Krit Residence I บ้านสไตล์โมเดิร์นบนหลักการฮวงจุ้ยโดย Octane Architect & Design | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

การออกแบบบ้านที่ผสานสไตล์โมเดิร์นเข้ากับศาสตร์
ด้านฮวงจุ้ย อย่างลงตัวโดย Octane Architect & Design

  บ้านรูปทรงกล่องสีดำกับแผงระแนงเหล็กที่มีลวดลายเส้นเฉียงโฉบเฉี่ยวพาดผ่านผนังอย่างมีมิติสะท้อนถึงบุคลิกและแนวทางการใช้ชีวิตเจ้าของบ้านหลังนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบ้านหลังนี้มีแนวคิดที่เหนือความคาดหมายซ่อนอยู่ นั่นก็คือทุกๆ องค์ประกอบในบ้านได้รับการออกแบบและจัดวางอย่างถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยทุกประการ

  ธาวิน หาญบุญเศรษฐ นำทีมสถาปนิกจาก Octane Architect & Design ออกแบบบ้านสองชั้นในย่านเจริญกรุงให้กับ กฤต เจนพานิชการ ผู้ประกาศข่าวมาดเข้ม โดยสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการก็คือบ้านสไตล์โมเดิร์นที่มีความเป็นส่วนตัวพร้อมกับบรรยากาศสงบและความปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเขาซึ่งมักจะชักชวนผองเพื่อนมาสังสรรกันที่บ้าน และที่สำคัญ บ้านจะต้องออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการด้านฮวงจุ้ย “บ้านหลายๆ หลังที่เราทำก็มีเรื่องฮวงจุ้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมคิดว่าทางดีที่สุดก็คืออย่าไปฝืนแบบบ้านเพื่อให้มันตอบโจทย์เป็นข้อๆ ไปโดยไม่ได้เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก” ธาวินกล่าว “ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องถอยออกมาแล้วดีไซน์โดยให้ฮวงจุ้ยเป็นบริบทอันหนึ่ง”

  จากโจทย์ที่ได้รับ ทีมสถาปนิกออกแบบบ้านเป็นสองชั้นและวางผังอาคารเป็นลักษณะรูปตัว ‘L’ ที่มีสระว่ายน้ำตั้งอยู่กลางระหว่างขาของตัว L ทั้งสองข้าง ตำแหน่งขององค์ประกอบต่างๆ ในบ้านตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงทิศทางของหัวเตียงได้รับการจัดวางโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ทางด้านฮวงจุ้ยและความสะดวกในการใช้งานพื้นที่อย่างลงตัว

  ห้องนั่งเล่นตั้งอยู่ในตำแหน่งใจกลางบ้าน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อห้องต่างๆ ในบ้านเข้าหากัน และเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถรองรับกิจกรรมในครอบครัวได้หลากหลาย ห้องได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นโถงสูงเปิดโล่งเชื่อมต่อพื้นที่ชั้นล่างและชั้นบน ผนังด้านที่ติดกับสระว่ายน้ำใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อให้มีระยะคานที่ยาวและเปิดเป็นกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ได้ ผนังกระจกนี้ที่ไม่เพียงเปิดรับมุมมองของสระว่ายน้ำและสวน หากยังทำให้เจ้าของบ้านสามารถมองเห็นบ้านของพ่อแม่ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปในอีกฟากหนึ่งของสวนด้วย “Space ของ Living Room มีโครงสร้าง Wide Span มองออกไปผ่านสระว่ายน้ำเห็นสวนยาวๆ จนถึงบ้านพ่อแม่เลย” ธาวินอธิบาย “มันมีความเป็น Open to Below เปิดไปถึงห้องนอนบนชั้นสอง มีระเบียงจากข้างบน คุณพ่อคุณแม่สามารถมาพักตรงนี้ได้โดยที่ไม่กวนลูก เพราะสามารถเข้าห้องนอนชั้นสองได้โดยไม่ต้องเดินผ่าน Living เลย”

  ที่โถงในห้องนั่งเล่นนี้ มีผนังสูงผืนใหญ่ที่ออกแบบไว้อย่างเรียบง่ายไร้การตกแต่งแต่เปลี่ยนแปลงลวดลายไปตามองศาของแสงในแต่ละช่วงเวลา ด้วยการซ่อนสวนบนระเบียงชั้นสองซึ่งมีผนังระแนงไม้กั้นอยู่ด้านนอก ประกอบกับการวางสระว่ายน้ำชิดติดผนังห้องด้านล่าง ทำให้แสง เงา และการสะท้อนของผิวน้ำเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างมิติให้กับผนังในห้องนั่งเล่นได้อย่างน่าสนใจ “ตอนเช้าแดดจะเอียง เงาของระแนงจะพาดเข้ามาที่ผนังของ Open To Below เป็นเส้นขึ้นมา” ธาวินกล่าว “พอสายๆ เที่ยงๆ หน่อย แดดจะชัน มันก็จะไปสะท้อนกับผิวของสระว่ายน้ำ แล้วเกิดเป็นเงาของคลื่นน้ำเข้ามาแทน”

  ด้วยข้อจำกัดด้านฮวงจุ้ย พื้นที่เหนือที่จอดรถไม่สามารถใช้เป็นห้องพักอาศัยได้ ดาดฟ้าในบริเวณนี้จึงได้รับการออกแบบให้เป็นลานสำหรับจัดงานปาร์ตี้ มีสระว่ายน้ำตั้งอยู่ด้านล่างในตำแหน่งที่ไม่เพียงสร้างบรรยากาศที่สวยงาม หากยังอยู่ในระยะที่สามารถเพิ่มความบันเทิงให้กับงานเลี้ยงได้อีกด้วย โดยคนสามารถกระโดดจากดาดฟ้าลงสระได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัย นอกจากนั้น ยังมีบันไดเชื่อมต่อจากภายนอกบ้าน ทำให้สามารถขึ้นลงดาดฟ้าได้โดยไม่ต้องเดินผ่านเข้าไปในตัวอาคาร รักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยในบ้านแม้ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังเฮฮากันอยู่ในงานปาร์ตี้

  อีกหนึ่งบริบทที่ได้รับการกำหนดจากฮวงจุ้ยก็คือตำแหน่งของห้องนอนเจ้าของบ้านที่จำเป็นต้องอยู่ที่ด้านหน้าเท่านั้น เมื่อห้องนอนต้องอยู่ติดกับถนนสาธารณะ ทีมสถาปนิกจึงออกแบบระแนงเหล็กซ้อนทับผนังด้านหน้าเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย “เรื่องฮวงจุ้ยทำให้้ห้องนอนมาสเตอร์ต้องไปอยู่ติดถนนเจริญกรุง ทำให้คนที่เข้าออกซอยจะเห็นห้องนอน” ธาวินเล่า “และว่ากันว่าแถวนั้นมีโจรด้วย มันก็ควรจะต้องมีเหล็กดัด เราก็เลยหาวิธีว่าจะทำยังไงให้ติดเหล็กดัดและสามารถพรางความเป็นส่วนตัวได้ด้วย”

  ระแนงเหล็กสีดำไม่เพียงสร้างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้กับบ้าน หากยังเป็นองค์ประกอบที่สร้างเอกลักษณ์ที่น่าสนใจให้กับอาคารอีกด้วย “โจทย์ของเราซับซ้อนขึ้นมาอีก นั่นคือมีการ Gradient ของความโปร่ง” ธาวินกล่าวถึงการออกแบบระแนงที่ล้อมอยู่ที่ผนังด้านหน้าและด้านข้างของบ้าน ระแนงแต่ละชิ้นมีความลึกที่แตกต่างกันตามหน้าที่การใช้งาน ในบริเวณด้านหน้าซึ่งติดถนน ระแนงจะมีความหนาเพื่อประสิทธิภาพในการบังสายตาจากคนภายนอก ในขณะที่ด้านข้างซึ่งติดกับสวน ระแนงเพียงทำหน้าที่เสมือนเป็นเหล็กดัดป้องกันขโมยแต่ต้องการเปิดรับวิวในสวน ความหนาของระแนงจึงลดน้อยลง จากระแนงที่ไล่เรียงความหนาลดหลั่นกันไปนี้เองทำให้เกิดมิติของแสงและเงากลายเป็นลวดลายเส้นเฉียงที่เปลี่ยนอาคารทรงกล่องเรียบๆ ให้ดูโฉบเฉี่ยวน่าสนใจมากขึ้น

  นอกจากบนผนังอาคารแล้ว เส้นสายของระแนงเหล็กสีดำยังได้รับการนำไปใช้ในการทำประตูรั้ว แนวระแนงนี้ไม่เพียงกรองสายตาจากภายนอกเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับบริเวณสระว่ายน้ำด้านใน หากยังช่วยทำให้แต่ละส่วนของบ้านมีองค์ประกอบทางการออกแบบที่เป็นภาษาเดียวกัน สร้างความต่อเนื่องและกลมกลืนให้ภาพรวมของบ้านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

  บนที่ดินในซอยย่านเจิรญกรุง บ้านทรงกล่องหลังนี้สะท้อนบุคลิกภาพของผู้เป็นเจ้าของออกมาผ่านเส้นสายที่เฉียบคมและสีดำเข้มขรึม ตอบโจทย์ความต้องการด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการใช้งานทั้งในชีวิตประจำวันของครอบครัวและการสังสรรกับเพื่อนฝูง และที่สำคัญ นำบริบทเรื่องศาสตร์ของฮวงจุ้ยมาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งในอาคารสไตล์โมเดิร์นได้อย่างลงตัว

อาคารรูปทรงกล่องสีดำทำให้บ้านหลังนี้มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ชัดเจน
Project Name : K.Krit Residence
Architecture Firm : Octane architect & design
Website : https://www.facebook.com/Octane.architect
Contact e-mail : [email protected]
Firm Location : Hachi serviced apartment / ladprao soi3 / jatujak district / Bangkok
-
Completion Year: 2019
Gross Built Area: 490
Project location: Charoen Krung Road, Bangkoleam, Bangkok
ซอยเจริญกรุง80 แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพ

-
Photo credits: Rungkit Charoenwat รุ่งกิจ เจริญวัฒน์

Architect: Octane architect & design

Kittichon phukiatkong / Thawin Harnboonseth / Photsawat apariman

กิตติชนม์ ภูเกียรติก้อง / ธาวิน หาญบุญเศรษฐ / พศวัต อปริมาณ

Interior designer : Seenin

Pariyawat patchaweewan / Thanathit Wongsinin

ปริยวัตน์ พัดฉวีวรรณ ธนาทิตย์ วงศ์สีนิล
Clients: Krit jenpanichkarn กฤต เจนพานิชการ Landscape by owner

Contractor: NCK. Builder
    TAG
  • design
  • architecture
  • house
  • Krit Residence
  • Octane Architect & Design

Krit Residence I บ้านสไตล์โมเดิร์นบนหลักการฮวงจุ้ยโดย Octane Architect & Design

ARCHITECTURE/HOUSE
4 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/HOUSE

    “Pong House” เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติผ่านคอร์ต พร้อมตอบโจทย์ความ Privacy

    “Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน

    EVERYTHING TEAM2 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    ICE.SU HOUSE BY JUNSEKINO A+D บทสนทนาระหว่างการสร้างบ้านที่ย้อนแย้งแต่ชัดเจนบนสเกล 1:1

    “One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว

    Nada Inthaphunt3 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    HOUSE 362 บ้านที่เปิด “ช่อง” เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับธรรมชาติ

    HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAM3 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN VIPHA 41 BY ANONYM บทสนทนาของตัวตนและประสบการณ์อย่างที่ใจตามหา

    บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน

    Nada Inthaphunt4 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    House COVE(R) by TOUCH Architect ต่อเติมบ้านหัวมุมให้ต่อเนื่องกับบ้านหลังเก่า

    เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น

    Nada Inthaphunt4 years ago
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN SAILOM BY ANONYM บ้านที่สายลมมีร่างกายให้จับต้อง

    เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น

    Nada Inthaphunt4 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )