LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING



นิทรรศการ BLISS
ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Generative AI สามารถสร้างสรรค์ภาพเหมือนจริงราวกับภาพถ่ายโดยช่างภาพมืออาชีพ หรือภาพวาดโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญ จากคําสั่งของผู้ใช้งาน และความชาญฉลาดของระบบสมองกล จนทำให้เกิดการตั้งคําถามว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือสมองกล จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์ “ภาพ” แทนที่มนุษย์ได้หรือไม่?
ในโลกศิลปะ มีศิลปินหลายท่านที่ทำการสํารวจประเด็นนี้ผ่านงานศิลปะ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “มิติ เรืองกฤตยา” ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่ทำงานในสื่อภาพถ่าย ผลงานของเขามักเป็นการสํารวจความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิทัศน์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมในเมือง ทั้งในแง่ของสังคม, การเมือง, และเศรษฐกิจ ในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาอย่าง BLISS มิติหันมาสํารวจความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสื่ออย่าง “ภาพถ่าย” ที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI นั่นเอง โดยมิติกล่าวถึงที่มาที่ไปของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“ชื่อนิทรรศการ BLISS มีที่มาจากภาพถ่ายวอลเปเปอร์ของคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟต์รุ่น Windows XP ที่เป็นรูปภูเขา, ทุ่งหญ้าสีเขียว, และท้องฟ้าสีสดใส ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคําถามว่า ภาพถ่ายนี้ ที่จริง ๆ แล้วเป็นหนึ่งในภาพที่ถูกคนดูเยอะที่สุดในโลก แต่กลับเป็นภาพที่ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ หรือถูกมองว่ามีคุณค่าในทางศิลปะด้วยซ้ำไป”
“ข้อเท็จจริงที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาพถ่ายนี้ก็คือ ชาร์ลส์ โอ’เรียร์ (Charles O’Rear) ช่างภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ที่ถ่ายภาพนี้โดยบังเอิญระหว่างที่เขากําลังขับรถไปหาแฟนในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เขาผ่านไปเห็นไร่องุ่นไวน์ที่โดนแมลงกินจนโกร๋นเหลือแต่ทุ่งหญ้าสีเขียว ซึ่งเป็นภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์นั่นแหละ เขาก็เลยถ่ายภาพเอาไว้ ผมเลยหยิบเอาชื่อของภาพถ่ายนี้มาใช้เป็นชื่อนิทรรศการและจุดเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้”
BLISS 3D (2023)
คำว่า BLISS ยังถูกใช้ในผลงานชิ้นแรกในห้องแสดงนิทรรศการชั้น 2 อย่าง BLISS 3D (2023) โดยมิติหยิบเอาคำนี้มาทำเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ แสดงบนหน้าจอโทรศัพท์ iPhone 6 ซึ่งเป็นเป็นโทรศัพท์รุ่นปี 2014 ปีเดียวกันกับที่ไมโครซอฟต์เลิกสนับสนุน Windows XP โลโก้ 3 มิติ ของนิทรรศการนี้ดู ๆ ไปก็ได้อารมณ์เหมือนเป็นสกรีนเซฟเวอร์ของ Windows อยู่ไม่หยอก
ส่วนงานฝั่งตรงข้าม BLISS 3D เป็นผลงาน Walker Evans, Sharecropper’s grave in Hale County, Alabama (1936) ที่มิติหยิบเอาภาพถ่ายขาวดำของช่างภาพชาวอเมริกันระดับตํานานในอดีตมาผลิตซ้ำขึ้นใหม่

Walker Evans, Sharecropper’s grave in Hale County, Alabama (1936)
“ผมสนใจในการดึงภาพถ่ายจากคลังเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างภาพถ่ายของ วอล์กเกอร์ เอแวนส์ (Walker Evans) ช่างภาพชื่อดังในยุค 30s - 40s ที่แสดงในนิทรรศการนี้ โดยผมดึงมาจากคลังเก็บภาพถ่ายของ Farm Security Administration - Office of War Information Photograph Collection ในคลังข้อมูลของหอสมุดรัฐสภา (Library of Congress)”
“ภาพนี้ถูกถ่ายในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) วอล์กเกอร์ เอแวนส์ มีความสนใจในการถ่ายภาพภูมิทัศน์ของอเมริกาในยุคนั้นผ่านมุมมองของสังคม ตัวภาพก็มีความน่าสนใจ เหมือนการจัดวางอะไรสักอย่างในหลุมศพ ที่ถูกทำขึ้นมาง่าย ๆ เพื่อพูดถึงความตาย ตัวดินหรือทรายที่อยู่ในภาพ ในอีกแง่นึงก็สื่อถึงการเกิดใหม่ ซึ่งก็เหมาะกับความสนใจของผมในแง่ชีวิตของภาพถ่าย”
Sunset Sunrise Overture (2023)
ตามมาด้วยผลงาน Sunset Sunrise Overture (2023) ผลงานวิดีโอจัดวางสองชิ้น ความยาว 12.50 นาที แสดงภาพพระอาทิตย์ขึ้นและตกผ่านภูมิทัศน์ที่ดูคลับคล้ายคลับคลากับภาพวอลเปเปอร์ของคอมพิวเตอร์อยู่ไม่น้อย
“วิดีโอบันทึกภูมิทัศน์ที่ว่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงการที่มนุษย์สามารถปรับแต่งภูมิทัศน์ให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเองได้ และภาพนี้เอง ถ้าไม่บอก เราก็สามารถดูให้เป็นที่ไหนก็ได้ ส่วนวิดีโอนี้เอง ถ้าดูผ่าน ๆ ก็สามารถดูเหมือนเป็นภาพนิ่งได้ ทั้ง ๆ ที่ภาพเคลื่อนไหวอยู่ ถ้าดูในวิดีโอจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตก และพื้นที่ที่ติดตั้งจอวิดีโอนี้ภายในตึกก็หันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตกพอดี ซึ่งทำให้ผลงานชิ้นนี้เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย”
Variations of a Hill op.1 (2022)
ต่อด้วยผลงาน Variations of a Hill op.1 (2022) ชุดภาพต่อเนื่องจำนวน 90 ภาพ ที่มิติใช้โปรแกรม AI สร้างขึ้น โดยมีภาพถ่าย BLISS ชาร์ลส์ โอ’เรียร์ เป็นฐานข้อมูลตั้งต้น
“ผลงานชุดนี้ผมทำขึ้นด้วยโปรแกรม AI โดยใช้แอพพลิเคชันสองแบบคือ แอพฯ Text-to-Image ที่แปลงภาพเป็นตัวหนังสือ และแอพฯ Image-to-Text ที่แปลงตัวหนังสือเป็นภาพ โดยผมเริ่มจากการแปลงภาพถ่ายให้กลายเป็นตัวหนังสือคําอธิบาย และใช้คําอธิบายนั้นแปลงออกมาเป็นภาพถ่ายอีกที แล้วก็ทำขั้นตอนนี้กลับไปกลับมาซ้ำไปเรื่อย ๆ คล้ายกับให้ AI สองตัวคุยกันไปเรื่อย ๆ จนเหมือนมันพาเราไปที่ไหนสักแห่ง โดยที่เราไม่รู้เลยว่าจะไปจบที่ไหน ซึ่งน่าสนใจตรงที่อยู่ดี ๆ ภาพก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปจนดูคล้ายกับภาพทะเลทราย ซึ่งเป็นภาพวอลเปเปอร์ของคอมพิวเตอร์ของ Windows XP อยู่เหมือนกัน ที่แปลกอีกอย่างก็คือ อยู่ดีๆ ก็มีคนโผล่ขึ้นมาในภาพตอนท้าย ๆ ด้วย เหมือนมีความบกพร่องบางอย่างที่ทำให้มีภาพคนปรากฏขึ้นมา”
ที่น่าสนใจก็คือ มิติจัดแสดงผลงานชุดนี้ด้วยการจัดเรียงภาพถ่ายทั้ง 90 ภาพบนแท่นแสดงงานแคบ ๆ ความสูงระดับสายตาก้มลงมองได้ แถมยังยาวเหยียดจนทะลุสามห้องแสดงงาน จนดูราวกับเป็นกําแพงขวางกั้นทางเดินของผู้ชมก็ไม่ปาน
“การตั้งแท่นแสดงภาพถ่ายแบบนี้เพราะผมรู้สึกว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นอะไรที่เราเรียกกันว่า Disruption ผมเลยตั้งใจวางแท่นให้แผ่ทะลุกลางสามห้องเพื่อขวางทางเดิน เหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้เรา Disrupt (หยุดชะงัก) ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมคิด ซึ่งอันที่จริงการ Disruption คือการเปลี่ยนวิธีการคิด หรือการกระทำที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้”

Variations of a Hill op.2 (2023)
ในห้องแสดงงานถัดไปยังมีผลงาน Variations of a Hill op.2 (2023) ซึ่งไม่มีผลงานให้เราได้ดูชมเลยแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะมันอยู่ในรูปของเสียงให้เราเงี่ยหูฟังต่างหาก
“ผลงานชุดนี้ผมทำต่อเนื่องจากงานชุด Variations of a Hill op.1 ที่แปลงภาพให้เป็นคําบรรยาย 90 ย่อหน้า ผมก็เอาคําบรรยายจำนวน 90 ย่อหน้ามาทำเป็นงาน โดยอัดเสียงของผมหนึ่งชั่วโมง และให้ AI โคลนเสียงของผม แล้วผมก็พิมพ์คําบรรยายเหล่านี้ให้ AI พูดด้วยเสียงผมออกมา และนำมาเปิดในห้องแสดงนิทรรศการ แต่ในจำนวนเสียงบรรยายนี้จะมีเสียงจริงที่ผมพูดแทรกอยู่ด้วย ผมอยากเล่นกับความแตกต่างระหว่างเสียงจริงกับเสียงสังเคราะห์ เพราะผมรู้สึกว่าตอนนี้เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเริ่มเลือนรางไปหมดแล้ว เหมือนที่มีช่างภาพเอาภาพที่สร้างโดย AI ไปส่งประกวดแล้วได้รางวัลชนะเลิศเป็นตัวอย่าง”
BLISS 01_Landscape 01, 10 (2022)
ในห้องแสดงงานด้านหลังยังมีผลงาน BLISS 01_Landscape 01, 10 (2022) ชุดภาพถ่ายที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่าย BLISS โดยนําเสนอภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ที่ถูกบันทึกซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งในจุดเดียวกัน แตกต่างกันที่วันและเวลา
“ผลงานภาพถ่ายชุดนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมสนใจมาตลอด คือการถ่ายภาพภูมิทัศน์ที่ถูกปรับแต่งโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในสภาพแวดล้อมในธรรมชาติหรือในเมือง ทั้งภาพของโครงการบ้านจัดสรร หรือคอนโดมิเนียม, ชุมชนในคลองเตย หรือภูมิทัศน์ของสนามกอล์ฟที่เขาใหญ่ ที่สิ่งต่าง ๆ ถูกดัดแปลงให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย ทั้งตำแหน่งของต้นไม้, สนามหญ้า, หรือทะเลสาบที่มีหงส์ลอยอยู่ ทุกอย่างถูกตั้งใจวางแผนเอาไว้ทั้งหมด”
BLISS 01_Landscape 01, 10_DREAM PROPERTY (2023)
ตามมาด้วยผลงาน BLISS 01_Landscape 01, 10_DREAM PROPERTY (2023) ที่นําภาพถ่าย BLISS 01_Landscape 01 มาดัดแปลงผ่านโปรแกรม AI โดยใส่ชื่อโครงการระยะยาวของศิลปินที่ว่าด้วยเมืองและภูมิทัศน์จากฝีมือมนุษย์เข้าไปประมวลผลด้วย
“ผมเอาภาพภูมิทัศน์เดียวกันไปใส่คําว่า DREAM PROPERTY ซึ่งเป็นชื่อโครงการศิลปะครั้งก่อนหน้าของผมให้ AI แปลงออกมาเป็นภาพ แล้วก็เอาภาพนี้ไปให้สตูดิโอภาพพิมพ์ The Archivist ทำเป็นภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนออกมา ที่ผมเลือกใช้เทคนิคนี้ ก็เพราะผมอยากพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีเก่าที่คนอาจจะมองว่าตายไปแล้ว กับเทคโนโลยีใหม่อย่างผู้สร้าง AI ChatGPT ที่ชื่อ OpenAI เนี่ย ความจริงผมว่าไม่ได้ Open เหมือนชื่อเลยนะ เพราะไม่มีใครรู้ว่ามันทำงานได้อย่างไร หรือทําไมมันถึงคิดออกมาแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ สำหรับอนาคตมันน่าเป็นห่วง และเป็นสิ่งที่เราต้องคิดใคร่ครวญให้ดี อีกอย่างคือ ผมอยากตั้งคําถามถึงความเป็นเจ้าของผลงาน ว่าถ้าให้คนอื่นสร้างงานให้ (ทั้งโปรแกรม AI และสตูดิโอภาพพิมพ์) แล้วงานยังเป็นของเราหรือเปล่า”
และผลงาน BLISS 02_Landscape (2022) ชุดภาพถ่ายภูมิทัศน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่าย BLISS ที่นําเสนอภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ที่ถูกบันทึกซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งในจุดเดียวกัน แตกต่างกันที่วันและเวลา แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาพถ่ายนี้ถูกพิมพ์ออกมาให้มีลักษณะคล้ายกับภาพจากจอมินิเตอร์ยังไงยังงั้น
“ผลงานชุดนี้มีความเชื่อมโยงกับผลงานชุดก่อนหน้า แต่ผมอยากให้ได้อารมณ์ของภาพนิ่งที่ดูเหมือนภาพเคลื่อนไหว ใช้ความเบลอที่ทำให้ภาพดูเหมือนจะขยับได้ บางคนดูแล้วบอกว่ารู้สึกเหมือนกําลังจะมีนกบินเข้ามา โดยทำให้ภาพถ่ายให้ความรู้สึกเหมือนจอมอนิเตอร์ ให้ดูมีความเหนือจริง ผมตั้งใจให้ภาพชุดนี้ผ่านกระบวนการแต่งภาพเยอะมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นภูมิทัศน์ที่ถูกปรับแต่งด้วยน้ำมือมนุษย์ ที่ถูกปรับแต่งอีกครั้งผ่านกระบวนการสร้างภาพถ่าย จนดูเหมือนสร้างภาพขึ้นมาจากโปรแกรมสามมิติ”
BLISS 01_Landscape 01, 10 (2022)
นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพถ่ายในชุด BLISS Landscape จำนวน 7 ภาพที่จัดแสดงโดยมีความตั้งใจให้ภาพถูกทำการตกแต่งภาพจนไปถึงจุดที่คนดูไม่สามารถตัดสินได้ชัดเจนว่านี่คืองานที่เรนเดอร์ขึ้นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือเป็นภาพถ่ายจริง ๆ อีกด้วย
ต่อด้วยผลงาน Unnamed drives (2022), A worker tending golf green (2022) และ A worker spraying golf green during sunset (2022) ชุดภาพถ่ายต่อเนื่องของภูมิทัศน์ถนนที่เพิ่งตัดใหม่ในย่านที่พักอาศัยส่วนบุคคล ที่ถูกบันทึกภาพตอนกลางคืน และภาพภูมิทัศน์จากฝีมือมนุษย์ที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกองค์ประกอบ
“ภาพถ่ายถนนชุด Unnamed drives ผมอยากให้ดูแล้วรู้สึกว่าเป็นที่ไหนก็ได้ (Ubiquitous Landscape) ส่วนภาพถ่ายอีกชุด (A worker tending golf green และ A worker spraying golf green during sunset) เป็นภาพที่ผมถ่ายที่สนามกอล์ฟบนเขาใหญ่ที่มีคนดูแลทำงานอยู่ ในห้องนี้ผมจัดไฟให้ดูสลัว ให้เข้ากับภาพที่ถ่ายในช่วงเวลาโพล้เพล้ยามเย็น เพื่อให้จังหวะของงานดูสงบนิ่ง ผมยังพิมพ์ภาพถ่ายลงบนกระดาษเยื่อไผ่ที่ไม่สะท้อนแสง เพื่อสร้างบรรยากาศที่เงียบงัน”
“ถัดจากห้องนี้ตรงระเบียงจะเจอผลงาน Footnote with a Chatbot (2022-23) ในรูปของหนังสือที่พิมพ์บันทึกการคุยตั้งคำถามและสนทนาระหว่างตัวผมกับ ChatGPT ในช่วงที่ทำงานในนิทรรศการ BLISS มีตั้งแต่คำถามง่าย ๆ เช่น Bliss คืออะไร? หรือ คำถามที่ออกไปในทางตลกขบขัน กับการให้ AI แต่งบทเพลงที่เกี่ยวกับงาน หรือมีคำถามที่น่าสนใจที่ผมอยากจะค้นคว้าต่อ เช่น ความคิดเห็นของ มิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ต่อ AI หรือ โชชานา ซูบอฟฟ์ (Shoshana Zuboff) นักเขียนที่พูดถึง Surveillance Capitalism และให้ ChatGPT ถกเถียงเรื่อง AI กับตนเอง สุดท้ายแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่คนจะไม่อ่านก็ได้ แต่ถ้าอ่าน ก็อาจจะนำพาคนดูไปค้นหาสู่ไอเดียที่เราคิดว่าเชื่อมโยงและน่าสนใจต่อไป”
ต่อด้วยผลงานในห้องแสดงงานหลักชั้น 1 ชิ้นแรกอย่าง Erosion near Oxford, Mississsippi (1936) ที่มิติดึงภาพถ่ายของ วอล์กเกอร์ เอแวนส์ ที่ถ่ายในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ระดับโลกเช่นกัน นอกจากนี้เขายังนําภาพที่ว่านี้ไปให้โปรแกรม AI ดัดแปลงภาพนี้จนกลายเป็นผลงานใหม่อีกชิ้นอย่าง Variations of Erosion op.1 (2022) อีกด้วย
“ผลงานชุดนี้ผมใช้ภาพถ่ายของ วอล์กเกอร์ เอแวนส์ ที่ถูกแปลงด้วย AI เป็นตัวหนังสือคําอธิบาย โดยลองให้ AI มีบทสนทนาซึ่งกันและกัน แล้วใช้กล้องมีเดียมฟอร์แมตถ่ายภาพที่ถูกแปลงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยใช้ฟิล์มหมดอายุ แล้วนําภาพไปล้างด้วยมือในห้องมืดและพิมพ์ลงบนแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิต เพื่อตั้งคําถามถึงลักษณะทางกายภาพของภาพถ่ายในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาท ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง น่าสนใจตรงที่ ในขณะที่ AI กําลังแปลงภาพเดิมอยู่ จู่ ๆ ก็กลายเป็นภาพผู้หญิงผิวดํา และภาพแบบคิวบิสม์ขึ้นมาได้ยังไงก็ไม่รู้ เหมือนอยู่ดี ๆ AI ตีความภาพนี้ออกมาเอง เหมือนเราเฝ้ามองว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป โดยที่เราคาดเดาไม่ได้”
“ภาพที่เกิดจากการตีความของ AI นี้ยังทำให้ผมคิดถึง AI Gaze (มุมมองของ AI) ที่เชื่อมโยงไปถึงคำถามเชิงจริยธรรม ว่าทำไมรูปภาพเป็นผู้หญิงผิวดำในรูปแบบที่แฝงนัยยะทางเพศ อาจเป็นเพราะกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสิ่งเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อย จึงก่อให้เกิดการตีความในมุมมองที่คับแคบ และการจะดำเนินระบบ AI ได้ ต้องใช้พลังงานคอมพิวเตอร์อย่างมหาศาล ส่งผลให้มีบริษัทไม่กี่หยิบมือที่มีอิทธิพลต่อเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทกับคนในอนาคตในวงกว้าง สิ่งนี้ก็เป็นอะไรที่น่าคิดเช่นเดียวกัน”
ภายในห้องนี้ยังมีงานศิลปะจัดวางจากเสียงดนตรีที่มิติหยิบเอาผลงานของศิลปินดนตรีรุ่นใหม่มาดัดแปลง
“เพลงที่ผมดัดแปลงเอามาจากศิลปินอังกฤษอายุน้อย ที่เพิ่งดังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอทำเพลงสั้นมากไม่เกินสองนาที เพื่อให้สอดคล้องกับอัลกอริทึมของ TikTok เพลงของเธอยังเป็นแนว UK Pop, Garage, Drum and Bass ซึ่งเป็นเพลงช่วงที่ผมโตมามาในยุค Windows XP เฟื่องฟูพอดี”
ท้ายสุดกับผลงาน New Jeans pointing at Bliss (2022) ภาพของสมาชิกวงดนตรี K Pop ชื่อดังของเกาหลีอย่าง New Jeans กําลังชี้นิ้วไปยังภาพที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพ BLISS จาก เว็บไซต์ของวง
“มีคนรู้ว่าผมทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้ ก็เลยส่งภาพนี้มาให้ มันทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตของภาพ, ดนตรี, และสื่อต่างๆ ในยุคสมัยนี้ นั้นถูกรีไซเคิลจนอาจจะกลายพันธุ์เป็นอะไรสักอย่าง ผมก็เลยหยิบ ภาพนี้มาใช้ในลักษณะของ Found Image (ภาพเก็บตก) เหมือน ใบปลิวหรือโปสเตอร์ที่ติดตามถนน หรือเสาไฟฟ้านั่นแหละ”
ในฐานะศิลปินที่ทำงานในสาขาภาพถ่าย มิติกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสื่อภาพถ่ายที่เกิด ขึ้นจากการมาถึงของเทคโนโลยี ใหม่ ๆ ว่า
“ผมเริ่มต้นถ่ายภาพในช่วงเวลาระหว่างที่เทคโนโลยีแอนะล็อกเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ผมก็ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เพราะถ้า เราถือว่ามันเป็นเครื่องมือที่เราใช้ประโยชน์ได้ เราก็ใช้ ผมก็เลือกใช้ทั้งสองระบบนี้ให้เหมาะกับงานแต่ละประเภท ผมคิดว่าการทำงาน ภาพถ่ายไม่สามารถหนีไปจากเทคโนโลยีได้ เพราะตัวมันเองก็คือเทคโนโลยี เดี๋ยวนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่มีภาพเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ มนุษยชาติ ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เราสร้างภาพขึ้นมาเยอะมาก ทุกคนสามารถผลิตภาพกันได้หมด เราทุกคนเป็นนักผลิต แต่ในฐานะศิลปิน เราก็ต้องคิดว่า ถ้าเราจะผลิตอะไรขึ้นมา เราก็อยากจะผลิตสิ่งที่มีความหมาย หรือลึกซึ้งมากขึ้น”.

Variations of Erosion op.1 (2022)
โดย กฤษฎา ดุษฎีวนิช จัดแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)
ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน - 8 กรกฎาคม 2566 วัน จันทร์ถึงเสาร์ 9.00 – 18.00 น.
(ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02 221 3841,
อีเมล [email protected]
BLISS กระบวนการสํารวจการเปลี่ยนแปลงทาง กายภาพของภาพถ่ายผ่านการแทรกแซง ของเทคโนโลยีของ “มิติ เรืองกฤตยา”
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )