บ้านเหล็กที่นุ่มนวล และแนบชิดกับธรรมชาติ โดย Vin Varavarn Architects | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

DESIGN:----

ARCHITECTURE / WORK IN PROGRESS

บ้านเหล็กที่นุ่มนวล และแนบชิดกับธรรมชาติ
โดย Vin Varavarn Architects

การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป พื้นไม้ ผนังคอนกรีต และโครงหลังคาค่อยๆ ประกอบกันจนเผยให้เห็นเค้าโครงของบ้านเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ จาก Vin Varavarn Architects (VVA) พา EVERYTHING Team เข้าไปสำรวจบ้าน Iron House ในช่วงเวลาที่งานออกแบบค่อยๆ เดินทางจากจินตนาการสู่การเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ขึ้นอย่างช้าๆ
  บนเส้นทางจาก ‘แบบ’ สู่ ‘บ้าน’ บางแนวคิดได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและให้ผลลัพธ์ตามที่คาดหมาย ในขณะที่บางแผนการก็ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเมื่อพบทางเลือกที่ดีกว่า “เวลาเราทำดีไซน์ในกระดาษหรือโมเดล เราก็เห็นภาพประมาณหนึ่ง แต่เวลาก่อสร้างขึ้นมาจริงๆ เราจะเห็นแสงเห็น Space ที่มันเกิดขึ้น เห็นภาพที่มันอยู่ต่อหน้าเรา มันก็จะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง” ม.ล.วรุตม์ เล่า “ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้าเราสามารถที่จะปรับ เพิ่มเติม หรือแก้ไขบางส่วนเพื่อให้มันพิเศษมากขึ้นได้ ผมก็จะพยายามเสนอกับเจ้าของบ้าน”

Architect:
Vin Varavarn Architects Ltd.


Writer:
Dorsakun Srichoo


Photographers:
Mc Suppha-riksh Phattrasitthichoke

Pattanaphoom Phetchgrajang

เมื่อได้รับการแต่งแต้มลวดลายที่ทำให้เกิดแสงและเงาบนพื้นผิว ผนังคอนกรีตที่เคยหนาหนักก็กลาย เป็นผิวสัมผัสที่ดูนุ่มนวลมากขึ้น

  ลวดลายเส้นนอนที่เว้าเข้าไปในเนื้อกำแพงคอนกรีตบริเวณหน้าบ้านคือสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในการออกแบบมาตั้งแต่ต้น เดิมทีกำแพงนี้เป็นเพียงฉากกั้นเรียบๆ ซึ่งมีหน้าที่กันความวุ่นวายจากโรงงานรีไซเคิลเหล็กที่ตั้งอยู่ด้านหน้าไม่ให้เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของพื้นที่พักอาศัยภายในบ้าน แต่หลังจากที่การก่อสร้างดำเนินไปจนถึงขั้นตอนการทำผนังสระว่ายน้ำซึ่งใช้การหล่อคอนกรีตแบบ Dry Process ที่มีท่อ PVC เป็นแม่พิมพ์ ผลลัพธ์ที่ออกมาดีเกินความคาดหมายทำให้ทีมสถาปนิกเลือกที่จะนำเทคนิคนี้มาใช้เพิ่มความน่าสนใจให้กับกำแพงหน้าบ้านด้วย “เราอยากได้สระว่ายน้ำที่เวลาน้ำล้นแล้วผิวน้ำไปสัมผัสกับคอนกรีตที่เป็นร่องแล้วเกิด Effect บางอย่าง แทนที่จะกรุกระเบื้องเราก็ทำเป็นคอนกรีตหล่อโดยใช้ท่อ PVC เป็นแบบ พอเราดู... เรารู้สึกชอบ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะมี Detail ตัวนี้ในส่วนอื่นของบ้านด้วย” ม.ล.วรุตม์ เล่า “ก็เลยเปลี่ยน Material ตรงผนังด้านหน้า ซึ่งเดิมเป็นผนังทึบปูกระเบื้องที่ราคาค่อนข้างสูงพอเปลี่ยนเป็นคอนกรีตแบบนี้ Cost มันลง ได้มิติของแสงเกิดขึ้น และได้มีความต่อเนื่องระหว่างภายนอกกับภายในด้วย”

เศษเหล็กจากโรงงานรีไซเคิลของครอบครัวเจ้าของบ้านคือแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้าน Iron House หลังนี้ เมื่อการก่อสร้างสมบูรณ์ เหล็กบางส่วนจะถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการตกแต่งของบ้าน

  สิ่งที่อยู่ด้านหลังกำแพงคอนกรีตก็คือบ้านที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของครอบครัวเจ้าของโรงงาน ผู้ชื่นชอบความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองมากมายในกิจกรรมแต่ละวัน “เจ้าของบ้านเขาออกตัวว่าเขาเป็นคนบ้านๆ นะเขาอยากอยู่ในพื้นที่สบายๆ บางครั้งก็ปูเสื่อทานอาหารกันง่ายๆ” ม.ล.วรุตม์ กล่าว “ผมเลยมองถึง Space ที่เป็นบ้านซึ่งเข้ามาแล้วมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมได้หลากหลาย มีพื้นที่ซึ่งสามารถ ทำทุกอย่างได้โดยมีความเป็นส่วนตัว”

  ทีมสถาปนิกตีความ ‘วิถีชีวิตบ้านๆ ที่เรียบง่าย’ ผ่านการใช้หลังคาจั่วสองผืนคลุมบ้านซึ่งมีผังอาคารเป็นลักษณะรูปตัว ‘U’ การวางผังอาคารรูปแบบนี้ทำให้ตัวบ้านโอบล้อมลานกลางแจ้ง เกิดเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวทั้งจากความวุ่นวายในโรงงานด้านหน้าและสายตาของเพื่อนบ้านข้างเคียง เมื่อประกอบกับหลังคาจั่วที่ยื่นชายคาออกมากันแดดบังฝน ทำให้เกิดชานบ้านซึ่งเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในครอบครัว “ผมมองว่าคำว่า ‘บ้านๆ’ มันสื่อถึงอะไรหลายๆ อย่าง เราก็เลยอยากให้บ้านหลังนี้มีความเป็นบ้านมากขึ้น ก็มองถึงเรื่องหลังคาที่จะ Protect แดด Protect พื้นที่ Public ต่างๆ ที่เขาสามารถใช้งานได้นอกเหนือจากการอยู่ในห้อง” ม.ล.วรุตม์ อธิบาย “เราก็เลย เอาหลังคาจั่วมาคิด ขยายคำว่าจั่วให้มันพิเศษมากขึ้น เพราะฉะนั้นหลังคาจั่วที่เราออกแบบนอกจากที่ปกป้องบ้านแล้วก็จะมาครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ภายในบริเวณบ้านให้เหมือนกับอยู่ในร่ม แต่ไม่ได้อยู่ในห้อง”

หลังคาจั่วที่มีชายคายื่นออกมากันแดดบังฝน เกิดพื้นที่กึ่งภายในกึ่งภายนอกที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบ “บ้านๆ” ของผู้อยู่อาศัย

  จากการใช้เหล็กเป็นโครงสร้างทำให้ชายคาของจั่วสามารถทอดตัวยาวคลุมชานบ้านได้โดยไม่เกิดความรู้สึกที่หนาเทอะทะ นอกจากโครงสร้างหลังคาแล้ว เหล็กยังถูกใช้ในส่วนอื่นๆ ของบ้านหลังนี้ ตั้งแต่โครงสร้างบันไดไปจนถึงการตกแต่งผนังและเฟอร์นิเจอร์ “ชื่อ Iron House มาจากธุรกิจของครอบครัวเจ้าของบ้าน เขาทำธุรกิจรีไซเคิลเหล็กซึ่งที่มาของเขามีความน่าสนใจ เราเลยดึงเอาวัสดุที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขามาใช้” ม.ล.วรุตม์ กล่าว “การที่เราเอาเหล็กมาทำให้เป็นบ้านพักอาศัย เราไม่จำเป็นต้องออกแบบให้มันเป็น Industrial ก็ได้ มันอยู่ที่องค์ประกอบหลายๆ อย่าง ของวัสดุที่เราเลือกมาใช้ร่วมกัน อย่างต้นไม้หรือธรรมชาติต่างๆ ก็ทำให้โครงสร้างเหล็กดูนุ่มนวลและพิเศษได้เหมือนกัน”

เหล็ก ไม้ และปูน คือสามวัสดุหลักที่อยู่ร่วมกันในสัดส่วนที่ลงตัวเกิดเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและ มีเอกลักษณ์เฉพาะภายในบ้าน Iron House

  การใช้เหล็กในบ้าน Iron House ได้รับการออกแบบให้นุ่มนวลและน่าสนใจโดยสัมพันธ์ กับธรรมชาติและบริบทรอบด้าน โดยเฉพาะไทรต้นใหญ่ริมคลองซึ่งอยู่คู่กับที่ดินผืนนี้มาเนิ่นนาน ด้วยกิ่งก้านที่แผ่ขยายปกคลุมให้ความร่มรื่นและรูปทรงที่สวยงาม ไทรต้นนี้ได้กลายเป็นแกนหลักในการออกแบบบ้าน “พอเรามาดูไซต์ สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือต้นไทรที่ขึ้นอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้ทุกอย่างมันพุ่งไปที่ต้นไม้ต้นนี้” ม.ล.วรุตม์ เล่า “เพราะฉะนั้น เวลาเข้ามาในบ้าน ทั้ง Court ทั้งสระว่ายน้ำ และองค์ประกอบต่างๆ จะพุ่งเข้ามาหาต้นไม้ต้นนี้”

ไทรต้นใหญ่แผ่กิ่งก้านใบคล้ายกำลังโบกมือทักทายผู้อยู่อาศัยที่เข้ามาในบ้าน ไทรต้นนี้คือองค์ประกอบสำคัญที่สัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ของบ้านอย่างลงตัว

  ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับธรรมชาติรอบๆ ตัวสะท้อนออกมาผ่านการวางตำแหน่งของช่องเปิดที่ไม่เพียงสอดคล้องกับทิศทางลม หน้าต่างแต่ละบานยังเปิดรับมุมมองที่เลือกเฟ้นมาโดยเฉพาะ จนคล้ายกับการเก็บภาพบรรยากาศภายนอกมาใส่กรอบอย่างสวยงามเพื่อสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ภายใน “เราพยายามทำให้บ้าน Relate กับต้นไม้หรือธรรมชาติที่อยู่รอบๆ บริเวณ” ม.ล.วรุตม์ กล่าว “อย่างห้องนอนบนชั้นสองนี่ หน้าต่างด้านหนึ่งก็จะมองไปที่ต้นไทรที่อยู่ด้านข้างพอดีเลย ส่วนห้องนั่งเล่นบนชั้นสอง เวลามองออกไปก็จะไม่มีตึกสูง ไม่มีอะไรมาบดบังสายตาเลย เวลามองก็จะเห็นโดยรอบว่ามีต้นไม้เยอะมากในบริเวณนี้”

ทีมสถาปนิกเว้นที่ว่างในอาคารไว้สำหรับพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสกับต้นไม้ในระยะประชิด เกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคน สถาปัตยกรรม และธรรมชาติที่แนบแน่นยิ่งขึ้น

  นอกจากธรรมชาติรอบๆ บ้านแล้ว ทีมสถาปนิกยังเตรียมที่ว่างสำหรับใส่พื้นที่สีเขียวเข้าไปเติมเต็มเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้านอย่างใกล้ชิด ที่บริเวณโถงทางเข้ามีการเว้นช่องไว้สำหรับปลูกต้นไม้ใน ชั้นล่าง ในขณะเดียวกัน ห้องบนชั้นสองก็มีช่องที่เปิดโอกาสให้ ต้นไม้สามารถเติบโตขึ้นไป ทำให้สมาชิกในบ้านสามารถสัมผัสกับธรรมชาติได้จากหลากระยะและหลายมุมมอง “ผมเป็นคนที่ชอบธรรมชาติ แต่ละงานของผมก็จะพยายามดึงธรรมชาติให้เข้าไปอยู่ใน Space ที่มันสามารถอยู่ได้” ม.ล.วรุตม์ อธิบาย
  จนกว่าที่การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ การเดินทางของจินตนาการ ในงานออกแบบก็ยังไม่หยุดนิ่ง ที่บ้าน Iron House ทีมสถาปนิกจาก VVA ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์บ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบบ้านๆ ภายใต้โครงสร้างเหล็กที่อบอุ่นนุ่มนวล และใกล้ชิดกับธรรมชาติ ที่อยู่รอบๆ ตัว

    TAG
  • IRON HOUSE
  • design
  • architecture
  • work in progress
  • Vin Varavarn Architects
  • vdo

บ้านเหล็กที่นุ่มนวล และแนบชิดกับธรรมชาติ โดย Vin Varavarn Architects

ARCHITECTURE/WORK IN PROGRESS
4 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/WORK IN PROGRESS

    ใครว่า Workplace ไม่สำคัญ! CO.Lab พื้นที่ระเบิดความคิดแห่งใหม่ ของชาว SC Asset

    ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ต้องการกำหนดทิศทางวัฒนธรรมองค์กรใหม่เพื่อหล่อหลอมพนักงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ทั้งด้านการทำงาน ความสุข และคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพให้พนักงานทุกคนได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ พร้อมทั้งสร้างความพึงพอใจและการอยู่อาศัยให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “รู้ใจ” โดยยึดถือหัวใจหลัก “สร้างทุกเช้าที่ดีให้กับลูกค้าทุกคน” เป็นภารกิจสำคัญ ไปทำความรู้จักกับ CO.Lab พื้นที่สร้างสรรค์งานแห่งใหม่ของพนักงาน SC Asset ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร สู่การต่อยอดเป็น Living Solutions Provider

    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • DESIGN/WORK IN PROGRESS

    ANON PAIROT x SAMUEL WILKINSON โปรดักท์ท้องถิ่นที่สวมจิตวิญญาณสากล

    อานนท์ ไพโรจน์ ทำโปรเจกท์ร่วมกับ Samuel Wilkinson ทำโปรดักท์ชิ้นใหม่ที่ผลิตด้วยโรงงานช่างฝีมือของไทย

    EVERYTHING TEAMMarch 2019
  • DESIGN/WORK IN PROGRESS

    BOOK PAVILION

    ลึกเข้าไปผ่านผืนป่า ห้อมล้อมไปด้วยสวนกล้วย ของขวัญชิ้นใหญ่สำหรับนักอ่านในชุมชนแก่งกระจานใกล้จะถึงเวลาได้แกะกล่องในไม่ช้า

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/WORK IN PROGRESS

    ANGULAR HOUSE

    "ทางสามแพร่ง" คงเป็นตำแหน่งที่ตั้งของบ้านที่คนไทยหลายคนพยายามจะหลีกเลี่ยง แต่ลึกเข้าไปในซอยสุขุมวิท 49 หัวมุมทางสามแพร่งแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ที่ช่างภาพชาวเยอรมันเลือกให้เป็นบ้านและแกลเลอรี่ของเขากับภรรยา

    Dorsakun Srichoo6 years ago
  • DESIGN/WORK IN PROGRESS

    MASON / THE STONE CARVER

    MASON THE STONE CARVER ภาพเหล่านี้จะไม่มีวันได้เห็นอีกเมื่อโครงการเสร็จสิ้น คุณวสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกแถวหน้าแห่ง VaSLab Architecture พาชมระหว่างทางการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่คล้ายประติมากรรมหินซ้อนตัว ริมหาดนาจอมเทียน

    EVERYTHING TEAMJuly 2018
  • DESIGN/GARAGE

    “PG” by AAd - Ayutt and Associates design Project Garage อาคารการาจและแกลเลอรี่ ที่เหมือนประติมากรรมชิ้นเอกท่ามกลางขุนเขา

    ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสถาปัตยกรรมหลังหนึ่งที่ดูคล้ายงานประติมากรรมตั้งเคียงข้างขุนเขา นี่คือ PG หรือย่อมาจาก Project Garage ออกแบบโดย AAd - Ayutt and Associates design นี่ไม่ใช่บ้านพักอาศัย แต่คืออาคารที่ฟอร์มขึ้นจากแพสชั่นของเจ้าของบ้านผู้เป็นนักสะสมทั้งรถยนต์และงานศิลปะ

    EVERYTHING TEAMFebruary 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )