LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
แม้พื้นที่มีจำกัด แต่ความต้องการไม่ถูกปิดกั้น TOUCH Architect ออกแบบ House Enfold
บ้านหลังเล็กที่อัดแน่นไว้ด้วยพื้นที่ใช้สอยซึ่งเรียงร้อยโอบล้อมสวนกลางบ้านอย่างลงตัว
การสร้างบ้านบนที่ดินรูปทรงจตุรัสขนาด 50 ตารางวาให้มี 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ แล้วเหลือที่ว่างๆ ไว้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ให้เจ้าของบ้านได้ผ่อนคลายคือโจทย์สำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ จากการศึกษา Diagram ทางการออกแบบ ทีมสถาปนิกพบว่าผังอาคารที่เป็นเส้นตรงคือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโครงการนี้ แต่ความท้าทายก็คือการจัดวางอาคารแบบเส้นตรงลงไปในที่ตั้งรูปทรงจตุรัสขนาดไม่ใหญ่นัก “ตัว Linear (เส้นตรง) ไม่สามารถใส่ลงไปในที่ดินซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสได้ ไม่อย่างนั้นบ้านจะหลังเล็กเกินไป” ภาพิศ ลีลานิรมล ผู้ร่วมก่อตั้ง TOUCH Architectอธิบาย “เราก็เลยค่อยๆ พัฒนา Mass (รูปทรง) โดยค่อยๆ พับตัว Circulation (เส้นทางสัญจรในบ้าน) ไปพร้อมๆ กับตัว Mass แทนที่จะเป็นตัว Linear ยาวๆ เราก็หักตัว Linear มาเป็นตัว ‘I’ สองตัววางซ้อนกัน”
ด้วยการพับเส้นทางสัญจรที่เป็นเส้นตรงให้วนไปตามรูปทรงของอาคารที่มีลักษณะเป็นตัว ‘I’ สองตัวซ้อนกัน ตั้งแต่ประตูหน้าบ้าน ค่อยๆ เข้าไปด้านใน แล้วไต่บันไดขึ้นไปจนถึงดาดฟ้า ทำให้เกิดพื้นที่ว่างบริเวณกลางบ้านเป็นสวนกลางแจ้งขนาดย่อม “มันก็จะเหมือนเป็นตัว Mass ล้อม Circulation แล้ว Circulation ก็ล้อมตัว Court อีกที” ภาพิศ อธิบาย “ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า House Enfold คือ Fold ที่แปลว่าพับแล้ว Enfold ที่แปลว่าโอบล้อมโอบกอด”
ภายในบ้านที่โอบล้อมรอบสวนนี้ พื้นที่ซึ่งเป็นทางสัญจรมีลักษณะคล้ายเป็น Single Corridor แบบผังอาคารเส้นตรง โดยเส้นทางเดินจะพับวนรอบสวนซึ่งอยู่ทางซ้าย และมีห้องต่างๆ อยู่ทางด้านขวา ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถผ่อนคลายกับธรรมชาติได้จากทุกส่วนของบ้าน ในขณะเดียวกัน บรรยากาศภายในก็มีความปลอดโปร่งโล่งสบาย ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติที่กระจายมาจากสวนกลางบ้าน
ในการออกแบบบ้าน House Enfold ทีมสถาปนิกให้ความสำคัญกับบริบทรอบข้างอย่างละเอียด การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ภายในบ้านมีความสัมพันธ์กับทิศทางของแดด การถ่ายเทของลม และมุมมองรอบข้างเป็นอย่างดี ห้องนอนใหญ่และห้องนั่งเล่นตั้งอยู่ที่ด้านหลังของบ้านเพื่อเปิดรับมุมมองของบึง “ด้านหลังบ้านเป็นบึง เราก็เลยอยากให้ห้องนอนใหญ่และห้องนั่งเล่นไป Take View ด้านหลังบ้านเพราะวิวค่อนข้างสวย” ภาพิศ กล่าว “แต่ด้านหลังเป็นทิศที่ค่อนข้างร้อน เราก็ต้องมีการคิดว่าเราจะทำยังไงให้บ้านมันอยู่สบาย”
เพื่อกรองความร้อนจากแสงแดดที่จะส่องเข้ามา ผนังด้านหลังของห้องนั่งเล่นมีการออกแบบแผงกันแดดซึ่งเป็นระแนงอลูมิเนียมบานเฟี้ยมลายไม้ติดตั้งไว้ นอกจากช่วยกันความร้อนแล้ว เมื่อระแนงบานเฟี้ยมนี้ปิดล็อก มันยังทำหน้าที่เป็นเสมือนเหล็กดัดเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้อยู่อาศัยและทรัพย์สินในบ้านอีกด้วย
โถงบันไดตั้งอยู่ทางทิศใต้เพื่อกันความร้อนจากแสงแดดและบังสายตาจากบ้านข้างเคียงเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายในบ้าน หลังคาของบันไดเป็น Skylight (หลังคากระจก) ซึ่งเอียงลาดขนานกับความสูงของบันได หลังคา Skylight นี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มแสงสว่างให้กับพื้นที่ในบ้าน หากยังทำให้เกิดมุมมองที่น่าสนใจจากบริเวณชั้นสองอีกด้วย “ที่ใช้ Skylight เพราะไม่อยากให้ตัวบันไดมืด” ภาพิศ กล่าว “และเรื่องวิว เวลาเรายืนตรงระเบียงทางเดินชั้นสอง พอมองลงไปตรงทางเดิน ถ้าไม่ใช่ Skylight เราจะเห็นแค่ Slope หลังคาตันๆ แต่พอเราเปิดเป็น Skylight เราก็สามารถมองทะลุไปเห็นวิวด้านหลังได้ด้วย”
เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัย ผนังด้านหน้าของบ้านถูกหุ้มด้วยระแนงอลูมิเนียมสีขาว นอกจากจะทำหน้าที่กันสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนนหน้าบ้านและกรองความร้อนจากแสงแดดแล้ว ระแนงนี้ยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับรูปลักษณ์ภายนอกของบ้าน House Enfold อีกด้วย ด้วยระนาบของระแนงที่ค่อยๆ โค้งออกจากตัวบ้านคล้ายกับเปลือกที่กำลังเปิดออกทำให้รูปทรงอาคารดูมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ เส้นโค้งของระแนงก่อให้เกิดมิติของแสงและเงาบนผิวผนังที่แตกต่างจากแผงกันแดดทั่วๆ ไป “การที่ระแนงเป็นโค้งแบบนี้ ตัวแสงที่เข้ามาจะได้ Effect อีกแบบหนึ่ง” ภาพิศ กล่าว “แล้วก็เป็น Concept ที่เราตั้งใจฉีก Facade (แผงอาคาร) ออกมาเพื่อให้เงาจะทอดคลุมผนังทั้งหมด”
การใช้อลูมิเนียมเป็นระแนงไม่เพียงช่วยลดภาระในการดูแลรักษาในระยะยาว หากยังช่วยลดน้ำหนักของโครงสร้างของอาคารอีกด้วย การเลือกใช้สีโทนสว่างทำให้บ้านที่มีขนาดกระทัดรัดแลดูโปร่งสบายไม่อึดอัด ในขณะเดียวกัน การใช้ไม้แทรกเข้ามาในการตกแต่งผนังด้านนอกช่วยเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นให้กับบ้าน “เพราะบ้านมันเล็กเลยไม่อยากทำสีเข้ม การทำบ้านโทนสว่างทั้งหมดเพื่อให้บ้านดูใหญ่ขึ้น” คุณจือกล่าว “ด้วยความชอบของเจ้าของบ้านที่อยากให้บ้านดูอบอุ่น ก็เลยมีการผสมไม้เข้าไปด้วย และมันก็รู้สึกว่าเข้ากัน”
หลังคาของบ้านได้รับการออกแบบเป็นสองชั้น โดยชั้นแรกเป็นคอนกรีต Slab และชั้นที่สองเป็นหลังคา Metal Sheet ซ้อนอยู่ด้านบน ด้วยการใช้หลังคาสองชั้นลักษณะนี้ทำให้ไม่ต้องกังวลกับปัญหารั่วซึมที่มักพบในหลังคาพื้นคอนกรีต และในเวลาเดียวกันก็ช่วยกันความร้อนจากแสงแดดอีกด้วย
บนที่ดินรูปทรงจตุรัสที่มีขนาดจำกัด ทีมสถาปนิก TOUCH Architectพลิกแพลงการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำให้บ้านซึ่งมีทางสัญจรในลักษณะเส้นตรงและมีพื้นที่ใช้สอยสำหรับกิจกรรมหลากหลายตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยสามารถจัดระเบียบรวมกันอยู่ได้อย่างครบถ้วน และเหลือพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมไว้เติมความร่มรื่นให้กับบรรยากาศภายในบ้านHouse Enfold ได้อย่างลงตัว
CIVIL ENGINEER: Chittinat Wongmaneeprateep
CONTRACTOR: Triple M Group
INTERIOR CONTRACTOR: TRIGON design con
PHOTOGRAPHER: Chalermwat Wongchompoo
House Enfold I บ้านหลังเล็กที่โอบกอดต้นไม้ไว้กลางบ้านและมีหลังคากระจกไว้ชมวิวโดย TOUCH Architect
/
“Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน
/
“One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว
/
HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน
By TOSTEM/
บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน
/
เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น
/
เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )