ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา คนไทยคนแรกผู้คว้ารางวัล Royal Academy Dorfman Award ระดับโลก | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา หรืออาจารย์จก สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio ในปี พ.ศ.2546 และดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานที่สร้างชื่อเสียงในระดับสากลได้แก่ โครงการ Kantana Film and Animation Institute ที่ฟื้นชีวิตให้กับอิฐ และชุมชนโรงเผาอยุธยาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีโครงการ The Wine Ayutthaya และล่าสุด Elephant World ที่จังหวัดสุรินทร์ ผลงานที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคือโครงการ The Artisans Ayutthaya และ Mangrove Forest Conservation Learning Center อาจารย์บุญเสริมเป็นสถาปนิกไทยคนแรกผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจาก The AR+D AWARDS for Emerging Architecture 2011 และอีกหลายรางวัลจากวงการออกแบบระดับสากล เเละในปีนี้ยังเป็นผู้ชนะเลิศรางวัล The Royal Academy Dorfman Award 2019 นับเป็นสถาปนิกไทยคนเเรกที่ได้รับรางวัลนี้ ส่วนในประเทศไทย อาจารย์บุญเสริมได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรมจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ในปี 2562 นี้

Photographer:
Tanapol Kaewpring

Writer:
Nada Inthaphunt

Website:
www.bangkokprojectstudio.com

Facebook:
BangkokProjectStudio,
boonsermjok.premthada

Instagram:
boonserm_premthada

EMBRACING ALL FOR ALL
ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา คนไทยคนแรกผู้คว้ารางวัล Royal Academy Dorfman Award จากการใช้บทบาทของสถาปนิกสร้าง NEXT ARCHITECTURE จากความจริงใจที่สามารถสัมผัสได้ในตัวผลงาน

ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถือเป็นเดือนที่ผลงานของ ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา ผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio ได้ถูกจับตามองจากวงการออกแบบมากที่สุดช่วงหนึ่ง ด้วยจังหวะเวลา และผลงานที่แสดงถึงจุดยืนอย่างมั่นคงต่อเนื่องมาโดยตลอด ได้นำพาเขาไปสู่การแสดงผลงานกลางเวทีโลก พร้อมรับรางวัลจากราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Academy of Arts) และความมุ่งมั่นเดียวกันได้ส่งให้เขากลับมารับรางวัลอันทรงเกียรติในบ้านเกิดอย่างรางวัลศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รางวัลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งสะท้อนจากผลงานสถาปัตยกรรมของอาจารย์บุญเสริม ที่ได้ก่อปฏิสัมพันธ์ไว้กับบริบทในทุกกระบวนการ และส่งผลออกสู่วงกว้าง

“ผมสามารถจะทำอะไรให้กับประเทศไทย อันเป็นที่รักของผมบ้าง?”
   ประโยคเริ่มต้นที่ ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา ใช้ในห้องจูรี่เพื่อพรีเซนต์ในรอบ Finalist ของการชิงรางวัล Royal Academy Dorfman Award ต่อหน้าคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วย Alan Stanton OBE RA, Phyllida Barlow RA, Ricky Burdett, Louisa Hutton OBE RA, Lesley Lokko, Kristy Wark รวมถึงผู้ชนะของปีที่แล้ว Alireza Taghaboni จากอิหร่าน และสถาปนิกผู้ชนะรางวัล Royal Academy Architecture Prize อย่าง Elizabeth Diller และ Ricardo Scofidio เข้าร่วมในห้องตัดสินประจำปีนี้

BRICK TOWER

   ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา หรืออาจารย์จก ถูกหล่อหลอมสัญชาตญาณความเป็นสถาปนิกมาตั้งแต่เล็ก จากการเรียนรู้การทำงานของพ่อ ผู้เป็นช่างไม้ที่ต่อมากลายเป็นผู้รับเหมา จากนั้นได้รับการฝึกฝนวิชาชีพความเป็นช่างอย่างมีหลักการจากอุเทนถวาย เมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัยเขาได้มีโอกาสซึมซับสุนทรียภาพ รู้จักความละเอียดอ่อนจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้วิธีจัดระเบียบความคิดอย่างเป็นระบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นหลังจบการศึกษาแล้วจึงสวมทั้งตำแหน่งอาจารย์ และผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio ในปี พ.ศ. 2546 ขึ้นมาจากความเป็นมาในวัยเด็ก ผสมกับกระบวนการเรียนรู้จากระบบการศึกษา ประกอบกับการโดนพิษวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้ต้องปรับตัวและมองเห็นความสำคัญของกลุ่มคนใกล้ตัวมากขึ้น องค์ประกอบต่างๆ ส่งผลต่อพื้นวิสัยทัศน์สำหรับการตั้งคำถามก่อนการทำวิจัยโปรแกรม ก่อนเป็นเหตุและผลของการออกแบบในแต่ละโครงการ ซึ่งกระบวนการก่อนเริ่มการออกแบบได้กลายเป็นสาเหตุหลักในการตัดสินใจรับทำงานของอาจารย์บุญเสริมด้วยเช่นกัน

   “ถ้างานมีตัวโปรแกรมที่ดี แนวโน้มของงานสถาปัตยกรรมก็สามารถทำออกมาให้ดีได้ แต่ถ้ามีโปรแกรมที่ไม่ชัดเจน และมีลักษณะเหมือนๆ กัน นั่นจะเป็นการยากที่จะทำให้งานออกมาน่าสนใจ อีกอย่างหนึ่งคือตัวเจ้าของโครงการต้องเปิดโอกาสให้ผมได้ทำ Research เพราะวิธีการได้มาของโปรแกรมนั้นจะมาด้วยจากการวิจัย จะเป็นเหตุและผลของการตอบคำถาม การตั้งคำถามต่างๆ”

KANTANA FILM AND
ANIMATION INSTITUTE

  “เป้าหมายของสถาปัตยกรรมใช่แค่เพียงการออกแบบให้ผู้อาศัยอยู่สบาย หรือสนองตอบการใช้งานตามโจทย์เท่านั้นจริงหรือ? คุณค่าของสิ่งก่อสร้างหนึ่งเป็นไปได้มากกว่าสิ่งที่สัมผัสได้จากภายนอกหรือไม่?” คำถามการมีอยู่ของสถาปัตยกรรมอาจกำลังสะท้อนบทบาทของสถาปนิกกับภาวะปัจจุบัน ซึ่งอาจมีส่วนร่วมกำหนดคุณค่าของสถาปัตยกรรมให้มีอยู่เกินกว่าหน้าที่ และความงามที่อาศัยสุนทรียภาพอันรวมความไม่คาดคิดเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของมันได้
  “งานของผมจะไม่ใช่ลักษณะงานเพื่อชีวิต เวลาผมทำงานสถาปัตยกรรมผมจะคิดถึงผลกระทบต่อส่วนรวม และทุกคนนั้นมีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของสถาปัตยกรรม ให้สถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติสาธารณะ ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ และหาประโยชน์จากมันได้ นั่นคือเป้าหมายหลัก” อาจารย์บุญเสริมขยายความเข้าใจต่อผลงานด้วยจุดประสงค์ในการเกิดแต่ละงาน
  เมื่อกลับมามองวิธีการพิจารณารางวัลของ Royal Academy Dorfman Award นั้น ใช้เกณฑ์การตัดสินจากรูปแบบการทำงานลักษณะ Body of Work คือเนื้องานที่เริ่มทำมาตั้งแต่ งาน Kantana Film and Animation Institute ที่นครปฐม งาน The Wine Ayutthaya และ งาน Elephant World ที่สุรินทร์ รวมถึงงาน Research เรื่อง Sound Brick ที่มีความต่อเนื่อง เห็นความเชื่อมโยงขององค์รวมเดียวกัน และสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หนักแน่นในความเชื่อมั่นของตนเอง ในภาพรวมของธีมงาน “Architectural Futures” ประจำปีนี้ เชื่อได้ว่าหากผลงาน The Artisans Ayutthaya ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างในขณะนั้นสามารถนำเสนอได้ อาจจะยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับรางวัลที่สมควรได้รับในคราวนี้อีกแน่นอน

The Wine Ayutthaya

   สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการสามารถสัมผัสได้ ระหว่างการนำเสนอแต่ละงานของอาจารย์บุญเสริมคือความจริงใจ และซื่อสัตย์ต่อความเชื่อมั่นของตนเองที่สามารถสร้างให้เกิดได้ในแต่ละโครงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อแต่ผสมอยู่ในงาน และผลกระทบของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั่นเอง
   “สิ่งที่สำคัญของสถาปัตยกรรมนั้นต้องเดินทางมาดูด้วยตนเอง ไม่มีทางที่ดูรูปถ่ายแล้วจะสัมผัสได้ นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้สถาปัตยกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเมือง ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าคณะกรรมการอาจเล็งเห็นจุดนี้”
   “สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คณะกรรมการเล็งเห็นถึงความ Originality ของงาน ซึ่งไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ด้วยการเริ่มต้นของการ Research เป็นระบบการ Research ที่แตกต่างจากผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นแบบแผนจากที่เรียนมา แต่เป็นการต่อยอดมาจากสิ่งที่เรียนหนังสือมาแล้ว”
   ความโดดเด่นเดียวกันนี้อาจสามารถแสดงให้เห็นถึงโอกาสการพัฒนาสถาปัตยกรรม และทิศทางของประเทศไทยจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใดต่อ

MANGROVE FOREST CONSERVATION LEARNING CENTER,
THAI RED CROSS SOCIETY

โครงการต่อไป
   โครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างต่อไปของอาจารย์บุญเสริม จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างคนกับสัตว์ แต่จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับคน จากรายงานการวิจัยได้แสดงผลการลดลงของป่าชายเลนทำให้น้ำทะเลนั้นท่วมสูงขึ้นทุกปี ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนของสภากาชาดไทย จะเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อมป่าชายเลนฝั่งสมุทรปราการ โดยมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างจากโครงการตามป่าชายเลนทั่วไป
   นอกจากสถาปัตยกรรมจะอำนวยพื้นที่การเรียนรู้ผ่านการศึกษาแล้ว คำถามขั้นถัดไปของอาจารย์บุญเสริมคือ “ทำอย่างไรที่จะกระตุ้นให้เกิดการซึมซับเข้าไปในจิตใจของคน และให้เข้าใจว่าสถาปัตยกรรมนั้นจะอยู่ร่วมกันกับป่า สัตว์น้ำ สัตว์ปีก องก์ประกอบของป่าชายเลนสมบูรณ์ขึ้นได้อย่างไร?”

   “ผมมีเป้าหมายในปัจจุบันที่จะสร้างสถาปัตยกรรมให้เป็นมากกว่าการใช้งาน คือสามารถกระตุ้นคนให้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคนเอง หรือระหว่างสิ่งแวดล้อม และความแตกต่างกันในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้มันสามารถหลอมรวมกันได้” อาจารย์บุญเสริมกล่าวถึงสิ่งที่ตั้งเป็นคุณค่าการสร้างงานในงานปัจจุบัน
   การเกิดสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้นนั้นเป็นสิ่งที่ใช้เวลา กว่าจะสร้างเสร็จครบกระบวนการใช้เวลา 4-5 ปี และเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะทำนายการเกิดหน้าตาของมันไปก่อนล่วงหน้า การออกแบบหน้าตาอาคารคือช่องว่างที่อำนวยให้ผู้ออกแบบสามารถใส่สุนทรียภาพที่สร้างความเป็นมนุษย์มากขึ้น
   สิ่งที่อาจารย์บุญเสริมตระหนักถึงปัญหาหลักในสังคมปัจจุบันมักเกิดขึ้นจากคนเริ่มขาดความเป็นมนุษย์ ด้วยความที่คนมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีมากกว่าพวกเดียวกัน ทำให้สังคมเริ่มอยู่ไกลจากจิตใจพื้นฐานความเป็นตัวเอง “เป้าหมายที่ผมสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อต้องการให้คนกลับมามีความเป็นมนุษย์ ที่ใช้อาคารได้อย่างเห็น รู้ เข้าใจ และมีความรู้สึก เช่นเดียวกับอาคารที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วต้องการจะถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ผ่านอาคารออกไป”
   แนวคิดทางสถาปัตยกรรมของอาจารย์บุญเสริมนั้นไม่ใช่การต่อต้านหรือปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี และไม่ได้มีความสุดโต่งเรื่อง Sustainability จุดตรงกลางของทั้งสองสิ่งของเขาคือการสร้างสมดุลระหว่างกัน
   “Next Architecture ของผมคือการ Balance ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าหากัน” “แนวคิดสถาปัตยกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจโน้มน้าวให้ผู้คนมาเชื่อตามได้ แต่ผมคิดว่าได้สร้างสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่โลกกำลังทำอยู่ ด้วยวิธีการและความคิดเห็นของผม”

เป้าหมายสูงสุดของบุญเสริม เปรมธาดา
   สิ่งที่ขับเคลื่อนการทำงานของอาจารย์บุญเสริมอาจเป็นพลังความเชื่อจากสิ่งที่เขาได้ทำเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบของตนเอง
   “ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมที่ผมกำลังทำอยู่นั้นจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน ชีวิตของเมือง และวิถีชีวิตของเมืองในทางที่ดีขึ้น” ดังนั้นขั้นตอนการดำเนินงานของเขามักสอดแทรกสิ่งที่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จากวงล้อมการทำงานสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณการก่อสร้าง เรื่องของการสร้างงาน การสร้างรายได้ เรื่องที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ที่มักถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะธรรมชาติ สัตว์หรือคนไม่ว่าอยู่ในระดับไหน
   “สถาปัตยกรรมจึงเป็นตัวสำคัญในการจะเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าหากัน ทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่ที่สถาปัตยกรรมตั้งอยู่นั้นๆ ได้” การขยายวงจากหน่วยที่เล็กที่สุดออกไปนั้น ได้แสดงถึงความสำคัญของความเกื้อกูลกันที่ได้อธิบายความแตกต่างของงานที่ออกแบบโดยอาจารย์บุญเสริม
   “นี่คือสิ่งที่ผมตั้งเป้าหมายให้สถาปัตยกรรมเดินทางไปสู่ แต่ไม่สามารถจะตอบได้ว่าเมื่อไหร่ สถาปนิกเองนั้นไม่สามารถจะตอบได้ ผู้ที่จะตอบสิ่งต่างๆ ได้ดีคือทุกคนที่เข้ามาใช้ แล้วมีความรู้สึก มีความเข้าใจและเห็นความจำเป็น คนในพื้นที่นั้นเห็นความจำเป็นว่าจะต้องมี เมื่อนั้นสถาปัตยกรรมจึงมีบทบาท”

   “ผมคิดว่าในอนาคตสิ่งที่ผมคิดอาจเป็นเป้าหมายหลักของโลก ของพื้นที่ในหลายๆ พื้นที่ที่ต้องการการพัฒนาในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะพื้นที่ในประเทศไทยที่เรายังต้องการการพัฒนาในเรื่องนี้อีกมาก”
   เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างคือสิ่งแวดล้อม บทบาทของสถาปนิกจึงขยายตัวออกไป ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจทำได้ทุกเรื่อง “สิ่งสำคัญคือสถาปนิกอาจจะเป็นคนเริ่ม และชี้ให้เห็นถึงประเด็น ปัญหาสำคัญของสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้คนนั้นเห็นและตระหนัก เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่ทางที่ดีขึ้นในโอกาสต่อไป” อาจารย์บุญเสริมอธิบายถึงบทบาทที่ตั้งไว้ในวิชาชีพของตน “นี่อาจเป็น Next Step ของวงการ”

The Artisans Ayutthaya

   ตัวอาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา เป็นตัวอย่างที่ดีของความหนักแน่นในการทำความเข้าใจเนื้องาน ผ่านการทำ Research ที่เป็นการตกตะกอนการต่อยอดทางความคิดจากแต่ละสถาบัน และพื้นฐานเดิม กลายเป็นกระบวนการเรียนรู้เฉพาะตนที่กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับโลกแล้ว ในขณะที่ตัวงานสถาปัตยกรรมของเขา ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายในฐานะสถาปนิก ผู้ทำงานสถาปัตยกรรมอันจะสร้างผลกระทบให้กับสังคม รวมถึงผู้ที่มักถูกมองข้ามได้อย่างลึกซึ้ง เป็นความกลมกล่อมในการบอกเล่าเสน่ห์ของบริบทออกมาจากจุดที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ และต่างถิ่นได้สัมผัสผ่านตัวกลางของสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ใช้ภาษาในท้องที่บอกเล่าวิถีชีวิตที่มีมาก่อน ทั้งยังสื่อสารได้ถึงรายละเอียดพื้นฐานวิสัยของถิ่นและผู้คน ที่ในบางครั้งถูกมองว่าเป็นจุดด้อยให้กลายมาเป็นจุดเด่นได้อย่างเป็นเอกลักษณ์
   เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสองบทบาทที่อาจารย์ ดำรงอยู่ในฐานะสถาปนิก และมอบไว้ให้ในสังคมไทย คือการให้โอกาสกับทุกคนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในแบบตนเอง ตามใจความที่อาจารย์ให้ไว้ในตอนท้ายของการนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการของ Royal Academy of Arts แล้วเอาชนะผู้เข้ารอบด้วยประโยคการพรีเซนท์ว่า
   “นี่แหละคือสิ่งที่ผมจะทำให้กับประเทศไทยอันเป็นประเทศที่รักของผม”

    TAG
  • บุญเสริม เปรมธาดา
  • Bangkok Project Studio
  • WHAT'S NEXT
  • architecture

ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา คนไทยคนแรกผู้คว้ารางวัล Royal Academy Dorfman Award ระดับโลก

ARCHITECTURE/Architecture
5 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/Architecture

    SANS STUDIO BANGKOK by PHTAA LIVING DESIGN สตูดิโอที่สร้างเอกลักษณ์ภายนอก จากการนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ฟังก์ชั่นภายใน

    กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในซอยจ่าโสด เมื่อเราได้พบกับอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเรียบเท่ที่เต็มไปด้วยไดนามิคของเส้นสาย ส่วนคว้านโค้งซึ่งออกแบบมาเพื่อฟังก์ชั่น และเพื่อแสงธรรมชาติ เป็นอาคารโทนสีขาวสะอาดตาแต่ทำให้เราไม่อาจละสายตา กับเอกลักษณ์ดีไซน์ของอาคารที่ทอดตัวยาวพร้อมมีประภาคารเล็ก ๆ นี่คือ SANS STUDIO BANGKOK สตูดิโอแห่งใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าของผู้สนใจในงานสถาปัตยกรรมและศิลปะการถ่ายภาพ หลังจากเรียนจบมาจากฝรั่งเศส โดยให้เป็นสตูดิโอที่รองรับงานถ่ายภาพ โปรดัคชั่น จนถึงอีเวนต์ ที่ได้ทาง PHTAA LIVING DESIGN มาเป็นบริษัทสถาปนิกออกแบบให้

    EVERYTHING TEAMa year ago
  • DESIGN/Architecture

    “สถาปนา/สถาปัตยกัม” นิทรรศการแห่งการเฉลิมฉลอง 90 ปี ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะสถาปัตยกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการเปิดให้เรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อตั้งโดย อาจารย์นารถ โพธิประสาท ในปี พ.ศ. 2476 และมีการเปิดใช้ตึกคณะสถาปัตยกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มี “ประกาศปรับปรุงอักสรไทย” ขึ้นเพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง ชื่อคณะสถาปัตยกรรม จึงถูกเปลี่ยนแปลงและใช้ชื่อว่า คณะสถาปัตยกัม อยู่นานถึงสองปี ก่อนจะมีการกลับมาใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง (หลังจบสงคราม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 เป็นต้นไป

    EVERYTHING TEAMJuly 2023
  • DESIGN/Architecture

    MIRIN HOUSE by AAd - Ayutt and Associates design

    นี่ไม่ใช่บ้านที่ออกแบบตามค่านิยมทั่วไป เพราะจะมีบ้านหลังไหนที่ต้องเดินลัดเลาะผ่านเส้นทางคดเคี้ยวและบันไดสูงเหมือนเดินขึ้นภูเขาก่อนเข้าถึงตัวบ้าน อีกทั้งในเวลาฝนตกอาจต้องยอมเดินเปียกปอน ผ่านแลนด์สเคปซับซ้อน ที่ทำให้เรามีเวลามากขึ้นกับการซึมซับบรรยากาศรอบตัวผ่านทุกประสาทสัมผัส บ้านในเมืองหลังไหนที่จะรองรับการขยายพื้นที่สีเขียวได้มากเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญไม่ได้มุ่งเน้นแค่การสร้าง
สุนทรียภาพเฉพาะสำหรับผู้อยู่อาศัย แต่ยังคำนึงถึงผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียงด้วย เรากำลังพูดถึงบ้าน Mirin House ออกแบบโดย AAd - Ayutt and Associates Design ที่ให้ความเป็นส่วนตัว กับการสอดแทรกธรรมชาติสู่การอยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องยึดติดรูปแบบบ้านล้อมคอร์ต และกล้าออกนอกกรอบแนวคิดการออกแบบบ้านทั่วไป ซึ่งนี่อาจเป็นตัวอย่างที่จะทำให้เจ้าของบ้านหรือสถาปนิกในวงการได้เปิดมุมมองการออกแบบใหม่ ๆ
 ต่อขยายเรื่องของประสบการณ์ ประสาทสัมผัส ธรรมชาติ และความงามของการอยู่อาศัยที่หลับตาแล้วยังสัมผัสได้ถึงมันอยู่

    EVERYTHING TEAMMay 2023
  • DESIGN/Architecture

    SIR DAVID ADJAYE OBE การสร้างเรื่องเล่าจากการเปลี่ยนแปลงของ RIBA Royal Gold Medal ประจำปี 2021

    เป็นประจำของทุกปีที่ Royal Institute of British Architects (RIBA) จะประกาศชื่อสถาปนิกรับเหรียญเชิดชูซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยตรง ซึ่งเป็นกิจกรรมเริ่มต้นมาก่อนรัชสมัยของพระองค์ตั้งแต่ปี 1848 ให้แก่สถาปนิกที่มีทั้งอิทธิพลและมีชื่อเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งผู้รับรับเหรียญทองประจำปี 2021 นี้คืออัศวินด้านสถาปัตยกรรมผู้เพิ่งได้รับการแต่งตั้งยศในปี 2017 ได้แก่ Sir David Adjaye OBE

    Nada InthaphuntJune 2021
  • DESIGN/Architecture

    Goose Living บูติกโฮเทลและคาเฟ่แห่งใหม่ย่านสุขุมวิท กับแนวคิด “Living a goose life”

    จากโมเมนต์ประทับใจในสวนสาธารณะกลางมหานครนิวยอร์ก นำมาสู่ “GOOSE Living” บูติกโฮเทลและคาเฟ่สไตล์โมเดิร์นทรอปิคัลใจกลางย่านสุขุมวิท ผลลัพธ์จากการตีความการพักผ่อนรูปแบบใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Living a goose life...wild, fresh and free” ที่ชวนทุกคนมาใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่าย ยืดหยุ่น แต่แฝงด้วยมุมมองที่กล้าจะทดลองประสบการณ์ใหม่

    EVERYTHING TEAMMarch 2021
  • DESIGN/Architecture

    Kyoto Institute of Technology '60th Anniversary Hall' Blending steel sheet by monocoque architecture

    สถาปัตยกรรมแบบทั่วไปประกอบด้วยองค์ประกอบที่มาจากเสา คาน ห่อด้วยผนังที่มีเปลือกตามสมัยนิยม นิยามของผนังคือระนาบกั้นระหว่างภายนอกและภายใน หรือภายในด้วยกันเอง ทำหน้าที่แบ่งพื้นที่และปกป้องสเปซภายใน ระนาบผนังวางตัวในแนวตั้งอยู่ระหว่างพื้น เพดาน ในขณะที่ผนังภายนอกถูกแยกออกด้วยระนาบพื้นและหลังคา ในบางส่วนของงานสถาปัตยกรรมแบบ Postmodern architecture มีความพยายามจะสลายระนาบต่าง ๆ เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

    Xaroj PhrawongJuly 2020
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )