LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
Day One
จากทาวน์เฮ้าส์เก่า ทีมสถาปนิกจาก SO (Solution based Operation) ออกแบบสำนักงานที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน และทำให้ทุกๆ วันเป็นเหมือนวันแรกของการทำงานที่มีความสุข
![HD-1 Building - 02](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2020/03/HD-1-Building-02.png)
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ภาพในวันแรกก็ยังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำ เมื่อ Tri-En Solution บริษัทด้านวิศวกรรมงานระบบ ต้องการจะปรับปรุงทาวเฮ้าส์ซึ่งเป็นที่ทำงานของพวกเขามาตั้งแต่วันแรก ทีมสถาปนิกจาก So (Situation based Operation) จึงเข้ามารับหน้าที่ออกแบบสำนักงานที่ไม่ได้เป็นแค่อาคารแต่มีคุณค่าและสำคัญต่อจิตใจ โดยเก็บโครงสร้างอาคารเดิมเอาไว้ แล้วใส่บรรยากาศดีๆ เข้าไปเพื่อทำให้ทุกๆ วันเป็นวันแรกที่สดใสสำหรับทุกๆ คน
![HD-1 Building - 03](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2020/03/HD-1-Building-03.png)
เมื่อโจทย์คือการออกแบบสำนักงานใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานให้กับพนักงานโดยยังคงเก็บรักษาอาคารเดิมที่เป็นตึกเก่าเอาไว้ ทีมสถาปนิกเลือกใช้ผนังเบาเพื่อลดน้ำหนักของอาคาร และใช้ Space Trussเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้าง “ทางวิศวกรเขาอยากจะเสริมโครงสร้างให้มันแข็งแรงเท่ากับมาตรฐานที่มันควรจะเป็น ซึ่งมันก็จะเป็นการเสริมตามหัวเสาและตามคานรับน้ำหนัก แต่เราไม่อยากให้เอา Detail ไปจับตามเสาตามคาน หรือเป็นแค่ส่วนประกอบที่เรามองไม่เห็นความสำคัญของมัน” ณรงค์ โอถาวร ผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก SO เล่า “เราก็เลยคุยกับเขาว่าเราขอใช้ลักษณะโครงสร้างที่เป็นโครง Truss เพื่อถ่ายน้ำหนักของทุกชั้น เหมือนกับว่าตัวอาคารหนึ่งชั้นคือคานหนึ่งเส้นไปเลย เป็น Space ที่อยู่ใน Space Truss”
โครงสร้างเหล็ก Space Truss ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้อาคารทาวเฮ้าส์สี่ชั้นสามารถถ่ายเทและรับน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากข้อจำกัดทางโครงสร้างเก่า Space Truss ได้กลายเป็นองค์ประกอบในการออกแบบที่สร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้กับอาคารได้อย่างน่าสนใจ โครงสร้างเหล็กอวดสัดส่วนที่สวยงามอยู่ภายนอกผนังกระจกของอาคาร “โครงสร้างที่ดีที่มันรับน้ำหนักได้ตามกฎเกณฑ์ของมัน สัดส่วนมันจะสวยอยู่แล้ว” ณรงค์กล่าว “เราก็เลยอยากแสดงความงามทางวิศวกรรมแบบนี้ออกมา”
การใช้ผนังภายนอกและโครงสร้างเหล็กสีดำไม่เพียงสะท้อนถึงบุคลิกของบริษัทที่ทำธุรกิจด้านระบบวิศวกรรม หากยังทำให้อาคารหลังนี้มีความโดดเด่นโดยที่ยังรักษาความกลมกลืนกับบริบทโดยรอบได้อย่างลงตัว “เราไม่ต้องการให้อาคารลอยออกมาจากบริบทของเมืองก็เลยใช้สีดำ” ณรงค์อธิบบาย “สีดำเวลาที่มันโดนแสง ในบางจังหวะบางมุมมองมันเหมือนกับมองแล้วหายไปบ้าง มองไม่ชัดบ้าง กลืนๆ ไปบ้าง กลางคืนมันก็จะเห็นเป็นกระจกโปร่งๆ”
ผนังด้านนอกของอาคารซึ่งเป็นกระจกไม่เพียงช่วยลดน้ำหนักให้กับโครงสร้าง หากยังเปิดรับแสงสว่างจากภายนอกเข้าไปในพื้นที่ทำงานอย่างทั่วถึง “เวลาเราทำสัดส่วนช่องเปิดในตึกแถวหรือทาวน์เฮ้าส์ไม่มากพอ มันจะกลายเป็นว่ารอบๆ มันจะสว่างมาก แต่ว่าตรงกลางมันจะมืด” ณรงค์กล่าว “เราเลยทำเป็นอาคารกระจกทั้งหมด เพราะอยากให้อาคารโปร่งและรับแสงได้เยอะ เราดึงแสงเข้ามาแล้วทำให้อาคารมีการเชื่อมต่อกันในแนวตั้งและแกนอื่นๆ มากกว่าแค่ว่าการใช้บันไดจ่ายไปชั้น 1-2-3-4”
พื้นที่ภายในอาคารได้รับการจัดวางอย่างตรงไปตรงมาตามเงื่อนไขของการใช้งานจริง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทำหน้าที่เป็นส่วนตกแต่งภายในไปด้วยในตัว ทั้งพื้น ผนัง กำแพง ช่องแสง หรือราวกันตก ทุกส่วนอยู่รวมกันอย่างพอเหมาะพอดีโดยไม่มีการปรุงแต่ง “ในแง่ของ Interior เราไม่ได้ตกแต่งอะไรเยอะ เราทำ Architecture ให้มันมีเรื่องของความสวยงามตั้งแต่ภายในไปเลย โดยที่ไม่ได้เป็นการไป Decorate มัน อันนี้ก็เป็น Concept ของงานนี้ไปโดยปริยาย” ณรงค์อธิบาย “ข้างในจะค่อนข้างเรียบ ห้องไหนเป็นกระจกก็จะเป็นกระจกอย่างเดียว พื้นผนังก็จะเป็นแบบฉาบเรียบทาสีปกติ”
![HD-1 Building - 08](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2020/03/HD-1-Building-08.png)
![HD-1 Building - 09](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2020/03/HD-1-Building-09.png)
ทุกๆ วัน ผู้คนครึ่งร้อยเดินทางมาใช้เวลาร่วมกันภายในอาคารแห่งนี้ พวกเขาไม่เพียงแค่มาทำงานเท่านั้น หากยังใช้เวลาจิบกาแฟ ทานอาหาร พูดคุย พักผ่อน หรือแม้กระทั่งออกกำลังกาย เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงาน พื้นที่อำนวยความสะดวกเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้บริหารตั้งเป็นโจทย์ให้กับสถาปนิกตั้งแต่ต้น “ตั้งแต่แรกเลยเขา (เจ้าของ) ไม่ได้พูดถึงพื้นที่การทำงานเลยนะ เขาพูดแค่ว่าเขาอยากจะมี Canteen ให้พนักงาน อยากมีฟิตเนส อยากมีพื้นที่ให้พนักงานนั่งเล่น เหมือนกับมี Living Space” ณรงค์เล่า “เขามองสถานที่นี้มีความอบอุ่น จนเรารู้สึกว่าเขาคงรักที่นี่มากนะ เขามองว่าอันนี้มันเป็นบ้านของเขาจริงๆ”
จากแนวคิดที่ต้องการทำสำนักงานให้เป็นบ้าน การออกแบบพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันจึงเกิดขึ้น สำนักงานแห่งนี้ไม่ได้มีแค่โต๊ะทำงานและห้องประชุม หากยังมีห้องน้ำที่พนักงานสามารถเข้าไปใช้เวลาแต่งหน้าทาคิ้วได้อย่างไม่รีบร้อน มีฟิตเนสให้คนที่รักสุขภาพได้ออกกำลังกาย มีโรงอาหารและมุมกาแฟที่ทุกคนสามารถนั่งปล่อยอารมณ์พร้อมกับชมวิวจากชั้นบนสุดของอาคารได้อย่างสบายใจ “เขาเล่าให้ฟังว่าในวันเปิดตึก พนักงานมากันแต่เช้า มาปุ๊บก็มาชงกาแฟยืนชมวิวอยู่ที่ชั้นสี่ เขาบอกว่าพนักงานชิวกันมากเลย” ณรงค์เล่า “เขาเรียกตึกนี้ว่า HD1 Building ซึ่ง H ก็คือ Home หมายถึงบ้านของเขา ส่วน D-1 ก็คือ Day-1 ฉะนั้่นการทำงานของเขาที่ตึกใหม่นี้ ทุกวันเหมือนเป็น Day-1 สำหรับพวกเขา”
HD-1 Building I โครงสร้าง Space Truss กับการเปลี่ยนโฉมหน้าตึกเก่าให้กลายเป็นอาคารใหม่
/
Sevenlakes - ออฟฟิสบรรจุภัณฑ์ห่ออลูมิเนียมเมททัลลิคขึ้นรูปจากการใช้งาน
/
“ล้อพูนผล” โรงสีข้าวของข้าวยี่ห้อบัวชมพูและอีกหลายยี่ห้อมีชื่อ โดยรับข้าวเปลือกจากเกษตกรในจังหวัดนครสวรรค์เป็นหลัก กิจการซึ่งกำลังเติบโตและเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เจเนอเรชั่นที่ 2 การควบรวมวิสัยทัศน์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจจึงต้องอาศัยพื้นที่รองรับเพื่อขยายผลมากขึ้น ให้โรงสีข้าวมีความเป็นไปได้มากกว่าการเป็นโรงสีข้าวอย่างเดียว เมื่อโจทย์ที่มาพร้อมกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ จึงได้นำพาภูมิปัญญาพื้นถิ่น และนวัตกรรมมาเจอกัน
/
Accsure คือสำนักงานตรวจสอบบัญชีรุ่นใหม่ในย่านโชคชัยร่วมมิตร ที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 4 คน มีภาระงานเกี่ยวกับตัวเลข งบประมาณ กำไร ขาดทุน ข้อผิดพลาด การหลบเลี่ยง เช่นบริษัทตรวจสอบบัญชีทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยแนวการทำงานที่มีความชัดเจน ตรงไปตรงมา เป็นพื้นฐาน
/
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โลกของวงการก่อสร้างได้เกิดวัสดุอันเหลือเชื่อมากมาย มันช่วยให้ความสะดวกสบายแก่มวลมนุษย์อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งราคาถูก แข็งแรง ใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่าแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต เหล็ก กระจก ในขณะที่วัสดุแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้ทำการพัฒนาปรับปรุง ล้วนถูกกวาดหายไปตามระลอกคลื่นแห่งกาลเวลา ในขณะที่ไม้ถูกลดทอนเป็นวัสดุตกแต่ง กรุปิดผิว ไม่สามารถนำมาเป็นโครงสร้างได้อย่างแพร่หลายเท่ากับวัสดุสมัยใหม่อื่น ๆ แม้ว่ะมีคุณสมบัติที่ยั่งยืน สามารถปลูกทดแทนได้ ไม่ได้ใช้แล้วหมดไปดั่งเช่นคอนกรีต หรือใช้พลังงานในการผลิตมากเช่นคอนกรีต
/
ในยุคที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้คนสามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา มุมมองเกี่ยวกับสถานที่ทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป บางคนชอบอิสรภาพของการทำงานที่บ้าน บ้างก็หลงใหลกลิ่นอายหอมกรุ่นของการทำงานในร้านกาแฟ ในขณะที่บางคนก็นิยมบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ใน Co-Working Space เมื่อต้องออกแบบสำนักงานภายใต้โจทย์ที่ต้องการให้ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ Stu/D/O Architects จึงออกแบบอาคารที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเลือกทำงานในสภาพแวดล้อมที่ตนเองชอบได้ ไม่ว่าจะนั่งทำงานที่โต๊ะ ในร้านกาแฟ หรือแม้แต่ในสวนลอยฟ้ากลางแจ้ง
/
การ ‘กลายสภาพ’ สู่รูปโฉมและฟังก์ชันใหม่ทางสถาปัตยกรรมของสำนักงานปากน้ำ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )