ผู้อยู่เบื้องหลังดีไซน์เรือนเวลา ที่ไร้กาลเวลาของ Grand Seiko
“ผมอยากจะทำนาฬิกาที่ก้องกังวานในหัวใจ และสัมผัสได้ถึงความงามในแบบญี่ปุ่น”
เสียงทุ้มสุภาพของชายชาวญี่ปุ่นที่สีผมขาวโพลนดั่งหิมะ ในมาดที่ดูสุขุม สง่า พร้อมแววตาใจดีเอ่ยขึ้น เมื่อมีผู้ถามถึงเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบนาฬิกาเรือนเรียบหรูสุดคลาสสิค ที่ทั้งชาวญี่ปุ่นและทั่วโลกต่างใฝ่ฝันจะครอบครอง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้พบกับ Nobuhiro Kosugi นักออกแบบระดับปรามาจารย์แห่งแบรนด์ Grand Seiko ถ้าไม่ใช่โอกาสพิเศษเช่นนี้ที่ EVERYTHING ได้มาร่วมทริปกับ Grand Seiko Thailand มาเยือนประเทศญี่ปุ่น แม้ส่วนใหญ่ Kosugi จะถนัดให้ผลงานดีไซน์และศิลปะบนเครื่องบอกเวลาของเขา เป็นสิ่งถ่ายทอดจิตวิญญาณและความคิดข้างในมากกว่า แต่ในโอกาสครั้งนี้เขาก็ยินดีจะบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงาน 40 กว่าปี บนเส้นทางงานดีไซน์ที่เที่ยงตรง สวยงาม และไร้กาลเวลา
ในปี 1973 Kosugi เพิ่งเริ่มเข้าสู่เส้นทางนักออกแบบนาฬิกาโดยทำงานในแผนกออกแบบให้บริษัทผลิตกรอบนาฬิกา (Case) แห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าถ้าย้อนไปยังช่วงวัยเยาว์ ความใฝ่ฝันของเขาคือนักออกแบบรถ ไม่ใช่นักออกแบบนาฬิกาก็ตาม “ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียน ผมอยากเป็นนักออกแบบรถ แต่ต่อมาก็พบว่าตัวเองเริ่มสนใจงานดีไซน์ที่ลึกซึ้งในโลกแสนเล็กจิ๋วของนาฬิกาข้อมือ ซึ่งเราสามารถออกแบบทุกส่วนทั้งหมดนั้นเองได้ ทำให้รู้สึกชอบงานนี้”
ย้อนไปเมื่อประมาณสองทศวรรษที่แล้ว หลังจากที่ได้ตั้งสตูดิโอออกแบบของตัวเองขึ้น Kosugi ก็ได้เริ่มเข้าทำงานที่ Seiko Instruments Inc. ในปี1993 โดยเป็นผู้พัฒนางานดีไซน์นาฬิกาเรือนหรูของ Grand Seiko ในหลายต่อหลายรุ่น จวบจนถึงปัจจุบันก็เป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปีแล้วที่เขาทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์งานศิลปะในโลกนาฬิกา จนในปี 2014 Kosugi ได้รับเกียรติจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japan’s Ministry of Health, Labour and Welfare) ให้รับรางวัล Award for Remarkably Skilled Workers (Contemporary Master Craftsman) ถือเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ อีกทั้งล่าสุดในปี 2016 เขายังได้รับรางวัล Medal with Yellow Ribbon จากรัฐบาลเพื่อที่มอบให้กับผู้ที่ประสบความสำเร็จกับการอุทิศตนทำงานมาอย่างยาวนานในวิชาชีพของตน
“ความเที่ยงตรง ความสวยงาม มองเห็นได้ชัดเจน ให้ความรู้สึกยอดเยี่ยมเวลาสวมใส่ และเป็นนาฬิกาที่ใครๆ จะหลงรักได้เป็นเวลานาน” คือดีเอ็นเอของ Grand Seiko ที่ทำให้คนจดจำได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ กลไกต่างๆ (Movement) ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูง พร้อมรูปลักษณ์สวยงาม
Kosugi รู้จักกับ Grand Seiko ครั้งแรกเมื่อตอนที่ “44GS” ออกสู่ตลาดในปี 1967 ซึ่งเป็นนาฬิกา Mechanical Watch เรือนแรกของญี่ปุ่น และถือเป็นตำนานต้นแบบของ Grand Seiko Style หรือเรียกว่าให้กำเนิด “Grammar of Design” ของ Grand Seiko ก็ว่าได้
โดยดีไซน์พื้นฐานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Grand Seiko ประกอบด้วย พื้นผิวขอบตัวเรือน (Bazel) ที่ใช้เทคนิคการขัดเงาแบบพิเศษดุจกระจกจนปราศจากการบิดเบือนที่เรียกว่า Zaratsu ตัวเรือนด้านข้างเว้าโค้งที่พื้นผิวโค้งมนเชื่อมต่อกับส่วนพื้นผิวเรียบได้อย่างสมูท พื้นหน้าปัดแบบเรียบ เข็มนาฬิกาที่ขัดเงาขอบมุมจนสะท้อนรับกับแสง หลักชั่วโมงแบบคู่ (ที่ 12 นาฬิกา ) และข้างตัวเรือนดีไซน์แบบทแยงมุมพร้อมพื้นผิวขัดเงา เป็นต้น
การทำงานออกแบบ Kosugi จึงต้องเคารพกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของ Seiko และให้คุณค่ากับแนวคิดพื้นฐานของ “Grand Seiko Style” ด้วย โดยการรีโปรดักชั่นที่พยายามรักษาโมเดลดั้งเดิมไว้ ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน การพิจารณาเรื่องวิธีการผลิต เครื่องจักร วัสดุ จนถึงความแตกต่างของโครงสร้างชิ้นงาน ก่อนจะสร้างสรรค์เป็นงานดีไซน์ใหม่ ที่สวยงาม และรับรู้ได้ถึงวิวัฒนาการในตัวของมัน
ตัวอย่างผลงานออกแบบชิ้นเด่นของ Kosugi ได้แก่นาฬิกา รุ่น SBGR051 (ที่พัฒนามาจากรุ่นออริจินอลอย่าง 44GS) โดยเป็นรุ่นที่ได้รับรางวัล “Good Design Long Life Design Award” จากงานประกวด Good Design Award ของญี่ปุ่น ในปี 2010 ด้วย โดยโมเดลนี้ Kosugi ให้คำจำกัดความว่าเป็น “The Best Ordinary” ด้วยออกแบบภายใต้แนวคิด “Best Basic” คือ “เป็นนาฬิกาที่มีองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการเป็นนาฬิกา อย่างความเที่ยงตรงสูง ความสวยงาม และอยู่ได้นาน เหล่านี้คือคีย์สำคัญที่ผมมักจดจำไว้เสมอในการออกแบบนาฬิกา Grand Seiko”
“แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่เรียบธรรมดาเกินไป เพราะอาจทำให้คนเบื่อได้ง่าย ผมถึงต้องการให้ Grand Seiko เป็นนาฬิกาที่คนหลงรักได้ตราบนานเท่านาน คงรูปลักษณ์ที่สวยงาม หน้าปัดที่มองเห็นได้เด่นชัด และรูปทรงเข็มนาฬิกาที่เป็นเอกลักษณ์”
ความพิเศษของ Grand Seiko รุ่น SBGR051 นี้คือเป็นนาฬิการะบบกลไก (Mechanical Watch) รุ่นแรกที่ใช้ Movement แบบ 9S (กำเนิดขึ้นปี 1988) ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งส่วนหน้าปัดใช้เทคนิคขัดเงาอย่างละเอียดพิถีพิถันด้วยช่างฝีมือจนพื้นผิวเรียบราวกระจกที่ปราศจากเงาสะท้อนบิดเบือน เรียกว่าเทคนิคการขัดเงาแบบซารัตสึ (Zaratsu) ซึ่งเป็นเทคนิคดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 50’s แต่ทาง Grand Seiko ได้พัฒนาชิ้นส่วน (Attachment) ที่ยึดกับส่วนกรอบเรือนนาฬิกา (Case) ขึ้นใหม่ ทำให้สามารถสร้างพื้นผิวบนหน้าปัดที่ซับซ้อนและสะท้อนแสงเงาที่มีมิติมากขึ้น
นาฬิกา Grand Seiko รุ่น SBGR051 ที่ Kosugi ออกแบบ ได้รับรางวัล “Good Design Long Life Design Award” จากงานประกวด Good Design Award ของญี่ปุ่น ในปี 2010
ผลงานอีกรุ่นของ Kosugi คือ SBGJ005 ที่นำ 44GS รุ่นออริจินอลมาตีความใหม่ให้ทันสมัยขึ้น โดย Kosugi สร้างสรรค์ให้เป็นดีไซน์ที่ผสมผสานระหว่างเทคนิคใหม่ๆ กับทักษะงานช่างฝีมือเข้าด้วยกัน ซึ่ง SBGJ005 เป็นรุ่นที่ชนะรางวัล La Petite Prize ที่ Geneva Watchmaking Grand Prix ในปี 2014 มาด้วย
“เพื่อให้ชิ้นงานดีไซน์สมบูรณ์ ยังต้องประกอบด้วยช่างเทคนิค ช่างฝีมือ หรือทุกคนที่มีส่วนร่วมพัฒนา ดังนั้นไม่ใช่แค่อาศัยความรู้สึกของเราที่เป็นนักออกแบบเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการทำงานกับทุกคนรอบๆ ได้ด้วย จึงจะเพิ่มคุณค่าให้กับแบรนด์ Grand Seiko ได้”
นาฬิกา Grand Seiko รุ่น SBGJ005 ได้รับรางวัล “La Petite Aiguille” ประเภทนาฬิกายอดเยี่ยม จากงาน “Geneva Watchmaking Grand Prix”
แม้ Kosugi จะเป็นนักออกแบบระดับมาสเตอร์ในวงการอุตสาหกรรมนาฬิกา แต่เขาก็ได้รับพลังไม่น้อยจากนักออกแบบรุ่นใหม่ ทำให้เขาให้ความสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุใหม่ๆ โครงสร้างใหม่ๆ จนถึงเทคนิคการผลิตให้เรียนรู้ทุกวัน ส่วนทาง Grand Seiko ก็เป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าเพื่อพัฒนาคุณภาพ โครงสร้าง และวัสดุ จนถึงดีไซน์ ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์เป็นสำคัญ จนปัจจุบันแบรนด์ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็น Heritage, Sports, Elegance และ Ladies ตอบโจทย์ทุกรสนิยมของลูกค้า
“ดีไซนเรียบง่ายแต่ให้ความเที่ยงตรงแม่นยำสูง” นั่นคือแนวคิดที่ Kosugi นำมาใช้ในการพัฒนาสู่รุ่น SBGH001 (Hi-BEAT Model อยู่ในกลุ่ม Elegance Collection) ที่ทำให้ Grand Seiko Style มีความทันสมัย โดยให้ความสำคัญกับเส้นสายโค้งของขอบข้าง “ผมเร่ิมต้นจากขบคิดเรื่องของเส้นโค้งขอบข้าง และพื้นผิวเงา โดยนำไปปรึกษากับทางช่างเทคนิคในส่วนของกรอบนาฬิกา (Case) วิศวกรฝ่ายผลิต และช่างขัดเงาว่าจะสามารถสร้างเส้นสายและพื้นผิวที่วาดในหัวออกมาได้อย่างไร จากนั้นเมื่อตัดสินใจได้แล้วเกี่ยวพื้นผิวด้านข้าง ผมก็เริ่มสร้างรูปทรง” ดีไซน์ (ส่วนกรอบนาฬิกา) ของรุ่น HI-BEAT จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้แนวคิด “การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย กับทักษะของ Takumi (Takumi แปลว่า ความชำชาญ)” โดยงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล “Crafting Award in Japan” ในปี 2013 ด้วย
“จากประสบการณ์ทำงานในบริษัทผลิตกรอบนาฬิกามาหลายปี ทำให้ผมอยากทำดีไซน์ที่สนับสนุนให้ช่างฝีมือได้พบกับความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่เป็นการพัฒนาทักษะฝีมือของตัวเองช่างเอง แต่ยังสามารถผลลัพธ์สู่นาฬิกาที่สวยงามมีเอกลักษณ์ขึ้นได้ด้วย โดยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย เข้ากับวัสดุ และทักษะงานช่างฝีมือขั้นสูง ยิ่งดีไซน์ชิ้นงานเรียบน้อยมากเท่าไหร่ คุณภาพของงานฟินิชชิ่งก็ยิ่งสำคัญมากขึ้น ดังนั้นการสื่อสารระหว่างช่างเทคนิค และช่างฝีมือเป็นสิ่งสำคัญมาก”
การที่ผู้ใช้สัมผัสได้ถึงเซนส์ของงานแฮนด์เมดแม้เป็นชิ้นงานผลิตเชิงอุตสหกรรม การใช้เทคนิคการขัดเงา “Zaratsu” แบบใหม่ที่สร้างพื้นผิวโค้งมนแบบพิเศษ ให้ความเงาของพื้นผิวเรียบโค้งมนสวยงามโดดเด่น (แตกต่างจากโมเดลอื่นที่เห็นเส้นตัดขอบ) จนถึงการใช้ทักษะช่างฝีมือแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Maki-e (มากิ-เอะ คือ งานแล็คเกอร์แบบญี่ปุ่น) เหล่าเป็นองค์ประกอบใหม่ๆ ที่ Kosugi จะนำมาประกอบสู่งานดีไซน์ของ Grand Seiko รุ่นใหม่ๆ ของเขา
“Grand Seiko ทุกเรือนที่ผมออกแบบจะมีความน่าดึงดูด อย่างตอนนี้รุ่นโปรดของผม คือ SBGK002G ที่ทำให้โลกของ Grand Seiko ในมุมมองของผมกว้างขึ้น เพราะเป็นรุ่นแรกที่ใช้หน้าปัดแล็คเกอร์แบบ Urashi สไตล์ญี่ปุ่น หลักชั่วโมงและสัญลักษณ์ GS ที่รังสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิค Maki-e แบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น”
โดย “อูรูชิ” เป็นศิลปะเดิมในการเคลือบพื้นผิวด้วยแลกเกอร์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นเทคนิคที่ทำให้หน้าปัดรุ่น SBGK002G เป็นสีอำพันโปร่งพร้อมพื้นผิวลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “ภูเขาอิวาเตะ” (ซึ่งเป็นทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นโรงงานผลิตนาฬิกา Grand Seiko ระบบกลไกนั่นเอง)
“ผมอยากจะทำนาฬิกาที่ก้องกังวานในหัวใจ ให้รู้สึกได้ถึงความงามแบบญี่ปุ่น ตั้งแต่เรื่องการสร้างแสงและเงา ความงามจากทั้ง 4 ฤดูกาลทางธรรมชาติ จนถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น และองค์ประกอบอื่นๆ ที่พูดได้ว่าเป็นดีไซน์ซึ่งเป็นตัวแทนความงามของญี่ปุ่นในหลากหลายลุค ผ่านการสร้างความกลมกลืนระหว่างแสงและเงา ที่ประกอบขึ้นจากเส้นตรงและพื้นผิวเรียบ”
“ความงามแบบญี่ปุ่นเป็นความงามที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ นาฬิกาจากฝั่งสวิสฯ ก็สร้างสรรค์นาฬิกาที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก UKIYO-E (ศิลปะจากญี่ปุ่น) ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นผมรู้สึกว่าแบรนด์นาฬิกาอื่นๆ ก็สนใจงานช่างฝีมือแบบญี่ปุ่น และความงามแบบญี่ปุ่นมากขึ้น”
“ดังนั้นในฐานะที่เป็นนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ผมก็อยากจะออกแบบนาฬิกาให้สวยงามยิ่งขึ้น และคุณภาพสูงยิ่งขึ้น เพื่อถ่ายทอดไปยังทั่วโลกว่านาฬิกาจากญี่ปุ่นนั้นยอดเยี่ยมแค่ไหน”
Writer : Rujira Jaisak / Photographer : Tanit, Grand Seiko
TAG
people interview grand seiko seiko Nobuhiro Kosugi designer Nobuhiro Kosugi ผู้อยู่เบื้องหลังดีไซน์เรือนเวลา ที่ไร้กาลเวลาของ Grand Seiko
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
PEOPLE / INTERVIEW
อุ้ม-วัลลภ รุ่งกำจัด นักแสดงภาพยนตร์อิสระ สู่เส้นทางของ Cannes Film
วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว
EVERYTHING TEAM 13 days ago
PEOPLE / INTERVIEW
พูดคุยกับ “MAMIO” บนหน้ากระจกสะท้อนตัวตนที่ถูกซ่อนมาทั้งชีวิต “อาจใช้เวลานานถึง 30 ปี แต่ก็ดีกว่าไม่มีโอกาสได้รู้เลย”
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ
EVERYTHING TEAM 22 days ago
PEOPLE / INTERVIEW
THE ROARING SOUND OF BANGKOK EVILCORE
Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia
EVERYTHING TEAM October 2024
PEOPLE / INTERVIEW
Nat Inksmith (ชณัฏฐ์ หวังบุญเกิด) มากกว่าความสวยงามคือการนำเสนอผลงานที่เป็นตัวตนผ่านศิลปะลายสัก
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน
EVERYTHING TEAM October 2024
PEOPLE / INTERVIEW
KIKI กับการเดินทางก้าวต่อไปของความคิดสร้างสรรค์บนเส้นทางดนตรี
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
EVERYTHING TEAM September 2024
PEOPLE / INTERVIEW
“แมรี่ ปานสง่า” ผู้เปรียบงานภัณฑารักษ์เป็นเสมือนงานศิลปะ ที่นำพาผู้ชมเข้าร่วมตัดสินใจถึงความงามของมัน
คำตอบที่ถูกต้องแน่แท้ของคำถามที่ว่า “ศิลปะแบบไหนที่เรียกว่าสวย” นั้น คงยากพอ ๆ กับความพยายามในการค้นหาทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่าพระอาทิตย์สามารถขึ้นทางทิศตะวันตกได้ เพราะศิลปะที่เป็นเหมือนโลกอีกใบที่อยู่คู่ขนานไปกับโลกจริง อันประกอบสร้างจากความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิหลังของศิลปิน มักถูกตัดสินจากรสนิยมส่วนตัวของผู้ชมแต่ละคน บางคนสนใจแค่ความเจริญตา แต่กลับบางคนอาจมองลึกลงไปยังเบื้องลึกของมัน แล้วตัดสินจากประสบการณ์และความรู้สึก ซึ่งไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานตายตัวที่บ่งบอกถึงรสนิยมโดยรวมของสังคมได้ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นผลงานศิลปะชิ้นเดิม แต่คุณค่าและนิยามความสวยงามของมัน ก็อาจสามารถแปรผันไปได้ตามช่วงวัยของเราที่เปลี่ยนแปลงไป
EVERYTHING TEAM August 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
SUBMIT
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION