LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
DESIGN:----
ARCHITECTURE
Concrete Canvas: a House
บ้านที่ทุกมุมมองได้รับการคัดสรร จัดวางองค์ประกอบ และใส่กรอบรวมกันไว้อย่างสวยงามภายใต้ระนาบของผนังคอนกรีตเปลือยลายไม้สน

Casa de Alisa คือบ้านสองชั้นที่มีรูปทรงเรียบง่ายตรงไปตรงมา สำนักงานสถาปนิก Stu/D/O ออกแบบบ้านหลังนี้โดยใช้คอนกรีตเปลือยหล่อกับที่เป็นโครงสร้างหลักทำให้ ทั้งบ้านไม่จำเป็นต้องมีเสา พื้นที่ส่วนต่างๆ ภายในบ้านถูกห้อมล้อมและสร้างสรรค์ขึ้นจากกรอบของกำแพงคอนกรีตที่ไม่เพียงทำหน้าที่รับน้ำหนักของอาคาร หากยังอวดลายไม้สนบนผิวคอนกรีตเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่งอาคารไปด้วย บ้านหลังนี้มีผนังและกำแพงคอนกรีตเป็นตัวกำหนดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่พำนักพักอาศัย โดยเลือกที่จะเว้นช่องว่างไว้สำหรับการเชื่อมความสัมพันธ์กับบริบทภายนอกเช่น ท้องฟ้า แสงสว่าง และสายลม ในขณะที่แยกตัวออกจากสิ่งแวดล้อมอันไม่พึงประสงค์บาง ประการ ทั้งเสียงจากท้องถนน และมุมมองของบ้านข้างเคียง
จากโจทย์ที่เจ้าของบ้านผู้เป็นชาวนอร์เวย์ต้องการสร้างบ้านโดยใช้วัสดุหลักเป็นคอนกรีตเปลือยที่จะสะท้อนและทำให้ระลึกถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมในประเทศบ้านเกิดของเขา ทีมสถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้สนมาเป็นวัสดุในการทำไม้แบบสำหรับหล่อคอนกรีต (Formwork) สำหรับบ้านหลังนี้ เนื่องจากเอกลักษณ์ของโครงสร้างคอนกรีตเปลือยคือลวดลายวัสดุที่ใช้ในการทำแบบหล่อคอนกรีต ทำให้โครงสร้างคอนกรีตเปลือยมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ “เจ้าของบ้านมีโจทย์ว่าอยากได้บ้านที่เรียบและก่อสร้างด้วยคอนกรีตเปลือยลายไม้เป็นหลัก เนื่องจากมันเป็นสถาปัตยกรรมที่เห็นได้เยอะในประเทศเขา แต่ไม่ค่อยเห็นมากนักที่ประเทศไทย” อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก Stu/D/O อธิบาย “เราใช้ไม้สนมาทำเป็นไม้แบบคอนกรีตเปลือยผิวซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของบ้านหลังนี้ เป็นการเปิดเผยสัจจะโครงสร้างโดยใช้ผนังคอนกรีตเปลือยเหล่านี้เป็น Element หลักของบ้านเลย และเปลือยผิวให้เห็นเนื้อของวัสดุที่เป็นตัวหล่อแบบขึ้นมา ก็คือ Texture (พื้นผิว) ของลายไม้ เป็นการทิ้งร่องรอยของวิธีการก่อสร้างเอาไว้อย่างถาวรบนผิวอาคารเลย”


ลวดลายไม้สนบนผิวคอนกรีตได้รับการขับเน้นให้มีมิติน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อสัมผัสกับแสงธรรมชาติที่ตกมากระทบ ทีมสถาปนิกนำแสงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ด้วยการออกแบบ Court เล็กๆ แทรกไว้ในส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อให้ผนังคอนกรีตเปลือยได้อวดลวดลายอย่างชัดเจนและกลายเป็นองค์ประกอบทางการตกแต่งให้บ้านไปในตัว นอกจากนั้น Court เล็กๆ เหล่านี้ยังทำหน้าที่กระจายแสงธรรมชาติให้กับพื้นที่ภายในบ้านได้อีกด้วย โดยแสงที่เข้ามาในตัวบ้านผ่านช่องเปิดเหล่านี้จะเป็น Indirect Light ทำให้ห้องได้รับความสว่างจากแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง ทั้งในห้องนั่งเล่นชั้นล่าง ห้องนั่งเล่นชั้นบน และห้องนอน “ที่ชั้นหนึ่ง แสงจะลงมาจากที่ว่างซึ่งเป็น Setback (ระยะเว้นจากเขตที่ดิน) ระหว่างรั้วกับผนังกระจก” อภิชาติอธิบาย “ส่วนด้านหลังของ Family Room ชั้นสอง ก็จะเป็นผนังคอนกรีตซึ่งทำหน้าที่บล็อกเสียงจากถนนด้านหลัง ในขณะเดียวกันก็มี Court แสงยาวตลอดแนวผนัง ทำให้ได้แสง Indirect light ส่องไล้ผนังคอนกรีตลงมาให้ความสว่างกับพื้นที่ด้านใน”

การออกแบบ Court หรือลานเล็กๆ ไว้ในบ้านไม่เพียงเป็นการนำแสงธรรมชาติเข้ามาภายใน หากยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอากาศในทุกๆ ห้องอีกด้วย “ห้องทุกห้องจะมีช่องเปิดบนผนังอย่างน้อยสองด้านเพื่อให้เกิด Cross Ventilation (การถ่ายเทอากาศ)” อภิชาติอธิบาย “เกือบทุกห้องในบ้านที่ Stu/D/O ออกแบบจะพยายามให้มีช่องเปิดอย่างน้อยสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งก็คือด้านที่เห็นวิว ส่วนอีกด้านถ้าติดกับห้องน้ำหรือด้านที่ติดกับผนังทึบ เราก็จะสร้างเป็น Court ภายในเพื่อที่จะให้เกิด Cross Ventilation ได้ บางครั้ง Court นี้ก็จะใช้แชร์กับ Court ของห้องน้ำในห้องตัวเองเพื่อให้ห้องน้ำได้แสงและช่องเปิดไปในตัว”
ที่ Casa de Alisa เส้นแบ่งระหว่างภายนอกและภายในได้รับการออกแบบให้ดูเลือนลางจนเกือบจะจางหายไป ผนังคอนกรีตเปลือยจากภายนอกส่งความต่อเนื่องเข้ามายังผนังภายในบ้าน ในขณะเดียวกัน พื้นหิน Travertine ยังครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณระเบียงรอบสระว่ายน้ำจนเข้ามาที่ห้องนั่งเล่นในชั้นหนึ่ง ความต่อเนื่องของการใช้วัสดุบนผนังและพื้นจากภายนอกสู่ภายในทำให้ห้องนั่งเล่น สระว่ายน้ำ และสวน มีบรรยากาศที่เชื่อมต่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในขณะที่ผนังคอนกรีตเปลือยในชั้นล่างตั้งอยู่บนแกนเดียวกับทางเข้าอาคารและเป็นตัวนำสายตาเข้าสู่บ้านอย่างตรงไปตรงมา Stu/D/O ได้จัดวางผนังคอนกรีตเปลือยบนชั้นสองในแนวตั้งฉากกับชั้นล่าง ให้เกิดแนวตัดกันของโครงสร้างทั้งสองชั้นบนสองแกน ซึ่งจุดตัดของแกนในแนวขวางและแนวยาวนี้ได้กลายเป็นตัวกำหนดโครงสร้าง รูปทรง และมุมมองต่างๆ ภายในบ้านหลังนี้ ผนังคอนกรีตเปลือยทำหน้าที่เป็นกรอบที่กำหนดสุนทรียภาพในการมองเห็นจากภายในบ้านและสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย
ชั้นสองของบ้านคือที่ตั้งของห้องส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว ระนาบของผนังคอนกรีตเปลือยในแนวขวางไม่เพียงทำหน้าที่แบ่งอาณาเขตให้พื้นที่แต่ละห้อง หากยังสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับทุกห้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนังคอนกรีตในแนวยาวซึ่งลอยอยู่ที่ระดับชั้นสองตลอดระนาบด้านหน้าของบ้านช่วยทำหน้าที่เป็นเสมือนกำแพงที่กันสายตาจากคนภายนอกไม่ให้มองเข้ามาเห็นกิจกรรมภายในบ้านโดยที่ไม่ต้องปิดม่าน ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่อาศัยภายในก็สามารถเปิดรับมุมมองภายนอกที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วว่าทำให้เกิดสุนทรียภาพที่สวยงาม “เจ้าของเขาอยากได้บ้านที่มองไม่เห็นเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็มองไม่เห็นเขา ก็เลยเป็นผนังคอนกรีตเปลือยที่ีบล๊อก (มุมมอง) ด้านหน้า” อภิชาติกล่าว “เวลามองออกไปก็จะเห็นแค่ท้องฟ้าด้านบนกับผืนน้ำของสระว่ายน้ำด้านล่าง”

ในขณะที่ทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดมุมมองที่สวยงามให้กับพื้นที่ชั้นสอง ผนังคอนกรีตที่ลอยอยู่ในระนาบด้านหน้าบ้านยังก่อให้เกิดบรรยากาศที่น่าสนใจสำหรับพื้นที่ระเบียงหน้าบ้านและสระว่ายน้ำที่ชั้นหนึ่งอีกด้วย "ไฮไลต์ของบ้านหลังนี้คือพื้นที่ซึ่งจะเป็น Semi Outdoor ที่มันโดนเฟรมไว้ด้วย Boundary ของพื้นที่ชั้นสองซึ่งลอยอยู่" อภิชาติอธิบาย “Space ตรงนี้เป็น Space ที่พิเศษ เวลาอยู่ตรงนี้จะรู้สึกเหมือนว่าโดนโอบล้อมด้วยให้ความรู้สึกว่ามันเป็นบ้าน แต่ในเวลาใช้งานจะรู้สึกโล่งมากเวลาที่มองไปข้างหน้าบ้าน"
ที่ Casa de Alisa บ้านทรงกล่องที่ดูเรียบง่ายแห่งนี้ ทีมสถาปนิกจาก Stu/D/O ออกแบบอาคารที่นำคอนกรีตเปลือยลายไม้มาใช้ประโยชน์ในหลากหลายแง่มุม ทั้งเป็นองค์ประกอบตกแต่งที่ชวนให้เจ้าของได้รำลึกถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คุ้นเคยจากบ้านเกิด เป็นกรอบที่กำหนดมุมมองเพื่อสร้างสุนทรียภาพในที่พำนัก เป็นฉนวนที่ช่วยกันมลพิษทางเสียงจากถนนหลังบ้านไม่ให้เข้ามารบกวนบรรยากาศเงียบสงบภายใน และเป็นโครงสร้างอาคารที่ทำหน้าที่กำหนดรูปทรงของบ้านได้อย่างน่าสนใจ “เจ้าของบ้านเขาประทับใจคอนกรีตเปลือยมาก เราก็เลยอยากทำให้มันกลายมาเป็นแนวคิดหลักของบ้านอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ให้คอนกรีตเปลือยเป็นโครงสร้างด้วย ไม่ได้เป็นแค่ Decoration (ไม่ใช่แค่การทำผิว) ซึ่วผิวแบบนี้มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันเป็นโครงสร้างแบบหล่อคอนกรีตเท่านั้น” อภิชาติอธิบาย
Location: Nonthaburi, Thailand
Type: Architecture Design
Program: Residential
Client: Undisclosed
Site Area: 1,115 sqm.
Built Area: 1,545 sqm.
Design: 2016-7
Completion: 2019
Stu/D/O Team: Apichart Srirojanapinyo, Chanasit Cholasuek,
Panfan Laksanahut, Win Rojanastien
Lighting Designer: in Contrast Design Studio
Structural Engineer: Ittipon Konjaisue
Mechanical Engineer: MEE Consultants
Consultants: Engineering Plus
Contractor: D-Innova
Photograph: Stu/D/O, Sofography, Sky|Ground
TAG
Casa de Alisa I บ้านโครงสร้างปูนเปลือยกับที่ว่าง แสงสว่าง และมุมมองจากการออกแบบของ Stu/D/O
/
CONTRIBUTORS
RECOMMEND
/
“Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน
/
“One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว
/
HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน
By TOSTEM/
บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน
/
เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น
/
เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )