พิพิธภัณฑ์ช้างไทยกึ่งกลางแจ้งที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ในพื้นที่ชมชุนของชาวกูย และช้างสุรินทร์ ผ่านองค์ประกอบงานสถาปัตยกรรม
Photographer:
Spaceshift Studio
Writer:
Nada Inthaphunt
Architect:
Boonserm Premthada
Special Thanks:
Bangkok Project Studio
เมื่อหนึ่งปีที่แล้วทีม EVERYTHING ได้มีโอกาสไป เก็บภาพโครงการโลกของช้าง หรือ Elephant World จังหวัดสุรินทร์ กับผู้ออกแบบโครงการ Bangkok Project Studio ที่ก่อตั้งโดย อาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา การเดินทางไปครั้งนั้นทำให้เราสัมผัสถึงความพิเศษของสถานที่ตั้ง รวมถึงความผูกพันฉันมิตร ระหว่าง คนกับสัตว์รายล้อมทั้งภายในและภายนอกโครงการซึ่งแตกต่างจากที่อื่น
โครงการ Elephant World ประกอบด้วยสามกลุ่มอาคารหลักที่อยู่ในการออกแบบของอาจารย์บุญเสริม โดยสองอาคารแรกได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อปีที่แล้ว มีลักษณะการจำแนกผู้ใช้งานหลักแยกชนิดกัน ELEPHANT STADIUM เล่าถึงสนามเด็กเล่นของช้างในสเกลของมัน เป็นพื้นที่ของสัตว์ และอนุญาตให้คนเข้ามาสังเกตเท่านั้น ในขณะที่ BRICK TOWER เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวกูยในสเกลของคน เป็นพื้นที่ของคน ดังนั้นอาคารที่สามอย่าง ELEPHANT MUSEUM จึงเล่าถึงความผูกพันของชาวกูยและช้างสุรินทร์ ในสเกลผสมของผู้ใช้งานหลักทั้งสองชนิด เป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองผู้ใช้งานหลักอยู่ร่วมกันได้
อาคารเสมือนสวนสาธารณะซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กึ่งกลางแจ้งแห่งนี้ เกิดจากการตัด สอย ดึง แมสขนาดใหญ่ ระหว่างรอยแยกของแมสแต่ละก้อนตัดกันเป็นแกนบวก แล้วถูกขยับเพื่อเพิ่มมิติให้กลุ่มอาคารที่ได้แบ่งออกเป็นสี่ส่วนสามารถเดินเข้า-ออกได้จากทั้งสี่ด้าน ทั้งนี้การเปิด-ปิดของแมสได้สร้างปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงพื้นที่ภายใน และภายนอก (Inside – Out) ให้ธรรมชาติ แสง-เสียง-กลิ่น เป็นตัวกระตุ้นผัสสะผ่านองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมได้ดียิ่งขึ้น
ทางเดินหลักมีลักษณะเปิดไม่มีรั้วกั้น มีขนาดกว้างพอสำหรับช้างเดินเรียงเดี่ยวสู่ภายในทำหน้าที่เชื่อมโปรแกรมการใช้งานทั้งสี่ส่วน และทางเดินย่อยซึ่งขนาดเล็กลงสำหรับคนเดินเข้าแต่ละกลุ่มอาคาร คือ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด คาเฟ่ ส่วนขายของที่ระลึก ห้องประชุมสัมมนาขนาดเล็ก และมีโปรแกรมอำนวยความสะดวกรองรับการใช้งานหลักในแต่ละกลุ่มอาคาร
ในแต่ละชุมชนนั้นมีความเกี่ยวเนื่องส่งผลซึ่งกันและกันทั้งหมดเช่นเดียวกับที่นี่ วิถีชีวิตทั้งหลายเกิดจากความเข้าใจกัน ผู้ออกแบบจึงตั้งใจสื่อถึงเนื้อแท้ของแต่ละความสัมพันธ์ผ่านการทำวิจัยจนเป็นโครงการนี้เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส
“ทำไมต้องมีธรรมชาติ ทำไมถึงต้องปลูกต้นไม้ ทำไมต้องมีป่า ชาวกูยต้องปลูกพืชเพื่อให้เป็นอาหารของช้าง ต้องทำบ่อน้ำเพื่อให้ช้างได้ดื่ม ได้อาบ ปลูกพืชที่เป็นอาหารของช้าง ป่าก็จะตามมา มันก็กลายเป็นคนทำให้เกิดสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ เกิดขึ้น เกิดแหล่งน้ำเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงช้างเป็นจุดเริ่มต้น” อาจารย์บุญเสริมกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์-สัตว์-ธรรมชาติตามความเชื่อที่นี่ช้างเปรียบเสมือนเทวดาอารักษ์ ถูกเลี้ยงประหนึ่งลูก ในขณะที่ช้างกับน้ำเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน ช้างจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนที่นี่ขุดบ่อน้ำให้กว้างขึ้น ปลูกพืชให้มากขึ้น แต่เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายช่วงชีวิตคนจนกลายเป็นป่าและแหล่งน้ำที่ หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตที่นี่
“อิฐเป็นวัสดุพื้นฐานที่ทำโดยมือมนุษย์ อิฐเป็นตัวแทนของทุกพื้นที่ เป็นตัวแทนของดินในภูมิภาคนั้น” ผู้ออกแบบเล่าถึงสื่อที่ใช้เชื่อมโยงแนวคิดผ่านวัสดุหลักภายในงาน “อิฐก็เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติชนิดหนึ่ง สิ่งสำคัญการใช้อิฐของผมในงานชิ้นนี้เพื่อสื่อถึงความมั่นคงแข็งแรงสอดคล้องกับสเกลของช้าง”
ในขณะที่ความมั่นคงแข็งแรงของอิฐถูกอธิบายถึงความมั่นคง แข็งแรงกับสเกล ซึ่งเกิดจากการทำขึ้นของคนจากธรรมชาติแล้ว อิฐในงานออกแบบของอาจารย์บุญเสริมได้สื่อสารผ่านงานและงานวิจัยออกมาตลอดคือ เรื่องเสียง
“ช้างฟังภาษาคนรู้เรื่อง” ผู้ออกแบบกล่าวถึงประเด็นที่ยังไม่เคยถูกยกขึ้นมา แต่การสื่อสารกับช้างต้องใช้เสียงที่ดังเพื่อให้ช้างจับความได้ เสียงดังระดับไหน เรียกแบบไหนสื่ออารมณ์อย่างไร มีเพียงควาญผู้ที่สื่อสารกับช้างจะเข้าใจกันได้ดีที่สุด “นั่นคือเหุตผลว่าทำไมต้องทำงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องเสียงที่นี่” การศึกษาพฤติกรรมช้างต้องใช้เวลาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ หาวิธีการถ่ายทอด และยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้ออกแบบกล่าวว่าได้ศึกษารวบรวมไว้ แต่ไม่สามารถทำได้หมด
ตามงานวิจัยการใช้ภาษาเสียงใน “Sound Brick” เพื่อสร้างการต่อยอดจากต้นแบบการศึกษาหลักแบบ “เสียงในภูมิสถาปัตยกรรม” (Soundscape) กำแพงอิฐขนาดใหญ่ในสเกลของมนุษย์นั้นเป็นการก่ออิฐซึ่งมีความหนากักเก็บเสียงได้ในระดับความสูงภายใน และมีลักษณะค่อยๆ เพิ่มความสูงจนเป็นส่วนโค้งจากทางเดินเข้าสู่ตัวอาคารทางด้านหน้าการเว้าโค้งในแต่ละระดับเปลี่ยนแปลงความสูงเพื่อเกิดการถ่ายเทของอากาศ ลม และเสียง ทั้งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้คนแยกแยะความแตกต่างของเสียงในพื้นที่ได้ การก่ออิฐที่เรียบไม่มีลวดลายนั้นอำนวยต่อการเดินทางของเสียงในแนวตั้ง (Vertical Circulation) เพราะเป็นพื้นที่เปิดด้านบน เสียงที่สะท้อนในแนวนอนของพื้นที่ได้ถ่ายเทสู่แนวตั้งด้านบน ซึ่งเปิดโล่งรับเสียงจากบริบทของธรรมชาติเข้ามากระตุ้นสัมผัส และการมีต้นไม้ระหว่างทางเดินนอกจากให้ความร่มเย็นแล้วยังช่วยลดทอนการสะท้อนของเสียง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้คนซึมซับความพิเศษของสถานที่ได้ดียิ่งขึ้น
ผลงานของ Bangkok Project Studio มักมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ และผลงานโครงการที่เคยออกแบบมาก่อนเสมอ เสมือนเป็นภาคต่อของกระบวนการพัฒนาทางความคิดที่มีทิศทางของตนชัดเจน และพร้อมจะประยุกต์ให้เข้ากับทุกที่ผ่านกระบวนการวิจัย หากตัดสินเพียงผิวเผินแม้รูปแบบของอาคารมีความคล้ายคลึงกับโครงการสถาบันกันตนา แต่ขนาด ภาษา การใช้วัสดุ บริบท และเรื่องราวภายในเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างให้ทั้งสองโครงการ
ดังนั้นการเดินทางไปสัมผัสยังสถานที่จริงจะทำให้แยกแยะความต่างออกมาได้ เพราะสถาปัตยกรรมไม่ได้ถูกเริ่มเล่าเรื่องเมื่อเดินทางไปถึงสถานที่ แต่พื้นที่โดยรอบระหว่างทางคืออีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนต่างถิ่นสัมผัสถึงความสัมพันธ์ในท้องถิ่นที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร