LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สามารถเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกเล่าแก่คนรุ่นหลังได้ว่าพวกเราซึ่งเป็นประชาชนภายในประเทศนี้ผ่านอะไรกันมา กำกับโดย “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” (เอก) ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจากสงขลา เอกเริ่มกำกับสารคดีสั้นเกี่ยวกับความตายของ กฤษณ์ สราญเศรษฐ์ ลุงของเขาในชื่อเรื่อง “คลื่นทรงจำ” (2561) ซึ่งได้รับรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ DMZ ที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้เข้าฉายในเทศกาลต่างประเทศอีกหลายแห่ง และผู้กำกับอีกคน คือ “ธนกฤต ดวงมณีพร” (สนุ้ก) ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับภาพ ที่ได้เข้าชิงรางวัลช้างเผือกจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 จากเรื่อง “ทุกคนที่บ้านสบายดี” (2560) และได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติไห่ หนาน

“Breaking the Cycle อำนาจ ศรัทธา อนาคต” เป็นภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกที่ทั้งคู่ร่วมกำกับด้วยกัน ซึ่งได้เปิดตัวฉายในเทศกาลหนังต่าง ๆ มากมาย เช่น
- เทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา
- เทศกาล VC Film Fest ครั้งที่ 40 ณ เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
- เทศกาล Sheffield DocFest ณ เมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ
และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Tim Hetherington award รางวัลที่เชิดชูเกียรติของ Tim Hetherington ช่างภาพข่าวและผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต่อสู้ด้านมนุษยธรรมและการตีแผ่ปัญหาของสังคมโลก และวันนี้ #IAMEVERYTHING จะพาไปพูดคุยเชิงลึกกับสองผู้กำกับถึงมุมมองในงานสารคดีเรื่องนี้

ความสนใจในเรื่องการเมืองของทั้งสองคน
เอกพงษ์ : ส่วนตัวผมมาจากมาจากโซนใต้ก็คือจังหวัดสงขลา ซึ่งโซนนั้นมันจะเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ความสนใจที่เกี่ยวกับการเมืองมีแค่อย่างเดียวเลย คือตอนเลือกตั้งครั้งแรกของชีวิต แม่ผมบอกว่าให้ไปเลือกประชาธิปัตย์ ผมก็เดินเข้าไปกาเบอร์ของพรรค จบแค่นั้นเลยที่เกี่ยวกับการเมือง คือ ณ เวลานั้นมันถูกทําให้เข้าใจว่า “การเมืองมันไม่ใช่เรื่องของเด็ก” หน้าที่ของเราคือเรียนหนังสือให้ได้เกรดดี ๆ จบสูง ๆ แล้วก็ทํางานดี ๆ แล้วจะได้เงินเยอะๆ มาเลี้ยงดูพ่อแม่ คือความหมายของหน้าที่พลเมืองประเทศไทยมันจะมีอยู่ประมาณนี้ จนหลังรัฐประหารปี 2557 ผ่านไปประมาณ 3-4 ปี เราเริ่มมีความรู้สึกว่ารัฐบาลทหารเนี่ยมันมีความประหลาด แล้วก็ไม่ชอบในบางอย่าง คือหมายถึงว่าวัฒนธรรมที่เขาปกครองมันคล้ายกับตอนที่เราเรียนอยู่ในโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารและประชาชนมีความเหมือน “ครูกับนักเรียน” แบบว่าไอ้โน่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ พูดอย่างงี้ไม่ได้ ทําอย่างนั้นไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นความอึดอัดกับสิ่งที่รัฐบาลทหารทำนี่แหละ ตอนนั้นก็ไม่รู้นะว่าเขาทําอะไรบ้างเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือเอื้อเฟื้อให้กับทุนผูกขาดอย่างไร คือไม่รู้เลยมีแค่ความไม่พอใจของอํานาจที่มันกดทับลงมาเท่านั้น
หากมองย้อนกลับไปอย่างพวกนักกิจกรรมที่เค้าไปอ่าน “1984” ของ จอร์จ ออร์เวลล์ บนรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปอ่านหน้าห้างพารากอน ซึ่งอ่านก็ไม่ได้ อ่านก็ถูกอุ้ม ก็เลยงงว่าแบบ เฮ้ยอะไรวะ มันควรจะพูดได้สิ ผมก็มีความรู้สึกอะไรแบบนี้อยู่ในใจ จนพรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาคุณธนาธรก็ไปพูดตามเวที มันมีจุดหนึ่งที่สะกิดใจ คือ “ประชาธิปไตยไทย ณ เวลานั้นมันมีมา 86 ปี แล้วเราก็มีรัฐประหาร 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ” มันก็เลยงงว่า เอ๊ะ เดี๋ยว ระบอบประชาธิปไตยก็คือ คุณไปเลือกตั้ง เลือกตั้งเสร็จเราก็มีผู้แทน พอมีผู้แทนเขาก็ไปจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชน แต่ทีนี้มันก็ดันมีวิธีพิเศษซึ่งก็คือ “รัฐประหาร” นี่แหละ ที่เป็นการเข้ามายึดอํานาจรัฐด้วยการใช้กําลังอาวุธ ก็แบบอ้าว ไหนสอนว่าประเทศนี้คือระบอบประชาธิปไตยไง เราก็เลยเริ่มตั้งคําถามว่าที่มันเป็นอยู่นี้ไม่ใช่ละมันผิด และในขณะนั้นที่พรรคอนาคตใหม่เปิดตัว กลุ่มผู้ก่อตั้งก็มีทุกรูปแบบเท่าที่เราจะคิดออกมีผู้หญิง มีผู้ชาย มี LGBTQ มีนักธุรกิจ มีนักทําหนัง มีคนทำเบียร์ คือทุกอย่างมันตรงกับที่เราเคยเรียน ซึ่งผู้แทนราษฎรมันก็ต้องมีหลายแบบ และนี่ก็มีหลายแบบ ผมก็เริ่มที่จะซื้อไอเดียของพรรคนี้ คือมันดูตรงคอนเซ็ปต์กับที่เราเคยเรียนมาจริงมากกว่าผู้ชายแก่ใส่สูทแล้วก็ไปต่อยกันในสภา (หัวเราะ) ซึ่งพอเราตั้งคําถามกับสิ่งที่เราเห็นมาโดยตลอดว่าคืออะไรวะ มันก็เลยเป็นจุดที่ทําให้เริ่มสนใจการเมือง
ธนกฤต : ก่อนทําหนังเรื่องนี้ไม่ได้สนใจการเมืองเลย แต่มีประมาณสามเหตุการณ์ที่เจอแล้วรู้สึกว่าน่าจะใกล้เคียงกับกับการเมืองที่สุด เหตุการณ์แรกคือตอนรัฐประหารปี 49 ตอนนั้นอยู่ป. 5 เช้าวันที่ 20 กันยาของวันนั้น เราตื่นมาแล้วเจอแม่กวาดห้องอยู่ แม่ก็บอกว่าวันนี้ไม่ต้องไปโรงเรียน วันนี้โรงเรียนหยุด ผมก็ฟัง ในใจก็คือ อ๋อ กุได้นอนต่อ นั่นคือรัฐประหารปี 49 ในความทรงจําของผมมีแค่นั้นเลย (หัวเราะ) เหตุการณ์ที่สองก็กระโดดมาช่วงปี 54 ประมาณม. 4 หลังการชุมนุมของคนเสื้อแดง ตอนนั้นเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย เขาก็มาหาเสียงที่เชียงรายแถวบ้านผม พ่อกับแม่ผมก็ชวนผมไปฟังด้วย ตอนนั้นผมก็เลยอยู่ท่ามกลางชาวบ้านที่เขามาฟังปราศรัยหาเสียงกัน ผมก็ฟังคนที่มาพูดแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผมมองไปรอบ ๆ ตัว ก็เจอกับสายตาของชาวบ้านที่เขาตั้งใจฟังสิ่งนี้มาก ๆ มันเป็นสายตาที่ผมไม่เคยเจอมาก่อนเป็นสายตาที่เขารู้สึกว่าชีวิตกําลังจะดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ มันคือสายตาของความหวัง ผมก็แบบว่า เฮ้ย อันนี้คืออะไร แล้วอยู่ ๆ ผมก็ร้องไห้ ผมก็ไม่เข้าใจตัวเองว่าทําไมต้องร้องไห้ คือแบบเห็นคนที่ลําบากขนาดนี้แต่เขายังมีความหวังได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปราศรัยบนเวทีเลยนะ มันคือความรู้สึกของคนข้างล่างที่รู้สึกว่าไอ้สิ่งที่มาพูดกับเราเนี่ย เขากําลังจะทําให้ชีวิตเราดีขึ้นอะไรอย่างงี้ครับ

เหตุการณ์สุดท้ายคือช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ผมอยู่ประมาณปีสอง คือจากมหาลัยมาหอพักผมต้องเดินผ่านหอศิลป์ ตอนนั้นมันมีกิจกรรมการรําลึกรัฐประหารครบรอบหนึ่งปีเขาก็จัดกันที่หน้าหอศิลป์ ก็มีคนก็เอาเทียนมาจุด เอาโพสอิทมาแปะ ผมก็เดินแวะเข้าไปดูแล้วก็เจอโพสอิทอันหนึ่งเขียนว่า “อยากพูด…. บรรทัดต่อมาก็เขียนว่า แต่พูดไม่ได้” ผมก็แบบร้องไห้อีกละ (หัวเราะ) เหมือนในสมองไม่รู้คิดอะไรแต่ว่าร่างกายมันตอบสนองด้วยการร้องไห้ออกมา ผมก็ยืนนิ่งอยู่แป๊บนึงแบบมันเกิดอะไรขึ้นกับกูเนี่ยแล้วก็เดินกลับหอปกติ ซึ่งสําหรับผมก่อนทําหนังเรื่องนี้ผมไม่เข้าใจว่า 3 เหตุการณ์ที่เล่าไปมันเชื่อมโยงกันยังไง แต่พอได้ทําหนังเรื่องนี้มันทําให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วนี่คือเส้นเรื่องเดียวกันของการเมือง มันเหมือนหนังทําให้เราต่อจิ๊กซอว์ได้ว่า “สิ่งที่เราเจอมาก่อนหน้านั้นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกันทั้งหมดเลย”
จุดเริ่มของหนังสารคดีเรื่องนี้
เอกพงษ์ : จุดเริ่มต้นมันประกอบไปด้วย 2-3 อย่าง จนทําให้เกิดการตัดสินใจที่จะไปถ่าย ต้องย้อนกลับไปตอนนั้นผมอายุ 26 เพิ่งทํางานมาได้ประมาณ 3-4 ปี สนุ้กอายุ 24 แทบจะเพิ่งทํางานประจําครั้งแรกเลยเป็นงานโฆษณา ซึ่งผมก็ทําโฆษณาเหมือนกัน แล้วพอทําไปเรื่อย ๆ มันก็มีความรู้สึก เฮ้ย เรากําลังทําอะไรอยู่วะ แบบเดือนนี้เราทําโฆษณาตัวนึง เดือนหน้าเราก็ทําใหม่อีกตัวนึงวนไปเรื่อย ๆ มันก็เกิดการตั้งคําถามว่ามันช่วยอะไรกับโลกใบนี้ ถ้าพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ เหมือนกับว่าชีวิตเราตอนนั้นเกี่ยวเนื่องกับเฉพาะพวกชนชั้นกลางในระดับเกือบสูง วนเวียนแบบนี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งในใจตอนนั้นผมอยากทำหนังและถ้าสมมุติว่าผมจะทําหนังผมจะเอาอะไรไปเขียน ในเมื่อชีวิตมึงอยู่แต่กับชนชั้นกลุ่มนี้อย่างเดียวแล้วคุณจะเอาที่ไหนไปเข้าใจคนอื่น ๆ ที่ลําบาก หรือคนที่มีชีวิตต่างไปจากเรา ประกอบกับตอนนั้นผมก็เริ่มไปช่วยครู (โสภาวรรณ บุญนิมิตร) ที่สอนผมมาทำหนังสารคดี ก็เกี่ยวกับชีวิตของเด็กป. 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองเลย ซึ่งในตอนนั้นพอเริ่มถ่ายผมก็ไปช่วยตัดต่อด้วยก็เลยทำให้พอมีทักษะประมาณนึงที่จะทําหนังสารคดีได้ ส่วนสนุ้กก็อยู่ในโปรเจคนั้นเหมือนกันเขาก็เป็นคนถ่ายผมก็เป็นคนตัด แล้วพอพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมันก็รู้สึกว่าสิ่งนี้น่าสนใจมาก คือต้องเข้าใจก่อนว่าในตอนนั้นยังไม่มีใครให้ความสนใจพรรคนี้เลย มันไม่ได้เป็นคู่แข่งใคร มันเป็นพรรคเล็กพรรคทางเลือก แล้วทําอะไรที่เป็นขบถแตกต่างจากพรรคการเมืองทั่วไปเช่น โลโก้หรืออะไรใด ๆ ก็ตาม แต่ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เขากําลังพูดและพยายามจะทํามันใหญ่มาก หมายถึงว่าพรรคมันเล็กมากแต่สิ่งที่จะทำมันเป็นภารกิจ “Unfinished Business ตั้งแต่ 2475” แล้วเขาพยายามจะจบมัน ผมก็เลยรู้สึก “พล็อตเรื่องนี้เป็นพล็อตที่น่าสนใจ” และผมคิดว่าถ้าคุณเป็นนักสารคดีในประเทศไทยคุณต้องมีพันธกิจของอาชีพที่จะต้องไปถ่ายโดยไม่มีข้ออ้าง แต่ก็ไม่มีใครไปถ่าย ตอนนั้นก็นั่งบีทีเอสกลับบ้านแล้วก็แบบ “กูจะทําเองดีไหมวะ”

มันยังไม่มั่นใจเพราะรู้สึกว่าเราไม่ใช่คนที่พร้อมที่สุดมันมีคนที่พร้อมกว่าเรามีประสบการณ์ในด้านนี้ที่เยอะกว่าเราและถ้ากูทําจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งมีอยู่สองอย่าง หนึ่ง คือแบบโอ้ยหนังเหี้ยมากแล้วคนก็ด่าว่าทําไมทำออกมาห่วยแตกขนาดนี้ สอง คือพอมาจากทางใต้ผมก็จะถูกใส่หัวมาว่าไอ้นี่มันคือขี้ข้าทักษิณ มันก็คือพรรคทักษิณรีแบรนด์ดิ้งจะเอากลุ่มคนรุ่นใหม่ ถ้ามึงไปถ่ายคือมึงโดนหลอกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง มันก็คือความกลัวสองอย่างที่สรุปได้ว่า “กลัวว่าตัวเองไม่เก่ง และกลัวว่าตัวเองจะโง่โดนหลอก” ซึ่งถ้าไปทํา อย่างแย่ก็คือสองอย่างนี้แต่ถ้าไม่ทําผมก็กลับไปใช้ชีวิตซ้ำ ๆ เหมือนเดิม ผมก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ยงั้นกูทําดีกว่า อย่างน้อยมันก็ไม่เหมือนเดิม ซึ่งไม่เหมือนเดิมยังไงไม่รู้แต่มันไม่เหมือนเดิมแน่ ๆ หรือว่าอย่างน้อยคือ โอเคกูโดนหลอก กูก็ได้รู้ว่ากูโดนหลอกเพื่อที่กูจะได้ไม่โดนหลอกอีกในอนาคต หมายถึงว่าชีวิตเรามันก็ต้องเรียนรู้ เพราะถ้าอยู่แต่ในกะลาเราก็ไม่รู้สักทีว่าตกลงกูเก่งหรือไม่เก่ง หรือกูโง่หรือไม่โง่ ก็เลยเป็นวันที่ตัดสินใจชวนสนุ้กถ่าย โดยที่ในหัวคิดว่าถ้าสนุ้กไม่เอา กูก็ไม่เอาเพราะรู้สึกว่าเอาไม่อยู่ ซึ่งถ้าสนุ้กถ่ายแล้วผมตัดความรู้สึกยังพอไหวยังช่วยกันคิดได้ว่าจะเอายังไงพอสนุ้กตอบตกลงก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น
ธนกฤต : ก็เล่าต่อจากพี่เอกเลยก็คือ เราสองคนรู้จักกันมาก่อนทําหนังเรื่องนี้ พี่เอกเป็นรุ่นพี่ผมแต่ว่าเรียนฟิล์มด้วยกันมันก็เลยมีความสนิทกันอยู่แล้ว หอก็ใกล้กันชอบไปนั่งร้านน้ำชาโรตีแบบคนใต้แล้วพูดคุยแลกเปลี่ยน เราแชร์กันค่อนข้างหลายเรื่อง มีเรื่องอะไรก็มาระบายกัน ซึ่งเราสองคนต่างเป็นผู้เล่าและผู้ฟังที่ดีต่อกัน แล้วพอพรรคอนาคตใหม่ได้เกิดขึ้นเราสองคนก็เหมือนวัยรุ่นส่วนใหญ่ในช่วงนั้น “ธนาธรใครวะพูดมันส์จัดเลย” เราก็แชร์คลิปที่เขาไปพูดตรงโน่นตรงนี้ก็เอามาเปิดดูกันแต่ว่าไอ้ความคิดที่จะไปถ่ายมันก็เกิดจากพี่เอกนี่แหละ ผมก็แค่รู้สึกว่ามันน่าติดตาม คือในตอนนั้นผมอายุ 24 กำลังทํางานได้แบบไม่ถึงปีก็ตั้งคําถามกับงานที่ทําว่าผมมีความสุขกับงานหรือเปล่า มันมีโมเมนต์หนึ่งที่รู้สึกไม่ดีผมเลยโทรหาแม่โดยที่ไม่ได้พูดเรื่องงานเลยนะ แต่แม่บอกว่า “ออกมาก่อนมั้ย” ซึ่งแบบเราก็บ่นชีวิตไปเรื่อย ๆ แต่เหมือนความเป็นแม่เขาจับอาการได้ว่าเราไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน เขาบอกว่าออกมาพักก่อนมั้ย แล้วพอพี่เอกชวนมันเลยเหมือนกับไอ้นี่คือสิ่งใหม่ บวกกับพอมันเป็นสารคดีแล้วงานที่ผมทําอยู่คืองานโฆษณา ผมสามารถไปบอกเจ้านายได้ว่าขอลาออกนะครับผมจะไปทําสารคดี ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่ากูจะทําได้รึเปล่า ซึ่งสิ่งที่ทําให้ตัดสินใจมันนามธรรมมากเลยมันคือ “ความรู้สึก” คือเราคุยกันว่าถ้ามีหนังการเมืองแบบแมส ๆ ไปเลยใครก็ดูได้ไม่ต้องมาอินดี้อะไร ในหัวผมก็เริ่มจินตนาการแล้วรู้สึกว่ามันตื่นเต้นที่จะมีหนังเรื่องนี้ในบ้านเรา แต่สุดท้ายแล้วเส้นทางที่ทํามันเต็มไปด้วยความกลัวนะสำหรับผม หมายถึงว่าวันแรกมันก็รู้สึกตื่นเต้นดี แต่พอถ่ายไปสักพักก็เริ่มแบบ เฮ้ย มันใหญ่ว่ะ

กระบวนการสร้าง (การแบ่งหน้าที่ในการทำงาน / อุปสรรคและปัญหา)
ธนกฤต : หนังเรื่องนี้แบ่งเป็นสองช่วงใหญ่ ๆ ช่วงถ่ายกับช่วงตัดต่อ คือช่วงถ่ายจะค่อนข้างเป็นเราสองคนช่วยกันสลับกันถ่าย แต่ผมอาจจะถ่ายเยอะกว่าหน่อย เพราะพี่เอกจะคอยดูว่าจะถ่ายอะไรไม่ถ่ายอะไร แต่ถ้าวันไหนผมไม่ว่างก็ต้องเป็นพี่เอกนี่คือช่วงแรก พอเราถ่ายเสร็จมันก็จะเป็นช่วงตัดต่อเพียว ๆ ละ เราก็กลายเป็นผู้กํากับสองคน ซึ่งในช่วงแรกของการถ่ายทำด้วยความที่ผมเป็นกล้องหลักในการถ่าย ผมจะเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “กําแพงระหว่างคนถ่ายกับ Subject ที่เราถ่าย” เพราะด้วยเป็นหนังเรื่องแรกของผมบวกกับ Subject ที่เราถ่ายเป็นนักการเมืองนักธุรกิจหมื่นล้าน ส่วนผมคือเด็กอายุ 24 จบใหม่
เอกพงษ์ : พูดง่าย ๆ ก็คือความเกรงใจ ความไม่กล้า กลัวเขาอึดอัด
ธนกฤต : เออ ใช่ ๆ มันคือความไม่เป็น แต่ถ้าทุกวันนี้ให้ไปถ่ายพี่เอกก็ถ่ายได้ดีขึ้นแล้วล่ะ หมายถึงว่าเราสามารถบอกเขาได้ว่าพี่ยืนตรงนี้แป๊บนึงนะ 10 วิ ขอช็อตหนึ่ง ต่างจากตอนแรกที่เราจะบอกเขายังไงดีวะ (หัวเราะ) แล้วก็อุปสรรคช่วงถ่ายอีกอันนึงน่าจะเป็นเรื่อง “การสวนทางกันระหว่างสิ่งที่เราถ่ายได้กับการเติบโตของพรรค” หมายถึงว่าถ้าปกติหนังสารคดีทั่วไปยิ่งถ่ายเราน่าจะได้ฟุตเทจที่มันลึกขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าเรื่องนี้มันกลับกัน วันแรก ๆ ได้ลึก แต่วันท้าย ๆ เริ่มยาก เพราะพรรคมันเริ่มจากเล็ก ๆ ในช่วงแรกเราจะขึ้นรถตามไปอะไรก็ได้ แต่พอพรรคขยายคนหน้าใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ๆ เราก็ต้องแนะนําตัวทุกครั้งว่า พี่ครับผมชื่อสนุ้กมาตามถ่ายคุณธนาธรอยู่ครับถ่ายมา 3 เดือนแล้ว พอเวลาผ่านไปได้เจอคนใหม่ก็ต้องบอกอีกว่าผมถ่ายมา 6 เดือนแล้วอะไรอย่างงี้ ก็ต้องอัพเดทเรื่อย ๆ ส่วนช่วงตัดต่ออุปสรรคใหญ่สุดของผมเลยน่าจะเป็น “การหาที่อยู่ของความเป็นผู้กํากับในหนังเรื่องนี้” ด้วยหนังมันมีผู้กํากับสองคน แล้วพี่เอกเขาก็เป็นคนตัดต่อด้วยนั่นหมายความว่า ดราฟแรกที่ส่งมามันมี Point of view ของ Director มาแล้วรอบนึง สําหรับผมในฐานะคนทําสารคดียาวครั้งแรกมันเลยเหมือนจัดการไม่ถูก มันจะแก้ได้แค่ไหน มันจะแก้ยังไงวะ มันก็เหมือนหนังที่เสร็จแล้ว ต่อให้มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แต่หมายถึงว่ามันผ่าน Director มาหนึ่งคนแล้ว มันเหมือนว่าถ้าจะต้องคอมเมนต์สิ่งนี้เราต้องแกะทั้งหมด เพราะว่ามันมีเพลงมันมีสัมภาษณ์มันมีฟุตเทจอะไรต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ผมจัดการกับสิ่งนี้ไม่ถูกผมเลยต้องใช้เวลา 2-3 เดือนในการจัดวางความเป็น Director ของเราให้กับหนังเรื่องนี้

เอกพงษ์ : จริง ๆ ปัญหาเรื่องนั้น มันคือปัญหาเรื่องเงิน เพราะว่าตัดต่อสารคดีมันไม่ใช่ตัดต่อแต่มันคือ “เขียนบท” แล้วโปรเจกต์มันมีเงินพอที่จะจ้างผมได้แค่คนเดียวเพื่อที่จะหยุดงานทั้งหมดแล้วมาทํา ดังนั้นระหว่างที่ผมตัดต่อไปมันต้องเขียนบทไปด้วย ผมต้องไปนั่งไล่เรียงไทม์ไลน์ทุกอย่างว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะเล่าอะไรไม่เล่าอะไร ซึ่งผมก็เลือกมาแล้วก็ยื่นให้สนุ้ก แต่ผมมองว่าถ้าในวันนั้นเราสามารถจ้างให้สนุ้กหยุดงานทุกอย่างได้ มันก็จะตามกูทันก็เลยรู้สึกว่าจริง ๆ ไอ้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาเรื่องเงินนั่นแหละท้ายที่สุด
ธนกฤต : ผมว่าก็ส่วนหนึ่ง แต่สําหรับผมมันเป็นเรื่อง Skills ของผมเลย
เอกพงษ์ : อ้าวเหรอ
ธนกฤต : ผมว่าเป็นเรื่องทักษะที่จะต้องใช้เวลาเข้าใจโครงสร้าง มันเป็นหนังเรื่องแรกทุกอย่างแรกหมดเลย มันปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไงก็ต้องใช้เวลาเท่านั้นสําหรับผมนะ ในการทําความเข้าใจสิ่งนี้ แต่โอเคพอมันเข้าใจแล้วก็ Flow ขึ้น
เอกพงษ์ : ย้อนกลับไปในช่วงที่กําลังถ่ายสารคดีเรื่องนี้ เราทั้งสองคนก็ต้องรับงานโฆษณาไปด้วย โดยตั้งใจจะรับเดือนละสองงาน งานหนึ่งทําประมาณ 7 วัน นั่นคือผมจะมีอีกครึ่งเดือนที่จะว่างไปถ่าย ดังนั้นวิธีการทำงานคือถ้าว่างสองคนไปสองคน โดยสนุ้กจะถ่ายผมก็จะดูว่ารอบ ๆ ว่าตรงนั้นมีอะไรอย่างอื่นเกิดขึ้นไหมก็จะคอยบอก บางทีมันอาจจะมีภาพกว้างที่เกิดอะไรบางอย่างขึ้น แล้วในหลายครั้งที่เป็นซีนใหญ่ ๆ เช่น การปราศรัยใหญ่ เราก็แยกถ่ายกันสองกล้อง โดยสนุ้กจะเป็นกล้องหลักให้ไปตามธนาธร ส่วนผมก็จะเป็นกล้องรองคอยเก็บรีแอคชั่นของคนหรือว่ามุมภาพอื่น ๆ แล้วอีกพาร์ทนึงก็คือการนั่งเขียน Proposal กับโปรดิวเซอร์เพื่อจะไปขอทุนต่างประเทศ เราเริ่มถ่ายตอน 2018 ได้ทุนก้อนแรกตอนต้นปี 2020 แล้วพอเข้าสู่ช่วงตัดต่อก็เป็นอย่างที่สนุ้กเล่านี่แหละ ผมก็หอบอุปกรณ์อะไรทุกอย่างแล้วก็ย้ายกลับไปที่บ้านสงขลาเพราะที่นั่นมีค่าครองชีพต่ำแล้วก็ขอเงินน้อย ๆ จากทุนที่เราได้มาเพื่อที่จะมาตัดต่อ ส่วนปัญหาระหว่างการทำงานมันก็เยอะมาเรื่อย ๆ เช่น ระหว่างที่ถ่ายปัญหาคือว่าเราจะทํายังไงให้เข้าใกล้ธนาธรได้มากที่สุดในช่วงนั้นนะ แล้วอีกพาร์ทนึงก็คือเวลาเราไปขอทุนมันก็จะแบบ “หนังเรื่องนี้ต่างอะไรกับเรื่องอื่น” “หนังเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้พรรคการเมืองหรือเปล่า” เราก็ต้องพยายามอธิบายตรงนี้อยู่ตลอดเวลาว่าประเทศไทยมันเกิดอะไรขึ้น อีกหนึ่งปัญหาก็คือช่วงกระบวนการหาผู้จัดจําหน่ายในไทย คือเราไม่อยากไปคุยกับโรงหนังเองมันก็เลยต้องมีตัวแทนจัดจําหน่ายไปคุยกับเจ้านู่นเจ้านี้ ซึ่งผู้จัดจําหน่ายหลาย ๆ ที่เขาก็ไม่เอา แต่สุดท้ายเราก็ได้ที่ HAL Film และส่วนโรงที่จะฉายก็มีการเจรจากันประมาณ 3 เดือนกว่าจะปิดดีลว่าได้ SF Cinema แล้วก็ได้ Major Cineplex

ธนกฤต : คือมันมีโมเมนต์ที่ต้องเล่านิดนึง (หัวเราะ) เป็นโมเมนต์ที่ทุกคนดูจะชอบ ก็คือวันแรกเลยเราก็ติดต่อธนาธรไป ด้วยพรรคมันยังเล็กอยู่เราก็คุยกับเขาได้ตรง ๆ เขาก็พาเราสองคนไปแนะนํากับทีมงานในพรรคทั้งหมดเลย ประมาณ 20-30 คน เขาเรียกทุกคนในพรรคมาล้อมเป็นวงกลมแล้วบอกว่า นี่คือเอกนะครับนี่คือสนุ้กนะครับ สองคนนี้จะมาถ่ายพวกเราติดตามการเดินทางของพวกเราให้ความร่วมมือด้วยนะครับ พอเสร็จปุ๊บหลังจากนั้นเราก็ไม่ได้คุยกับธนาธรแบบยาว ๆ อีกเลย ได้คุยแค่นิดหน่อย ไม่มีโอกาสที่จะได้อธิบายว่าตอนนี้เราถ่ายมาถึงตรงนี้แล้วนะครับ คิดว่าหนังมันน่าจะเล่าไปแบบนี้แบบนั้น อะไรอย่างนี้ไม่มีเลย
ผลตอบรับของชาวต่างชาติเมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในเทศกาลหนังต่างๆ
ธนกฤต : นี่คือหนังสารคดีเรื่องแรกของเรา แล้วมันก็ได้ฉายรอบแรกของโลกที่เทศกาลหนัง Hot Docs Canadian International Documentary Festival ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ ซึ่งสิ่งแรกที่อยู่ในใจผมตอนที่รู้ว่าได้ คือผมเห็นว่าโรงที่เราได้ฉายเป็นโรงที่ใหญ่ที่สุดของเทศกาล มี 600 ที่นั่ง มีสองชั้น ได้ฉายสองรอบในโรงนั้น สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ ใครจะมาดูวะ (หัวเราะ) โรงใหญ่แบบ 600 ที่นั่ง
เอกพงษ์ : คือหนังสายแข่งไม่ได้โรงนี้เลยผมก็ไม่เข้าใจทั้งที่มันเป็นสายหลัก
ธนกฤต : ก็เลยมีความกังวลตรงนี้นิดนึงว่าจะมีคนมาดูไหม ปรากฏว่ามีคนมาดูทั้งสองรอบ แล้วรอบที่สองเยอะกว่ารอบแรกด้วย ฟีดแบคโดยรวมที่ผมจําได้ชัดสุด คือตอนออกจากโรงแล้วมีคนเดินมาบอกว่า “ขอบคุณที่ทําให้เข้าใจประเทศไทยมากขึ้นเรารู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับไทยแลนด์” อีกฟีดแบคนึงคือช่วง Q&A มีคําถามนึงถามว่า “แล้วพวกยูจะเอายังไงกัน แบบมันดูไม่มีทางออกเลยนะในฐานะเป็นประชาชนคนไทย” ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าแมสเสจในหนังมันก็ไกด์อะไรบางอย่างที่ไปสู่ทางออก

เอกพงษ์ : จริง ๆ ผมมีความคาดหวังนิดนึงในตอนที่ทํา เราคิดแต่แรกว่าหนังเรื่องนี้ควรจะเป็นหนังสำหรับคนที่ไม่รู้อะไรเลยมาดูก็ต้องรู้เรื่องเราวางเป้าไว้อย่างนี้ เราก็เลยคาดหวังว่าคนต่างชาติจะรู้เรื่องไหม จะอินไหม ปรากฏว่าพอไปฉายรอบแรกผมไม่เข้า แบบจะอ้วกแตกอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) ไม่อยากเข้าไปเจอ คือถ้าสมมุติคนดู ๆ แล้วเบื่อหรือเดินออก หรือผมดูหนังเองแล้วรู้สึกแบบซีนนี้โคตรยาวเลยอะไรวะเนี่ย คือทนไม่ได้ที่จะเจออะไรแบบนี้ ก็เลยไม่เข้าไปดีกว่า แต่ปรากฏว่าฟีดแบคดีกว่าที่คิดเขาสนใจหนังจริง ๆ สนใจประเทศไทยจริง ๆ มันก็เลยทําให้กล้าที่จะเข้าไปในรอบสอง ซึ่งรอบสองเนี่ย โอ้โห มีซีนที่คนดูหัวเราะโดยที่เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะหัวเราะ มีซีนที่เค้าลุ้นโดยที่เราคิดว่าเค้าไม่น่าจะลุ้นได้ อย่างซีนเลือกประยุทธ์กับธนาธรที่ต้องโหวตกันในสภา ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นแต่ชาวต่างชาติเขายังไม่รู้ไงก็แบบมีลุ้นแบบมีรีแอคชั่นเวลาที่ดู คือค่อนข้างดีใจเลยเพราะแปลว่ามันก็สําเร็จประมาณนึง แล้วทั้งสองรอบก็จะมีคนไทยในต่างประเทศมาดูด้วย ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ย้ายออกจากประเทศหลังการปราบปรามบนท้องถนนในปี 2563 โดย Message ที่เราจะได้รับบ่อย ๆ ก็คือเขาขอบคุณเราที่ทําหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ส่วนคนต่างชาติก็ขอบคุณที่ทําให้เขาได้รู้เกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น

โปรเจกต์นี้เคยขอทุนทำหนังในไทยไหม หรือตั้งใจขอทุนจากต่างประเทศอย่างเดียว
เอกพงษ์ : ตอนแรกเราก็คิดเลยว่าจะขอทุนจากต่างประเทศ เพราะคิดว่าประเทศไทยไม่ให้แน่ ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในขณะเดียวกันผมก็รู้สึกว่าเราก็ไม่ควรจะไปขอพรรค หลายคนจะบอกผมตลอดว่าขอเงินธนาธรสิจบง่าย ๆ คือจะขอทำไม ซึ่งถ้าขอหนังเรื่องนี้จะเสียความชอบธรรมไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นมันเลยเป็นเหตุผลว่าเราต้องหาบุคคลที่สามมาให้เงินและถ้ามาจากต่างประเทศก็น่าจะให้มากที่สุด ซึ่งจริง ๆ เราขอไปหลายที่มากนะ ทุนแรกที่เราส่งมันชื่อว่าTan Ean Kiam Foundation มันเป็นมูลนิธิที่จับมือกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์เพื่อแจกทุนให้กับภาพยนตร์สารคดี แล้วคนที่จะขอได้ต้องมีสัญชาติ South East Asia เรายื่นไปเป็นชุดแรกตอนปี 2019 แต่ก็ไม่ได้ จากนั้นเราก็ยื่นไปขอทุนภายใต้เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติอัมสเตอร์ดัม (IDFA) ก็ไม่ได้อีก แต่ปลายปี 2019 หนังเราก็ได้ถูกเลือกให้ไป Pitching ที่เกาหลีใต้ในเทศกาล DMZ International Documentary Film Festival ซึ่งก็ไม่ชนะ
แต่ประเด็นคือทุกครั้งที่เราไปหรือทุกครั้งที่เราได้ส่งทุน เราจะรู้จักคนเพิ่ม แล้วคนกลุ่มนี้เขาก็จะไปเป็นผู้คัดเลือกหนังในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งก็มีคนหนึ่งที่ผมไปรู้จักใน DMZ นี่แหละ ท้ายที่สุดแล้ว 4 ปีต่อมาเขาไปเป็นโปรแกรมเมอร์ในเทศกาลภาพยนตร์สารคดี Sheffield DocFest เขาเป็นคนผลักดันให้หนังเราได้เข้าฉาย แล้วพอตอนปี 2020 เราก็เลยขอทุน Tan Ean Kiam Foundation ของสิงคโปร์อีกรอบนึง ครั้งนี้เราได้ทุน และทุนต่อมาที่เราส่งไปขอแล้วก็ได้ก็คือ Purin Pictures เป็นมูลนิธิที่อยู่ในประเทศไทย แต่ก็ต้องแข่งกับประเทศอื่น ๆ ใน South East Asia ซึ่งพอได้ทุนจาก Purin มา ในปลายปี 2020 เราก็สามารถเริ่มเปิดคิวถ่ายสัมภาษณ์ได้ เพราะเรารอเงินก้อนนี้อยู่ นอกจากนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ อย่างบ้านฟิล์มที่ให้เราเช่ากล้องครึ่งราคาตลอดทั้งโปรเจกต์ และอีกที่หนึ่งก็เป็นพี่ที่ผมรู้จักที่สงขลาเขาเป็นเจ้าของเออีวายสเปซก็ให้เงินสนับสนุนมาเหมือนกัน เพราะว่าเชื่อมั่นในตัวโปรเจกต์และตัวพวกเรา
อะไรทำให้กล้าถ่ายสารคดีนี้ในขณะที่ “การเมืองไทย” เป็นเรื่องอ่อนไหว
ธนกฤต : มันคือความไม่รู้ครับ
เอกพงษ์ : เออใช่
ธนกฤต : แค่นี้สั้น ๆ เลย คือถ้าคนที่รู้น่าจะไม่ทำ (หัวเราะ)
เอกพงษ์ : เพราะมันคือการไม่รู้ว่ามันจะยาก ไม่รู้ในนู่นนั่นนี่ แต่ความไม่กลัวก็ส่วนนึงนะ เพราะว่าผมกลัวจะเกิดสองอย่างที่บอกไว้ข้างต้น คือ กลัวว่าตัวเองไม่เก่ง และกลัวว่าตัวเองจะโง่โดนหลอก คือหมายถึงว่าถ้ามันจะเกิดตามนั้นก็ช่างแม่งนึกออกไหม ผมว่าเป็นเพราะความไม่รู้ แล้วก็ไม่กลัวนี่แหละที่ทําให้เราตัดสินใจกระโดดมาทํา ซึ่งมันก็ใหญ่จริงนะใหญ่มาก ๆ
ธนกฤต : แต่ก็ทําจนได้

คิดว่าการรัฐประหาร 13 ครั้งที่ผ่านมา ให้บทเรียนอะไรกับคนไทยในมุมมองของประชาชนคนหนึ่ง
ธนกฤต : ผมรู้สึกว่ามันให้ภาพผมสองภาพ ภาพแรกก็คือความขัดแย้ง “มันไม่ใช่ซ้ายขวาแต่เป็นบนล่าง” อันนี้ภาพแรกที่ผมได้ ภาพที่สองก็คือเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหมดมันไม่ใช่จิ๊กซอว์ที่กระจัดกระจายแต่มันคือภาพเดียวกัน คือทั้งสองภาพที่บอกมันทําให้เราเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น ทุกอย่างที่เราสงสัยมันเมคเซนส์ไปหมด
เอกพงษ์ : ก็เห็นด้วยว่าไอ้เลข 13 เนี่ย มันทําให้เรารู้ว่ามันคือการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอํานาจที่มัน Continue มาตั้งแต่ต้นของการปฏิวัติประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันไอ้ 13 ครั้งเนี่ย มันก็ให้สิ่งเดียวกันซ้ำ ๆ นะสำหรับคนไทย แต่ประเด็นคือว่าพอ Generation หนึ่งมันผ่านไป มันก็ลืมไปแล้ว หมายถึงว่ามันลืมไปแล้วว่านี่คือการต่อสู้ระหว่างระหว่าง “อํานาจใดกับอํานาจใด” แล้วเราก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะให้พรรคถูกยุบอีกครั้ง แล้วก็เกิดรัฐประหารอีกครั้ง เพื่อที่จะให้พรรคถูกยุบอีกครั้งอะไรแบบนี้ จริง ๆ มันมีมาตลอด แล้วไอ้ความรู้นี้มันไม่เคยถูกส่งต่อมาตาม Generation เหมือนกับว่ารู้เสร็จแล้วก็ตายไปยังไม่ทันบอกลูกหลานเลยว่ามันเป็นอย่างนี้ ลูกหลานก็ต้องมามีความหวังใหม่กับพรรคใหม่ และยุบพรรคใหม่ แล้วก็รัฐประหารใหม่ ผมก็เลยคิดว่านี่แหละมันต้องมีบันทึกสิ่งนี้ เพื่อที่ว่าคนรุ่นหลังเราจะได้ไม่ต้องมาเรียนรู้กันใหม่

ธนกฤต : แบบอีก 20 ปีข้างหน้ามีพรรคเกิดใหม่แล้วอาการประมาณนี้มันจะได้รู้ว่า อ๋อ มันมีสเต็ปข้างหน้าคืออะไร
เอกพงษ์ : ผมว่าในขณะเดียวกันก็ควรจะให้เห็นว่าการที่ ส.ว.เลือกนายกได้มันเป็นผลเสียยังไงถ้าเรามีบันทึกอะไรบางอย่าง มันก็เป็นที่มาของการทําหนังนี้เหมือนกัน คือการทําหนังเรื่องนี้มันมีหลายเหตุผล เหตุผลนี้ก็เป็นหนึ่งในหลายเหตุผลนั้นเหมือนกัน เพื่อที่จะบันทึกไว้ไม่ให้เราลืม
“มันไม่ใช่ซ้ายขวาแต่เป็นบนล่าง”

โปรเจกต์นี้เปลี่ยนแปลงมุมมองหรือความคิดไหม / เรื่องอะไร
ธนกฤต : เปลี่ยนหลายอย่างครับ อันแรกคือ มันมีหลายช่วงในการทําหนังเรื่องนี้ที่รู้สึกว่าทําไมทุกอย่างมันยากไปหมดเลยทุกขั้นตอน ตอนแรกก็เข้าใจว่ามันคงเป็นเพราะสกิลเราที่ไม่เคยทําอะไรอย่างนี้ซึ่งก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่รู้สึกสรุปได้ว่ามันยากก็เพราะ “มันยังไม่เคยมี” หมายถึงทุกคนในทุก ๆ ฝ่าย ยังไม่เคยรับมือกับสิ่งนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนให้ทุน คนจัดจำหน่าย โรงฉายหนัง กองเซนเซอร์หรืออะไรก็ตาม แม้กระทั่งคนที่เราไปมีความสัมพันธ์ด้วยเขาก็ไม่รู้จะดีลกับสิ่งนี้ยังไงเพราะว่ามันยังไม่เคยมี สมมุติเราไปขอคนในพรรคถ่าย เขาก็จะไม่เก็ทว่าเรากําลังพยายามทําอะไรอยู่
เอกพงษ์ : ถ่ายอะไรตั้งเป็นปี นึกว่าเป็นสกู๊ปข่าวแบบ 5 นาที
ธนกฤต : เราก็รู้สึกว่าเขาไม่เก็ทเพราะเราอธิบายไม่ดีหรือเปล่าหรือแบบเราไม่เก่งพอ แต่พอได้เรียนรู้มันก็คือสิ่งที่ยังไม่เคยมีก็เลยยากไปหมดทุกเปอร์เซ็นต์ กับอันที่สองคือ ระหว่างทางที่ทํามาทั้งหมดเราเจอคนเยอะมาก แล้วเราก็เจอคําแนะนําอะไรเยอะมาก ๆ ซึ่งก็เป็นคําแนะนําที่ดีทั้งนั้นเลยนะ อย่างช่วงถ่ายก็แนะนําให้ทําอย่างงี้ ช่วงตัดก็ตัดแบบนี้สิ หรือขอทุนก็ขออันนี้สิ ส่งไปเทศกาลนี้สิ ซึ่งทุกครั้งที่ผมได้ฟังก็เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันมาจากคนที่เราเชื่อเขาอยู่แล้ว แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือมันไม่มีใครรู้อะไรหรอก หมายถึงว่าในเมื่อหนังมันไม่ใช่หนังเรื่องเดิม เวลาไม่ใช่เวลาเดิม คนทําไม่ใช่คนเดิม มันไม่มีใครตอบได้อย่างแม่นยำหรอก ว่าหนังเรื่องนี้ควรจะไปฉายที่ไหน ควรจะตัดยังไง ควรจะเล่าเรื่องอะไร

เอกพงษ์ : หรือฉายเมื่อไหร่ มีบางคนก็บอกว่าควรฉายก่อนเลือกตั้งดีสุดแล้ว พอหลังเลือกตั้งก็ฉายก่อนเลือกนายกดีสุดแล้วอะไรอย่างนี้
ธนกฤต : แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือมันไม่มีใครรู้หรอกสุดท้ายเราจะเจอคําตอบของแต่ละกระบวนการเอง
เอกพงษ์ : ผมรู้สึกว่าตั้งแต่ที่ทํามา 6 ปี สิ่งที่ผมเห็นก็คือ “ความหวัง” ความหวังที่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาถึง แล้วคนที่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาถึงก็มักจะรู้สึกว่าอยากให้มันเกิดขึ้นเลยเกิดขึ้นทันทีในระดับเดือน แล้วผมก็เห็นเหมือนกับว่าความหวังนั้นมันถูกบดขยี้ ซึ่งไอ้ความหวังที่มันถูกบดขยี้ก็จะแปรเปลี่ยนไปเป็นความโกรธ ความโกรธนี้มันก็ออกมาเป็นการไปลงถนนหรืออะไรต่าง ๆ นานา เพื่อที่หวังจะให้การเปลี่ยนแปลงมาถึงในเร็ววันในรุ่นของเรา มันก็เลยทําให้ผมเรียนรู้ว่าในที่สุดแล้วการลงถนนมันก็ไม่ได้ทําให้อะไรเปลี่ยนมากนัก แถมตอนนี้นักกิจกรรมหลายคนก็ยังถูกจับเข้าคุก ผมรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด แต่ใจนึงผมก็รู้ว่ามันจะมาถึง ดังนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ “ต้องมีความอดทนที่จะรอให้มันถึงวันนั้น” แต่ก็ไม่ใช่ว่าอดทนแบบอยู่เฉย ๆ นะ เราก็ต้องทําอะไรที่เราพอจะทําได้อยู่บ้าง เช่น เราเป็นนักทําหนังเราก็เราก็ทําหนังไป เพียงแต่ว่าการรีบร้อนมันไม่ได้ช่วยให้มาถึงเร็วขึ้นก็ต้องพูดกันตรง ๆ เพราะก็มีนักกิจกรรมหลายคนเหมือนกันนะที่ไม่สามารถรอการเปลี่ยนแปลงให้มาถึงได้
ธนกฤต : ผมจะเสริมนิดนึงว่าเป้าหมายของทุกคนเป็นเป้าหมายเดียวกัน แต่ว่าวิธีการมันต่างกัน ไม่ได้มีวิธีการไหนที่ผิด ทุกคนก็เลือกทางของตัวเองเลยมันไม่ใช่ความรู้สึกว่าเขาเลือกทางที่ผิด แต่เราแค่เสียดายแทนว่าอยากให้อดทนรออีกสักหน่อย อีกอย่างนึงคือในเมื่อเรารู้แน่ ๆ ว่ามันมาถึงไม่เร็ว ฉะนั้นกําลังใจระหว่างทางก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ผมเรียกรวม ๆ ว่า “มันคือความหวังกับความอดทน”
บทสนทนาเชิงลึกกับสองผู้กำกับหนังสารคดี Breaking The Cycle
/
ถ้าเอ่ยชื่อของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้กํากับเจ้าของ ฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” ที่นอกจากหนังของเขาจะเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย และถึง พร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่อัลโมโดวาร์หลงใหลในศิลปะอย่างลึก ซึ้ง ทําให้มักจะมีงานศิลปะปรากฏให้เห็นในหนังของเขาอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากเขาจะหยิบงาน ศิลปะเหล่านั้นมาใช้ในหนังเพราะความหลงใหลและรสนิยมส่วนตัวอันวิไลของตัวเองแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผลงานศิลปะเหล่านั้นยังทําหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบเนียน
/
ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร
/
ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง
/
Inside (2023) หนังทริลเลอร์จิตวิทยาของผู้กำกับสัญชาติกรีซ วาซิลลิส แคตซูพิส (Vasilis Katsoupis) ที่เล่าเรื่องราวของของนีโม (วิลเลียม เดโฟ) หัวขโมยที่ลักลอบเข้าไปในเพนท์เฮ้าส์สุดหรูของสถาปนิกชื่อดัง เพื่อขโมยงานศิลปะราคาแพงที่สะสมอยู่ในนั้น แต่ดันบังเอิญโชคร้ายถูกระบบนิรภัยขังอยู่ภายในคนเดียว ท่ามกลางงานศิลปะที่อยู่รายรอบ จนเขาต้องหาทางเอาชีวิตรอดอยู่ข้างใน โดยอาศัยข้าวของรอบตัว หรือแม้แต่งานศิลปะที่อยู่ในนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือก็ตาม เรียกได้ว่าเป็น Cast Away เวอร์ชันอาชญากรก็ได้
/
ฮ่องกง เมื่อราวสิบยี่สิบปีก่อน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองมาก ๆ ในฐานะประเทศที่ส่งออกภาพยนตร์ออกสู่สายตาของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ต่อสู้กำลังภายใน ภาพยนตร์มาเฟีย หรือแม้แต่ภาพยนตร์ชีวิตที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งของหว่องกาไว จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมฮ่องกง แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ความคึกคักของภาพยนตร์ฮ่องกงเริ่มเงียบเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ จนแฟนหนังฮ่องกงหลายคน ออกปากบ่นคิดถึงความรุ่งเรืองในอดีต ดังนั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ความนิยมระดับ 100 ล้านเหรียญฮ่องกง ของภาพยนตร์อาชญากรรมอย่าง A Guilty Conscience ขึ้นมาแล้ว แสงที่เคยริบหรี่ก็อาจจะกลับมาสว่างไสวขึ้นมาอีกครั้ง
/
นักธุรกิจชั้นนำหลายคนใช้เวลาว่างจากการทำงานไปกับความหลงใหลที่แตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการท่องเที่ยวทั่วโลก บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการล่องเรือตกปลา ขับรถซูเปอร์คาร์ หรือปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แต่มีนักธุรกิจผู้หนึ่งที่มีความลุ่มหลงที่แปลกแตกต่างออกไป เขาผู้นี้คือนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ผู้บริหารรุ่นที่สองของ โก๋แก่ แบรนด์ถั่วอบกรอบระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ ผู้หลงใหลในการทำหนังอย่างเข้าเส้น ลงลึกถึงกระดูกดำจนลุกขึ้นมาตั้งค่ายหนังอิสระของตัวเองในนาม โก๋ฟิล์ม ฝากผลงานหนังมันส์ๆ ดิบๆ ห่ามๆ ไม่แคร์ตลาด ไม่แยแสรางวัล ประดับวงการมาแล้วหลากหลายเรื่อง
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )