แรงบันดาลใจจากศิลปะแห่งความสยดสยองในซีรีส์เขย่าขวัญยอดฮิต Cabinet of Curiosities: Pickman's Model | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

  “แรงบันดาลใจจากศิลปะแห่งความสยดสยองในซีรีส์เขย่าขวัญยอดฮิต Cabinet of Curiosities: Pickman’s Model”

  ในซีรีส์สุดสยองยอดฮิตของ Netflix อย่าง Guillermo del Toro’s Cabinet of Curiosities (2022) ผลงานปลุกปั้นของ กิเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ผู้กำกับชาวเม็กซิกันเจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Shape of Water (2017) กับซีรีส์กระตุกขวัญสั่นประสาท จบในตอน จำนวน 8 ตอน จากฝีมือการกำกับของผู้กำกับ 8 คน ที่เดล โตโรเป็นผู้คัดสรรทั้งผู้กำกับ, นักเขียนบท และเรื่องราว (บ้างก็เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นมาใหม่ บ้างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นสยองขวัญสุดคลาสสิค) ด้วยตัวเอง ราวกับเป็นภัณฑารักษ์ที่เฟ้นหาผลงานศิลปะสุดสยองมาประดับในตู้แห่งความพิศวงของเขา

Writer: Panu Boonpipattanapong

  ในบรรดาซีรีส์สยองขวัญทั้ง 8 ตอน ที่ต่างก็มีลีลาความสยองพองขนที่โดดเด่นกันไปคนละแบบ ตอนที่ถูกใจคอศิลปะอย่างเราที่สุด เห็นจะเป็นตอนที่ีมีชื่อว่า Pickman’s Model ผลงานการกำกับโดย คีธ โธมัส (Keith Thomas) และเขียนบทโดย ลี แพตเตอร์สัน (Lee Patterson) โดยดัดแปลงจากเรื่องสั้นสยองขวัญในชื่อเดียวกันของ เอช. พี. เลิฟคราฟท์ (H.P. Lovecraft) นักเขียนชาวอเมริกันที่ สตีเฟน คิง เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญยกย่องว่าเป็นนักเขียนนิยายสยองขวัญผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20

ภาพจากซีรีส์ Cabinet of Curiosities ตอน Pickman’s Model ภาพโดย Ken Woroner, Netflix © 2022

  หนังเล่าเรื่องราวของ วิล เธอร์เบอร์ (เบน บาร์นส์) นักศึกษาศิลปะดาวรุ่งในสถาบันศิลปะในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ผู้มีฝีมือโดดเด่นในชั้นเรียนและมีอนาคตสดใสรออยู่ข้างหน้า แต่เขากลับได้พบกับนักศึกษาศิลปะท่าทางลึกลับผู้มีชื่อว่า ริชาร์ด พิคแมน (แสดงโดย คริสพิน โกลเวอร์ ผู้ซึ่งเป็นจิตรกรในชีวิตจริงด้วย) เจ้าของภาพวาดอันแปลกประหลาดพิสดารเตะตาบาดใจ จนนำพาเธอร์เบอร์ให้ไปเผชิญหน้าผลงานภาพวาดอันน่าสยดสยองทั้งหลายของพิคแมน ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

   ผลงานภาพวาดที่เต็มไปด้วยสุนทรียะอันน่าขนลุกขนพองราวกับเป็นฝันร้ายหลอนหลอก ที่ถ่ายทอดภาพของเหล่าบรรดาภูตผีปีศาจ หรือภาพของพิธีเซ่นสังเวยมนุษย์ บูชาปีศาจของแม่มดชั่วร้าย ที่พิคแมนกล่าวว่า “เขาวาดจากสิ่งที่เขาเห็น” นำพาชีวิตของเธอร์เบอร์ไปสู่ชะตากรรมอันน่าสยดสยองในท้ายที่สุด ดังคำกล่าวในเรื่ิองสั้นที่ว่า
  “มีเพียงศิลปินตัวจริงเท่านั้นที่เข้าใจถึงกายวิภาคที่แท้จริงของความน่าสยดสยอง หรือกายภาพของความกลัว ด้วยเส้นสายและสัดส่วนอันแม่นยำ ที่เชื่อมโยงกับสัญชาติญาณที่ซ่อนเร้น หรือความทรงจำแห่งพันธุกรรมของความน่าขนลุก สีสันแสงเงาที่ตัดกันเพื่อปลุกเร้าความรู้สึกอันประหลาดน่าหวาดหวั่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

ภาพวาดของพิคแมนในซีรีส์ Cabinet of Curiosities ตอน Pickman’s Model,
วาดโดย วินเซนต์ โพรส, ภาพจาก https://twitter.com/vproceart/status/1586095167614111744

  ภาพวาดในหนังเหล่านี้เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ วินเซนต์ โพรส (Vincent Proce) คอนเซ็ปต์ชวลอาร์ติสต์/นักวาดภาพประกอบ/นักออกแบบอสุรกายชาวอเมริกัน ที่ทำงานเบื้องหลังหนังดัง ๆ อย่าง IT Chapter 2 (2019), Scary Stories to Tell in the Dark (2019), The Christmas Chronicles (2018), Pacific Rim Uprising (2018) รวมถึงหนังเรื่อง The Shape of Water (2017) มาแล้ว เข้าไปดูผลงานของเขาได้ที่ https://www.vincentproce.com/

ภาพวาดของพิคแมนในซีรีส์ Cabinet of Curiosities ตอน Pickman’s Model,
วาดโดย วินเซนต์ โพรส, ภาพจาก https://twitter.com/vproceart/status/1586095167614111744

  ผลงานเหล่านี้ของพิคแมนในหนัง ถูกนำไปเทียบเคียงกับผลงานของศิลปินตัวจริงเสียงจริงผู้มีชื่อเสียงจากผลงานภาพวาดอันลี้ลับ, น่าพิศวง ,หลอนหลอก ไปจนถึงสยดสยองพองขน อย่างเช่น เฮนรี
ฟูซิลี (Henry Fuseli), กุสตาฟว์ ดอเร (Gustave Doré), ซิดนีย์ ไซม์ (Sidney Sime), แอนโทนี่ แองกาโรลา (Anthony Angarola), คลาร์ก แอชตัน สมิธ (Clark Ashton Smith) และแน่นอน ศิลปินระดับตำนานที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ถ่ายทอดความชั่วร้าย น่าสยอดสยอง และความลึกลับดำมืดในจิตใจมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก อย่าง ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) นั่นเอง

ภาพวาดของพิคแมนในซีรีส์ Cabinet of Curiosities ตอน Pickman’s Model,
วาดโดย วินเซนต์ โพรส, ภาพจาก https://twitter.com/vproceart/status/1586095167614111744
Two Old Men (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

  ฟรานซิสโก โกยา หรือในชื่อเต็มว่า ฟราซิสโก โฆเซ่ เดอ โกยา อี ลูเซียนเตส (Francisco José de Goya y Lucientes) ศิลปินชาวสเปนแห่งยุคโรแมนติก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของสเปนในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ตลอดอาชีพการทำงานอันยาวนาน โกยาประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะศิลปิน เขาได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะทั้งจิตรกรชั้นครูคนสุดท้ายแห่งยุคสมัยเก่า และจิตรกรผู้ก้าวหน้าคนแรกแห่งยุคโมเดิร์น เขายังเป็นนักวาดภาพเหมือนบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยของเขาอีกด้วย
  ผลงานของโกยา นอกจากจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง ลึกลับ ฟุ้งฝันตามแบบศิลปะยุคโรแมนติกแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยแนวคิดที่ล้ำสมัยซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในยุคต่อมาอย่างสูง นอกจากนี้เขายังเป็นศิลปินภาพพิมพ์ชั้นเยี่ยมที่ทำผลงานภาพพิมพ์ที่สำรวจจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์ และแฝงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมการเมืองออกมามากมายหลายชิ้น
  และผลงานของโกยา ที่ถูกเปรียบเทียบกับภาพวาดอันน่าสยดสยองของพิคแมนก็คือผลงานที่มีชื่อว่า Black Paintings (Pinturas Negras)

  โดยในช่วงวัยชรา โกยาผู้มีอาการหูหนวกสนิทจากอาการป่วย และต้องประสบกับความทุกข์ทรมานจากการรักษา ประสบการณ์นี้ทำให้เขาตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความตายของตัวเอง เขาปลีกตัวจากสายตาของสาธารณชนไปใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวที่บ้านในกรุงแมดริด ที่มีชื่อว่า Quinta del Sordo หรือ House of the Deaf Man (บ้านของชายหูหนวก) ที่ตั้งชื่อตามเจ้าของเดิมที่หูหนวก (บังเอิญว่าโกยาเองก็หูหนวกด้วยเหมือนกัน)

A Pilgrimage to San Isidro (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

  ในช่วงปี 1819-1823 ท่ามกลางห้วงขณะของความป่วยไข้และสิ้นหวังกับสังคมรอบข้างโดยสิ้นเชิง โกยาวาดภาพสีน้ำมันจำนวน 14 ภาพ ลงบนผนังปูนปลาสเตอร์ของบ้านโดยตรง โดยไม่ได้ตั้งใจนำออกแสดงต่อสาธารณชนแต่อย่างใด ไม่มีใครรู้ว่าโกยาวาดภาพเหล่านี้ขึ้นมาด้วยความคิดหรือความหมายอะไร เขาไม่ได้เขียนถึงผลงานเหล่านี้ในบันทึกหรือจดหมายที่ไหน และไม่ได้ตั้งชื่อผลงานเหล่านี้ด้วยซ้ำ โกยาตั้งใจวาดภาพเหล่านี้ให้เป็นงานส่วนตัวของเขาอย่างแท้จริง
  ภาพวาดชุดนี้มีเนื้อหามุ่งเน้นในการแสดงอารมณ์หวาดผวา, ความหวาดกลัว, ความชั่วร้าย, อัปลักษณ์ และความวิปลาสวิปริตผิดเพี้ยนที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ ผลงานชุดที่ถูกเรียกขานว่า Black Paintings ชุดนี้ ได้รับการตั้งชื่อในภายหลังโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะ และได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพวาดที่สะท้อนความเสื่อมโทรมทั้งทางร่างกายและจิตใจของโกยา และแสดงออกถึงความหวาดกลัวในส่วนลึกที่สุด และฝันร้ายอันมืดมนหดหู่ที่สุดในใจของเขาออกมาได้อย่างทรงพลังยิ่ง

Judith and Holofernes (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

  ในราวปี 1874 หรือ 50 ปี หลังจากที่โกยาเสียชีวิต ภาพวาดเหล่านี้จึงถูกเลาะออกมาจากกำแพงลงมาติดบนผืนผ้าใบ โดย บารอน เอมิลล์ โบมอน เดลอนเจอร์ (Baron Frédéric Émile d’Erlanger) นายธนาคารและกงสุลชาวเยอรมัน ผู้ซื้อบ้านหลังนี้เอาไว้ หลายภาพเกิดความชำรุดเสียหายจากการถูกเลาะออกจากกำแพง ทำให้มีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนนักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนกล่าวว่า สิ่งที่เหลืออยู่คึือความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเก็บรักษาสำเนาหยาบ ๆ ของสิ่งที่โกยาเคยวาดเอาไว้ ทั้งผลกระทบจากกาลเวลา และความเสียหายในการโยกย้ายภาพบนปูนปลาสเตอร์ไปติดลงบนนผืนผ้าใบ ทำให้ภาพงานส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย สูญเสียสีสันและรายละเอียดสำคัญไปอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ภาพวาดชุดนี้ก็ยังเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกศิลปะ โดยปัจจุบันภาพวาดทั้ง 14 ภาพ ถูกจัดแสดงเป็นคอลเล็คชั่นถาวรอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราโด (Museo del Prado) กรุงมาดริด, ประเทศสเปน

La Leocadia (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

  ในบรรดาภาพวาดทั้งหมด มีภาพวาดที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ที่เชื่อมโยงกับภาพวาดในซีรีส์ตอนนี้อย่างเหมาะเจาะ หนึ่งคือภาพวาด El Gran Cabrón/Aquelarre หรือ Witches’ Sabbath (1819–1823) (พิธีชุมนุมของแม่มด) ภาพวาดของแม่มดที่เข้าร่วมพิธีชุมนุมเพื่อบูชาจอมปีศาจซึ่งอยู่ในรูปของแพะดำกำลังร่ายมนต์ต่อหน้ากลุ่มผู้หญิงที่น่าจะเป็นกลุ่มแม่มด จอมปีศาจในภาพปรากฏเป็นแค่เงาดำทะมึนให้ความรู้สึกลี้ลับ ฝีแปรงอันหยาบกระด้างรุนแรง และแสงเงาอันจัดจ้าน สร้างความรู้สึกอันน่าสยดสยองให้ตัวละครแม่มดผู้มีรูปลักษณ์น่าสะพรึงในภาพ เดิมทีภาพนี้มีความยาวกว่าในปัจจุบัน แต่เสียหายจากการเคลื่อนย้ายภาพจากผนังลงไปติดบนผืนผ้าใบ

Witches’ Sabbath (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
Man Mocked by Two Women (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
The Dog (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
Atropos (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

  ถึงแม้จะไม่มีใครรู้ถึงความหมายและเนื้อหาของภาพ แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็สันนิษฐานว่า
โกยาวาดภาพนี้ขึ้นเพื่อเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การสอบสวนทรมาน และการสังหารผู้หญิงในการล่าแม่มดของหน่วยงานศาสนา ในช่วงฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ของสเปน ที่ศาสนจักรและราชวงศ์ใช้อำนาจกดขี่ผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิงอย่างโหดเหี้ยมทารุณ

Saturn Devouring His Son (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

  อีกหนึ่งคือภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในชุดนี้ที่มีชื่อว่า Saturno devorando a su hijo หรือ Saturn Devouring His Son (1819–1823) (แซเทิร์นกัดกินบุตรชายของตัวเอง) ภาพวาดชิ้นสำคัญอันสุดสยดสยองของเขาภาพนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพปกรณัมกรีกโบราณ ของเทพไททันส์ ‘โครโนส’ (หรือเรียกในภาษาโรมันว่า ‘แซเทิร์น’) ผู้หวาดกลัวว่าบุตรของตนจะเติบโตขึ้นมาปล้นชิงราชบัลลังก์แห่งสวงสวรรค์ตามคำทำนาย เขาจึงจับ
ลูก ๆ ของตนมากินทั้งเป็น!
  ที่น่าสนใจก็คือมีการค้นพบว่ารายละเอียดของภาพบางส่วนได้เสียหายไปมาก และส่วนที่เสียหายไปนั้น เดิมทีมีหลักฐานว่าเป็นส่วนล่างของภาพที่เป็นรูปอวัยวะเพศชายที่กำลังแข็งตัว (พูดง่าย ๆ ว่า “จู๋โด่” อยู่นั่นแหละ) ซึ่งแปลว่าเทพแซทเทิร์นหรือโครโนสในภาพนั้นเกิดอารมณ์ทางเพศในขณะที่กำลังฆ่าและกินลูกตัวเองอยู่! ซึ่งพ้องกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (ที่ถือกำเนิดในภายหลัง) ที่ว่า “พ่อ” ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทำลายด้วยเช่นกัน
  มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงที่วาดภาพนี้โกยาป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (น่าจะเป็นโรคซิฟิลิส) ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ลูกที่เกิดมามีปัญหาทางสุขภาพและเสียชีวิตไปหลายคน ภาพวาดนี้เลยเหมือนเป็นการแสดงความรู้สึกเสมือนว่าเขากินลูกตัวเองจากความป่วยไข้ของเขา ว่ากันว่าโกยาอาจได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้จากภาพในปี 1636 ที่มีชื่อเดียวกันของ
ปีเตอร์ พอล รูเบนส์

  นอกจากซีรีส์ตอนนี้แล้ว ภาพวาดภาพนี้ของโกยา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้อสุรกายในหนัง Pan’s Labyrinth (2006) ของเดล โตโร อีกด้วย

Two Old Ones Eating Soup (1819 - 1823)
ภาพวาดชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

  บั้นปลายชีวิต โกยาอัปเปหิตัวเองออกจากประเทศสเปน เกษียณตัวเองไปอยู่ในแคว้นบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส และทำงานชุดสุดท้ายของชีวิตที่นั่น จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1828 ในวัย 82 ปี ร่างของเขาถูกฝังอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกย้ายไปฝังในโบสถ์ St. Anthony of La Florida ในกรุงมาดริด ที่ที่เขาเคยฝากผลงานทิ้งเอาไว้ เหลือไว้แต่แรงบันดาลใจจากสุนทรียะแห่งความสยดสยอง ส่งผ่านมาสู่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง.

แหล่งที่มา
https://www.theartstory.org/artist/goya-francisco/
https://en.wikipedia.org/wiki/Black_Paintings
https://en.wikipedia.org/wiki/Guillermo_del_Toro%27s_Cabinet_of_Curiosities
https://en.wikipedia.org/wiki/Pickman%27s_Model
    TAG
  • culture
  • lifestyle
  • netflix
  • movie
  • film
  • Guillermo del Toro's
  • Guillermo del Toro

แรงบันดาลใจจากศิลปะแห่งความสยดสยองในซีรีส์เขย่าขวัญยอดฮิต Cabinet of Curiosities: Pickman's Model

CULTURE&LIFESTYLE/FILM
March 2023
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    แรงบันดาลใจจากภาพวาด สู่ภาพยนตร์ Barbie & Hockney

    เมื่อแรกเห็นฉากอันเปี่ยมสีสันฉูดฉาดจัดจ้านในหนัง Barbie (2023) ของผู้กํากับ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) สิ่งแรกที่เราอดนึกถึงไม่ได้เลยคือผลงานของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) หนึ่งในศิลปินคนสําคัญในกระแสศิลปะป๊อปอาร์ตในยุค 60s และเป็นหนึ่งในศิลปินอังกฤษที่ทรง อิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 จากผลงานภาพวาดสีสันสดใสฉูดฉาด จัดจ้าน เต็มไปด้วยความเก๋ ไก๋ เปี่ยมสไตล์ และความฉลาดหลักแหลม จนเป็นที่จดจําของคนรักศิลปะทั่วโลกอย่างยากจะลืมเลือน

    Panu BoonpipattanapongSeptember 2023
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    Art inside BEEF งานศิลปะที่แฝงกายในซีรีส์สุดร้อนแรงแห่งปี “คนหัวร้อน”

    ณ นาทีนี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนร้อนแรงไปกว่า “BEEF” ออริจินัลซีรีส์ของ Netflix ที่ผลิตโดยค่าย A24 จากฝีมือการสร้างสรรค์ของ อี ซองจิน (Lee Sung Jin) ผู้กำกับและเขียนบทซีรีส์ชาวเกาหลี ที่เล่าเรื่องราวของสอง “คนหัวร้อน” อย่าง แดนนี่ (สตีเว่น ยอน) ชายหนุ่มผู้รับเหมาชาวเกาหลี-อเมริกันอับโชค ผู้กำลังมีปัญหาทางการเงิน กับ เอมี่ (อาลี หว่อง) สาวนักธุรกิจชาวจีน-อเมริกัน เจ้าของกิจการร้านขายต้นไม้สุดหรู ผู้กำลังไต่เต้าจากการเป็นชนชั้นกลางระดับสูงไปเป็นเศรษฐีเงินล้าน โดยเริ่มต้นจากการสาดอารมณ์ใส่กันในเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบนท้องถนน (Road rage) ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องราวบานปลายฉิบหายวายป่วงกันถ้วนหน้าอย่างคาดไม่ถึง

    Panu BoonpipattanapongApril 2023
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    ผู้แพ้ เงามืด ด้านสว่าง และเวลาที่เหลือ : คุยกับ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล

    อาจไม่อยู่ในความสนใจของคุณ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องภาพยนตร์ คุณควรรู้ไว้สักหน่อยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักทำหนังชาวไทยคนหนึ่งนำหนังไทยไปคว้ารางวัลใหญ่ “หนังยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์ “Doclisboa 2019” ที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส นักทำหนังคนนั้นชื่อ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล และหนังเรื่องนั้นชื่อ “Santikhiri Sonata” เป็นหนังสารคดีผสมฟิกชันที่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชื่อ “สันติคีรี”

    EVERYTHING TEAMJanuary 2020
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    INTERVIEW PRABDA YOON : Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้

    หลังจากที่ฉายรอบปฐมทัศน์ในสายประกวด Asian Future ของเทศการ Tokyo International Film Festival 2017 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กับผลตอบรับจากคนดูและสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจ Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้ ภาพยนต์ลำดับที่ 2 ในบทบาทผู้กำกับของปราบดา หยุ่น

    Sirima ChaipreechawitAugust 2018
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Love Lies เรื่องรักจากคำหลอกของหญิงหม่ายและมิชฉาชีพ ผลงานการกำกับครั้งแรกของ Ho Miu Ki

    ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Nick Cheuk ผู้กำกับและนักเขียนบท Time Still Turn The Page ภาพยนตร์ทรงพลังที่ท่วมท้นด้วยคำชื่นชมจากทั้งในและนอกฮ่องกง

    ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )