LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
บริษัทสถาปนิกที่เชื่อว่า ‘ชีวิตดี ๆ ’ ต้องเริ่มจากเมืองที่มีคุณภาพ
Photographer: Suppha-riksh Phattrasitthichoke
“ข้ามสะพานลอยต้องระวังสายไฟ”
“อ้อ แล้วอย่าข้ามทางม้าลาย เดี๋ยวรถชน”
ฯลฯ
เชื่อว่าความย้อนแย้งในการใช้ชีวิตแบบ ‘เมืองๆ’ ของคนเมืองที่ว่ามานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นอะไรที่มีอยู่เสมอมาและได้แต่ทำใจให้ชิน แม้จะรู้ว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง จนบางครั้งก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากความไร้ระเบียบของสังคม ความย่อหย่อนของกฎหมาย หรือเมืองที่ขาดการจัดการที่ดีกันแน่ เพราะในโลกแห่งความจริงนั้นช่างสวนทางกับสโลแกน ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ เสียเหลือเกิน
“ในเมื่อเมืองเกิดจากมนุษย์สร้าง ทำไมเราถึงปล่อยให้มันเป็นเมืองที่เรารู้สึกขยะแขยง ทำไมเราไม่สร้างเมืองที่มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีล่ะ?”
นี่ไม่ได้เป็นเพียงคำถามในใจเรา แต่ยังเป็นคำถามของ ฟิวส์ - นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และ โจ - ดลพร ชนะชัย สองผู้ก่อตั้ง Cloud-floor บริษัทสถาปนิกที่ไม่ได้คิดแค่เรื่องการออกแบบสถาปัตย์ หากยังสนใจไปถึงการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่างานออกแบบด้วย
จุดเปลี่ยนของฟิวส์และโจเริ่มต้นจากตอนที่ทั้งคู่ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมัน และมีโอกาสทำงานกับบริษัทสถาปนิกที่พูดถึงการนำเสนอเมืองในอนาคต จากตรงนั้นเองทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกว่า ในเมื่อเมืองที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยังมองเรื่องการพัฒนาต่อ เป็นไปได้ไหมหากจะทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้างด้วยสินทรัพย์ที่เรามี
“พอมองกลับมาที่บ้านเรา สถาปนิกไทยเก่งอยู่แล้ว สร้างตึกได้ดีมาก แต่พอเดินออกมาจากตึก ทำไมสิ่งที่อยู่นอกตึกมันไม่พัฒนาไปควบคู่กัน เราอยากนำเสนอว่าจะพัฒนากายภาพเมืองให้ดีเทียบเท่ากับอาคารได้หรือเปล่า แล้วเราก็พบว่าเรื่องเมืองไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพ แต่เป็นประเด็นเมืองที่มีเรื่องอากาศ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร กับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย นี่คือจุดเริ่มต้นของ Cloud-floor และสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไป”
จากวันที่เริ่มต้นทำ Cloud-floor ความเข้าใจของคนทั่วไปที่มีต่อเรื่องการพัฒนาเมือง เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ฟิวส์ : ทุกวันนี้ก็ยังมีคนถามเราอยู่ว่าทำอะไร (หัวเราะ) คือในวิชาเรียน เราถูกสอนว่าคุณเป็นใคร เป็นอินทีเรีย เป็นนักผังเมือง เป็นสถาปนิก แต่ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันอยู่ตรงกลาง เเทบจะระบุไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร เพราะประเด็นเรื่องเมืองไม่สามารถจะเอาวิขาชีพนำได้ มันต้องใช้หลายศาสตร์วิชาชีพรวมกันในการแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เวลามีคนถามว่าเราทำอะไร เราจะบอกว่าเราเป็นสถาปนิกที่สนใจเรื่องเมือง แต่ถ้าเอาแบบลึกลงไปกว่านั้น เราก็คือคนที่เคลื่อนไหวในการพัฒนาเมืองครับ
โจ : แต่การที่คนไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรก็เป็นเรื่องดี เพราะพอคนรู้ว่าเราเป็นสถาปนิกที่สนใจเรื่องเมือง เขาจะรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรบางอย่างให้มันเกิดขึ้นได้ และเราน่าจะช่วยเขาได้ ซึ่งทำให้เราไปแตะการทำงานกับคนอื่นๆ ศาสตร์อื่นๆ นอกสายอาชีพของเราเยอะมาก เช่น ทำงานกับนักวิชาการ ไปจนถึงองค์กรท้องถิ่น มิติของเราเลยกว้างกว่าการแค่เป็นนักออกแบบ
เป็นไปได้ไหมว่าการเข้าไปพัฒนาในฐานะ ‘ดีไซเนอร์’ อาจทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่พอแนะนำตัวว่าพวกคุณสนใจเรื่อง ‘คน’ ด้วย เลยทำให้เกิดการ Touch กันมากขึ้น สื่อสารกันง่ายขึ้น
ฟิวส์ : มันจะพื้นฐานของความเป็นสถาปนิกที่เรียกว่า Empathy ซึ่งมันทำให้เกิดความเป็นกันเองเวลาที่เราคุยกับชุมชน
โจ : ด้วยความที่บางงาน โจทย์ของเราไม่ได้ชัดมาก เราเลยต้องเข้าไปตั้งแต่เริ่มต้น โดยใช้ Empathy ทุกอย่างที่เรามี ถึงจะได้รู้ว่าเรากำลังจะไปออกแบบอะไร หรือทำงานกับอะไร เพราะบางทีการออกแบบกายภาพอย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์ เขาอาจจะแค่มี Issue อยู่หนึ่งอย่าง แล้วให้เราเข้าไปทำให้โจทย์ชัดขึ้น
Issue ที่ได้รับในงานเชิงพัฒนาเมืองหรือชุมชนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร
ฟิวส์ : แล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่บริบทครับ แต่โจทย์ท่ีเราได้รับส่วนใหญ่จะมี 2 แบบ แบบที่มีประเด็นอยู่แล้ว ให้เราเข้าไปรีเสิร์ชเพิ่ม กับอีกแบบคือมีแค่พื้นที่ แล้วให้เราเข้าไปสร้างโจทย์เอง ว่าง่ายๆ ก็คือแบบที่เป็นแพทเทิร์น กับไม่ได้เป็นแพทเทิร์น สมมติว่าในย่านๆ หนึ่ง เราเข้าไปแบบไม่รู้อะไรเลย ไม่มีประเด็นอะไรเลย ถ้าถามเขาว่าอยากจะให้พัฒนาอะไร คำตอบมันก็มักจะซ้ำกันหมด เช่น อยากได้พื้นที่สีเขียว อยากได้ทางเท้าดีๆ แก้ปัญหารถติด ฝุ่น ขยะ แบบนี้คือแพทเทิร์น เป็นความต้องการพื้นฐานที่คนอยากได้ แต่โจทย์ที่แต่ละพื้นที่มีไม่เหมือนกันเลยคือเรื่องของประวัติศาสตร์ และสินทรัพย์ที่เขามี ซึ่งทำให้บริบทของแต่ละงานแตกต่างกัน
จะเห็นว่างานของ Cloud-floor มีความหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่งานพัฒนาเมือง แต่ยังมีงานศิลปะ รวมถึงงานด้านสถาปัตย์ แต่ละพาร์ทของการทำงานเหล่านี้มีจุดร่วม หรือมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
ฟิวส์ : พาร์ทงานศิลปะ ผมว่ามันคือการสื่อสารทางอ้อมในบางเรื่อง บางปัญหาที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ เราจึงสร้าง Statement ขึ้นมาเพื่อ Provoke คนในรูปแบบของงานศิลปะ ส่วนงานเชิง Urban ยกตัวอย่างเช่นที่เราได้ทำกับ CEA - สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) งานลักษณะนี้จะค่อนข้างมีประเด็นมาให้ชัดเจน แล้วเราก็มาเวิร์คกันต่อ แต่ถ้าเป็นงานด้านสถาปัตย์ เช่น ทำอาคาร ทำหมู่บ้าน หรือคาเฟ่ ก็จะใช้ความคิดคนละชุดกันเลย ด้วยความสนใจที่เรามีคือเรื่องของสถาปัตย์ งานศิลปะ และเรื่อง Urban เราเลยไม่ได้แยกส่วนจากกันมากนัก และบางงานก็คาบเกี่ยวกันด้วยในเชิงความคิดกับในเชิงกระบวนการที่ทำให้มันเกิดขึ้น เลยออกมาเป็นความหลากหลายของสิ่งที่พวกเราทำ นี่แหละที่ทำให้คนยิ่งงงเข้าไปใหญ่ว่าเราทำอะไรกันแน่ (หัวเราะ)
โจ : หลังๆ พอผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้ถูกกำหนดตั้งแต่แรก เราแค่รู้ว่าเป้าหมายของคนที่เราทำงานด้วยคืออะไร อย่างเช่น CEA ที่เขาต้องการทำงานกับคน กับชุมชน กับ Issue ที่เป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่นั้นๆ หรือประเด็นใหญ่ๆ ที่พูดกันทั้งประเทศ เราก็ต้องทำทั้งเชิง Issue และเชิงพื้นที่ด้วย แต่อย่างการทำงานกับ สสส. ที่เขาไม่ได้พูดเรื่องพื้นที่มากนัก ก็จะเป็นการทำงานกับ Issue ตรงๆ ไปเลย แต่ไม่ว่าอย่างไรหัวใจหลักๆ ของการทำงานทุกพาร์ทก็ยังเป็นเรื่องของการพัฒนาเมืองอยู่
ในพาร์ทของงานออกแบบเชิงพาณิชย์อย่าง The Shophouse ที่สามย่าน หรือร้านกาแฟ Roots กับร้าน ไสใส (SAISAI) ที่ย่านประตูผี Cloud-floor นำเสนอแนวคิดการพัฒนาเมืองอย่างไร
ฟิวส์ : ชัดที่สุดน่าจะเป็น The Shophouse สามย่าน ตั้งแต่เเรกเราคิดกันว่าการออกแบบ The Shophouse ต้องการพูดถึงเรื่องอะไรที่มันสัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่ตรงนั้น กับเมืองรอบๆ และเรื่องที่เราอยากพูดถึงก็คือ Urban Everyday Life ของคนที่เคยอยู่ในตึกนั้น ซึ่งตึกแถวรูปแบบนั้นกำลังจะหมดอายุและถูกแทนที่ด้วยคอนโดมิเนียม ในอนาคตอีก 50-100 ปีข้างหน้า รูปแบบของ Shophouse อาจจะเหลือน้อยมาก หรือไม่เหลือเลยในกรุงเทพฯ และจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ เราเลยบันทึกมันเอาไว้เหมือนเป็น Document ในแง่ประวัติศาสตร์ของอาคาร อีกทั้งยังเป็นงานศิลปะในมันตัวเอง เพื่อให้คนเก่าแก่ที่ยังอยู่ที่นี่ หรือคนที่ไม่ได้อยู่แล้ว ในวันหนึ่งที่เขากลับมา เขาจะได้ Remind ถึงวันเก่าๆ อีกครั้ง เหมือนเราเก็บความทรงจำของคนเหล่านี้มาเป็นงานออกแบบ ซึ่งในแง่หนึ่งมันคือการให้คุณค่าเขาด้วย
แต่สำหรับ Roots กับ ไสใส เป็นแบรนด์ที่มีคอนเทนต์ค่อนข้างแข็งแรงยู่แล้ว หน้าที่ของพวกเราจึงเป็นการ Background ให้กับคอนเทนต์นั้น โดยไม่ต้องไปเล่าเรื่องแข่งกับเขา เพราะเป้าหมายของทั้งคู่คือการเล่าถึงต้นน้ำของพวกเขา เล่าถึงเรื่องคน เล่าถึงชุมชน เล่านอกพื้นที่ย่านประตูผีไปแล้ว การตั้งอยู่ตรงนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่รอบๆ เสมอไป เพราะทั้งสองแบรนด์เชื่อมโยงกับที่ไหนก็ได้ในประเทศที่ให้คุณค่ากับเขา บริบทเชิงเมืองเลยถูกสื่อสารออกมาผ่านงานออกแบบเเทน ซึ่งถึงจะต่างกับแนวคิดการออกแบบ The Shophouse แต่ร้าน Roots กับ ไสใส ก็เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบที่แสดงให้เห็นว่าบางครั้งคุณค่าไม่ได้อยู่ที่งานสถาปัตย์เพียงอย่างเดียว คอนเทนต์ที่แข็งแรงก็สามารถจะ Remind ไปถึงเรื่องข้างนอกได้
เหมือน Cloud-floor ทำหน้าที่เป็นนักอนุรักษ์ในตัวเองด้วย
ฟิวส์ : อาจเรียกว่าเป็นการอนุรักษ์ในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ครับ เป็นความสนใจส่วนตัวของพวกเราเองที่อยากเข้าไป Explore อะไรบางอย่าง โดยไม่ได้มองว่าเราเข้าไปเพื่อทำ Business เพียงอย่างเดียว เพราะเรายังยึดอาชีพเราอยู่ อย่าง The Shophouse เราพัฒนาไม่ได้ เพราะไม่ใช่สินทรัพย์เรา แต่เรารีเสิร์ชได้ เก็บบันทึกได้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป มันคือการเชื่อมโยงระหว่างการออกแบบเชิง Urban และ Context รวมถึงในเชิง Academic ด้วย
ในมุมมองของนักออกแบบอย่างพวกคุณ มองว่าอะไรคืออุปสรรคของการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะกับประเทศไทย
ฟิวส์ : มองว่าเป็นเรื่องของ ‘อำนาจ’ ครับ อำนาจไม่ได้อยู่ในมือเรา นี่คือเรื่องหลัก แต่ละคนมีแนวคิดที่อยากจะพัฒนาก็จริง แต่เขาไม่มีอำนาจอะไรเลย เพราะคนที่มีอำนาจคือรัฐบาล เราผู้ไม่มีอำนาจเลยทำได้แค่ 2 ส่วน คือนำเสนอ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ก็แค่ ‘ชั่วคราว’ เท่านั้น เพราะเราไม่มีอำนาจพอจะทำแบบถาวร และอีกอย่างคือการเรียกร้องในพื้นที่โซเชียลฯ อะไรก็ว่าไป สุดท้ายการตัดสินใจทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจอยู่ดี นี่คือปัญหาอันดับแรก
ปัญหาอันดับต่อมาคือ Mindet ของคนที่มีความหลากหลายในเชิงโครงสร้างสังคม ถามว่าทำไมทุกวันนี้เรายังไม่จอดรถให้คนข้ามทางม้าลายกันเลย ทำไมคนยังขี่มอร์เตอร์ไซค์ขึ้นฟุตบาท ทำไมยังไม่แยกขยะ ยังทิ้งขยะลงแม่น้ำกันอยู่ ถึงเราจะมีการรณรงค์กันแทบตาย มีกฎหมายต่างๆ นานา ก็ยังเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องคัลเจอร์ เรื่องสังคม จนถึงเรื่องการศึกษา จนกลายเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ลึกที่สุด แก้ยากที่สุดไปแล้ว
เราไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีอำนาจใดๆ นอกจากอำนาจอ่อนๆ แบบประชาชนทั่วไป สิ่งที่ทำได้คือวิขาขีพของเรา ดีไซน์เกิดขึ้นมาเพราะเราแก้ปัญหาต้นทางไม่ได้ เราจึงต้องแก้ปัญหาทางอ้อมด้วยสิ่งที่เรียกว่างานออกแบบ และ Cloud-floor ก็กำลังพยายามนำเสนอว่าดีไซน์จะสามารถไปเปลี่ยนพฤติกรรมของคน หรือไปกระตุ้นการพัฒนาให้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
เรามักจะเห็นความเป็นไปได้ของภาพจำลองการพัฒนาเมืองเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลศิลปะ หรือนิทรรศการต่างๆ เช่นเดียวกับที่เรามีดีไซน์เนอร์เก่งๆ มากมายที่พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง แต่หลายโปรเจ็กต์ก็เกิดขึ้นเพียงแค่ ‘ชั่วคราว’ อย่างที่คุณว่าเท่านั้น จะมีทางไหนที่ทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้บ้าง
ฟิวส์ : เทศกาลศิลปะอย่างดีไซน์วีคคือการนำเสนอความเป็นไปได้ของการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจอยู่ดีว่าใครมีอำนาจในพื้นที่ตรงนั้น สมมติว่าเราไปจัดงานท่ีดีมากๆ งานหนึ่ง หรือไปเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสักแห่ง อยากเห็นมันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ผ่านกระบวนการคิดมามากมาย สุดท้ายมีใครไม่รู้มาทำเป็นโรงแรม ก็จบ เราทำอะไรไม่ได้เลย มันจึงกลับมาที่ผู้มีอำนาจและผู้ลงทุนว่าเขาจะสร้าง Business และมี Mindset กับ Business ของเขาอย่างไร นอกจากนั้นความยากง่ายของแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกันอีก บางพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ หน่วยงานภาครัฐฯ มีความยืดหยุ่นให้อยู่ต่อได้ก็ดีไป หรือบางโปรเจ็กต์ก็ถูกต่อยอด เช่น งานออกแบบป้ายรถเมล์ของกลุ่ม Mayday เป็นต้น
แต่ก็มีสินทรัพย์บางอย่างเช่นที่เราเพิ่งทำโปรเจ็กต์พัฒนาผู้ค้าแผงลอยข้างตึกไปรษณีย์กลางบางรัก โจทย์คือการที่เราเข้าไปทำอย่างไรให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการจัดหาสิ่งของจำเป็นที่เขาจะนำไปต่อยอดการทำมาหากินของเขาได้ แต่ความยากคือต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อกำหนดเรื่องพื้นท่ีสาธารณะด้วย
โจ : โปรเจ็กต์พัฒนาผู้ค้าแผงลอยทำให้เราเห็นมิติของการทำงานที่หลากหลายขึ้นมาก คนมักจะถามว่าแล้ว Outcome ของดีไซน์จะเป็นอย่างไร เราก็จะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของดีไซน์ด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องของการจัดการ การสร้างความตระหนัก และการสร้าง Mindset มากกว่า เพราะในงานบางอย่างที่เราทำกับชาวบ้านหรือชุมชน เราต้องเข้าใจด้วยว่าเขามีความเปราะบางมาก ถ้าเราเอาดีไซน์ไปยัดใส่เขาอย่างเดียว เขาหงายแน่ จึงต้องอาศัยความค่อยเป็นค่อยไปมากๆ กับกระบวนการเหล่านี้ เหมือนเราทำหน้าเป็นคนกลางระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐฯ ซึ่งเราเองก็คาดหวังว่าโปรเจ็กต์เหล่านี้จะเกิดการพัฒนาต่อ และเกิดขึ้นระยะยาวต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ
เมืองที่มีการจัดการที่ดีสำคัญอย่างไร
ฟิวส์ : ผมว่ามันเหมือนบ้าน เราอยากอยู่บ้านแบบไหนเราก็เก็บกวาดบ้านอย่างนั้น ตัวอย่างที่ดีมีมากมาย ญี่ปุ่น เยอรมัน หรือประเทศอื่นๆ ในยุโรป เมืองเขาสะอาด มีสาธารณูปโภค มีการคมนาคมที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่นับปัญหาสังคมของเขานะ คือทุกที่อาจจะมีปัญหาเชิงสังคมของเขาอยู่ แต่ไม่ใช่ปัญหาเชิงกายภาพ การที่เราได้อยู่ในที่ๆ ถูกออกแบบมาให้มีสุขภาวะที่ดี อย่างน้อยกายภาพของเมืองก็ไม่ทำให้เราเจ็บป่วย นั่นคือสิ่งที่เราควบคุมได้ เพราะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ นอกเหนือจากสิ่งที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้อย่างภัยธรรมชาติ อะไรแบบนั้น คำถามคือ ในเมื่อเมืองเกิดจากมนุษย์สร้าง ทำไมเราไม่สร้างเมืองที่มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีล่ะ ทำไมเราถึงปล่อยให้มันเป็นเมืองที่เรารู้สึกขยะแขยงมัน ท่อน้ำเหม็นไม่อยากเดินผ่าน ร้อนจังเลยไม่มีต้นไม้สักต้น ในเมื่อเมืองคือสิ่งที่มนุษย์สร้าง ทำไมเราถึงไม่อยากมีเมืองที่เราอยากอยู่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการจัดการและพัฒนาเมืองถึงเป็นเรื่องสำคัญ
โจ : พอเรายิ่งทำงานกับคนหลากหลายวิชาชีพ เรายิ่งเห็น Gap เยอะมาก แล้วพอเราได้เห็นความเจริญของบ้านเมืองอื่น และได้เห็นความลำบากของคนในประเทศเรา มันยิ่งทำให้อึดอัด เพราะเราเห็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี แต่มันไม่ได้ถูกแก้ ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านมาแค่ไหน สำหรับบ้านเรา สิ่งที่คนต้องการมากที่สุดก็คือเรื่องพื้นฐาน ถ้าสามารถปูพื้นฐานที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ก่อน ค่อยเป็นเรื่องต่อไป พื้นฐานของเมืองที่ดีจะทำให้คนที่เขาไม่ได้ ‘มี’ เหมือนกับเราสามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้
ฟิวส์ : เมืองสะอาดชาติเจริญเลยนะ (หัวเราะ) ผมเคยตั้งคำถามว่าเกณฑ์วัดความเจริญของชาติคืออะไรกันแน่ สมัยเด็กเราอาจจะคิดว่าตึกสูงอย่างนิวยอร์กคือความเจริญมากเลย แต่พอโตขึ้น มีโอกาสได้ไปเรียนที่เยอรมันก็พบว่าทำไมตึกสูงเขาน้อยจัง ทั้งที่เขาเป็นชาติที่เจริญที่สุดชาติหนึ่งในยุโรป มันทำให้เราเห็นว่าความเจริญไม่ได้วัดกันที่กายภาพอย่างการมีตึกสูง เเต่เราเห็นการคมนาคมบ้านเขาที่เข้าถึงง่าย รวยแค่ไหนก็อยากใช้รถสาธารณะ พอกลับมาทำงานที่เมืองไทย อันดับหนึ่งที่คนมักอยากได้ที่สุดก็คือสภาพเเวดล้อมที่ดี คนไม่ป่วยตาย ไม่เป็นโรคท้องร่วง เดินไปไหนก็ได้ในเมือง มีต้นไม้ให้ร่มเงา อากาศไม่มีมลพิษ ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของความเจริญที่ประเทศไทยควรจะมีก่อน
แล้วโมเดลของ ‘เมืองที่เราอยากได้’ จะมีทางเกิดขึ้นจริงได้ไหมที่นี่
ฟิวส์ : ผมว่ามันก็กลับมาที่การมองของผู้มีอำนาจในบ้านเราเหมือนเดิม เขาอาจตื่นเต้นกับเทคโนโลยี การมีตึกสูงๆ หน้าตาแจ๋วๆ มีรถไฟฟ้า คนในประเทศมีรถหรูขับ แบบนั้นมันเกิดการลงทุนมากมาย แต่การทำเมืองให้สะอาดมันไม่น่าตื่นเต้น ไม่เกิดการลงทุน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Business เลย มีแต่สิ่งที่เรียกว่า ‘คุณภาพชีวิต’ กับ ‘ประโยชน์’ และนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุด
พอเราทำ Cloud-floor มาจนถึงตอนนี้ ได้เห็นว่ามันมีเพดานเหมือนกันว่า ถ้าเราไม่ได้อยู่ในจุดที่มีอำนาจ เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย เคยมีคนถามว่าทำไมถึงทำเพื่อคนอื่น คิดเพื่อคนอื่นตลอด ทำไมไม่อยากทำเพื่อตัวเอง ไม่อยากรวยเหรอ ผมก็รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นปมในใจ อยากจะแก้มันให้ได้ ในเมื่อเมืองคนอื่นเขาดีได้ ทำไมเมืองเราดีไม่ได้ มันไม่ใช่ว่าเราทำเพื่อคนอื่นอย่างเดียว เพราะเราก็อยากอยู่ในเมืองที่ดีเพื่อตัวเราเองเหมือนกัน
‘Cloud-floor’ บริษัทสถาปนิกที่เชื่อว่า ‘ชีวิตดี ๆ ’ ต้องเริ่มจากเมืองที่มีคุณภาพ
/
วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว
/
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ
/
Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia
/
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน
/
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
/
คำตอบที่ถูกต้องแน่แท้ของคำถามที่ว่า “ศิลปะแบบไหนที่เรียกว่าสวย” นั้น คงยากพอ ๆ กับความพยายามในการค้นหาทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่าพระอาทิตย์สามารถขึ้นทางทิศตะวันตกได้ เพราะศิลปะที่เป็นเหมือนโลกอีกใบที่อยู่คู่ขนานไปกับโลกจริง อันประกอบสร้างจากความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิหลังของศิลปิน มักถูกตัดสินจากรสนิยมส่วนตัวของผู้ชมแต่ละคน บางคนสนใจแค่ความเจริญตา แต่กลับบางคนอาจมองลึกลงไปยังเบื้องลึกของมัน แล้วตัดสินจากประสบการณ์และความรู้สึก ซึ่งไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานตายตัวที่บ่งบอกถึงรสนิยมโดยรวมของสังคมได้ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นผลงานศิลปะชิ้นเดิม แต่คุณค่าและนิยามความสวยงามของมัน ก็อาจสามารถแปรผันไปได้ตามช่วงวัยของเราที่เปลี่ยนแปลงไป
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )