‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอที่ออกแบบ ‘บ้าน’ บนความหลากหลาย และเป็นอะไรก็ได้ตามใจผู้อยู่  | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอที่ออกแบบ ‘บ้าน’ บนความหลากหลาย และเป็นอะไรก็ได้ตามใจผู้อยู่

คิดจะมีบ้านสักหลัง ความยากคงไม่ใช่แค่การหยอดกระปุกหมูเก็บตังค์ให้ได้มาซึ่งบ้านในฝันเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือการย้อนกลับไปถามความต้องการที่แท้จริงว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ และแบบไหนถึงจะ ‘เติมเต็ม’ สิ่งนั้นได้ 

เช่นเดียวกับคนที่เดินเข้ามาที่นี่ เพื่อตามหา ‘บ้าน’ ในความหมายของพวกเขา บางคนมีภาพในหัว บางคนมีภาพในโทรศัพท์ บางคนก็ไม่มีทั้งภาพในหัวและในโทรศัพท์ แค่รู้ว่าตัวเองชอบ ไม่ชอบอะไร และอยากให้ใครสักคนช่วยปั้นมันขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างให้ที 

นั่นคือภารกิจของนักออกแบบอย่าง ‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอ การรวมตัวกันของคนเจนฯ ใหม่ที่ทำงานบนความหลากหลาย ลื่นไหล และพร้อมปรับตัวไปกับทุกภารกิจที่ถาโถมเข้ามา เพื่อจัดการความชอบของผู้คนให้เข้าที่เข้าทาง 

สไตล์การทำงานของ DOT.X ทำให้เราเริ่มเข้าใจวลีที่ว่า ‘สร้างบ้านตามใจผู้อยู่’ อย่างลึกซึ้ง อาจจะฟังดู Cliché ไปหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าความหมายของมันไม่เกินจริงไปเลยสำหรับพวกเขา

ผสม / ผสาน 

แม้ว่าสองผู้ก่อตั้ง ‘ทีโน่ - อโนทัย มอร์เกนโรธ’ และ ‘โบว์ - วริษา กลิ่นดาว’ จะไม่ได้เรียนจบมาด้านอินทีเรียโดยตรง แต่ด้วยประสบการณ์ที่ทีโน่เคยทำงานมาแล้วตั้งแต่ครีเอทีฟโฆษณา จัดอีเวนต์ คอนเสิร์ต Exhibition ออกแบบโชว์รูม ไปจนถึงทำฉากให้กับค่าย Workpoint บวกกับความหลงใหลงานอินทีเรียมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่ว่างานไหนๆ ที่ได้รับ เขาก็มักจะหยิบจับเอางานความเป็นงานอินทีเรียเข้าไปใส่อยู่เสมอ 

ส่วนโบว์เองก็เติบโตมากับธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว ได้มีโอกาสคลุกคลีกับงานสถาปัตย์ไปพร้อมกับธุรกิจมาตั้งแต่ต้น การผสมผสานนี้เองที่ทำให้ทั้งคู่ค่อยๆ เฟดเข้ามาสู่โลกของอินทีเรียอย่างจริงจัง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ DOT.X 

“แรกๆ เราทำงานกันแค่ 2 คน และค่อนข้างรับงานแบบ Hybrid มากครับ คือให้ทำอะไรก็ทำหมด อีเวนต์ Exhibition คอนเสิร์ต โชว์รูม ซึ่งค่อนข้างกว้างและหลากหลายมาก แต่เราก็พยายามให้แต่ละงานมีกิมมิกอะไรบางอย่างอยู่ในนั้นเสมอ ให้ลูกค้ารู้สึกว่าทำไมงานนี้ถึงต้องจ้างเราทำ” ทีโน่เล่าให้เราฟัง 

“ตอนทำงานบริษัท มีลูกค้าเคสหนึ่งที่ผมอยากครีเอทีฟงานให้เขามากๆ  แต่เวลาเป็นงานบริษัท มันจะมีขั้นตอนหรือกระบวนการบางอย่างที่ผมรู้ทันทีว่าถ้าจะลองทำ มันไม่สามารถทำที่นี่ได้แน่ สุดท้ายด้วยความอยากทำเพราะสนใจมันจริงๆ ผมตัดสินใจก้าวออกมาทำเอง เพื่อดูว่าจะรอดมั้ย (หัวเราะ) กลายเป็นสิ่งที่ DOT.X เป็นอยู่ทุกวันนี้” 

พร้อมกับที่งานออกแบบบ้านเริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ ก็เกิดวิกฤตโควิด ส่งผลให้งานอีเวนต์และงาน Commercial แทบทั้งหมดหยุดชะงัก แต่กลับเป็นสู่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ DOT.X เริ่มงานอินทีเรียอย่างเต็มตัว 

โจทย์ของนักแก้โจทย์

เมื่อ DOT.X หันมาจับงานออกแบบที่อยู่อาศัยจริงจัง ลักษณะการทำงานจะค่อนข้างเรียบนิ่งกว่างาน Commercial แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการ ‘แก้โจทย์’ 

“ลูกค้าจะเข้ามาในหลากหลายรูปแบบมาก บางคนมาแบบไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง คือเอารูปมาให้เราดู 10 แบบไม่เหมือนกันเลย กับอีกแบบหนึ่งที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่พอเราทำความรู้จักเขาจริงๆ ไปดูบ้านเขา ดูไลฟ์สไตล์ ดูแม้กระทั่งของสะสมของเขา ทำให้รู้ว่าสไตล์ที่เขาชอบไม่เหมาะกับเขาเลย ถ้าเราแต่งบ้านไปตามไสตล์ที่เขาอยากได้ บ้านก็อาจจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี แต่บ้านจริงๆ ควรอยู่ได้ 10-20 ปี อย่างน้อย งานของเราเลยต้องตีโจทย์สิ่งที่ลูกค้าชอบให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของเขาจริงๆ ด้วย นี่แหละ พาร์ทที่ยากที่สุดของงานออกแบบ” โบว์เล่า

ส่วนทีโน่บอกว่าหน้าที่ของนักออกแบบก็เหมือนกับ ‘ร้านตัดสูท’ ที่มีหน้าที่ตัดชุดให้พอดิบพอดี เข้ากับตัวเจ้าของแต่ละคนให้มากที่สุด 

“บางเคสลูกค้ามากันสองคน ซื้อบ้านแบบเดียวกัน ชอบสไตล์เหมือนกัน ใช้เฟอร์นิเจอร์แบรนด์เดียวกัน แต่สุดท้ายแล้วบ้านมันจะออกมาไม่เหมือนกันหรอก เพราะแต่ละคนใช้ฟังก์ชั่นของบ้านต่างกัน และแต่ละบ้านก็จะสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านหลังนั้นออกมา เวลาคุยกับลูกค้า มันเหมือนเรากำลังจีบใครสักคนน่ะ ต้องค่อยๆ ทำความรู้จัก แล้วปรับเข้าหากันไปเรื่อยๆ แล้วพอหาสิ่งนั้นเจอ ทุกอย่างมันไปต่อได้เอง” 

“งานสาย Commercial ที่เราเคยทำ สอนให้ว่าจะทำยังไงให้สามารถดึงคาร์แรกเตอร์ หรือเอกลักษณ์ของคนๆ นั้นออกมา อย่างคนชอบเซลฟี่ เราก็คิดต่อว่าทำยังไงให้ห้องแต่งตัว หรือพื้นที่ภายในบ้านเขาสามารถถ่ายรูปออกมาได้สวยทุกวัน โดยไม่ต้องออกไปถ่ายรูปที่คาเฟ่ หรือบางทีโจทย์ก็อิงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เทรนด์ หรือปัจจัยภายนอกด้วยเหมือนกัน เช่นตอนนี้คนกังวลเรื่องฝุ่น PM 2.5 ขอเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่อมฝุ่นง่าย ขอไม่เอาผ้าม่านเลยทั้งหลัง มันจะมีดีเทลเล็กๆ แบบนี้เข้ามาเรื่อยๆ” โบว์กล่าว 

แต่ปัจจัยภายนอกอะไรก็ไม่ทำให้พวกเขาเหงื่อตกได้เท่ากับโจทย์ที่มาพร้อมกับ ‘ความเชื่อ’ 

“ความยากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือเรื่องของความเชื่อ พวกเราถึงกับต้องพยายามเรียนรู้เรื่องศาสตร์ฮวงจุ้ยบางอย่างด้วยเหมือนกัน เช่น ชักโครกต้องหันทางไหน บันไดต้องอยู่ยังไง หรือประตูทางเข้าต้องอยู่มุมไหน อะไรแบบนี้เลย ซึ่งในพาร์ทของงานสถาปัตย์มันทำได้นะ ถ้าเราเป็นคนวาง Canvas มาตั้งแต่ต้น แต่บางทีสถาปัตย์ทำเสร็จมาแล้ว เราผู้ทำอินทีเรีย แค่ใช้คำว่า ‘ช่วยแก้เคล็ดให้หน่อย’ ก็ยากละ บางทีมันไปถึงจุดที่ว่าให้เราช่วยแก้เคล็ดเพื่อไม่ให้งานโดนรื้อทั้งหมดก็มี แต่โชคดีว่าแต่ละศาสตร์มีดีเทลไม่เหมือนกัน เช่น ศาสตร์ฝั่งฮ่องกง ศาสตร์ฝั่งจีน ช่วยให้เราพอหาวิธีพลิก หรือปรับด้วยอะไรบางอย่างได้” 

“เอาจริงๆ ไม่มีดีไซเนอร์คนไหนชอบหรอกครับ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกับสิ่งนี้ให้ได้ เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ผมว่าถ้าซินแสเข้ามาที่ออศฟิศนี้ก็มีเละเหมือนกัน เพราะคงผิดทุกหลัก แต่อย่างน้อยส้วมก็หันถูกทางแหละแล้วซินแสก็บอกว่าปีนี้เทรนด์สีดำมา ดำแล้วจะดี (หัวเราะ)” 

น่าจะจริงอย่างที่ทีโน่ว่า ระหว่างนั่งคุยกันบนชั้น 2 ของออฟฟิศ DOT.X ในย่านรามอินทรา เราเพิ่งสังเกตได้ว่ากำลังนั่งอยู่ท่ามกลางสีดำที่นับเป็น 99.99% ของพื้นที่ทั้งหมด ทีโน่บอกว่าตัวเขาชอบสีดำ แล้วก็มีลูกค้าที่อยากได้บ้านโทนสีดำ แต่หลายคนกลับไม่กล้าลอง อาจเพราะด้วยความเชื่อเรื่องของสี เช่น สีไม่เป็นมงคลบ้างแหละ หรือกลัวบ้านแคบ กลัวมืด กลัวยุงเยอะ กลัวขัดใจแม่ ต่างๆ นานา เขาจึงลงมือทำทั้งออฟฟิศและบ้านของตัวเองให้กลายเป็นโทนสีดำ แล้วก็ใส่ความชอบของโบว์ในการเล่นสีที่คอนทราสต์กันอย่างสีแดงลงไปด้วย บ้านของพวกเขาจึงออกมาเป็นโทนสีดำที่แอบแทรกด้วยเฟอร์นิเจอร์สีจัดจ้าน และเล่นกับ Lighting ได้อย่างลงตัว เผื่อว่าลูกค้าคนไหนสนใจบ้าน ‘ทรงแบด’ แบบเดียวกันนี้ ก็สามารถใช้เป็น Reference ให้ได้

การมาถึงของอินฟลูเอนเซอร์

เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา อยู่ๆ เราก็เห็นอินฟลูเอนเซอร์คนดัง ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์ ไปจนถึงดารานักแสดงหลายคน ต่างพร้อมใจกันมาใช้บริการงานออกแบบที่นี่ จากนั้นชื่อของ DOT.X ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอะไรนะกันที่ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ไว้ใจให้ DOT.X ออกแบบบ้านให้กับพวกเขา

“ผมมองว่าปัจจัยเรื่องอายุก็น่าจะมีส่วน ด้วยอายุของคนรุ่นใหม่ อย่างบล็อกเกอร์ อินฟลูฯ เขาจะมีความต้องการใกล้เคียงกัน หรือสนใจอะไรคล้ายๆ กัน เราเลยอาจจะคุยกันง่ายมากกว่ากลุ่มลูกค้าที่อายุหน่อย แล้วพอเราทำบ้านให้คนหนึ่ง เขาก็จะไปแนะนำให้เพื่อนๆ หรือคนในแวดวงของเขารู้จักเราต่อไปอีก เหมือนเป็นการคอนเน็กต์กันไปเรื่อยๆ” ทีโน่เล่า

“แล้วพอเราทำบ้านให้อินฟลูฯ ปรากฏว่ามีลูกค้าหลายคนที่อยากได้บ้านแบบนี้เป๊ะๆ บางคนถึงกับซื้อบ้านแบบเดียวกันเลยนะ เราจะบอกว่า ‘ไม่ได้นะครับ อย่าก็อปฯ บ้านเขา’ มันก็ไม่ได้ใช่มั้ย (หัวเราะ) แต่เราก็จะบอกเสมอว่าที่บ้านนั้นมันมีสิ่งนั้นเพราะอะไร ใช้ทำอะไร เพื่อให้รู้ว่าฟังก์ชั่นนั้นๆ มันเหมาะหรือไม่เหมาะกับเขาก่อน เราอยากทำบ้านให้มัน Custom Made สำหรับผู้อยู่จริงๆ มากกว่า” 

ถ้าถามว่าพวกเขารู้สึกว่านี่คือความสำเร็จของ DOT.X หรือไม่ ทั้งทีโน่และโบว์เห็นตรงกันว่า ลูกค้ามีชื่อเสียงก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนรู้จักมากขึ้น แต่สำหรับการทำงาน พวกเขาทำงานบนวิธีการและมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าลูกค้าจะเป็นใครก็ตาม 

“เราไม่ได้มองว่าคนนี้เป็นคนดังหรือคนรู้จักเยอะแล้วจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความสำเร็จจริงๆ คืออะไร มันเหมือนเราเดินกันไปเรื่อยๆ มีขึ้นมีลง แค่พยายามทำให้มันดีในทุกงานและทุกโจทย์ที่ได้รับ ผมจะรู้สึกอยู่เสมอว่าทุกงานก็เหมือนเป็นลูกเราคนหนึ่ง” 

สตูฯ ที่ไม่มี สไตล์ 

นอกจากคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์แล้ว โบว์และทีโน่บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเลือก DOT.X เพราะต้องการความ ‘ลักซ์ชัวรี่’ แต่เป็นลักซ์ชัวรี่ที่สามารถดึงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมาได้ด้วย 

“คำว่าลักซ์ชัวรี่มันขึ้นอยู่กับคนตีความนะ เพราะแต่ละคนตีความคำนี้ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะคิดว่าต้องทองเยอะๆ ถึงจะเรียกว่าลูกซ์ชัวรี่ บางคนบอกอยากได้ลักซ์ชัวรี่ แต่ไม่ชอบสีทอง เราก็คิดกันนะว่าหรือจริงๆ คือเรื่องของการลงดีเทล ที่ไม่สามารถจำกัดความได้หรือเปล่า” ความเห็นของโบว์ 

“เคยคุยกับทีมงานว่า เรากำลังทำงานกับ ‘ความพอดี’ ถ้าเราเป็นคนแต่งตัว เราจะไม่ใส่ทองทั้งตัว แต่ใส่แค่บางชิ้นที่ทำให้ดูเด่นจริงๆ นึกออกมั้ย แต่มันก็มีลักซ์ชัวรี่บางแนวทางที่เราทำไม่เป็นจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเขาน่าจะรู้อยู่แล้ว และไปเลือกสตูดิโออื่นที่สามารถตอบสนองสิ่งที่เขาชอบได้มากกว่า หรืออย่างบางเคสที่เขาเลือกเรา แต่รีเควสขอทองเต็มๆ มาเลย เรากับทีมงานก็จะช่วยกันออกไอเดีย ช่วยกันปรับให้เข้าที่เข้าทาง ทำยังไงให้เราไม่ฝืน แล้วเขาก็ยังคงได้ในสิ่งที่เขาต้องการอยู่” ทีโน่กล่าว

“เราจะคุยกันตลอดว่าความงามเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องของรสนิยม อย่างบางครั้งพี่โน่ดูแล้วอาจจะออกความเห็นไม่ได้จริงๆ ว่าสวยมั้ย แต่ทีมงานมาคุยกันว่า ลูกค้าคาแรกเตอร์แบบนี้ ได้รับโจทย์แบบนี้มา ผลงานที่ออกมาก็น่าจะเป็นแบบไหน มันเกิด การ Brainstorm กันเยอะมากในทีม แต่ถ้าสุดท้ายแล้วลูกค้าแฮปปี้ เราก็แฮปปี้ แค่นั้นจบแล้ว” โบว์กล่าว 

หากถามว่าสไตล์ที่แท้จริงของ DOT.X คืออะไร ทั้งคู่ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน 

“เวลามีคนถามว่า DOT.X คืออะไร ผมก็จะบอกไม่ได้ว่า ‘เออ มันคืออะไร’ มันอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างลูกค้ามา 10 คน แนวทางก็ไม่เหมือนกันเลย หรือบางคนอยากได้บ้าน 3 สไตล์ในหลังเดียวกัน ซึ่งเขาคงคิดมาแล้วว่าถ้าอยากได้ 3 สไตล์ผสมกันก็ต้องมาหาเรา คิดว่าเราน่าจะช่วยผสมให้เขาได้ (หัวเราะ)” ทีโน่กล่าว พร้อมกับโชว์ให้เราดูผลงานที่เคยทำ ซึ่งก็จริงอย่างเขาว่า ความหลากหลายถูกผสมกลมกลืนกันไป จนเราหาคำนิยามของสไตล์ที่เห็นไม่ได้เลย 

“ในทางกลับกัน ลูกค้าก็อาจจะไม่เลือกเรา เพราะเราไม่มีสไตล์ที่ชัดเจน แต่บางทีเรากลับโดนเลือกเพราะความไม่มีสไตล์ท่ีชัดเจนนี่แหละ บางทีเราก็ได้ลูกค้าแบบที่เขาคิดอะไรไม่ออกว่าอยากได้อะไร แล้วให้เราช่วยตบเข้าที่เข้าทางให้หน่อย” 

“เคยคุยกันในทีมเหมือนกันว่า ไม่อยากให้ DOT.X ยึดติดกับสไตล์อะไรเลย เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรายึดติด เราจะหนีออกจากสิ่งนั้นไม่ได้” 

สร้างบ้านตามใจผู้อยู่

ความไม่ยึดติดกับสไตล์ พร้อมลื่นไหลไปกับทุกโจทย์ที่ได้รับ อาจใกล้เคียงกับความเป็น DOT.X มากที่สุด และทำให้เรานึกถึงวลีที่ว่า ‘สร้างบ้านตามใจผู้อยู่’ 

“เพียงแต่ว่าเราจะตามใจผู้อยู่ยังไงให้มันยังสวย แล้วใช้งานได้จริงด้วย เคยมีครั้งหนึ่งลูกค้าชอบโซฟาแบบในคาเฟ่มาก ซึ่งผมบอกเขาว่าถ่ายรูปสวยจริง แต่นั่งไม่สบายนะ กับโซฟาที่สวยน้อยกว่า แต่นั่งสบายกว่า ผมก็จะแนะนะว่า ถ้าอย่างนั้นเอาตัวที่สวยไว้มุมที่จะถ่ายรูป รับแขกไปมั้ย อีกตัวที่สบายกว่าก็เอาไว้นั่งนอนจริงๆ อีกมุม สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเป็นรายละเอียดเล็กๆ แต่ถ้าเราไม่แนะนำ เขาก็จะไปซื้อมาจนได้ สุดท้ายใช้ไม่กี่ครั้งก็ต้องทิ้ง”

“หรืออย่างเคยมีลูกค้าอยากได้สัมผัสของโซฟาที่บ้านเขาแบบนี้ ผมก็ต้องไปลองนั่งดู แล้วพยายามจำสัมผัสว่ามันนิ่มประมาณนี้นะ มันใช้วัสดุอะไร ต้องมีกี่เลเยอร์  เพื่อไปบอกกับโรงงานได้ถูกต้อง (หัวเราะ) ขนาดนั้นเลย” ทีโน่เล่า

“แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือทำบ้านตัวเองนี่แหละ แปลกมาก ไม่รู้สิ เหมือนกับว่าการมองคนอื่นไม่ยากเท่าเรามองตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเราเป็นคนแก้โจทย์ให้คนอื่นมาตลอด โชคดีที่เรามีทีมที่สามารถช่วยกันตกผลึกสิ่งนั้นออกมาจนได้ นี่แหละที่ทำให้เรายิ่งเข้าใจเลยว่า เวลาที่เจ้าของบ้านเขาจะทำบ้านสักหลัง สิ่งที่อยู่ในหัวเขาคืออะไร” โบว์กล่าว

ตลอดเวลาที่คุยกัน ทั้งทีโน่และโบว์มักจะเอ่ยถึง ‘ทีม’ ของพวกเขาเสมอ เหมือนกับเป็นลมใต้ปีกที่ส่งเเรงขับเคลื่อนให้ DOT.X ยังคงบินอย่างแข็งแรงอยู่ทุกวันนี้ 

“เวลารับทีมงานเข้ามา เราจะไม่ได้เลือกแค่ว่าเขาทำงานเก่ง แต่เราต้องการคนที่มี Mindset เดียวกัน เพื่อที่ว่าเราจะได้ทำงานเป็นทีมเวิร์กไปด้วยกัน สุดท้ายทำให้เรารู้ว่า ที่นี่ไม่มีทางเป็นแบบนี้ได้ ถ้าไม่มีทีม เพราะจะไม่มีการตกผลึกด้วยกัน แม้กระทั่งโฟร์แมนเอง อันไหนโอเค ไม่โอเค เราจะรับฟังกันทุกเรื่อง ปรับตัวกันตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง”  

“ถ้า DOT.X เป็นร้านอาหาร เราน่าจะไม่ใช่ร้านซูชิ หรือร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ แต่เป็นร้านอาหารที่เสิร์ฟได้หลากหลายเมนู เป็นอาหารตามสั่งที่อร่อยแน่นอนครับ”


ขอบคุณภาพผลงานบางส่วนจาก : DOT.X

    TAG
  • DOT.X
  • design
  • interior
  • studio visit

‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอที่ออกแบบ ‘บ้าน’ บนความหลากหลาย และเป็นอะไรก็ได้ตามใจผู้อยู่ 

INTERIOR/STUDIO VISIT
2 years ago
CONTRIBUTORS
Nat Lelaputra
RECOMMEND
  • PEOPLE/STUDIO VISIT

    ‘Snappy Studio’ จากคลับเฮ้าส์ร้างอายุกว่า 30 ปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์ของคนมันๆ ใจกลางหมู่บ้าน

    ห้องแล็บลับใต้ดิน ศูนย์บัญชาการอวกาศในหนัง Space Age ลานโรลเลอร์สเก็ตยุค 80s... นี่คือสิ่งที่กำลังตีกันยุ่งเหยิงในหัวเราเมื่อเห็นอาคารหน้าตาแปลกประหลาดลักษณะเป็นโดมกระจกครอบไว้ด้านนอกผุดขึ้นมากลางลานสโมสรของหมู่บ้าน แต่เมื่อเดินลงบันไดที่ซ่อนอยู่ตรงนั้น ทอดยาวไปสู่ชั้นใต้ดินด้านล่าง เรากลับพบความรู้สึกประหลาดยิ่งกว่า! 

    Nat LelaputraJanuary 2024
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เช็คอินสตูดิโอดีไซน์ระดับตำนานสัญชาติดัตช์ droog

    ในครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้เดินทางไปยังเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากความตั้งใจในการชมงานศิลปะชั้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกที่นี่แล้ว ความหวังอีกอย่างคือการได้เยี่ยมเยือนสตูดิโอดีไซน์ในดวงใจของเรามาเนิ่นนาน สตูดิโอแห่งนี้มีชื่อว่า droog นั่นเอง

    Panu Boonpipattanaponga year ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เยือนแหล่งกำเนิด “King of Watch” ของญี่ปุ่น ก้าวสู่นาฬิกาเรือนหรูระดับโลกในนาม “Grand Seiko”

    ก่อนที่ทุกคนจะได้สัมผัสนาฬิกาชั้นสูงเรือนจริงที่บูทีคของ Grand Seiko แห่งแรกในประเทศไทย ที่เกษรวิลเลจ เราจะพาเจาะลึกไปยังเบื้องหลังแหล่งกำเนิดที่จะตอบคำถามได้ว่าทำไมนาฬิกา Grand Seiko จึงได้รับการยกย่องให้เป็นหัตถศิลป์แห่งเครื่องบอกเวลาระดับโลกที่คู่ควรแก่การสะสมและครอบครอง

    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    ตุ่ย - ขวัญชัย แห่งแผลงฤทธิ์ กับความอยู่รอดของอาชีพสถาปนิกในต่างจังหวัด

    ครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่คุณตุ่ย - ขวัญชัย สุธรรมซาว ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกแผลงฤทธิ์ ปรากฏตัวในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากหมกมุ่นอยู่กับการทดลองเพื่อค้นหามุมมองใหม่ๆ ที่ลงลึกไปมากความงามภายนอกของงานสถาปัตยกรรม เพื่อความยืนหยัดอยู่รอดของอาชีพสถาปนิกในต่างจังหวัด

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    STUDIO VISIT JUNSEKINO A+D

    ภายใต้บรรยากาศบ้านๆ สถาปนิกและนักออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่มีมากกว่าบ้าน ภายใต้ชื่อสำนักงานจูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ บ้านเก่าที่ยังคงเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม Post Modern ซึ่งมักจะเห็นในบ้านจัดสรรยุค 60-70

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เมื่อออฟฟิศ คาเฟ่ โชว์รูม รวมอยู่ใน Creative Flow Space แห่งใหม่ของ Trimode

    เยือนสตูดิโอใหม่ของ Trimode ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ พร้อมแนวคิดการทำงานของพวกเขากับก้าวสู่ปีที่ 13 ในวงการออกแบบ

    EVERYTHING TEAM6 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )