหญ่สมาชิกเยอะ แต่ทุกคนน่ารักและเข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย หัวเราะกันทุกวัน และคุยกันได้ทุกเรื่อง เราบินจากไทยไปลงที่เดลี แล้วต่อเครื่องไปลงที่เลห์อีกทีหนึ่ง เนื่องจากเลห์เป็นเขตทหาร ความเข้มงวดในการตรวจสัมภาระจึงละเอียดยิบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดต้องเอาออกมาวางใส่ถาดให้หมดเพื่อเข้าเครื่องสแกน หมวกกันน็อคต้องใส่กระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง
ข้อดีของการไปกับทัวร์ก็คือ ไปสนุกกับการขี่อย่างเดียว ไม่ต้องคอยปวดหัว ไม่ต้องเคลียร์เอกสารเมื่อผ่านด่านต่างๆ มีรถเซอร์วิสเผื่อรถเสียยางแบน มีช่างภาพถ่ายรูปให้ด้วย พวกเราเลยมีรูปสวยๆ เป็นของฝากกลับมาเพียบ กลับมาดูกี่ครั้งก็ยังคิดถึง แถมทริปนี้ยังมีรูปมากที่สุดเท่าที่เคยไปออกทริปมาด้วย เพราะนอกจากช่างภาพประจำทริปแล้ว เพื่อนพี่น้องที่ไปขี่ด้วยกันก็เป็นช่างภาพเกือบ 8-9 คน จะไปตรงไหนทำอะไรก็โดนถ่าย แค่จะเดินไปฉี่ก็ยังมีคนถ่ายอะ คิดดู!! ทุกที่ที่ได้ไปสวยตะลึงและงดงามแปลกตาจนบรรยายไม่ถูก รายละเอียดหลิงคงเขียนถึงไม่หมด อาศัยดูภาพสวยๆ กันเพลินๆ ก็แล้วกันนะคะ
จูลเลย์! สวัสดีเมืองเลห์
ก่อนหน้านี้ หลิงไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเลห์เลยก็ว่าได้ นอกจากรูปสวยๆ ของสถานที่และถนนหนทางที่เพื่อนไปขี่มอเตอร์ไซค์แล้วแชร์ในเฟซบุ๊ก เรามาทำความรู้จักเลห์กันสักหน่อยก็แล้วกัน
เลห์ (Leh) หรือทิเบตน้อยแห่งอินเดีย (Little Tibet) เป็นเมืองหนึ่งในแคว้นลาดักห์ของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir) ซึ่งเคยเป็นเขตการปกครองประเภทรัฐที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศอินเดีย แต่เมื่อ 5 สิงหาคม 2019 หลังจากพวกเรากลับจากทริปนี้ได้ 1 ปี เลห์ก็เปลี่ยนสถานะเป็นดินแดนสหภาพ (Union Territory) ซึ่งมีสภานิติบัญญัติเป็นของตัวเอง แต่รัฐบาลกลางจะเข้ามามีอำนาจในดินแดนเพิ่มมากขึ้น ส่วนลาดักห์ก็ถูกแยกให้เป็นดินแดนสหภาพอีกแห่งหนึ่ง โดยไม่มีสภานิติบัญญัติเป็นของตัวเองและขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางของอินเดีย ดินแดนของเลห์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ธารน้ำแข็งเซียเชนของเทือกเขาคาราโครัมไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายอินโด-อารยันและทิเบต เป็นภูมิภาคที่มีประชากรเบาบางที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ (ที่มา: wikipedia, The Standard)
เส้นทางสายไหมที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปนานหลายศตวรรษนั้น ประกอบไปด้วยสาขาย่อยมากมาย และหนึ่งในนั้นคือเส้นทางที่เชื่อมระหว่างทิเบตตะวันออกและแคชเมียร์ ซึ่งเชื่อมการค้าระหว่างจีนและอินเดียด้วย ทำให้เลห์ในอดีตเคยเป็นชุมทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่ง และถูกปกครองโดยอาณาจักรทิเบต ก่อนจะเสียอำนาจให้กับอาณาจักรมุสลิมจากแคชเมียร์ในปลายศตวรรษที่ 17 ชื่อ ‘ทิเบตน้อยแห่งอินเดีย’ นั้นได้มาเพราะอิทธิพลทางด้านศาสนาและภาษาจากทิเบตที่ยังคงหยั่งรากลึก ใครที่ได้ไปเยือนเลห์ก็จะได้ยินคำทักทายอย่าง ‘จูลเลย์’ (Julley) ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก ‘ทาชิเดเลห์’ (Tashi Deleh หรือ Tashi Delek) ซึ่งเป็นคำทักทายในภาษาทิเบตนั่นเอง (ที่มา: the101.world)
เดจาวูในห้องฉุกเฉิน
พี่เทอดจากหาดใหญ่ประเดิมโรงพยาบาลที่เลห์เป็นคนแรกในคืนแรกที่ไปถึง เพราะมีอาการคล้ายจะเป็นลม หายใจไม่ทัน เวียนศีรษะ เหงื่อออก เมื่ออาการไม่ดีขึ้นจึงแจ้งไกด์และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล อาการที่ว่าก็คือโรค AS หรือ Altitude Sickness เป็นโรคที่เกิดจากการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆ ออกซิเจนเบาบาง ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และต่อไปนี้คือคำบอกเล่าประสบการณ์จากพี่เทอดหลังออกจากโรงพยาบาล พวกเรานั่งล้อมวงฟังอย่างตั้งใจพร้อมจิบชามาซาล่าอุ่นๆ ไปด้วย
สภาพโรงพยาบาลที่นั่นไม่ค่อยเหมือนอย่างที่เราคุ้นเคย พี่เทอดแอบรู้สึกหวั่นๆ คุณหมอแจ้งว่าสามารถเขียนใบสั่งยาให้ไปซื้อยากินเองได้ แต่ตอนนั้นเป็นเวลาเกือบสี่ทุ่ม ดูแล้วน่าจะไม่สะดวกและอยากหายให้ทันก่อนจะขี่มอเตอร์ในวันรุ่งขึ้น เลยตัดสินใจขอรับการรักษาที่โรงพยาบาล ห้องที่นั่นคล้ายๆ ห้องฉุกเฉิน มีเตียงราวๆ 10 เตียง สภาพผ้าปูค่อนข้างมอซอ เมื่อมีคนไข้ลุกจากไป คนไข้คนต่อไปซึ่งคือพี่เทอดก็เข้าไปประจำตรงนั้นทันทีโดยไม่มีการเปลี่ยนผ้าปูใหม่ ชั่วโมงนี้แล้วอะไรก็ต้องยอม เพราะมีคนไข้เข้า-ออกตลอดเวลาเหมือนเก้าอี้ดนตรี
วิธีการรักษาเพื่อให้หายทันในวันรุ่งขึ้นจำเป็นต้องฉีดยาและให้ออกซิเจนเพื่อปรับออกซิเจนในร่างกายและสมอง การฉีดยาเป็นไปอย่างรวดเร็วและฮาร์ดคอร์ พยาบาลให้นั่งงอแขนเป็นมุมฉาก สักพักเหมือนโดนปาลูกดอกเข้าไหล่ขวาและกดยาลงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะสวมหน้ากากเพื่อให้ออกซิเจน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอันนี้เป็น used mask เคยผ่านการใช้งานและทำความสะอาดแล้ว ไม่มีอันใหม่ให้เปลี่ยน ถ้าอยากได้อันใหม่ต้องออกไปซื้อเอง ซึ่ง ณ เวลานั้น พี่เทอดยอมทุกอย่าง
ระหว่างที่กำลังให้ออกซิเจนอยู่นั้น ไฟก็ดับและไม่มีเครื่องปั่นไฟ ทุกคนดูปรกติ ไม่ตกใจ ยกเว้นพี่เทอดของเรา แล้วดันเซอร์ไพรส์ดับถึง 3 ครั้งโดยที่ทุกคนนั่งเงียบในขณะที่เครื่องให้ออกซิเจนก็ไม่ทำงาน! พอไฟมาเท่านั้นแหละ พี่เทอดรู้สึกเหมือนรอดตายทันที ช่วงที่นอนให้ออกซิเจนอยู่นั้น พี่เทอดก็พบว่าคนที่นี่อัธยาศัยดี มีน้ำใจ และเป็นคนเปิดเผย แต่...ไม่ค่อยมีความอดกลั้นสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะการอั้นตด! เขายกก้นขึ้นตดปู้ดป้าด ทั้งคนเฝ้าไข้และคนป่วยเอง พี่เทอดยังได้พบสัจธรรมในวันนั้นว่า...การอั้นตดคือความทุกข์ การปล่อยตดอย่างอิสระคือความสุขที่แท้จริง
ผ่านไปราว 2 ชั่วโมงอาการพี่เทอดเริ่มดีขึ้น เจ้าหน้าที่เข้ามาถอดหน้ากากออกซิเจนให้ ระหว่างนั้นก็มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาอีก 1 เตียง และ...เดจาวู!...เขาพูดเหมือนกันเป๊ะ “หน้ากากนี้ผ่านการใช้งานและทำความสะอาดแล้ว” แต่สิ่งที่เห็นคือถอดจากคนไข้เมื่อกี้แล้วก็ใส่ให้คนไข้ใหม่ทันที - จูลเลย์!!!
ทางหินกลิ้งสู่ปันกอง
ก่อนหน้านี้ หลิงยกให้ทริปซาปาที่เวียดนามเป็นทริปที่โหดที่สุดสำหรับตัวเอง ล่าสุดคงต้องยกให้เลห์ค่ะ เส้นทางโหดสุดในทริปนี้คือ ทางไปทะเลสาบปันกอง (Pangong Tso) และคาร์ดุง ลา (Khardung La) เริ่มกันที่ปันกอง ทะเลสาบน้ำเค็มที่สูงที่สุดในโลกก่อนละกัน ที่นี่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 4,350 เมตร ยาว 134 กม. กว้าง 5 กม. พื้นที่ของทะเลสาบครอบคลุม 2 ประเทศ โดย 40% ของความยาวทะเลสาบจะอยู่ในอินเดียและอีก 60% จะอยู่ในจีน แม้ช่วงที่ไปจะเป็นหน้าร้อน แต่อากาศช่วงกลางคืนหนาวจนเหลือเลขตัวเดียวหรือศูนย์องศา
เส้นทางก่อนเข้าสู่ทะเลสาบปันกองจะต้องขี่ไต่ภูเขาลงไปที่นั่น ช่วงที่จะลงสู่ปันกอง เราได้เห็นทะเลสาบสีฟ้าเข้มจากมุมสูงตัดกับภูเขาแห้งแล้งสีน้ำตาล มันสวยงามจนหลิงร้องว้าวววอยู่ในหมวกกันน็อค พอลงจากเขาเราต้องขี่ผ่านบริเวณที่เป็นหินล้วนๆ ชนิดก้อนกลมมนใหญ่ๆ เล็กๆ มีธารน้ำไหลผ่านซึ่งละลายลงมาจากยอดเขาน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน ตอนขี่มาถึงจุดนี้หลิงจอดมอเตอร์ไซค์แล้วสตั๊นไป 3 วิ เพราะมองไม่เห็นทางที่จะไป คือมันไม่มีอะไรบอกว่าเป็นทางให้รถผ่านได้ แต่เห็นรถยนต์และมอเตอร์ไซค์อยู่ข้างหน้า แล้วเขาไปทางไหนกัน? หลิงเห็นน้องชายซึ่งขี่นำไปก่อนจอดรออยู่ไกลๆ จึงตะโกนถาม “ไปทางไหน?!” น้องตะโกนตอบพร้อมโบกมือ “ตรงมาเลย!!!” ไปยังไงวะ มีแต่หินและธารน้ำเต็มไปหมด เอาวะ ยังไงก็ต้องไป ใส่เกียร์หนึ่งแล้วค่อยๆ บิดเจ้า Royal Enfield Bullet 500 อย่างทุลักทุเลจนไปจอดข้างน้องชาย เอาล่ะ ข้างหน้าคือธารน้ำค่อนข้างลึกและใหญ่กว่าที่ผ่านๆ มา รถยนต์ 4WD ค่อยๆ ขับผ่านไป ผู้โดยสารลงมายืนลุ้นและคอยเชียร์อยู่ข้างๆ มอเตอร์ไซค์เข็นบ้างขี่บ้างอย่างบ้าคลั่ง เพื่อนๆ และทีมไกด์ท้องถิ่นมาคอยช่วยเหลือและบอกไลน์รถ พวกเราค่อยๆ ขี่ผ่านไปทีละคันด้วยความทุลักทุเล
ณ จุดนี้ หลิงตื่นเต้นและกลัวเล็กน้อย เพราะถ้าล้มคือเปียกทั้งตัวหรืออาจบาดเจ็บ หลิงเล็งไลน์ไว้แล้ว แต่พอขี่จริงๆ มันไม่เป็นอย่างที่คิดนี่สิ รถค่อยๆ ตะกุยผ่านก้อนหินลุยน้ำไป แล้วก็เริ่มเฉไฉออกข้างพุ่งขึ้นไปบนเนินเล็กๆ ฝั่งตรงข้ามซึ่งมีคนยืนลุ้นอยู่กลุ่มหนึ่ง “ฉิบหายแล้ว! จะชนมั้ย ทำไงดี!!” - - “มองไปข้างหน้า!!” เสียงครูเม (สุเมธี ตระกูลชัย) ครูสอน basic enduro ดังขึ้นในหัว หลิงเบี่ยงแฮนด์หลบ เท้าเหยียบเบรคจนมิด มือกำเบรคจนแน่น คนบนเนินแตกกระเจิง คิดว่าชนแน่ๆ แล้วรถก็หยุดนิ่งพ้นลำธารนั้นมาได้แบบเฉียดฉิว เกือบไปแล้ววววว คนดูปรบมือกันใหญ่ แต่หลิงใจหายวาบจนเกือบจะร้องไห้
พวกเราถึงทะเลสาบปันกองราว 4 โมงเย็น ทะเลสีเทอร์ควอยซ์ตรงหน้าทำให้ทุกคนร้องว้าวและตาลุกวาว พวกเราจอดรถถ่ายรูปกันอยู่พักใหญ่ จากนั้นก็ตรงไปยังเต็นท์ที่พักในคืนนี้ ทุกคนแยกย้ายกันพักผ่อน กี้ร์ กัญญ์กุลณัช (Punker Enduro) จัดปาร์ตี้มาม่าอยู่หน้าเต็นท์ตัวเอง หลิงกับน้องชายได้แค่ไปดูๆ ดมๆ เพราะรู้สึกปวดหัวตุบๆ จึงกินยาแล้วขอแยกตัวกลับมาพักที่เต็นท์ตัวเอง เย็นวันนั้นหลายคนมีอาการเดียวกัน บางคนต้องให้ออกซิเจน บางคนแค่กินยา และ...ใครบางคนจากแม่สะเรียงต้องกินไวน์เป็นขวด
พอพระทิตย์เริ่มตกดิน อากาศก็หนาวเย็นทันที เวรกรรมแระ น้ำก็ยังไม่ทันได้อาบ แค่แปรงฟันก็เล็บเขียวปากเขียวแล้ว เลยได้แค่เอาทิชชูเปียกเช็ดหน้ากับรักแร้ โปะครีมกันตีนกา แล้วรีบห่มผ้าเข้านอน คืนนั้นอุณหภูมิ 5-6 องศา และ...ไม่มีฮีตเตอร์!!
ทางดินบ้าสู่คาร์ดุง ลา
แม้หลักบอกความสูงของคาร์ดุง ลา (Khardung La หรือ Khardung Pass หรือ K-Top) ที่เราไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกของที่นั่นจะระบุว่าเป็น Top of the World ถนนที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูง 5,602 เมตร (18,379 ฟุต) แต่ตัวเลขสากลจากหลายแหล่งที่มา คาร์ดุง ลา สูงจากระดับน้ำทะเลที่ 5,359 เมตร (17,582 ฟุต) สถิติล่าสุดตกไปอยู่อันดับที่ 11 เนื่องด้วยถนนเส้นใหม่ถูกสร้างเพิ่มขึ้นเพื่อการสัญจรไปมาในภูเขาสูงหลายแห่ง (อันดับหนึ่งคือ Umling La หรือ Umlingla Pass ในลาดักห์ อินเดีย ที่ความสูง 5,883 เมตร (19,300 ฟุต) อ้างอิงจาก https://devilonwheels.com/top-12-highest-motorable-passes-roads-world/)
เส้นทางจากหุบเขานูบรา (Nubra Valley) มุ่งสู่คาร์ดุง ลา บางช่วงถนนไม่กว้างนัก ต้องคอยหลบหากมีรถสวนมา มีตอนหนึ่งระหว่างขึ้นเขาทางลาดชัน มีรถบรรทุกของทหารประมาณ 20 คันวิ่งลงเขามาอย่างต่อเนื่อง พวกเรากระจายตัวกันหาที่หลบข้างทางซึ่งซ้ายมือคือเหวลึก หลิงขาสั้นไม่ค่อยถึงพื้นเพราะ Bullet 500 ค่อนข้างสูง แถมพื้นก็ไม่ราบเรียบ การเล็งจุดเพื่อจอดริมเหวแบบนั้นคือความเสี่ยง กลัวตัวเองเสียหลักแล้วพลัดตกลงเหวไปหลายหนเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ผ่านมันมาได้ เวลาเจอสถานการณ์แบบนั้นหลิงเรียกมันว่า ‘ความฝันและความตาย’ ซึ่งเรากำลังอยู่ตรงเส้นบางๆ ระหว่างสองสิ่งนั้น คือ ขี่มอเตอร์ไซค์ตามความฝันและเราอาจตายด้วยอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ (ทริปโบรโม่ อินโดนีเซีย ที่หลิงประสบอุบัติเหตุคือที่มาของสองคำนี้)
สภาพถนนที่เริ่มไต่ขึ้นคาร์ดุง ลา เป็นทางดินและหินขรุขระตลอดทาง ปรกติขี่ทางดินที่เต็มไปด้วยหินก็ว่าลำบากแล้ว แต่การขี่ไต่ระดับไปที่ความสูง 5 พันกว่าเมตรนั้นลำบากยิ่งกว่า เพราะอากาศเบาบาง หายใจไม่ทัน ขี่ไปหอบไปจนต้องหยุดพักหายใจเป็นบางช่วง ขี่ไปแบบสะเทือนไตและลำไส้ตลอดเวลา กว่าจะถึงยอดเขาเล่นเอามือชาแขนล้ากระดูกกร่อนกันเลยทีเดียวค่ะ จาก K-Top เราได้เห็นเทือกเขาคาราโครัมที่ทอดยาวผ่านปากีสถาน จีน และอินเดีย เราใช้เวลาอยู่บนนั้นไม่นานก็รีบทยอยขี่ลงจากที่นั่นเพราะออกซิเจนน้อยมากๆ และเริ่มรู้สึกปวดหัว ขาลงจากเขามุ่งหน้าเข้าสู่เมืองเลห์หัวหน้าทัวร์บอกว่าเป็นทางดำตลอด หลิงดีใจมากกกกก เหมือนขี่บนปุยเมฆเลยจ้าาา ใครมาช่วงที่มีหิมะก็คงจะสาหัสกว่านี้อีกหลายเท่า เพราะทั้งลื่น ทั้งเปียกแฉะ และหนาวสุดๆ
การมาขี่มอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มใหญ่ๆ แบบนี้ เรามักจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 4-6 คัน หรือแบ่งเป็นกลุ่มหน้า กลุ่มกลาง กลุ่มหลัง แล้วขี่เกาะกลุ่มไปด้วยกันอีกทีเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือดูแลกันในกรณีที่ขี่เป็นกลุ่มใหญ่ไม่ได้ กลุ่มไหนอยากแวะถายรูปตรงไหนก็ว่ากันไป ใครถึงก่อนก็รอกลุ่มหลังตามมาสมทบจนครบคันแล้วค่อยไปต่อ หรือไปรอที่จุดหมายที่นัดกันไว้เลยก็ได้ ขี่แบบนี้สบายใจดีค่ะ
น้ำตาไหลในหมวกกันน็อค
จากคาร์ดุง ลา มุ่งหน้าสู่เมืองเลห์จะมีเส้นทางหลักทางเดียว พวกเราแบ่งเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ตามสะดวกแล้วทยอยกันขี่กลับไปเจอกันที่โรงแรม การขี่ไปตามเส้นทางต่างๆ ตลอดทริปนี้แทบจะไม่ค่อยมีรถ ยกเว้นรถประจำทางซึ่งนานๆ จะมาสักคัน ยิ่งห่างตัวเมืองออกไปเท่าไหร่รถก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น ส่วนมอเตอร์ไซค์ก็เจอเรื่อยๆ ระหว่างทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเหมือนพวกเรา หลายครั้งมีเราเพียงไม่กี่คันบนถนนที่ทอดยาวไกลในหุบเขา หลิงรู้สึกเหมือนเราตัวเล็กเท่ามดเมื่อเทียบกับภูเขาสูงใหญ่เหล่านั้น และระหว่างนั้นเองน้ำตาก็ไหลในหมวกกันน็อค...
มันเกิดขึ้นระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์
วิวข้างหน้าสวยจนลืมหายใจ
ความเงียบเกิดขึ้นฉับพลัน
เสียงหัวใจดังกึกก้อง
น้ำตาปริ่มไหลอาบแก้ม
ความรู้สึกชัดเจนมาก ณ วินาทีนั้น
“ขอบคุณนะ” หลิงพูดกับตัวเอง
ขอบคุณที่พาตัวเองมาอยู่ตรงนี้
ขอบคุณน้องชายที่มาด้วยกัน
ขอบคุณเพื่อนร่วมทริปที่น่ารักทุกคน
น้ำตาไหล...หัวใจอิ่มเอม
ไม่รู้เขาเรียกโมเม้นท์นี้ว่าอะไร
แต่หลิงเรียกมันว่า ‘ความสุขที่แท้จริง’
Story: Ling Bhirada
Photo: Wanna Ride With Us, Warut Tay Rodkachen, Eak Waiyanggul, Pao Budda
LEH, INDIA: เลห์ อินเดีย ทริปในฝัน ขอไปสักครั้งในชีวิต
/
การเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่เที่ยวในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก อยากให้คุณลองสักครั้ง แล้วจะติดใจจนอยากไปอีกเรื่อยๆ หลิงชอบขี่ไปนอกเมืองหรือชนบทไกลๆ และทุกครั้ง...ถ้าไม่ขี่เลยก็ขี่หลงจนได้เจอที่แปลกใหม่แบบไร้นักท่องเที่ยวเป็นของแถมเสมอ
/
ถ้าคุณไม่เคยเดินทางคนเดียว หลิงอยากให้คุณลองสักครั้ง ไม่ว่าจะที่ไหน ด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องหาคำตอบ การเดินทางจะทำให้เราค้นพบคำตอบจากทุกคำถามในใจเรา
/
ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา EVERYTHING ได้มีโอ กาสร่วมทริปไปกับ MG แบรนด์รถสัญชาติอังกฤษ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 เพื่อเที่ยวชมสถานที่ขึ้นชื่อ ณ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน พร้อมกับรถยนต์คู่ ทริปอย่าง NEW MG HS ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน ด้วยรูปร่างโฉบเฉี่ยวสะดุดตา ผสมผสานความหรูหรากับ ความสปอร์ตได้อย่างลงตัว ตัวถังโค้งมนแบบ British Shoulder Line กระจังหน้าดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก กลุ่มดาวบนท้องฟ้า ห้องโดยสารกว้างขวางสไตล์รถ SUV ทุกๆ การดีไซน์นี้ยิ่งเสริมให้ประสบการณ์ในทริปนี้สมบูรณ์ แบบมากขึ้น
/
ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร
/
ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง
/
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สามารถเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกเล่าแก่คนรุ่นหลังได้ว่าพวกเราซึ่งเป็นประชาชนภายในประเทศนี้ผ่านอะไรกันมา กำกับโดย “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” (เอก) ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจากสงขลา เอกเริ่มกำกับสารคดีสั้นเกี่ยวกับความตายของ กฤษณ์ สราญเศรษฐ์ ลุงของเขาในชื่อเรื่อง “คลื่นทรงจำ” (2561) ซึ่งได้รับรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ DMZ ที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้เข้าฉายในเทศกาลต่างประเทศอีกหลายแห่ง และผู้กำกับอีกคน คือ “ธนกฤต ดวงมณีพร” (สนุ้ก) ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับภาพ ที่ได้เข้าชิงรางวัลช้างเผือกจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 จากเรื่อง “ทุกคนที่บ้านสบายดี” (2560) และได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติไห่ หนาน
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )