สนทนากับ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ภัณฑารักษ์ผู้ส่องแสงสว่างให้นิทรรศการ Good Old Neon | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

สนทนากับ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ภัณฑารักษ์ผู้ส่องแสงสว่างให้นิทรรศการ Good Old Neon
เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ภาพ: Mc Suppha-riksh Phattrasitthichoke

  นับแต่อดีตกาลนานมา มนุษย์รับเอาพลังจากดวงอาทิตย์ ที่สาดส่องแสงสว่างให้มองเห็นสรรพสิ่งในโลก ขับไล่ภัยอันตรายที่ซุกซ่อนอยู่ในความมืด ทั้งพลังงานความร้อนที่ให้ความอบอุ่น หรือพลังงานแสงที่หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เติบโตงอกงาม อีกทั้งยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อีกด้วย เนิ่นนานให้หลัง เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการจนสร้างสิ่งต่างๆ จากสติปัญญาและสองมือ แสงสว่างจากหลอดไฟ ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา นอกจากมนุษย์จะใช้แสงประดิษฐ์จากหลอดไฟที่ว่านี้ในการเปลี่ยนความมืดให้กลายเป็นความสว่างไสวเพื่อใช้ชีวิตในยามกลางคืนแล้ว แสงประดิษฐ์ที่ว่านี้ยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เช่นเดียวกัน ดังเช่นแสงที่ปรากฏในนิทรรศการที่มีชื่อว่า Good Old Neon ที่ใช้แสงเรืองรองของหลอดไฟประดิษฐ์สาดส่องให้แก่ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพถ่าย ที่นำเสนอสื่อทางประสาทสัมผัสจากมุมมองของวัตถุที่กระตุ้นประสาทสัมผัสเพื่อระลึกถึงประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกและความทรงจำอันหลายหลาก

  โดยมี อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล สวมบทบาทภัณฑารักษ์ผู้เปรียบเสมือนเจ้าบ้านผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงสาดส่องให้ศิลปินรุ่นใหม่ผู้ถูกคัดสรรให้เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้อย่าง ทุย-เทียนเหงียน (Thuy Tien Nguyen) ศิลปินชาวเวียดนาม และสองศิลปินชาวไทย เจษฎา ภูเวียง และ มาริษา ศรีจันแปลง นั่นเอง โดย อริญชย์ กล่าวถึงความเป็นมาของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

  “ชื่อนิทรรศการ Good Old Neon มีที่มาจากหนังสือเรื่องสั้นที่เขียนโดย เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลส (David Foster Wallace) ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ผิดหวังในการใช้ชีวิต จนฆ่าตัวตายและกลายเป็นผี 4 เดือนให้หลังจากการเขียนหนังสือเล่มนี้ นักเขียนก็ฆ่าตัวตายเช่นกัน เนื้อหาในหนังสือพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหน่วงมาก และการกลั่นแกล้งกัน เราชอบหนังสือเรื่องนี้มาก เพราะว่าช่วงนี้เรามีความรู้สึกหดหู่ ก็เลยเอาชื่อหนังสือเล่มนี้มาตั้งชื่อนิทรรศการนี้
  คำว่า Good Old Neon ยังทำให้เรานึกถึงงานที่เราเคยทำเมื่อ 24 - 25 ปีที่แล้ว ตอนไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศส ที่เราไปยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และขอเอาหลอดไฟนีออนของเราไปติดตั้งในนั้น เพื่อให้มันฉายแสงสว่างให้งานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับโลก เป็นความโรแมนติกแบบเด็กๆ น่ะนะ”

  “ด้วยความที่ จุนโกะ (สุทธิมา สุจริตกุล) จาก Nova Contemporary เขาติดต่อมาว่าในปีนี้เขาจะมีโครงการที่จะให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแล้วกับศิลปินรุ่นใหม่ทำงานร่วมกัน แต่เขาไม่รู้ว่าจะให้ใครมาแสดงงานคู่กับเรา ไปๆ มาๆ เขาก็เลยชวนเรามาคิวเรทนิทรรศการให้แทน เราก็เลยคิดว่าน่าสนุกดี ถ้าเราเอางานหลอดไฟที่เราเคยทำตอนยังเป็นศิลปินรุ่นใหม่ในอดีต เมื่ออายุประมาณ 24 ปี แล้วให้ศิลปินรุ่นใหม่ในปัจจุบันสามคน มาแสดงงานท่ามกลางแสงสว่างจากงานของเรา ก็เท่ากับว่านิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่(ในอดีตและปัจจุบัน)จำนวน 4 คนพอดี”

  “ที่ผ่านมาตัวเราเองก็ทำงานกับความเป็นองค์ประกอบของวัตถุทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้ หลอดนีออน โคคา​โคล่า หรือแม้แต่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานของความสัมพันธ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งต่างๆ แต่ในปัจจุบัน มนุษย์เราหย่าขาดจากธรรมชาติมาเนิ่นนานมากแล้ว เราอยู่แต่ในโลกของวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์นี้ก็ยังฝังอยู่ในส่วนลึกของความทรงจำและความรู้สึกของเราอยู่ เราก็ใช้วัตถุเหล่านี้เพื่อที่จะกระตุ้นความทรงจำที่ว่านี้ให้ฟื้นคืนมา เราก็เลยหยิบเอางานหลอดนีออนของเรามาติดตั้งเป็นแสงสว่างสาดส่องในพื้นที่แสดงงาน”

  “คืองานของเราทุกชิ้น ใช้องค์ประกอบต่างๆ เพื่อทำให้ผู้คนสามารถที่จะเชื่อมต่อกับวัตถุต่างๆ ได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นความตึงของสายเปียโน น้ำหนักของดิน หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีความเป็นมนุษย์เข้าไปอยู่ในตัวงานของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง แต่งานในนิทรรศการนี้จะไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองหรือประวัติศาสตร์โดยตรง หากแต่พูดเรื่องคุณภาพของมนุษย์ (Human Quality) เรื่องของความเป็นแม่ (Matrilineality) ความเป็นเพศหญิง (Feminine) ความเป็นเกย์และ LGBTQ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกกดทับไว้ด้วยโครงสร้างของภาษา ที่มีผู้กำหนดส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ไม่ว่าจะในเรื่องของ ตรรกะ เหตุผล การวิจารณ์ การสร้างนิยามของความเป็นศิลปะร่วมสมัย ความเป็นคอนเซ็ปชวลอาร์ต ซึ่งเป็นวิธีคิดของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนองค์ประกอบของความเป็นแม่ หรือความเป็นเพศหญิงก็จะถูกเบียดให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก แต่เรามองว่าการที่โลกมนุษย์เกิดปัญหาและความวุ่นวาย ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการชี้นำด้วยตรรกะ เหตุผลแบบผู้ชายใช่ไหม แต่เรามองว่า จริงๆ แล้ว อารมณ์และความรู้สึกนั้นมีความสำคัญไม่แพ้ตรรกะ เหตุผล งานในนิทรรศการนี้แต่ละชิ้นก็เลยเป็นเรื่องของวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ถูกกดทับโดยโครงสร้างของเพศชายที่ว่า อย่างงานในส่วนของเราก็เป็นหลอดไฟนีออนจากโรงหนังพหลโยธินรามา (พหลเธียเตอร์) ซึ่งเป็นโรงหนังสแตนอโลนแห่งสุดท้ายในประเทศไทยที่ยังดำเนินกิจการอยู่ แต่เหตุผลที่โรงหนังนี้อยู่รอดมาได้ก็เพราะมันเป็น Secret rendezvous หรือสถานที่ลับที่คนใช้นัดเจอเพื่อมีเซ็กส์กัน เป็นพื้นที่ทางเลือกให้คนชั้นล่างหรือคนชายขอบได้ใช้พลอดรักกัน แทนที่จะต้องไปเช่าห้องส่วนตัว ซึ่งหมายถึงการยอมจำนนต่อค่านิยมเกีี่ยวกับพื้นที่สาธารณะของสังคม เราสนใจในความเป็นพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ก็เลยไปขอหลอดไฟนีออนจากโรงหนังพหลโยธินรามา มาทำเป็นงานศิลปะที่เป็นเหมือนแสงสว่างในนิทรรศการครั้งนี้”

  “เราโยงแสงสว่างจากหลอดไฟนีออนในโรงหนังให้เกี่ยวเนื่องกับความทรงจำ เพราะความทรงจำคือการผลิตซ้ำความเป็นจริงอีกครั้งหนึ่งในสมอง ซึ่งในยุคดึกดำบรรพ์จะเป็นความทรงจำที่เกี่ยวกับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ดนตรี กวี ที่มีความสัมพันธ์กับ ดวงอาทิตย์ พระจันทร์ ท้องทะเล แต่ในยุคสมัยใหม่ ความทรงจำส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับแสงไฟนีออน ที่เป็นแสงประดิษฐ์ (Artificial Light) ที่ยืดอายุของกลางวันให้ยาวขึ้น และสามารถใช้ในกิจกรรมที่ต้องการความสว่าง เพราะฉะนั้น ความทรงจำที่เป็นความทรงจำยุคสมัยใหม่ก็จะเป็นแสงประดิษฐ์เป็นส่วนใหญ่ เราจะเห็นในงานศิลปะ กวี วรรณกรรม หรือดนตรี เกี่ยวกับแสงนีออน อย่างเช่นงานศิลปะของ เจมส์ เทอร์เรลล์ (James Turrell) ที่ใช้หลอดไฟนีออน หรือ เพลง Motorcycle Emptiness ของ Manic Street Preachers หรือเพลง อายแสงนีออน ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ หลอดไฟนีออนจึงมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์ และการตีความความรู้สึกของมนุษย์เช่นกัน ถึงแม้ในปัจจุบัน เราจะแทบไม่เห็นหลอดไฟนีออนแล้วก็ตาม แต่คาแรคเตอร์ของมันก็ยังคงสร้างความรู้สึกและผลกระทบทางด้านจิตใจและอารมณ์ให้มนุษย์อยู่ดี ถ้าดูให้ดีๆ แสงในนิทรรศการนี้ก็จะคล้ายๆ กับแสงในร้านข้าวต้ม ซึ่งต่างกับบรรยากาศของพื้นที่แสดงงานศิลปะตามปกติ”

  “ผลงานศิลปะที่เราคิวเรทมา ก็จะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่านี้ เริ่มต้นด้วยผลงานของ เจษฎา ภูเวียง ที่ทำงานจิตรกรรม ซึ่งเรามองงานของเขาแวบแรกแล้วนึกถึงงานของ ประเทือง เอมเจริญ ซึ่งเป็นการวาดภาพสเปกตรัมของแสง แต่วิธีการได้มาซึ่งสเปกตรัมแสงของประเทืองนั้นมีความเป็นผู้ชายอย่างมาก คือการจ้องมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ผิดกับภาพวาดของเจษฎา เพราะการได้มาซึ่งสเปกตรัมของแสงของเขาไม่ได้มาจากการจ้องมองดวงอาทิตย์ หากแต่ได้มาจากการแอบมองแสงสีของหลอดไฟนีออน อย่างงานบางชิ้นเป็นสเปกตรัมของแสงเหลือบบนโต๊ะสแตนเลสในบาร์เกย์ เพราะศิลปินเป็น LGBTQ หรืองานชิ้นใหญ่ในห้องนิทรรศการที่ชื่อ Limelight ซึ่งเป็นวิธีการสาดแสงให้นักแสดงบนละครเวทีในสมัยก่อนที่ยังไม่มีสปอตไลท์ โดยเขาจะใช้แสงสว่างจากตะเกียงแก็ซ ซึ่งแสงจาก Limelight ที่ว่านี้ ก็จะมีออร่าที่มีบุคลิกเฉพาะตัวของมัน เราคิดว่าน่าสนใจมากในวิธีการให้ได้มาซึ่งสเปกตรัมของแสงของเขา เหมือนเป็นการหาวิถีทางศิลปะแบบทางเลือก ซึ่งต่างจากงานศิลปะในขนบนิยมแบบชายเป็นใหญ่ สิ่งนี้ก็ได้มาจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขาด้วย”

  “หรือผลงานของศิลปินเวียดนาม ทุย-เทียนเหงียน ซึ่งเราเคยเป็นที่ปรึกษาให้เขาตอนที่เราไปเป็นศิลปินพำนักที่เวียดนาม เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเขาไม่ได้เรียนศิลปะ แต่จบดีไซน์แล้วชอบศิลปะ แต่เป็นคนที่มีพรสวรรค์มาก เราก็แนะนำให้เขาเรียนต่อทางด้านศิลปะ ตอนนี้เขาเรียนอยู่ที่ Academy of Visual Arts, Frankfurt กับ แฮกู ยาง (Haegue Yang) (ศิลปินชาวเกาหลีใต้ผู้ทรงอิทธิพลในโลกศิลปะร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน) งานของเขาจะพูดถึงองค์ประกอบของความทรงจำที่ถูกกระตุ้นโดยวัตถุ อย่างประติมากรรมขาเก้าอี้ที่หล่อจากน้ำตาล โดยใช้แม่พิมพ์ที่หล่อจากขาเก้าอี้ที่ยายของเขาเคยนั่ง หรืองานอีกชิ้นที่พูดถึงเรื่องราวสมัยเด็ก ที่เด็กเวียดนามทุกคนถูกบังคับให้คัดลายมือด้วยพู่กัน โดยใช้หมึกสีม่วง แต่เขาเป็นคนถนัดซ้าย เวลาคัดลายมือหมึกก็จะเลอะมือเขาลงไปบนกระดาษเต็มไปหมด เขาก็หยิบเอาเรื่องราวเหล่านี้มาทำงานศิลปะโดยใช้หมึกสีม่วง หรืองานประติมากรรมอีกชุดที่พูดเรื่องของความไม่สมดุล ซึ่งถูกใช้ในภาษาเชิงเปรียบเทียบมากมาย อย่างเช่นเวลาเรารู้สึกดีใจเหมือนตัวลอย หรือมีภาระจนเหมือนบ่าถูกกดทับเอาไว้ หรือเวลาไปที่ไหนที่ไม่คุ้นเคย เราก็จะเดินกระย่องกระแย่งด้วยความไม่มั่นใจ อย่างผลงานประติมากรรมเหล็กรูปขาโต๊ะ มาจากการที่เขาเริ่มเข้าไปเรียนที่แฟรงค์เฟิร์ตแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก ไม่สามารถมีความสมดุลในชีวิตได้ ที่น่าสนใจก็คือการที่เขาใช้ข้อต่อในงานเยอะมาก ซึ่งเรามองว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในผลงานของเขา เพราะถ้าเรากลับไปดูในงานศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะงานประติมากรรม ส่วนใหญ่มักจะทำงานออกมาให้ไร้รอยต่อ แต่ศิลปินหญิงคนสำคัญอย่าง หลุยส์ บรูชัวร์ (Louise Bourgeois) มักจะทำในทางตรงกันข้าม งานของเธอพูดถึงความเปราะบางของมนุษย์ เพราะฉะนั้น รอยต่อคือจุดที่อวัยวะงอกออกมา เป็นจุดที่ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นรอยต่อของต้นไม้ ดอกไม้ รอยต่อของหัวเข่า ข้อศอก ธรรมชาติต้องต่อรองกับรอยต่อที่ว่านี้ตลอดเวลา เพราะรอยต่อเป็นจุดที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่น ในผลงานประติมากรรมของ ทุย-เทียนเหงียน จะใช้รอยต่อทำให้เกิดความกระย่องกระแย่ง ไม่สมบูรณ์แบบ เป็นการสะท้อนถึงพื้นที่ สถานการณ์เกี่ยวกับแรงกด น้ำหนัก และพื้นที่ว่าง และความเป็นมนุษย์”

  ที่น่าสนใจก็คือ น้ำตาล ที่เป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักในผลงานของทุย-เทียนเหงียน ยังมีความเชื่อมโยงกับผลงานในอดีตของอริญชย์ อย่าง Golden Teardrop (2013) ที่พูดถึงประวัติศาสตร์การผลิตน้ำตาลในอดีตได้อย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย
  “ในผลงาน Golden Teardrop เราใช้น้ำตาลในแง่ของประวัติศาสตร์หลายแง่มุม ทั้งเรื่องการปฏิวัติ การค้าทาส การใช้แรงงานสัตว์ อุตสาหกรรมน้ำตาลในอเมริกาใต้ ในขณะที่ ทุย-เทียนเหงียน ใช้น้ำตาลในฐานะที่มันมีชีวิต สิ่งที่เราเห็นในงานของเขาคือจุดที่วัตถุเปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง เช่นของแข็งกลายเป็นของเหลว จากไอน้ำกลายเป็นน้ำ จากผงกลายเป็นของแข็ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบทางความรู้สึกของมนุษย์ แต่อยู่ในองค์ประกอบของวัตถุทางธรรมชาติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสสารต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในโลก ผ่านภาษาที่มนุษย์(เพศชาย)สร้างขึ้นเป็นส่วนใหญ่”

  “หรือผลงานของ มาริษา ศรีจันแปลง ซึ่งเป็นผลงานศิลปะนิพนธ์ของเธอ โดยเธอจะเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ กับบ้านที่ต่างจังหวัดอยู่ตลอดเวลา เธอก็ทำงานภาพถ่ายที่บันทึกช่วงเวลาที่เธอเดินทางเอาไว้ อย่างภาพหนึ่งเป็นภาพของกระจกหน้าต่างรถทัวร์ที่มัว เลือนราง เพราะไอน้ำจับ หรือภาพของพ่อแม่ของเธอที่นั่งดูพระอาทิตย์ตกดิน ในช่วงเวลา 7 วันก่อนที่พ่อของเธอจะเสียชีวิต หรือผลงานประติมากรรมที่เธอให้ชาวบ้านในหมู่บ้านของเธอ ที่เป็นชาวไร่ชาวนา ช่วยกันเอาถุงปุ๋ยมาเย็บต่อกันเป็นผืนผ้า แล้วก็ขึงขึ้นทำเป็นจอหนังกางแปลงเพื่อนั่งดูกันในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผลงานที่พูดถึงความทรงจำที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของมนุษย์”

  “ถึงแม้งานในนิทรรศการครั้งนี้จะไม่ได้ตั้งใจพูดถึงประเด็นทางการเมืองโดยตรง แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็มีประเด็นเหล่านี้แฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำตาลในประวัติศาสตร์ เรื่องของขาเก้าอี้ที่ยายของ ทุย-เทียนเหงียน ใช้ ซึ่งยายของเขาเป็นคนในยุคสงครามเวียดนาม หรือหลอดไฟนีออนจากโรงหนังพหลโยธินรามา ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม การเมือง ทั้งการเมืองทางเพศ การเมืองเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ เพียงแต่เราไม่ได้ขับเน้นประเด็นเหล่านั้นให้โดดเด่นชัดเจน หากแต่เราขับเน้นการมีอยู่ของวัตถุที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของประเด็นเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง”

นิทรรศการ Good Old Neon โดยศิลปิน ทุย-เทียนเหงียน (Thuy Tien Nguyen),
เจษฎา ภูเวียง, มาริษา ศรีจันแปลง และภัณฑารักษ์ อริญชย์ รุ่งแจ้ง
จัดแสดงที่ Nova Contemporary, กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม - 18 พฤษภาคม 2024
เปิดทำการ วันอังคาร - เสาร์ 11:00 น. - 19:00 น.
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 090 910 6863, อีเมล [email protected]
    TAG
  • design
  • art
  • exhibition
  • Nova Contemporary
  • Good Old Neon

สนทนากับ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ภัณฑารักษ์ผู้ส่องแสงสว่างให้นิทรรศการ Good Old Neon

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
9 months ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanaponga month ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanaponga month ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM2 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong3 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Out of Frame การล่องแพในแม่น้ำเพื่อสำรวจหาเส้นทางใหม่ๆ แห่งการทำงานจิตรกรรมของ Lee Joon-hyung

    เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึง เคป็อป หรือซีรีส์เกาหลี แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น หากแต่ เคอาร์ต หรือวงการศิลปะเกาหลีก็มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจเหมือนกัน ดังเช่นที่เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินเกาหลีใต้ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในบ้านเรา

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Rite of Spring ศิลปะการแสดงหลากศาสตร์สาขา สะพานเชื่อมทางศิลปวัฒนธรรมหลากประเทศ โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น

    ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมศิลปะการแสดงชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟัง การแสดงที่ว่านี้มีชื่อว่า The Rite of Spring Concert and Dance ที่กำกับโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปะการแสดงชั้นนำของไทยและเอเชีย โดยเป็นการร่วมงานกับสองนักดนตรีระดับโลกอย่าง ทามาโยะ อิเคดะ (Tamayo Ikeda) นักเปียโนชาวญี่ปุ่น และ เกวนดัล กิเกอร์เลย์ (Gwendal Giguelay) นักเปียโนชาวฝรั่งเศส ร่วมกับเหล่าบรรดานักเต้นมากฝีมือจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพะนี และกลุ่มนักแสดงนาฏศิลป์ไทยประเพณีหลากที่มาจาก ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะนักเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )