Instagramable Space : when space is matter on the phone | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Instagramable Space
: when space is matter on the phone

Writers :
สันต์ สุวัจฉราภินันท์
วราพล สุริยา

หนึ่งในโจทย์ที่ทางผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมมักจะได้จากลูกค้า คือ “หาจุดถ่ายภาพเช็คอินให้ด้วยนะครับ จริงๆ แล้วหากพิจารณาจากประโยคสั้นๆ นี้แบบผิวเผิน มันไม่ได้มีอะไรแปลกเลยจากโจทย์ที่ทางลูกค้าให้ เพราะลูกค้าคงจะเห็นช่องทางหรือวิธีการโปรโมทร้านทางโลกโซเซียล แต่หากวิเคราะห์ต่อไปอีกนิด สิ่งนี้อาจจะกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนความหมายและทิศทางของการออกแบบสถาปัตยกรรมไปเลยทีเดียว

AUBE (โอบ) by PHTAA

ในช่วงที่ผ่านมา โครงการเช่น AUBE (โอบ) ที่เป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการแต่งงาน แต่สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในแนวคิดและกระบวนการออกแบบคือ จะทำให้สถานที่ส่งเสริมกิจกรรมของการแต่งงานแต่ละช่วงเวลาอย่างไรให้ ภาพที่ออกมาดูดีที่สุด ดูมีความสง่า ดูมีการแสดงออกถึงความรักอย่างสวยและงดงาม (https://aubevenue.com/) หรือโครงการปรับปรุงโกดังเก่าที่เคยใช้เป็นโรงงานประกอบรถยนต์ในซอยสุขุมวิท 26 ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะและเรื่องราวความเป็นมาของรถจักรยานยนต์เวสป้า หรือที่เรียกว่า House of La Dolce Vita in Scooter 2019 ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจออกแบบให้ “สเปซที่คนสามารถเดินเข้ามาแล้วมีอารมณ์ร่วมสนุก… ออกแบบให้คนถ่ายรูป… ทำยังไงให้สถาปัตยกรรมมันเข้ามามีส่วนร่วมในการเล่าเรื่อง” ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นที่บ้านเราอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นกับพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่หวงห้ามไม่ให้ถ่ายรูป แต่ปัจจุบันท่าทีของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ กลับเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ “มีส่วนร่วม” กับผู้คน เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ถ่ายรูปตัวเอง (Selfie) กับผลงานชิ้นต่างๆ ทั้งเพื่อให้เกิดเป็นภาพโปรไฟล์ (Profile Picture) หรือรูปที่แสดงตัวเองอย่างน่าสนใจ แปลก และพิเศษกว่าสถานที่อื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการขยายเรื่องราวของทางพิพิธภัณฑ์กายภาพเข้าสู่โลกออนไลน์ได้อีกทางหนึ่งด้วย (https://www.artistsnetwork.com/artist-life/selfie-not-selfie-art-museums/) จะเห็นได้ว่าการออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมในช่วงเวลานี้ไม่เพียงแค่จะต้องตอบสนองต่อ การใช้สอย รูปลักษณ์ ความดึงดูดใจ ความงาม ยังจะต้องตอบสนองต่อ “ความสามารถในการที่จะเอาภาพของตึก หรือของมุมๆ นั้นไปลงในแอพพลิเคชั่น (Application) อย่างสวยงาม มีชั้นเชิง ส่งเสริมทั้งตัวคนและโปรไฟล์ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อินสตาแกรม (Instagram)” ที่เป็น Platform ของสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่อาศัยหลักการดึงดูดและเชื่อมโยงโดยภาพถ่ายเป็นหลัก หรือที่บทความชิ้นนี้จะขอเรียกพื้นที่ในลักษณะดังกล่าวว่า “Instagramable Space”

House of La Dolce Vita in Scooter 2019
Why We Post ของ Daniel Miller

Online Identity and Instagramable space

ก่อนที่จะเข้าไปขยายความถึงแง่มุมของ “พื้นที่ที่สามารถปรากฏตัวอย่างสวยงามภายใต้เงื่อนไขของอินสตาแกรม” หรือ Instagramable Space เราน่าจะขยายความในประเด็นที่ว่า “ทำไมเราจะต้องโพสต์” ด้วย ในหนังสือ Why We Post ของ Daniel Miller ได้ทำการอธิบายปรากฏการณ์ของการโพสต์ (Post) เอาไว้ว่า ภาพต่างๆ ที่เราโพสต์ลงไปในโลกออนไลน์นั้น เพื่อเป็นการ “แสดงตัวตน” แสดงทัศนะคติต่างๆ ความใฝ่ฝัน เป็นการแชร์ความคิด ความรู้สึก และเป็นการสร้างความยอมรับในกลุ่มที่ตัวเองอยู่ในโลกสังคมออนไลน์ ในโลกสังคมออนไลน์ไม่ใช่โลกในอุดมคติที่ปราศจากการสร้างและกำหนดชนชั้น กลไกการควบคุมอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากส่วนกลาง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสะสมทุนเหมือนในโลกทุนนิยม การค้าเสรี ภายในโลกสังคมออนไลน์นั้นลำดับชั้นและโครงสร้างทางสังคมเกิดขึ้นจากความนิยมของคนๆ นั้น หรือที่เรียกว่าความป๊อป (Popular) ที่วัดจากยอดไลค์ (Like) ยอดแชร์ (Share) และยอดติดตาม (Following)

บ่อยครั้งที่เราเชื่อและมั่นใจว่า “เราโพสต์ในสิ่งที่เป็นเรา และเราไม่ตามกระแสใคร” แต่เราอาจจะลืมไปว่าในแต่ละภาพ ในแต่ละ Bit and Bite ที่เราเข้าสู่โลกสังคมออนไลน์ ตัวตนของเรากำลังถูกแต่งเติม ปรับแต่ง ตามสิ่งที่ปรากฏ ตามภาพที่ติดตาม ตามอัลกอริทึม (Algorithm) ของภายในสถาปัตยกรรมของแอพพลิเคชั่น ที่คัดสรรสิ่งที่เราชอบดูขึ้นมา (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Netflix : Social Dilemma) เราอาจจะกำลังโพสต์ในสิ่งที่เราให้คนอื่นๆ อยากเห็นว่าเราเป็นอย่างไร ถ้าอธิบายตามแนวทฤษฏีแบบลาก๊อง (Lacanian) คือในทุกโพสต์ที่เราโพสต์ เรากำลังสร้างตัวตนจากสายตาของคนๆ อื่นเสมอ สิ่งที่น่าคิดคือ ในทุกโพสต์ที่เราโพสต์ มันคือ “ภาพ” ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายของสิ่งของ สถานที่ สัตว์เลี้ยง อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ทั้งหมดคือถูกลดทอนลงไปอยู่ใน “ภาพ” ดังนั้นมันจะน่าตื่นเต้นแค่ไหน หากมันมีพื้นที่ที่ถูกออกแบบมาให้ คนที่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย หรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นแล้ว สนุกกับการถ่ายภาพ สนุกกับการถูกถ่ายภาพ สนุกกับภาพที่ออกมา ยิ่งจากจุดมุ่งหมายของเจ้าของสถานที่หรือร้านค้าต่างๆ ที่ต้องการให้เกิด “มุมถ่ายภาพเช็คอิน” เป็นไปได้ไหมว่า “ภาพ” นี้ถูกจัดเตรียมเอาไว้อย่างเหมาะเจาะลงตัว มีกลไกในการออกแบบ กำหนดมุม เส้นสายนำสายตา แสงที่กำลังดี ที่สำคัญปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น “ก่อน” ที่จะมีผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วมถ่ายภาพกับมุมนี้เสียอีก

Coffee Place, Café and Chiang Mai City

พื้นที่ที่ถูกออกแบบเอาไว้อย่างแยบยล สวยงามแต่แฝงพรางตาเอาไว้ด้วยกลไกต่างๆ ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการถ่ายภาพ และแน่นอนว่า “ภาพ” ที่ได้ออกมานั้นจะต้องสวย ส่งเสริมตัวตน ยกระดับโปรไฟล์ เพิ่มยอดไลค์ ยอดแชร์ ผู้คนติดตามทั้งคนในภาพและสถานที่ที่ภาพนั้นถูกถ่าย Instagramable Space ในร้านคาเฟ่ (Café) ที่เชียงใหม่เป็นกรณีศึกษาที่เราจะทำการขยายความและวิเคราะห์ สิ่งที่น่าคิดโดยเฉพาะปรากฏการณ์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ ถ้าพิจารณาแบบคร่าวๆ เรามีร้านกาแฟ เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด การขยายตัวของธุรกิจของร้านกาแฟในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันกันในระดับที่สูงจนมีจำนวนร้านกาแฟติดอันดับหนึ่งในสามของประเทศ ในปี 2017 ภาคจังหวัดเชียงใหม่ออกนโยบายให้เชียงใหม่เป็น “เมืองกาแฟ” กล่าวคือ ให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความพร้อมในด้านการแหล่งเพาะปลูก การแปรรูป การจัดจำหน่าย ซึ่งภาคจังหวัดอาศัยข้อมูลจากการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆของทั้งทางภาคการเพาะปลูก การเกิดขึ้นของร้านที่มากขึ้น รวมไปถึงมูลค่าการตลาดมวลรวมของร้านกาแฟที่มีมากถึง 3 พันล้านบาท ในปี 2019 ผลสำรวจของ Wongnai.com ได้กล่าวว่า “ร้านกาแฟและคาเฟ่” เป็นประเภทของร้านอาหารที่เปิดใหม่ในปี 2019 มากถึง 364 ร้านจากเดิมในปี 2018 ที่มีจำนวนร้านที่เปิดใหม่ 349 ร้าน เป็นที่น่าสังเกตการใช้คำว่า “คาเฟ่” ไม่ใช่คำว่า “ร้านกาแฟ” อาจจะเป็นการแยกแยะลักษณะของร้านกาแฟที่มีความโดดเด่นในการออกแบบตกแต่ง ไม่ได้เน้นการขายกาแฟแต่เพียงอย่างเดียว เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคน Generation Y และ Z มากกว่า มีข้อสังเกตว่าคนในกลุ่มรุ่นนี้มักจะไม่ได้ใช้ “คาเฟ่” เพื่อการนั่งทำงานกลุ่ม ประชุม แบบที่เราเคยพบใน Starbucks แต่พวกเขามักจะคิดว่าไปร้านคาเฟ่ เพื่อการพักผ่อน ไปเจอเพื่อน เช็คอิน และแน่นอนว่าเป็นการท่องเที่ยวทริปหนึ่ง

ผู้เขียนเองเคยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเราไม่ค่อยถ่ายรูปตัวเองใน Café Amazon ที่มีอยู่มากมายหลายสาขา หรือทำไมเราไม่ค่อยตื่นเต้นกับการออกแบบพื้นที่ภายในของ Starbucks เหมือนอย่างที่เราตื่นเต้นกับร้านคาเฟ่ เปิดใหม่ คำตอบที่ได้มาส่วนหนึ่งระบุว่า ลักษณะภาพที่ได้เน้นไปที่ ขนม อาหาร และความสำคัญของแบรนด์ (Brand Loyalty) และถ้าร้านที่เข้าถึงง่ายเกินไปดาษดื่น ก็ไม่ได้มีผลต่อ “ภาพ” ที่ได้รับการถ่ายจากที่ๆ นั้นสำหรับการสร้างให้ตัวตนที่ปรากฏต่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นในการขยายความต่อไป “ภาพ” ถ่ายที่กำลังจะหมายถึง เราจะเน้นไปที่ ภาพถ่ายบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับสถานที่เท่านั้น ส่วนภาพอาหาร ภาพเครื่องดื่ม ภาพถ่ายสินค้าของแบรนด์คาเฟ่ จะยังไม่นำมาร่วมพิจารณาในบทความนี้

Cafe and Instagramable Space

ไม่ใช่ “คาเฟ่” ทุกร้านที่ได้รับการออกแบบอย่างดี จะดังและดึงดูดให้ผู้คนแห่กันไปโพสต์ท่าถ่ายภาพและแชร์กันในโลกออนไลน์ แสดงว่า “คาเฟ่” บางร้านที่ผู้คนติดตามไปถ่ายน่าจะต้องมีคุณสมบัติทางพื้นที่และสถาปัตยกรรมอะไรบางอย่างที่ดึดดูดให้ คนที่เข้าไปยกกล้องถ่ายภาพ แน่นอนว่าบางคนอาจจะคิดถึงการจ้างคนดัง ดารา หรือ คนที่มีคนติดตามเยอะ หรือที่เราเรียกว่าเซเลบริตี้ (Celebrity) นั้นเป็น “ทางด่วน” ของการทำให้ร้านคาเฟ่ร้านนั้นๆ มีคนตามรอย เข้าไปดื่มกาแฟ ถ่ายรูป เช็คอิน แต่อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสำคัญของการที่จะทำให้ยอดไลค์ ยอดแชร์ หรือความถี่ของภาพถ่ายที่จะปรากฏในโลกออนไลน์นั้นก็จะต้องมีพื้นฐานสำคัญของ บรรยากาศร้าน เครื่องดื่ม บริการของพนักงาน รวมถึงความเร็วของอินเตอร์เนต และ ตำแหน่งปลั๊กในการเสียบอุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังคงเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ขาดไม่ได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น ในบทความนี้ขอนำเสนอและแยกแยะความเป็นไปได้ในการจัดการทางสถาปัตยกรรมที่ให้เกิดคุณลักษณะของพื้นที่ ที่เรียกว่า “Instagramable Space” ออกเป็น 4 เงื่อนไข

1) More Photo Opportunity, Less Explicitly Set up

ระหว่างภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งแบบตั้งใจ เช่น ภาพที่เกิดจากการกำหนดมุมกล้องเรื่องราวแบบที่พบเจอใน 3D Museum นั้นเทียบกับภาพที่เกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดภาพที่สวย เหมือนเป็นธรรมชาติ หรือที่ตามภาษาของคนถ่ายภาพคือ Photo Opportunity ที่ทำให้ร้านหวายที่อยู่ตรงกันข้ามกับหน้าร้าน Brewing Room บนถนนช้างม่อยกลายเป็นจุดถ่ายภาพที่ “ป๊อป” ขึ้นมาอย่างมาก การจัดตั้งมากเกินไปนั้น เหมือนเป็นการสร้างฉากสำหรับถ่ายรูปรับปริญญา ซุ้มดอกไม้ถ่ายภาพ ภาพที่ถูกจัดตั้งแบบนี้ ไม่ได้อยู่ในกลไกของ Instagramable Space เลย เพราะการจัดวางดังกล่าวดูกำหนดเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้คนที่เข้าไปถ่ายสร้างเรื่องราวของตัวเอง หรือพูดอีกอย่างคือ ตัวตนที่จะปรากฏในภาพได้ถูกกำหนดถูกควบคุมเอาไว้แต่ต้นและมากเกินไป

ภาพจากงานวิจัยของคุณวราพล สุริยา

2) One-Point Perspective

การถ่ายภาพคนให้สวย เชื่อมโยงกับพื้นที่และองค์ประกอบของฉากหลังส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในลักษณะการถ่ายภาพแบบ One-point Perspective เพราะเส้นขององค์ประกอบจะเข้ามาช่วยในการสร้างและกำหนดจุดเด่น เพราะองค์ประกอบของพื้นที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้เกิดมุมเน้นและเส้นนำสายตา และที่สำคัญจะไม่ทำให้ภาพดูรก เมื่อโพสต์เข้าสู่อินสตาแกรม พื้นหลังในพื้นที่จริงจะกลายเป็นพื้นหลังในรูปที่โพสต์ในอินสตาแกรม หากเมื่อเปิดหน้าแรกขึ้นมาในโปรไฟล์ของอินสตาแกรมแล้ว ภาพดูขัดแย้ง ดูรก ก็อาจจะเทียบได้กับหน้าบ้านที่รกไม่น่ามอง

ภาพจากอินสตาแกรมของคุณต่อ - ธนิต สุวณีชย์

3) Wow Effect

คาเฟ่เกือบทุกร้านจำเป็นต้องหาจุดยืน จุดที่สร้างความแตกต่าง แต่ทว่าการสร้างความแตกต่างนั้น ยากขึ้นไปทุกที เพราะทุกร้านต้องการสร้างจุดที่แตกต่าง ดังนั้นความเป็นไปได้ในการสร้างร้านที่ไม่เหมือนใครนั้น จะต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบและตัดสินใจทำทันที เช่น ร้านที่มีตุ๊กตาใหญ่โตแบบโอเวอร์สเกลก็มีแล้ว ร้านที่ปรับจากบ้านเก่าก็มีแล้ว ร้านติดแม่น้ำก็มีแล้ว ร้านที่มีบาร์ยาวๆ ก็มีแล้ว ร้านที่มีทางม้าลายด้านหน้าก็มีแล้ว ร้านมืดๆ สลัวๆ ก็มีแล้ว ร้านที่เน้นภาพความเป็นบ้านๆ ก็พบเห็นได้มากมาย อย่างไรก็ตามเพราะด้วยความที่เป็น คาเฟ่กับ Wow Effect นี้เองที่น่าจะเป็นตัวดึงดูดให้เหล่านักเรียนนักศึกษาใน Gen Y และ Z ติดตามไปค้นหา ไปเที่ยวดู และไปเช็คอิน น่าสนใจตรงที่คาเฟ่บางแห่งเรียบนิ่งตกแต่งน้อยมากๆ จนหลายๆ คนเรียกว่าเป็นมินิมัลสไตล์ แต่ทว่ากลับสามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปค้นหาถ่ายรูป อาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อเข้าไปในคาเฟ่แนวมินิมัลสไตล์เหล่านั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหมือนไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ไม่ได้อยู่ในเชียงใหม่ อาจจะเป็นเพราะเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่ดึงดูดให้หลายๆ ต่อหลายคนนึกไปถึง คาเฟ่ในกลางกรุงโซลหรือกรุงโตเกียว (ดูตัวอย่างภาพจากอินสตาแกรมของคุณต่อ - ธนิต สุวณีชย์)

4) White (or Light Grey) is the best

สไตล์การแต่งร้าน ก็มีความจำเป็นอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งสีดำเคยอินเทรน ต่อมาแนวอินดัสทรี แนวลอฟต์ (หรือตกแต่งแบบแนวอุตสาหกรรม) จนมาถึงแนวเกาหลี ญี่ปุ่น ที่เน้นความน้อย ความสบาย ความสะอาด โดยเฉพาะสีขาวหรือสีเทาอ่อน ที่จะทำให้คนที่ถูกถ่าย (หรือแม้แต่อาหารที่จะถูกถ่าย) ดูเด่น ดูดี เพิ่มแสงให้กับภาพ ไม่ข่มคน และที่สำคัญสามารถถ่ายด้วยกล้องมือถือได้แบบไม่สั่นไหว ไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง รูรับแสงกว้าง ความไวต่ำ รวมถึงการกำหนดจุดใช้ไฟในร้านด้วย เพราะหากร้านที่ไม่ได้คำนึงถึงแสงที่ตกกระทบ หรือมุมที่น่าจะถ่ายรูปกลายเป็นมุมย้อนแสง ถ่ายออกมาไม่สวย หน้าดำ พื้นที่นั้นอาจจะไม่ดึงดูดผู้คนให้ไปถ่ายภาพด้วย แต่ก็ด้วยความแปลกและพิเศษก็คงจะไม่แปลกถ้าคนที่ไปอยากจะถ่ายพื้นที่ ถ่ายร้านเพื่อที่จะแชร์กับเพื่อนๆ ในโลกโซเชียลว่า “ฉันได้มาร้านนี้แล้วนะ”

Instagramable Space is a New Decorated Shed

หรือจริงๆ แล้ว Instagramable Space ก็คือการเป็นฉากถ่ายภาพที่อยู่ตามตึก ตามคาเฟ่ต่างๆ อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น ถ้าเราพิจารณา Instagramable Space ในมุมมองนั้น เท่ากับเราได้มองข้ามกลไกอะไรบางอย่างที่ถูกสอดแทรกอย่างละเมียดบรรจงลงไป ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าของร้าน หรือคนออกแบบ สิ่งที่เราได้เรียนรู้กับ Instagramable Space คือกลไกเหล่านี้ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง Robert Venturi ได้เข้าไปสำรวจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ สถาปัตยตกรรมนอกกระแสยุคสมัยใหม่ ที่ปรากฏบนถนน Route 66 ในลาสเวกัส จนเกิดเป็นหนังสือเล่มสำคัญต่อการวิพากษ์สถาปัตยกรรมและเป็นการจุดฉนวนในการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของสถาปัตยกรรมเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่

Learning from Las Vegas (1972)

Learning from Las Vegas (1972) คือหนังสือเล่มนั้น เป็นเหมือนงานวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า Urban Vernacular ของทาง อเมริกัน ที่อาจจะมองได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจาก นิยาม คำว่า "สถาปัตยกรรม" ที่ทำงานเหมือนเป็น กรอบกำหนดของความเป็น สถาปัตยกรรม ว่าอะไรที่เป็นและอะไรที่ไม่เป็น เหมือนสิ่งที่เรียกว่า High Art and Low Artประเด็นหลักที่น่าสนใจที่หนังสือเล่มนั้นมอบให้กับเรา มีอยู่สองประเด็นหลัก 1) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการมองเห็น การเคลื่อนที่ และการปรากฏตัวของสถาปัตยกรรม และ 2) การวิเคราะห์ผลผลิตที่เกิดขึ้นทางสถาปัตยกรรมพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานอาคารเข้ากับป้าย หรือที่เรารู้จักกันในนาม The Duck และ The Decorated Shed ในประเด็นแรก คือ การทำความเข้าใจและคลี่คลายกลไกที่ทำให้ สถาปัตยกรรม หรือ ป้าย ปรากฏตัวให้ผู้คนได้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็น ขนาด รูปแบบของป้ายที่สัมพันธ์กับภูมิประเทศ ระยะห่างความใกล้ไกลในการตั้งป้าย ด้วยการวิเคราะห์กลไกของสิ่งเหล่า จึงนำไปสู่การวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า ผลผลิตของการผสมผสานสถาปัตยกรรมพันธุ์ใหม่ระหว่าง สถาปัตยกรรมและป้าย เข้าด้วยกัน การผสมผสานนั้นมีสองวิธี วิธีแรก (The Duck) หมายถึง ป้ายและเนื้อหาของป้ายที่ต้องการจะสื่อคลุมตัวอาคาร ข้างในขายอะไร ทำกิจกรรมอะไร ก็ปรากฏและพบเห็นได้อย่างโจ่งแจ้งตั้งแต่ด้านนอก วิธีที่สอง (The Decorated Shed) หมายถึง การปะติดสิ่งที่ต้องการจะสื่อลงไปกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันเลย เป็นการตัดต่อ เนื้อหาด้านในกับสิ่งที่ปรากฏด้าน นอกไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กันเลย แต่การปะติดลงไปสามารถสื่อให้เห็นเนื้อหาที่อยู่ภายในได้

คาเฟ่ ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี่ น่าจะหมายถึง The (New) Decorated Shed ตามมุมมองของเวนทูรี ที่เกิดขึ้นจากความพยายามผสมผสานตัวอาคารกับวิธีการสร้างและถ่ายภาพ เพียงแต่คราวนี้มีคนและกล้องมือถือเข้าไปเป็นตัวเชื่อม ตัวสถาปัตยกรรมค่อยๆ กลายเป็น “สัญญะ” ที่ไปปรากฏในโลกโซเซียล สถาปัตยกรรมคาเฟ่ ที่มี Instagramable Space เป็นกลไกหลักกำลังทำหน้าที่ในการสื่อและสร้างความหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงตัวตนของร้านหรือเอื้อให้ผู้คนได้ใช้มันเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงตัวตน คาเฟ่ คือ “สัญญะ” ทำหน้าที่มากกว่าประโยชน์ใช้สอยของร้านกาแฟที่มาเพื่อดื่มกาแฟ แต่เป็นการบริโภคสัญญะและในเวลาเดียวกันก็ผลิตซ้ำทางความหมาย เป็นวงจรที่หมุนวนระหว่างโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์ เมื่อพิจารณาคาเฟ่และ Instagramable Space ของมันแล้วเราจะพบว่าโลกของการออกแบบกำลังเคลื่อนไปในจุดใหม่ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม

    TAG
  • Instagramable
  • space
  • cafe
  • SOCIAL MEDIA
  • culture

Instagramable Space : when space is matter on the phone

TECHNOLOGY/SOCIAL MEDIA
February 2021
CONTRIBUTORS
Warapon Suriya, Sant Suwatcharapinun
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/Community Space

    เบื้องหลังการทรานส์ฟอร์มสู่ “NEXT TECH X SCBX” ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับสยามพารากอน

    เกือบ 2 ทศวรรษแล้วที่สยามพารากอนก่อตั้งขึ้น พร้อมก้าวเป็น World-class Global Destination ที่ทั่วโลกรู้จัก ในฐานะศูนย์การค้าที่ดีที่สุดของไทย ที่รวมไลฟ์สไตล์ชั้นนำของผู้คนไว้อย่างครบครัน ต้องยกเครดิตให้กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร คุณชฏาทิพ จูตระกูล พร้อมด้วยเหล่าทีมงานหัวสมัยใหม่ที่มีทั้งไฟและความสามารถ มาร่วมขับเคลื่อนให้สยามพารากอนก้าวทันยุคสมัย และปรับตัวได้กับทุกความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจาก Digital Disruption มาสู่ Digital Transformation ทำให้เกิดอีกหนึ่งก้าวเดินหน้าของสยามพารากอนที่เป็นมากกว่าศูนย์การค้า แต่ทรานส์ฟอร์มสู่การเป็น “The World of Tomorrow” ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแห่งโลกอนาคต โดยการสร้าง “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต บนชั้น 4 สยามพารากอน โดยถือเป็นการพลิกโฉมใหม่ให้กับโลกศูนย์การค้าและธุรกิจรีเทลเลยก็ว่าได้ ซึ่งหนึ่งในมันสมองผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ใหญ่ที่สร้างปรากฎการณ์ครั้งใหม่ให้กับสยามพาราก่อน ก็คือ คุณเบียร์ - สาลวิท สุวิพร ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (HEAD OF THINK TANK) ผู้ร่วมปลุกปั้นตั้งแต่เริ่มต้นเป็นไอเดีย ที่จะมาอธิบายถึงการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญนี้

    EVERYTHING TEAMFebruary 2024
  • CULTURE&LIFESTYLE/EVENT

    GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together

    แม้จะผ่านพ้นไปแล้วกับงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานยิ่งใหญ่ที่มีผู้นำ ผู้บุกเบิก นวัตกร และผู้ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากหลากหลายวงการทั่วโลก ให้มาร่วมแชร์แนวคิด และแนวทาง เพื่อนำไปสู่ทิศทางเดียวกันในการสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าให้กับโลกไปด้วยกัน แต่หนึ่งในไฮไลท์สำคัญที่ทำให้เราได้มุมมองความคิดดีๆ เพื่อนำไปต่อยอดสู่เชิงปฏิบัติ เป็น Circular in action ของเราเอง คือ Session ช่วงบ่ายที่มี Speaker ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศมาแชร์มุมมองหลากหลาย ในหัวข้อต่างๆ อย่างเข้มข้น แบ่งออกเป็น 3 ห้อง คือ ห้อง 1 ว่าด้วยเรื่องของ “BETTER LIVING THROUGH INNOVATIONS” ห้อง 2 เรื่องของ CIRCULAR IN ACTION THROUGH LIFESTYLES และ ห้อง 3 UPCYCLING SHOWCASE: THE BETTER SOLUTIONS ซึ่งแต่ละห้องนั้นเต็มไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งใครที่พลาดร่วมงาน หรืออยากทบทวนกันอีกครั้ง ในวันนี้เราได้สรุปเนื้อหาการบรรยายจากเหล่าวิทยากรมาให้อ่านกัน

    By GC
    EVERYTHING TEAMJanuary 2021
  • CULTURE&LIFESTYLE/EVENT

    ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตระหนักรู้สู่การปฏิบัติจริง กับ GC Circular Living Symposium 2020 ปีที่ 2

    หลักจากเวที Symposium ในปีที่แล้วเป็นปฐมบทสำคัญ ที่ช่วยสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงในระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนสังคมโลกสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาถึง GC Circular Living Symposium 2020 ปีที่ 2 นี้ ทาง GC ได้มุ่งตอกย้ำ และต่อยอดการผนึกกำลังขับเคลื่อน จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง เป็น Circular in Action ภายใต้ธีม “Tomorrow Together”

    By GC
    EVERYTHING TEAM4 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/PRODUCT

    FROM HYPOTHESIS TO REALITY

    เริ่มจากสเก็ตช์ลายเส้นด้วยปากกาในสมุด ส่งต่อความคิดด้วยการถูกพิมพ์ลงขยายใหญ่บนกระดาษขนาดใหญ่ เพื่อนำมาระดมสมองเบรนสตอร์มร่วมกับทีม ภาพโครงสร้างที่ถูกพัฒนาต่อบนโปรแกรม 3D และสร้างโมเดลเพื่อต่อยอดการออกแบบนั้นให้สำเร็จทดลองสมมติฐานต่างๆ ที่ตั้งไว้ นั่นเป็นรูปแบบการทำงานของคุณบิว - มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา สถาปนิก และดีไซน์ไดเร็กเตอร์ภายในออฟฟิศ Hypothesis ที่แม้จะก้าวสู่ยุคดิจิตอลดิจิทัลแล้ว แต่ยังคงชื่นชอบสเก็ตช์การร่างไอเดียด้วยมือแบบอนาล็อก เช่นเดียวกับแนวคิดการออกแบบของเขาที่กลับสู่พื้นฐานเรียบง่ายอย่างการตั้งคำถาม และหาคำตอบที่แต่นำไปสู่การสร้างสมมติฐานที่แตกต่างให้กับวงการออกแบบและสังคมโลกได้อย่างน่าทึ่ง

    By EPSON
    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/OUR FEATURE

    THE DRONES SERIES

    ไม่ต้องมีญาณ ไม่ต้องพึ่งร่างทรง เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันก็สามารถใช้พยากรณ์อนาคตของมนุษย์ได้ วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมมีโอกาสเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

    EVERYTHING TEAMJune 2018
  • PEOPLE/INTERVIEW

    KIKI กับการเดินทางก้าวต่อไปของความคิดสร้างสรรค์บนเส้นทางดนตรี

    ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน

    EVERYTHING TEAM4 days ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )