เยือนสุดยอดพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในสเปน Guggenheim Museum Bilbao | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

เรื่อง /ภาพ: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

  สเปน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่รุ่มรวยด้วยงานศิลปะชั้นเลิศ และเต็มไปด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นเยี่ยมในแทบทุกเมือง นอกจากในกรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน ที่ถือเป็นเมือง สําคัญทางศิลปะและวัฒนธรรมของยุโรปหรือแม้แต่ของโลก อันเป็นที่ตั้งของสุดยอดพิพิธภัณฑ์ที่ถูก ขนานนามว่าเป็น สามเหลี่ยมทองคําแห่งศิลปะ (Golden Triangle of Art) อย่าง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ปราโด (Museo Nacional del Prado), พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา (Thyssen-Bornemisza Museum) และ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติไรนา โซเฟีย (Museo Nacional Centro de Arte Reina Sofía) แล้ว ยังมีเมืองสําคัญอีกแห่งในสเปนที่ถือเป็นหมุดหมายของผู้รักศิลปะทั่วโลกที่จะมาเยี่ยมเยือน เมืองนั้นมีชื่อว่า บิลเบา (Bilbao) ที่ตั้งอยู่ในแคว้นบาสก์ (Basque) แคว้นปกครองตนเองของสเปน สิ่งที่ทําให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองสําคัญของคนรักศิลปะทั้งหลายก็คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย ที่มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ แห่งเมืองบิลเบา (Guggenheim Museum Bilbao) ที่สําคัญ ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ผลงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ภายในเหมือนพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ หากแต่พิพิธภัณฑ์มีความโดดเด่นตั้งแต่ตัวอาคารเลยก็ว่าได้ เพราะอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของสุดยอดสถาปนิกอเมริกัน-แคนาดา ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในศตวรรษที่ 21 อย่าง แฟรงก์ เกห์รี (Frank Gehry) นั่นเอง

  เดิมที บิลเบาเป็นเมืองท่าสําคัญที่อุดมด้วยถ่านหินและเหล็ก จึงเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ การต่อเรือ และอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ภายหลังเกิดความเสื่อมโทรมจากวิกฤตเศรษฐกิจและการก้าวตามเทคโนโลยีอันล้ําสมัยของโลกไม่ทัน ในปี 1991 รัฐบาลแคว้นบาสก์จึงเสนอกับมูลนิธิ Solomon R. Guggenheim ว่าจะให้ทุนในการสร้างพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ขึ้นมาอีกแห่งในเมืองบิลเบา เพื่อฟื้นฟูความเสื่อมโทรม และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเมืองท่าแห่งนี้ และเปิดให้สถาปนิกทั่วโลกส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดออกแบบอาคารของพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ ซึ่งแฟรงก์ เกห์รี่ เป็นหนึ่งในสถาปนิกที่เข้าไปร่วมประกวดแบบโครงการนี้ และได้รับชัยชนะในที่สุด โดยเกห์รี่มีแนวคิดที่ต้องการสร้างให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเหมือนประตูเมือง นอกจากรูปทรงภายนอกของพิพิธภัณฑ์จะสะท้อนถึงความเป็นเมืองอุตสาหกรรมของบิลเบาแล้ว เกห์รี่ยังดึงเอาลักษณะของรูปทรงทางธรรมชาติ (Organic Form) ที่เชื่อมโยงถึงแนวคิดในการตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในของพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ นิวยอร์ก (Solomon R. Guggenheim Museum New York) ที่ออกแบบโดยสุดยอดสถาปนิกชาวอเมริกันอีกคนอย่าง แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) อีกด้วย

  ด้วยความที่รูปทรงที่เขาออกแบบมีความสลับซับซ้อน และความประสงค์ในการใช้แผ่นไทเทเนียมบุผนังอาคารรอบนอกเกือบทั้งหมด เกห์รีจึงนําซอฟต์แวร์สร้างงาน 3 มิติอันล้ําสมัยอย่าง CATIA (Computer Aided Three Dimensional Interactive Application) ที่ปกติเคยใช้ในการออกแบบและผลิตยานยนต์และอากาศยาน มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่ง โปรแกรมนี้เองก็ทําให้การร่างแบบอันเต็มไปด้วยความซับซ้อนและเปี่ยมอิสรเสรีหลุดกรอบและกฎเกณฑ์ของเขาถูกสร้างขึ้นเป็นรูปทรงสามมิติได้อย่างสมบูรณ์แบบ
  อาคารพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบา เป็นโครงการสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้คุณสมบัติของโปรแกรมนี้เต็มประสิทธิภาพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการประสานกันอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างศิลปะและเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงเปิดโอกาสให้สถาปนิกออกแบบรูปทรงอย่างอิสระตามแต่ใจต้องการเท่านั้น หากแต่ยังสามารถคํานวณพิกัดของแบบอย่างเที่ยงตรงเพื่อส่งไปผลิตในระบบ อุตสาหกรรมได้ทันที จึงเป็นการลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต และช่วยควบคุมงบประมาณได้เป็นอย่างดี

  พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบาแห่งนี้ ใช้ทุนในการสร้างต่ํากว่างบประมาณ คือ 89 ล้านเหรียญ จากงบ ประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่น และเทคโนโลยีอันล้ําสมัย ที่ทําให้วัสดุในการ ผลิตมีต้นทุนที่ถูกลง เพราะเกห์รีรู้จักผู้ผลิตที่สามารถทําให้ไทเทเนียม (ซึ่งเป็นวัสดุที่มีราคาสูง แต่มี ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าตะกั่วหรือทองแดง และมีน้ําหนักเบากว่าเหล็ก) มีความบางลง เท่าตัว แต่มีความแข็งแรงเท่าเดิม ทําให้มีราคาไม่ต่างกับวัสดุชนิดอื่นในจํานวนเท่าๆ กัน

  ด้วยพื้นผิวภายนอกที่บุไทเทเนียม กระจกใส และหินปูน ทําให้รูปลักษณ์ของอาคารพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบา มีความเลื่อนไหลอย่างวิจิตรพิสดารคล้ายกับรูปทรงของสิ่งมีชีวิต ผนังแต่ละผืนของอาคารสอดประสานและคลี่บานราวกับกลีบดอกไม้ แสงที่ตกกระทบพื้นผิวของอาคารก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายของรูปทรงราวกับเป็นวัตถุแปลกประหลาดพิสดารจากห้วงอวกาศที่ลงมาตั้งอยู่ในสถานที่แห่งนี้เมื่อหลายศตวรรษก่อน และดํารงอยู่ในสภาพแวดล้อมรอบข้างอย่างขัดแย้ง หากกลมกลืนในเวลาเดียวกัน พื้นที่ภายในของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบเพื่อรองรับทั้งงานจิตรกรรมของศิลปินสมัยใหม่ งานศิลปะจัดวางของศิลปินร่วมสมัย ความซับซ้อนของพื้นที่ภายในอาคารยังท้าทายให้เหล่าศิลปินให้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานโต้ตอบกับพื้นที่ได้อย่างสนุกมือ ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยห้องแสดงนิทรรศการ, หอประชุม, ภัตตาคาร, คาเฟ่ ร้านขายของชําร่วย, สํานักงาน, ร้านหนังสือ ทั้งหมดถูกออกแบบอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

  ถึงแม้พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบา เป็นผลงานที่สร้างชื่อให้แฟรงก์ เกห์รี เป็นที่จดจําในระดับ นานาชาติและผลักดันให้เขากลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการสถาปัตยกรรมโลก แต่ในช่วงแรกๆ ผลงานชิ้นนี้เองก็ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนในเมืองบิลเบา ที่มองว่าตัวพิพิธภัณฑ์ดูแปลกประหลาด แปลกแยก ไม่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของเมืองเลยแม้แต่น้อย บางคนกล่าวว่าอาคารแห่งนี้เป็นเพียงการสนองความต้องการที่จะแสดงออกถึงอัตตาของเกห์รี่เท่าน้ัน บ้างก็ว่าผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นเพียงผลพวงของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์ ไม่ได้เป็นความสามารถของสถาปนิกแต่อย่างใด
  แต่ด้วยอานิสงส์จากการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ทําให้มีผู้คนจํานวนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมเมือง บิลเบากลายเป็นจุดหมายปลายทางของสถาปนิก ศิลปิน นักท่องเที่ยว ในเวลาเพียงแค่ 3 ปี หลังจากเปิดพิพิธภัณฑ์ เมืองบิลเบามีจํานวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคน ส่งผลให้มีรายได้หลั่งไหลเข้ามาถึง 500 ล้านยูโร และส่งผลให้เทศบาลมีรายได้จากภาษีต่างๆ ถึง 100 ล้านยูโร (ซึ่งสูงกว่างบประมาณในการสร้างพิพิธภัณฑ์เสียอีก) ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่า “Bilbao Effect”

  เมื่อนั้นความเกลียดชังและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็กลับกลายเป็นความภาคภูมิใจและกลายเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา ส่งผลให้เกห์รีกลายเป็นสถาปนิกเอกแห่งยุคสมัยและขวัญใจแห่งเมืองบิลเบาในที่สุด ผลงานชิ้นนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิก, นักออกแบบ รวมถึงศิลปิน และนักสร้างสรรค์คนแล้วคนเล่าจวบจนปัจจุบัน
  นอกจากจะคืนชีวิตให้กับเมืองแล้ว สถาปัตยกรรมแห่งนี้ยังลบขีดจํากัดของรูปลักษณ์ของตึกสี่เหลี่ยมแบบเดิมๆ ของพิพิธภัณฑ์ลงอย่างสิ้นเชิง ตัวอาคารประสบความสําเร็จในการนํางานดีไซน์และเทคโนโลยีอันล้ําสมัยมาพัฒนาสิ่งเก่าที่มีอยู่และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมา ทําให้อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสุนทรียะราวกับเป็นประติมากรรมชิ้นเอกประจําเมืองเลยก็ว่าได้

  แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบางคนวิพากษ์วิจารณ์อีกว่างานออกแบบพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบา ของเกห์รี นั้นมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นมากเสียจนอาจไปเบียดบังหน้าที่ที่แท้จริงของตัวพิพิธภัณฑ์ นั่นก็คือการเป็น พื้นที่จัดเก็บและแสดงผลงานศิลปะให้ผู้คนเข้าไปชม เหตุเพราะผู้คนนับล้านที่เดินทางไปยังเมืองบิลเบา ก็เพราะอยากเห็นตัวอาคารพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ มากกว่าจะไปชมงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ข้างในด้วยซ้ํา โดยเกห์รีก็ตอบข้อครหานี้ว่า ในกระบวนการทํางาน เขาต้องผ่านการคิดถึงบริบทของสภาพแวดล้อม สภาพสังคม และผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น เขาต้องคุยกับศิลปินมากมายเกี่ยวแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย เขาเคยถามศิลปินหลายคนว่าต้องการให้สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่เอื้ออํานวยต่อการแสดงงานของพวกเขาไหม? ศิลปินเหล่านั้นบอกว่า “ไม่จําเป็น ทําอย่างที่คุณอยากทําเถอะ” เขาพบว่าศิลปินเหล่านั้นคิดว่า การที่พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์มีพื้นที่อันซับซ้อนจนทําให้ศิลปินต้องใช้ความคิดโต้ตอบกับพื้นที่นั้นเป็นอะไรที่ท้าทายกว่าการแขวนรูปบนผนังสี่เหลี่ยมสีขาวว่างๆ เรียบๆ ธรรมดา แต่การที่มีคนจํานวนหลายล้านคนไปที่เมืองบิลเบาเพราะต้องการชมอาคารพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์มากกว่าดูงานศิลปะที่อยู่ข้างในนั้นเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็น ซึ่งเขาก็ต้องขออภัยด้วย

  พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบา มีผลงานของศิลปินสมัยใหม่และศิลปินร่วมสมัยจัดแสดงอยู่มากมาย ตั้งแต่พื้นที่รอบนอกของอาคารที่มีผลงานประติมากรรมกลางแจ้งของ หลุยส์ บรูชัวร์ (Louise Bourgeois) อย่าง Maman (2001), ผลงานของ อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) อย่าง Tree and the Eye (2009), ผลงานของ เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) อย่าง Puppy (1992) และผลงานของ แดเนียล บิวเรน (Daniel Buren) อย่าง Arcos rojos / Arku gorriak (The Red Arches) (2007)

Maman (2001) โดย หลุยส์ บรูชัวร์
Tree and the Eye (2009) โดย อนิช กาปูร์
Puppy (1992) โดย เจฟฟ์ คูนส์
Arcos rojos / Arku gorriak (The Red Arches) (2007)
โดย แดเนียล บิวเรน
ถ่ายภาพโดย วิบูลย์ศิริ วิบูลย์มา

  ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีผลงานศิลปะจัดวางของศิลปินร่วมสมัยคนสําคัญของโลกอย่าง นิทรรศการ The Matter of Time (1994–2005) ของ ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra) ผลงาน Bilbaorako instalazioa (Installation for Bilbao) (1997) ของ เจนนี โฮลเซอร์ (Jenny Holzer) ผลงาน Rising Sea (2019) ของ เอล อานัตไซ (El Anatsui) และผลงาน Wall Drawing #831 (Geometric Forms) ของ โซล เลวิตต์ (Sol LeWitt)

The Matter of Time (1994–2005) โดย ริชาร์ด เซอร์รา
Bilbaorako instalazioa
(Installation for Bilbao) (1997)
โดย เจนนี โฮลเซอร์
Rising Sea (2019) โดย เอล อานัตไซ
Wall Drawing #831 (Geometric Forms)โดย โซล เลวิตต์
นิทรรศการ POSTWAR ABSTRACTION
- Nine Discourses on Commodus (1963) โดย ไซ ทว์อมบลี

  และนิทรรศการของศิลปินสมัยใหม่อย่าง POSTWAR ABSTRACTION ที่จัดแสดงผลงานของศิลปินคนสําคัญของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าของอเมริกาอย่าง แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism) ทั้งผลงานภาพวาดของ วิลเลิม เดอ โกนิง (Willem de Kooning), คลิฟฟอร์ด สติลล์ (Clyfford Still), โรเบิร์ต มาเธอร์เวลล์ (Robert Motherwell), เอ็ลส์เวิร์ธ เคลลี่ (Ellsworth Kelly), มาร์ก รอธโก (Mark Rothko), ลี แครสเนอร์ (Lee Krasner), โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg), ไซ ทว์อมบลี (Cy Twombly) และผลงานภาพวาดของศิลปินหลังสมัยใหม่ในกระแสเคลื่อนไหว นีโอ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Neo-expressionism) อย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat)

  หรือนิทรรศการของศิลปินป็อปอาร์ตระดับตํานานอย่าง POP AND THE POPULAR ที่จัดแสดงผล งานของ แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol), เจมส์ โรเซนควิสต์ (James Rosenquist), กิลเบิร์ตแอนด์ จอร์จ (Gilbert & George) และ เจฟฟ์ คูนส์ เป็นต้น

นิทรรศการ POP AND THE POPULAR

  ในพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปินร่วมสมัยชั้นนําของโลกมากหน้าหลายตา ในช่วงที่เราไปเยือนนั้นเป็นคิวของนิทรรศการ Yayoi Kusama: 1945 to Now ของศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่น ผู้ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะร่วมสมัยโลก เจ้าของฉายา ‘ราชินีลายจุด’ (Polka Dot Queen) อย่าง ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) นั่นเอง

  คูซามะเป็นศิลปินผู้บุกเบิกกระแสศิลปะที่ผสมผสานหลากหลายแนวทาง นับแต่ทศวรรษที่ 1940s จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแสดงสด, ศิลปะแฮปเพนนิ่ง, ศิลปะจัดวางกับสภาพแวดล้อม, งานประติมากรรม, งานจิตรกรรม และงานคอลลาจ (ปะติด) โดยเฉพาะผลงานที่มุ่งเน้นในการนําเสนอสีสันอันสดใสฉูดฉาด รูปทรงและลวดลายซ้ําๆ กัน อย่างลวดลายจุดกลม และลวดลายลวงตาคล้ายรยางค์จํานวนนับไม่ถ้วน ผลงานเหล่านี้สะท้อนปรัชญาในการที่ศิลปะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิตของเธอเสมอมา

  นิทรรศการครั้งนี้มุ่งเน้นในการนําเสนอคําถามเกี่ยวกับการดํารงอยู่ของชีวิต อันเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์ทางศิลปะของคูซามะ ผ่านผลงานภาพวาด, ภาพลายเส้น, ศิลปะจัดวาง รวมถึงข้อมูล เบื้องหลังและบันทึกการทํางานศิลปะแสดงสดและศิลปะแฮปเพนนิ่งของเธอ ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สํารวจผลงานของเธออย่างใกล้ชิดสนิทเนื้อ นับแต่ภาพวาดของเธอตั้งแต่ครั้งยังวัยรุ่นในช่วง ระหว่างยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ไปจนถึงผลงานล่าสุดอย่างศิลปะจัดวางแบบอิมเมอร์ซีฟ (Immersive art) จากกระจกเงาของเธอ ผลงานนิทรรศการถูกจัดเรียงตามลําดับเวลา โดยแบ่งออกเป็นประเด็นหลักหกหัวข้อในชีวิตการทํางานของศิลปิน อย่าง 1. Infinity, 2. Accumulation 3. Radical Connectivity 4. Biocosmic 5. Death และ 6. Force of Life ซึ่งประเด็นอันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเหล่านี้ต่างเกิดขึ้นและวิวัฒนาการซ้ําแล้วซ้ําเล่าในจักรวาลแห่งความลุ่มหลงของคูซามะ ผู้ใช้ผลงานศิลปะของเธอปลุกปั่นวงการศิลปะอย่างกล้าหาญมาหลายทศวรรษเพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปะได้เยียวยามวลมนุษย์ทุกคนนั่นเอง

  นิทรรศการ Yayoi Kusama: 1945 to Now จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2023 – 8 ตุลาคม 2023* ที่พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบา ประเทศสเปน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https:// www.guggenheim-bilbao.eus/en/exhibitions/yayoi-kusama
  *ถึงแม้นิทรรศการจะจบลงไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถเข้าไปชม Visual Tour ของนิทรรศการได้ที่นี่ https://www.guggenheim-bilbao.eus/en/guggenheim-365/experiences/virtual-tour-yayoi- kusama

ถ่ายภาพโดย วิบูลย์ศิริ วิบูลย์มา

  พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลเบา ตั้งอยู่เลียบแม่น้ําเนอร์บิออน (Nervión) ในเมืองบิลเบา แคว้นบาสก์ (Basque) ประเทศสเปน, เปิดทําการ วันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 10:00 – 19:00 น, วันที่ 3 - 11 ธันวาคม เปิดทําการเวลา 10:00 – 18:00 สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 13 ยูโร, ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี และนักเรียนนักศึกษาอายุ 18 - 26 ปี 6.50 ยูโร เด็กอายุต่ํากว่า 18 ปี และผู้พิการเข้าชมฟรี, ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่นี่ https://www.guggenheim-bilbao.eus/en/plan-your-visit

ข้อมูล
งานบรรยายพิเศษ Frankly Speaking: สนทนากับ Frank Gehry
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2556 โดย มูลนิธิไทยคม ร่วมกับ วอยซ์ ทีวี
    TAG
  • design
  • art
  • exhibition
  • MUSEUM
  • Guggenheim Museum
  • Guggenheim Museum Bilbao
  • Bilbao

เยือนสุดยอดพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในสเปน Guggenheim Museum Bilbao

ART AND EXHIBITION/MUSEUM
October 2023
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/MUSEUM

    เยี่ยมชมผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนําของโลก Chavalit Soemprungsuk in Stedelijk Museum Amsterdam

    มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วม สมัยชั้นนําของโลกอย่างพิพิธภัณฑ์ Stedelijk ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น นอกจากจะมีผลงานของศิลปินสมัยใหม่ระดับตํานานของโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh), ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne), คาซีมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) และศิลปิน ร่วมสมัยชั้นนําของโลกอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) และ ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) แล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังมีผลงานของศิลปินชาวไทยจัดแสดงอยู่ด้วย ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ชวลิต เสริมปรุงสุข (Chavalit Soemprungsuk) ศิลปินร่วมสมัยชายไทยผู้เคยอาศัยและทํางานอยู่ใน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เราได้มีโอกาสไปชมผลงานของเขามานั่นเอง

    Panu BoonpipattanapongSeptember 2023
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu BoonpipattanapongOctober 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    Out of Frame การล่องแพในแม่น้ำเพื่อสำรวจหาเส้นทางใหม่ๆ แห่งการทำงานจิตรกรรมของ Lee Joon-hyung

    เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึง เคป็อป หรือซีรีส์เกาหลี แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น หากแต่ เคอาร์ต หรือวงการศิลปะเกาหลีก็มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจเหมือนกัน ดังเช่นที่เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินเกาหลีใต้ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในบ้านเรา

    Panu BoonpipattanapongAugust 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Rite of Spring ศิลปะการแสดงหลากศาสตร์สาขา สะพานเชื่อมทางศิลปวัฒนธรรมหลากประเทศ โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น

    ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมศิลปะการแสดงชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟัง การแสดงที่ว่านี้มีชื่อว่า The Rite of Spring Concert and Dance ที่กำกับโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปะการแสดงชั้นนำของไทยและเอเชีย โดยเป็นการร่วมงานกับสองนักดนตรีระดับโลกอย่าง ทามาโยะ อิเคดะ (Tamayo Ikeda) นักเปียโนชาวญี่ปุ่น และ เกวนดัล กิเกอร์เลย์ (Gwendal Giguelay) นักเปียโนชาวฝรั่งเศส ร่วมกับเหล่าบรรดานักเต้นมากฝีมือจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพะนี และกลุ่มนักแสดงนาฏศิลป์ไทยประเพณีหลากที่มาจาก ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะนักเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง

    Panu BoonpipattanapongJuly 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    Damnatio Memoriae ภาพยนตร์สารคดีอัน “ไม่พึงปรารถนา” ในประเทศไทย ที่ไปฉายในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale 2024 ของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล

    ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (Venice Biennale 2024) ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี คราวนี้ นอกจากจะมีศิลปินไทยร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เรากล่าวถึงไปในตอนที่ผ่านมาแล้ว ในขณะที่เราตระเวนชมงานตามพาวิลเลียนต่างๆ ในเวนิส เบียนนาเล่ เรายังพบว่ามีผลงานของศิลปินไทยอีกคนได้ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งนี้อีกด้วย

    Panu BoonpipattanapongJuly 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    Bourse de Commerce - Pinault Collection พื้นที่แสดงคอลเลคชันศิลปะร่วมสมัยระดับแนวหน้าของโลก

    หลังจากได้ไปชมนิทรรศการ Liminal ของ ปิแยร์ ฮวีก ที่ Punta della Dogana อดีตอาคารศุลกากรเก่าแก่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันงานศิลปะในการสะสมของ Pinault Collection ของนักสะสมชาวฝรั่งเศส ฟรองซัว ปิโนลต์ (François Pinaul) มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้ง Kering บริษัทจัดจําหน่ายสินค้าแฟชั่นและสินค้าแบรนด์ชั้นนำ อย่าง Gucci, Yves Saint Laurent, Balenciaga และ Alexander McQueen ฯลฯ ไปในคราวที่แล้ว

    Panu BoonpipattanapongJuly 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )